บทที่ 11 สงครามข้อมูลข่าวสาร พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ 16 ก.ค.49
ยุทธศาสตร์ การแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 1.ยุทธศาสตร์ด้านการทหาร คือ การต่อสู้แบบเปิดหน้ากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ 2.ยุทธศาสตร์ด้านการเมือง คือ งานพัฒนาคุณภาพชีวิต 3.ยุทธศาสตร์ด้านข้อมูลข่าวสาร หรือ Information Operation (ไอโอ)
ยุทธศาสตร์ของฝ่ายตรงกันข้าม 1.ยุทธศาตร์ด้านข้อมูลข่าวสาร แบ่งเป็น 2 ระดับ
1.1ระดับพื้นที่ ใช้เงื่อนไขความเป็นธรรม 1.2ระดับสากล ใช้เงื่อนไขความชอบธรรมทั้งสองระดับมีการเชื่อมโยงกัน จนทำให้เห็นภาพของการแบ่งแยกดินแดน และฝ่ายราชการ เดินตามผู้ก่อการร้ายมาโดยตลอด ทั้งสองประเด็นนำไปสู่เงื่อนไขของการแบ่งแยกดินแดน
2.นำไปสู่การปฏิบัติการทางทหาร คือ การลอบทำร้าย และการปล่อยข่าวลือ เมื่อมีการก่อเหตุ สื่อก็จะนำเหตุการณ์ไปเผยแพร่เอง เช่นการก่อเหตุวันสถาปนารัฐปัตตานี
ทฤษฎีการก่อการร้ายมี 5 ขั้นตอน 1.ชุมนุมประท้วง 2.ก่อเหตุรุนแรงโดยใช้อาวุธประจำกาย 3.ก่อเหตุรุนแรงโดยใช้อาวุธประจำหน่วย เช่น ระเบิด 4.จับตัวประกัน หรือใช้ระเบิดพลีชีพ 5.ปฏิบัติการด้วยกองกำลังขนาดใหญ่
กลุ่มคนร้าย ใช้เงื่อนไขในข้อ 2 และข้อ 3 เท่านั้น เชื่อว่าเป็นการก่อการภายในประเทศ สถานการณ์ยังไม่ไปสู่สากลสงครามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสงครามข้อมูลข่าวสาร โดยฝ่ายตรงข้ามพยายามสร้างความคิดและความเข้าใจผิดๆ ด้วยการใช้ศาสนาและประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือ ฉะนั้นการมุ่งเอาชนะด้วยอาวุธเพียงอย่างเดียวจะไม่มีทางสำเร็จ จึงต้องปรับยุทธวิธีใหม่ ด้วยการเอาชนะที่ความคิดและสร้างความเข้าใจ
ยุทธวิธีในปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ ไอโอ 1.ใช้ปากเป็นปืนเล็ก คือใช้กำลังพลเข้าไปให้ถึงตัวชาวบ้าน แล้วพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจ 2.ใช้วิทยุเป็นปืนใหญ่วิถีโค้ง นั่นคือการใช้สื่อเพื่อให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น 3.ใช้ทีวีเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิด ซึ่งจะมีอานุภาพสูงกว่าวิทยุ 4.ผู้บริหารระดับนโยบายจะต้องพูดในทิศทางเดียวกัน และคำพูดของผู้คุมนโยบายจะสร้างความเข้าใจทั้งประชาชน ในประเทศ และองค์กรต่างประเทศ
* * * * * * * * * * *
ขยายความ สงครามครั้งนี้ตัดสินด้วยข่าวสาร พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ โฆษก กองทัพบก
โดยปกรณ์ พึ่งเนตรศูนย์ข่าวอิศรา 16 ก.ค.49 การตัดสินใจมอบอำนาจให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นแม่ทัพดับไฟใต้ตัวจริงนั้น ถึงวันนี้ดูจะน่าสนใจน้อยกว่าร่องรอยความคิดของฝ่ายเสนาธิการกองทัพ ที่มั่นใจว่างานด้านการทหารและการเมืองกำลังจะมีชัยเหนือกลุ่มก่อความไม่สงบ ยกเว้นเรื่องเดียวที่ยังเพลี่ยงพล้ำฝ่ายตรงข้ามอยู่ คือยุทธศาสตร์ด้านข้อมูลข่าวสารเท่านั้น พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ หรือ เสธ.ทิพ โฆษกกองทัพบก นายทหารผู้ใกล้ชิดกับ พล.อ.สนธิ และผ่านงานภาคสนามในภาคใต้มาอย่างโชกโชน วิเคราะห์ให้ฟังว่า ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แบ่งออกเป็น 3 ด้านคือการทหาร การเมือง และปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือที่เรียกว่า Information Operation (ไอโอ) เขาอธิบายว่า ยุทธศาสตร์ด้านการทหารนั้น ก็คือการต่อสู้แบบเปิดหน้ากับกลุ่มก่อความไม่สงบ ขณะที่ยุทธศาสตร์ด้านการเมือง หรืองานกิจการพลเรือน คืองานพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งตลอด 2 ปีเศษที่ผ่านมา ภาครัฐเดินมาถูกทางแล้ว และจะเห็นผลสัมฤทธิ์เมื่อถึงเวลา ฉะนั้นจึงเหลืองานที่ยังเป็นปัญหาและถือเป็นจุดอ่อนอยู่ในปัจจุบันเพียงด้านเดียวก็คือ ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือสงครามไอโอ! "พูดง่ายๆ ก็คือ 2 ปีที่ผ่านมา เราพ่ายแพ้ในสงครามข้อมูลข่าวสาร และเดินตามหลังกลุ่มผู้ก่อการร้ายมาโดยตลอด" พ.อ.อัคร ระบุ โฆษกกองทัพบก บอกว่า จริงๆ แล้วกลุ่มก่อความไม่สงบใช้ยุทธศาสตร์ ไอโอ เป็นธงนำในการต่อสู้มาโดยตลอดโดยแบ่งเป็น 2 ระดับ คือในระดับพื้นที่ จะชูเงื่อนไข "ความเป็นธรรม" และในระดับสากล จะชูเงื่อนไข "ความชอบธรรม" ซึ่งทั้ง 2 ระดับเชื่อมโยงกันจนทำให้เห็นภาพว่า การเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา"สองสิ่งนี้ถูกนำไปอ้างเป็นเหตุผลในการเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดน โดยใช้ปฏิบัติการทางทหารเป็นเครื่องมือ ได้แก่ การก่อเหตุร้าย และการปล่อยข่าวลือ" พ.อ.อัคร ชี้ว่า เคยสงสัยมาตลอดว่าทำไมกลุ่มก่อความไม่สงบจึงใช้วิธีก่อเหตุรุนแรงแบบรายวัน หรือก่อเหตุพร้อมกันหลายๆ จุด หรือแม้แต่การก่อเหตุโดยยึดโยงกับวัน-เวลาสำคัญๆ ต่างๆ เช่น วันสถาปนารัฐปัตตานี ซึ่งเมื่อวิเคราะห ์แล้วก็ได้คำตอบว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุต้องการสร้างข่าวเพื่อให้สื่อนำเสนอนั่นเอง "วิธีนี้เข้าทำนองข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียเงิน โดยหากเรามองปรากฏการณ์ย้อนหลังกลับไป จะพบว่าเหตุรุนแรงนั้นเกิดขึ้นเป็นจุดๆ แม้จะหลายจุดพร้อมกัน แต่ก็เป็นเพียงจุดเล็กๆ ทว่าเมื่อถูกนำเสนอเป็นข่าวผ่านสื่อ จะกลายเป็นว่าการก่อเหตุนั้นครอบคลุมทั้งพื้นที่ และนั่นทำให้ปฏิบัติของเขาได้ผลเกินคาด"
โฆษกกองทัพบก อธิบายอีกว่า จริงๆ แล้ว ทฤษฎีของการก่อการร้ายนั้น จะมีปฏิบัติการอยู่ 5 ขั้นตอน คือ
1.ชุมนุมประท้วง
2.ก่อเหตุรุนแรงโดยใช้อาวุธประจำกาย
3.ก่อเหตุรุนแรงโดยใช้อาวุธประจำหน่วย เช่น ระเบิด
4.จับตัวประกัน หรือใช้ระเบิดพลีชีพ และ
5.ปฏิบัติการด้วยกองกำลังขนาดใหญ่
แต่เมื่อนำทฤษฎีดังกล่าวมาวิเคราะห์กับสิ่งที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะพบว่ากลุ่มก่อความไม่สงบเลือกใช้เพียงขั้นที่ 2 และ 3 เพื่อสร้างข่าวเท่านั้น และจุดนี้เองที่ทำให้สรุปได้ว่า สถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่เชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายจากภายนอกประเทศ ทั้งหมดเป็นเพียงการเคลื่อนไหวจากขบวนการภายในประเทศเท่านั้นอย่างไรก็ดี เขายอมรับว่า ความน่ากลัวของยุทธวิธีแบบนี้ก็คือ ผลของมันเป็นการสร้างความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนให้ขยายวงกว้างออกไป และสุดท้ายฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบก็จะได้มวลชนไปโดยปริยาย ซึ่งเหตุการณ์รุมทำร้ายครูจูหลิง ปงกันมูล คือตัวอย่างที่เห็นชัดเจน"ผู้ก่อการร้ายเขียนบทให้เราเดินตกหลุม และหลังเกิดเหตุแล้ว ชาวบ้านก็โทษเจ้าหน้าที่ว่าทำงานล่าช้า ขณะที่ฝ่ายรัฐเองก็มองชาวบ้านอย่างไม่ไว้วางใจ นี่คือความสำเร็จที่ฝ่ายตรงข้ามได้รับ" "การเสนอข่าวของสื่อมวลชนเหมือนกับสายน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งน้ำก็ไหลของมันเป็นปกติอยู่แล้ว เขาแค่เอาเรือยางมาก็ล่องแก่งได้เลย ฉะนั้นทางแก้ของเราคือต้องรู้เท่าทัน หากเปรียบเรือของฝ่ายก่อความไม่สงบเป็นเรือที่บรรทุกเชื้อโรค เราก็ต้องเพิ่มเรือบรรทุกเวชภัณฑ์และอาหารเข้าไป เพื่อไปถ่วงดุลกับเรือเชื้อโรค โดยใช้ร่องน้ำเดียวกันกับเขาเลย"
พ.อ.อัคร ขยายความว่า เรือบรรทุกเวชภัณฑ์ในความหมายนี้ก็คือ การเพิ่มข่าวดีให้ปรากฏผ่านสื่อมากขึ้น เช่น ข่าวเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับชาวบ้าน , ข่าวภาครัฐเข้าไปดูแลสุขอนามัยของพี่น้องที่อยู่ห่างไกล หรือข่าวการรวมพลังของประชาชน ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้ทหารก็ทำอยู่ทุกวัน แต่กลับไม่เคยปรากฏเป็นข่าวเลยแม้แต่ครั้งเดียว กลายเป็นว่าข่าวจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแต่ผลงานของกลุ่มก่อความไม่สงบทั้งสิ้น
พ.อ.อัคร สรุปว่า สงครามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสงครามข้อมูลข่าวสาร โดยฝ่ายตรงข้ามพยายามสร้างความคิดและความเข้าใจผิดๆ ด้วยการใช้ศาสนาและประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือ ฉะนั้นการมุ่งเอาชนะด้วยอาวุธเพียงอย่างเดียวจะไม่มีทางสำเร็จ จึงต้องปรับยุทธวิธีใหม่ ด้วยการเอาชนะที่ความคิดและสร้างความเข้าใจ และนี่เองคือที่มาของการปรับแผนครั้งใหญ่ ด้วยการให้น้ำหนักกับงานประชาสัมพันธ์ และปฏิบัติการทางจิตวิทยา (ปจว.) ซึ่งที่ผ่านมาถูกวางบทบาทเป็นเสมือนกองหลังในทีมฟุตบอลเท่านั้น "ขณะนี้เราวิเคราะห์สถานการณ์แตกแล้ว และพบว่ายุทธวิธีต้องเปลี่ยนไป มันเป็นเกมที่ยืดเยื้อ ต้องใช้กองหลังขึ้นมายิงประตู" โฆษกกองทัพบก กล่าวเปรียบเทียบ โครงสร้างใหม่ของการแก้ปัญหาจากคำอธิบายของ พ.อ.อัคร สอดรับกับข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า ผบ.ทบ.เตรียมบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตั้งคณะกรรมการปฏิบัติการทางจิตวิทยาระดับชาติ แต่ พ.อ.อัคร เรียกโครงสร้างนี้ว่า "กองทัพสร้างความเข้าใจ" เพราะต้องให้ความสำคัญและบูรณาการกันถึงขนาดตั้งเป็น "กองทัพ" กันเลยทีเดียว "เราต้องสร้างฝ่ายปฏิบัติการที่มีความเชี่ยวชาญสูง ถ้าคนของกองทัพไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ ก็อาจต้องดึงมืออาชีพจากกรมประชาสัมพันธ์เข้ามาทำ เพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า One Voice หรือการพูดในทิศทางเดียวกันตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงพลทหารที่ตั้งด่านในหมู่บ้าน" ทั้งนี้ การทำสงครามข้อมูลข่าวสารต้องทำทุกระดับ โดยเฉพาะกำลังพลที่สัมผัสกับชาวบ้านโดยตรง เพราะต้องไม่ลืมว่า ฝ่ายก่อความไม่สงบก็ใช้วิธีปล่อยข่าวผ่านทางชาวบ้านในหมู่บ้านเช่นกัน
พ.อ.อัคร แยกแยะการดำเนินยุทธวิธีในปฏิบัติการ ไอโอ ว่า ต้องเริ่มจาก 1.ใช้ปากเป็นปืนเล็ก นั่นคือใช้กำลังพลเข้าไปให ้ถึงตัวชาวบ้าน แล้วพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจ 2.ใช้วิทยุเป็นปืนใหญ่วิถีโค้ง นั่นคือการใช้สื่อเพื่อให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น 3.ใช้ทีวีเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิด ซึ่งจะมีอานุภาพสูงกว่าวิทยุ และ 4.ผู้ใหญ่ในระดับนโยบายจะต้องพูดในทิศทางเดียวกัน และคำพูดของผู้คุมนโยบายจะสร้างความเข้าใจทั้งจากประชาชนในประเทศเอง และองค์กรต่างประเทศอย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักคือ แต่ละยุทธศาสตร์ที่เราเลือกใช้จะต้องให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพราะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มี 33 อำเภอก็จริง ทว่าแต่ละอำเภอมีความรุนแรงของสถานการณ์ต่างกัน "ที่ผ่านมาเราดำเนินยุทธศาสตร์เหมือนกันหมด เช่นประกาศประชาสัมพันธ์ฉบับเดียวกัน ใช้ร่วมกันทุกพื้นที่ ซึ่งไม่ถูกต้องแบบนี้ต้องเลิก และวางยุทธศาสตร์ใหม่ให้เหมาะสม" พ.อ.อัคร ย้ำว่า ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สุดและยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้ขาดชัยชนะของวิกฤตการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใน พ.ศ.นี้ฉะนั้นการเปิดแนวรบใหม่ด้วย "สงครามข้อมูลข่าวสาร" จึงเป็นการถอดสมการปัญหาอีกครั้ง โดยมีความสงบสุขในดินแดนปลายสุดด้ามขวานเป็นคำตอบสุดท้าย!
* * * * * * * * * * * * * * * |