www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 24 คน
 สถิติเมื่อวาน 59 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
4133 คน
4133 คน
1749401 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

ยุทธศาสตร์ การประชาสัมพันธ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
นักประชาสัมพันธ์ 8 สปข.6
1 มิ.ย. 51


บทนำ
ซุนวู ปราชญ์ ชาวจีน ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านพิชัยสงคราม กล่าวว่า ยุทโธบายชั้นยอด คือ เอาชนะข้าศึกทางยุทธศาสตร์ รองลงมาคือ เอาชนะข้าศึกทางการทูต รองลงมาอีกคือ เอาชนะข้าศึกทางการทหารและยุทโธบายขั้นต่ำสุดคือ โจมตีเมืองของข้าศึก และที่สำคัญ ซุนวู ยังมีคำกล่าวที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะทุกครั้ง รู้เราไม่รู้เขา รบชนะบ้างแพ้บ้าง ไม่รู้เขาไม่รู้เรา รบทุกครั้งแพ้ทุกครั้ง ดังนั้นการที่จะเอาชนะจิตใจของผู้คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องใช้หลักการของยุทธศาสตร์ มาแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นวิธีหลักอันดับแรก
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะกรรมการบริหารสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ณ ตำหนักจิตลดารโหฐาน ถึงความหมายของการประชาสัมพันธ์ ว่า "การประชาสัมพันธ์ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนหรือให้ประชาชนเข้าใจสัมพันธ์กัน และงานกิจกรรมต่าง ๆ ก็ต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์เกือบทั้งนั้นถ้าทุกคนตั้งใจทำ เพื่อให้ผลที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ก็เชื่อได้ว่าส่วนรวมจะอยู่เย็นเป็นสุข" เป็นความหมาย ที่ชัดเจนว่า การประชาสัมพันธ์ เป็นงานที่จะสร้างความเข้าใจ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน โดยงานประชาสัมพันธ์สามารถที่จะสอดแทรกในทุกกิจกรรม ที่ส่งผลดีต่อส่วนรวม และสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น
ดังนั้น ยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นเครื่องมือที่จะให้ประชาชนในพื้นที่ ได้มีโอกาสสร้างความรู้ความเข้าใจ ต่อโลกของความเป็นจริง ในพื้นที่ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภาษา ศาสนา ที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มียุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ คือ สื่อวัฒนธรรมสร้างสันติ สร้างเครือข่ายสื่อสารสนเทศ สร้างเครือข่ายสื่อบุคคล กีฬาสื่อสันติภาพ อาหารสื่อสันติภาพ และการ์ตูนสื่อสันติภาพ

วิสัยทัศน์
"สร้างความเข้าใจ ภายใต้วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา และ อัตลักษณ์ ที่หลากหลาย อย่าง
สมดุล ต่อประชาชนในประเทศ และ ต่างประเทศ เพื่อให้เข้าถึง โลกของความเป็นจริงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมสันติสุข อย่างยั่งยืน ภายในปี 2560 "

พันธกิจ
1.สร้างความเข้าใจ โดยใช้สื่อ วัฒนธรรม (ดนตรี ละคร การแสดง ในท้องถิ่น)
2.ประชาชนมีส่วนร่วม ในการเสนอความคิดเห็น ผ่านสื่อ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา
3.สร้างระบบเครือข่าย การสื่อสาร โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
4.สร้างเครือข่ายด้วยสื่อบุคคล
5.เผยแพร่วัฒนธรรม ทั้งในและต่างประเทศ
6.เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ของ หน่วยงาน กอ.รมน.ภาค 4 , พตท., ศอ.บต. โดยการวางสื่อ(Media Plan) ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
7.เผยแพร่กิจกรรม ที่สอดคล้อง ตามยุทธศาสตร์ จังหวัดชายแดนภาคใต้

เป้าหมาย
"ชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ภายใต้วัฒนธรรมที่หลากหลาย"

 

* * * * * * * * *

ยุทธศาสตร์ ที่ 1 "สื่อวัฒนธรรม สร้างสันติ"


1.เพื่อสร้างความเข้าใจ ในเรื่องวัฒนธรรม ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย
2.เพื่อใช้วัฒนธรรมเป็นสื่อในการอธิบายโลกของความเป็นจริงใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
3.เพื่อนำวัฒนธรรม ขึ้นสู่เวทีระดับประเทศ และนำไปสู่สากล
4.เพื่อให้วัฒนธรรมเป็นความภาคภูมิใจของคนในพื้นที่
5.เพื่อรักษาวัฒนธรรม ที่มีความหลากหลาย ให้คงอยู่ในพื้นที่ตลอดไป
6.เพื่อกระตุ้นให้คนในพื้นที่และนอกพื้นที่ เห็นความสำคัญของวัฒนธรรม ที่มีความงดงาม


กลยุทธ์
1.จัดประกวด สื่อ วัฒนธรรม ประกอบด้วย ดนตรีมลายู (เพลงบลูสตาร์) เพลงอานาชีส ดิเกฮูลู กรือโต๊ะ ปัญจะศีละ เพลงกล่อมลูกพื้นบ้าน (ภาษามลายู)
2.เนื้อหา (Content) เน้นการสร้างความเข้าใจ ที่สื่อ ออกมาเพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ในโลกของความเป็นจริง ที่ไม่ขัดต่อ หลักศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิต
3.นำผู้ที่ชนะการประกวด สื่อวัฒนธรรม ไปแสดงผ่านสื่อ โทรทัศน์ วิทยุ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เป็นประเทศมุสลิม
4.ผู้ชนะการประกวดจะได้รับรางวัลพระราชทาน จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
5.ภาษาที่ใช้ในการประกวดให้มีความหลากหลายในภาษาที่ใช้ขับร้องในเพลงเดียวกัน คือ ภาษามลายูถิ่น ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
6.ผลงานเพลงที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการผลิต เป็น VCD , DVD เพื่อการเผยแพร่ ต่อสื่อสาธารณะ


แนวคิด "สื่อวัฒนธรรม สร้างสันติ"
แนวคิดตามยุทธศาสตร์ที่ 1 สื่อวัฒนธรรม สร้างสันติ เป็นแนวคิดที่จะนำศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นวัฒนธรรมในท้องถิ่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น อานาชิด เพลงมลายู ดิเกฮูลู เพลงกล่อมลูกพื้นบ้าน เป็นต้น ให้นำเอาเนื้อหาของเพลงที่สร้างสรรค์ การอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ สอดแทรกในเนื้อหาของศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เพื่อใช้เป็นสื่อไปถึง ประชาชนในพื้นที่ ให้รับทราบถึงความปรารถนาดี ของภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดี ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยการผ่านสื่อทุกชนิด เพื่อให้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ และเพื่อให้ศิลปินเกิดความภาคภูมิใจ จึงจัดให้มีการประกวดศิลปวัฒนธรรม โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ราชกุมารี เพื่อเป็นเกียรติ แก่ผู้เป็นศิลปิน ในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีพระเมตตา ต่อพสกนิกร ของพระองค์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


* * * * * * * * *


ยุทธศาสตร์ที่ 2 "สร้างเครือข่าย สื่อสารสนเทศ"


1.เพื่อให้วิทยุ สวท.สปข.6 เป็นแม่ข่าย ส่งข้อมูลข่าวสาร และร่วมแลกเปลี่ยนรายการจากวิทยุชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และวิทยุหลัก อย่างเป็นระบบ โดยผ่านระบบสารสนเทศ
2.เพื่อให้วิทยุชุมชน เป็นลูกข่ายการสื่อสาร ที่จะส่งข้อมูลข่าวสาร ไปสู่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.เพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร มีความหลากหลาย จึงต้องแสวงหาเครือข่าย เพื่อเขียนบทความที่สร้างสรรค์ เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของ กรมประชาสัมพันธ์ www.prd.go.th
4.เพื่อให้สื่อ วิทยุกระจายเสียง สื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่อไอที เป็นเวที ในการแสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่จะนำไปสู่ความต้องการของชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


กลยุทธ์
1.จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง ศอ.บต.หรือ กอ.รมน.ภาค 4 เพื่อผลิตรายการมีคุณภาพ ที่จะส่งข้อมูลข่าวสารไปสู่ชุมชนในพื้นที่ ในขณะเดียวกันก็เป็นแม่ข่ายให้กับสถานีวิทยุชุม ในพื้นที่ และให้มีการแลกเปลี่ยนรายการ โดยมีการเชื่อมโยงสัญญาณผ่านระบบสารสนเทศ ที่มีประสิทธิภาพ
2.ให้หน่วยงานภายใน ศอ.บต., กอ.รมน.ภาค 4 ผลิตรายการ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และประชาสัมพันธ์กิจกรรม โครงการ แผนงาน ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียง ศอ.บต.,กอ.รมน.
3.การผลิตรายการ จะต้องเป็นลักษณะสื่อ 2 ทาง และเปิดสาย เพื่อเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น
4.จัดอบรมผู้จัดรายการวิทยุชุมชน ให้มีความรู้ความเข้าใจในการผลิตรายการ เพื่อสันติภาพ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่
5.จัดทำเว็บไซต์ ของ ศอ.บต. กอ.รมน.ภาค 4 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้นำศาสนาพุทธ-อิสลาม อูลามะ นักวิชาการ นักการสื่อสารมวลชน นักการทหาร ตำรวจ นักปกครอง เป็นวิทยากรเขียนบทความลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ เพื่อเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็น ในการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการ
6.จัดทำระบบการส่งข้อความสั้น (SMS) เพื่อเป็นสื่อในการส่งสาร ในลักษณะข้อความด่วน ไม่เป็นทางการ
7.ให้ สถานีวิทยุ ในสังกัด สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา เป็นแม่ข่าย ผลิตรายการที่มีเนื้อหาในการสร้างสันติสุข โดยจัดรายการให้เป็นไปในรูปเครือข่าย


แนวคิด "สร้างเครือข่าย สื่อสารสนเทศ"
แนวความคิด สร้างเครือข่าย สื่อสารสนเทศ ให้มีการตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง ที่อยู่ภายใต้การบริหารของหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ คือ ศอ.บต. หรือ กอ.รมน. หรือ พตท. เพื่อให้เป็นสถานีแม่ข่าย ในการถ่ายทอดเสียงไปสู่สถานีวิทยุชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหน่วยงานที่บริหารคลื่นจะต้องมีการจัดรายการที่มีเนื้อหาที่สร้างความสงบสุข และการสร้างความสมานฉันท์ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ และในการผลิตรายการให้มีเนื้อหาด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานในองค์กร ศอ.บต. กอ.รมน. พตท. โดยจะต้องมีการถ่ายทอดเสียงที่เป็นระบบเครือข่ายสารสนเทศไปสู่สถานีวิทยุชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการกระจายเสียงครอบคลุมพื้นที่ ให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันให้มีการจัดทำเว็บไซต์ เป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสาร โดยให้มีการส่งกระจายเสียง On Line ผ่านเว็บไซต์
นอกจากนี้ จัดให้มีระบบการส่งข้อความสั้น SMS ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้สามารถส่งข้อความสั้นเพียงครั้งเดียวไปสู่เป้าหมายจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
เพื่อให้การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เป็นไปอย่างกว้างไกล ให้หน่วยงานจัดให้มีเว็บไซต์ โดยเน้นไปที่ การเปิด Blog ให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเขียนบทความที่สร้างสรรค์และแก้ไขปัญหาสังคมคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนั้นให้มีการเปิดคอลัมน์ ให้แก่บุคคลที่มีชื่อเสียง ได้เขียนบทความลงเผยแพร่ในเว็บไซต์เป็นประจำ


* * * * * * * *

ยุทธศาสตร์ที่ 3 "สร้างเครือข่ายสื่อ บุคคล"


1.เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษา ที่อยู่ในสถาบันการศึกษา ได้มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ผลิตผลงานด้านภาพยนตร์สั้น ที่มีแนวทางในการเสริมสร้างสันติสุข และการอยู่อย่างสมานฉันท์ภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
2.เพื่อเผยแพร่ผลงานหนังสั้น เพื่อใช้เป็นสื่อในการสร้างความเข้าใจ กับคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อคนไทยทั้งประเทศ โดยผ่านสื่อโทรทัศน์
3.เพื่อให้ องค์กรเอกชน (NGO) ได้มีส่วนร่วม ในการเข้ามาแก้ปัญหา โดยเป็นสื่อบุคคล ที่จะนำความปรารถนาดีจากราชการไปสู่ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ความไม่สงบ
4.เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่ มีความเข้าใจต่อการสร้างสันติสุข โดยผ่านกระบวนการของสถาบันปอเนาะ ที่มีอยู่ในพื้นที่
5.เพื่อให้ศิลปินในพื้นที่ เป็นเครือข่ายสร้างความเข้าใจในสถานการณ์


กลยุทธ์
1.จัดการประกวดหนังสั้น เพื่อสร้างเครือข่าย ในวงการนักศึกษาที่มีความสนใจในการสร้างภาพยนตร์สั้น โดยการผลิต จะเน้นแนวทางสร้างสันติสุข และการอยู่ร่วมกัน อย่างสมานฉันท์ ภายใต้ความหลากหลาย ที่สมดุล
2.เผยแพร่หนังสั้น ที่ผ่านการประกวด ทางสื่อโทรทัศน์ในประเทศ
3.จัดสร้างสื่อบุคคล จากกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ และจากกลุ่มอาสาสมัคร เพื่อเป็นสื่อบุคคล และส่งเสริมให้อาสาสมัคร(NGO)ที่มีอยู่แล้ว ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสื่อบุคคล ที่จะเผยแพร่ความปรารถนาดี จาก ศอ.บต., พตท., กอ.รมน., สู่ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
4.จัดอบรมสื่อบุคคลที่เป็น NGO ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ และเป็นคนในพื้นที่ ให้เข้าใจบทบาทของภาคราชการที่มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสันติสุข ให้เกิดขึ้นในพื้นที่
5.สร้างเครือข่ายศิลปิน ให้เป็นกลุ่มก้อนที่มีความใกล้ชิดกัน เพื่อเป็นผู้นำความปรารถนาดีจากภาคราชการนำไปสู่ภาคประชาชนในพื้นที่ โดยผ่านกระบวนการของเครือข่ายศิลปิน


แนวคิด "สร้างเครือข่ายสื่อ บุคคล"
แนวคิด สร้างเครือข่ายสื่อบุคคล สามารถใช้เครือข่ายของผู้ที่ได้รับการสูญเสียจากเหตุการณ์ ให้มารวมตัวกันทำกิจกรรมการสร้างความสมานฉันท์และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เพราะสื่อบุคคลเหล่านี้ จะเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสาร ที่จะเข้าถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และสื่อบุคคลเหล่านี้จะมีการรวมตัวกันในรูปแบบของ องค์เอกชน (NGO) การให้องค์กรเอกชนเป็นผู้ดำเนินการเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะเป็นผู้ที่พูดแทนภาคราชการได้เป็นอย่างดี เพราะในความเป็นจริง ประชาชนในพื้นที่ขาดความเชื่อถือต่อภาคราชการ โดยเฉพาะ ทหาร ตำรวจ
นอกจากนี้ การให้นักศึกษา ที่ศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ ผลิตหนังสั้น ที่มีเนื้อหาสาระด้านการสร้างความสมานฉันท์ สิ่งที่จะได้จากกิจกรรมนี้คือ เป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีความคิดสร้างสรรค์ที่จะสร้างภาพยนตร์ที่จะนำไปสู่การเข้าใจในอัตลักษณ์ของพื้นที่ และเพื่อให้หนังสั้นได้รับการเผยแพร่ จัดให้มีการนำหนังสั้นไปเผยแพร่ในสถานีโทรทัศน์

 

* * * * * * * * * *

ยุทธศาสตร์ที่ 4 " กีฬาสื่อสันติภาพ"


1.เพื่อส่งเสริม สมาคมกีฬาจังหวัด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พัฒนากีฬาให้เป็นระดับอาชีพ โดยใช้ กีฬา เป็นสื่อที่สร้างความเข้าใจ กับประชาชน นอกพื้นที่ ให้เห็นศักยภาพความสามารถด้านกีฬาของคนในพื้นที่
2.เพื่อส่งเสริมให้ สมาคมกีฬา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พัฒนากีฬาให้เป็นระดับสากล โดยนำนักกีฬาจากต่างประเทศ เสริมทีมกีฬา ให้ก้าวขึ้นสู่นานาชาติ
3.เพื่อส่งเสริมให้ ประชาชนในพื้นที่ หันมาให้ความสนใจ กีฬา
4.เพื่อนำนักกีฬาสู่สมาคมกีฬาชั้นนำของโลก


กลยุทธ์
1.นำนักกีฬาฟุตบอล ที่มาเสริมทีม จากต่างประเทศ ออกรายการ ทั้งโทรทัศน์และวิทยุ เพื่อสื่อให้กลุ่มเป้าหมาย ในพื้นที่ และนอกพื้นที่ เข้าใจการพัฒนาด้านกีฬา
2.นำนักกีฬาฟุตบอล ไปออกสื่อ ในประเทศมุสลิม เช่นมาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น
3.จัดการถ่ายทอดสด การแข่งขันกีฬาฟุตบอล ในนัดสำคัญ ทั้งโทรทัศน์และวิทยุ เพื่อเผยแพร่ และกระตุ้นเร่งเร้าให้คนในพื้นที่หันมาส่งเสริมกีฬาฟุตบอล อย่างจริงจัง
4.จัดทำสปอต นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จในภาคใต้ เผยแพร่ผ่านสื่อ ทุกชนิด โดยการวางสื่อ ให้มีความเหมาะสม
5.ติดต่อทีมสโมสรฟุตบอลที่มีชื่อเสียง เพื่อให้นักกีฬาในพื้นที่ได้มีโอกาส สังกัดทีมสโมสร


แนวคิด " กีฬาสื่อสันติภาพ"
แนวคิด กีฬาสื่อสันติภาพ เป็นแนวคิดที่จะนำนักกีฬาที่มารับจ้าง เป็นนักกีฬาอาชีพที่มาค้าแข้งกับสมาคมกีฬา ที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความรักในการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอลที่ถือว่าเป็นหัวใจของคนในพื้นที่ การประชาสัมพันธ์ จึงเป็นการนำนักกีฬาต่างชาติ และนายกสมาคมกีฬา ไปออกรายการที่เกี่ยวข้องกับกีฬา หรือรายการที่เป็นลักษณะวาไรตี้ เพื่อให้ผู้ชมหรือผู้ฟัง ได้รับทราบถึงความพยายาม ของการสร้างความเข้มแข็งด้านการกีฬา ความสนใจกีฬา ของคนในพื้นที่ ในขณะเดียวกันเมื่อมีโอกาส ให้นำนักกีฬาไปแข่งขันในต่างประเทศที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านคือประเทศมาเลเซีย เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่ชายแดน นอกจากนี้เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักกีฬาในพื้นที่ ได้เป็นนักกีฬาอาชีพ ให้มีการติดต่อสโมสรฟุตบอลที่มีชื่อเสียงให้โอกาสนักกีฬาที่มีความสามารถเข้าไปฝึกซ้อม และหากมีความสามารถก็ให้สังกัดในสโมสรฟุตบอลนั้น ๆ

 

* * * * * * * * * *


ยุทธศาสตร์ที่ 5 "อาหารสื่อสันติภาพ"
1. เพื่อให้ผู้ผลิตอาหารฮาลาล รายใหม่ได้เรียนรู้วิธีการทำอาหารฮาลาล ที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม
2.เพื่อส่งเสริมอาหารฮาลาล ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคที่เป็นชาวมุสลิม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3.เพื่อส่งเสริมให้เกิดธุรกิจอาหารฮาลาล ให้มากขึ้น
4.เพื่อให้ผู้ที่ว่างงาน ได้ให้ความสนใจที่จะมาทำธุรกิจอาหารฮาลาล
5.ส่งเสริมสร้างแบรน (ยี่ห้อ) ตราฮาลาลได้เป็นตรามาตรฐาน ด้านอาหารที่จะส่งออกไปต่างประเทศและ ในประเทศ


กลยุทธ์
1.ให้ผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านอาหารฮาลาล สอนการทำอาหารฮาลาล แก่ ผู้ที่มีชื่อเสียง (นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี , นายยิ่งศักดิ์ , นายหมึกแดง ฯลฯ ) ได้เรียนรู้ โดยการให้ความรู้ ให้มีการถ่ายทอดทางสื่อ โทรทัศน์ วิทยุ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบวัฒนธรรมทางอาหาร 2. นำผู้ผลิตอาหารฮาลาล ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สาธิตการทำอาหารผ่านสื่อวิทยุ และโทรทัศน์ ในพื้นที่ และนอกพื้นที่ (ส่วนกลาง )
3.ให้มีการเปิดสอนทำอาหารฮาลาลที่ถูกหลักศาสนา ให้แก่ผู้สนใจได้เรียนรู้ และให้มีการเผยแพร่ผ่านสื่อ
4.สร้างแบรน ที่เป็น สัญลักษณ์ ของอาหารฮาลาล ผ่านสื่อ ในลักษณะของสปอต สกู้ป ผ่านสื่อ โทรทัศน์ วิทยุ
5.จัด EVENT ที่เกี่ยวกับอาหารฮาลาล ในพื้นที่ และนอกพื้นที่ โดยการประสานหน่วยงานในพื้นที่ ให้เป็นผู้ดำเนินการ และให้นำสื่อเข้าให้การสนับสนุน


แนวคิด"อาหารสื่อสันติภาพ"
แนวคิด อาหารสื่อสันติภาพ เป็นแนวคิดที่จะนำอาหาร มาใช้เป็นสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะความโดดเด่นของอาหารฮาลาล ที่เป็นวิธีการทำอาหารตามหลักศาสนาอิสลาม เมื่อเราให้ความสำคัญ ต่อวัฒนธรรมด้านอาหาร โดยการจัด EVENT ที่เกี่ยวข้องกับอาหารฮาลาล และเพื่อให้มีการประชาสัมพันธ์ที่กว้างไกล ให้มีการเชิญผู้ที่มีชื่อเสียงด้านอาหารมาจัดกิจกรรมร่วมกับคนในพื้นที่ เช่น การสาธิตการทำอาหารฮาลาล เป็นต้น

 

* * * * * * * * *

 

ยุทธศาสตร์ที่ 6 "การ์ตูนสื่อสันติภาพ"


1.เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เข้าถึง เนื้อหา ที่ถูกหลักศาสนา ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์
2.เพื่อให้เด็กและเยาวชน ได้รับข้อมูลที่ ง่าย ตามวัย
3.เพื่อให้การ์ตูนเป็นสื่อที่เข้าถึงทุกวัย ได้อย่างแนบเนียน


กลยุทธ์
1.จัดทำหนังสือการ์ตูน ที่สื่อถึงความรักความเข้าใจ ในการอยู่ร่วมกัน
2.หนังสือการ์ตูน ให้มี 2 ภาษา คือ ภาษาไทย และภาษามลายู
3.หนังสือการ์ตูน ให้ใช้ชื่อเป็นภาษาไทย และภาษามลายู และเรื่องราวควรถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม และไม่ดูหมิ่น เหยียดหยาม ผู้อื่น หรือศาสนาอื่น
4.แจกจ่ายหนังสือการ์ตูน ไปตามสถานศึกษา ปอเนาะ โรงเรียนตาดีกา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น
5.นำการ์ตูน ตีพิมพ์ ในหนังสือพิมพ์ ท้องถิ่น ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อขยายผลให้มากขึ้น


แนวคิด การ์ตูน สื่อสันติภาพ
แนวคิดการ์ตูน สื่อสันติภาพ เป็นแนวคิดที่จะจัดทำหนังสือการ์ตูน ที่มีรูปแบบการนำเสนอเนื้อเรื่องที่เป็นการ์ตูน อ่านเข้าใจง่าย เนื้อหาเหมาะกับเด็กและวัยรุ่น ที่มุ่งสร้างความสมานฉันท์ ภาษาที่ใช้ให้มีทั้งภาษามลายู และภาษาไทย จากนั้นให้นำหนังสือการ์ตูนไปแจกจ่ายในสถานศึกษา เช่น สถาบันปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียนตาดีกา เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรมีการสร้างละครสั้นที่ผลิตเพื่อเผยแพร่เป็นสื่อโทรทัศน์และวิทยุ ที่มีเนื้อหาในการสร้างความสมานฉันท์และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

 

* * * * * * * * * *

 

ยุทธศาสตร์ที่ 7 "ละครสั้นสื่อสันติภาพ"


1.เพื่อให้เด็กและเยาวชน ได้เข้าถึงเนื้อหา ประชาสัมพันธ์ ในรูปแบบของละคร
2.เพื่อให้มีละครสั้น ในรูปแบบที่สร้างสรรค์ นำเสนอต่อประชาชนในพื้นที่
3.เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่ ได้มีโอกาส แสดงละคร
4.เพื่อให้ละครสั้นได้มีโอกาสแข่งขันกับละครไทย ที่เผยแพร่ในสื่อโทรทัศน์ ไทย


กลยุทธ์
1.จัดทำละคร ที่เป็นภาษามลายู และภาษาไทย ในเนื้อหาที่สร้างสรรค์ในรูปแบบของ DVD
2.จัดส่งละครที่ผลิตแล้ว เผยแพร่ ในสื่อโทรทัศน์ ของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้



* * * * * * * * * *


บทสรุป
ยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากได้มีการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ก็จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ และนอกพื้นที่ได้เข้าใจวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภาษา ศาสนา และอัตลักษณ์ ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้ง ลดน้อยลง เพราะประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจ เข้าถึง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้เกิดสันติสุข อีกทั้งทำให้คนในพื้นที่เกิดความภาคภูมิใจ ในวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภาษา และความเป็นอยู่ ของตนเอง
ยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของประชาชนในพื้นที่ และประชาชนนอกพื้นที่ ให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน โดยมีเป้าหมายของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ตลอดไป

 

* * * * * * * * * *



คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com