www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 16 คน
 สถิติเมื่อวาน 48 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2497 คน
52284 คน
1744728 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

คู่มือ
การสื่อข่าว
บรรณาธิการข่าว

โดยณรงค์ ชื่นนิรันดร์
ผู้สื่อข่าว 8 ว.
1 ต.ค.2549

 บทที่ 1
ผู้สื่อข่าวมืออาชีพ

ผู้สื่อข่าวมืออาชีพ

คนที่มีอาชีพเป็นผู้สื่อข่าว มีจำนวนมาก แต่จะหาผู้สื่อข่าวที่เป็นมืออาชีพ อาจจะหาได้ไม่ง่ายนัก ตำราทางวารสารศาสตร์ ไม่ได้พูดถึงผู้สื่อข่าวมืออาชีพ เอาไว้ว่าต้องมีคุณสมบัติอย่างไร มีแต่บอกว่าผู้สื่อข่าว ต้องมีคุณสมบัติอย่างนั้นอย่างนี้

นักวิชาการท่านหนึ่ง เขียนหนังสือว่าด้วยหลักการ การเป็นผู้สื่อข่าว กล่าวถึงคุณสมบัติของนักข่าวไว้ 8 ประการคือ 1. มีความอยากรู้อยากเห็น2. เป็นคนช่างสังเกต 3. ต้องเป็นคนรอบรู้ 4. ต้องเป็นคนทรหดอดทน 5. ต้องถืองานเป็นภาระหน้าที่ 6. ต้องมีมนุษย์สัมพันธ์ดี 7. ต้องเป็นคนซื่อตรง 8. มีไหวพริบและความคล่องตัว

ผู้สื่อข่าว ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้ง 8 ประการ แต่ทำไมจึงยังไม่เป็นผู้สื่อข่าวมืออาชีพ หากจะให้คำนิยาม หรือความหมายของผู้สื่อข่าวมืออาชีพ น่าจะหมายถึง ผู้สื่อข่าว ที่มีความเชี่ยวชาญในการสื่อข่าว การสัมภาษณ์ การเขียนข่าว การเขียนบทความ สารคดี ฯลฯ ทำงานด้วยจิตวิญญาณ แห่งการเป็นสื่อมวลชนที่ดี เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม มีสำนึกในจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เป็นที่ยอมรับยกย่องและนับถือในฐานะเป็นแบบอย่างของผู้สื่อข่าวด้วยกัน

ผู้สื่อข่าว จะก้าวไปสู่การเป็น "ผู้สื่อข่าวมืออาชีพ" จะต้องพิสูจน์ด้วยผลงาน แต่ผลงานจะปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือ จากหัวหน้าข่าว หรือบรรณาธิการข่าว ผู้สื่อข่าวมืออาชีพ จะต้องมีลมหายใจเป็นข่าว สมองจะครุ่นคิด อยู่กับประเด็นข่าวและความสงสัยว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนั้น จะไปหาข้อมูลข่าวสารได้ที่ไหน ซึ่งจะต้องไม่ให้เกิดผลกระทบ ในทางเสียหาย และกระทำด้วยความระมัดระวังเมื่อผู้สื่อข่าว หาข่าวสำคัญมาได้ จะเป็นข่าวเจาะ หรือการสัมภาษณ์พิเศษบุคคลสำคัญ บรรณาธิการบริหาร จะต้องเรียกประชุมบรรณาธิการข่าว เพื่อทำความเข้าใจกับข่าว และวางแผนการทำข่าว


คุณลักษณะของนักข่าวที่ควรจะเป็น
1. ขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม
2. มีนิสัยรักการอ่านอยู่เสมอ
3. มีจริยธรรมและคุณธรรม
4. จับประเด็นใจความเก่ง
5. มีความรับผิดชอบต่อสังคม
6. มีจมูกข่าวหรือไวต่อเรื่องที่เป็นข่าว
7. เป็นนักคิด นักตั้งคำถาม และตีความเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างมีเหตุมีผล
8. รู้จักกาลเทศะ
9. มีทักษะในการสื่อข่าวและเขียนข่าวได้อย่างดี
10.มีความอดทน สามารถทำงานภายใต้กดดันต่าง ๆ ได้ มีใจรักงานข่าว มีความรู้ขั้นพื้นฐานทั่ว ๆ ไปอย่างกว้างขวาง
และมีมนุษย์สัมพันธ์ดี

ข้อเสนอแนะสำหรับบทบาทผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการข่าว
1. ผู้สื่อข่าว ควรจะปรับปรุง คุณลักษณะด้านมารยาทและสุภาพ จริยธรรมและคุณธรรม ความถูกต้องเที่ยงตรง ในการนำเสนอข่าว การใช้ภาษา ในการรายงานข่าว และความซื่อสัตย์สุจริต ให้มีมากขึ้น เพราะถ้านักข่าว มีคุณลักษณะเหล่านี้มากขึ้น จนถึงระดับที่ผู้ฟังทั่วไปยอมรับ ย่อมทำให้ผู้ฟังวิทยุกระจายเสียง เชื่อถือข่าวสารมากขึ้น โดยเฉพาะ ข่าวสารการพัฒนา

2. ผู้สื่อข่าว ควรหันมา ให้ความสำคัญของ การพัฒนาคุณลักษณะ ของตนให้มากขึ้น โดยปรับปรุงคุณลักษณะของตน ให้เหมาะสมและเอื้อต่อการพัฒนา ทุก ๆ ด้านทั้ง การพัฒนาด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจะสอดคล้อง กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

3. ผู้สื่อข่าว ควรตระหนักถึง การเสนอข่าวสาร เพื่อการพัฒนาเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้ฟังนำข่าวสาร เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ ในการพัฒนา ในชีวิตประจำวันของเขาได้

4.ควรให้ผลตอบแทน แก่ผู้สื่อข่าวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินเดือนหรือสวัสดิการ เพราะจะทำให้ บุคลากรที่มีคุณภาพ หันมาสนใจงานข่าวมากขึ้น เนื่องจากมีกำลังใจ มีขวัญที่ดีในการทำงาน

5.ควรมีการสนับสนุน กิจกรรมที่จะส่งผล ให้เกิดการพัฒนา คุณลักษณะของนักข่าว และการพัฒนาทุก ๆ ด้านของนักข่าว โดยเพิ่มการฝึกอบรม ในสาขาวิชาชีพทั้งด้านทักษะ ความชำนาญ ในการนำเสนอข่าวสาร และความรับผิดชอบในหน้าที่ จรรยาบรรณวิชาชีพ และมีจริยธรรม รับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม

จรรยาบรรณของผู้สื่อข่าว
จรรยาบรรณของผู้สื่อข่าว หมายถึง หลักที่ควรประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์ และเพื่อส่งเสริมคุณค่า ให้แก่สื่อมวลชน หลักที่สำคัญ เช่นความซื่อสัตย์ สุจริตในวิชาชีพ ความถูกต้องเที่ยงธรรม

ผู้สื่อข่าวดี ๆ ที่ยึดมั่นในจรรยาบรรณ รักในเกียรติ และศักดิ์ศรี ของความเป็นสื่อมวลชน แต่ในความเป็นจริง นักข่าวดี ๆ เหล่านี้ไม่อยู่ในวิสัย จะไปขจัดนักข่าวเลว ๆ ได้ เพราะตัวเองมีงานที่ต้องทำ อีกอย่างหนึ่ง การไปยุ่งกับคนอื่น อาจจะเกิดปัญหา กับตัวเองและครอบครัวได้ ควรจะมีหน่วยงานเฉพาะเข้าไปตรวจสอบ ดูพฤติกรรมของผู้สื่อข่าว เพราะผู้สื่อข่าวบางแห่ง มักมีอิทธิพลเหนือแหล่งข่าวและชี้นำข่าวไปในทิศทาง ให้ร้ายต่อคนอื่น ที่ไม่อยู่ในความเที่ยงธรรม

ความสำคัญของงานสื่อข่าวและบรรณาธิการข่าว
1. เพื่อการเป็น ผู้สื่อข่าวมืออาชีพ ที่ดี มีจรรยาบรรณ ของการเป็นสื่อมวลชน
2. เป็นประโยชน์ ต่อการค้นคว้า ของผู้สนใจ หรือผู้สื่อข่าวงานวิทยุกระจายเสียง สามารถนำไปใช้ ประโยชน์ได้ทันที
3.เพื่อเก็บรวบรวมความรู้ขั้นตอน การปฏิบัติงาน ด้านข่าว และการบรรณาธิการ ข่าว ของสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์

ขอบเขตของงานสื่อข่าวและบรรณาธิการข่าว
1. การทำงานสื่อข่าวต้องยึดหลัก การเป็นผู้สื่อข่าวมืออาชีพ และมีจรรยาบรรณ
2.วิธีการส่งข่าวเพื่อเผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ อินเตอร์เน็ท
3.วิธีการจัดทำข่าวเพื่อเผยแพร่ในท้องถิ่น และส่วนกลาง
4.วิธีการจัดทำเว็บไซต์ เพื่อเผยแพร่ข่าว

นิยามศัพท์เฉพาะ
ข่าว หมายถึง เรื่องราวที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ภัยพิบัติ เทคโนโลยีใหม่ ๆ อาชญากรรม สิ่งแวดล้อมโดยจะต้องมีข้อจำกัดที่เกิดขึ้นใหม่บรรณาธิการข่าว หมายถึง ผู้ตรวจสอบ กลั่นกรองข่าวสาร ที่จะเผยแพร่ทางสื่อสารมวลชน โดยยึดถือความเที่ยงธรรม ตามจรรยาบรรณของสื่อมวลชนสถานีวิทยุกระจายเสียง หมายถึงที่ตั้งหรือที่ทำการ ให้กระแสคลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้าชนิดที่เคลื่อน ไปมาตามอากาศโดย
ไม่ต้องใช้สาย ให้ส่งเสียงแพร่ไกลออกไปสถานีวิทยุโทรทัศน์ หมายถึงที่ตั้งหรือที่ทำการ ให้กระแสคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดเคลื่อนที่ ไปมาตามอากาศโดยไม่ต้องใช้สายให้ส่งเสียงและภาพแพร่ไกลออกไปเว็บไซต์ หมายถึง หน้าข้อความในหลาย ๆ หน้า หรือ web page รวมกันเป็นเว็บไซต์ ที่อยู่ในระบบสารสนเทศ ผู้สื่อข่าว หมายถึง (press) ผู้รวบรวมข้อมูลข่าวสารแล้วส่งสาร ผ่าน สื่อ ไปยังผู้รับสารสื่อสารมวลชน หมายถึง (mass media) องค์ประกอบเดียวของกระบวนการ คือ สื่อที่สามารถนำสารจากผู้ส่งสารไปสู่ผู้รับสารที่ประกอบด้วย คนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ภายในเวลาที่ใกล้เคียงกัน หรือในเวลาเดียวกัน โดยทั่วไปแล้ว สื่อที่เรียกว่าสื่อสารมวลชนได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ นิตยสาร อินเตอร์เน็ท เอสเอ็มเอส และภาพยนตร์


* * * * * * * * * * * * *


บทที่ 2
ประเภทของข่าว

1.ข่าวตามนโยบายของรัฐบาล หมายถึงข่าว ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล คือ ข่าวกองทุนหมู่บ้าน ข่าวธนาคารประชาชน ข่าวการท่องเที่ยว ข่าวหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ข่าวชุมชนเข้มแข็ง

2.ข่าวเกษตร หมายถึง ข่าวที่เกี่ยวกับด้านการเกษตรกรรม การเพาะปลูก การกำจัดแมลงศัตรูพืช ข่าวปริมาณผลผลิตด้านการเกษตร ข่าวราคาพืชผลทางการเกษตร เช่น ราคายางพารา ราคาผลไม้ในท้องถิ่น ข่าวรณรงค์ให้บริโภคผลไม้ไทย เป็นต้น

3.ข่าวการท่องเที่ยว หมายถึง ข่าวที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ข่าวสิ่งแวดล้อม ข่าวเทศกาลถือศีลกินเจ ข่าวการเดินทางมาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ข่าวการปรับปรุงสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการท่องเที่ยว เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำ โทรศัพท์ การจัดภูมิทัศน์ เป็นต้นข่าวการก่อสร้างที่พักรองรับนักท่องเที่ยว ข่าวการจัดระเบียบชายหาด ข่าวการจัดผังเมืองท่องเที่ยว ข่าวแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น น้ำตก ชายทะเล เดินป่าชมปะการัง เที่ยวหมู่เกาะ เป็นต้น ข่าวการรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ข่าวการเปิดแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ข่าวการพบแหล่งโบราณคดี

4.ข่าวการเมืองท้องถิ่น หมายถึง ข่าวการรับสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น ข่าวการรณรงค์ไปเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในทุกระดับ ข่าวการให้ความรู้การเลือกผู้แทนที่ดี ข่าวการปกครองระบอบประชาธิปไตย ข่าวการประชุมสภาเทศบาล , สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด , สภาองค์การบริหารส่วนตำบล

5.ข่าวเหตุการณ์ทั่วไป หมายถึง ข่าวการเกิดอุบัติเหตุ ข่าวอาชญากรรม ข่าวจับกุมแรงงานต่างด้าว ข่าวสภาพน้ำท่วม ข่าวดินถล่มเส้นทาง ข่าวการอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมาย ข่าวรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด

6.ข่าวกีฬา หมายถึง ข่าวการแข่งขันวิ่งมินิมาราธอนชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพ ข่าวการแข่งขันจักรยานเสือภูเขา

7.ข่าวพยากรณ์อากาศ หมายถึง ข่าวสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ข่าวแจ้งเตือนภัยพิบัติจากฝ่ายปกครอง ข่าวจากบรรเทาสาธารณภัย

8.ข่าวประชาสัมพันธ์ หมายถึง ข่าวที่หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคประชาชนที่ต้องการเผยแพร่กิจกรรมของหน่วยงาน ในลักษณะข้อความสั้น ๆ เช่นเชิญเที่ยวงาน วันแตงโม ข่าวเที่ยวงานฝังลูกนิมิต ข่าวงานบวช งานแต่ง งานฌาปนกิจศพ ข่าวเชิญร่วมการแข่งขันกีฬา ข่าวรับสมัครงาน ข่าวประกวดราคา สอบราคา ข่าวการรับสมัครเข้าอบรมสัมมนา ข่าวขายทอดตลาด ข่าวประกาศของหาย

* * * * * * * * * * * * ** *

บทที่ 3
หน้าที่ ผู้สื่อข่าว และบรรณาธิการข่าว

ผู้สื่อข่าวมีหน้าที่
1.เสาะแสวงหาข่าว
การเสาะแสวงหาข่าว มีวิธีการโดย ตรวจสอบความกระแสข่าวจากทุกสื่อ จากแหล่งข่าว ที่เป็นบุคคลและเป็นเครือข่าย ที่ผู้สื่อข่าวได้สร้างไว้ และต้องมีการวางแผนงานข่าว ไว้ด้วย ว่า บรรณาธิการ มีประเด็นที่จะนำเสนอข่าวไปในทิศทางใด

2.ประสานงานกับแหล่งข่าว
เมื่อได้แหล่งข่าวตามที่ได้วางแผนไว้ จึงมีการประสานงานกับแหล่งข่าว เพื่อติดต่อขอสัมภาษณ์ หรือขอข้อมูล จากแหล่งข่าว วิธีการคือติดต่อทางโทรศัพท์ ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด หรือจะใช้วิธีการติดต่อทาจดหมาย ติดต่อทางอีเมล์ หรือจะบอกผ่านเจ้าหน้าที่ของแหล่งข่าวก็ได้ ตามแต่สถานการณ์กำหนด ความจำเป็นในข้อนี้ คือ ผู้สื่อข่าวจะต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ ของแหล่งข่าว ที่มีการติดต่อกันบ่อยครั้ง และ หมายเลขโทรศัพท์ของแหล่งข่าวที่เป็นบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา ภาคเอกชน

3.เตรียมอุปกรณ์ทำข่าว
เมื่อประสานกับแหล่งข่าวได้เรียบร้อยแล้ว ก่อนการสัมภาษณ์ ตามที่ได้มีการนัดหมายไว้ ควรตรวจสอบความพร้อมของเครื่องมือ เช่น เทปบันทึกเสียง ม้วนเทป ถ่านไฟฉาย ไมโครโฟน ที่สำคัญควรตรวจสอบถ่านไฟฉาย ที่อยู่ในไมโครโฟนหรือเทปบันทึกเสียง ด้วย ว่ามีกระแสไฟอ่อนหรือไม่ หากอ่อนก็ขอให้เปลี่ยน เพราะถ้ายังใช้สัมภาษณ์จะทำให้เสียงที่บันทึกเป็นเสียงยืด เบา หรือ บันทึกไม่ติด


4.สื่อข่าว
เมื่อเตรียมอุปกรณ์ทำข่าว และนัดแหล่งข่าวแล้ว ก็ถึงขั้นสัมภาษณ์แหล่งข่าว ก่อนที่จะสัมภาษณ์ ควรเตรียมประเด็น ที่จะใช้ในการสัมภาษณ์ และสร้างความคุ้นเคย กับแหล่งข่าว เพราะแหล่งข่าวบางคน ตื่นเต้น หรือข้อมูลไม่เพียงพอ จึงควรพูดแบบเปิดใจก่อนสัมภาษณ์ เช่น วันนี้อากาศดี เหมาะแก่การสัมภาษณ์ และ อื่นๆ เมื่อแหล่งข่าวพร้อมไม่ประหม่า ตื่นเต้น จึงเริ่มสัมภาษณ์ ในประเด็นที่ กำหนดไว้

5.เขียนข่าว
หลังจากที่ได้สัมภาษณ์หรือหาข้อมูลจนครบแล้ว จึงเริ่มเขียนข่าว ตามที่ได้ข้อมูลมา เมื่อตรวจทานข่าวเสร็จเรียบร้อย จึงส่งไปให้บรรณาธิการข่าว เพื่อทำการตรวจข่าวก่อนออกอากาศอีกครั้งหนึ่ง

บรรณาธิการข่าว มีหน้าที่ ดังนี้คือ
1.ตรวจสอบข่าว

เมื่อรับข่าวมาจากผู้สื่อข่าว หรือจาก หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จะต้องนำข่าวมาตรวจสอบก่อนว่ามีความผิดพลาดในส่วนไหนของข้อความ เช่น ชื่อ นามสกุล ของแหล่งข่าว ยศ ตำแหน่ง ที่ถูกต้อง วัน เดือน ปี ที่ ให้ประกาศว่าหมดเขตแล้วหรือยัง เช่น ข่าวรับสมัคร ข่าวประกวดราคา ฯลฯ การใช้ภาษาไทย ของผู้สื่อข่าวว่า ถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกก็ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง

2.เรียบเรียงข่าว
เมื่อตรวจความถูกต้องของข้อมูล ตัวสะกด ตำแหน่ง ชื่อหน่วยงาน แล้ว บรรณาธิการอาจจะต้องมีการเรียบเรียงหรือปรับปรุงข่าวใหม่ เพื่อให้มีความเหมาะสม กับข่าวที่จะนำเสนอ ไม่พาดพิงบุคคลอื่น ในอันที่จะทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งทางแพ่งและทางอาญา

3.รวบรวมข่าว
เมื่อเรียบเรียงข่าวและปรับปรุงข่าวแล้ว จึงนำข่าวที่ได้ มา รวบรวม คัดเลือกข่าวที่จะนำออกอากาศ หรือนำมาตีพิมพ์

4.การลำดับข่าว
ลำดับข่าวที่จะนำออกอากาศทางสถานีวิทยุ เป็นหน้าที่ของบรรณาธิการข่าว ที่จะเป็นผู้กำหนดว่า ข่าวจะออกได้ในช่วงเวลาไหนหรือการนำเอาข่าวไหนออกก่อน ออกหลัง หรือไม่เอาข่าวออกอากาศเลย ก็เป็นสิทธิของบรรณาธิการข่าว ที่จะกระทำได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบของการทำงาน ไม่เอา อคติส่วนตัวมาเป็นตัวกำหนด กรณีการสื่อข่าวและบรรณาธิการข่าว วิทยุกระจายเสียง และในเว็บไซต์ ก็มีขั้นตอนเดียวกัน เพียงแต่แตกต่างในวิธีการเสนอผ่านสื่อ เท่านั้น

* * * * * * * * * * * * * *


บทที่ 4
บทบาทผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการข่าว

ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการข่าว ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล
ผู้สื่อข่าว ในการสื่อสารแต่ละประเภทย่อมมีบทบาท และความรับผิดชอบที่แตกต่าง ผู้สื่อข่าว ย่อมมีความรับผิดชอบในความสำเร็จ หรือความล้มเหลวของการสื่อสาร ผู้สื่อข่าวย่อมจะต้องแสดงบทบาทในการสื่อสารให้ดำเนินการตามที่ได้กำหนดไว้ และให้บรรลุเป้าหมายคือ การค้นหาข้อมูลจากผู้ถูกสัมภาษณ์ ถ้าจะมีความล้มเหลวเกิดขึ้น ผู้สื่อข่าวย่อมจะต้องรับผิดชอบและต้องเตรียมการหาข้อมูล ให้ได้ตามที่ต้องการ และชัดเจนขึ้น ผู้สื่อข่าว มีบทบาทและความรับผิดชอบต่อการสื่อสาร ในลักษณะที่เป็นเรื่องเฉพาะตัว สามารถใช้ความรู้ ทักษะ ตลอดจนความเข้าใจของตนในเรื่องต่าง ๆ อันอาจจะมีผลต่อความสำเร็จของการสื่อสารได้อย่างเต็มที่ ผู้สื่อข่าวในฐานะปัจเจกบุคคลที่มีเหตุผลในการสื่อสารย่อมต้องเตรียมตัว เลือกวิธีการสื่อสาร และสื่อออกไปตามที่ตนมุ่งหวัง

ผู้สื่อข่าว และบรรณาธิการข่าว ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มต่าง ๆ ทางสังคมผู้สื่อข่าวย่อมมีบทบาทและความรับผิดชอบในลักษณะที่ผูกพันกับกลุ่ม บทบาทของผู้สื่อข่าว และ บรรณาธิการข่าวจะถูกกำหนดโดยกลุ่ม ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการสื่อสาร ไม่ได้หมายถึงเฉพาะความสำเร็จหรือความล้มเหลวเฉพาะตัวของผู้สื่อข่าว หากหมายถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของกลุ่มอีกด้วย ผู้สื่อข่าวจึงมีความรับผิดชอบสูงขึ้นกว่าระดับที่เป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลผู้สื่อข่าว และบรรณาธิการข่าว ในฐานะตัวแทนของสถาบัน ที่มีหน้าที่ส่งข่าวไปยังมวลชน ผู้สื่อข่าว จึงมีบทบาทและความรับผิดชอบสูงกว่าการสื่อสารระดับอื่น ๆ เพราะผู้สื่อข่าวมีบทบาทในฐานะ ที่เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสาร ให้ทัศนะในประเด็นปัญหาต่าง ๆ และเป็นสื่อกลาง ในการแสดงออก ตามที่สังคมได้กำหนดไว้ ผู้สื่อข่าวในการสื่อสารมวลชน จึงเป็นผู้ที่จะต้องมีความรับผิดชอบ ต่อการสื่อสารของตน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลที่กว้างขวางต่อบุคคลและสังคมด้วย

ขั้นตอนการดำเนินงานของการสื่อข่าว และบรรณาธิการข่าว ขั้นตอนการเขียนข่าว
1.การแสวงหาข่าว
ผู้สื่อข่าว ต้องรอบรู้ข่าวสารที่เกิดขึ้น เช่น จากหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล ที่มีมาสู่ประชาชนจำเป็นจะต้องฟังมาก ดูมาก และอ่านมาก

2.การเลือกสรรข่าว
ต้องคำนึงถึงความใกล้ชิด ที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ ของประชาชนในท้องถิ่น เป็นองค์ประกอบสำคัญ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม หากเป็นข่าวที่อยู่ไกลตัว ต้องเชื่อมเหตุการณ์ ให้เข้ากับ สถานการณ์ ในท้องถิ่นอย่างกลมกลืน เช่น การลดค่าเงินบาท หรือการลดภาษีมูลค่าเพิ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ของคนในท้องถิ่นทั้งทางบวกและทางลบ หรือการเลือกตั้ง สส. กระตุ้นให้คนไปเลือกตั้งมากที่สุด เพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย เป็นต้น การเขียนข่าวที่ดีนั้น ต้องคำนึงถึงการสื่อความหมาย ให้ผู้ฟังเข้าใจในข้อความทั้งหมดโดยปราศจากข้อกังขา ซึ่งโครงสร้างของข่าวที่ดี ต้อง มี ใคร -ทำอะไร -ที่ไหน-เมื่อไร -อย่างไร

3. เหตุการณ์ที่นำเสนอเป็นข่าวได้
อุบัติเหตุและความขัดแย้ง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยกะทันหัน เช่น รถยนต์ชนกัน ไฟไหม้ น้ำท่วม นับรวมไปถึงเหตุการณ์ที่ผิดปกติ เช่น คนตกจากตึกสูงๆโดยไม่ได้รับบาดเจ็บเลย หรือจะเป็นความขัดแย้งทางกาย ทางความคิด


การประชุมต่างๆที่มีการรวมตัวเป็นพิเศษ และมีความสำคัญ เช่น ประชุม ครม.สัญจร กีฬา รายงานการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ โดยเฉพาะมีการทำลายสถิติ โครงการใหม่ๆ การทำงานของรัฐบาลที่กระทบกับประชาชน

ภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ฝนตกหนัก ฝนแล้ง พายุ หรือ การตรวจเยี่ยมของบุคคลสำคัญระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ เรื่องที่คนสนใจ เรื่องที่เป็นผลงานดีเด่น เช่น เด็กนักเรียนชนะเลิศการแข่งขัน การประกวดต่างๆ เช่น ประกวดนางงาม และอาชญากรรม เป็นต้น

4. หลักการพิจารณาความสำคัญและความน่าสนใจของข่าว
ต้องมีความรวดเร็ว หรือความสด ใกล้ชิดทางกาย คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้ชิดกับผู้ฟัง ใกล้ชิดทางจิตใจ เช่น คนไทยค้ายาเสพติดในมาเลเซียถูกยิงเป้า ความสำคัญหรือความเด่นในตัวบุคคล เช่น นายกรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และความเด่นสถานที่ ผลสะท้อนของเหตุการณ์ที่สำคัญ เช่น รัฐบาลมีการขยายไฟฟ้าสู่ชนบท นำเสนอผลสะท้อนเกี่ยวกับเรื่องนี้เสนอเป็นข่าวได้ ความแปลก เช่น เด็กแฝดติดกัน 6 คน ความมีเงื่อนงำ ที่สามารถคลี่คลายเหตุการณ์ไปในทางที่ไม่มีใครคาดคิด องค์ประกอบทางเพศ เช่น ผู้หญิงได้รับเลือกเป็นผู้นำรัฐบาล ผู้ชายชนะเลิศการออกแบบเครื่องแต่งกายสตรี เหตุการณ์ต่างๆที่สะท้อนอารมณ์ เช่น แม่ลูกอ่อน เพิ่งคลอดลูกได้ 2 สัปดาห์ อุ้มลูกลงเรือกลับบ้าน ในขณะที่ฝนตกพรำๆ เกิดลื่นหกล้มตกลงไปในแม่น้ำต่อหน้าต่อตาทุกคน ตกตะลึงและเห็นใจในความเป็นแม่ ความก้าวหน้า เช่น ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดาราศาสตร์ ล้วนแต่น่าสนใจ มีคุณค่าที่จะนำเสนอเป็นข่าวได้

5.หลักการเขียนข่าวเบื้องต้น
ผู้ที่เริ่มหัดเขียน จำเป็นต้องเตรียมข้อมูลที่จะเขียนข่าวให้พร้อม ต้องมีรายละเอียดพอสมควร โดยใช้กุญแจ 6 ดอก ได้แก่ 1. What ทำอะไร2. Where ทำที่ไหน. 3.When ทำเมื่อไหร่ 4.Why ทำไม 5.Who ใคร 6. How ทำอย่างไร เมื่อได้ข้อมูลพอมีรายละเอียดจะเขียนเป็นข่าวได้แล้ว ก่อนจะลงมือเขียน ต้องตั้งคำถาม ถามตัวเอง ว่าอะไรสำคัญหรือน่าสนใจที่สุด เมื่อพบแล้วแปลงจุดที่น่าสนใจออกมาเป็นตัวใดตัวหนึ่ง เช่น แปลงออกมาเป็น Who หรือ What พยายามผูกประโยคโดยมี W ตัวนั้นเป็นหลักสำคัญ ของประโยคที่ผูกขึ้น เช่น อาจเป็นประธานของประโยค กริยาของประโยค เมื่อเขียนแล้วจะได้เป็นประโยคสั้นๆเท่ากับได้เริ่มเขียนข่าวแล้ว

6.การเขียนความนำ
การเขียนข่าว ต่างกับการเขียนอย่างอื่น คือ นิยมเขียนเป็นย่อหน้าสั้นๆ ย่อหน้าของข่าวย่อหน้าแรก (ถัดจากพาดหัวข่าว) เรียกว่า ความนำการเขียนจะต้องพิถีพิถัน

7. การเขียนเนื้อเรื่อง
ถัดจากความนำที่เขียนได้แล้ว ต้องเขียนข่าวต่อไปจนจบข่าว ยึดหลักการง่ายๆ คือ บอกเรื่องที่เหลือจากที่บอกไว้แล้วในความนำเป็นการขยายความ ควรจะนำไปไว้ในย่อหน้าที่ถัดจากความนำทันที ข่าวจะต้องประกอบด้วย พาดหัวข่าว ความนำหรือวรรคนำ และเนื้อข่าว หน้าที่ของผู้สื่อข่าว จะเริ่มตรงความนำและเนื้อหาของข่าว ส่วนพาดหัวข่าว บรรณาธิการข่าวจะตรวจทานและแก้ไข

ตัวอย่างข่าวประกอบเสียง ส่งสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

(ความนำ) สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 9 กรมปศุสัตว์ กำลังเฝ้าติดตาม โรคบลูไซล์โลซีส ในภาคใต้ยังไม่พบโรคนี้ และยืนยันว่า ผู้ที่ดื่มนมแพะ ที่มีเชื้อโรคนี้ ไม่มีอันตรายถึงชีวิต หากจะดื่มควรต้มหรือนึ่ง ก่อน

(เนื้อเรื่อง) นายอดิศักดิ์ ด่านวิวัฒน์พร ผู้อำนวยการสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 9 กรมปศุสัตว์ บอกว่า ตามที่มีข่าวว่ามีผู้ดื่มนมแพะแล้วเกิดอาการเจ็บป่วย จากการเฝ้าติดตามมาจากเชื้อบลูไซล์โลซีส เป็นสัตว์ติดคน มักเกิดกับสัตว์กีบคู่ และมักจะพบในโค กระบือ แพะ แกะ โรคบลูไซล์โลซีส ยังไม่พบการระบาด ในพื้นที่ภาคใต้ และทางสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 9 กรมปศุสัตว์ กำลังเฝ้าติดตามโรคบลูไซล์โลซีส อย่างใกล้ชิด

(เสียงแหล่งข่าว) ////// เปิดเสียง ......จบที่คำว่า .. ติดตัวอื่นไป //////

(สรุปประเด็น) นายอดิศักดิ์ ด่านวิวัฒน์พร ผู้อำนวยการสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 9 บอกอีกว่า โรคบลูไซล์โลซีสที่เกิดจากการดื่มนมแพะ จะไม่ทำให้ผู้ดื่มนม เสียชีวิต แต่โรคชนิดนี้จะทำลายเศรษฐกิจ
เพราะจะทำให้แพะมีการแท้งลูกบ่อยครั้ง ส่วนการป้องกันโรคบลูไซล์โลซีส เพียงแต่ต้มนมแพะ เชื้อโรคนี้ก็จะตาย
(ชื่อผู้รายงาน) ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สวท.ตะกั่วป่า สำนักประชาสัมพันธ์เขต 5 รายงาน

คำอธิบายตัวอย่างการเขียนข่าว ส่งสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ข่าวประกอบเสียง ที่จะส่ง สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ จะมีการเขียนข่าวอยู่ 5 ขั้นตอน คือ ความนำ เนื้อเรื่อง เสียงแหล่งข่าว
สรุปประเด็น ชื่อผู้รายงาน
1.ความนำ
การเขียนความนำ ถึงแม้นจะอยู่ในตอนแรก แต่ให้เขียนหลังสุด เพราะจะรวมเอาประเด็นข่าวที่มีความสำคัญมาใส่ไว้ โดยให้เว้นกระดาษว่าง ประมาณ 1 นิ้ว เพื่อเป็นพื้นที่ว่างในการเขียนความนำ หลังจากเขียนข่าวส่วนอื่นเสร็จแล้ว จึงย้อนมาเขียนความนำ

2.เนื้อเรื่อง
การเริ่มเขียนเนื้อเรื่อง ให้ขึ้นต้น ด้วยชื่อแหล่งข่าว พร้อมตำแหน่ง จากนั้นตามด้วยคำว่า " บอกว่า หรือ กล่าวว่า หรือ เปิดเผยว่า" ให้ใช้คำใดคำหนึ่งที่เห็นว่า เหมาะสม จากนั้น ให้เริ่มเขียนข่าว โดยถอดเทปคำสัมภาษณ์แหล่งข่าว สรุปประเด็นที่สำคัญ ของเนื้อข่าว โดยเขียนประมาณ 4 บรรทัด ก็เพียงพอ

3.เสียงแหล่งข่าว
เสียงแหล่งข่าว ให้เลือกช่วงที่ แหล่งข่าวพูดเสียงชัดเจน มีประเด็น เกี่ยวข้องกับข่าว และเป็นช่วงไฮไลท์ ของข่าว ปล่อยเสียงประมาณ 30 วินาที โดยช่วงจบเสียงให้จดคำพูดไว้ด้วยว่าพูด อะไร เพื่อจะได้ตัดคำพูดได้อย่างถูกต้องไม่เกินเวลา เช่นข่าวในตัวอย่างจะ จบ ที่ คำว่า " ติดตัวอื่นไป " จากนั้นให้ปิดเสียง แล้วอ่านต่อในช่วงต่อไป

4.สรุปประเด็น
เป็นตอนสุดท้ายของข่าว เริ่มต้นเขียน โดยให้ขึ้นต้นชื่อแหล่งข่าว ตำแหน่ง เหตุผลที่ต้องเริ่มที่ชื่อแหล่งข่าว เพราะผู้ฟังบางคน เปิดฟังข่าว ที่เป็นเสียงของแหล่งข่าวพอดี ไม่ทราบว่าเป็นเสียงของใคร ดังนั้นจึงต้อง มีชื่อแหล่งข่าว พร้อมตำแหน่ง ในช่วงที่ สรุปประเด็นด้วย จึงจะทำให้ผู้ฟังทราบว่าเป็นเสียงของใคร ส่วนประเด็นของข่าวที่เขียน จะต้องเป็นประเด็นเพิ่มเติม หรือประเด็นที่สรุปเพื่อเน้น เนื้อหาของข่าว เท่านั้น ความยาวของข้อความข่าวประมาณ 3-4 บรรทัด ก็เพียงพอ กับข่าวที่จะนำเสนอ และถือว่าจบขั้นตอนของการเขียนข่าวประกอบเสียง ที่จะส่งไปสำนักข่าว

5.ชื่อผู้รายงาน
การใส่ชื่อผู้รายงาน เป็นกระบวนการขั้นสุดท้าย ของการส่งข่าวประกอบเสียง ในตอนจบข่าว จะต้องใส่ชื่อผู้รายงานข่าว หน่วยงานสังกัด และจบด้วยคำว่า รายงานไม่ต้องมีคำว่า ครับ หรือ ค่ะ ต่อท้าย

* * * * * * * * * * * * * *

วิธีการส่งข่าวประกอบเสียง สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

1.เตรียมบท ข่าว ที่จะส่ง
2.ตั้งหัวเทป ที่จะปล่อยเสียง
3.ซ้อมอ่านข่าวให้ คล่อง ก่อนส่งข่าวไปจริง
4.ให้โทรศัพท์ ไปที่หมายเลข 0-2275-5252 กอง บก.ข่าวประกอบเสียงสำนักข่าว
5.เมื่อกองบรรณาธิการสำนักข่าว รับสาย ให้ผู้ส่งข่าวบอกว่า " ส่งข่าวครับ/ค่ะ"
6.ผู้รับข่าวที่กองบรรณาธิการ สำนักข่าว จะบอกว่า พร้อม แล้วจะมีเสียงดัง "กริ๊ก"
7.จากนั้น ให้เริ่มส่งข่าว เริ่มต้นด้วยอ่านคำว่า "1,2,3," และอ่านข่าวที่เขียนไว้ต่อไป
8.เหตุผลที่ อ่าน 1,2,3, ก่อนอ่านข่าว เพื่อให้ กองบรรณาธิการ ตัดข่าวได้ง่ายขึ้น และทำให้ทราบถึง หัวข่าว ที่มีการเริ่มส่งข่าว
9.เมื่ออ่านถึงช่วง ปล่อยเสียง ให้เปิดเสียงแหล่งข่าวจากเทป และใช้โทรศัพท์จ่อที่ลำโพงของเทป เสียงจากลำโพง ไม่ควรดัง
หรือเบาเกินไป เพราะจะทำให้เสียงแตก หรือเสียงอาจจะเบา จนไม่ได้ยิน ควรเปิดเสียงแหล่งข่าวให้พอดี สังเกตได้โดยเอาหู
แนบกับลำโพง เพื่อฟังเสียง ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว
10. เมื่อปล่อยเสียงแหล่งข่าวไปประมาณ 30 วินาที ให้ปิดเทปเสียงแหล่งข่าว แล้วอ่านต่อ จนจบ
11. เมื่ออ่านจบ ผู้รับข่าวที่กองบรรณาธิการ ก็จะบอกเองว่า "เรียบร้อยครับ" เป็นอันว่าการส่งข่าวประกอบเสียง ไปยังสำนักข่าว
กรมประชาสัมพันธ์ เสร็จเรียบร้อย และรอฟังผลงานที่ตัวเองส่ง หากส่งข่าวไปประมาณ 10.00 น. ก็จะออกประมาณ 11.00 น.
หรืออาจจะได้ออกข่าวภาคบังคับ เวลา 12.00 น.


* * * * * * * * * * * * * *


บทที่ 5
การวิเคราะห์ข่าว
การวิเคราะห์ข่าว (News Analysis )


การวิเคราะห์ข่าว หมายถึง การใช้ความคิดใคร่ครวญ โดยการนำข่าวสารที่สำคัญมาแยกแยะ เพื่อให้ความกระจ่าง เผยถึงเงื่อนงำหรือความสลับซับซ้อน ให้ได้ทราบถึงรายละเอียดมากยิ่งขั้น พิจารณาด้วยเหตุด้วยผลในทุกด้าน ไม่ว่าด้านดีหรือด้านเสีย โดยมิใช่เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้วิเคราะห์ และประเมินผลสรุปถึงแนวโน้มในอนาคต

การเลือกเรื่องในการวิเคราะห์
เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อคนหมู่มาก ไม่เฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง เป็นเรื่องที่มีความใหม่ หรือมีความสดอยู่ เป็นเรื่องที่มีปัญหาข้อขัดแย้งอยู่ยังไม่มีการชี้ชัดในทางใดทางหนึ่ง หรือเรื่องที่ยังมีความเคลือบคลุมไม่กระจ่างชัด

หลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์
ต้องเขียนหรือบรรยายถึงที่มาของเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดข่าวสารนั้น ๆ โดยให้มีความเข้าใจ ปะติดปะต่อไม่วกวน โดยลำดับถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นถึงเงื่อนงำความสลับซับซ้อน หรือเบื้องหน้าเบื้องหลัง ให้กระจ่างชัด ชี้ข้อเปรียบเทียบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร มีผลกระทบต่อบุคคลและต่อส่วนรวมแค่ไหน และมีการคาดหมายถึงแนวโน้มในอนาคต ในแนวทางที่ถูกต้อง

รูปแบบของบทวิเคราห์
1.คำนำ หรือ บทนำ
2.มูลเหตุที่มาของข่าวสาร
3.การขยายตัวของเหตุการณ์
4.ความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์
5.ชี้ผลดี ผลเสีย โดยอ้างอิงประกอบ
6.คาดหมายแนวโน้มในอนาคต

หลักเกณฑ์ในการเขียน
1.มีความเที่ยงตรง ความยุติธรรมและรักษาข้อเท็จจริง
2.ดำเนินเรื่องราวที่ตรงไปตรงมา มีข้อความที่ กะทัดรัด และใช้สำนวนข้อความที่ง่าย
3.ให้ สีสัน ของเรื่องราวพอสมควร

วัตถุดิบ
1.ข้อมูลสถิติ ประวัติ สะสมรวบรวมเก็บไว้เป็นหมวดหมู่
2.มีข่าวสารจากแหล่งต่าง ๆ มากพอ ทั้งข่าวที่เปิดเผยและข่าวที่ ซ่อนเร้น
3.เป็นผู้อ่านอยู่เสมอ จากสิ่งพิมพ์ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ เอกสารต่าง ๆ
4.สนใจรายการวิทยุ โทรทัศน์ การอภิปราย สัมมนา การบรรยาย การโต้วาที
5.มีสังคมที่ดี โดยเฉพาะกับบุคคลที่เราต้องการวัตถุดิบเพื่อการเขียนจะได้กว้าง
6.ศึกษาประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์ในอดีต

ประโยชน์ของการวิเคราะห์ข่าว
1.ช่วยให้ผู้ฟัง ฉลาด มีคุณภาพ
2.ผู้เขียนวิเคราะห์ข่าวจะได้ประโยชน์เพราะจะทำให้มี ความรอบรู้มากยิ่งขึ้น
3.ช่วยระงับข่าวลือ
4.ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างสื่อมวลชน
5.ช่วยให้เกิดกระแสประชามติ

ผู้ทำงานวิเคราะห์ข่าว
ผู้สามารถทำงานวิเคราะห์ข่าวสารได้ คือผู้ที่ทำงานด้านประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน
เป็นผู้ที่สามารถทำได้ทั้งสิ้น แต่ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 5 ร . ดังนี้
1.รับผิดชอบ ต่อตนเองในวิชาชีพและต่อสังคม
2.ริเริ่มอยู่เสมอ ฟังและอ่าน คิดใคร่ครวญ โต้แย้ง ไม่เชื่อง่าย
3.รวดเร็ว ในการทำงาน ไม่เฉื่อยชา
4.รู้รอบตัว อ่านมาก เก็บมาก รอบรู้มาก ช่างซักถาม สนใจ ชอบสัมมนา
5.รู้จักเรียบเรียง

* * * * * * * * * * * * * *

ตัวอย่างการวิเคราะห์ข่าว
งานข่าว สวท.ตะกั่วป่า

การวิเคราะห์ข่าวปัญหาความขัดแย้ง ที่ดิน จนนำไปสู่ความตาย
โดยณรงค์ ชื่นนิรันดร์ ผู้สื่อข่าว 7 สวท.ตะกั่วป่า


บทนำ
บ้านน้ำเค็มในอดีต เป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่ดีบุก ที่มีผู้คนอพยพมาจากหลายภูมิภาค รวมทั้งมาจากต่างประเทศ ที่เข้ามาแสวงโชคบ้างก็ร่ำรวย บ้างก็เสียชีวิตจากการแก่งแย่งผลประโยชน์ ที่ไม่ลงตัว หลายคนก็ปักหลักตั้งรกรากที่บ้านน้ำเค็ม จนมีลูกหลายเติบใหญ่ ในที่สุดก็มีการแย่งชิงที่ดิน ที่ไม่มีใครรู้ว่า ใครเป็นเจ้าของตัวจริง จนนำไปสู่ความตาย

ฆ่าด้วยระเบิด ด้วยวิธีเลือดเย็น
เวลา 09.00 วันที่ 5 มกราคม 2546 ร.ต.อ.สุวรรณ นาทอง ร้อยเวร ส.ภอ.ตะกั่วป่า จ.พังงา รับแจ้งว่า ได้เกิดเหตุระเบิดที่บ้านไม่มีเลขที่ หมู่ 2 ซอยเจริญชัย หลังร้านคงฤทธิ์การช่าง บ้านนำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จากการสอบสวนที่เกิดเหตุ ทราบว่าเป็นบริเวณด้านหลังห้องแถวห้องสุดท้าย มีผู้เสียชีวิต ชื่อนางบุญเสี้ยน เกิดสมบัติ อายุ 53 ปี สภาพศพถูกสะเก็ดระเบิดเสียชีวิตคาที่ ส่วนผู้บาดเจ็บอีกคนหนึ่ง คือ เด็กชายณัฐวุฒิ ตึกขาว อายุ 13 ปี ซึ่งเป็นบุตรชายของผู้ตาย ถูกนำส่งโรงพยาบาลตะกั่วป่า

ลักษณะของการระเบิด พ.ต.ท.วรรณะ บุญชัย ผู้บังคับการกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 425 ตะกั่วป่า บอกว่าบริเวณที่เกิดเหตุ เป็นหลังบ้านของผู้ตาย โดยคนร้ายได้นำระเบิดชนิดสังหาร มาวางไว้และใช้กระถางดอกไม้ทับลูกระเบิดไว้ เมื่อผู้ตายเห็นเข้าจึงได้ยกกระถางขึ้น ทำให้ระเบิดชนิดสังหารระเบิดทันที และเป็นหลุมลึกประมาณ 30 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร ส่งผลให้ นางบุญเสี้ยน เกิดสมบัติ ตายคาที่ส่วนลูกชายได้รับบาดเจ็บสาหัส

ด้านแนวทางสืบสวนได้ให้ ผู้ใต้บังคับบัญชา ค้นหาหลักฐาน คือ สะเก็ดระเบิดและกระเดื่องระเบิด ที่จะเป็นหลักฐานว่าเป็นระเบิดอะไรระเบิดสังหาร เมื่อถอดสลักระเบิดออก จะทำงานภายใน 4 วินาที รัศมีทำการประมาณ 20 เมตร ผู้ตายอยู่ใกล้มาก จึงเสียชีวิตทันที การเก็บกู้ศพจะเป็นหน้าที่ของตำรวจวิทยาการ จากพังงา จะเป็นผู้ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ อย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่งถึงชนิดของระเบิด เพื่อเป็นหลักฐานในการสอบสวน

ปมสังหาร
ปมของการสังหาร พล.ต.ต.สันติสุข เสนะวงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงา บอกว่า จากการสอบสวนที่เกิดเหตุ ทราบว่าเจ้าของห้องแถวต้องการที่ซื้อ ห้องแถวของผู้ตาย แต่ผู้ตายไม่ขาย ตำรวจเองก็ไม่ได้ปักใจในประเด็นนี้ เพราะว่าไม่น่าจะกระทำกันรุนแรงขนาดนี้ และผู้ตายก็ไม่มีเรื่องกับใครเลย ตลอดจนไม่มีอาชีพ รายได้ส่วนใหญ่มาจากลูกสาว ที่มีสามีเป็นชาวประมง โดยส่วนใหญ่ครอบครัวนี้มีฐานะยากจนมาก ด้านสามีผู้ตายก็ล้มป่วยด้วยโรคเบาหวาน ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ และยังมีลูกชาย อีก 2 คน เรียนอยู่ชั้น ป.3 โรงเรียนบ้านน้ำเค็ม ส่วนนายทุนที่จะมาซื้อห้องแถวของผู้ตาย เป็นคนในท้องที่บ้านน้ำเค็มนั่นเอง และไม่ใช่เป็นนายทุนใหญ่ และบริเวณนั้นก็ไม่เป็นพื้นที่ มีราคาเพราะอยู่ในชุมชน คนร้ายมีการหวังผลว่าต้องการที่ให้ผู้ตายออกจากบ้าน เมื่อมีการตายเกิดขึ้น แล้วอะไรคือสาเหตุของการฆ่า นางบุญเสี้ยน คนที่ไม่มีอะไรจะกิน

สาเหตุการ ฆ่า นางบุญเสี้ยน
พื้นที่เกิดเหตุ เดิมเป็นที่ดินของบริษัท ฮกจงเส็ง จำกัด ลักษณะที่ดินติดทะเล หมู่ 2 บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงาสภาพพื้นที่เป็นทางเข้าท่าจอดเรือเจินเจิน ซึ่งเป็นท่าเรือไปเกาะคอเขา โดยได้มีการฟ้องร้องกัน กับ นายสว่าง ขวัญใจ ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของตัวจริง ภายหลังศาลตัดสินว่า เป็นที่ดินของนายสว่าง แต่ทางบริษัทคิดว่านายสว่าง ได้สิทธิเฉพาะพื้นที่บ้านเท่านั้น ไม่ใช่ที่ดินทั้งหมด การที่นายสว่างบอกว่าเป็นที่ดินของตัวเองทั้งหมด จึงไม่น่าจะถูกต้อง ส่วนผู้ตายคือ นางบุญเสี้ยนเป็นลุกหลานของคนงานเก่า บริษัท ฮกจงเส็ง จำกัด จึงได้อาศัยอยู่ในบ้านที่เป็นห้องแถวของบริษัทต่อไป

ต่อคำให้การของลูกผู้ตาย ระบุว่า มีนายทุน ในละแวกบ้านเป็นผู้ติดต่อขอซื้อห้องแถว แล้วให้นางบุญเสี้ยน ออกไปจากบ้านและน่าจะเป็นคนที่รู้จักครอบครัวนี้เป็นอย่างดี จนลูกผู้ตายพูดข้างศพแม่ว่า " ไม่น่าจะทำกันขนาดนี้ พูดกันดี ๆ ก็รู้เรื่อง " ส่วนสามีของลูกสาวที่เป็นชาวประมง ก็ไม่น่าจะเป็น ความรุนแรง

จากการดูสถานที่ เกิดเหตุ คนร้าย หมายปองที่จะเอาชีวิตครอบครัว นางบุญเสี้ยนแน่นอน เพราะจุดที่วางระเบิด อยู่ติดกับประตูหลังบ้านริมทางเดินเข้าไปบ้าน นายสว่าง ขวัญใจ ถ้าคนในครอบครัวเปิดประตูออกมาก็จะเห็นกระถางดอกไม้แน่นอนและจะต้องมีการย้ายกระถางดอกไม้ เพราะกีดขวางทางเดิน นั้นเป็นการแสดงว่าคนร้ายมีเจตนาที่จะให้คนในครอบครัวของนางบุญเสี้ยน ตาย

น้ำเค็ม ตำนานของความขัดแย้ง
เรื่องความขัดแย้งของที่ดินในอำเภอตะกั่วป่า ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากว่าเมื่อก่อนมีประทานบัตรการทำเหมืองแร่ดีบุกเมื่อแร่มีราคาตกต่ำ เจ้าของสัมปทานบางแห่งได้มีการปล่อย ให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ไม่มีการทำประโยชน์ที่ดินเป็นเหตุให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินเข้าไปจับจอง ต่อมาที่ดินมีราคาสูงขึ้น เจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ ได้มีการอ้างกรรมสิทธิ์ว่าเคยอยู่มาก่อน บางรายก็มีเอกสารสิทธิ เป็น น.ส.3 ก แต่ไม่ทำประโยชน์ที่ดิน ในแง่ของกฎหมาย ถ้าเจ้าของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็น น.ส.3 ก ไม่ทำประโยชน์ในที่ดินภายในเวลา 5 ปี หรือที่ดินที่เป็นโฉนด ไม่ทำประโยชน์ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ตามกฎหมายที่ดิน มาตรา 6 อธิบดีกรมที่ดินสามารถที่จะสั่งเพิกถอนได้ส่วนกรณีที่มีการบุกรุกโดยการครอบครอง น.ส.3 ก ภายใน 1 ปี ก็ถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์

บทสรุป
ข้อสรุปดังกล่าว จึงเป็นสาเหตุของความรุนแรง ที่เกิดขึ้น จนมีการใช้เครื่องทุ่นแรง รื้อถอนบ้านเรือน นำไปสู่ความขัดแย้ง บางรายถึงกับใช้รถแบ็คโฮ และรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีการใช้ระเบิดในการขับไล่ จนสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน กรณีนางบุญเสี้ยน ก็เช่นกัน ที่ต้องมาสังเวยกับความโลภ ของคนที่ไม่รู้จักคำว่า พอ

* * * * * * * * * * * * * *


บทที่ 6
การพัฒนางานข่าว และข้อเสนอแนะ
การพัฒนางานข่าว


1.อบรมการเขียนข่าววิทยุกระจายเสียง กับผู้ที่เปลี่ยนสายงาน
ควรจัดการฝึกอบรม ผู้สื่อข่าว อย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ที่มาเป็นผู้สื่อข่าวของกรมประชาสัมพันธ์ จะต้องมีการให้ความรู้ด้านการสื่อข่าวอย่างเข้มข้น เพราะเป็นสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งอื่น จะต้องถ่ายทอดเสียงภาคบังคับ ดังนั้นความถูกต้องแม่นยำ ของการเสนอข่าวจึงต้องเที่ยงตรง เป็นที่น่าเชื่อถือ การให้ความรู้กับผู้ที่มาทำข่าว จึงมีความจำเป็น เพราะเท่าที่ผ่านมา มีการสับเปลี่ยนตำแหน่งอยู่ตลอดเวลา เช่น นายช่างไฟฟ้าสื่อสาร หรือผู้จัดรายการ หรือเจ้าหน้าที่กระจายเสียง เปลี่ยนสายงานมาเป็นผู้สื่อข่าว บุคคลเหล่านี้ จะต้องได้รับการอบรมให้ความรู้ในการสื่อข่าว ก่อนที่จะมาทำหน้าที่ เป็นผู้สื่อข่าว จึงจะทำให้การปฏิบัติงานข่าว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเท่าที่รับฟังข่าววิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ จะมีอยู่บางจังหวัดเท่านั้น ที่ขยันส่งข่าวเข้ามาที่ สำนักข่าว บางจังหวัดไม่มีการส่งข่าวมาเลยบางจังหวัดก็ส่งมาน้อย จนไม่มีต่อการประชาสัมพันธ์ ที่กรมประชาสัมพันธ์ได้คาดหวังไว้

2.อบรมผู้สื่อข่าว ที่ปฏิบัติงาน อยู่จริง
บางสถานี จะมีตำแหน่งผู้สื่อข่าว 7 ไม่ได้ทำหน้าที่สื่อข่าว แต่ให้ ลูกจ้างชั่ว-คราว หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่น มาปฏิบัติหน้าที่แทน บุคคลเหล่านี้ ควรจะได้รับการอบรมด้านข่าวด้วย เพราะเป็นผู้ปฏิบัติงานจริง แต่ไม่มีโอกาส ที่จะได้รับความรู้ เพิ่มพูนในด้านข่าว ที่ทัดเทียมกับ ข้าราชการ

3.อบรมผู้สื่อข่าว
จัดอบรมผู้สื่อข่าว ให้ครบทุกสถานี และกระทำอย่างต่อเนื่อง จัดให้มีการศึกษาดูงาน เพื่อเพิ่มทักษะ ในการปฏิบัติงานข่าว ข้อเสนอแนะ

3.1ควรยุบเลิก ตำแหน่งผู้สื่อข่าว ที่อยู่ในส่วนข่าวและรายการ ลงไปเสริมในสถานีวิทยุที่อยู่ในจังหวัดที่มีพื้นที่ การปฏิบัติงานที่กว้างขวาง เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต เป็นต้น

3.2สำนักข่าวควรปรับเปลี่ยนองค์กรจากระบบราชการ ไปเป็น องค์การมหาชน หรือ เป็น SDU เพื่อความคล่องตัว ในการปฏิบัติงาน ทั้งด้านงบประมาณ การจัดหาบุคลากร การจัดหาเครื่องมือในการปฏิบัติงาน ให้ทันสมัยอยู่เสมอ

3.3กรมประชาสัมพันธ์ ควรจัดอัตรากำลังของตำแหน่งผู้สื่อข่าวใหม่ ให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ศักยภาพในการทำงาน เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ควรจะมีผู้สื่อข่าวหลายคน เพราะเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือ จังหวัดภูเก็ต ถึงแม้นจะมีพื้นที่ขนาดเล็กแต่ก็มีศักยภาพ ของข่าวมากพอ ๆ กับจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ทั้งนี้กรอบที่กรมประชาสัมพันธ์ กำหนด จะมีตำแหน่งผู้สื่อข่าว 1 คนในทุกสถานีไม่ว่าจะเป็นสถานีเล็กหรือสถานีวิทยุกระจายเสียงขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้การปฏิบัติไม่เป็นไปตาม สภาพความเป็นจริง เพราะหากเป็นสถานีที่อยู่ในจังหวัดขนาดใหญ่และมีศักยภาพ แต่มีผู้สื่อข่าวเพียงคนเดียว ก็จะทำงานหนักและไม่ทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

3.4ควรจัดโครงสร้าง ให้ผู้สื่อข่าว ขึ้นตรงต่อสำนักข่าว เพื่อให้เกิดการสั่งงานข่าว เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์

3.5ควรจัดการสัมมนา ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการข่าว เพื่อปรับทัศนคติ ต่อการทำงาน ด้านข่าว ให้มีจิตวิญญาณ ต่อการปฏิบัติงานเพราะบางสถานี ฯ ผู้สื่อข่าวยังเห็นการทำงานราชการ เป็นงานเสริม หรืออาชีพเสริม

* * * * * * * * * * * * * *


บรรณานุกรม
ณรงค์ ไกรศรทองศรี , ไพศาลเพ่งพิศ เอกสารประกอบการฝึกอบรมโครงการพัฒนาหอกระจายข่าวและเสียงตามสาย
เทคนิคการเขียนข่าว สปข.5 กรมประชาสัมพันธ์ 2543 ,19 หน้า

บรรจบ จันทิมางกูล โรงเรียนการประชาสัมพันธ์ การวิเคราะห์ ข่าว
กรมประชาสัมพันธ์ 2526 ,90 หน้า

บุญเลิศ ช้างใหญ่ นักข่าวมืออาชีพ สำนักพิมพ์มติชน มกราคม 2545 , 88 หน้า

ปรมะ สตะเวทิน ความหมาย ,ความสำคัญ , วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร ,มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช 2523 , 190 หน้า

อรทัย ศรีสันติสุข บทบาทหน้าที่วิทยุกระจายเสียง เอกสารสอนชุดวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวิทยุและโทรทัศน์
หน่วยที่ 1-7 กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2528 , 113 หน้า


* * * * * * * * * * * * * *

การรายงานข่าวเชิงอธิบายความ
(Interpretative Reporting)
คณะนิเทศศาสตร์
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
63 1302 วิชา การรายงานข่าวขั้นสูง
อาจารย์มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ และ อาจารย์ดร.กันยิกา ชอว์

บทนำ

ทุกวันนี้ในการรายงานข่าว นักข่าวจำเป็นต้องมีทักษะมากกว่าการเขียนข่าวประเภท เห็นอะไร ได้ยินอะไร หรือได้ข้อเท็จจริงอะไรมาก็เขียนรายงานไปตามนั้น เพราะการรายงานข่าวแบบตรงไปตรงมา หรือการรายงานข่าวตามเนื้อผ้า (Straight forward news reporting) เช่นนี้ ไม่เพียงพอต่อการอธิบาย หรือทำความเข้าใจให้กับผู้อ่าน เนื่องจากสถานการณ์โลกและสังคมไทยในปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นกว่าก่อน เรื่องราวที่เกิดขึ้นในข่าวชิ้นหนึ่งๆไม่ได้สิ้นสุด หรือจบลงแค่การเสนอข่าวชิ้นนั้นๆ แต่เรื่องราวเหล่านี้มักจะเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่อง ดังนั้นการรายงานข่าวในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องมีความหลากหมายและเจาะลึกในประเด็นข่าวอย่างลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้นักข่าวยุคใหม่ไม่ได้มีหน้าที่แค่การรายงานข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเท่านั้น นักข่าวจำเป็นต้องวางแผนการสื่อข่าว ต้องรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงให้รอบด้าน เพื่อรายงานและอธิบายถึงเรื่องราวในข่าวให้สมบูรณ์มากที่สุด ผู้อ่านจะได้ไม่สับสวน หรือเข้าใจผิดในเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (พนา ธูปแก้ว, 2546,หน้า 144)การรายงานข่าวแบบอธิบายความ(Interpretative Reporting)ในลักษณะนี้ มีชื่อเรียกแปลเป็นไทยแตกต่างกันออกไป บ้างเรียกว่าเป็นการรายงานข่าวแบบไขข่าว (ประชัน วัลลิโก: 2526,หน้า 170) บ้างเรียกว่าการรายงานข่าวเชิงตีความ (พนา ธูปแก้ว: 2539,หน้า 103)

ที่มาของการรายงงานข่าวเชิงอธิบายความ(Interpretative Reporting)
แนวความคิดเกี่ยวกับวิธีการหาข่าว ทำข่าว และเขียนข่าว ที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนเกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งนี้เพราะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 คนอเมริกันรู้สึกตกใจและหวาดกลัวต่ออุบัติการณ์ของสงครามที่เกิดขึ้น โดยที่ตนเองไม่สามารถล่วงรู้หรืออธิบายถึงสาเหตุของสงครามที่เกิดขึ้นในขณะนั้น พร้อมทั้งไม่รู้ว่าชะตากรรมของตนเองจะเป็นเช่นไรในสภาวการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้เพราะสำนักข่าวต่าง ๆ ในขณะนั้นไม่ได้เตรียมตัวสำหรับการทำข่าวในเหตุการณ์ของสงคราม ดังนั้นคนอเมริกันจึงตกอยู่ในความมืดมนในสภาพของสงครามเป็นเวลานับปี
(พจนา ธูปแก้ว: 2546,หน้า 144-145.)

Maynard Brown นักวิชาการอเมริกันในช่วงนั้นได้วิจารณ์ว่า สำนักข่าวเอพี และสำนักข่าวอื่นๆทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง ที่มีนโยบายให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศของตนส่งข่าวเฉพาะที่ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนเท่านั้น โดยไม่มีนโยบายสนับสนุนให้มีการวิเคราะห์ตีความ หรือนำเสนอข้อมูลเบื้องหลังเหตุการณ์ นอกเหนือไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนั้นจากข้อผิดพลาดดังกล่าวทำให้สื่อมวลชนของสหรัฐฯ เริ่มหันมาสนใจการรายงานข่าวแบบอธิบายความมากขึ้น มีการสอนและฝึกอบรมในสถาบันการศึกษาและสถาบันสื่อมวลชนอย่างแพร่หลาย ดังนั้นในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนชาวอเมริกันจึงมีความรู้ความเข้าใจ และมีความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญเป็นอย่างดี เนื่องจากมีการนำเสนอจากสื่อมวลชนตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามโลก เหตุการณ์ต่างๆ ของโลกระยะนั้นถูกเลือกสรร เชื่อมโยง
วิเคราะห์ ตีความและอธิบายความ ทั้งเบื้องหลัง เบื้องหน้า และเบื้องลึกอย่างชัดเจน ให้ความหมายความเข้าใจกับสาธารณชนเป็นอย่างดีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สมาคมบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในอเมริกันมีความตื่นตัวขนานใหญ่ในการปรับปรุงการรายงานข่าว หัวข้อเรื่อง Interpretative Reporting and Writing กลายเป็นหัวข้อที่มีการเสวนาบ่อยที่สุด เทคนิควิธีการเขียนแบบอธิบายความมีการพัฒนาในหลายรูปแบบ เช่น ในรูปรายงานข่าวพิเศษ ข่าวล้อมกรอบหรือข้อมูลเสริมข่าว (Sidebars) รวมทั้งในรูปบทความหรือคอลัมน์เช่น การวิเคราะห์ข่าว เบื้องหลังข่าว ไขข่าว ผู้อ่านได้มีโอกาสรับรู้อย่างครบถ้วน ชัดเจนทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเหตุการณ์ เบื้องหลังหรือรายละเอียดของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น ความคิดเห็นของนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญในเหตุการณ์นั้น ทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพเหตุการณ์ชัดเจนทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งปัจจัยและเหตุการณ์แวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรมการเมือง และเศรษฐกิจ (พีระ จิรโสภณ : 2538,หน้า 75-76) ทุกวันนี้เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ประชาชนมีความต้องการบริโภคข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่มีจำนวนมาก ลุ่มลึกและรวดเร็วมากกว่าในอดีต สื่อมวลชนจึงมีภารกิจที่ต้องตอบสนองความต้องการเช่นนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการเสนอข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ และสื่ออื่น ๆ จึงมีการใช้ประโยชน์จากแหล่งข่าวต่าง ๆ มากขึ้น ตลอดจนมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปฏิบัติงานในการสื่อข่าวหลายรูปแบบ การรายงานข่าวจึงมิได้เสนอแต่ข้อเท็จจริงประการเดียว หากแต่ยังให้ความสำคัญกับเบื้องหลังของเหตุการณ์นั้นและผลกระทบที่จะติดตามมา กล่าวคือ มีความเชื่อว่าเหตุการณ์ข่าวใด ๆ มักจะมีเหตุที่มา (Causes) และก่อให้เกิดผล (Effects) ตามมา เช่น การประกาศขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศ มีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยซึ่งต้องซื้อน้ำมันจากต่างประเทศมาบริโภคจำเป็นต้องขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศครั้งนี้ อีกทั้งส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอื่น ๆ ตามมาในอนาคตอย่างแน่นอน ( พจนา ธูปแก้ว: 2546,หน้า 145.)

ดังนั้น การเสนอข่าวลักษณะนี้ ผู้สื่อข่าวจำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในสายข่าวด้านนั้นอย่างลึกซึ้ง จึงจะสามารถรายงานข่าวได้ดี ทั้งนี้เพราะการเสนอข่าวจำเป็นต้องมีการอธิบายและขยายความถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องนั้นทั้งหมดว่า มีความสัมพันธ์กันอย่างไรโดยเชื่อมโยงข้อมูลข่าวแต่ละส่วนให้แสดงถึงที่มา สาเหตุของสถานการณ์ในขณะนั้น และผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาในอนาคต เพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้ง่ายที่สุด การสื่อข่าวประเภทนี้ต้องอาศัยแหล่งข้อมูลหลายแห่ง และผู้มีความเชี่ยวชาญหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นโดยตรงมาช่วยอธิบายขยายความในเนื้อข่าวแต่ละส่วนเป็นพิเศษ ดังนั้นการเสนอข่าวลักษณะนี้จำเป็นที่ต้องมีการนำเอาตัวเลข สถิติ ตาราง แผนภูมิ มาอธิบายแทรกอยู่ในเนื้อข่าวด้วย จึงเรียกวิธีการเสนอข่าวและวิธีการเขียนข่าวแบบนี้ว่า การรายงานข่าวแบบอธิบายความ (Interpretative Reporting) ( พจนา ธูปแก้ว: 2546,หน้า 145-146.)

ความหมายของการรายงานข่าวแบบอธิบายความ (Interpretative Reporting)
Lester Markel แห่ง New York Times กล่าวว่า การรายงานข่าวแบบอธิบายความ คือ การตัดสินใจโดยไม่เอาความคิดเห็นส่วนตัวเข้ามาประกอบ (Objective Judgment) ขึ้นอยู่กับข้อมูลภูมิหลัง (Background) ความรอบรู้ในสถานการณ์(Knowledge of Situation) และการประเมินค่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมาอธิบาย มีลักษณะตรงข้ามกับบทบรรณาธิการ ซึ่งเป็นการพิจารณาจากการที่ถูกชักจูงโน้มน้าวใจที่แม้ว่าอาจมีการประเมินคุณค่าข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเข้ามาที่เรียกว่า"แรงกระทบทางอารมณ์เพิ่มขึ้นมา" ดังนั้น การรายงานข่าวแบบอธิบายความจึงขึ้นอยู่กับการตีความหมายจากข้อมูลข่าวที่มีอยู่เพื่ออธิบายปรากฏการณ์นั้น ๆ ให้ชัดเจน และเข้าใจง่ายขึ้นอันเป็นการแสดงความสามารถของผู้สื่อข่าวที่ปฏิบัติงานได้อย่างช่ำชอง ( พจนา ธูปแก้ว: 2546,หน้า 146.)

บางตำรากล่าวว่า การรายงานข่าวแบบอธิบายความ หมายถึง เทคนิคการรายงานข่าวที่มุ่งผลลัพธ์ให้ผู้อ่านเข้าใจ และมองเห็นความหมายของข้อเท็จจริงที่ปรากฏในข่าว ที่เรียกว่า มองเห็น "นัยของข่าว" (signification) โดยที่ผู้สื่อข่าวต้องทำการวิเคราะห์ข้อมูลและเอกสารที่เข้าใจยาก ซับซ้อน หรือข้อมูลมีจำนวนมาก กระจัดกระจาย (สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ : 2545, หน้า 311)นักวิชาการสาขาหนังสือพิมพ์ให้ความหมายของเทคนิคการรายงานข่าวแบบอธิบายความว่า เป็นการไขข่าว หรืออธิบายข่าวได้กระจ่างขึ้น เป็นการรายงานข่าวที่ได้กระทำกันมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่า การไขข่าวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้อ่านในเรื่องที่ไม่กระจ่างชัด (มาลี บุญศิริพันธ์ อ้างใน สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ: 2545, หน้า 43)กล่าวโดยสรุป การรายงานข่าวแบบอธิบายความเป็นการรายงานข่าวที่เน้นตอบคำถาม

Why นอกเหนือไปจาก What Who Where When และ How ปกติจะครอบคลุมถึงการตอบ
คำถามต่อไปนี้
Why happened ? อะไรเกิดขึ้น
Why (How) did it happen ? ทำไมและเกิดขึ้นได้อย่างไร
What does it mean ? มีความหมายอย่างไร
What next ? อะไรเกิดขึ้นต่อไป
What beneath the surface ? เบื้องหน้าเบื้องหลังเป็นอย่างไร

การรายงานข่าวแบบอธิบายความนี้ เป็นการรายงานข่าวแบบเจาะลึก (Subsurface or Depth Reporting) และมุ่งให้อรรถาธิบายแก ่ผู้อ่านเกิดความเข้าใจต่อเหตุการณ์ หรือเรื่องราวอย่างชัดเจน ทั้งนี้โดย
- ให้ผู้อ่านได้เห็นหลังฉากของเหตุการณ์ข่าวประจำวัน
- เชื่อมโยงข่าวที่นำเสนอให้เข้ากับกรอบความคิดและประสบการณ์ของผู้อ่าน
- นำเสนอมิติรอบด้านของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เห็นภาพชัดเจน
- ชี้ให้เห็นความสำคัญของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฯลฯ

การรายงานข่าวแบบอธิบายความ ใช่ว่าจะไม่มีกระแสการคัดค้านในวิธีการรายงานข่าวลักษณะนี้ ฝ่ายค้านกล่าวว่า การรายงานข่าวแบบอธิบายความอาจจะนำมาซึ่งการชักจูงความรู้สึกนึกคิดของผู้อ่านได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้สื่อข่าวปฏิบัติหน้าที่จะได้รับข้อมูลข่าว และต้องตัดสินใจเลือกประเด็นข่าวเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาเป็นความนำ (Lead) ก่อน แล้วจึงนำประเด็นข่าวนั้นและอื่น ๆ มาอธิบายความตามหัวข้อข่าวนั้นในเนื้อหาข่าว (Body) ในแต่ละย่อหน้า การเสนอข่าวหรือรายงานข่าวลักษณะนี้จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้สื่อข่าว ซึ่งอาจจะมีอัตวิสัย (Subjectivity) หรืออคติของตนเองเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือไม่มีเวลาเพียงพอสำหรับการแสวงหาข้อมูลข่าว จึงทำให้การเสนอข่าวลักษณะนี้อาจถูกบิดเบือนจากความเป็นจริงได้ฝ่ายสนับสนุน กล่าวว่า มีความจำเป็นสำหรับผู้สื่อข่าวในอนาคตจะต้องเตรียมตนให้พร้อมสำหรับการรายงานข่าวแบบ
เจาะลึก (In-Depth) เพื่อให้ผู้อ่านได้พบกับข้อเท็จจริงทั้งหมด การรายงานข่าวมิใช่รายงานเฉพาะสิ่งที่ปรากฏในความเป็นข่าว แต่ต้องเป็นการอธิบายสิ่งที่ปกปิดหรือมูลเหตุของเหตุการณ์ข่าวนั้น ตลอดจนสิ่งที่อยู่นอกเหนือในความเป็นข่าวนั้นในแง่มุมต่าง ๆ โดยทำให้เหตุการณ์ข่าวนั้นมีความหมายและมีความสำคัญขึ้นมา โดยอาศัยแหล่งข้อมูลหลาย ๆ แห่งที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้น นอกจากนี้การเขียนข่าวแบบนี้จะทำให้ผู้อ่านมีหลักในการตัดสินใจและประเมินคุณค่าข่าวนั้นได้การรายงานข่าวในลักษณะนี้ผู้สื่อข่าวจำเป็นต้องใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อทำให้ข่าวนั้นมีความสมบูรณ์ (Completing the Accounts)ยิ่งขึ้น โดยจะต้องสืบค้นหาภูมิหลังของความจริง (factual Background) ให้ได้มากที่สุด ข้อมูลจากผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์หรือประจักษ์พยาน (Eyewitness Accounts) รายละเอียดอื่น ๆ ข้างเคียง (Sidebar) การจำกัดประเด็นข่าวให้แคบลง (Localization)และการศึกษาคู่กรณี (Other side) ประกอบการสื่อข่าวประเภทนี้การรายงานข่าวแบบอธิบายความ ในบางตำราอาจกล่าวว่าเป็นการ"ไขข่าว" อันหมายถึง การเสนอข้อมูลข่าวเพื่อให้ข่าวหรือเหตุการณ์นั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยการอธิบายข้อเท็จจริงหรือแสดงเบื้องหน้าเบื้องหลังของเหตุการณ์นั้นเพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในเรื่องอย่างแท้จริงการอธิบายข่าวจะต้องแสดงข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ปราศจากการลำเอียง ซึ่งผู้เขียนข่าวส่วนใหญ่มักจะสอดแทรกความคิดเห็นส่วนตัวเข้าไปเสมอ ทำให้การอธิบายข่าวนั้นไม่ได้เสริมให้ข่าวชิ้นนั้นให้มีคุณค่ายิ่งขึ้น แต่จะให้ผลตรงข้ามคือ เป็นการบิดเบือน
ข้อเท็จจริงต่อผู้อ่าน

นอกจากนั้น การอธิบายข่าวไม่จำเป็นเฉพาะในข่าวเท่านั้น สามารถอธิบายข่าวผ่านทางข้อเขียนลักษณะอื่น ๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ได้ เช่น บทบรรณาธิการ บทวิจารณ์คอลัมน์ต่าง ๆ และเคียงข่าว เป็นต้น ( พจนา ธูปแก้ว: 2546,หน้า 146-148)หลักสำคัญของการรายงานข่าวทั้งการรายงานข่าวแบบตรงไปตรงมา (Straight News Reporting) และการรายงานข่าวแบบอธิบายความ (Interpretative Reporting) มุ่งที่การเสนอเหตุการณ์ (Events) โดยตรง แต่การรายงานข่าวแบบอธิบายความปรากฏในลักษณะการให้ภูมิหลังของข่าว (Background) ในการรายงานข่าวแล้ว ยังรวมถึงข้อเขียนในคอลัมน์หน้าใน ซึ่งมุ่งให้ความเข้าใจเหตุการณ์ในเชิงของการวิเคราะห์ (Analysis) การให้ความคิดเห็น (Opinion or Commentary) อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ความเหมาะสมของสถานการณ์ ตลอดจนประเภทคอลัมน์ที่นำเสนอการรายงานข่าวชนิดนี้ สามารถนำมาใช้เป็นวิธีการรายงานข่าวสืบสวนได้ประเภทหนึ่ง เพราะจะช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจความเป็นมาของกฎเกณฑ์ และความสลับซับซ้อนของข้อมูลได้ง่ายยิ่งขึ้น เท่ากับช่วยลำดับเหตุการณ์ให้น่าอ่าน เข้าใจง่าย และมีความต่อเนื่องที่ชัดเจนซึ่งหนังสือ-พิมพ์จะนำวิธีเขียนประเภทนี้ มาประยุกต์กับการนำเสนอรายงานข่าวสืบสวนมากขึ้น ในรูปของบทความ บทวิเคราะห์ รายงานสารคตี ฯลฯ

การสื่อข่าวแบบนี้จึงเกิดขึ้นบนพื้นฐานความคิดที่ว่า การรายงานข่าวที่มีประสิทธิภาพของหนังสือพิมพ์ การเอื้ออำนวยให้ผู้อ่านได้รับทั้งข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เพิ่มความเข้าใจต่อเหตุการณ์ สภาวการณ์ และได้รับข้อมูลที่เพียงพอ ขั้นตอนของการรายงานข่าวแบบอธิบายความจึงประกอบด้วย
1. การจัดสรรข้อมูลที่เป็นจริง (ทั้งทางตรงและทางอ้อม)
2. ลำดับความสำคัญของการรายงานข่าว
3. วินิจฉัยเลือกประเด็นที่ควรอธิบายในข่าว
4. นำเสนออย่างถูกต้องในรูปแบบที่เหมาะสม
(มาลี บุญศิริพันธ์ : 2538, หน้า 156-157)

ลักษณะการรายงานข่าวแบบอธิบายความ
การระบุลักษณะ ของการรายงานข่าวแบบอธิบายความ ยังมีความยากอยู่พอสมควร เนื่องจากการรายงานข่าวลักษณะนี้ ผู้สื่อข่าวยังมิได้นำมาใช้จนมีความโดดเด่นชัดเจนเท่ากับการรายงานข่าวแบบสืบสวน ที่มีการนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการด้านข่าวกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน อีกประการคือ การรายงานข่าวแบบอธิบายความมักจะเป็นเทคนิควิธีที่ผู้สื่อข่าวนำมาใช้ร่วม โดยสนับสนุนในการทำงานร่วมกับข่าวแบบสืบสวน แต่ผลที่ออกมามักให้น้ำหนักกับข่าวเชิงสืบสวนเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามพอจะประมวลลักษณะข่าวแบบอธิบายความได้ดังนี้

1. มีการบ่งบอกให้ผู้อ่านเห็นนัยบางประการ หรือหลายประการอย่างชัดแจ้งเพื่อต่อเติมเสริมจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏให้เห็นโดยง่าย ทำให้ผู้อ่านเห็นว่าเหตุการณ์ หรือข่าวนั้นมีคุณค่า มีความสำคัญอย่างไร

2. มีการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (straight news)
แก่ผู้อ่านซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ในการเสริมความเข้าใจแก่ผู้อ่านให้เห็นนัยของเหตุการณ์ ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงความเที่ยงตรงที่ต้องรักษาไว้อย่างถูกถ้วนในข้อเท็จจริงด้วย กล่าวคือ จะต้องไม่ทำให้เกิดอคติ (bias) ในข้อเท็จจริงเกิดขึ้น เช่น การให้ภูมิหลังของเหตุการณ์ในข่าว (background)

3. มีกระบวนการปฏิบัติการข่าวเน้นการวิเคราะห์ (analysis) อย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือข้อเท็จจริงของข่าว ที่หยิบยกขึ้นมา รายงาน

4. มีการนำเสนอเป็นข้อเขียนในหลายรูปแบบ เช่น ข่าว บทความแสดงความคิดเห็น คอลัมน์ สารคดี บทบรรณาธิการ ผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์

5. การนำเสนอข้อเขียนในหลายรูปแบบนั้น จะต้องไม่ตัดสินโดยความคิดเห็น
ส่วนตัว หรือการตัดสินใจของผู้สื่อข่าวแต่เพียงคนเดียวจากคุณลักษณะของเทคนิคการรายงานข่าวแบบอธิบายความข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าความแตกต่างระหว่างเทคนิคข่าวแบบสืบสวนกับเทคนิคข่าวแบบอธิบายความ คือ ขณะที่เทคนิคข่าวแบบสืบสวนมุ่งการแสวงหา ขุดคุ้ยข้อมูลซึ่งถูกปกปิดมาเปิดเผยเป็นสำคัญ เทคนิคข่าวแบบอธิบายความอาจนำไปเสริมเทคนิคข่าวสืบสวนได้ในการตีความข้อมูลที่ได้รับมา เทคนิคข่าวอธิบายความเป็นการวิเคราะห์ให้เห็นชัดเจนถึง "ความหมาย" ของข้อมูล ซึ่งบางกรณีเป็นข้อมูลที่มีการเผยแพร่ทั่วไป แต่ด้วยจำนวนข้อมูลที่มากหรือกระจัดกระจาย ขาดการวิเคราะห์ จึงทำให้ขาดความน่าสนใจ หรือมองไม่เห็นประโยชน์ ( สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ: 2545,หน้า 312 )

องค์ประกอบของการรายงานข่าวแบบอธิบายความ
องค์ประกอบที่สามารถใช้ในการรายงานข่าวแบบอธิบายความ มีดังนี้ (พจนา ธูปแก้ว: 2546, หน้า 148-149)

1. มูลเหตุและแรงจูงใจ (Cause and Motive) เป็นกระบวนการแสวงหาคำตอบของสาเหตุหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์นั้น ๆ
ขึ้นมา มูลเหตุและแรงจูงใจมักจะถูกปกปิดโดยแหล่งข่าว ผู้สื่อข่าวจะต้องใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการปฏิบัติงานของตนเอง เพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการสำหรับการรายงานข่าวความคืบหน้าของสถานการณ

2. ความสำคัญ (Significance) เป็นการแสดงว่าข่าวนั้นมีความสำคัญที่สาธารณชนจำเป็นต้องรู้หรือมีข้อสังเกตที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นั้นอันหมายถึงความมีเงื่อนงำหรือน่าสงสัยที่จะต้องได้รับการพิสูจน์หรือค้นหาข้อเท็จจริงในประเด็นข่าวนั้น

3. การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นการแยกแยะเนื้อหาของเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีระบบเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่มีลักษณะซับซ้อนให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้น ชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดปัญหา ผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

4. การเปรียบเทียบ (Comparison) เป็นการแสดงเปรียบเทียบสถานการณ์ข่าวที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างและสามารถสรุปความรุนแรงหรือทิศทางของสถานการณ์นั้น ๆ ได้

5. การคาดคะเนหรือพยากรณ์ (Forecast) เป็นการแสดงผลหรือทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันเป็นเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์นั้น ๆ โดยตรง เพื่อทำให้ผู้อ่านได้รับคำตอบจากการอ่านข่าวชิ้นนั้น

ปัจจัยที่เอื้ออำนวยการรายงานข่าวแบบอธิบายความ

ข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ในการเขียนรายงานข่าวแบบอธิบายความ มีดังนี้ (พจนา ธูปแก้ว: 2546, หน้า 149-150)

1. ข้อมูลส่วนตัว (Resume) หมายถึง ข้อมูลที่เป็นประวัติส่วนตัวของบุคคลต่าง ๆ อาจรวมถึงข้อมูลที่จัดเก็บไว้ในแฟ้มข้อมูล (Filing) ของห้องสมุดหนังสือพิมพ์ (Morgue)

2. การสำรวจ (Survey) เป็นการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งในระดับปฐมภูมิ และทุติยภูมิ มาใช้ประโยชน์ในการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ในด้านข้ออ้างอิง (Reference) อันได้แก่ ตัวเลข สถิติ และคำอธิบายอื่น ๆ

3. การสืบสวน (Investigation) การแสวงหาสืบคืนข้อเท็จจริง นอกเหนือจากข้อมูลที่มีอยู่ข้อเท็จจริงบางส่วนที่ไม่เปิดเผย ผู้สื่อข่าวต้องหาข้อมูลด้วยวิธีการนี้เพื่อทำให้การรายงานข่าวเหมาะสมยิ่งขึ้น

4. การใช้ประโยชน์จากแหล่งข่าวภายใน (Stunt) ในการทำข่าว เพื่อให้ได้ข่าวที่สมบูรณ์จำเป็นต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวภายใน แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้โดยตรง โดยอาศัยเบาะแส (Tips) ที่มีอยู่ให้มากที่สุด

5. สถานการณ์และแนวโน้ม (Situation and Trends) เป็นข้อมูลที่ผู้สื่อข่าวได้จากการศึกษาและติดตามข่าวสารที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันเป็นประโยชน์ต่อการตีความและวิเคราะห์ข่าวต่าง ๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

แนวคิดการรายงานข่าวแบบอธิบายความ
การรายงานข่าวแบบอธิบายความมีความจำเป็นในวิชาชีพนี้มา เนื่องจากการแสวงหาข่าว หรือการสื่อข่าวของผู้สื่อข่าวมิใช่ปฏิบัติหน้าที่ไปวัน ๆ เท่านั้น แต่ต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ก้าวทันโลก ทันเหตุการณ์ และทันต่อความต้องการของผู้อ่านที่ต้องการบริโภคข่าวสารที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อตนเองมากที่สุด ดังนั้น การสื่อข่าวที่นอกเหนือจากการรายงานเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่แล้ว จำเป็นต้องแสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในอดีตสู่ปัจจุบันและมีความต่อเนื่องต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต การเขียนข่าวจึงถูกพัฒนาขึ้นที่เราเรียกว่า Interpretative Writing โดยมีหลักการเขียนว่า "จะไม่เสนอข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ที่มองเห็นเท่านั้น แต่จะให้รายละเอียดหรือแสดงความสัมพันธ์กับอดีต (ถ้ามี) และชี้ทิศทางให้เห็นว่าอะไรจะเกิดขึ้นหรือกระทบกระเทือนอย่างไรในอนาคต"

Background Event Trend


อดีต ปัจจุบัน อนาคต


Interpretative Reporting

การรายงานข่าวแบบอธิบายความ จึงเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยมีความสัมพันธ์กับเบื้องหลังที่เกิดขึ้นมาในอดีตแล้วเชื่อมโยงกับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือผลกระทบที่จะติดตามมา ดังนั้น การรายงานข่าวลักษณะนี้ จะช่วยทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในสถานการณ์ข่าวได้อย่างรวดเร็ว อันเป็นการสอดคล้องกับสภาพสังคมในยุคปัจจุบันที่ทุกคนทำงานแข่งขันกับเวลา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรับรู้ข่าวสารที่สั้น กระชับ และเข้าใจได้ง่าย ( พจนา ธูปแก้ว: 2546, หน้า 150 -151)

โครงสร้างการเขียนข่าว
ดังที่กล่าวมาแล้วว่าข่าวลักษณะนี้มักเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน ผู้สื่อข่าวจำเป็นต้องมีวิธีการเขียนข่าวที่ทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจได้ง่าย และรวดเร็ว ในส่วนแรกของข่าวจะต้องเป็นการอธิบายสถานการณ์ข่าวที่เกิดขึ้นในปัจจุบันให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากที่สุดว่าเกิดอะไรขึ้น (What) จากแหล่งข่าวต้นตอ จากนั้นขยายความในเนื้อข่าวที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ข่าว อันได้แก่ สาเหตุ (Why) ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นมา ต่อมา
จะเป็นการขยายความว่า จะเกิดผลกระทบตามมาอย่างไรบ้าง (How) อันเป็นการอธิบายแนวโน้ม (Trend) ในอนาคตว่าจะเกิดอะไรตามมาจากแหล่งข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

การเขียนข่าวประเภทนี้จึงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในคุณลักษณะของปรากฏการณ์ข่าวนั้น ๆ อย่างแท้จริง จึงจะสามารถวางแผนการสื่อข่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับขั้นตอนในการรายงานข่าวและการเขียนข่าวเชิงตีความ ควรปฏิบัติดังนี้

1. รวบรวมข้อมูลจากแหล่งข่าวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ข่าวนั้นให้มาก ที่สุด
2. เลือกประเด็นข่าวที่สำคัญที่สุดและเป็นข้อมูลใหม่ เพื่อเป็นแกนในการเขียน ข่าวและอธิบายข่าวต่อไป
3. เขียนวรรคนำข่าวที่เป็นการสรุปเรื่อง (Summary Lead) จากประเด็นที่มีความสำคัญมากที่สุด คือ เป็นแก่นหรือใจความหลักของข่าวนั้น
4. เริ่มต้นเนื้อข่าวจากเหตุการณ์ หรือเรื่องราวของข่าวที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างชัดเจนที่สุด
5. นำเสนอเบื้องหลังหรือคำอธิบายของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องราวนั้น เพื่อเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวในข่าวรวดเร็วยิ่งขึ้น
6. แสดงข้อมูลอื่น ๆ ประกอบ ได้แก่ ข้อมูลจากการสำรวจ การวิเคราะห์ การคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต เพื่อความสมบูรณ์ของข่าวชิ้นนั้นหรือแสดงทิศทางของข่าวนั้นไป
7. รายงานความคืบหน้าของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด ณ เวลานั้น พร้อมทั้งแสดงข้อมูลเบื้องหลัง และแนวโน้มของเหตุการณ์ในอนาคตเพื่อทำให้ผู้อ่านได้เกิดความเข้าใจในเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด อีกทั้งสามารถตัดสินหรือประเมินค่าในเหตุการณ์ข่าวนั้นได้ในที่สุด (พจนา ธูปแก้ว: 2546, หน้า 151 - 152)

ข้อควรคำนึงในการรายงานข่าวแบบอธิบายความ
- ข้อควรคำนึงในการตีความตัวเลข


ในการรายงานข่าวแบบ Interpretative Reporting ที่ต้องอ้างอิงผลการวิจัยหรือสถิติข้อมูลตัวเลขนั้น บางครั้งนักข่าวอาจประสบปัญหาในการตีความหมาย เช่น ตีความเลยเถิดหรือเกินเลยไปจากข้อมูลที่ค้นพบจากการวิจัยหรือตีความผิดเพี้ยนไปหรืออ่านข้อมูลไม่เข้าใจ เนื้อหามีศัพท์แสงทางสถิติทางวิชาการมากเกินไป กรณีเช่นนี้ควรปรึกษาหารือผู้ชำนาญการคือนักวิจัยหรือนักสถิติ บางครั้งนักข่าวไม่สามารถตีความหมายหรือหยิบประเด็นสำคัญออกมาจากตารางตัวเลขสถิติที่มีอยู่ ทำให้มองข้ามประเด็นข่าวไปอย่างน่าเสียดาย นักข่าวจะต้องรู้จักเชื่อมโยง เปรียบเทียบและวิเคราะห์ความหมายจากตัวเลขต่าง ๆ เพื่อมองหาประเด็นข่าวให้ได้ แล้วนำมารายงานผู้อ่านได้อย่างชัดแจ้งน่าสนใจ เช่น สังเกตเห็นตัวเลขการหย่าร้าง การฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี นักข่าวต้องตั้งข้อสงสัยและสืบเสาะหาข้อมูลมาอธิบายให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ดี บางครั้งนักข่าวก็มักถูกแหล่งข่าว ใช้ตัวเลขมาเป็นกลลวงในการให้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ของตนเองอยู่บ่อย ๆมีผู้กล่าวว่าการโกหกที่น่าเชื่อถือที่สุด ก็คือการโกหกด้วยตัวเลข และตัวเลขที่โกหกได้สนิทใจที่สุด ก็คือตัวเลขที่อ้างว่ามาจากการวิจัยของนักวิชาการนักการเมืองหลายคนนิยมอ้างตัวเลขเพื่อโน้มน้าวชักจูงใจให้คนเชื่อถือ บางคนมีสถิติ มีตาราง มีแผนภูมิ มีกราฟ ที่ดูน่าเชื่อถือมาแสดงประกอบการอภิปรายประชาชนมักทึ่งในความขยันทำการบ้าน ทึ่งในภูมิความรู้ ทึ่งในมาดความเป็นนักวิจัย นักวิชาการ และความทึ่งเหล่านี้ทำให้เชื่ออะไรง่ายขึ้น

นักสถิติ Darrell Huff เขียนหนังสือเรื่อง "How to Lie with Statistics" เมื่อ ปี ค.ศ. 1954 และ Nancy Lyon Spruill เขียนบทความในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เมื่อปี ค.ศ. 1984 เกี่ยวกับวิธีการหลอก ลวงด้วยตัวเลขสถิติไว้น่าสนใจหลายประเด็น เช่นอ้างสถิติโดยไม่บอกแหล่งที่มาให้ชัดเจน หรือบอกคลุมเครือเพียงให้ดูน่าเชื่อถือ เพราะการรู้แหล่งข้อมูลที่แท้จริงจะทำให้ผู้อ่านวินิจฉัยว่าเชื่อถือได้หรือไม่
อ้างสถิติเพียงบางส่วน เช่น พูดถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชาชาติต่อหัว แต่ไม่บอกถึงการกระจายของรายได้อ้างอัตราการเพิ่มขึ้นที่น่าประทับใจ แต่คำนวณจากฐานขนาดเล็ก เช่น บอกว่าปีนี้นักเรียนของโรงเรียน ก. มีผู้สอบเอนทรานซ์ได้เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัว ทั้งนี้โดยเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาที่สอบได้เพียงคนเดียวอ้างสถิติตัวเลขโดยไม่บอกชัดเจนว่า คำนวณจากข้อมูลอะไรบ้าง เช่น อัตราเงินเฟ้อ คำนวณจากดัชนีอะไรบ้าง อัตราคนรู้หนังสือประเมินอย่างไร จำนวนโสเภณีวัดจากอะไรอ้างตัวเลขโดยปิดบังหรือซ่อนเร้นตัวแปรหรือข้อมูลบางอย่าง เช่น อ้างการขึ้นเงินเดือน 15% แต่เมื่อหักอัตราเงินเฟ้อ 5% จะมีเงินเดือนขึ้นจริง ๆ เพียง 10% เท่านั้นอ้างสถิติตัวเลขเพื่อผลประโยชน์ตนเอง เช่น ฝ่ายค้านมักตำหนิการบริหารของรัฐบาลเมื่อหุ้นตก แต่จะไม่ชื่นชมว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลเมื่อหุ้นดีขึ้น และหน่วยงานของรัฐบาลทั่วไป ก็มักอ้างตัวเลขเพื่อของบประมาณเพิ่ม (พีระ จิรโสภณ : 2538,หน้า 80 -81)ข้อควรระวังระหว่างการอธิบายความหรือการแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ดี แม้ว่าจะเป็นที่ยอมรับการรายงานข่าวแบบ Interpretative Reporting อย่างกว้างขวาง แต่ก็มีนักวารสารศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่วิตกว่าหลักการ " Objectivity" ที่มีการยึดถือมาช้านานจะต้องเบี่ยงเบนไปด้วยกระแสรายงานข่าวแบบวิเคราะห์ตีความ มีการถกเถียงกันถึงความแตกต่างระหว่างข่าว การตีความ และความคิดเห็น (Opinion) เป็นสิ่งเดียวกัน Lester Markel รองบรรณาธิการ New York Times ได้เคยเขียนบทความแยกแยะความแตกต่างดังกล่าวด้วยตัวอย่างในลักษณะดังนี้

- ถ้าพูดว่า "คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการสอบสวนเรื่องเด็กฝากในโรงเรียนดังของรัฐ" อย่างนี้ถือว่าเป็นข่าว
- แต่ถ้าอธิบายว่า "ทำไมคณะกรรมาธิการการศึกษาจึงต้องดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้"อย่างนี้ถือเป็นการตีความ
- และถ้าตั้งข้อสังเกตว่า "คณะกรรมาธิการการศึกษาทำงานไม่เข้าท่าในการสอบสวนเรื่องนี้" อย่างนี้ถือว่าแสดงความคิดเห็น

การตีความเป็นการวินิจฉัยเชิงวัตถุวิสัย (Objective Judgment) โดยอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ แต่การแสดงความคิดเห็นเป็นการวินิจฉัยเชิงอัตวิสัย (Subjective or Editorial Judgment) ซึ่งมีการประเมินเหตุการณ์บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งผนวกกับความรู้สึกหรืออารมณ์ของผู้เขียนอีกส่วนหนึ่ง (พีระ จิรโสภน : 2538, หน้า 76 - 77) การโต้แย้งถึงความเที่ยงตรง(Objectivity) ของข่าวว่าจะมีมากน้อยแค่ไหนนั้น ในที่สุดเป็นที่ยุติว่าการรายงานประเภทนี้ควรมีลักษณะเนื้อหาที่ให้ความจริง ความเข้าใจในความหมายตามนัยของเหตุการณ์แก่ผู้อ่านเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ใส่ความคิดเห็นส่วนตัว หรือการตัดสินของผู้เขียนคนเดียวเป็นอันขาด เมื่อเป็นเช่นนี้ความหมายของข่าวจึงขยายขอบเขต การอธิบายข่าวจะทำได้เพียงข่าวบางประเภทเท่านั้น มิใช่ว่าทุกข่าวจะต้องอาศัยวิธีการนี้เสมอไป (มาลี บุญศิริพันธ์ : 2538, หน้า 156)

คุณสมบัติเฉพาะของผู้สื่อข่าวแบบอธิบายความ
ผู้สื่อข่าวต้องมีความรอบรู้และมีประสบการณ์พอสมควร จึงจะทำให้การรายงานข่าวได้ผล ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเหตุการณ์ได้ง่ายและรวดเร็ว สิ่งต่อไปนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการเป็นผู้สื่อข่าวที่มีประสิทธิภาพ
1.เรียนรู้เทคนิคต่างๆ ในวิธีการสื่อข่าวแบบตรงไปตรงมา (Straight News Reporting) ศึกษาเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและส่วนที่เกี่ยวข้อง
โดยยึดหลักความเที่ยงตรงกะทัดรัด ชัดเจนในการเขียนข่าว
2. ตระหนักถึงความสำคัญของบรรณาธิการในการช่วยตัดสินข่าว เลือกประเด็นข่าวที่ควรให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อกับ
แหล่งข่าวเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่จำเป็น
3. ต้องเสริมสร้างความชำนาญ ความถนัดเฉพาะด้าน ความรอบรู้และเข้าใจในครรลองของสังคม องค์กรของรัฐ ตลอดจนปรับปรุงความรู้
เฉพาะด้าน เพื่อจะได้มีการรายงานข่าวที่ถูกต้อง
4. ไขว่คว้าหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับข่าวสารของมนุษย์ และความต้องการของผู้อ่านแต่ละประเภท
5. ศึกษาและสร้างความเข้าใจในทัศนคติ แนวทางการดำเนินชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นที่หนังสือพิมพ์วางจำหน่าย

การรายงานข่าวให้ได้ผลดี ผู้สื่อข่าวจำเป็นต้องเรียนรู้พฤติกรรม ระดับการศึกษา เศรษฐกิจ ทัศนคติ และความสนใจของผู้อ่าน สิ่งเหล่านี้อาจได้มาจากการวิจัย เอกสารและห้องสมุด ความเข้าใจพฤติกรรม ความต้องการของผู้อ่านจะช่วยให้มั่นใจได้ว่า ข้อเขียนเป็นไปในแนวทางที่ผู้อ่านอยากทราบ เพราะความสนใจของคนอ่านย่อมมีความแตกต่างกันแต่ละกลุ่ม ปัจจุบันการรายงานข่าวแบบอธิบายความ มีความสำคัญทับทวี เมื่อสังคมต้องการความร่วมมือ การมีส่วนร่วมจากประชาชน ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นในสังคมมากมายที่ต้องการคำอธิบาย การชี้แจง ให้ข้อมูลความเป็นมา ผลกระทบ สร้างภาพให้ชัดเจน หรืออธิบายความให้เป็นที่เข้าใจ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในปัญหาของส่วนรวม ในการแก้ปัญหาทางหนึ่งทางใดต่อไปตัวอย่างปัญหาในสังคมที่ต้องการไขความสับสน ให้ความรู้อย่างต่อเนื่องแก่ผู้อ่านนับตั้งแต่เรื่องราวซับซ้อนทางการเมือง
เศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ฯลฯ ยกตัวอย่างปัญหาการอนุรักษ์ทรัพยากรทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เป็นเรื่องใหญ่ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด แต่เท่าที่ผ่านมาเราได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย ขาดความระมัดระวัง ไม่ตระหนักถึงความสัมพันธ์เชิงชีววิทยาที่ต้องพึ่งพากันระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ผลกระทบที่กำลังเป็นปัญหาหนักทั่วโลก ก็คือ การเสื่อมสลายของระบบนิเวศวิทยา เกิดเหตุภัยผิดปกติทาง
ธรรมชาติรุนแรงขึ้นทุกขณะ ทำให้ทุกฝ่ายต้องเร่งช่วยกันแก้ไขปรับปรุงเพื่อสร้างสมดุลทางธรรมชาติให้กลับคืนมาให้ได้ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือจากประชาชนผู้ใช้ทรัพยากรเหล่านั้นหน้าที่ของผู้สื่อข่าว คือการศึกษาทำความเข้าใจกับปัญหาเหล่านี้ให้กระจ่างลำดับความเป็นมาแห่งเหตุปัญหา ผลกระทบ แนวทางแก้ไข และอื่นๆ เพื่อที่เขาจะสามารถเรียบเรียง นำเสนอข้อมูลเหล่านั้นให้แก่ผู้อ่านได้อย่างละเอียด กระชับ รัดกุม สามารถเข้าใจง่ายสำหรับผู้อ่านซึ่งไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่กระจัดกระจายได้เหมือนกับผู้สื่อข่าว การรายงานข่าวแบบอธิบายความจึงต้องอาศัยกลวิธีการสื่อข่าวแบบสืบสวนบางส่วนเข้ามาช่วยในเรื่องของการแสวงหาข้อมูล พื้นฐาน ศึกษาเอกสาร สัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง เจาะลึกถึงประเด็นปัญหา ที่มีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งคือ เป้าหมายการรายงานข่าวคนละทาง กล่าวคือ การรายงานข่าวสืบสวนเน้นเป้าหมายการเจาะลึกข้อมูลหลักฐานเพื่อเปิดเผยสิ่งที่มีเงื่อนงำทุจริตเป็นส่วนหลักในขณะที่การรายงานข่าวแบบอธิบายความมุ่งแสวงหาข้อมูลข่าวสารที่สับสนซับซ้อน เพื่อนำมาเรียบเรียง จับใจความ และเสนอให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องและไม่สับสน (มาลี บุญศิริพันธ์ : 2538, หน้า 158-160)

บรรณานุกรม
พีระ จิรโสภณ และ มาลี บุญศิริพันธ์ .การรายงานข่าวเชิงสืบสวนแบบประยุกต์ , กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, 2538.

พจนา ธูปแก้ว . "การรายงานข่าวเชิงตีความ" ใน วิ่งไปกับข่าว ก้าวไปกับโลก โดย พิศิษฐ์
ชวาลาธวัช และคณะ , กรุงเทพฯ : อินฟอร์มีเดีย บุ๊คส์,2546.

สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ. การสื่อข่าว : หลักการและเทคนิค, กรุงเทพฯ :ศูนย์หนังสือสถาบันราชภัฎสวนสุนันทา, 2545. -------------------------------


เกาะกระแสการเมือง : "คู่มือทำข่าวภาคใต้" ฉบับวิชาการ
โดย ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล
อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


บทนำ

ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจนถึงวันนี้การแก้ไขปัญหาของภาครัฐยังแทบไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะรัฐบาลหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยครั้ง ก็คือการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่ดูจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ และตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายก่อความไม่สงบ

ล่าสุดสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับการรายงานข่าวภาคใต้ ซึ่งเป็นประเด็นข่าวที่มีความอ่อนไหวและซับซ้อนสูง โดย ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอผลการศึกษาในลักษณะ " กรอบแนวคิด " หรือ " คู่มือ " ในการรายงานข่าวสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้ข่าวมีทิศทางการนำเสนอที่กว้างขวางรอบด้านขึ้น ไม่จำกัดเพียงสถานการณ์รุนแรงรายวัน ขณะเดียวกันก็เพื่อลดอคติ และไม่ซ้ำเติมความรู้สึกของคนในพื้นที่

คู่มือของ ผศ.ดร.วิลาสินี แบ่งออกเป็น 4 หัวข้อใหญ่ ๆ คือ
1.กรอบแนวคิดที่นักข่าวต้องมีเกี่ยวกับศาสนาอิสลามและแนวทางสันติวิธี ประกอบด้วย

- นักข่าวต้องปรับฐานคิดและทัศนคติที่มีต่อศาสนาอิสลามและชาวมุสลิม อย่าปล่อยให้อคติหรือการรับรู้เดิม ๆ เข้ามามีอิทธิพลต่อการทำความเข้าใจหรือการเปิดใจกว้างยอมรับเรื่องราวของอิสลาม

- ต้องแสวงหาความรู้ทั้งในระดับพื้นฐานเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม และความรู้เชิงลึกในประเด็นต่าง ๆ ที่กำกับวิถีชีวิต ความเชื่อ และหลักปฏิบัติของมุสลิม รวมทั้งทำความเข้าใจเรื่องภาษาที่ใช้กันอยู่ในท้องถิ่น

- ต้องทำความเข้าใจว่าอิสลามเป็นทั้งระบบความคิด ความเชื่อ จิตวิญญาณ และหลักปฏิบัติของมุสลิม

- ต้องศึกษาและทำความเข้าใจอิสลามในบริบทของประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และการจัดการความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมกับศูนย์กลางอำนาจต่าง ๆ ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์

- ต้องเข้าใจความเป็นมาและมองเห็นการเชื่อมโยงของสถานการณ์ในระดับท้องถิ่นกับสถานการณ์ระดับโลกที่สะท้อนความขัดแย้งระหว่างมุสลิมกับกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะความขัดแย้งกับโลกตะวันตก

- ศึกษาทำความเข้าใจการสร้างวาทกรรม และความหมายคำว่า "Terrorism" หรือ "การก่อการร้าย" ซึ่งจนถึงวันนี้ยังไม่มีกรอบที่เป็นสากล

- ต้องเข้าใจว่า แนวทางการสื่อสารด้วยสันติวิธีมีองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่ การยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรม, หลีกเลี่ยงการนำเสนอที่นำไปสู่การตอกย้ำแบ่งเขาแบ่งเรา, หลีกเลี่ยงการนำเสนอที่ตอกย้ำ เหมารวม ตัดสิน ลงโทษ ประณามยั่วยุ หรือสร้างความหวาดระแวงโดยที่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน

2. มุมมองในการคัดเลือกประเด็นข่าว ประกอบด้วย
- ใช้มุมมองสันติวิธี การยอมรับความหลากหลาย และการเคารพสิทธิมนุษยชน เป็นกรอบในการมองสถานการณ์ และการคัดเลือกประเด็นข่าว

- มองสถานการณ์จากหลาย ๆ มุม หากมองไม่เห็นให้ถอยออกมา 1 ก้าว แล้วค่อยกลับเข้าไปมองใหม่ อย่าด่วนสรุปจากการมองเห็นแค่มิติเดียว

- ใช้มุมมองของคนในพื้นที่ ไม่ใช่มุมมองจากส่วนกลาง หรือมุมมองแบบผู้สังเกตการณ์

- สืบค้นข้อมูลเชิงลึก โดยไม่หยุดอยู่เพียงแค่การรายงานเหตุการณ์รายวันด้วยคำถามแค่ว่า เกิดอะไร ที่ไหน อย่างไร แต่พยายามตั้งคำถาม " ทำไม " ให้มาก และต้องเป็นคำถามที่นำไปสู่การทบทวน, ค้นคว้าข้อมูลภูมิหลัง การวิเคราะห์หาสาเหตุ และผู้ที่เกี่ยวข้อง

- ไม่ติดยึดอยู่กับแหล่งข่าวเพียงไม่กี่คน และควรเพิ่มแหล่งข่าวที่เป็นประชาชนทั่วไปมากขึ้น

- เน้นมุมมองข่าวที่ทำให้เห็นทั้งภาพในระดับชุมชน และภาพของปัจเจกซึ่งสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ขาด

- มองด้วยองค์ความรู้แบบหลากหลายสาขา ทั้งด้านศาสนา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา ความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคมชุมชนและผู้ด้อยโอกาส

3. รูปแบบการนำเสนอข่าว ประกอบด้วย
- แยกความเห็นออกจากสถานการณ์

- ไม่เอาความเชื่อทางศาสนาเข้ามาอ้างอิงปะปนในเนื้อข่าว

- ระมัดระวังเรื่องภาษา โดยไม่ผลิตซ้ำคำศัพท์ที่ถูกตีความหมายอย่างผิด ๆ ไปแล้ว หรือคำศัพท์ที่ถูกใช้จนนำไปสู่ความขัดแย้ง

- ระวังการใช้ภาพข่าว โดยต้องไม่เน้นมุมที่แสดงให้เห็นความรุนแรงหรือความขัดแย้งมากเกินไป หรือภาพที่ไปตอกย้ำความเชื่อ ความเข้าใจผิด ๆ แต่ควรเสนอภาพที่สะท้อนมิติความเป็นมนุษย์นำไปสู่ความรู้สึกทุกข์ร่วมกัน เห็นใจกัน และเข้าใจกันของคนไทยทั้งชาติ

- การปกปิดรายละเอียดของบุคคลในข่าว เพราะการเปิดเผยโดยที่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งและไม่พอใจ

- ไม่ขยายเหตุการณ์จนใหญ่โตเกินจริง หรือเสนอในประเด็นที่เป็นขอสันนิษฐานซ้ำ ๆ เช่น โจรกระจอก หรือแม้กระทั่งเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ

4. การตรวจสอบข่าวและกรอบคิดในเชิงจริยธรรม ประกอบด้วย
- ตรวจสอบข้อมูลข่าวอย่างรอบด้าน และควรมีระบบการให้คำปรึกษาในกองบรรณาธิการ โดยอาจใช้ทนายความ หรือมุสลิมที่เข้าใจปัญหา ซึ่งสามารถให้คำปรึกษาได้ก่อนนำเสนอข่าวนั้น ๆ

- ความรวดเร็ว ความสดใหม่ของข่าวไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ความถูกต้อง และความเหมาะสมของเนื้อหาสำคัญยิ่งกว่า

- ตรวจสอบข้อมูลจากภาครัฐและสื่อของรัฐให้แน่ชัด เพื่อป้องกันการ " เดาสุ่ม " หรือ " การเหมารวม " ซึ่งอาจจะยังไม่มีข้อมูลครบถ้วนเพียงพอ แต่เร่งเผยแพร่ออกมาก่อน

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับที่ 23 สิงหาคม 2548

คู่มือการรายงานข่าวสงครามของสำนักข่าว BBC NEWS
แปลโดย นายอรชุน รินทรวิฑูรย์

การรายงานข่าวสงคราม
เมื่อต้องรายงานข่าวด้านความขัดแย้ง ทางบีบีซี จะให้ความรับผิดชอบเป็นพิเศษต่อคนดูทั้งในอังกฤษและประเทศอื่น ๆ ในช่วงเวลานั้น จะมีผู้คนจำนวนมากเข้ามาติดตามข่าวของบีบีซี เพราะคาดหวังต่อข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแม่นยำ บีบีซีต้องทำให้ผู้ชมมั่นใจได้ว่า พวกเขาได้รับทราบข้อเท็จจริง นอกจากนี้ ผู้ชมทั้งหลายยังคาดหวังว่า ทางบีบีซีจะทำให้พวกเขาเข้าถึงเหตุการณ์ได้มากขึ้นด้วยการนำเสนอมุมมองข้อคิด
เห็นและการวิเคราะห์ต่าง ๆ เมื่อรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยง การสูญเสีย ความทุกข์ยาก หรือโศกนาฏ บีบีซีจะต้องระมัดระวังต่อความรู้สึกและความหวาดกลัวของผู้ชม เนื่องจากบางคนอาจมีญาติหรือเพื่อนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การนำเสนอข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกเจ็บปวด เศร้าโศก สูญเสีย ต้องทำอย่างระมัดระวังรอบคอบอย่างที่สุดหลักการรายงานข่าวความขัดแย้ง

" ต้องนำเสนอรายงานข่าวที่ชัดเจนว่า ข้อมูลที่ได้นั้นมาจากไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรายงานข่าวว่าเกิดความขัดแย้งหรือการปะทะกันขึ้น บีบีซีต้องระบุถึงที่มาของข้อมูลข่าวสาร" ปกติแล้ว บีบีซีจะบอกกับผู้ชมหากข่าวเรื่องใดถูกเซ็นเซอร์หรือถูกคุมการนำเสนอ หรือแม้กระทั้งเรื่องใดก็ตามที่บีบีซีไม่ได้นำเสนอ บีบีซีก็จะอธิบายในส่วนที่เป็นไปได้ ภายใต้กฎระเบียบของบีบีซีเอง" น้ำเสียงในการนำเสนอข่าวมีความสำคัญมากพอ ๆ กับความน่าเชื่อถือในการนำเสนอ" บีบีซีจะให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงในสงครามที่เกิดขึ้นในลักษณะใดก็ตาม การใช้รูปภาพกราฟฟิคแทนเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นหรือความโหดร้ายในสงคราม จะต้องมีเหตุผลสนับสนุนจากกอง บก." ในกรณีที่มีความจำเป็นของปกปิดรายละเอียด บีบีซียืนยันว่า ญาติ ๆ จะไม่ได้รับทราบข่าวการเสียชีวิต การบาดเจ็บของเหยื่อจากสื่อสิ่งพิมพ์
เว็บไซต์และรายการต่าง ๆ ของบีบีซี

" ทางบีบีซียืนยันว่า บอร์ดแสดงความคิดเห็นออนไลน์เป็นบอร์ดที่เต็มไปด้วยการแสดงความเห็น และจะควบคุมไม่ให้มีการโพสต์ข้อความในลักษณะล่วงละเมิดในช่วงที่เกิดเหตุรุนแรงอย่างสงคราม ความขัดแย้งต่าง ๆ ทางบีบีซีจะคำนึงถึงการนำเสนอรายการอื่น ที่อยู่ในเครือด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละคร ตลก และเพลง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ถูกมองว่า เป็นการนำเสนอสิ่งที่ไม่เหมาะสมแก่กาลเทศะ นโยบายของกอง บก. ที่ผู้ผลิตเนื้อหาต้องนำเสนอให้การ บก. รับทราบก่อน" การนำเสนอเหตุการณ์ใด ๆ ที่อาจทำให้เจ้าหน้าที่ของบีบีซีถูกมองว่าละเมิดต่อพระราชบัญญัติก่อการร้าย

" การสัมภาษณ์บุคคลหรือองค์กรใด ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย" การนำเสนอข่าวสารสาระทั้งที่ถ่ายทำในอังกฤษและประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นภัยต่อพลเรือน อังกฤษ

การรายงานข่าวก่อการร้าย
บีบีซีต้องรายงานข่าวก่อการร้ายอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง สมบูรณ์ และต้องรับผิดชอบการนำเสนอ เพราะความน่าเชื่อถือของบีบีซีจะค่อย ๆ ถูกทำลายจากการใช้คำพูดที่ปราศจากความระมัดระวัง เต็มไปด้วยอารมณ์และมีการตัดสินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คำว่า " ก่อการร้าย " ในตัวของมันเอง น่าจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้เข้าใจได้ยาก เพราะฉะนั้น ทางบีบีซีก็พยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำ ๆ นี้บีบีซีเห็นว่าไม่ควรนำภาษาอื่นมาใช้เป็นภาษาของตัวเอง หรือการใช้คำศัพท์ต่าง ๆ เช่น " ปลดแอก " " ศาลทหาร " หรือ " ประหาร " บีบีซีมองว่าไม่เหมาะสมที่จะใช้ หากยังไม่มีกระบวนการที่ชัดเจนที่ทำให้เห็นว่าเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นเหมาะแก่การใช้คำพวกนี้ นอกจากนี้การนำเสนอข่าวควรใช้คำที่ให้ความหมายชัดเจน เช่น " มือระเบิด " " กองโจรซุ่มโจมตี " " มือปืน " " โจรลักพาตัว " " กลุ่มกบฏ " และ " ฝ่ายต่อต้าน " ความรับผิดชอบของบีบีซีก็คือการคงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์ในการนำเสนอข่าวเพื่อให้ผู้ชมประเมินหรือตัดสินเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วยตัวเองว่าใครทำอะไร มีผลถึงใคร

พรบ. ก่อการร้าย 2000
บีบีซีมีพันธะผูกพันตามกฎหมายพระราชบัญญัติก่อการร้าย 2000 ในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากข้อมูลดังกล่าวมีเหตุผลความน่าจะเป็น ทั้งนี้เพื่อช่วย" ป้องกันเหตุก่อการร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นใดของโลก" ทำให้มั่นใจว่าการจับกุม การสอบสวน หรือการตั้งข้อหาแก่บุคคลใด ๆ ในอังกฤษ มีส่วนเกี่ยวข้องกับควบคุม วางแผน หรือมีส่วนทำให้เกิดการก่อการร้ายขึ้นการปกปิดข้อมูลด้านอาชญากรรม ระวางโทษจำคุกถึง 5 ปี เพราะฉะนั้น สถานการณ์หรือเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตามที่อาจทำให้เจ้าหน้าที่ของบีบีซีเข้าข่ายละเมิด พรบ. ก่อการร้าย จะต้องอ้างอิงกับนโยบายควบคุมกอง บก. และฝ่ายกฎหมายของการออกอากาศพรบ. ก่อการร้ายยังกำหนดให้องค์กรทั้งในประเทศและระหว่างประเทศบางแห่งที่ถูกมองว่าเป็น " กลุ่มก่อการร้าย " และมีฐานปฏิบัติการในอังกฤษเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

การรายงานข่าวการก่อการร้ายและการข่มขู่
หากบีบีซีได้รับคำเตือนเรื่องการวางระเบิดหรือคำขู่ที่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะได้รับข้อมูลทางโทรศัพท์ แฟกซ์ อีเมล์ เทปเสียง หรือข้อความ หรือแม้กระทั่งข้อมูลที่มีคนเข้ามาโพสต์ในบอร์ดแสดงความคิดทางอินเตอร์เน็ท สิ่งแรกที่ต้องทำคือส่งให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบบีบีซีจะห้ามการเปิดเผย " รหัสคำพูด " ที่ปกติใช้กันในกลุ่มที่ต้องการเตือนการลอบวางระเบิดบีบีซีจะไม่เปิดเผยรายละเอียดด้านความมั่นคงหรือข้อมูลที่เป็นประเด็นอ่อนไหวที่อาจจะมีส่วนช่วยหรือเป็นประโยชน์ต่อการโจมตีของกลุ่มใด ๆบีบีซีจะไม่เปิดเผยชื่อของบุคคลที่ถูกข่มขู่คุกคาม ยกเว้นจะเกิดผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นแล้ว เช่น การยกเลิกการปรากฏตัว(ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ) ต่อสาธารณชนบีบีซีจะต้องระมัดระวังที่จะไม่ระบุถึงบุคคลที่อาจตกเป็นเหยื่อ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นเป็นบุคคลที่ไม่เคยถูกระบุชื่อมาก่อน หรือไม่ได้ตกอยู่ในอันตรายมาก่อน เช่น การระบุชื่อของห้องทดลองสัตว์หรือบริษัทที่ทำงานให้กับกองทัพบีบีซีจะไม่รายงานเหตุการณ์ที่บานปลายกลายเป็นการข่มขู่ จนกว่าจะมีผลกระทบที่รุนแรงหรือเห็นได้ชัด เช่น การก่อกวนระบบขนส่งมวลชน

การเข้าร่วมกิจกรรม
การจะเข้าร่วมเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มหรือองค์กรที่มีบันทึกเอาไว้ว่าเป็นกลุ่มหรือองค์กรที่ผิดกฎหมาย จะต้องส่งรายละเอียดของการเข้าร่วมงานให้กับบรรณาธิการอาวุโสพิจารณาตัดสินใจการออกอากาศเนื้อหาที่บันทึกในอังกฤษหรือที่อื่น ๆ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อพลเมืองอังกฤษ จะต้องยึดนโยบายควบคุมของกอง บก.การออกอากาศเหตุการณ์ที่ถึงแม้จะถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากมีภาพของทหารหรือกลุ่มอื่น ๆ ปรากฏอยู่ด้วย จะต้องได้รับความเห็นชอบจากบรรณาธิการอาวุโส ในประเทศอังกฤษ กลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่น กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพของสัตว์ ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องขอความเห็นชอบนี้ด้วย

การจี้เครื่องบิน การลักพาตัว การจับกุมตัวประกัน และการบุกจับคนร้าย
ในกรณีที่เกิดการจี้เครื่องบิน การลักพาตัว การจับกุมตัวประกัน และการบุกจับคนร้าย บีบีซีต้องระมัดระวังทุกอย่างที่ออกอากาศหรือตีพิมพ์อาจจะผ่านหูผ่านตาของคนร้าย ทั้งภายในประเทศอังกฤษหรือในประเทศอื่น ๆ การนำเสนอข้อเรียกร้องในเหตุการณ์ก็ถือว่ามีความสำคัญต่อการรายงาน นอกจากนี้ จะต้องระมัดระวังประเด็นที่เป็นเรื่องค่านิยมหรือการตัดสินถูกผิดในเหตุปล้นเครื่องบิน ลักพาตัว หรือการจับตัวประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มที่ก่อเหตุติดต่อเข้ามาบีบีซีต้องยึดถือหลักการรายงานข่าวภายใต้การควบคุมของกองบก.และขอยืนยันว่า

" บีบีซีจะไม่สัมภาษณ์คนร้ายออกอากาศสด
" บีบีซีจะไม่แพร่ภาพสด ไม่ว่าวีดีโอภาพ หรือเสียงที่ได้จากคนร้าย
" บีบีซีจะออกอากาศภาพหรือสิ่งบันทึกต่าง ๆ ที่ได้รับจากคนร้ายไม่ว่าจะเป็นเหตุรุนแรงหรือภาพเหยื่อ หลังจากได้รับความเห็นชอบจากบรรณาธิการอาวุโสแล้วเท่านั้น
" บีบีซีจะงดการออกอากาศสดเกี่ยวกับภาพข่าวที่อ่อนไหว เช่น การจับกุมตัวประกันในโรงเรียนหรือการจี้เครื่องบิน โดยเรื่องนี้มีความสำคัญมากโดยเฉพาะเมื่อไม่สามารถคาดการณ์ผลที่เกิดตามมาได้ ดังนั้นจึงเหมาะสมที่ออกอากาศโดยปราศจากการคิดที่ไตร่ตรองเป็นอย่างดีเมื่อต้องรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับการจี้เครื่องบิน การลักพาตัว การจับตัวประกัน หรือการบุกจับคนร้าย บีบีซีต้องรับฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ เกี่ยวกับสิ่งใด ๆ ก็ตามที่จะรายงานออกไปและอาจจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไป บางครั้งก็ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ขอให้บีบีซีระงับการรายงานเอาไว้ก่อน ให้รายงานในภาพรวม หรือบางครั้งเจ้าหน้าที่ขอให้แบล็คภาพทั้งหมด (ทำให้ภาพเป็นสีดำ) ซึ่งทางบีบีซีมักจะตอบรับคำขอร้องที่มีเหตุผล และจะไม่ออกอากาศในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง

ความมั่นคงของชาติ
พระราชบัญญัติความลับของทหาร กระทบต่อความสามารถในการรายงานข่าวบางเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงและการสืบราชการลับ หน่วยงานด้านความมั่นคงได้กำหนดกรอบของข้อมูลด้านกลาโหมและการต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายเอาไว้ ข้อมูลใดที่หากรายงานออกไปอาจจะสร้างความเสียหายให้กับความมั่นคงของชาติได้ อย่างไรก็ตาม การนำกรอบที่กำหนดไว้ให้มาปฏิบัติ ก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย และความรับผิดชอบสุดท้ายในการตัดสินใจว่าจะเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใด ๆ หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับทางบีบีซีการนำเสนอข่าวสารในแง่ความมั่นคงจะต้องขอความเห็นจากบรรณาธิการอาวุโสและหน่วยกฎหมายตั้งแต่ต้น เพื่อให้การเสนอข่าว เป็นไปตามนโยบายการควบคุมของกอง บก. และภายใต้หลักเกณฑ์ของหน่วยงานด้านความมั่นคงเหตุฉุกเฉินในประเทศและระหว่างประเทศการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับเหตุฉุกเฉินในประเทศรวมไปถึงเหตุฉุกเฉินระหว่างประเทศ เช่น การรายงานข่าวภัยพิบัติ หรืออุบัติเหตุใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นสิ่งสำคัญคือแหล่งข่าวหรือแหล่งที่มาของข้อมูล การประมาณจำนวนตัวเลขของผู้เสียชีวิต มักจะปรากฏความผิดพลาดในครั้งแรกของการรายงานผลเสมอ ถ้าหากมีแหล่งข่าวอื่น ๆ ประมาณจำนวนตัวเลขของผู้เสียชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ก็ควรจะรายงานเป็นช่วงจำนวนของผู้ที่คาดว่าเสียชีวิต หรือเลือกเอาความเห็นของแหล่งข่าวที่มีอำนาจหน้าที่มากที่สุดเมื่อมีคนถูกฆ่า ได้รับบาดเจ็บ หรือสูญหาย สิ่งสำคัญคือ หากจำเป็น ชื่อของเหยื่อเหล่านั้นจะไม่หลุดจากสื่อต่าง ๆ ของบีบีซี หรือญาติของเหยื่อเหล่านั้นจะไม่มีทางรับรู้จากสื่อต่าง ๆ ของบีบีซีได้เลยว่า เหยื่อเหล่านั้นก็คือญาติของตนเอง โดยบีบีซีคำนึงว่า เมื่อไหร่ก ็ตามที่ยังไม่มีการบอกชื่อของเหยื่อออกไป ก็จะไม่สร้างความกังวลให้กับบุคคลใกล้ชิดของเหยื่อเหล่านั้น บีบีซีเชื่อว่า การปิดบังชื่อน่าจะสร้างความเครียดได้น้อยกว่าการรับรู้ชื่อของเหยื่อไม่ว่าจะผ่านทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อทางอินเทอร์เน็ตบีบีซีจำเป็นต้องจำกัดความกังวลที่อาจเกิดขึ้นด้วยการไม่บอกชื่อของเหยื่อ เช่น ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุทางอากาศ บีบีซีเลือกรายงานในภาพรวม เช่น บอกเพียงชื่อสายการบิน เที่ยวบิน สถานที่ออกเดินทาง และที่หมาย ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงสร้างความแตกตื่นให้กับผู้คนจำนวนมากการรายงานข่าวในอังกฤษเกี่ยวกับเหตุฉุกเฉิน ต้องเลือกข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อความปลอดภัยของสาธารณะ บีบีซี ทำงานร่วมกับหน่วยงานแผนฉุกเฉินเพื่อแยกแยะสถานการณ์ฉุกเฉินออกเป็นประเภทต่าง ๆ ซึ่ง ต้องใช้การรายงานข่าวที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไปเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ความของกอง บก. ก็ถือว่ามีความสำคัญเพื่อความถูกต้องและความเป็นอิสระของข้อมูล

เหตุประท้วงและเหตุจลาจล
การติดตามข่าวประท้วงและเหตุจลาจลถือว่าเป็นส่วนสำคัญของการรายงายข่าวบีบีซีต้องให้ความสำคัญกับเรื่องต่อไปนี้" การประเมินถึงความเสี่ยงที่อาจทำให้การนำเสนอข่าวเป็นการกระตุ้นกลุ่มผู้ประท้วง" การรายงานต้องหยุดในทันที่หากการรายงานเป็นการกระพือสถานการณ์ให้แย่ลง" การรายงานข่าวที่ไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจน อาจนำมาซึ่งความคลาดเคลื่อนของตัวเลขในการรายงานได้ และหากเป็นไปได
้ต้องระบุชื่อของแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลตัวเลข" การแสดงความเห็นต้องทำอย่างรอบด้านและไม่อคติ หากการรายงานข่าวของนักข่าวยังไม่รอบด้านพอ ข่าวดังกล่าวก็ควรได้รับการขยายประเด็นให้ครอบคลุม
" หากระดับความรุนแรงหรือความวุ่นวายมากจนเกินกว่าการใช้ภาพกราฟ ฟิคแทนได้ ก็ต้องหยุดการแพร่ภาพสด และนำภาพที่บันทึกไว้มาใช้ในรายงานซึ่งผ่านการตัดต่อคัดกรองภาพและเนื้อข่าวแล้ว

เหตุเสี่ยงภัย กิจกรรมเสี่ยงภัย เหตุการณ์ที่พร้อมจะเกิดการปะทะ
การจะเข้าไปรายงานข่าวในเหตุการณ์ที่เสี่ยงภัย กิจกรรมเสี่ยงภัย หรือเหตุการณ์ที่พร้อมจะเกิดการปะทะกันขึ้น จะต้องส่งคำร้องไปยังบรรณาธิการข่าวและทีมงานประเมินความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่" พื้นที่หรือเหตุการณ์ที่พร้อมจะเกิดการปะทะขึ้น " หมายถึง ประเทศ ภูมิประเทศ ภูมิภาค หรือพื้นที่ใดที่อยู่ภายใต้ภาวะของสงคราม การเดินขบวนขับไล่รัฐบาล การประท้วงต่อต้านรัฐบาล หรือภาวะของการก่ออาชญากรรม การปล้นสะดม หรือภาวะที่ไร้ซึ่งกฎหมาย นอกจากนี้บีบีซียังจัดให้พื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติขั้นรุนแรงอยู่ในประเภทนี้"กิจกรรมเสี่ยงภัย" รวมไปถึงการสืบสวนทางอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการจับตามองหรือบันทึกภาพในทางลับ และ/หรือต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มอาชญากร กลุ่มเคลื่อนไหวหัวรุนแรง หรือกลุ่มการเมืองหัวรุนแรง"เหตุการณ์เสี่ยงภัย" ครอบคลุมถึงเหตุจลาจล ความวุ่นวายจากการที่ประชาชนไม่ฟังคำสั่งของเจ้าหน้าที่เหตุการณ์ที่มีการใช้อาวุธเช่น การจี้เครื่องบิน การจับกุมตัว หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้วัตถุเคมี ชีวภาพ รังสี หรือเหตุการณ์ที่สภาพดินฟ้าอากาศที่รุนแรง เช่น พายุเฮอริเคน น้ำท่วมรุนแรง แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดบีบีซียังให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก และการเลือกนับถือศาสนาอย่างอิสระ ขณะเดียวกัน ยังตระหนักดีถึงหน้าที่ในการป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ก้าวล่วงหรือกระทบต่อความรู้สึกที่เปราะบาง โดย บีบีซีได้วางกรอบการทำงานเอาไว้ว่า จะต้องไม่ให้การนำเสนอข่าวของบีบีซีถูกนำไปใช้เป็นสิ่งตัดสินค่านิยมหรือความเชื่อของบุคคลอื่น

กฎการนำเสนอข่าวด้านศาสนา
" บีบีซียืนยันว่า การนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับความเชื่อหรือพิธีกรรมทางศาสนาจะได้รับการทอดถ่ายอย่างถูกต้องแม่นยำและปราศจากกอคติ
" บีบีซียืนยันว่า มุมมองหรือทัศนะด้านศาสนา ความเชื่อ ของบุคคล หรือลัทธิทางศาสนาต่าง ๆ จะไม่ถูกบิดเบือน เหยียดหยาม หรือตัดสินว่าผิดแผกไปจากมาตรฐานการยอมรับของบุคคลทั่วไป
" บีบีซีจะใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอสิ่งต่าง ๆ ที่อ่อนไหวในเรื่องศาสนา เช่น ชื่อภาพ เทพเจ้า ประเพณีทางศาสนา หลักศิลาจารึกหรือคัมภีร์ทางศาสนา โดยคำนึงถึงความแตกต่างในความเชื่อต่าง ๆ
" บีบีซีจะให้ความเคารพกับความรู้สึกอ่อนไหวด้านศาสนาในวันศักดิ์สิทธิ์และประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ ดังนั้นต้องระงับการใช้ภาพหรือวัสดุบางอย่างที่อาจจะกระทบกับความรู้สึกของบุคคลกลุ่มดังกล่าว


คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com