ตัวอย่าง การสื่อข่าวในภาวะวิกฤต ข่าวประกอบ เสียงเยาวชนหลงผิดเพราะพ่อไม่ดูแลใกล้ชิด(สุนิสา รามแก้ว สวท.ยะลา ) หัวข้อข่าว กลุ่มเยาวชนผู้หลงผิดขอให้พ่อดูแลลูกอย่างใกล้ชิด
กลุ่มเยาวชนผู้หลงผิดขอให้พ่อดูแลลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการก่อความไม่สงบ พร้อมทั้งกล่าวขอโทษพ่อ เนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาติ ในขณะที่เยาวชนที่สูญเสียพ่อจากสถานการณ์ความไม่สงบ ขอให้ผู้หลงผิดหยุดกระทำการดังกล่าวเพราะได้สร้างความเดือดร้อนต่อผู้บริสุทธิ์
นายอัสวัน อาแวกาจิ หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมจากการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวเนื่องในวันพ่อแห่งชาติในปีนี้ว่า ตนเองรู้สึกเสียใจที่ได้ตกเป็นเครื่องมือของขบวนการก่อความไม่สงบ สาเหตุที่กระทำลงไปนั้นก็เพราะรู้ไม่เท่าทันกลุ่มคนเหล่านี้ ประกอบกับที่ผ่านมาไม่เคยได้รับความรักจากพ่อ ไม่เคยแม้นแต่จะบอกรักพ่อ เมื่อมาถึงจุดนี้ อยากจะบอกว่าที่ผ่านมาตนเองคิดผิดมาโดยตลอด และขอโทษพ่อแม่ที่ต้องทำให้เสียใจและอยากจะวิงวอนให้ผู้เป็นพ่อทุกคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะมุสลิมขอให้ดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างใกล้ชิด และให้ความสำคัญกับลูก ให้มองเห็นความฉลาดของลูกก่อนที่คนอื่นจะมาเห็น เพราะเมื่อถึงตอนนั้น คงต้องสูญเสียลูกอันเป็นที่รักไปแน่นอน หากเป็นไปได้อยากให้พ่อให้โอกาสอีกครั้ง
เสียง...นายอัสวัน อาแวกาจิ
ด้านนายหากีม บือราเฮง ผู้ต้องหาก่อเหตุความไม่สงบ บอกว่า สำหรับตนเองแล้วรักและเคารพพ่อเสมอมา ที่ผ่านมาไม่เคยโกหกหรือหักหลังพ่อ แต่อาจเป็นเพราะไม่เคยใกล้ชิด จึงไม่เคยบอกสิ่งที่ตนเองทำอยู่ ซึ่งวันนี้ อยากจะขอโทษพ่อและแม่ที่ต้องทำให้ผิดหวัง ต่อไปนี้พร้อมที่จะพิสูจน์ตนเองเพื่อให้ทุกคนเห็นว่าพร้อมที่จะกลับตัวกลับใจเป็นคนดี
เสียง...นายหากีม บือราเฮง
ในขณะที่นางสาวนาซีตอ นามะ บุตรสาว นายดาโอ๊ะ นามะ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2547 เล่าทั้งน้ำตา ว่า ถึงแม้นตอนนี้พ่อจะไม่อยู่แล้ว แต่พ่อก็ยังอยู่ในใจลูก ๆ เสมอ และแม้นว่าครอบครัวต้องประสบกับความเดือดร้อนเพราะขาดผู้นำครอบครัว แต่ตนเองก็จะทำงานเพื่อส่งเสียให้น้อง ๆ ได้เรียนหนังสือ โดยขอสัญญาว่าจะเป็นคนดีของพ่อและเป็นคนดีของสังคมตลอดไป
เสียง...นางสาวนาซีตอ นามะ
นางสาวนาซีตอ นามะ ได้กล่าววิงวอนขอให้ผู้ที่กำลังหลงผิดได้หยุดการกระทำดังกล่าว เพราะได้สร้างความเดือดร้อนต่อผู้บริสุทธิ์เป็น จำนวนมาก
สุนิสา รามแก้ว สวท.ยะลา สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา รายงาน
คุณค่าของข่าว เยาวชนหลงผิด เนื่องจากวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันพ่อแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญต่อประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า และทรงห่วงใยพสกนิกรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นอย่างยิ่ง หลังจากที่ต้องประสบกับปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ผู้สื่อข่าวจึงได้คิดบริหารประเด็นข่าว เพื่อสร้างความสมานฉันท์ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผู้สื่อข่าวจึงได้ประสานศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า เพื่อสะท้อนสภาพครอบครัวของสังคมชาวไทยมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องความรักความผูกพัน เพราะครอบครัวชาวมุสลิม ไม่ค่อยมีเวลาที่จะดูและบุตร จนนำไปสู่ปัญหาทางสังคม และนำไปสู่ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่
ขั้นตอนการทำข่าว เยาวชนหลงผิด ติดต่อแหล่งข่าว 2 คน คือ นายอัสวัน อาแวกาจิ และนายหากีม บือราเฮง ซึ่งเป็นผู้ต้องหาก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งเป็นได้ด้วยความยากลำบากเพราะนายอัสวัน อาแวกาจิ ผู้ต้องหาถูกจำคุกอยู่ที่ สถานีตำรวจภูธรตำบลตันหยง อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ส่วนนายหากีม บือราเฮง ถูกจำคุกที่สถานีตำรวจภูธรนราธิวาส ซึ่งการประสานแหล่งข่าว ที่เป็นผู้ต้องหา เป็นเรื่องที่อยู่ในคดีความ และเป็นเรื่องที่ล่อแหลม จึงได้ติดต่อ
พล.ต.ต.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งได้ให้ความร่วมมือด้วยดี การพูดคุยกับผู้ต้องหาทั้งสองคน จะต้องใช้จิตวิทยา เกลี่ยกล่อม ให้ผู้ต้องหาทั้งสองเข้าใจ เรื่องราวก่อน ที่จะลงมือให้สัมภาษณ์
ผลการรับรู้จากการนำเสนอข่าว เยาวชนหลงผิด ผลการออกข่าว ปรากฏว่าพ่อนายอัสวัน หลังจากได้ฟังข่าวแล้ว ได้เดินทางไปเยี่ยมลูก โดยก่อนหน้านี้พบว่า พ่อของนายอัสวันไม่เคยไปเยี่ยมลูกของเขาเลย พอได้ฟังข่าวและคำขอโทษจากลูกจึงได้ไปเยี่ยมลูก ที่ถูกจำคุกที่สถานีตำรวจภูธรตันหยง อ.เมืองนราธิวาส ผลของการเสนอข่าวยังทำให้ แนวร่วมที่เป็นเยาวชนได้เข้ามารายงานตัวเพิ่มมากขึ้น และทำให้พ่อแม่ ของแนวร่วมได้หันมาดูแลลูกหลานมากขึ้น ข่าวนี้นอกจากจะมีผลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังทำให้พ่อแม่ที่จังหวัดอื่น หันมาดูแลลูกเพิ่มมากขึ้น
* * * * * * * * * * * * * * *
|