ภาษา คือ ความมั่นคงของชาติ
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ 19 มีนาคม 2552
กศน.เปิดเรียนภาษาไทยในเยอรมัน การเดินทางไปดูงานในต่างประเทศ ทำให้มีโอกาสได้เห็นความเจริญก้าวหน้า ของบ้านเมือง ที่มีความแปลกตา ต่างไปจากบ้านเรา ทำให้ผู้ไปดูงานเกิดแนวความคิด ที่จะนำความเจริญมาพัฒนาบ้านเรา เหมือนดั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่พระองค์เคยเสด็จประพาสยุโรป จนสามารถนำเอา รูปแบบการปกครอง การพัฒนาด้านการคมนาคม การไปรษณีย์ การประปา มาพัฒนาสยามประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยะ และไม่ตกเป็นเมืองขึ้น มาจนถึงทุกวันนี้
การกำเนิดการดูงาน จึงได้ก่อเกิดตั้งแต่บัดนั้น จนถึงบัดนี้ การดูงานต่างประเทศเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 มิใช่เฉพาะคณะผู้บริหารงานประชาสัมพันธ์ รุ่นที่ 49 เท่านั้น แต่ที่พบเห็น และมีโอกาสได้พูดคุยเพียงเล็กน้อยที่ร้านเจ้าคุณ เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมัน คือ คณะผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเราก็ไม่ได้รายละเอียดอะไร เพราะคณะผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการกำลังจะเดินทางต่อ ส่วนคณะของเรากำลังจะเดินเข้าร้านเจ้าคุณ ซึ่งเป็นร้านอาหารไทย เพื่อรับประทานอาหารเที่ยง แต่จากการสังเกตของผม ตามประสาผู้มีอาชีพนักข่าวทำให้สังเกตเห็น ป้ายประกาศ แผ่นเล็ก ๆ ขนาดกระดาษ A 4 ติดอยู่ทางเข้าหน้าร้าน โดยเจ้าของหน่วยงานคือ ศูนย์การเรียนการศึกษานอกโรงเรียน กรมการศึกษานอกระบบ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีข้อความ ดังนี้
"THAI ASA e.V. ข่าวดี ข่าวด่วน ศูนย์การเรียนการศึกษานอกโรงเรียน ศูนย์โอเบอร์ บาเยอร์น กรมการศึกษานอกระบบ กระทรวงศึกษาธิการ จะเปิดทำการสอนภาษาไทย ให้กับเด็กไทยอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป ณ สมาคมไทยอาสา Marbachstra Be 16 81369 มิวนิค ทุกวันเสาร์ เวลา 13.00-16.00 น. เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม ศกนี้ เป็นต้นไป ผู้สำเร็จหลักสูตรภาษาไทย จะได้รับวุฒิบัตร บัตรการเรียนภาษาไทยจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งผู้เรียนสามารถนำไปเทียบกับการเรียนในโรงเรียนในประเทศไทยได้ ผู้สนใจจะส่งบุตรหลานมาเรียน สามารถสมัครหรือสอบถามเพิ่มเติม ณ สมาคมไทยอาสา ตามวัน-เวลาราชการ โทรศัพท์ (089) 44 23 99 88 "
จากข้อความแสดงให้เห็นว่า คนไทยในเมืองมิวนิค และเมืองอื่น ๆ ในประเทศเยอรมัน มีพลเมืองไทย ที่เกิดในเมืองนี้เป็นจำนวนมาก ชี้ให้เห็นว่า ไทยและเยอรมัน มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน มีพลเมืองไทยอพยพมาประกอบอาชีพในเยอรมัน จนมีลูกหลานเกิดขึ้นและมีชุมชนไทย อยู่กันอย่างหนาแน่น เราต้องชื่นชมการทำงานของ กรมการศึกษานอกระบบ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้การศึกษาแก่ เด็กไทยในต่างแดน ให้ได้เรียนรู้ภาษาไทย และสามารถเทียบชั้นความรู้ ที่สอนในเมืองไทยได้
ท่านเคยถามตัวเองหรือไม่ ครับ ว่า ทำไมต้องสอนภาษาไทยในต่างแดน หรือภาษามีความสำคัญต่อพลเมืองอย่างไร หรือบางเผ่าพันธุ์ต้องรักษาภาษาของตัวเอง ยิ่งกว่าชีวิต จากแนวคิดของผม สามารถวิเคราะห์ได้ว่า "ภาษาคือเครื่องมือที่ชี้สถานะของความเป็นชาติ " ทำไมผมต้องพูดอย่างนี้ และผมขอถามท่านว่า "ถ้าท่านเห็นคนที่มีหน้าตาเป็นคนเอเชีย และยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยกัน ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่า คน ๆ นั้น เป็นคนประเทศไหน " ท่านก็จะตอบผมว่า "ตอบไม่ได้หรอก ว่าเป็นคนประเทศไหน ดูหน้าตาอาจจะเป็น ฟิลิปปินส์ หรืออาจจะเป็น มาเลเซีย หรืออาจจะเป็นคนไทย" เห็นหรือยังครับ เพียงดูแต่หน้าตา โดยไม่มีการพูดคุยสื่อสารกัน ท่านไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า เป็นชนชาติไหน นอกเสียจากว่า จะมีการพูดคุยกัน หรือสื่อภาษากัน ดังนั้นคนไทยในเยอรมัน ถ้าไม่พูดภาษาไทย นาน ๆ ไป ก็จะกลายเป็นคนเยอรมันในที่สุด แต่ก็จะเป็นคนเยอรมันที่มีหน้าตาเป็นคนเอเชีย นี่แหล่ะครับ คือความสำคัญของภาษา ที่จะแสดงให้เห็นถึงสถานะของความเป็นชาติ และจะเป็นความมั่นคงของประเทศ ให้คงอยู่ในโลกต่อไปตราบนานเท่านาน
แนวคิดด้านการประชาสัมพันธ์ ต่อเรื่องนี้ ผมมีแนวคิดว่า ภาษา คือ ความมั่นคงของชาติ ที่มีความสำคัญยิ่ง ที่จะต้องประชาสัมพันธ์ให้พลเมือง ได้รับทราบถึงความสำคัญ โดยการประชาสัมพันธ์ จะต้องสร้างความเข้าใจว่า ภาษาคือวัฒนธรรม คือความมั่นคง คือความเป็นชาติ คือความเป็นพลเมืองไทย เผยแพร่สื่อสารอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม ตามกระบวนการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง จริงจัง
ในเรื่องภาษา เป็นปัญหาอย่างมากที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการเรียกร้องมาตลอดตั้งแต่ สมัย นายหะยีสุหรง อับดุลการ์เด โต๊ะมีนา มีการเรียกร้อง ให้รัฐบาลสยาม (รัฐไทย) ปฏิบัติจำนวน 7 ข้อ และข้อเรียกร้อง ข้อที่ 3.)ให้ใช้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการ และข้อที่4.)ให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษากลางใน โรงเรียนประถม
ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลสยามในครั้งนั้น ไม่ประสบความสำเร็จ จนนำไปสู่การจับกุม นายหะยีสุหรง อับดุลการ์ โต๊ะมีนา และถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเวลา 1 ปี หลังการปล่อยตัวขณะเดินทางกลับ ปัตตานี นายหะยีสุหรง พร้อมลูกชายคนโต ได้หายสาบสูญ ในพื้นที่ระหว่างจังหวัดนครศรีธรรมราช กับ จังหวัดสงขลา จนกลายเป็นเงื่อนไข นำไปสู่การโฆษณาชวนเชื่อ ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจนถึงวันนี้
นี่เป็นเพียงเงื่อนไขเดียว ที่สามารถสร้างความขัดแย้ง ให้เกิดขึ้นในชาติ จนยากที่จะเยียวยา และนี่คือ ภาษา คือ ความมั่นคงของชาติ
* * * * * * * * * * * * * * * *
|