www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 85 คน
 สถิติเมื่อวาน 59 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
4194 คน
4194 คน
1749462 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

     
ผู้เขียนกับคนลาวขายหมาก
ร้านขายทองคำในตลาด
เงินกีบ
ร้านขายหมาก-ลาว
ทะเบียน จยย.ลาว
ตลาดสดขายผัก
ตลาดสดขายของแห้ง
ยาเส้น-พริกแห้ง
สะหวันนะเขต...ประเทศลาวตอนที่ 3
5 ธันวาคม 2552
 
หลังจากที่ผมได้พาท่านไปชมการทำเล็บแบบ Delivery ของสาวลาวเชื้อสายเวียดนาม ชนิดแบบให้บริการ ถึงบ้าน แล้วผมก็เดินสำรวจตลาดสิงคโปร์ ต่อ ตลาดแห่งได้ข่าวว่าคนสิงคโปร์มาลงทุน สร้างแล้วให้พ่อค้าแม่ค้ามาเช่าแผง ขายสินค้า และให้เป็นที่จอดรถที่มาจาก แขวง และหมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นศูนย์รวมของแหล่งการค้าขายที่ดีของชาวลาว การวางผังตลาด ก็มีการวางผังเป็นอย่างดี ถ้าเป็นสินค้าที่เป็นพวกเครื่องใช้ในบ้าน อาทิ พวกแป้ง สบู่ ยาสีฟัน ของ เบ็ดเตล็ด ก็จะวางขายในอาคาร  ชั้นนอก ส่วนชั้นในก็จะเป็นร้านขายทอง ร้ายขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายหนังสือ มีการวางเป็นล็อค ๆ แผงขายสินค้าเต็มเกือบหมด แสดงว่าสินค้าที่นี่ขายดี พ่อค้าจึงมีการเช่าแผง ขายสินค้าเกือบเต็ม ส่วนรอบนอกอาคาร ก็จะมีแม่ค้าพ่อค้าวางขายสินค้าหลายชนิด ทั้ง เนื้อสด ปลาสด ผักผลไม้ โดยพ่อค้าส่วนใหญ่จะใช้วิธีการร่ม ซึ่งค่าเช่าแผงจะถูกว่าในอาคาร ผมเดินลัดเลาะไปเรื่อย ๆ ผ่านแผงขายไก่ย่าง ข้าวเหนียวส้มตำ น่ากิน ครับ และผมก็มาหยุดเดินที่ร้านขายหมากพลู ซึ่งนับว่าเป็นสินค้าดั้งเดิมที่มีมาแต่โบราณ     
 
ที่นี่ผมยืนสนทนากับ ท้าวแสง ควมมะสาน อายุ 36 ปี พ่อค้าขายหมากพลู ที่ตลาดสะหวันไชย หรือตลาดสิงคโปร์ เล่าให้ฟังว่า ค่าเช่าแผงที่นี่ คิดค่าเช่าวันละ 11,000 กีบ หรือประมาณวันละ 40 กว่าบาท ที่ร้านจะขายเครื่องเคี้ยวหมาก ซึ่งประกอบด้วย สีเสียด ซึ่งมีลักษณะเป็นเปลือกไม้ มัดละ 2,500 กีบ หรือมัดละ 10 บาท “คนลาวกินเปลือกไม่ เมืองไทยมีบ่ ” ท้าวแสง ย้อนถามผม ซึ่งผมก็ตอบไปว่า “มีเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ชาวอีสานจะเป็นคนกินหมาก แต่ก็ลดน้อยลงมาก ครับ ”  และที่ร้านยังขาย หมาก 5 ลูก ราคา 1,000 กีบ ใบพลูมัดละ 4,000 กีบ ปูนขาว 500 กีบ และเปลือกเมือก ราคา มัดละ 500 กีบ 
 
ท้าวแสงอธิบาย คุณสมบัติของเปลือกเมือก ว่า   “อันนี่ มันสิเป็นโตเคลือบริมฝีปาก เวลาเคี้ยวหมากแล่ว น้ำหมากซิบ่ไหล ออกจากปาก มันสิเหนียว ๆ ”  หมายความว่า เวลาเราเคี้ยวหมาก น้ำหมากจะไหลเยิ้ม ออกจากริมฝีปาก เราจึงต้องเคี้ยวเปลือกเมือกด้วย เมือกจะมีคุณสมบัติเหนียว ๆ และจะกันไม่ให้ไหล แหม๋นี่เป็นภูมิปัญญาของคนลาวนะครับ
 
ผมเองก็มีความสนใจ เรื่องการเคี้ยวหมาก มากเหมือนกันนะครับ สมัยเป็นเด็กผมจะเห็นคนแก่ ชอบเคี้ยวหมาก บางทีไม่มีฟัน ก็จะมีตะบันหมาก เอาไว้สำหรับตำหมาก และที่สำคัญก็จะมีเซี่ยนหมาก เอาไว้สำหรับใส่อุปกรณ์เคี้ยวหมาก ปัจจุบันของโบราณแบบนี้ชักจะหายากแล้วนะครับ คนแก่ที่อยู่ในชนบทของไทยก็ไม่ค่อยจะเคี้ยวหมากแล้ว เพราะหาซื้อยาก 
ศาสตราจารย์ William Clarence Smith นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า การเคี้ยวหมากของมนุษย์ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประวัติความเป็นมายาวนาน โดยมีหลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่า อย่างน้อยที่สุด มนุษย์มีวัฒนธรรมการเคี้ยวหมากมากว่า 12,000 ปีแล้ว
 
สมัยรัชกาลที่ 5 เองนั้นก็ทรงเคี้ยวหมาก แต่เมื่อมีการเดินทางติดต่อกับประเทศทางตะวันตก พระองค์ได้พบว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการกินหมากทำให้ฟันดำ ซึ่งแตกต่างออกไปจากชาวตะวันตกที่ฟันขาว จึงได้ทรงเลิกเสีย
 
กระทั่งล่วงมาถึงสมัย จอมพลป.พิบูลสงครามเป็นผู้นำ ก็ได้ออกรัฐนิยมฉบับที่ 10 เรื่องเครื่องแต่งกายของประชาชนชาวไทยและการห้ามกินหมาก ซึ่งประกาศเมื่อปีพ.ศ.2484 เพื่อแสดงถึงความมี “อารยะ” ของชาวไทย (ที่มา: http://www.oknation.net/blog/print.php?id=129140)
 
หลักฐานทางโบราณคดีบริเวณถ้ำผีแมน อำเภอปางมะผ้า ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน พบร่องรอยการกินหมากพลูมามากกว่า 8000 ปี และหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ ๑  ของอาณาจักรสุโขทัย ทำให้เรารู้ว่าสมัยสุโขทัย  ชาวสุโขทัยกินหมากกันเป็นล่ำเป็นสันแล้ว  จึงกล่าวถึงการทำสวนหมากไว้  ความว่า “เบื้องตะวันโอกเมืองสุโขทัยนี้  มีพีหาร  มีปู่ครู มีทะเลหลวง  มีป่าหมาก ป่าพลู”... ........... “เมืองสุโขทัยนี้ดี จึ่งชม สร้างป่าหมาก ป่าพลู ทั่วเมืองนี้ทุกแห่ง ” แสดงว่ามีการปลูกหมากซึ่งในล้านนา ก็คงเป็นเช่นกัน
ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยาการปลูกหมากได้เพิ่มมากขึ้น เพราะประชาชนนิยมกินหมากพลูกันแพร่หลาย    ในสมัยพระนารายณ์มหาราชได้มีการส่งหมากไปขายยังต่างประเทศได้มากถึงปีละ 75,000 เหรียญ จนถึงสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งมีหลักฐานบันทึกว่าทางราชการได้เก็บภาษีอากรต้นหมากที่ปลูกด้วย  ซึ่งการเก็บภาษีอาการหมากนี้เอง ที่ทำให้เกิดความไม่พอใจและการล้อบทำร้าย ระหว่างชาวบ้านกับข้าราชการสยาม จนเป็นที่มาของกบฏหลายแห่งในภาคเหนือและอีสานในสมัยนั้น
             การมีฟันดำจากการกินหมากถือเป็นเรื่องปกติสำหรับคนล้านนาในอดีตและถือเป็นความงามของคนด้วย ความงามที่มีฟันสีดำนั้น ถึงขนาดมีคำกล่าวกันว่า “หมาน่ะซี ที่มีฟันสีขาว” และมีคำอธิษฐานขอต่อพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงว่า “ขอให้ฟันดำเหมือนลูกหว้า ขอให้ปัญญาเหมือนพระมโหสถ” การกินหมากจึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องความอยาก ความหิว ความอิ่มเพียงเท่านั้น หากยังเป็นความพึงพอใจ และเป็นความงามอย่างหนึ่งในทรรศนะของคนในยุคก่อน[1] ตามความเชื่อของคนอินเดีย พระพิฆเนศที่เป็นเทพเจ้าแห่งความรอบรู้จะแปลงร่างเป็นผลหมาก หมากจึงเป็นพืชผลของเทพเจ้า ดังนั้นในพิธีกรรมต่างๆของพราหมณ์จึงขาดหมากไม่ได้[2](ที่ : http://www.fm100cmu.com/blog/sai_tarn_silp/content.php?id=586)
นักโภชนาการปัจจุบันได้พบว่า ความนิยมในหมากเกิดจากการที่หมากมีสาร alkaloid ที่เวลากินเข้าไปแล้วคนกินจะรู้สึกสุข เพราะชีพจรจะเต้นเร็วและแรง ทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นด้วย สำหรับบางคน หมากเป็นยาระบาย ยาแก้ท้องอักเสบ และตามปกติคนที่กินหมากจะไม่รู้สึกหิว หมากจึงเป็นอาหารลดน้ำหนัก สำหรับในด้านลบก็มีผล เช่น คนกินหมากมากมักเป็นโรคเหงือกเพราะปากถูกปูน (calcium hydroxide) กัด (http://atcloud.com/stories/71710
 
เห็นไหมครับประวัติการกินหมากมีมาอย่ายาวนาน กว่าที่เราคิดนะครับ การกินหมากยังมีอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ที่ประเทศพม่าบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา ก็มีการกินหมากอย่างจริงจัง ถึงขนาดมีร้านขายหมากชนิดที่กินได้เลย ไม่เหมือนลาวนะครับ ที่ลาว ที่ผมไปดูมา เขาจะขายที่ตลาดสด คนกินหมากจะต้องซื้อไปประกอบกินเองที่บ้าน ไม่เหมือนพม่าที่มีร้านค้าที่ทำคำหมากเป็นคำ ๆ และก็ซื้อกินได้เลย และผมก็ได้ยินมาว่าที่ประเทศไต้หวันก็มีร้านขายหมาก ที่ตกแต่งร้านอย่างสวยงาม ขายแข่งกัน มีสาว ๆ เป็นคนขาย ขายหมากอย่างเดียวนะครับไม่ได้ขายอย่างอื่น 
 
* * * * * * * * * * * * * * * * *

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com