www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 85 คน
 สถิติเมื่อวาน 59 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
4194 คน
4194 คน
1749462 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

     

ผู้เขียนกับร้อยโทเนียม

ท้าวสูน นิลสว่าง

สื่อมวลชนสงขลา

เขื่อนน้ำเทิน2

สื่อกับเขื่อนน้ำเทิน2
 
ผู้เขียนกับนางจัน
 
สาวลาวดูทีวีผ่านดาวเทียม
 
สภาพบ้านเรือนใหม่

 

บ้านเรือน 

 
รถจักรยานยนต์จีน
ดูงานลาว...ความเป็นอยู่ของชาวลาว รอบเขื่อนน้ำเทิน 2
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
3 ธันวาคม 2552
 
ในระหว่างวันที่ 1-4 ธันวาคม 2552 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เชิญสื่อมวลชน จากจังหวัดสงขลา ไปดูการผลิตกระแสไฟฟ้า และการปรับปรุงคุณภาพชีวิตชาวลาวที่อยู่รอบเขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งการเดินทางไปครั้งนี้ผมคิดว่าเป็นประโยชน์ ต่อชาวไทยโดยส่วนรวม ครับ
 
เวลาประมาณ บ่ายโมงเศษ รถยนต์ทั้งรถตู้และรถโฟร์วิล ประมาณ 10 คัน  ได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปถึง หมู่บ้านนากาย แขวงคำม่วน ประเทศลาว อันเป็นชุมชนที่โครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 ได้อพยพราษฎร ออกจากพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน มาตั้งบ้านเรือนให้อยู่อาศัยในบริเวณริมเขื่อนนี้ 
 
ท้าวสูน นิลสว่าง รองผู้อำนวยการ โครงการจัดสรรเคลื่อนย้าย นากาย เล่าให้เราฟังว่า หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบมีจำนวน 16 หมู่บ้าน ซึ่งทางโครงการจะต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือ เพราะแต่เดิม ประชากรเหล่านี้เดิมมีอาชีพในการปลุกพืชไร่ โค่นป่าแล้วมีการอพยพไปหาพื้นที่อื่นทำไร่ ไปเรื่อย ๆ และมีสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ยากจน ห่างไกลความเจริญ การเดินทางของประชาชนส่วนใหญ่  จึงต้องใช้เวลานาน ทางโครงการจึงได้มีการอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม และได้มีการเปลี่ยนแนวความคิดแบบดั้งเดิม   จากการทำไร่ มาเป็นการทำการประมง และการกสิกรรม ทางโครงการได้เชิญอาจารย์ มาสอนการทำปลาแดก (ปลาร้า) สอนการเลี้ยงปลา สอนการทอนเงิน เพราะประชากรส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในวิธีการค้าขาย ทางโครงการ ได้จัดให้มีการรวมตัวเป็นสมาคม เพื่อให้เป็นการรวมตัวในการขายปลาที่จับได้ในเขื่อนน้ำเทิน 2  ทั้งนี้เนื่องจากมีพ่อค้าแม่ค้าจากต่างถิ่นเป็นจำนวนมากเข้ามาซื้อปลา เพื่อเอาไปขาย นอกจากนี้ ทางโครงการยังให้การส่งเสริมให้ชาวบ้านรู้จักการทำน้ำก้อน (น้ำแข็ง) เพื่อเก็บรักษาปลาไม่ให้เน่าเสีย ทางการยังได้จัดหาเครื่องมือหาปลาให้กับชาวบ้าน เช่น มอง เป็นต้น ที่สำคัญ ทางการได้มีการสอนให้ชาวบ้านได้รู้จักหาเงิน เพื่อจะได้เอาไปซื้ออาหาร อย่างอื่นที่ไม่มีขายในหมู่บ้าน   
 
ด้านการกสิกรรมเดิมมีการปลูกข้าว โดยการเผาป่าแล้วจึงมีการปลูกข้าว ทำให้เสียพื้นที่ และก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย   และไม่ค่อยได้ผลเท่าไรนัก เพราะดินส้ม (เปรี้ยว) 
 
ตอนนี้ทางการได้ติดตั้งระบบไฟฟ้าครบทุกหลังคาเรือน และทุกบ้านก็มีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ดูได้ทุกหลังคาเรือน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหา คือ ยังไม่มีธนาคาร ที่จะเป็นสถานที่เก็บรักษาเงินของบ้าน ซึ่งในอนาคต คิดว่าจะสามารถดำเนินการได้
 
หลังจากที่ผมได้ฟังบรรยายสรุปจากโครงการแล้ว เพื่อให้รู้ข้อเท็จจริงผมจึงตระเวนไปตามบ้านที่ปลูกเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ พลันผมเหลือบเห็นคนชรา สูงอายุ คนหนึ่งนั่งอยู่บนบ้านดูท่าทางเป็นมิตร และโปรยยิ้มให้ผม เพื่อให้ได้ข้อมูลผมจึงเดินขึ้นบนบ้านเพื่อพูดคุยด้วย โดยผมเริ่มแนะนำตัวเอง จากนั้นผมจึงถามชื่อเสียงเรียงนามของผู้สูงอายุท่านนี้ จึงทราบว่าเป็นทหารยศร้อยโท ชื่อเนียม นามสกุล จันไสยกุมาร อายุ 79 ปี
 
และร้อยโทเนียม จันไสยกุมาร ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เล่าให้ฟังว่า บ้านเดิม อยู่ติดชายแดนเวียดนาม และมีอาชีพเป็นทหาร ยศร้อยโท ได้อพยพมาอยู่บริเวณนี้ เมื่อปี ค.ศ. 1969  ( พ.ศ.2512) เมื่อก่อนอยู่อย่างทุกข์ยาก พืชไร่ถูกน้ำท่วมทุกปี ตอนนี้ ได้รับความช่วยเหลือจากทางการทำให้มีน้ำไหลไฟสว่าง การอยู่การกินไม่ขาด ลูกหลานอิ่มหนำสำราญ แต่ก็ต้องเปลี่ยนนิสัยของลูกหลาน เพราะแต่ก่อน ไม่เคยทำประมง และไม่เคยค้าขาย ตอนนี้ต้องออกเรือหาปลา 
 
“มีคนมาอธิบายว่า ข้างเทิง เผิ่น บ่ ฆ่าประซาซน อยากให้อยู่ดีกินดี แต่กะมีบ้าง ที่มีการคัดค้าน แต่ตอนนี้ บ่ ค้านแล้ว ตอนนี้สะดวก ไปทางน้ำกะได่ ไปทางเรือกะได่ บ่ต้องเก็บเห็ดกินคือแต่ก่อน   ”  ร้อยโทเนียม เล่าเป็นภาษาลาว ถึงความดีงามของโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 ที่ให้ความสุขกับตนและลูกหลาน ไม่ต้องอดอยาก และที่สำคัญ รัฐบาลไม่ฆ่าประชาชน แต่ต้องการให้ประชาชนอยู่ดีกินดี 
 
จากการสังเกตของผม ที่บ้านของ ร้อยโทเนียม ผมเห็น หลานสาวของแก กำลังนั่งชมโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่ให้ความคมชัด อย่างตั้งอกตั้งใจ ผมจึงเหลือบมอง ที่จอโทรทัศน์ ปรากฏว่าหลานสาวกำลังดูละคร ทางโทรทัศน์ช่อง 7 ของไทย และแน่นอนเธอต้องเข้าใจในภาษาไทย เพราะภาษาไทยกับภาษาลาวไม่ได้แตกต่างอะไรมากนัก และไม่เป็นเรื่องแปลกที่คนลาวจะดูโทรทัศน์ไทย ด้วยความสนใจผมจึง หันไปบอกหลานสาว ร้อยโทเนียมว่า ขอให้เปิดโทรทัศน์ลาวให้ดูหน่อย ซึ่งเธอก็ทำตาม ปรากฏว่าก็สามารถดูโทรทัศน์ลาวได้ และนั่นจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่วัฒนธรรม จากภายนอกจะหลั่งไหลเข้าสู่ชาวลาวอย่างมิอาจจะต้านทานได้ ซึ่งรัฐบาลก็เตรียมรับมือ กับการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด 
 
ถัดมาที่บริเวณท้ายหมู่บ้าน ผมได้มีโอกาส พูดคุยกับ นางจัน อายุ 26 ปี กำลังกะเตงลูกชาย ที่เอว 1 คน ส่วนลูกสาว กำลังหลบผม อยู่ข้างหลังแม่ด้วยความเขินอาย เธอเล่าให้ฟังเป็นภาษาลาวอย่างกระท่อนกระแท่นว่า “ทีดินบ้างข้าง ๆ เขาแบ่งปันให้ปลูกบ้าน บ่ ต้องเสียอีหยัง ส่วนโตบ้านสร้างเอง ตอนนี้ กะขายของอยู่กับบ้าน ที่เห็นนี่แหล่ะ ” ผมดูรอบ ๆ บ้าน ของเธอ ได้นำขนมพวกขบเคี้ยวที่เป็นห่อ ๆ ส่วนใหญ่ถูกส่งไปจากเมืองไทย ห้อยรอบบ้าน ผมตั้งชื่อว่าร้าน เซเว่นส์ สะดวกซื้อ ใครมีเงินก็มาซื้อ ก็สะดวกดีครับ
 
ถัดมาอีกหลังหนึ่ง หนุ่ม ๆ นักซิ่งประจำหมู่บ้านกำลังสารวนกับการซ่อมรถ ซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ Jinlong ที่นำเข้าจากเมืองจีน ผมถามว่า  “ที่หมู่บ้าน มีเด็กซิ่ง เด็กแว้น บ้างไหม” ผมได้รับคำตอบว่า “โอ้ย บ่มีดอก รถซิขี่กะยังบ่มี ซิเอาอันได๋มาซิ่ง” ผมก็ได้แต่คิด เออ...ก็จริงของเขานะครับ 
 
ความจริงผมเองก็มีความเป็นห่วงในหลายเรื่อง เพราะว่า เมื่อชาวบ้านที่อยู่ในป่าในดอย ไม่รู้จักแม้นกระทั่งการทอนเงิน ไม่รู้จักธนาคาร เมื่อความเจริญหลั่งไหลดุจกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก อะไรจะเกิดขึ้น ในเรื่องนี้ผมจึงนำคำถามที่คาใจผมอยู่ ไปถามชาวลาวที่ชื่อ ท้าวอำพัน ไซยะสอน พนักงานขับรถ ที่พาคณะของผมไปดูงาน
 
ผมถาม ท้าวอำพัน ว่า เมื่อก่อน เราไปบ้านคนอื่น เขาจะเอาน้ำมาให้ดื่มฟรี หรือบางครั้งเมื่อได้อาหารมาก็จะมีการแบ่งปันไปให้ครอบครัวอื่น แต่ต่อไปนี้ทุกอย่างต้องใช้เงินหมด แล้วประชาชนลาว จะอยู่ได้หรือ 
 
ท้าวอำพัน บอกว่า “ต่อไปคนลาวสิหลายขึ้น กระแสโลกมาแฮงขึ้น ความเป็นอยู่ของลาวอยู่กะอยู่อย่างลำบากยากจน การเดินทางข้ามหมู่บ้านหากยังใซ่วิธีการย่าง ( เดินเท้า ) โรงพยาบาลก็อยู่ห่างไกล   บ้านก็อยู่หลังเล็ก เป็นตูบ เป็นกระต๊อบ อยู่อย่างอด ๆ อยาก ๆ แต่เมื่อความเจริญมา คนลาวซิอยู่จังใด๋ สิ่งงาม ๆ กะอาจซิหายไป เซ่น การ ให้ กินน้ำฟรี การแบ่งปันอาหาร กะอาจซิหมดไป แต่อย่างใด กะตาม ควมเจริญมาก็ต้องอยู่ควบคู่กันไป ในวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่ต้องมีอยู่ ”  
 
ต้องบอกว่า ผมชอบคำอธิบาย ของท้าวอำพัน มาก คือ การอยู่ร่วมกันของอดีต และอนาคต ที่จะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคนลาวต้องปรับตัวให้ได้ ก่อนที่จะเคลื่อนรถออกไปท้าวอำพัน นิ่งอึ้งอยู่พักหนึ่งพร้อมกับถอนหายใจเฮือกใหญ่ และบอกว่า “ เมื่อมีการพัฒนา ได้ดี ทำให้มีการละทิ้งสิ่งเก่า ๆ แต่มันต้องไปด้วยกันได้” และท้าวอำพันจึงพารถตู้คู่ใจ เคลื่อนตัวมาส่งพวกเราที่ท่าเรือข้ามฝากที่ท่าแขกโดยสวัสดิภาพ ก่อนที่ด่านจะปิดในเวลา 18.00 น.ซึ่งพวกเรามาถึงก่อนประมาณ 10 นาที  ก่อนที่ด่านจะปิด แหม..เกือบได้นอนที่เมืองลาวซะแล้ว 
 
* * * * * * * * * * * * * * * * *

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com