พม่าตกอยู่ท่ามกลางความยุ่งเหยิงนับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางอองซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์2564 โหมกระพือการลุกฮือต่อต้านของประชาชน และกระตุ้นให้คณะรัฐประหารหาทางสยบด้วยการปราบปรามนองเลือด
ข้อมูลของกลุ่มเฝ้าระวังท้องถิ่น มีประชาชนแล้วมากกว่า 550 คน ที่เสียชีวิตในเหตุความไม่สงบต่อต้านรัฐประหาร เหตุนองเลือดที่ก่อความขุ่นเคืองแก่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และนักรบของพวกเขามากกว่า 20 กลุ่ม โดยกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ควบคุมดินแดนอันกว้างขวาง ส่วนใหญ่แล้วอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ที่อยู่ตามแนวชายแดน
เมื่อวันเสาร์ ที่3 เม.ย.64 กลุ่มกบฏเหล่านี้ 10 กลุ่ม ได้เปิดประชุมทางไกลเพื่อหารือสถานการณ์ พร้อมกับประณามคณะรัฐประหารที่ใช้กระสุนจริงกับพวกผู้ประท้วง พวกผู้นำของสภาทหารต้องรับผิดชอบ นายพลยอดศึก ผู้นำกลุ่มกบฏ สภาเพื่อการฟื้นฟูแห่งรัฐชาน กล่าว
สัปดาห์ที่แล้ว คณะรัฐประหารประกาศหยุดยิงเป็นเวลา 1 เดือน กับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธต่างๆ แต่มีข้อแม้ห้ามกระทบความมั่นคง คำแถลงหยุดโจมตีครั้งนี้จะไม่มีผลกับการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและขัดขวางการบริหารของรัฐบาล
คำประกาศไม่พาดพิงถึงการหยุดใช้กำลังถึงตายกับพวกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร แต่นายพลยอดศึกบอกว่า การหยุดยิงบังคับกองกำลังความมั่นคงระงับพฤติกรมรุนแรงในทุกรูปแบบ ในนั้นรวมถึงกับพวกผู้ประท้วง
กลุ่มกบฏ 10 กลุ่มที่พบปะกันทางออนไลน์ครั้งนี้ คือ ผู้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศที่มีรัฐบาลของนางออซาน ซูจี เป็นคนเจรจา ซึ่งพยายามต่อรองยุติการสู้รบติดอาวุธเรียกร้องอำนาจปกครองตนเองมากขึ้นของพวกนักรบชาติพันธุ์ทั้งหลาย ซึ่งยืดเยื้อมานานหลายทศวรรษ
แต่จากสถานการณ์ความยุ่งเหยิงซึ่งส่งผลกระทบกับพวกชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ของพม่า ทางนายพลยอดศึก เผยว่า ผู้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ 10 กลุ่ม จะทบทวนข้อตกลงดังกล่าวในที่ประชุม
ผมอยากเน้นว่ากลุ่มชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ยืนหยัดอย่างมั่นคงเคียงข้างประชาชน ผู้ที่เรียกร้องยุติเผด็จการ เขากล่าว
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นหลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทูตพิเศษของสหประชาชาติประจำพม่า เตือนคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เกี่ยวกับความเสี่ยงของสงครามกลางเมืองและใกล้เกิดการนองเลือด
การประชุมของกลุ่มกบฏยังมีขึ้น 1 สัปดาห์หลังจากหนึ่งในพวกเขา กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KAREN NATIONAL UNION : KNU) บุกยึดฐานทหารแห่งหนึ่งในรัฐกะเหรี่ยง ทางภาคตะวันออกของประเทศ สังหารทหารไป 10 นาย กระตุ้นให้กองทัพแก้แค้นด้วยปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ
KNU ส่งเสียงต่อต้านคณะรัฐประหาร และบอกว่า ได้มอบที่หลบภัยแก่บรรดานักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารหลายร้อยคน
เมื่อวันเสาร์ที่3 เม.ย.64 ทางกลุ่มประณามการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของทหาร ที่ทิ้งระเบิดและโจมตีทางอากาศไม่หยุด ตั้งแต่วันที่ 27-30 มีนาคม 2564ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในนั้นรวมถึงเด็ก ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศยังทำให้ชาวบ้านอีกมากกว่า 12,000 คน ต้องไร้ถิ่นฐาน
โฆษกคณะรัฐประหารบอกว่ากองทัพเล็งเป้าเล่นงานแค่เฉพาะกองพลที่ 5 ของ KNU ซึ่งเป็นผู้นำปฏิบัติการยึดฐานทัพ เราโจมตีทางอากาศแค่ในวันนั้น เขาบอกกับเอเอฟพี เราลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ ถ้าพวกเขาปฏิบัติตามข้อตกลง ไม่มีเหตุผลที่ความขัดแย้งจะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนท้องถิ่นของชนกะเหรี่ยงและกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ รายงานว่า ได้มีเหตุทิ้งระเบิดและโจมตีทางอากาศทั่วรัฐในช่วงหลายวันที่ผ่านมา
Referenc
เอเอฟพี