www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 1 คน
 สถิติเมื่อวาน 45 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2527 คน
52314 คน
1744758 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13


 
           
ชีวิตนักข่าว...ทางรถไฟสายมรณะ 
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
21 สิงหาคม 2553
 
นับว่าเป็นความโชคดีของผม ที่ได้มาใช้ชีวิตช่วงหนึ่งที่เมืองกาญจนบุรี ได้เห็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ของสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มีหลักฐานและซากของสงครามมากที่สุดในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นตัวสะพานข้ามแม่น้ำแคว ที่ยังสามารถใช้การได้ แม้นว่า เวลาจะล่วงเลยมาหลายปี นอกจากนี้ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างเห็นคุณค่าของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ของสงคราม ถึงขั้นมีการสร้างพิพิธภัณฑ์สงคราม หลายแห่ง แต่ก็มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่หลายท่านคงรู้จักกันดีคือ เส้นทางรถไฟสายมรณะ ที่ญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึก ชาวออสเตรเลีย ฮอลันดา จีน มลายู อินเดีย รวมทั้งคนไทย ให้มาสร้างทางรถไฟสายนี้ จนมีการพูดถึงว่า ชีวิตคนที่ตายเท่ากับไม้หมอนที่รองรับรางรถไฟ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า คนต้องมาตายหลายหมื่นคน เพื่อมาสร้างทางรถไฟสายนี้ 
ทางรถไฟสายมรณะ ลงมือก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2485 โดยหน่วยทหารญี่ปุ่นชื่อ หน่วยทหารซากาโมโต เริ่มต้นหลักกิโลเมตรที่ 0 ณ สถานีรถไฟหนองปลาดุก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มุ่งหน้าขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือผ่าน บ้านลูกแก  บ้านท่าเรือ บ้านท่าม่วง ถึงสถานีบ้านปากแพรก อ.เมืองกาญจนบุรี ซึ่งมีความยาวประมาณ 56 กิโลเมตร  โดยญี่ปุ่นกำหนดให้สร้างเสร็จภายใน 3 เดือน และตามข้อตกลงในการให้ความร่วมมือ ฝ่ายไทยจะเป็นผู้ดำเนินการทำงานดิน พร้อมช่วยจัดหาไม้หมอนรถไฟ เรือ เครื่องมือ เครื่องใช้ เสาไฟฟ้า ปูน ทราย หิน ในการสร้างทางรถไฟ รวมทั้งจัดเกณฑ์แรงงานรับจ้างมาทำงานคิดค่าจ้างวันละ 80 สตางค์ แต่อยู่ในความควบคุมของกองทัพญี่ปุ่น
แต่เมื่อสร้างมาถึงกาญจนบุรี ในช่วงที่จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว ตำบลท่ามะขาม เหนือตัวเมืองกาญจนบุรีประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นช่วงที่ต้องสร้างสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้าง และน้ำไหลเชี่ยวกราก การสร้างสะพานจึงไม่ใช่ของง่าย ญี่ปุ่นจึงให้เชลยศึกลงมือก่อสร้างสะพานไม้ชั่วคราว ข้ามแม่น้ำแควโดยอยู่จากห่างสะพานในปัจจุบันประมาณ 100 เมตร ซึ่งสะพานไม้แห่งนี้ตั้งอยู่ใต้อาคารพิพิธภัณฑ์สงคราม ซึ่งยังพอเห็นซากของสะพานนี้อยู่ สะพานไม้ชั่วคราวสร้างราวปลายเดือนพฤศจิกายน 2485 แล้วเสร็จในต้นเดือน กุมภาพันธ์ 2486 ซึ่งเป็นช่วงน้ำลดจึงใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 เดือน ต่อจากนั้น ญี่ปุ่น จึงได้สร้างสะพานเหล็กขึ้นมาทางด้านขวาของสะพานไม้ 
สำหรับราวเหล็กที่ใช้ก่อสร้างสะพานนั้น นำมาจาก ชวา (อินโดนีเซีย) ในรูปของ สะพานเหล็กสำเร็จรูปเป็นสะพานเหล็กโค้ง 11 ช่วง และใช้สร้างช่วงกลางของสะพาน โดยลงมือก่อสร้างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2486  แล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2486 ใช้เวลาก่อสร้างสะพานในช่วงนี้ประมาณ 7 เดือน จึงสามารถสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควได้สำเร็จ 
จากนั้นจึงมีการสร้างทางรถไฟต่อไปอีก คราวนี้เส้นทางรถไฟตัดเลียบลำน้ำแควน้อยย้อนทวนกระแสน้ำข้ามหุบเหว ผ่านหน้าผาสูงชันเข้าสู่ป่าทึบ ผ่านเขตแดนไทย ไปพม่าที่ด่านเจดีย์สามองค์ โดยบรรจบกับทางรถไฟของพม่า ที่เมืองบันทิวซายัต ซึ่งเมืองนี้ตั้งอยู่ระหว่างเมืองมะละแหม่ง กับ เมือง เย ซึ่งทางรถไฟช่วงนี้ ญี่ปุ่นเป็นผู้สร้างไว้ เพื่อเชื่อมกับทางรถไฟ ที่ไปจากเมืองไทย โดยญี่ปุ่นมีเป้าหมายว่า จะใช้เส้นทางนี้ลำเลียงทหารไปยึดพม่าและอินเดีย การ่ก่อสร้างทางรถไฟช่วงนี้ หากลงมือก่อสร้างในช่วงเวลาปกติจะใช้เวลาประมาณ 5-6 ปี แต่กองบัญชาการสูงสุดกองทัพญี่ปุ่นได้ออกคำสั่งให้สร้างแบบเร่งด่วนและกำชับให้เสร็จโดยเร็วที่สุด ดังนั้นการก่อสร้างจึงต้องสร้างลัดเลาะไปตามไหล่เขาเพื่อหลีกเลี่ยงการเจาะอุโมงค์ แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเจาะภูเขา ที่บ้านเขาปูน อำเภอเมือง และที่ช่องเขาขาดอำเภอไทรโยก โดยใช้ดินระเบิดเปิดทางจากนั้นจึงให้เชลยศึกใช้เหล็กสกัดภูเขาหินให้เป็นช่องทาง โดยใช้แรงงานคน และบนเส้นทางรถไฟสายนี้มีการสร้างสะพานข้ามลำห้วยและลำธาร ถึง 395 สะพาน
เส้นทางรถไฟสายมรณะ แห่งนี้ ก่อนเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ไม่กี่ปี ประเทศอังกฤษ เคยส่งวิศวกรรถไฟมาสำรวจพื้นที่เพื่อที่จะสร้างทางรถไฟจาก กรุงเทพ กับ มะละแหม่ง แต่จำเป็นต้องล้มเลิกโครงการที่จะสร้างเพราะยากเกินไปและภูมิประเทศที่จะสร้างเส้นทางดังกล่าวล้วนเป็นป่ารกชัฏ เต็มไปด้วยสัตว์ป่าที่ดุร้ายและงูพิษนานาชนิด แถมยังมีไข้ป่ามาลาเลีย โรคบิด ชุกชุม และก่อนเกิดสงครามญี่ปุ่นได้ส่งสายลับมาอยู่ที่ กาญจนบุรี โดยเปิดร้านขายผ้า บังหน้า และมีคนไทยเป็นลูกน้อง สายลับญี่ปุ่นเหล่านี้ต่างทำทีว่าเป็นนักผจญภัยหรือเป็นนักท่องเที่ยว แต่ความจริงคือ มาสำรวจเส้นทาง เพื่อทำทางรถไฟไปประเทศพม่า พอญี่ปุ่นบุกกาญจนบุรี คนญี่ปุ่นที่ทำทีว่ามาค้าขาย ล้วนแต่งเครื่องแบบเป็นทหารทุกคน 
ที่นี้เรามาดูว่า ทหารญี่ปุ่นที่มาควบคุมงานก่อสร้างทางรถไฟมีใครบ้าง คนแรก คือ พลตรีคามาตะ เซนอิชิ จบวิศวกรโยธาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว และเคยศึกษาในสหรัฐอเมริกา โดยประจำอยู่ในกรมการทหารช่างสหรัฐ คนที่สอง คือ พันเอกอิมาอิ อิมาเนะ จบปริญญาเอกวิศวกรรมศาสตร์ด้านการสร้างสะพานรถไฟ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว โดยมี พลตรีชิโมดะ โนบุโอะ ผู้บัญชาการกองเสนาธิการทหารรถไฟหน่วยที่ 2  เป็นผู้ควบคุมทั้งกองพลทหารรถไฟที่ 5 และกองพลทหารรถไฟที่ 9 ในการก่อสร้างญี่ปุ่นต้องสูญเสีย พลตรีชิโมตะ โนบุโอะ เครื่องบินตกเสียชีวิต ขณะบินสำรวจเส้นทางการก่อสร้างทางรถไฟ และหายสาบสูญจนถึงปัจจุบันศพของเขายังหาไม่พบ  
การสร้างรถไฟสายมรณะแห่งนี้ มีเป้าหมายให้สร้างให้เสร็จโดยเร็วภายใน 1 ปี 4 เดือน แต่เมื่อถูกกองบัญชาการสูงสุดเหล่าทัพญี่ปุ่นเร่งรัดให้สร้าง โดยให้ลดเวลาการสร้างให้เหลือเพียง 4 เดือน และลดปริมาณการขนส่งจากเดิมที่คาดว่าจะขนได้ 3,000 ตัน ให้เหลือวันละ 1,000 ตัน การลดเวลาการสร้างทางรถไฟทำให้เชลยศึกล้มตายเป็นจำนวนมากเนื่องจากไม่มีเวลาพักผ่อนเพราะต้องทำงานตลอด 12 ชั่วโมง แต่การสร้างทางรถไฟสายนี้ สร้างเสร็จเพียง 1 ปี เศษ
เส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ไทย-พม่า ได้วางรางบรรจบกันที่ แก่งคอยท่า หรือ คอนคอยตา ฝั่งไทย เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2486 และทำพิธีเปิดโดยการจัดงานเฉลิมฉลอง ในวันที่ 25 ตุลาคม 2486 โดยญี่ปุ่นได้จัดให้มีการขอบคุณพระเจ้า ณ ที่ฝังศพผู้เสียชีวิตในการสร้างทางรถไฟสายนี้ โดยมี พลตรีอิมาอิ อามาเนะ ผู้บัญชาการกองพลทหารรถไฟที่ 9 กับ พันเอกซาซากิ มันโนซิเกะ ผู้บัญชาการกองพลทหารรถไฟที่ 5 ร่วมเป็นประธานในพิธี
นี่เป็นข้อมูลบางส่วนนะครับ ยังมีอีกมากที่เกี่ยวข้องกับสะพานข้ามแม่น้ำแคว  
 
9999999999999999999999
 

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com