www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 60 คน
 สถิติเมื่อวาน 59 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
4169 คน
4169 คน
1749437 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

   

วัดชลธาราสิงเห
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ ผู้สื่อข่าว 8 ว.สขร.สปข.6
28 เมษายน 2548


วัดชลธาราสิงเหเป็นวัดขนาดใหญ่ในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เชื่อกันว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นคู่กับชุมชนชาวพุทธในตากใบ เดิมชื่อว่า "วัดท่าพรุ" บางคนเรียกว่า "วัดเจ๊ะเห" ใน พ.ศ. 2403 พระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ ต่อมาในสมัยที่มหาอำนาจจากดินแดนยุโรปตะวันตกเข้ามาครอบครองดินแดนต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัดชลธาราสิงเหได้มีบทบาทเป็นหลักแสดงอาณาเขตของแผ่นดินสยามในปี 2452 จนได้ชื่อว่า "วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย"

วัดชลธาราสิงเหนอกจากเป็นวัดที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองแล้ว วัดแห่งนี้ยังเป็นวัดที่มีศาสนสถานที่เก่าแก่มีศิลปะสวยงามหลายหลัง เช่น อุโบสถ กุฏิ และศาลาราย เป็นต้น

อุโบสถของวัดชลธาราสิงเหสร้างใน พ.ศ. 2416 ภาพเขียนฝาผนังภายในโบสถ์เป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ จุดเด่นของอุโบสถแห่งนี้คือภาพวาดบริเวณเชิงชายหลังคาโดยรอบ ซึ่งทำเป็นช่องขนาดเล็ก มีภาพวาดภายในช่องและกรุกระจกใส ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นภาพบรรยายถึงเรื่องอะไร ท่านเจ้าอาวาสสันนิษฐานว่าอาจเป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดก บางคนสันนิษฐานว่าอาจเป็นภาพวิถีชีวิตชาวพื้นเมือง

ในสมัยหนึ่งมีพระผู้ใหญ่มาจากกรุงเทพฯ เห็นว่าภาพวาดรอบนอกอุโบสถนั้นเป็นภาพที่ไม่เหมาะสมในทางศาสนา เนื่องจากมีภาพวาดหญิง-ชายคู่กันหลายภาพ และอยู่ในระดับสูงกว่าองค์พระประธานภายในอุโบสถ พระผู้ใหญ่จึงให้ทาสีทับปิดกระจกเพื่อไม่ให้เห็นภาพเหล่านี้ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นติดกระจกสีแทน แต่เมื่อท่านพระครูประจันตนเขตคณานุรักษ์เจ้าอาวาสคนปัจจุบันได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านเห็นว่าอุโบสถต่างๆ ในกรุงเทพฯ ยังมีรูปหญิงชายมากมาย ทั้งรูปที่เชิงชายรอบอุโบสถยังเป็นศิลปะที่สวยงามและไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน จึงให้ถอดกระจกสีออกและกรุกระจกใสแทน

ท่านเจ้าอาวาสได้ชี้ให้ดูว่ารูปรอบโบสถ์รูปหนึ่งเป็นรูปชาวมุสลิม 2คน คนหนึ่งถือร่มซึ่งเป็นตัวแทนของพระคัมภีร์ อีกคนถือดาบ ศิลปะลวดลายในโบสถ์อาจเป็นฝีมือช่างจากทางเหนือ (สุโขทัย) มาเขียนให้ ส่วนพระประธานในอุโบสถมีรูปแบบคล้ายกับพระมอญ

กุฏิเจ้าอาวาส เป็นอาคารขนาดใหญ่รูปทรงสี่เหลี่ยม สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยช่างพื้นบ้านที่อำเภอตากใบ คืออาจารย์จุ้ย ทิศใบ (ในสมัยนั้นบวชเป็นพระอยู่ที่วัด) และช่างอีกคนมาจากสงขลา ช่างตากใบเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับช่างปะนาเระ (อำเภอปะนาเระ) เพราะมีการเดินทางไปมาหาสู่กัน จึงอาจมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน ท่านเจ้าอาวาสเห็นว่ารูปแบบภายนอกของกุฏิคล้ายกับวังยะหริ่ง หน้าต่างเลียนแบบจากอุโบสถแต่ย่อขนาดเล็กลง ลวดลายภายในเป็นรูปสัตว์ต่างๆ มีรูปค้างคาว ซึ่งเชื่อว่าเป็นสัตว์นำโชคของคนจีน

เนื่องจากท่านเจ้าอาวาสเป็นชาวตากใบแต่กำเนิด และใช้ภาษาตากใบในชีวิตประจำวัน จึงเล่าให้ฟังถึงภาษาตากใบว่า ภาษาตากใบเป็นภาษาที่ใช้กันในท้องถิ่น ปัจจุบันคำศัพท์หลายคำที่พูดกันเฉพาะในกลุ่มภาษาตากใบกำลังค่อยๆ หายไป เช่น คำว่ากลด แปลว่าร่ม, หนับเพลา แปลว่ากางเกง, ยาม แปลว่านาฬิกา, ผ้าปิ่นป้อ แปลว่าผ้าเช็ดหน้า คำนี้น่าจะมาจากภาษาจีน (จีนฮกเกี้ยน เรียกว่าบิ่นโป่ แปลว่าผ้าเช็ดหน้า-ผู้เขียน) คำศัพท์ที่ผสมผสานกับภาษามลายู เช่น บือเกา มาจากภาษามลายูว่าบากา แปลว่ายาเส้น, คำว่ายามู แปลว่าชมพู่, ชันชี แปลว่าสัญญา คำศัพท์เหล่านี้เป็นคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันของชาวตากใบในอดีต

ภาษาตากใบหรือภาษาเจ๊ะเห เป็นภาษาไทยพื้นถิ่นที่ผู้คนในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอสายบุรี และอำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ใช้กันในชีวิตประจำวัน สำเนียงภาษาตากใบมีความแตกต่างจากภาษาถิ่นใต้ รวมทั้งคำศัพท์บางคำดังเช่นคำว่ากลด หนับเพลา ไม่ได้เป็นคำที่ใช้กันทั่วไปในกลุ่มคนใต้ หากแต่เป็นคำยืมมาจากคำราชาศัพท์ ซึ่งต้นกำเนิดภาษาน่าจะมาจากกลุ่มชนในพื้นที่ภาคกลาง

ทั้งศิลปะ สถาปัตยกรรมภายในวัด และภาษาตากใบยังคงมีเรื่องราวและความละเอียดลึกซึ้งกว่าที่กล่าวมา แต่เรื่องราวที่เขียนข้างต้นเพียงเพื่อแสดงให้เห็นว่า ศิลปะ โบราณวัตถุสถาน และภาษาไม่ได้เป็นเพียงหลักฐานให้เห็นถึงความเป็นมาอันยาวนานของชุมชนชาวตากใบ หากแต่ยังแสดงให้เห็นถึงการยอมรับวัฒนธรรม การผสมผสานและปรับตัวในการอยู่ร่วมกันของคนต่างชาติพันธุ์ คือชาวมลายู ชาวจีน และชาวไทยพุทธมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ดังที่ท่านเจ้าอาวาสได้บอกเล่าส่งท้ายว่า "แต่เดิมคนที่นี่อยู่ด้วยกันมาด้วยความสงบสุข ตอนนี้เกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น ที่ดูเหมือนจะพยายามให้เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา เราอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน จากทุกข้อคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอาน จะเอ่ยถึงนามของพระอัลลอฮฺประกอบด้วยความกรุณายิ่ง ความเมตตายิ่ง ชาวมุสลิมละหมาดวันละ 5 ครั้ง อย่างนี้แล้วชาวมุสลิมจะไปฆ่าใครได้ลง คนที่ทำเป็นใครไม่รู้ แต่คือคนที่ไม่รู้จักศาสนา ไม่รู้จักคำสอนอย่างแท้จริง"

/////////////////////////////


คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com