www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 7 คน
 สถิติเมื่อวาน 28 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
3385 คน
49199 คน
1741643 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

 

4 ปี กรือเซะ
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
นักประชาสัมพันธ์ 8

29 เม.ย. 2551


บทนำ
ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ วันที่ 4 มกราคม 2547 หลังจากที่โจรก่อการร้ายกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปปล้นปืนในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์หรือ ค่ายปิเหล็ง หรือ กองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรง ที่โจรก่อการร้ายต้องการให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ในการปล้นปืนครั้งนั้น คนร้ายได้ปืนไปจำนวน 415 กระบอก การปล้นปืน ผู้ก่อการมิได้ประกาศถึงความต้องการ และมิได้ทิ้งร่อยรอย ให้เป็นหลักฐาน เหมือนทุกครั้งที่มีการปล้นปืน แต่ครั้งนี้มีการกระทำที่มีการวางแผนเป็นขบวนการ นับตั้งแต่วางแผนก่อการในวันหยุด ที่อยู่ในช่วงของวันปีใหม่ มีทหารประจำการในค่ายน้อย กอร์ปกับในช่วงนั้นทหารส่วนหนึ่งเดินทางไปจังหวัดพัทลุง เพื่อแสดงความอาลัยทหารไทยที่เสียชีวิตจากประเทศอิรัก การเลือกค่ายทหารที่เป็นหน่วยพัฒนา ที่มิใช่หน่วยรบ การลอบเข้าโจมตีทางด้านหลังค่าย การตัดต้นไม้เพื่อสกัดการเดินทางมาช่วยจากทหารหน่วยอื่น ทั้งหมดล้วนแต่มีการวางแผนแทบทั้งสิ้น โจรก่อการร้าย ยังมีการวางแผนโฆษณาชวนเชื่อว่า การปล้นปืนเป็นฝีมือของทหารที่ต้องการนำปืนไปขายให้กับขบวนการอาเจ๊ะ เพื่อใช้แบ่งแยกดินแดน จนกระทั่งมีนายทหารระดับนายพล เดินทางไปตามปืนถึงเมืองอาเจ๊ะ ที่ตั้งทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แต่ในที่สุดปืนที่ถูกปล้นไป กลับอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า อาวุธที่ใช้ก่อเหตุร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนแต่เป็นของทางราชการที่ถูกปล้นไปแทบทั้งสิ้น ส่วนอาวุธที่เหลือนำมาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยผ่านพ่อค้าอาวุธสงคราม

เงินที่นำมาซื้ออาวุธ มีทั้งเงินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติด ดังที่เป็นข่าวว่า มีนายทหารยศพันเอก พร้อมด้วยสายข่าว บุกเข้าตรวจค้นบ้านพักหลังหนึ่งในพื้นที่ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2550 และยึดเงินจำนวนมหาศาล ที่ยัดซุกซ่อนในท่อน้ำพีวี เป็นเงิน ประมาณ 30 ล้านบาท แต่ก็เกิดแตกคอกันระหว่างสายข่าวที่ออกมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทีวี อ้างว่าเงินมีมากกว่า 30 ล้านบาท อาจจะมีถึงพันล้านบาท เงินขนาดนี้ แสดงให้เห็นว่า ขบวนการค้ายาเสพติดไม่เล็กอย่างที่คิด และการพัวพันกับขบวนการก่อการร้ายก็เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก เงินส่วนหนึ่งจะต้องไหลมาสู่ขบวนการค้ายาเสพติด และเงินส่วนหนึ่งเพื่อใช้ก่อความไม่สงบจะมาจากเงินบริจาค หรือเงินซากาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ยึดกรือเซะ 28 เม.ย.47
หลังการปล้นปืน เกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์ที่เหมือนกับการเพาะเมล็ดพันธุ์ของความรุนแรงก็ได้เริ่มขึ้น เมื่อผู้ก่อความไม่สงบจำนวน 32 คน ได้บุกเข้ายึดมัสยิดกรือเซะ อำเภอเมือง จ.ปัตตานี ในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 28 เมษายน 2547 โดยผู้ก่อความสงบบางส่วนได้เข้ามาทำละหมาดเมื่อตอนเย็นของวันที่ 27 เมษายน 2547 แต่ก็ไม่ได้นอนพักในมัสยิด หัวรุ่งเวลาประมาณ 05.45 น.กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ได้ใช้อาวุธสงครามบุกเข้าโจมตีป้อมทหารที่อยู่ใกล้มัสยิด แต่ทหารไหวตัวทัน ได้วิทยุส่งข่าวให้ตำรวจที่อยู่ในป้อมยาม ใกล้มัสยิดกรือเซะ ด้านทิศตะวันตก สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และได้เกิดการยิงต่อสู้กัน ส่งผลให้ตำรวจที่ประจำอยู่ป้อมยามเสียชีวิต 2 นาย ป้อมและรถจักรยานยนต์ถูกเพลิงไหม้เสียหายบางส่วน

ยึดมัสยิดกรือเซะ หวังยึดยืดเยื้อ
การเข้ายึดมัสยิดกรือเซะ ของผู้ก่อความไม่สงบ 32 คน เป็นการยึดที่ต้องการให้เกิดความยืดเยื้อ และปลุกระดมให้ประชาชน 3 จังหวัดก่อจลาจล เพื่อให้ลุกขึ้นสู้ตามแผนการที่ได้วางไว้ โดยเข้ายึดมัสยิดก่อนรุ่งสาง และต้องการสู้ตาย เพราะเหตุการณ์ลอบโจมตีทุกครั้งที่ผ่านมา จะเป็นการลอบโจมตีและหลบหนีการไล่ล่าของเจ้าหน้าที่ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ หลังจากที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เข้ายึดมัสยิดกรือเซะ ก็มีการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ออกมาเป็นระยะ จากการยิงที่เม่นยำของผู้ก่อความไม่สงบทำให้กระสุนเจาะทะลุหน้าผากของทหารที่ปิดล้อมมัสยิดเสียชีวิตไป 1 นาย เมื่อตะวันเริ่มสาดแสง ชาวบ้านและสื่อมวลชนที่อยู่ในละแวก ต่างมาห้อมล้อมมัสยิดเพิ่มมากขึ้นนับพันคน การเจรจา ระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ก่อความไม่สงบ มีการพูดคุยกันเป็นระยะ เมื่อผู้ก่อความไม่สงบ ได้พูดผ่านไมค์โครไฟนเป็นภาษามลายูถิ่น ว่าจะขอญีฮาด คือหมายถึงการขอสู้ตาย และทุกครั้งที่มีคำพูดออกมาจากมัสยิด บรรดาชาวบ้าน ที่อยู่รอบ ๆ มัสยิดต่างปรบมือ คอยให้กำลังใจอยู่ข้าง ๆ มัสยิด แต่พอเจ้าหน้าที่พูดเกลี้ยกล่อมให้ยอมมอบตัว กลับได้รับเสียงโห่ร้องจากชาวบ้านที่ห้อมล้อมมัสยิด ยิ่งสายคนยิ่งมาก เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำอะไรได้

พล.อ ชวลิต ให้ใช้สันติวิธี
พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ดูแลปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการสั่งการให้ พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ในฐานะรอง ผอ.รมน.ภาค 4 ให้เกลี้ยกล่อมมอบตัว อย่าใช้ความรุนแรง ให้ส่งข้าวปลาอาหาร รวมทั้งน้ำให้กับผู้ก่อความไม่สงบได้ดื่มกิน และให้ปิดล้อมให้นานที่สุดโดยให้ระดมทหารที่ในพื้นที่ใกล้เคียงสนับสนุน โดยพลเอกชวลิต มีแนวความคิดว่า การใช้ความรุนแรงบุกเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ จะเป็นจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ทางการเมือง เพราะผู้ก่อความไม่สงบจะใช้การโจมตีของทางการ ไปโฆษณาชวนเชื่อ ว่ารัฐใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามทำร้ายประชาชน และจะเป็นการตกหลุมพรางของผู้ก่อความไม่สงบที่ต้องการตาย เพื่อเกิดใหม่ ซึ่งหมายความว่า การต่อสู้ของคนไทยเชื้อสายมลายูเพิ่งจะเริ่มเกิดขึ้น พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งมีความเข้าใจหลักศาสนาอิสลามเป็นอย่างดี มีสั่งการเรื่องนี้อย่างชัดเจนเป็นสามประการ คือ ข้อแรก ห้ามถล่มทำลายมัสยิดโดยเด็ดขาด ต้องใช้วิธีการละมุนละม่อม ข้อสอง ห้ามเข้าไปในมัสยิดโดยเด็ดขาด แต่ให้เชิญผู้นำทางศาสนาเกลี้ยกล่อมคนร้ายให้มอบตัว ข้อสาม ต้องแสดงความเมตตาอาทรต่อคนร้ายซึ่งเป็นคนไทยด้วยกันให้ปรากฏต่อชาวโลก แม้หากคนร้ายต้องการข้าวน้ำก็ให้ส่งให้ และที่สำคัญก็ได้กำชับผู้ปฏิบัติทุกหน่วยว่าจะต้องทำให้ชาวมุสลิมทั่วโลกเข้าใจว่าคนร้ายกลุ่มนี้มีประสงค์ร้ายต่อศาสนาอิสลาม ต้องการทำให้บ้านของพระเจ้าเปรอะเปื้อน ในขณะที่รัฐบาลให้ความเคารพและปฏิบัติต่ออย่างเอื้ออาทร

จากการตายของคนที่เข้าไปยึดมัสยิดกรือเซะ และตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2547-2551 ) สื่อสารมวลชน ได้ประโคมข่าวว่าทุกวันที่ 28 เมษายน ว่าจะเกิดเหตุร้าย ตลอดเวลา และทางเจ้าหน้าที่ก็ตื่นตัว สื่อมวลชนก็มีการขยายผลวัดยึดกรือเซะเป็นประจำทุกปี จนตกหลุมพรางที่ผู้ก่อความไม่สงบได้วางแผนลวง และนั่นคือการประชาสัมพันธ์ ที่ทำให้คนทั่วไปรู้จักคนกลุ่มหนึ่งเข้ายึดมัสยิดกรือเซะ ที่ต้องการความเป็นอิสระในการแยกตัวเองออกจากรัฐไทย ถ้าวันนั้น คนที่เข้ายึดมัสยิดกรือเซะไม่ตาย การพูดถึงคนเหล่านี้ ก็จะลดน้อยลง จนหมดความสำคัญ และไม่มีการกล่าวขานถึง

พล.อ.พัลลภ ใช้ความเด็ดขาดแก้ปัญหา
พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ในฐานรอง ผอ.รมน.ภาค 4 เป็นผู้ผ่านสนามรบทั้งในประเทศมาอย่างโชกโชน และเคยร่วมเจรจากับโจรจีนคอมมิวนิสต์ หรือ จคม. ที่ปฏิบัติการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็หลายครั้ง แนวคิดในการแก้ไขปัญหาจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ต่างกัน นั่นคือ พล.อ.พัลลภ มีความคิดที่จะใช้ความรุนแรงเด็ดขาด เพื่อกดดันผู้ที่จะคิดแบ่งแยกดินแดนให้สยบต่ออำนาจรัฐ ครั้งนี้ก็เช่นกัน พล.อ.พัลลภ ได้มีการเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบ หลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ ยิ่งเวลาผ่านไปถึง 9 ชั่วโมง เวลาก็เริ่มบ่ายค่ำ ผู้คนที่มามุงรอบมัสยิดก็เริ่มมากขึ้นจนยากที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ การตัดสินใจของพล.อ.พัลลภ ในคราวนั้น มีแนวความคิดว่า หากมีการปล่อยให้มีการยึดมัสยิดอย่างยืดเยื้อ จะเป็นการยากต่อการควบคุม เพราะหากมีการยิงต่อสู้กัน อย่างรุนแรงกระสุนอาจจะถูกประชาชนที่เข้ามาห้อมล้อมมัสยิดเสียชีวิตและบาดเจ็บได้ ซึ่งจะทำให้เกิดพลังมวลชนที่ยากจะควบคุม กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว และมีความเป็นไปได้ว่า แกนนำผู้ก่อความไม่สงบบางคนจะแฝงตัวอยู่กับประชาชนที่อยู่รอบมัสยิด ซึ่งจะเป็นผู้จุดชนวนความรุนแรงกดดันเจ้าหน้าที่ ให้เกิดความละล้าละลัง ที่เข้าป้องกันเหตุ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ตัดสินใจบุกเข้ายึดมัสยิดกรือเซะ และสังหารผู้ก่อความไม่สงบตายเรียบทั้งหมด 32 คน พลันที่มีการบุกมัสยิดกรือเซะ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้สั่งการให้ พล.อ.พัลลภ กลับกรุงเทพภายใน 24 ชั่วโมง ฐานไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น น่าเห็นใจทุกฝ่ายที่ร่วมกันแก้ไขปัญหา เพราะผู้อยู่ในสถานที่เกิดเหตุจริง ถูกกดดันอย่างมาก จากประชาชนที่อยู่รอบมัสยิด และผู้ก่อความไม่สงบที่ไม่ยอมออกมามอบตัว และพร้อมที่จะยอมสู้ตาย ส่วนผู้ที่สั่งการที่กรุงเทพ และอยู่ห่างไกลที่เกิดเหตุ ให้มีการแก้ปัญหาอย่างสันติโดยการให้ข้าวปลาอาหาร วินาทีนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากจะตัดสินใจว่าจะแก้ปัญหาจากคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หรือจะใช้แนวคิดของผู้บังคับบัญชาที่อยู่ในเหตุการณ์

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นคล้ายกับการยึดมัสยิดกรือเซะ คือ การยึดมัสยิดแดง ที่กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน โดยกลุ่มที่อ้างตัวว่า เป็นนักศึกษาเคร่งศาสนา โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มตาลีบัน ที่ต้องการให้รัฐบาลปากีสถานนำหลักศาสนาอิสลามมาใช้ปกครองประเทศ ในครั้งนั้น ทางการปากีสถาน ได้ให้นายชูจาต ฮุสเซน เชาธรี อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดีเพอร์เวช มูชาร์ราฟ เป็นผู้เจรจา แต่ในที่สุดทางการปากีสถานก็เลือกวิธีการบุกมัสยิดแดง โดยมีผู้เสียชีวิต อย่างน้อย 50 คน ทหารเสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บ 20 นาย ทำให้การยึดมัสยิดแดงของนักศึกษามาตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2550 สิ้นสุดลง ซึ่งการปฏิบัติงานเหมือนกับแนวคิดของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่เข้ายึดมัสยิดกรือเซะ คราวนั้น ผู้ก่อการที่อยู่ในมัสยิดกรือเซะเสียชีวิตทั้งหมด 32 คน

บทสรุป
การเกิดเหตุการณ์เข้ายึดมัสยิดกรือเซะ ผู้ก่อความไม่สงบ มีเจตนาที่จะดึงเอาศาสนา มาเป็นปัจจัยให้เกิดความขัดแย้ง แต่วิธีการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบ ถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติต่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะใครก็ตามที่จะเข้าไปในมัสยิดจะต้องเป็นคนที่ผ่านการทำความสะอาด นับตั้งแต่การล้างมือล้างเท้า และการชำระร่างกายให้สะอาดหมดจด การสวมรองเท้าและการถืออาวุธเข้าไปในมัสยิดจึงเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักศาสนาอย่างสิ้นเชิง และถือได้ว่าคนนั้นกลายเป็นคนนอกศาสนา แต่ผู้ก่อความไม่สงบกลับต้องการให้เกิดความขัดแย้งทางศาสนา เพื่อที่จะนำไปสู่การญีฮาด ซึ่งการต่อสู้ในครั้งนั้นจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นก็มิได้เป็นความขัดแย้งทางศาสนาแต่อย่างใด เพราะรัฐไทยมิเคยปิดกั้นการนับถือศาสนา อีกทั้งยังมีการเชิญผู้นำศาสนา เชิญองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก (WML) เชิญองค์การประชุมมุสลิม (OIC) ซึ่งเป็นองค์กรมุสลิมให้มาดูสถานที่เกิดเหตุจริง ว่าเป็นไปตามคำโฆษณาชวนเชื่อของขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมิได้มีต้นเหตุมาจากความขัดแย้งทางศาสนา ตามที่ผู้ก่อความไม่สงบต้องการ
* * * * * * * * * * * * * *


คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com