www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 61 คน
 สถิติเมื่อวาน 59 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
4170 คน
4170 คน
1749438 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

 

ความเป็นมาของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ ผู้สื่อข่าว 8 ว.4 มกราคม 2547

บทนำ
นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 มีผู้ก่อการร้ายไม่ทราบจำนวน เข้าปล้นปืนที่ กองพันทหารพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส จากนั้นเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีคนร้ายลอบทำร้าย ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง พระภิกษุ โต๊ะครู และผู้บริสุทธิ์อย่างต่อเนื่อง โดยที่ฝ่ายบ้านเมืองไม่รู้สาเหตุกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่คนร้ายลอบยิงเจ้าหน้าที่แล้วจับไม่ได้ทั้ง ๆ ที่คนร้ายก็ไม่ได้หลบหนีไปไกลจากจุดเกิดเหตุ เกิดอะไรขึ้นในพื้นที่นี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะต้องเป็นขบวนการ ที่มีการทำงานหลายร้อยคน หรืออาจจะเป็นพันเป็นหมื่น ขบวนการเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงเป็นคำถามที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นคำถามแรก ต้องมีสาเหตุ ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะมีคนร้ายลอบยิงคน แล้วไม่มีใครรู้เรื่อง หากสาเหตุมาจากความขัดแย้งส่วนตัว ตำรวจจับได้อย่างแน่นอน เพราะจะมีคู่กรณีที่จะเป็นโจทก์คอยชี้เบาะแส เหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่จะเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน และก่อตัวมาอย่างยาวนาน จนเป็นขบวนการ ที่เรียกว่ากระบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่ทางการมีหลักฐาน ว่าเป็นผู้มีส่วนในการก่อความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

จุดเริ่มต้นของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
ขบวนการแบ่งแยกดินแดน เริ่มที่ ตวนกูอับดุลกาเดร์ บินตวนกู รอมารุดดิน หรือพระยาวิชิตภักดี เจ้าเมืองปัตตานี ที่ไม่พอใจ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ส่งเจ้าเมืองคนใหม่ที่เป็นชาวไทยมุสลิมจากกรุงเทพฯ มาปกครองปัตตานี ทำให้เจ้าเมืองเดิมสูญเสียอำนาจและรายได้จึงฝักใฝ่อังกฤษ เพื่อจะได้แต่งตั้งตนเป็นเจ้าเมืองปัตตานีอีก เพราะในขณะนั้นอังกฤษกำลังล่าอาณานิคมในพื้นที่มลายู ในที่สุดพระยาวิชิตภักดี ถูกทางการสยามจับกุมตัวในข้อหากบฏ จึงทำให้เหตุการณ์สงบไปพักหนึ่ง

กระบวนการแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้นอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่2 ขบวนการการแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ ตวนกูมามุด มะไฮยิดดิน ลูกพระยาวิชิตภักดี ถูกอังกฤษหลอกใช้ให้รบกับญี่ปุ่น หากชนะจะให้ปกครองเมืองปัตตานี เมื่อสงครามสิ้นสุดลง เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกัน จึงคิดตั้งเมืองปัตตานีเป็นอิสระ ตวนกูมามุด มะไฮยิดดิน ลูกชายพระยาวิชิตภักดี เจ้าเมืองปัตตานี จึงก่อตั้งกระบวนการ กัมปา (GAMPAR) หรือเรียกว่า "สมาคมรวมเผ่ามลายูที่ยิ่งใหญ่" โดยรวมเอา กลันตัน ปลิส ตรังกานู ยะลา นราธิวาส และปัตตานี เพื่อจัดตั้ง สาธารณรัฐปัตตานี สมาคมนี้ตั้งอยู่ที่ รัฐกลันตัน มาเลเซีย มีทั้งกองกำลังที่ติดอาวุธ และไม่ติดอาวุธ เคลื่อนไหวในไทยและมาเลเซีย โดยมี ตวนกูมามุด มะไฮยิดดินเป็นหัวหน้า และมีสมาชิกที่รู้จักคือ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา อามีน โต๊ะมีนา และ อดุลย์ ณ สายบุรี เมื่อผู้นำและสมาชิกขบวนการกัมปาเสียชีวิตทั้งหมด ในปี 2500 จึงได้มีการก่อตั้งกระบวนการ บีเอ็นพีพี BNPP (Barisan Nation Pembebasar pattani) มีสมาชิกประกอบด้วย นายดือเระ มะดีเยะ เป็นหัวหน้ากระบวนการ บีเอ็นพีพี นายเปาะเยะ เป็นรองหัวหน้ากระบวนการ บีเอ็นพีพี

ขบวนการบีอาร์เอ็นBRN 
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2503 ได้มีการก่อตั้งขบวนการ บีอาร์เอ็น BRN (Barisan Revolusi Nasional) ซึ่งเป็นกระบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ยุคที่ 3 และเป็นกระบวนการ ที่แยกออกมาจาก ขบวนการ บีเอ็นพีพี กลุ่มบีอาร์เอ็น คือ กลุ่มแนวร่วมปฏิบัติแห่งชาติมลายูปัตตานี ขบวนการบีอาร์เอ็น อุลูมา (BRN ULUMA) มีนายฮะยีอับดุลการิม เป็นประธาน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำศาสนา บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเน็ต (BRN COORDINATE) นายมะแซอุเซ็ง เป็นหัวหน้า และ บีอาร์เอ็น คองเกรส (BRN CONGRESS) นายรอซะ บูรากอ เป็นประธานกลุ่ม ขบวนการนี้จะเป็นพวกหัวรุนแรง เช่น การพลีชีพที่ใช้ในอิสราเอล เป็นต้น

ขบวนการพูโลPULO
ต่อมาปี พ.ศ. 2511 มีการแยกตัวจากกลุ่มบีอาร์เอ็นมาตั้งกลุ่มใหม่คือ ขบวนการ พูโล PULO (Pattani United Liberation Organization) ขบวนการพูโล ได้รับการช่วยเหลือจากขบวนการ พีแอลโอ ของนายยัดเซอร์อาราฟัด ผู้นำปาเลสไตน์(ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)และไออาร์เอ กลุ่มก่อการร้ายไอริชในอังกฤษ ได้ให้เงินสนับสนุนและฝึกการวางระเบิดแกนนำคนสำคัญของพูโล คือ นายสะมะแอ ท่าน้ำ, นายดาโอ๊ะ ท่าน้ำ, นายบูโด เบตง ปัจจุบันศาลไทยตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ในข้อหากบฏ เมื่อปี พ.ศ. 2530 กลุ่มบีอาร์เอ็น และกลุ่มพูโลบางส่วนแยกตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มใหม่เรียกอีกว่า ขบวนการมูจาฮีดีน มีนายเจ๊ะกูแม กูเต๊ะ เป็นประธาน มูจาฮีดีน เป็นกลุ่มโจรที่ใช้ความเชื่อทางศาสนา ตายเพื่อพระเจ้า โดยใช้วิธีจีฮัจญ์ เป็นความรุนแรงที่นำเอาศาสนามาเกี่ยวข้อง
สำหรับประวัติของ นายเจ๊ะกูแม กูเต๊ะ ประธานขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี มีชื่อจริงว่า นายดอรอแม กูเต๊ะ ปัจจุบันอายุ 61 ปี มีชื่อจัดตั้งว่าเจ๊ะกูแม กูเต๊ะ/เจ๊ะกูแม โต๊ะตาเยาะ/อับดุลเราะมัน มีรางวัลนำจับจากสำนักงานตำรวจภูธรภาค 9 จากเดิม 3 แสนบาท เพิ่มเป็น 1 ล้านบาท ไม่ว่าจะจับเป็นหรือจับตาย และเป็นบุคคล 2 สัญชาติ ขบวนการมูจาฮีดีน ยังแบ่งออกเป็น มูจาฮีดีน ปัตตานี หรือ บีบีเอ็มพี มูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี GIMP (Gerakan Mujahhideen Islam Pattani)

ขบวนการเบอร์ซาตู
ส่วนขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด คือ ขบวนการ เบอร์ซาตู คำว่า ซาตู ในภาษามาลายูท้องถิ่นแปลว่า 1 เบอร์ หมายถึง หมายเลข และหมายถึง ขบวนการแบ่งแยกดินแดนรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ระหว่าง พูโล บีอาร์เอ็น และมูจาฮีดีน รวมกันเรียกว่า เบอร์ซาตู กลุ่มแนวร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี หรือ เบอร์ซาตู (BERSATU : Barisan Bersatu Kemerdekaan Patani) ก่อตั้งเมื่อปลายปี 2532 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมขบวนการก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเพื่อขจัดความสับสนในการที่จะรับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากต่างประเทศ มีการเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองอยู่ประเทศมาเลเซีย โดยแอบแฝงอยู่ภายใน "สมาคมชาวปัตตานี" ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย
ดร.ฟาเดร์ เจ๊ะมาน มาฮาดี ดาโอ๊ะ หรือ วัน อับดุล กาเดร์ เจ๊ะมัน (Wan Abdul Kadir Che Man) หรือเรียกสั้นๆ ว่า "วัน กาเดร์" (Dr.Fadir) หรือออกเสียงเป็น "การเดียร์" หรือ ด๊อกเตอร์ฟาเดร์ (Dr.Fadir) บางทีก็ออกเสียงเป็น "ฟาเดียร์" หรือ "ฟาร์เดร์" เป็นประธาน ปัจจุบันอายุ 62 ปี(ปี2547) เกิดที่ อ.สายบุรี จ.นราธิวาส ออกจากประเทศไทยไปเกือบ 20 ปีแล้ว หลังจากกลับจากไปเรียนปริญญาตรีที่สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะไปเรียนต่อปริญญาโทที่มาเลเซียแต่ไม่จบ เพราะได้ทุนไปเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ก่อนหน้าที่ ได้ไปเรียนจบด้านศาสนาที่อียิปต์ก่อนใช้ชีวิต ในมาเลเซีย บรูไน อียิปต์ และสวีเดน เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยอิสลาม และเป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และรัฐสลังงอ โดยมีกลุ่มพันธมิตร 4 กลุ่ม ได้แก่ บีอาร์เอ็น คอนเกรส หรือ แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี, บีไอพีพี หรือแนวร่วมอิสลามปลดปล่อยปัตตานี, ขบวนการมูจาฮีดีนปัตตานี หรือ จีเอ็มพี และกลุ่มพูโลใหม่ หรือองค์การปลดปล่อยรัฐปัตตานี (Pattani darusslam)
นายวัน กาเดร์ เจ๊ะมัน ผู้นำกลุ่มเบอร์ซาตู บอกว่าทางกลุ่ม ไม่มีความต้องการที่จะแบ่งแยกดินแดนและไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างอำนาจรัฐที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่อยากเห็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูทางภาคใต้ของไทยเข้ามารับข้าราชการและมีบทบาททางการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น รวมถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ เบอร์ซาตูมีหลายกลุ่มคือ กลุ่มพูโลเดิม พูโลใหม่ บีอาร์เอ็น บีเอ็นพีพี ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีนักรบติดอาวุธและแนวคิดเป็นของตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มเบอร์ซาตูเริ่มมีบทบาทเมื่อปี 2532 ที่มีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 31 สิงหาคม 2532 ที่เมืองโกตาบารูมาเลเซีย มีชื่อเรียกตนเองอย่างเป็นทางการว่า "สมัชชาประชาชนมลายูปัตตานี" ทางการไทยเริ่มจับตามองเมื่อปี 2538 และในปี 2540 มีการเคลื่อนไหวอีกในมาเลเซีย โดยมีการสถาปนาในวันที่ 15 มิถุนายน 2540 ให้เป็นวันปลดปล่อยรัฐปัตตานี ซึ่งเป็นวันที่ตรงกับเหตุการณ์สำคัญเมื่อ 100 ปี ล่วงมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

แม่ทัพภาคที่4ยืนยันการก่อเหตุร้ายเป็นฝีมือของขบวนการ จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นผู้กระทำ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 พลโทพงษ์ศักดิ์ เอกบรรณสิงห์ แม่ทัพภาคที่ 4 มีการแถลงข่าว ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อแสดงเอกสารและหลักฐาน ที่ยึดได้หลายรายการ ที่เป็นเครื่องที่บ่งชี้ว่า เป็นหลักฐานของขบวนการก่อการร้าย คือ รองเท้าทหาร เสื้อยืดสีดำที่มีข้อความปลุกระดม เชือกป่าน เข็มขัดทหาร มุ้งทหาร เสื้อแจ็กเก็ต หนังสือเดินทาง กระดาษที่จดรายชื่อผู้ร่วมขบวนการ 4 แผ่น แต่สิ่งที่น่าสนใจคือข้อความที่พิมพ์อยู่บนเสื้อยืด 3 ตัวคือ
เสื้อตัวที่หนึ่ง ตรงกลางเป็นรูป ต้นมะพร้าวคู่ตั้งอยู่บนเกาะ ด้านบนเขียนเป็นภาษารูมี โดยใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ เขียนข้อความว่า " TAKUT GAGAL ADALA H GAGAL YANG SEJATI " แปลได้ความว่า "กลัวความไม่สำเร็จ คือความไม่สำเร็จที่แท้จริง " ด้านล่างของเสื้อ มีข้อความว่า " TAKUT MATI ADLAH MATI SEBELUM MATI " แปลได้ความว่า "กลัวความตาย คือ การสูญเสียชีวิต ที่ยังไม่ตาย "

เสื้อตัวที่สอง ตรงกลาง เป็นรูปมัสยิดกรือเซะ และมีรูปกริช คู่ ล้อมมัสยิด บนรูปเขียนเป็นภาษามลายู ใช้อักษรอังกฤษเขียนว่า "MEMBUJOR LALU MELITANG PATAH" แปลได้ความว่า "ความเจริญก้าวหน้า ป้องกันด้วยชีวิต มรดกแผ่นดินปัตตานี ดารุสซาราม " ส่วนในพื้นที่วงกลมเขียนว่า "PUSAKA BUMI PHATANI DARUSSALAM " และข้อความด้านล่างสุดของเสื้อเขียนว่า "MILIK SIAPAKAH BUMI YANG INI ? 1424 H P.P.B." แปลได้ความว่า "แผ่นดินอันสมบูรณ์ แห่งนี้ใครคือผู้ถือครอง ฮส.1424 P.P.B. คือ องค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี

เสื้อตัวที่สาม เป็นรูปบ้าน ดูคล้ายกับ วังเจ้าเมือง มีข้อความว่า "Membongka Sejarah Islam Insaf Dengan Kenyataan Mencin Mase Depan " แปลได้ความว่า " มลายูไม่สูญหาย สืบสานประวัติศาสตร์ ในอดีตที่ผ่านมา สำนึกด้วยข้อเท็จจริง เป็นการสร้างอนาคต ภายภาคหน้า "

ข้อความที่ปรากฏ ในเสื้อยืดคอกลม ทั้ง 3 ตัวก็เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ ที่แสดงให้เห็นว่า ยังมีความคิดที่จะแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะยึดเอาปัตตานีเป็นศูนย์กลาง

ในส่วนของพาสปอร์ตที่พบ เป็นของนาย ASEA SMAS เกิดเมื่อวันที่ 10 มกราคม 1985 อายุ 16 ปี เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2542 มีถิ่นพำนักอยู่ที่
PH.ROKEAP PRAM / KH.ROKEAP PRAMTHBONG KHM)M /KOMPONG CHAM มีอาชีพเป็นนักเรียน และเป็นชาวกัมพูชา นอกจากเอกสารดังกล่าว ยังมี กระดาษรายชื่อ ผู้ที่คาดว่าจะอยู่ในขบวนการ อยู่หลายชื่อ บ้างก็เขียน เป็นภาษามลายู ภาษาไทย และภาษาเกาหลี

แม่ทัพภาคที่ 4 ยังระบุอีกว่า ได้มีการควบคุมตัว นายมากาลูดิง บูโก๊ะ สมาชิกระดับปฏิบัติการ นายฮานาฟี เจ๊ะดอเลาะ สมาชิกระดับปฏิบัติการ นายอับดุลตอเละ บินเปาะแอ และนายอาแซ ยาโด สมาชิกระดับควบคุมสั่งการ กลุ่มบ้านบางปอ ซึ่งทั้ง 4 เป็นกลุ่มที่แอบอ้างศาสนา ในพื้นที่ตำบลบางปอ อำเภอเมืองนราธิวาส

เกิดเหตุยังจับคนร้ายไม่ได้
เหตุการณ์ ยังคงไม่สงบ และทางการข่าวของทหาร บอกว่า ที่มีการฆ่ากันรายวัน ยังไม่ทราบว่าใครทำ หรือขบวนการใดเป็นคนลงมือทำ เพราะคนร้ายที่ลงมือ จะไม่บอกว่า เป็นใคร หรือขบวนการใด และที่สำคัญเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้ อย่างชนิดที่เรียกว่าคาหนังคาเขา บางที่เมื่อเกิดเหตุเผาโรงเรียน ก็จะมีคนร้ายปะปนดูโรงเรียนที่เป็นฝีมือของตนเองที่เผา แถมยังมีการถ่ายวีดีโอ เก็บไว้เป็นผลงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่รู้ทั้งรู้ ก็ไม่สามารถจับได้เพราะไม่มีหลักฐานที่เรียกว่า หลักฐานคาหนังคาเขา จนกระทั่ง แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ คือ พลโทพิศาล วัฒนวงษ์คีรี สั่งให้กองกำลังทหารเฝ้าติดตาม สถานที่ที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมาย คือโรงเรียน วัด มัสยิด อาคารร้าง จนกระทั่ง ความพยายามก็สำเร็จ เมื่อมีกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มหนึ่งนำน้ำมัน ใส่ในขวด แล้วขว้างปา ใส่โรงเรียนเพื่อเผา เจ้าหน้าที่ที่ระวังอยู่แล้ว จึงสามารถจับกุมได้ หลายสิบคน โดยทางแม่ทัพภาคที่ 4 ได้นำเยาวชนทั้งหมด มาสอบปากคำและนำไปฝึกที่ค่ายนิวัฒน์พลเมือง ขณะเดียวกันก็รับเอาเยาวชนที่มอบตัวมาไว้ที่บ้านให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะมีการปล่อยตัวไป

พบแผนบันได 7 ขั้น
หน่วยข่าวในพื้นที่ระบุว่า ก่อนหน้านี้เคยพบแผนกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ซึ่งมีแผนปฏิบัติงานเพื่อการปฏิวัติ ลักษณะบันได 7 ขั้น อันประกอบด้วย 1.ขั้นสร้างจิตสำนึกมวลชน 2.จัดตั้งมวลชน 3.จัดตั้งองค์กร 4.จัดตั้งกองกำลัง 5.ปลุกระดมอุดมการณ์ชาตินิยม 6.เตรียมพร้อมกำลังทางทหาร 7.พลังมวลชนและพลังทางทหาร โดยมีเป้าหมายในการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชน 3,000 คน กลุ่มเยาวชนคอมมานโด กองกำลังประชาชนและทหารบ้าน 300 คน หน่วยนี้จะเป็นหน่วยกล้าตาย และอีก 30,000 คน จะเป็นแนวร่วม ขณะที่ นายลุกมาน บินลิมา รองประธานขบวนการพูโล ก็ออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้รัฐบาลกลางถอนกำลังออกจากแผ่นดินของชาวปัตตานี ให้ชาวปัตตานีต่อสู้เพื่ออิสรภาพ พร้อมกับออกมาตอบโต้นโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง นับเป็นการยืนยันว่าระดับหัวของขบวนการต่างๆ ในชายแดนใต้ยังมีอยู่

มาเลเซีย ก็มีขบวนการแบ่งแยกดินแดน ชื่อKMM
นอกจากจะมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนในประเทศไทยรวมอยู่หลายกลุ่มแล้ว ยังมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนในต่างประเทศ ที่มีแนวความคิดที่ยังแบ่งแยกดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และยังมีการเกื้อกูลสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในประเทศมาเลเซียก็มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ และอยู่ทางใต้ของประเทศไทยคือขบวนการ เคเอ็มเอ็ม KMM (Kampulan Mujahideen Malasia) เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนของมาเลเซีย มีการทำแผนที่โดยรวมรัฐกลันตัน กับ ตรังกานู ของมาเลเซียรวมกับ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย ยะลา นราธิวาส สตูล และปัตตานี เป็นสาธารณรัฐปัตตานี มีการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ประเทศอิรัก มี นายอาซีส นิกอัดรี ลูกชายผู้ว่าการรัฐกลันตันมาเลเซีย ซึ่งเป็นฝ่ายค้านให้การสนับสนุน เคเอ็มเอ็ม กลุ่มดังกล่าวเคยฝึกอาวุธกับนายอุสมะ บินลาดิน กลุ่มอัลเคดา
ฟิลิปปินส์มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนอาบูไซยาบและโมโร่ ในประเทศฟิลิปปินส์ มีขบวนการอาบูไซยาฟ และโมโร่ เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ปัจจุบันมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเจไอ กลุ่มอัลเคดา ของบินลาดิน และยังมีการติดต่อกับขบวนการเบอร์ซาตู ที่มีการเคลื่อนไหวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ด้วย กลุ่มอาบูไซยาบ เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวในทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ บางครั้งมีการจับกุมนักท่องเที่ยว เพื่อเรียกค่าไถ่ และเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก

ขบวนการแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร่ (MILF
)นำโดย นายมูราด อิบรอฮิม อายุ 54 ปี มีฐานปฏิบัติการอยู่ทางตอนใต้ของเกาะมินดาเนา มีการจับอาวุธขึ้นต่อสู้ประมาณ 30 ปี เดิมขบวนการ โมโร่ ได้แยกตัวจาก แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร่ (NNLF) ซึ่งมีนายซาลามัต เป็นผู้นำขบวนการ
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2547 นางกลอเรีย อาร์โรโย่ กล่าวว่า รัฐบาลใกล้บรรลุข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในทางภาคใต้ของประเทศที่เกาะมินดาเนา สันติภาพ อยู่ในมือแล้วเพราะเรามีข้อตกลงหยุดยิงและร่วมงานกันทำงานของทั้งสองฝ่าย
นายมูราด ผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนโมโร่ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว เอเอฟพี ที่ค่ายทหารเมืองโคโตบาโต ห่างจากกรุงมนิลา ไปประมาณ 800 กิโลเมตร ว่าทางกลุ่มโมโร่ต้องการสันติภาพที่ถาวร และมีความจริงใจที่จะการเจรจาสำเร็จ
คำว่า โมโร่ มาจากคำว่า มัวร์ หรือแขกมัวร์ ซึ่งขบวนการแบ่งแยกดินแดนของฟิลิปปินส์ จึงใช้คำนี้แทนกลุ่มของตัวเอง
ทางด้านกลุ่ม NNLF ยังคงมีอยู่แต่เสื่อมถอยบทบาทลง หลังจากมีการเจรจากับรัฐบาลฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2539 ล้มเหลว
ในที่ประเทศอินโดนีเซีย ที่มีประชากรส่วนใหญ่ นับถือศาสนาอิสลาม ก็ยังมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ชื่อว่า

เจมาร์อิสลามมิยาห์ (เจไอ) JI (Jemaah Islamiyah) เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้และมีการสร้างผลงานในการวางระเบิดบนเกาะบาหลี จนทำให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิตหลายร้อยคน และยังเป็นกลุ่มที่มีการวางแผนใช้ระเบิด Car Bomb ถล่มโรงแรมมาร์ริออต ที่ตั้งบนเกาะชวามาแล้ว ขบวนการเจไอ เป็นการรวมเอาพวกหัวรุนแรง ตั้งแต่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และไทย เพื่อปลดปล่อย สำหรับประเทศไทยในแผนที่ของขบวนการเจไอ เริ่มตั้งแต่จังหวัดตากลงมา จัดตั้งเป็นประเทศใหม่ ขบวนการเจไอได้รับการสนับสนุนจากขบวนการอัลเคดาร์ และขบวนการเจไอ มี นายฮัมบาลี เป็นแกนนำคนสำคัญ ปัจจุบันถูกตำรวจไทยจับได้ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก่อนที่จะถูกนำตัวส่งให้กับสหรัฐอเมริกา

อินโดนีเซียมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนอาเจ๊ะ
ประเทศอินโดนีเซีย มีขบวนการแบ่งแยกดินแดน คือ ขบวนการอาเจ๊ะ ซึ่งเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่อยู่ทางตอนเหนือของสุมาตรา อินโดนีเซีย เป็นขบวนการที่ต้องการอาวุธจำนวนมาก จึงมีขบวนการขโมยปืนและมีพ่อค้าอาวุธเกิดขึ้น บางครั้งใช้วิธีปล้นปืนในพื้นที่ภาคใต้ของไทยไปขาย เพราะราคาปืน เอ็ม 16 มีราคากระบอกละ 1 แสนบาท เส้นทางการลำเลียงปืน ผ่านชายแดนไทยด้านมาเลเซีย ผ่านแม่น้ำโกลก ด้านอำเภอตากใบ จ.นราธิวาส เข้ากลันตัน รัฐเปรัค ลงทะเลอันดามัน ไปเกาะสุมาตรา จังหวัดอาเจ๊ะ ประเทศอินโดนีเซีย
อินเดียก็มีขบวนการแบ่งแยกดินแดน เมื่อเดือนกันยายน2547 คริสตีน วอลลีช (ชาวอเมริกัน) ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำบังคลาเทศ ก็ได้รับจดหมายขู่ฆ่า นางเชื่อว่า ตัวเป็นชาวต่างชาติคนแรก ที่ได้รับจดหมายขู่เช่นว่านี้ในบังคลาเทศ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลอินเดียถือจดหมายขู่ดังกล่าว เป็นจริงเป็นจังมาก และได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่ง เข้าไปในบังคลาเทศ เพื่อวางแผนรักษาความปลอดภัย ให้ทีมนักกีฬาของตัว ที่กำลังจะเริ่มตะเวนเล่นไปตามที่ต่าง ๆ ฝ่ายทางการดาห์กากลับถือว่า มันเป็นแค่การข่มขู่ธรรมดา ไม่ว่าเรื่องนี้จะแค่ขู่หรือไม่ ปัญหาเดิมก็ยังอยู่ นั่นคือ พวกสุดขั้วอิสลามในบังคลาเทศ กำลังขยายตัว และทางรัฐบาลก็พยายามปฏิเสธเรื่องนี้ นักการทูตอินเดีย ที่ปลดเกษียณแล้ว ผู้หนึ่งบอกกับเอเชีย ไทมส์ ว่า คราวนี้ดูเหมือนว่า เรื่องที่ว่านี้ กำลังจะลุกลามไปสู่ความสัมพันธ์อินเดีย-บังคลาเทศแล้ว

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่รัฐบาลอินเดีย ยกเรื่องนี้ขึ้นหารือกับทางดาห์กา นิวเดลีได้ดึงความสนใจของผู้คนไปยังค่ายฝึกทหาร ต่อต้านอินเดียในบังคลาเทศ และการที่พวกคลั่งศาสนา กำลังเติบใหญ่ในที่นั้น และก็เพียรขอให้ดาห์กา ปิดค่ายเหล่านั้น ที่ดำเนินการโดยพวกกองโจรทางอีสานของอินเดีย ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนกันยายน 2547 อินเดียได้ขอความร่วมมือไปยังทางการดาห์กา ระบุที่ตั้งของค่ายเหล่านั้น 195 แห่ง ที่ดำเนินการโดยพวกกองโจรอีสานของตน ที่ตั้งอยู่ในดินแดนบังคลาเทศ

นอกจากนั้น การที่ฝ่ายข่าวกรองภายในปากีสถาน (ISI) เข้าไปฝึกกองกำลังติดอาวุธ ต่อต้านอินเดียในดินแดนบังคลาเทศมากขึ้น ๆ ก็เริ่มทำให้นิวเดลี เป็นห่วงมากขึ้น ๆ อไจ ชาร์มา ผู้อำนวยการใหญ่กองกำลังรักษาความมั่นคงชายแดนอินเดีย บอกกับสื่อเมื่อเดือนกันยายนว่า มี "ข้อมูลยืนยัน" ว่า ไอเอสไอได้ตั้งศูนย์ฝึกผู้ก่อการร้ายขึ้นในบังคลาเทศ "กลุ่มก่อการร้ายที่ปฏิบัติการในจัมมู&แคชเมียร์ ก็ได้รับการฝึกที่นั่นตอนนี้ISIกำลังเน้นเป็นพิเศษที่บังคลาเทศ"

อินเดียไม่ใช่ผู้เดียว ที่ระบุว่าบังคลาเทศกำลังกลายเป็นสวรรค์ ของผู้ก่อการร้ายแห่งใหม่ พวกสื่อมวลชนระหว่างประเทศหลายแห่ง ก็ได้พูดเรื่องนี้มานานแล้ว รวมทั้งการเคลื่อนไหวของอัล-กออิดะ ในบังคลาเทศ เช่นในเดือนเมษายน 2545 เบอร์ทิล ลินท์เน่อร์ เขียนลงในนิตยสาร ฟาร์อีสเทิร์น อีโคโนมิค รีวิว ว่า หลังเมืองกันดาฮาร์ (คันฑาระ) ในอัฟกานิสถาน ล่มในปี 2544 พวกตาลีบันและอัล-กออิดะ หลายร้อยคน ลงเรือจากการาจี มาขึ้นฝั่งที่เมืองจิตตากอง ในบังคาเทศ ลินท์เน่อร์ยังเปิดเผยที่ตั้งค่ายฝึกอาวุธในบังคลาเทศ ที่ได้เงินจากอัล-กออิดะ และพวกขบถเอชยูจีไอ เป็นผู้ดำเนินการฝึกพวกขบถโรฮิญาและพวกเจมาห์อิสลามียาห์มาแล้ว

ลินท์เน่อร์ อ้าง "แหล่งข่าวในท้องที่ ที่ทราบเรื่องดี" บอกว่า สิ่งนี้ "เป็นไปไม่ได้ หากไม่มีการตกลง
ล่วงหน้า กับผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายข่าวกรองของบังคลาเทศ (DGFI) ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้อำนวยการใหญ่ไอเอสไอ ในปากีสถาน" หลายเดือนต่อมา อเลกซ์ เปอร์รี่ แห่งนิตยสาร ไทมส์ ก็เปิดเผยรายละเอียดว่า ภาคใต้ของบังคลาเทศ ตอนนี้กลายเป็น "สวรรค์ของพวกจีฮัด นับร้อย ๆ ไปแล้ว"และสื่อในท้องถิ่นก็รายงานรายละเอียดของเรื่องนี้ตรงกัน

ที่ผ่านมา รัฐบาลบังคลาเทศปฏิบัติต่อข่าว ที่ว่าตนเป็นสวรรค์ให้ผู้ก่อการร้ายนี้ อย่างรุนแรงเสมอมา โดยสั่งห้ามขายนิตยสารฟาร์อีส ฯ ฉบับที่ตีพิมพ์บทความของลินท์เน่อร์ โดยหาว่า "มันไม่มีมูลความจริง" สำนักงานนิตยสารฉบับนี้ในดาห์กา ถูกบุกค้น นักข่าวหลายคนถูกจับมาสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว อินเดียออกมากล่าวหาว่า บังคลาเทศให้ที่หลบซ่อนแก่พวกผู้ก่อการร้าย ต่อต้านอินเดีย และให้ท้ายพวกสุดขั้วอิสลาม ทางการดาห์กาก็ออกมาตอบโต้อย่างรุนแรง ไม่แพ้กัน

นายกรัฐมนตรีกาห์ลีดา เซีย ลังเลที่จะกวาดล้างพวกสุดขั้ว ที่หยั่งรากอยู่วงการเมืองของบังคลาเทศ เพื่อนร่วมรัฐบาลผสม ที่นำโดยพรรคชาตินิยมบังคลาเทศ (BNP)ซึ่งประกอบด้วยพรรคจามัต-อี-อิสลามี และพรรคอิสลามออยกียา โจตี ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ให้ท้ายพวกคลั่งศาสนา ตาลีบัน และอัล-กออิดะ พรรคจามัต ฯ เคยร่วมมืออย่างใกล้ชิด กับระบอบทหารในปากีสถาน ในสงครามปี 1971 (แต่สงครามครั้งนี้ กลับนำไปสู่การตั้งประเทศบังคลาเทศ ที่แยกตัวเป็นเอกราชจากปากีสถาน ก่อนนั้น บังคลาเทศรู้จักกันนามปากีสถานตะวันออก) และก็ยังคงใกล้ชิดกับอิสลามบัด มาตั้งแต่นั้น ดังนั้นความรู้สึกต่อต้านอินเดียจึงไม่ใช่เรื่องใหม่

พรรคจามัต ฯ มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อการเผยแพร่ มาดราสสา (วงสัมมนา-โรงเรียนสอนศาสนา) ในบังคลาเทศ ซึ่งหลายแห่งเป็นที่ระดมเยาวชน มาทำสงครามศาสนา แม้พรรคจามัต ฯ จะไม่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงกับการก่อการร้าย แต่การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลผสม (มีรัฐมนตรี 2 นาย) ก็ทำให้กลุ่มหัวรุนแรงอิสลาม ได้รับการปกป้องจากรัฐบาล และสามารถกระทำการได้โดยไม่มีความผิด ว่ากันว่า ปีกนักศึกษาของพรรค คืออิสลามฉัตรา ชีบีร์ อยู่เบื้องหลังการโจมตีปัญญาชน และนักเขียนหลายรายในอดีต ต่าง ๆ นานา รวมทั้งการทุบตีและวางระเบิดด้วย

สำหรับพรรคออยกียา โจตินั้น ว่ากันว่าสมาชิกพรรคหลายคน เป็นสมาชิกของเอชยูเจไอ พวกหัวหน้าอาวุโสในสองพรรคนี้ ต่างโอ้อวดสายสัมพันธ์ของตน กับตาลีบัน/อัล-กออิดะอยู่แล้ว โดยเปิดเผยเสมอมา
นอกจากความจำเป็นทางการเมือง ที่ต้องรวมเอาพวกสุดขั้วเหล่านี้ เข้ามาในรัฐบาลผสมของตน การที่นางกาห์ลีดา ไม่จัดการใด ๆ กับพวกอิสลามจีฮัด ก็มาจากความเปิดอริเป็นการส่วนตัวของนาง กับชี๊ค ฮาซีนา ผู้นำสันนิบาติอาวามี ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในตอนนี้ ผู้สื่อข่าวอาวุโสคนหนึ่งในดาห์กาบอกว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2003 "พรรคบีเอ็นพีเห็นความจำเป็น ที่ต้องมีพวกสุดขั้ว เอาไว้กำราบสันนิบาตอาวามีที่ยึดแนวฆราวาส"

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับอินเดีย ก็ทำให้บีเอ็นพีไม่ให้ความร่วมมือ กับความกังวลของอินเดีย สมการระหว่างดาห์กากับนิวเดลี ไม่เคยราบรื่น โดยเฉพาะเมื่ออินเดีย มีความสัมพันธ์ที่กับสันนิบาตอาวามี อินเดียชอบที่จะติดต่อกับรัฐบาลสันนิบาติ ฯ มากกว่า ความสัมพันธ์นี้มีมาตั้งแต่ปี 1971 ที่อินเดียใช้ทั้งการทูต การเมือง การทหาร และวัตถุ สนับสนุนพรรคสันนิบาติ ฯ ในการประกาศเอกราช จากปากีสถานในปี 1971 พรรคบีเอ็นพีปล่อยให้กองโจรต่อต้านอินเดีย ใช้ดินแดนของตัว เพื่อใช้เป็นกระเดื่องงัดกับอินเดีย หวานชื่นกับปากีสถาน แต่ละเลยความสัมพันธ์ระหว่างดีจีเอฟไอกับไอเอสไอ นั่นคือความพยายาม ที่จะกดดันอินเดียต่อไป แต่ความจริงแล้ว ใช่ว่าสภาพเช่นนี้ จะเป็นความผิดของรัฐบาลนางกาห์ลีดา แต่ฝ่ายเดียวก็หาไม่ เพราะทุกรัฐบาลในบังคลาเทศ ไม่ว่าจะเป็นบีเอ็นพี สันนิบาต ฯ หรือกระทั่งรัฐบาลทหาร ล้วนมีส่วนในการเพิกเฉย ต่อสัญญาณเตือนแบบนี้และกลายเป็นการให้ท้ายพวกสุดขั้วไปในที่สุด

บางส่วนในรัฐบาลอินเดีย ชอบที่จะอธิบายการขยายตัวของลัทธิคลั่งศาสนาในบังคลาเทศว่า เป็น "กระบวนการแปรเป็นตาลีบัน" ของบังคลาเทศ หากมองที่ปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าพูดค่อนข้างเว่อร์ เพราะบังคลาเทศ ยังห่างไกลจากการเป็นอัฟกานิสถานในอดีต หรือกระทั่ง ปากีสถานในปัจจุบันนี้ ประเทศนี้มีประวัติความเป็นมา (รากเหง้า ประเพณี) ที่ความเป็นชาตินิยม (ในกลุ่มภาษา) ครองความเป็นเจ้า เหนือความเป็นชาตินิยม (ในทางศาสนา) วัฒนธรรมของบังคลาเทศยังคงหยั่งราก อยู่ที่การอยู่ร่วมแบ่งสันปันส่วนกัน ระหว่างชาวมุสลิมกับชาวฮินดู มาตั้งแต่อดีต แต่การที่รัฐบาลบังคลาเทศ ไม่ยอมจัดการกับพวกจีฮัด และพวกคลั่งศาสนาอิสลาม อาจจะเปลี่ยนสมการนี้ได้ อันนำไปสู่การที่บังคลาเทศ ไม่สามารถพัฒนาสถานะภาพของตน ขึ้นมาเป็นประเทศมุสลิมที่ทันสมัยได้
การที่รัฐบาลบังคลาเทศ ปฏิเสธไม่ยอมจัดการกับพวกสุดขั้ว เป็นแต่เพียงประโยชน์ทางการเมือง เฉพาะหน้า พวกสุดขั้วเหล่านี้ ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย หากเราพิจารณาความเป็นจริงที่ว่า พวกทหารมีบทบาทสำคัญ ในความรุ่งเรืองของพวกคลั่งศาสนาอิสลามในบังคลาเทศ การที่รัฐบาลชุดนี้ ปฏิเสธไม่ยอมจัดการกับการก่อการร้าย จะนำมาซึ่งความความเสียหายใหญ่หลวง มาสู่ประชาธิปไตยของบังคลาเทศ ที่กำลังอยู่ในภาวะตั้งไข่ ทั้งในระยะกลาง และในระยะยาว

บังคลาเทศมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนHUJI ข้อมูลจาก ผู้เขียน : สุฐา รามจันทราน ปัจจุบันเป็นผู้สื่อข่าวอิสระและนักวิจัยในบังกลอร์
ในบรรดากลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ ที่เติบโตเร็วที่สุด คือขบวนการฮาร์กัต-อุล ญิฮาด อิสลามี หรือ ขบวนการสงครามศักดิสิทธิ์อิสลาม(เอชยูเจไอ)
รากเหง้าของขบวนการสงคราม ฯ มีพื้นเพสืบเค้ามาจากปากีสถาน และอัฟกานิสถาน จากกลุ่มสุหนี่สุดขั้ว นิกายดีโอบันด์ ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1980 เพื่อปลดปล่อยอัฟกานิสถาน จากการยึดครองของโซเวียต ต่อมาในปี 1992 ก็มีรายงานว่า ได้มีการจัดตั้งหน่วยเอชยูเจไอบังกลาเทศขึ้นมา ให้ความช่วยเหลือโดยตรงต่ออุสมา บิน ลาดิน และคงความใกล้ชิดกับอัล-กออิดะห์เรื่อยมา และเป็นสมาชิกของแนวร่วมอิสลามระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) ของบิน ลาดินอีกด้วย ปัจจุบัน ว่ากันว่าเอชยูเจไอ มีสมาชิก 15,000 คน ในจำนวนนั้น เป็นฝ่ายสู้รบราว 2,000 คน สมาชิกส่วนใหญ่ได้มาจากโรงเรียนสอนศาสนา 60,000 แห่ง ในบังกลาเทศ แล้วก็ส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ

บังกลาเทศมีพรมแดนติดกับ 5 แคว้น ของอินเดีย ยาว 4,095 กิโลเมตร ใน 5 แคว้นของอินเดีย ที่ติดบังกลาเทศ มีแคว้นตรีปุระกับอัสสัม ทางอีสาน ที่เต็มไปด้วยกองโจร พวกหลบหนีเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย พ่อค้ายาเสพติด และพวกกองโจร หลายพันคน พากันป้วนเปี้ยนเข้า-ออก ข้ามพรมระหว่างสองประเทศนี้ ส่วนทางตะวันออกเฉียงใต้ บังกลาเทศก็มีพรมแดนติดกับพม่า ซึ่งก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งพอ ๆ กัน ภูมิประเทศแถบนี้เป็นเขตภูเขาสูง ป่าไม้รกชัฏ เหมาะเป็นที่หลบซ่อนของพวกกองโจรและการขนถ่ายอาวุธไปทั่วทั้งเอเชียอาคเนย์

แต่จุดที่เอื้อประโยชน์ ให้การขนถ่ายอาวุธทางทะเล ของเอชยูเจไออย่างมาก คือเมืองท่าจิตตะกองในบังกลาเทศ และบริเวณรอบ ๆ เมืองจิตตะกอง กับเมืองค็อกซ์'ส บาซาร์ เขตนี้เองที่เอชยูเจไอ ตั้งค่ายของตนขึ้น จากข้อมูลของเว็บไซต์ เซาธ์ เอเชีย เทอร์เรอริสม์ ปอร์ทอล (เอเอทีพี) เอชยูเจไอมีค่ายฝึกอบรมการใช้อาวุธ 6 แห่งรอบ ๆ เมืองจิตตะกอง นอกจากนี้ ยังมีรายงานที่ไม่ยืนยันอีกว่า ยังมีค่ายแบบนี้อีก6แห่งรอบๆเมืองค็อกซ์'สบาซาร์

ภารกิจหลักของเอชยูเจไอในบังกลาเทศ คือสถาปนากฎหมายอิสลาม ตรงตามคำขวัญของขบวนการที่ว่า "อัมรา โซไบ โฮโบ ตาลีบัน, บังคลา โฮเบ อัฟกานิสถาน" (เราจะเป็นตาลีบัน และบังกลาเทศจะเป็นอัฟกานิสถาน) เอชยูเจไอก็เหมือนตาลีบัน คือไม่ชอบดนตรี การเต้นรำ และภาพยนตร์ โดยถือว่ามันไม่ใช่อิสลาม และเป็นสิ่งเหลวแหลก เอชยูเจไอต่อต้านอิทธิพลอินเดีย และโลกตะวันตกโดยถือว่ามันเป็นวัฒนธรรมฮินดูและคริสเตียน

เอชยูเจไอมีประวัติทำร้ายพวกฆราวาส ปัญญาชนหัวทันสมัย นักเขียน และนักข่าวอยู่เสมอ ๆ เช่นในปี 2000 ลอบสังหารนักหนังสือพิมพ์ชาวบังกลาเทศใหญ่ผู้หนึ่ง โทษฐานที่เขียนบทความสรรเสริญพวกฮินดูในบังกลาเทศ มีปัญญาชนแนวฆราวาสอีกหลายคน รวมทั้งทาสลิมา นาสรีน นักเขียนสตรี ก็ถูกหมายหัว เอชยูเจไอเป็นผู้ต้องสงสัยสำคัญ ในความพยายามลอบสังหารชี๊ค ฮาซินา นายกรัฐมนตรีในตอนนั้นของบังกลาเทศ ในปี 2000 ฮาซินาเป็นหัวหน้าพรรคสันนิบาตอาวามี ซึ่งเป็นพรรคกลาง-ซ้าย แนวฆราวาส การลอบวางระเบิดเวลาและการขว้างระเบิด ที่เคยเกิดขึ้นเสมอ ในบังคลคาเทศในหลายปีมานี้ก็เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของเอชยูเจไอ

แม้ภารกิจเดิมของเอชยูเจไอ คือก่อตั้งการปกครองแบบอิสลาม ขึ้นในบังกลาเทศ แต่ความทะเยอทะยานกับการขยายตัวออกไปนอกประเทศ ก็นับวันเติบใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ในระหว่างทศวรรษที่ 1990 กลุ่มนี้เป็นผู้ฝึกอาวุธให้กองโจรโรฮินยามุสลิมในพม่า เอชยูเจไอส่งสมาชิกไปร่วมรบในอัฟกานิสถาน และรบกับฝ่ายรักษาความปลอดภัยอินเดีย ในแคว้นจัมมูแคชเมียร์ และให้ที่หลบซ่อนแก่พวกกองโจรอินเดียทางภาคอีสาน

การที่พวกหัวรุนแรงอิสลามในบังกลาเทศ กลายเป็นห่วงโซ่สำคัญของการทำญิฮาดทั่วโลก ของอัล-กออิดะห์ ปรากฏชัดขึ้น ในปลายทศวรรษที่ 1990 1 ใน 5 ของผู้ลงนาม ในคำประกาศของบิน ลาดิน วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1998 ที่เรียกร้องให้มีการทำสงครามครูเสดกับพวกยิว คือฟาซลูร์ ราห์มัน ซึ่งเป็นตัวแทนของขบวนการญิฮาดในบังกลาเทศ ซึ่งเอชยูเจไอก็เป็นผู้ก่อตั้งขบวนการนี้อีก

หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ภาพพจน์ในวงการก่อการร้ายของเอชยูเจไอ พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังจากล่มสลายของเมืองกันดาฮาร์ (คันฑาระ) ปลายปี 2001 (เมืองกันดาฮาร์เคยเป็นศูนย์กลางของพวกตาลีบันในอัฟกานิสถาน) และตาลีบันและอัล-กออิดะห์ถูกขับออกนอกประเทศ บังกลาเทศจึงกลายเป็นรังแห่งใหม่อีกแห่งหนึ่ง ว่ากันว่า ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2001 มีนักรบอาหรับและอัฟกัน ติดอาวุธเพียบ 150 คน มาขึ้นบกที่เมืองจิตตะกอง โดยเรือที่มีชื่อว่า เอ็มวี เมกกะ และเอชยูเจไอเป็นฝ่ายต้อนรับคนกลุ่มนี้และที่ทยอยตามมาอีกหลายละลอก

หลัง 11 กันยายน ความรับผิดชอบของเอชยูเจไอ ในการทำญิฮาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีข่าวว่า เป็นศูนย์ฝึกผู้ก่อการร้ายจากภาคใต้ของไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย และบรูไน และส่งนักรบพวกนี้ ไปยังอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเชชเนีย เอชยูเจไอต้องสงสัยว่า มีส่วนร่วมในความพยายามลอบสังหาร ประธานาธิบดีเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ แห่งปากีสถาน 2 ครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งพยายามจะเอาชีวิตฮาซินา (ตอนนี้เป็นหัวหน้าฝ่ายค้าน) เมื่อเดือนสิงหาคม 2547 ที่ผ่านมานี้อีกด้วย รวมทั้งต้องสงสัยว่า เป็นตัวหลักในการโจมตีสถานกงสุลสหรัฐในเมืองโกลกาตาเมื่อ2ปีก่อน

การเลือกตั้งทั่วไปของบังกลาเทศ เมื่อเดือนตุลาคม 2001 ออกมาเป็นรัฐบาล ที่ให้ที่พำนักพักพิงกับการเจริญเติบโตของขบวนการคลั่งศาสนา เช่น เอชยูเจไอ คือรัฐบาลผสม ที่นำโดยพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (บีเอ็นพี) ถือกำเนิดขึ้นมาจากการเลือกตั้งหนนั้น ในรัฐบาลผสมชุดนี้ ประกอบด้วยพรรคคลั่งศาสนา 2 พรรค คือพรรคญามาอัต-อี-อิสลามี กับพรรคอิสลามิก ออยกียา โจติ ซึ่งทั้งคู่ประกาศสนับสนุนตาลีบันกับอัล-กออิดะห์อย่างเปิดเผย ว่ากันว่า อาซิซุล ฮัก ประธานพรรคอิสลามิกออยกียาโจติเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาของเอชยูเจไออีกด้วย

การคุ้มครองจากรัฐบาลนี้เอง ทำให้เอชยูเจไอเติบใหญ่ขึ้นอย่างมาก นอกจากนั้น เอชยูเจไอก็มีผู้สนับสนุนในต่างแดนอีก คือได้เงินทุนจากบิน ลาดิน เว็บไซต์เอสเอทีพีกล่าวว่า ได้รับเงินช่วยเหลือจากปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย และอัฟกานิสถาน โดยผ่านองค์กรเอกชนมุสลิมหลายแห่งในบังกลาเทศ เป็นต้นว่ามูลนิธิฮัล-ฟารุก อิสลามิก, อาดาสาร์ คูตีร์ และฮาทัดดิน ด้วย

ฝ่ายข่าวกรองและความมั่นคงหลายแห่ง พูดถึงอันตรายของเอชยูเจไอที่มีต่อโลกว่า ยังอยู่อีกไกล ที่พูดเช่นนี้ อาจเป็นเพราะพวกเขาก็กำลังหมกมุ่น อยู่กับจุดเดือดในที่แห่งอื่น ไม่มีเวลามาติดตาม ประเมินศักยภาพของเอชยูเจไออย่างจริง ๆ จัง ๆ ในระหว่างนี้ การก่อการร้ายก็กำลังแผ่ขยาย ผ่านประตูบานนี้ออกไปอย่างเงียบๆ

จงระวังอัล กออิดะห์ และนักเฝ้าจับตามองอัล กออิดะห์ เขียนโดย : บี รามัน อดีตเลขาธิการพิเศษของกองเลขานุการคณะรัฐมนตรีของอินเดียปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันศูนย์ศึกษาเขตร้อน เมืองเชนไน นักวิชาการที่มีชื่อเสียงของออบเซิร์ฟเวอร์รีเสิร์ชฟาวเดชัน(โออาร์เอฟ)

ยังจำพวกที่คอยจับตาวังเครมลิน ในสมัยที่ยังอยู่ในยุคสงครามเย็น กับบรรดาหนังสือขายดีชื่อ "อาณาจักรปีศาจ" อะไรเทือกนั้น ของพวกเขา ได้หรือเปล่า ? แล้วก็เรื่องราวต่าง ๆ อันน่าขนพองสยองเกล้าของพวกคอมมิวนิสต์ ที่พวกเขาเอาไปลือ และหนังสือพิมพ์ก็เก็บเอาไปวิพากษ์วิจารณ์ เขียนเป็นเชิงวิเคราะห์เจาะลึกกันต่อ ? และก็เรื่องเอกสารลับสุดยอด ที่ว่ารั่วออกมาจากโซเวียต และพรรคคอมมิวนิสต์ แล้วหนังสือเอามาเขียนเป็นตุเป็นตะ ให้ที่เอิกเกริกเบิกบานกันไป ?

แล้วท่านยังจำแถลงการณ์ของจอห์น เมเจอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษในสมัยนั้น ที่ตอบกระทู้ในสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 หลังสหภาพโซเวียตล่ม และสงครามเย็นสิ้นสุดไปแล้วไปใหม่ ๆ โดยเขายอมรับกับสภา ฯ ว่า หนังสือขายดีของผู้ที่จับตาดูเครมลินจำนวนมากนั้น มีกระทรวงต่างประเทศอังกฤษเป็นคนหนุนหลัง

แต่สิ่งที่นายก ฯ เมเจอร์ไม่ยอมรับก็คือ พวกจับตา ฯ และหนังสือขายดีเหล่านี้ ยังได้รับการสนับสนุนจาก (ให้ข่าวผิด ๆ) จากฝ่ายข่าวกรองอังกฤษ (เอสไอเอส-เอ็มไอ 6) และซีไอเอของสหรัฐด้วย พวกจับตา ฯ ก็เป็นอีหรอบเดียวกับนักวิเคราะห์การก่อการร้ายในปัจจุบันนี้ คือเลียกินทุกอย่างที่แผนกกุข่าวป้อนให้

ตั้งแต่ 11 กันยายน 2544 เป็นต้นมา เราได้ประจักษ์ถึงการถือกำเนิดขึ้นมา ของนักจับตาอัล กออิดะห์ งานเขียนและเรื่องน่าสยดสยอง เช่นเดียวกับนักจับตา ฯ แต่กี้ พิจารณาข้อเขียนของพวกเขาให้ดี ก็จะเห็นความเหมือนกัน คืออีหรอบที่ว่า "คุณหลอกผม ผมหลอกคุณ อย่ากระนั้นเลย เรามาช่วยกันหลอกโลกดีกว่า" (*หลอกหลอน ไม่ใช่หลอกล่อ) เรื่องยิ่งน่ากลัวเท่าไหร่ ก็ยิ่งขายดีมากขึ้น ถ้าจะว่ากันไป ก็คือตากหญ้ากับแสงแดดของอัล กออิดะห์ (เกษตรกรในเขตอบอุ่น จะเกี่ยวหญ้า ตากแดดเอาไว้ แล้วเก็บไว้เป็นฟ่อน เพื่อให้ปศุสัตว์ของตนกินในหน้าหนาว) นั่นเอง

คนเหล่านี้อ้างอิงกันไปมา และเห็นชัดว่า หลายคนในนั้น ไม่แม้แต่จะตรวจสอบการคำสารภาพของผู้ก่อการร้าย ที่ต้องขังในคุกสหรัฐ ทั้งที่อ่าวกวนตานาโม่ ที่ดิเอโอ การ์เซีย และที่อัฟกานิสถาน คนเหล่านี้ไม่รู้สึกผิดกับความคิดที่ว่า เมื่อฝ่ายข่าวกรองอังกฤษและสหรัฐ สามารถหลอกลวงโลกได้ โดยกุข่าวให้เป็นเรื่องเป็นราว เรื่องอาวุธทำลายล้าง (ดับเบิลยูเอ็มดี) ที่อิรักมีอยู่ หรือที่ว่า ซัดดัมมีความเกี่ยวโยงกับอัล กออิดะห์ เพื่อที่ตนเองจะไปบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ (ในกรณีนี้คือบุกอิรัก) ได้ พวกเขา ก็ย่อมสามารถกุเรื่องน่าขนลุกของผู้ก่อการร้าย เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของตนได้เช่นกัน(ในกรณีนี้คือทำสงครามปราบผู้ก่อการร้าย)

เมื่อผมได้อ่านบทวิเคราะห์เหล่านั้นซ้ำ ๆ อิงกับข้อมูลที่ได้มาจากคำสารภาพของนักโทษ ผมก็นึกถึงประสบการณ์ของผมเอง ในปี 1992 ในตอนนั้น รัฐบาลในนิวเดลี สั่งให้บรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลาย ในแวดวงข่าวกรอง ตระเตรียมเอกสาร เรื่องที่ปากีสถานหนุนหลังการก่อการร้ายในอินเดีย

พอเราเอาเอกสารพวกนั้น ไปส่งให้เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของอังกฤษกับสหรัฐ พวกเขาก็ตีกลับมา ไม่แม้แต่จะเปิดอ่านให้ถ้วนถี่ด้วยซ้ำ โดยแจ้งมาทางเราว่า ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ใช้ มาจากคำสารภาพของผู้ก่อการร้าย ที่ติดคุกในอินเดีย แล้วบอกกับพวกเราอย่างเหยียด ๆ ว่า "ข้อมูลจากการสอบสวน ไม่ถือเป็นหลักฐานทางตรง ผู้ก่อการร้าย อาจถูกทรมานให้รับก็ได้" พอเราเอาหลักฐานการจากดักฟัง ไปยันกับคำสารภาพ พวกเขาก็ย้อนว่า "แล้วรู้ได้ไงว่า การดักฟังนี่เป็นของจริง ?"

เมื่อพิจาณาดูหลักฐานเรื่องอัล กออิดะห์ ของพวกที่เฝ้าดู ฯ ที่ปรากฏในหนังสือขายดี แล้วเอาคำสารภาพลบออก (ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสหรัฐก็ใช้เหมือนกัน) แล้ว หลักฐานโดยตรงต่าง ๆ ก็แทบจะไม่มีเหลืออยู่เลย)


ถ้ากำกับชื่อไว้ก็ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าไม่นี่สิ จะรู้ได้อย่างไรว่าเอกสาร แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ ฯลฯ ของพวกอัล กออิดะห์ ในระหว่างที่มีการทิ้งระเบิดในอัฟกานิสถาน ระหว่างปี 2001-02 นี่ เป็นของนักข่าวเอง หรือของฝ่ายความมั่นคง ? ตอนทหารเข้าไปค้น หลังทิ้งระเบิดผ่านไปแล้ว ไม่เห็นพวกเขาบอกว่ามีเอกสารอะไร ฯลฯ แต่พอนักข่าวตามเข้าไป กลับพบเอกสาร แถบบันทึกเสียง ฯลฯ เป็นกะตัก นี่เป็นของอัล กออิดะห์ จริงหรือ หรือพวกฝ่ายกุข่าวของซีไอเอเอามาทิ้งไว้ เพื่อให้นักข่าวได้ร่าเริงใจที่ได้"ค้นพบ"แล้วเผยแพร่มันต่อๆออกไป

โลกรู้ดีว่าสหรัฐใช้วิธีการทรมานนักโทษในคุกแบบไหน แม้แต่องค์การกาชาดสากล ก็รายงานว่ามีการทรมานนักโทษในเรือนจำในอ่าวกวนตานาโมของสหรัฐ พวกเราก็ได้เห็นในจอทีวี ถึงวิธีการที่เขาทรมานนักโทษในอิรัก แล้วเราจะรับเอาข้อมูลของพวกเขา ที่ได้มาโดยวิธีการนี้ มาโดยไม่สอบถามอะไรเลยหรือ?

พูดถึงผู้ก่อการร้ายที่ถูกจับหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน (ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของอัล กออิดะห์ ในปากีสถาน หรือนายฮัมบาลีแห่งขบวนการญะมาอะห์ อิสลามิยะห์ในไทย หรือที่อื่น ๆ ทั่วโลก) ล้วนต้องถูกสอบสวนโดยสหรัฐ และชาติตะวันตกก่อนใครทั้งสิ้น ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นที่ต้องการตัวในบ้าน มากแค่ไหนก็ตาม จากตัวอย่างเหล่านี้ โลกเคยได้รับรู้ผลการสอบสวนของพวกเขาบ้างไหม ? แล้วยอมรับข้อมูลมา โดยไม่ตรวจสอบอะไรเลยได้อย่างไร ? แล้วพวกเฝ้าจับตา ฯ เขามีหน้าที่มาบอกให้เราถามหาที่มาของข้อมูลที่พวกเขาใช้เขียนหรือ?

ตอนนี้ ขอให้เรามาดูพวกเฝ้าจับตา ฯ เปลี่ยนจุดยืนหลัง 11 กันยายนดู ตอนแรกนั้น ว่ากันว่าอัล กออิดะห์ เป็นองค์การระดับมหึมา มีกำลังพลทั่วโลก ราว 42,000 คน แล้วค่อย ๆ ลดจำนวนลงมา จนตอนนี้ เหลือแค่ 500 คน เท่านั้น พวกเขายังบอกอีกว่า พวกนี้เป็นเพียงคนเผยแพร่อุดมการณ์ ให้พวกมุสลิมในประเทศต่าง ๆ รับไปเปิดสาขา แฟรนไชส์กันเอาเอง ก่อนนี้พวกเขาบอกเราว่า อัล กออิดะห์เป็นชื่อองค์การ แต่ตอนนี้มาบอกว่าเป็นชื่อขบวนการแพน-อิสลาม ที่บิน ลาดิน เอามาเผยแพร่ และองค์การที่แท้จริงในแต่ละประเทศรับเอาไปปฏิบัติ

ขณะที่สหรัฐอ้างว่า สยบพวกหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการอัล กออิดะห์ ในที่ต่าง ๆ ได้ผลชะงัด แต่กลับมีการก่อการร้าย โดยอ้างสงครามศาสนาเกิดขึ้นต่อเนื่อง มาจนทุกวันนี้ ตอนนี้ พวกนักเฝ้าจับตา ฯ ก็ออกมาบอกเราว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับหัวหน้าผู้ก่อการร้ายรุ่นใหม่ ที่น่ากลัวกว่าแต่เก่า วาดภาพฝันร้ายการก่อการร้ายทางทะเลออกมาให้โลกตื่นกลัว การตบแต่งภาพเหล่านั้น (ไม่ว่าจะทำโดยตั้งใจ หรือไม่) กำลังรับใช้เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ไถเกรดบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับระเบียบโลกใหม่ให้มากองรวมกัน

พอชี้ให้เห็นว่า จนกระทั่งปัจจุบันนี้ มีการก่อการร้ายทางทะเล ที่พอจะโยงไปถึงอัล กออิดะห์ เกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งเท่านั้น (คือ การโจมตีเรือรบ ยูเอสเอส โคล ปี 2000 และเรือบรรทุกน้ำมันฝรั่งเศส ชื่อลิมเบิร์ก ในปี 2002 นอกอ่าวเอเดนทั้งคู่) พวกนักจับตา ฯ ก็บอกเราว่า นั่นก็เป็นเพราะผู้ก่อการร้าย ยังไม่ได้ใช้การก่อการร้ายทางทะเล มาสกัดกั้นการขนส่งน้ำมัน และกรอกหูเราว่า ไม่ได้หมายความว่า มันจะไม่ทำแบบนี้ในอนาคต การออกมาพูดแบบนี้ ต้องอาศัยสติปัญญามากมายขนาดนั้นเลยเชียวหรือ ? แม้แต่เด็กอนุบาลก็น่าจะเดาออก พวกเขาบอกเราว่า การก่อการร้ายทางทะเลกำลังจะเกิดขึ้น ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าแล้ว (ดีที่ไม่บอกว่ากี่ปีข้างหน้า) เตรียมรับมือระดับ 11 กันยายนได้เลย

ตอนที่ผมไปฟังการสัมมนา ระดับสากลครั้งหนึ่ง ในปี 2002 ผู้เฝ้าจับตา ฯ ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง พูดถึงบิน ลาดิน ในแบบที่ว่าถ้าบิน ลาดินได้มาฟัง เป็นต้องม้วนต้วนแน่ ๆ ผมฟังไป ก็ไม่เชื่อไป เพราะหลาย ๆ อย่างที่นักเฝ้าจับตา ฯ คนนั้น กล่าวถึงเขา บิน ลาดินคงไม่รู้มาก่อนเลยก็ได้ เขาบอกว่า บิน ลาดินบริหารอัล กออิดะห์ เหมือนซีอีโอสมัยใหม่ บริหารบริษัท ส้นแน่ะครับ

ผมเองยังนึกสงสัยอยู่ไม่หายว่า บิน ลาดินเองจะเรียกองค์การของเขาว่า 'อัล กออิดะห์' จริง ๆ หรือเปล่า เขาเคยพูดชื่อนี้จริง ในการประชุมแนวร่วมอิสลามระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1998 และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ก็หยุดใช้ชื่อนี้ไปเลย เวลาพูดกับสานุศิษย์ในประเทศอื่น ๆ ของตน ก็บอกแค่ว่า 'มูจาฮีดีน' (นักรบศาสนา) เฉย ๆ กระนั้นก็ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ก่อการร้ายในซาอุดิอาเบียกับอิรักเรียกตนเองว่าตนเป็นสมาชิกอัลกออิดะห์

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมถามแหล่งข่าว ที่ทราบเรื่องดีของผมในปากีสถาน ว่าบิน ลาดิน เรียกองค์การของตัวว่าอัล กออิดะห์จริงหรือไม่ เขาตอบว่า "ไม่เลย พวกอเมริกันเป็นคนเรียก ฟังดูแล้ว มันออกยั่ว ๆ มีผลกับมุสลิมสามัญชนไม่น้อย ดังนั้น พวกเขาเลยเรียกตนเองว่าอัล กออิดะห์"

เท่าที่ผมรู้ (ถ้าผิด ก็บอกด้วย) องค์การก่อการร้ายจีฮัดนี้ เคลื่อนไหวมานานหลายปีแล้ว ก่อนที่บิน ลาดินมาปรากฏตัวขึ้นที่อัฟกานิสถาน เมื่อปี 1996 องค์การเหล่านี้ไม่ได้ถือกำเนิด หรือเป็นหนี้อะไรกับบิน ลาดิน สิ่งที่บิน ลาดินทำให้ตอนนั้นคือ นำพวกเขามารวมกัน เป็นแนวร่วมอิสลามสากล (ไอไอเอฟ) และทำให้พวกเขายอมรับอุดมการณ์แพน-อิสลาม และหันมารวมศูนย์ ใส่คนอเมริกากับคนยิวไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใดก็ตาม

และจริง ๆ แล้ว ขบวนการอัล กออิดะห์ (ไม่ว่าจะเรียกหากันแบบไหน) มีจริง บิน ลาดินกับสานุศิษย์ และองค์การก่อการร้ายจีฮัดทั้งหลาย ที่เชื่อฟังเขา ยังคงเป็นภยันตรายต่อเสรีภาพ และความปลอดภัย ของพลเรือนผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หลายล้านคนทั่วโลก คนพวกนี้กักขฬะ และพร้อมที่จะใช้ทุกวิถีทาง ข่มขู่เข่นฆ่าและก่อกวนชีวิตตามปกติสุข
ขณะที่เราต้องคอยรับมือ และตอบโต้พวกมัน เราก็ต้องเลี่ยงที่ จะไม่วาดภาพมันให้ใหญ่โตเกินไป ซึ่งจะเป็นการไปเข้าทางมัน เราต้องมีวิจารณญาณที่เปิดอิสระ อย่ายอมปล่อยให้บทวิเคราะห์เจาะลึกแบบนี้มาดึงเราไปเข้าทางอเมริกันด้วย

สรุปก็คือ จงระวังอัล กออิดะห์ และนักเฝ้าจับตามองอัล กออิดะห์ด้วย

///////////////////////////


คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com