www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 4 คน
 สถิติเมื่อวาน 45 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2530 คน
52317 คน
1744761 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

 

วิเคราะห์สถานการณ์ป่วนเมือง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 128 จุด
1-2สิงหาคม 2549
โดย ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ ผู้สื่อข่าว 8 ว

การก่อเหตุ เป็นเพียงเหตุการณ์เล็ก ๆ เพื่อให้เป็นข่าว
เมื่อช่วงหัวค่ำ วันอังคารที่ 1 สิงหาคม 2549 ตั้งแต่เวลา 20.00 น.ถึง เวลา 22.00 น. กลุ่มคนร้ายไม่ทราบกลุ่ม ได้ออกก่อความไม่สงบ ในพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี กลุ่มคนร้ายมุ่งก่อกวนโดยวิธีการ เผายางรถยนต์ เผายางรถจักรยานยนต์ เผาเศษผ้า การใช้ขวดบรรจุน้ำมันขว้างใส่ ป้อมยาม การโปรยตะปูเรือใบ การลอบเผาตู้โทรศัพท์สาธารณะ ซึ่งการกระทำจะเป็นจุดเล็ก ๆ ไม่สร้างความเสียหายมากนัก แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นภาพที่ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ส่วนจุดใหญ่ ๆ มีเพียง จุดเดียว คือ การลอบเผาโรงยางไทยปักษ์ใต้ พื้นที่ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ได้รับความเสียหาย มูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท โดยพื้นที่ที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ จังหวัดปัตตานี เกิดขึ้นครบ 12 อำเภอ จำนวน 93 จุด และในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่สามารถจับคนร้ายได้ 2 คน

ในส่วนของ จังหวัดนราธิวาส เกิดเหตุการณ์ จำนวน 7 จุด 6 อำเภอ พฤติกรรมของคนร้าย มีการเผายางรถยนต์ ยิงปืนสงคราม เพื่อให้เกิดเสียงดัง ราวกับว่า เป็นการประกาศ อะไรบางอย่าง การยิงปืนใส่บ้านพักตำรวจ การวางระเบิดหน้า อบต. ซึ่งการกระทำของคนร้าย มุ่งต่อต้านการปกครอง และมุ่งโจมตีทหาร ที่สำคัญคนร้ายยังมุ่งทำลายสถานที่บันเทิงที่ถือว่า เป็นแหล่งอบายมุข โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอสุไหงโกลก ถูกลอบวางระเบิด 2 ร้าน คือ ร้านหงส์ฟ้าคาราโอเกะ และร้านใบหม่อนคาราโอเกะ โดยวิธีการวางระเบิดของคนร้าย จะนำระเบิดไปวางไว้ที่บริเวณหน้าร้าน แต่อานุภาพของระเบิดไม่ร้ายแรงมากนัก จึงไม่ทำให้ใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต การลอบโจมตีของคนร้ายเลือกเวลาลงมือในช่วงหัวค่ำ พร้อมกันคือเวลา ประมาณ 20.00 น. แต่เวลากลางวันมีจุดเดียวคือ การลอบโจมตี ขบวนรถยนต์แพทย์ทหารที่จะเข้าไปในพื้นที่ โรงเรียนสามัคคี ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง แต่อานุภาพของระเบิดไม่ร้ายแรงมากนัก

ทางด้านจังหวัดยะลา เกิดเหตุการณ์ จำนวน 19 จุด ใน 5 อำเภอ คือ อำเภอรามัน อำเภอกรงปินัง อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา และอำเภอเมือง พื้นที่ดังกล่าวถือว่าเป็นพื้นที่ การเคลื่อนไหวของกลุ่มโจร ที่เคยออกปฏิบัติการก่อความไม่สงบ โดยการก่อกวนในคราวนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการเผายางรถยนต์ ถึง 9 จุด เผาเศษเสื้อผ้า 4 จุด เผาลังกระดาษ 2 จุด ขว้างขวดน้ำมัน 3 จุด และวางระเบิดแสวงเครื่อง อีก 1 จุด แต่ละจุดไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก ยุทธวิธีของคนร้าย ยังคงก่อกวนเพื่อแสดงให้เห็นว่า สามารถที่จะสร้างความปั่นป่วน ให้เกิดขึ้น

วันที่ 2 ส.ค.49 เวลา 06.45 น. พล.ท.องค์กร ทองประสม แม่ทัพภาคที่ 4 ให้สัมภาษณ์ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ถึงสถานการณ์คนร้ายป่วน 3 จังหวัดใต้อย่างหนักเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2549 ว่า ขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ยังคงดีอยู่ และพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าผู้ก่อความไม่สงบได้เจาะถนนเป็นโพรงในเส้นทางสาย 440 สายธารโต-เบตง จ.ยะลา เมื่อนำกำลังไปตรวจค้นพบว่าเป็นหลุมระเบิดกว่า 20 หลุม จึงเก็บกู้ไว้ได้ ถือเป็นการตัดกำลังของผู้ก่อความไม่สงบได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่กลุ่มคนร้ายพยายามแสดงให้เห็นว่ายังมีขีดความสามารถที่จะปฏิบัติการพร้อมกันหลายๆ จุด

แม่ทัพภาคที่ 4 บอกอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่มีการยิงต่อสู้กับคนร้าย ทำให้มีคนร้ายบาดเจ็บ 1 คนที่ จ.ปัตตานี และสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 4 คน

" ในการปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของการติดตาม ตรวจค้น ได้อาวุธเพิ่มเติมจำนวนมาก โดยเฉพาะอาวุธที่ถูกปล้นไปจากกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการก่อเหตุ ซึ่งเป็นความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่"
ต่อมา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2549 พล.ท.องค์กร ทองประสม แม่ทัพภาคที่ 4 ได้แสดงความเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทางสื่อได้เสนอไป 128 เหตุการณ์นั้น จริงๆ แล้วเหตุการณ์หลัก ๆ มีการวางระเบิดในพื้นที่ จ.นราธิวาส 5 เหตุการณ์ ใน 3 อำเภอ มีความเสียหายบ้านและทหารบาดเจ็บเล็กน้อย 1 คน นอกนั้นมีโปรยตะปูเรือใบ การเผายาง ขว้างขวดน้ำมัน ในทางเจ้าหน้าที่จะกำหนดจุดเกิดเหตุเฉพาะสำคัญเท่านั้น จะไม่นำเหตุการณ์ทั้ง 100 กว่าเหตุการณ์มารวมทั้งหมด ซึ่งดูตัวเลขแล้วทำให้ประชาชนตื่นตระหนก


"ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ประเมินเชื่อว่ามีความพยายามและภายในอีก 1-2 วันนี้น่าจะมีการก่อเหตุอีก จึงสั่งให้ทุกหน่วย เตรียมพร้อมตลอดเวลา มีการเพ็งเล็งพื้นที่เขตเมือง สถานที่ราชการ เส้นทางคมนาคม สถานที่สาธารณูปโภคด้วย เป็นการแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายตรงข้ามพยายาม ที่จะสร้างเหตุการณ์ต่างๆให้ดูน่ากลัวซึ่งไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด"

พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 แสดงความเห็นว่า ก่อนเกิดเหตุทางเจ้าหน้าที่ทราบข่าวความเคลื่อนไหวก่อน โดยเฉพาะการวางระเบิดตั้งเวลาเอาไว้ช่วง 20.00 น. ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดจริงๆ แล้วเป็นการเผายางถึง 60 เหตุการณ์ใน 3 จังหวัด และจุดที่สามารถขยายผลได้มี 3 จุด มีการยิงคนร้ายได้ 1 จุดที่ จ.ยะลา และกำลังขยายผล และสั่งให้เจ้าหน้าที่สอบสวนขยายผลแล้ว

พล.ต.ต.วีระยุทธ์ สิทธิมาลิก รอง ผบ.ศปก.ตร.สน.ยะลา บอกว่า ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังดำเนินการตามมาตรการการยึดทรัพย์ตาม 8 มูลฐานความผิด ที่ผ่านมาผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้ประมาณ 150 คน ซึ่งรอคำสั่งศาลพิพากษา ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนที่ไม่มีหลักทรัพย์ ค่อนข้างยากจน ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ต้องคำนึงถึงมนุษยธรรมด้วย ครอบครัวผู้ต้องหาก็มีความลำบาก ตัวผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ มีการสำนึกผิด เนื่องจากปฏิบัติการด้วยความเข้าใจผิด ซึ่งคงจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาดีกว่าการยึดทรัพย์

ที่โรงแรมรามาการ์เด้นกรุงเทพ เมื่อวันที่ 2 ส.ค 49 เวลา 09.45 น. พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ยุติธรรมให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าว ว่า"คืนที่เกิดเหตุทางด้านผวจ. และแม่ทัพยืนยันกับผมว่าเราไปเจอระเบิดและตั้งเวลาไว้ประมาณ 2 ทุ่ม ซึ่งได้สั่งให้ตื่นตัวดูจุดที่สำคัญ ๆ ของจังหวัดแล้ว เขาเองก็ยอมรับว่าจุดที่เกิดเหตุมันเป็นจุดห่างไกล แต่สำหรับจุดที่เฝ้าระวังเตรียมพร้อม ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ หรือที่ต่าง ๆ ถือว่าไม่เป็นปัญหา เมื่อได้ฟังคำพูดของผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วเราก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา เพราะถือว่าเขาได้ตื่นตัว ทำงานได้ดีในจุดหนึ่ง เขาได้ระมัดระวังในจุดที่สำคัญ ๆ แล้ว แต่จุดที่เกิดเป็นจุดที่อยู่ห่างไกล มีการเผายางรถจักรยานยนต์ ซึ่งถ้าไม่ใช่พื้นที่นั้นก็ไม่มีใครให้ความสนใจ แต่อาจจะสวนทางกับข่าวที่ออกมาโดยรวม ซึ่งดูเหมือนแย่"

เมื่อวันที่ 2 ส.ค.49 พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมาให้สัมภาณ์กับ สื่อมวลชนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เกิดเหตุที่ จ.ปัตตานี ทั้งนี้ ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า และเฝ้าระวังอย่างเต็มที่แล้ว และยังออกมาเตือนอีกว่า ทางหน่วยงานด้านการข่าวยังได้แจ้งเตือนอีกด้วยว่า ในเร็วๆ นี้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเตรียมที่จะมีการก่อเหตุขึ้นอีกครั้ง เบื้องต้นได้แจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความล่อแหลม รวมทั้งหน่วยงานราชการและ ยอมรับว่าไม่สามารถตรวจสอบหลักฐานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ได้ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและเปลี่ยว

ทัพบก มอบนโยบาย
เมื่อวันที่ 4 ส.ค.49 พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ โฆษกกองทัพบก แถลงผลการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกว่า ในฐานะที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์เสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กบชต.) ได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก 3 ประเด็นหลัก คือ

1.ใช้งานการเมืองนำการทหาร โดยงานการเมืองคือการพัฒนามวลชน งานปฏิบัติการทางจิตวิทยา งานประชาสัมพันธ์ และงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่วนงานการทหาร คือการทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์และจำกัดเสรีภาพของกลุ่มก่อความไม่สงบให้ด้อยค่าลง

2.รับฟังความคิดเห็นของส่วนราชการที่ทำงานร่วมกันทุกระดับ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3.การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มาก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบ

กลุ่มก่อการ มุ่งเป้าให้ OIC สนใจปัญหา
การก่อเหตุของคนร้ายเมื่อวันที่ 1-2 สิงหาคม 2549 เป็นยุทธวิธี ที่ก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยวิธีการก่อเหตุ จะมีเป้าหมายหลายจุด เพื่อให้สื่อมวลชนกระพือข่าว ว่ามีเหตุการณ์ความไม่สงบทั่วภาคใต้ตอนล่าง เพื่อเป็นการสร้างสถานการณ์ และส่งสัญญาณไปสู่ องค์การประชุมอิสลาม หรือ OIC : The Organization of the Islamic Conference ที่จัดให้มีการประชุม เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2549 ที่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย กลุ่มก่อการต้องการให้ OIC ได้หันมาดูปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ดูเหมือนว่าไม่เป็นผลดั่งที่กลุ่มก่อการต้องการ เพราะการประชุมของ OIC เป็นการประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาสงครามระหว่าง อิสราเอลกับเลบานอน และปาเลสไตน์ ที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งการก่อเหตุ ของคนร้าย จึงเป็นเพียงการโรยตะปูเรือใบ การเผาเศษผ้า การเผาตู้โทรศัพท์ ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้มีมากกว่าร้อยจุด แต่มีเหตุการณ์ใหญ่ ๆ มีเพียงสองเหตุการณ์คือ การลอบเผาโรงยางปักษ์ใต้ ที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และลอบวางระเบิดรถตรวจเส้นทางรถไฟ ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ตำรวจเสียชีวิต 3 นาย แต่ผลการประชุมของ OIC ก็ไม่มีการพูดถึงเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อย่างใด และข้อความต่อไปนี้เป็นข่าวประชาสัมพันธ์ ของ OIC ระบุว่าเป็นการประชุม ที่เกี่ยวกับกรณี อิสราเอล กับเลบานอน

PRESS RELEASE

Emergency OIC meeting in Kuala Lumpur

The Secretary General of the Organization of the Islamic Conference, Prof. Ekmeleddin Ihsanoglu has announced that in view of the unrelenting Israeli assault on Gaza and Lebanon and dangerous escalation of tension in the Middle East, Malaysia, Chairman of the Organization of the Islamic Conference Summit, has called for an emergency meeting of the OIC Executive Committee at the level of head of state/government. The meeting is going to take place in Kuala Lumpur on 3 August 2006, with the participation of the concerned and interested member states.

The Secretary General underlined the importance of demonstrating the Islamic World`s collective concern for this great human tragedy and emphasized the OIC member states` willingness to assist in finding a just, durable and comprehensive peace in the region.

The Secretary General repeated his strong condemnation and denunciation of the ruthless Israeli operations targeting innocent civilians, killing hundreds of people and utterly destroying the basic infrastructure of both the Lebanon and Palestine.

The Secretary-General reiterated his call to the UN Security Council to act for an immediate cease-fire, and to the international community to mobilize for a comprehensive approach to the solution of the problems of the Middle East, taking into consideration all relevant UN Security Council Resolutions, not only 1559, in order to tackle the real causes of tension in the Middle East.


Jeddah, 29 July 2006
(ที่มา www.oic-oci.org)

การก่อเหตุการณ์ความไม่สงบของกลุ่มคนร้าย มีลักษณะที่คล้ายกับเหตุการณ์วันที่ 15-16 มิถุนายน 2549 ที่มีการก่อกวนด้วยการเผา และทำลาย เกือบร้อยจุด เพื่อเป็นการสร้างความสนใจ ต่อ OIC ที่มีการประชุมที่ เมืองบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2549 แต่ผลการประชุมในวันนั้น ไม่มีการสรุปผลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด เพราะทาง OIC เชื่อว่า เป็นปัญหาภายในของไทย เท่านั้น และทาง OIC มีความเข้าใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นว่าไม่มีความขัดแย้งในเรื่องของศาสนา ที่กลุ่มก่อการพยายามจะสร้างให้มีความขัดแย้งทางศาสนา เช่น เหตุการณ์ เมื่อเวลา 06.20 น. วันที่ 14 ก.ค.49 เกิดเหตุระเบิดหน้าบ้านเลขที่ 3/111 ถนนจรูญสำราญ หมู่ 1 ต.รูสะมิแล พบหลุมกว้างประมาณ 1 เมตร ลึกประมาณ 20 ซม. ห่างกันเล็กน้อยพบรถปิกอัพยี่ห้อมิตซูบิชิ ทะเบียน อว 3310 กรุงเทพมหานคร ของทหารถูกสะเก็ดระเบิดที่กระจกหน้าได้รับความเสียหาย ก่อนเกิดเหตุขณะที่ทหารจำนวน 4 นายสังกัด ร้อย ร.5021 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี นำโดย ส.อ.ธีระ เกต จงกล ทำหน้าที่ชุดคุ้มครองพระสงฆ์ออกบิณฑบาต ได้ขับรถยนต์พาพระสงฆ์ จำนวน 2 รูป ออกบิณฑบาตตามปกติ มาถึงที่เกิดเหตุขณะที่พระสงฆ์กำลังเดินบิณฑบาตอยู่นั้นก็เกิดเหตุระเบิดขึ้น แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 4 ส.ค.49 เวลา 06.20 น. ขณะที่พระสงฆ์ วัดชลธาราสิงเห เขตเทศบาลตำบลตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ออกบิณฑบาต มีทหาร ฉก.36 และชาวบ้านชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ชุดคุ้มครองวัด 4 นาย ดูแลความปลอดภัย เมื่อเดินผ่านถนนในหมู่บ้านหัวถนน หมู่ 4 ต.เจ๊ะเห ได้เกิดระเบิดขึ้นบริเวณใต้ผ้าใบหลังคาเต๊นท์ริมถนน ซึ่งพ่อค้าผลไม้สร้างขึ้นเพื่อเก็บลังผลไม้ทำให้ผ้าใบฉีกขาดเสียหายเล็กน้อยไม่มีผู้บาดเจ็บ จากการตรวจสอบพบเป็นระเบิดแสวงเครื่องชนิดแอมโมเนียมในเตรท ใช้เศษเหล็กเป็นสะเก็ด น้ำหนัก 2 กิโลกรัม จุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือ

แม่ทัพภาคที่4คน ระบุคนร้ายก่อเหตุโชว์ศักยภาพ-ยกระดับ
การก่อกวนของคนร้าย ทางการทหารระบุชัดเจนว่า เป็นการสร้างความสนใจให้ OIC ได้หันมาดูปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพล.ท.องค์กร ทองประสม แม่ทัพภาคที่ 4 วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ทำอย่างต่อเนื่องที่ผ่านมาเป็นระยะ เจ้าหน้าที่มีการประเมินว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยังคงมีเจตนาที่จะให้มีการปฏิบัติพร้อมๆ กันในหลายๆ พื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง 33 อำเภอ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เพื่อเป็นการแสดงว่ายังมีศักยภาพในการปฏิบัติ ซึ่งมีคำถามว่าจะปฏิบัติการเช่นนี้เพื่ออะไร โดยมุมมองของเจ้าหน้าที่เชื่อว่า เป็นความพยามยาม ที่จะให้มีความต่อเนื่อง และยกระดับของการปฏิบัติ

"นอกจากนั้นยังทราบว่า มีการประชุม OIC ที่ประเทศมาเลเซีย แต่ว่าเป็นการประชุมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรณีประเทศอิสราเอลที่มีการปฏิบัติการในพื้นที่ตะวันออกกลาง และอีกมุมมองหนึ่งการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่มากพอสมควรในการที่จะแจ้งเบาะแสตัวบุคคล แหล่งที่ซุกซ่อนอาวุธในการที่จะก่อเหตุร้าย"
เยาวชนตกเป็นเครื่องมือ นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พูดถึงความคืบหน้าเหตุการณ์คนร้ายลอบวางเพลิงหลายจุดที่ผ่านมา ว่า จากการปะติดปะต่อข้อมูลของเจ้าหน้าที่ และข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ สามารถติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัย ได้เพิ่มเติมจำนวนหนึ่ง แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้

จากการซักถามของเจ้าหน้าที่ ได้ข้อมูลชัดเจนว่า การก่อเหตุวางเพลิง พร้อมกันหลายจุดใน จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 1 ส.ค.49 เป็นการจ้างวาน ในอัตราจุดละ 300-500 บาท โดยการว่าจ้างเด็กและเยาวชนในพื้นที่ นำเศษวัสดุมากองตามจุดต่างๆ แล้วราดน้ำมันเชื้อเพลิงจุดไฟเผา ซึ่งสามารถกระทำได้ง่าย
การได้รับข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุมากขึ้น โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมข้อมูลหลักฐานเพื่อนำไปสู่การติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัยเพิ่มเติมต่อไป ซึ่งถือเป็นความร่วมมือจากประชาชนในการให้ข้อมูลร่วมคลี่คลายสถานการณ์

ผู้ต้องสงสัย 1 รายที่เจ้าหน้าที่จับกุมได้ใน อ.โคกโพธิ์ โดยถูกยิงได้รับบาดเจ็บนั้น ขณะนี้ยังคงพักรักษาอาการในโรงพยาบาล ยังไม่สามารถให้ข้อมูลต่อทางราชการได้ ซึ่งคงต้องรอให้อาการผู้บาดเจ็บดีขึ้นอีกระยะ
คนร้ายมุ่งสร้างข่าว ให้มีความรุนแรง เพื่อทำลายเศรษฐกิจ
(คมชัดลึก 3 ส.ค.49)นายอดุลย์ ทองมาก อุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี วิเคราะห์ว่าเหตุการณ์คนร้ายวางเพลิงโรงงานยางไทยปักษ์ใต้ จำกัด ซึ่งตั้งที่ ม.4 บ้านท่ายาลอ ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นของชาวญี่ปุ่น ที่มาเช่าโกดังของบริษัท ยางไทยปักษ์ใต้ จำกัด (เต็กบีห้าง) เมื่อเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากชาวสวนยางพาราในพื้นที่ปัจจุบันไม่สามารถกรีดยางได้ตามปกติ ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในจำนวนที่น้อยกว่าปกติ และเมื่อยางพาราแผ่นดิบในสต็อกของโรงงานดังกล่าวกว่าหนึ่งหมื่นกิโลกรัมถูกเผาเสียหาย จะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้
"เมื่อไม่มีวัตถุดิบส่งให้คู่ค้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการ จะต้องพยายามกว้านซื้อยางพาราในราคาที่สูงขึ้นท่ามกลางวัตถุดิบในพื้นที่ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด ปัญหาที่เลี่ยงไม่ได้คือการเก็งกำไร"
ปัตตานีถือเป็นศูนย์กลางการลงทุน ในพื้นที่ 3จังหวัด แต่ห้วง 2 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนจากต่างประเทศต่างชะลอโครงการ และเหตุการณ์ครั้งนี้จะกระทบในระยะยาวนั่นคืออาจมีการถอนทุนในโครงการเก่า เพราะนักลงทุนต่างชาติต่างไม่ต้องการเสี่ยงกับความล้มเหลวอันมีผลพวงมาจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้านนายสมศักดิ์ พงศ์ภัณฑารักษ์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ว่า การลอบเผาโรงงานยางไทยปักษ์ใต้ จำกัด ที่จังหวัดปัตตานีครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนเป้าหมายโจมตีรัฐ โดยใช้ยุทธศาสตร์ทำลายความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในพื้นที่
"แผนการครั้งนี้ของคนร้ายถือเป็นการทำลายแหล่งรายได้และแหล่งเงินที่สำคัญของชาวบ้านในชายแดนใต้ที่สำคัญที่สุด ซึ่งถือว่าได้ผลในทางจิตวิทยาอย่างมาก เพราะเอกชนเองก็ไม่กล้าเข้าไปรับซื้อยาง หรือทำสต็อกยางในพื้นที่เนื่องจากกลัวจะไม่ปลอดภัย"
บทสรุป
การก่อความไม่สงบ เมื่อวันที่ 1-2 สิงหาคม 2549 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา กลุ่มคนร้ายมุ่งที่จะกระพือข่าว ให้เห็นว่ามีความไม่สงบในพื้นที่ การลงมือพร้อมกัน ถึง 128 จุด จะเป็นประเด็นที่จะทำให้สื่อมวลชนในไปตีเป็นข่าว และทำให้เกิดเป็นประเด็นสำคัญ เพื่อให้เกิดน้ำหนักของข่าว จนทำให้ OIC หันมาสนใจ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่
ในขณะเดียวกัน มีความพยายามที่จะให้เกิดความขัดแย้งทางศาสนา โดยลอบวางระเบิดเส้นทางการบิณฑบาต ของพระสงฆ์ที่อยู่ในพื้นที่ ส่วนการลอบเผาโรงยางเชื่อว่า เป็นการสร้างประเด็นข่าว และทำลายระบบเศรษฐกิจ


ข้อมูล เหตุการณ์ความไม่สงบ วันที่ 1-2 สิงหาคม 2549 จำนวน 126 เหตุการณ์
ที่มา ของข้อมูล สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปัตตานี
จังหวัดปัตตานี

คนร้ายลอบวางเพลิง จำนวน 93 จุด ในพื้นที่ 12 อำเภอ (ครบทุกอำเภอ)
1.อำเภอเมือง 6 จุด
2.อำเภอยะรัง 21 จุด
3.อำเภอหนองจิก 8 จุด เผาโรงงานยางพาราไทยปักษ์ใต้ค่าเสียหาน 30 ล้านบาท เผาสถานที่ราชการ 3 แห่ง
4.อำเภอโคกโพธิ์ 8 จุด จับคนร้าย 1 คน พร้อมอาวุธปืน 11 มม. 1 กระบอก
5.อำเภอยะหริ่ง 8 จุด
6.อำเภอปานาเระ 3 จุด
7.อำเภอมายอ 3 จุด
8.อำเภอสายบุรี 16 จุด จับคนร้ายหลังก่อเหตุ 1 คน
9.อำเภอไม้แก่น 2 จุด
10.อำเภอทุ่งยางแดง 5 จุด
11.อำเภอกะพ้อ 3 จุด
12.อำเภอแม่ลาน 10 จุด

จังหวัดนราธิวาส (สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนราธิวาส)
คนร้ายก่อเหตุ 7 จุด ใน 6 อำเภอ เหตุเกิดวันที่ 1 สิงหาคม 2549 เวลา 20.20 น.
1. อำเภอระแงะ เผายางรถยนต์บนถนนสายระแงะ-ซิโป
2. อำเภอรือเสาะ คนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามยิงขึ้นฟ้า บ้านบาเล๊ะ ไม่มีความเสียหาย
3. อำเภอบาเจาะ คนร้านกราดยิงบ้านพักตำรวจ สภอ.บาเจาะ ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
4. อำเภอเจาะไอร้อง มีเหตุระเบิดหน้า อบต.จวบ ทหารได้รับบาดเจ็บ 1 ราย
5. อำเภอเมือง มีเหตุระเบิดบริเวณหน้าร้านหงษ์ฟ้าคาราโอเกะ ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
6. อำเภอสุไหงโกลก มีเหตุระเบิดหน้าร้านใบหม่อนคาราโอเกะ มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
เหตุเกิดวันที่ 2 สิงหาคม 2549 เวลา 09.20 น.
- อำเภอเจาะไอร้อง คนร้ายระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูง สะเก็ดระเบิดถูกรถยนต์ของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ กรมแพทย์ทหารบก ได้รับความเสียหายเล็กน้อยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต


จังหวัดยะลา รวม 19 เหตุการณ์(ที่มาของข้อมูล ศปก.ภ จว.ยะลา ตำรวจภูธรภาค 9 ที่ ยล 0029(ศปก.)/895 ลว.2 ส.ค.49)
1. อำเภอเมือง 9 เหตุการณ์
- คนร้ายขวางขวดน้ำมันใส่ชุดสายตรวจ มีการยิงตอบโต้ คนร้ายได้รับบาดเจ็บ 1 คน และหลบหนีไปได้
- คนร้ายใช้ขวดน้ำมันจุดไฟสะพานบ้านจือนือแร ต.บุดี
- คนร้ายลอบเผายางรถยนต์ ถนนสายเบอร์เส็ง ต.สะเตงนอก
- คนร้ายปาขวดน้ำมันบนพื้นถนน บ้านตลาดเก่า
- คนร้ายเผาเสื้อผ้าบนถนนสายลำใหม่-ท่าสาบ หมู่ที่ 6 ต. พร่อน
- คนร้ายเผาเสื้อผ้าข้างศาลาที่พัก บนถนนสายลำใหม่-ท่าสาบ หมู่ที่ 5 ต. พร่อน
- คนร้ายเผาเศษผ้า บริเวณหัวสะพานบ้านปีซัด ถนนสายลำใหม่-ท่าสาบ หมู่ที่ 1 ต. ลำใหม่
- คนร้ายเผายางรถยนต์ ถนนสายบ้านบาตัน-บ้านตะโล๊ะ หมู่ที่ 4 ต.ลิดล
2. อำเภอบังนังสตา 2 เหตุการณ์
- คนร้ายเผายางรถยนต์ หมู่ที่ 4 บ้านตาเนอะปูเต๊ะ
- คนร้ายเผายางรถยนต์ หมู่ที่ 3 บ้านเงาะกาโป
3. อำเภอยะหา 2 เหตุการณ์
- คนร้ายเผายางรถยนต์บนถนนสาย 4065 ยะหา-ยะลา
- คนร้ายเผายางรถยนต์บ้านซีเซ๊ะ หมู่ที่ 5 ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา
4. อำเภอกรงปินัง 1 เหตุการณ์
- คนร้ายเผายางรถยนต์บริเวณสะพานหน้าโรงเรียนตาโล๊ะซูแม ถนนสายยะลา-เบตง
5. อำเภอรามัน 2 เหตุการณ์
- คนร้ายเผากล่องกระดาษบรรจุขวดพันด้วยผ้าและจุดไฟ บนถนนสายยะลา-โกตาบารู
- คนร้ายเผากล่องกระดาษบรรจุขวด บนถนนสายโกตา-ท่าเรือ หมู่ที่ 2 บ้านมะตือลง
6. อำเภอธารโต 3 เหตุการณ์
- คนร้ายเผายางรถยนต์ หมู่ที่ 5 บ้านกอแย ต.แม่หวาด
- คนร้ายวางระเบิดถนนสายบ้านกระป๋อง-ธารมะลิ หมู่ที่ 3 ต.แม่หวาด
- คนร้ายเผายางรถยนต์บนถนนสาย 410 ยะลา-เบตง บ้านบ่อหิน

จังหวัดสงขลา (ที่ของข้อมูล ปกครองจังหวัดสงขลา (กลุ่มงานความมั่นคง) หนังสือที่ สข 0017/896 ลว.ที่ 1 ส.ค.49 และหนังสือที่ สข 0017/897 ลว.2 ส.ค.49
วันที่ 1 สิงหาคม 2549 7 เหตุการณ์
1. อำเภอจะนะ 2 เหตุการณ์
- เผายางรถยนต์ถนนสายเอเชีย หาดใหญ่-ปัตตานี
- เผายางรถยนต์ถนนสายเอเชีย ห่างจากจุดแรก 1 กิโลเมตร
2. อำเภอเทพา 2 เหตุการณ์
- คนร้ายเผายางรถยนต์ถนนสายลำไพล -สะบ้าย้อย
- คนร้ายเผายางรถยนต์ถนนสายลำไพล -โคกโพธิ์
3. อำเภอสะบ้าย้อย 2 เหตุการณ์
- ขว้างระเบิดใส่ที่ทำการ อบต.ทุ่งพอ ไม่ได้รับความเสียหาย
- เผายางรถยนต์บนถนนสายบ่อทอง-บ้านเตียน
วันที่ 2 สิงหาคม 2549
1. อำเภอจะนะ
- เกิดเหตุระเบิดบนสะพานรถไฟบ้านน้ำเค็ม มีผู้เสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 1 นาย
ส่วนข่าวและรายการภูมิภาค
สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6

         

1


คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com