www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 61 คน
 สถิติเมื่อวาน 59 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
4170 คน
4170 คน
1749438 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

 

      ตาเนาะแมเราะ

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ ผู้สื่อข่าว 8 ว.

4 ก.ย.48

บทนำ
"หน่วยข่าวทหาร" ระบุว่า "เมือง ตาเนาะแมเราะ" ของมาเลเซีย เป็นที่หลบซ่อน-กบดาน-วางแผนประชุมของ แกนนำแบ่งแยกดินแดน มีแกนนำ"ขบวนการแบ่งแยกดินแดน" ปลุกระดม-นำ คนไทย131 คน หนีไปมาเลเซีย ในขณะที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการทหารบกผบ.ทบ. เป็นห่วง การใช้ถังแก๊ส-ถังดับเพลิง วางระเบิดรุนแรง โดยคนร้ายใช้ระเบิดไปแล้ว 40 ถัง เหลืออีก 20ถัง

หน่วยการข่าวทหารในพื้นที่ภาคใต้ ระบุว่า การที่คนไทย จาก อ.สุไหงปาดี อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส จำนวน 131 คน อพยพหนีภัยไปยังมาเลเซีย นั้น น่าจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง โดยเฉพาะ การที่คนไทยส่วนใหญ่ มุ่งหน้าไปอยู่ที่ เมือง "ตาเนาะแมเราะ" ลึกเข้าไปในเมือง โกตาบารู รัฐกลันตันของมาเลเซีย

เมืองตาเนาะแมเราะแหล่งกบดานของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
"เมือง ตาเนาะแมเราะ นั้น รู้กันดีว่า เป็นฐานที่มั่น แหล่งกบดานของ แกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ของไทย ที่มักจะไปหลบหนี ซ่อนตัว และวางแผนการประชุมกันที่นั่น มาตลอด แล้วทำไม คนไทยเหล่านี้ จะต้องหนีไปอยู่ที่เมืองนี้ ทำให้มีการสงสัยว่า แกนนำที่นำชาวบ้านไป อาจจะเกี่ยวข้องกับ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน"

การที่ชาวบ้าน หนีไปมาเลเซีย เพราะมีแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบ มาปลุกระดม ว่า ทหารจะใช้อำนาจ พรก. ฉุกเฉิน ในการจับกุมตัว หากไม่ยอมออกไปมอบตัวหรือรายงานตัว อีกทั้ง ในช่วงที่ผ่านมา มีการเสียชีวิตของ โต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม และครูสอนศาสนา หลายคนในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านกลัวว่าจะถูกเจ้าหน้าที่อุ้ม

ตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลมาเลเซีย ให้การดูแลคนไทยที่หนีข้ามไป ก็เพราะเป็นเกมการเมืองระหว่างประเทศ อีกทั้งก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี มาเลเซีย เคยเสนอแนวคิดที่จะตั้ง "ศูนย์อพยพลี้ภัย" ให้คนไทยจาก 3 จังหวัด ของไทย ให้มาหลบพักพิง แต่ถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีปฏิเสธแนวคิดนี้

ขณะเดียวกัน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการทหารบก แสดงความเป็นห่วงว่า คนร้ายใช้ระเบิด ที่ดัดแปลงจาก ถังดับเพลิง และถังแก๊ส เชื้อปะทุเป็นแบบแสวงเครื่อง และดินขับก็ใช้สำหรับการระเบิดหิน จึงได้สั่งการให้ดูแลเข้มงวดเรื่องถังดับเพลิง เพราะฝ่ายก่อเหตุก็ใช้มาแล้วประมาณ 50 ถัง และไม่ได้ใช้อีกประมาณ 20 ถัง โดยส่วนใหญ่ เป็นถังแก๊ส ถังดับเพลิง ที่หายไป และ ขโมยไปจากหลายๆจุดเช่นอบต.และหน่วยงานอื่นๆที่มีการแจ้งความหายไว้

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการทหารบก พูดว่า "น่าเป็นห่วง เพราะการดัดแปลงถังดับเพลิง มาใช้เป็นระเบิด ทำให้มีอานุภาพรุนแรง ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้วางระเบิดตอม่อสะพาน"

ทหารลงพื้นที่15,000คน1ต.ค.48
พันเอก อัคร ทิพโรจน์ โฆษกกองทัพบก บอกว่า กองพลพัฒนาและพิทักษ์ทรัพยากร ที่กองทัพบกจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นหน่วยกำลังหลัก ใน 3 จังหวัดภาคใต้ จะมีการเริ่มต้นทำงาน ตั้งแต่1ตุลาคม2548

โดยมีการจัด เป็น 1 กองบัญชาการกองพล ประกอบด้วย กำลังพลจำนวน 3 กรม แต่ละกรม จะมี 3 กองพัน (รวม 9 กองพัน) รวมมีกำลังพลกว่า 15,000 คน โดยจะเริ่มทยอยบรรจุอัตรากำลังทหาร ตั้งแต่ 1ต.ค.2548 นี้ และคาดว่าจะจัดเสร็จสิ้นครบตามจำนวน ในเวลา 4 ปี

หลังจากนั้น จะไม่ต้องมีกำลังทหารจากกองทัพภาคอื่น หรือนอกพื้นที่ เข้ามาประจำในพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้มากมายเช่นปัจจุบัน

โฆษกกองทัพบก บอกอีกว่า ในช่วงเดือน กันยายน -ตุลาคม 2548 นี้ เป็นช่วงการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกำลังทหาร ที่เดินทางมาจากกองทัพภาคที่ 1 และกองทัพภาคที่ 2 ที่มาทำงานใน3 จังหวัดภาคใต้ หลังจากที่มาทำงานครบ 1 ปีเต็ม โฆษกกองทัพบก กล่าวด้วยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผบ.ทบ. ยังสั่งการให้ ทบ.ยังมีการปรับปรุงงานด้านการข่าวให้บูรณาการมากขึ้น โดยประสานงานกับหน่วยงานอื่น เช่น ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) บก.สส. สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

"ผบ.ทบ.ได้ฝากความหวังงานด้านการข่าวไว้กับ พลโท ฉัตรชัย ถาวรบุตร ผช.เสธ.ทบ.ฝ่ายข่าว (เพื่อนร่วมรุ่น เตรียมทหาร 10 ของนายกรัฐมนตรี) ในการดูแลปรับปรุงงานการข่าวทั้งหมด"

จะเปิดอนุสาวรีย์ นกกระดาษ
นาย ประชา เตรัตน์ ผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส ให้เหตุผลของการทำอนุสาวรีย์นกกระดาษว่า "มีการปล่อยข่าวลือ ต่อต้านการก่อสร้าง มาตลอดหลายเดือน โดยกล่าวหาว่า เราต้องการให้ มาเคารพ รูปปั้น "นก" ซึ่งผิดหลักศาสนาอิสลาม ทั้งๆที่จริงๆแล้ว เราทำเป็นแค่ อนุสรณ์ "นกกระดาษสันติภาพ" เท่านั้น ไม่ใช่ให้ ต้องยกมือไหว้หรือเคารพ แค่สัญลักษณ์ ที่คนผ่านไปผ่านมา เฉยๆ

เพราะผมต้องการ แค่ให้เป็น สัญลักษณ์ และที่ระลึกว่า ครั้งหนึ่ง คนไทยทั้งประเทศ ได้รวมใจกันพับนกกระดาษสันติภาพ เกือบร้อยล้านตัว นำมาโปรย เพื่อส่งเป็นกำลังใจและแทนความห่วงใย ที่มีต่อพี่น้อง ทั้งไทยพุทธและมุสลิม ใน 3 จังหวัดภาคใต้"

"เป็นเรื่องธรรมดา ที่ต้องถูกต่อต้าน ถูกวิจารณ์ เพราะตอนที่ มีการโปรยนกกระดาษสันติภาพ เมื่อปลายปีที่แล้วก็มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ผมมองว่า มันเป็นครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่คนไทยทั้งชาติ รวมใจ ผับนกกระดาษ มาให้ พี่น้องชาวใต้"

รายละเอียด นกกระดาษสันติภาพ
อนุสาวรีย์ นกกระดาษสันติภาพ สีขาว มีความยาวจากปีก ข้างหนึ่งถึงอีกข้างหนึ่ง 4 เมตร โดยนำ นกกระดาษสันติภาพที่โปรยจากเครื่องบิน เมื่อเดือน พ.ย.2547 ปีที่แล้ว ตามแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กว่า 80 ล้านตัว โดยได้นำนกกระดาษ นี้ ประมาณ 300 ตัว มาละลาย แล้วนำเป็นส่วนประกอบกับ ซีเมนต์คอนกรีต แล้วหล่อเป็นรูปนกกระดาษสันติภาพขนาดยักษ์ โดย ภายใน เปิดช่องว่าง ไว้ใส่นกกระดาษอีก 300 ตัว เป็นที่ระลึก โดยใช้งบประมาณก่อสร้าง 4 หมื่นบาท โดย วิทยาลัยสารพัดช่าง จ.นราธิวาส เป็นผู้ก่อสร้าง และจะนำมาตั้งที่ วงเวียนกลางเมือง จ.นราธิวาส ในต้นเดือนกันยายน 2548 พร้อมด้วยน้ำพุรอบๆ โดยใช้งบประมาณกว่า 1 ล้านบาท

นายนรชัย วุฒิเจริญมงคล ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างนราธิวาสเล่าว่า "เมื่อก่อน มีการปิดข่าว ว่า เราสร้างนกกระดาษ ที่นี่ เพราะมีการปล่อยข่าว สร้างกระแสต่อต้าน การสร้าง อนุสาวรีย์ นกกระดาษ กันมาก นี่สร้างเสร็จ ตั้งแต่เดือน เมษายน 2548 แล้ว แต่ทาง ผู้ว่าราชการจังหวัด ยังไม่ได้กำหนดว่าจะให้ยกมาติดตั้ง ที่วงเวียน เมื่อไหร่ จนตอนนี้มีกำหนดออกมาแล้ว ก็ถึงเปิดเผยได้"

สมเด็จพระนางเจ้าจะเสด็จนราธิวาส
นาย ประชา เตรัตน์ ผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส บอกว่า ขณะนี้ ประชาชน ใน จ.นราธิวาส ทั้งไทยพุทธและมุสลิม ใน จ.นราธิวาส ได้เตรียมการรอรับเสด็จ พระราชินีนาถฯ กันอย่างปิติยินดี โดยจะไปรอรับเสด็จ ในวันที่ 12 ก.ย. 2548 กันเป็นจำนวนมาก ทั้งที่สนามบินนราธิวาส และตามเส้นทางที่พระองค์จะเสด็จฯผ่าน โดยเฉพาะ ชาวบ้านที่ทำงานในโครงการ ศิลปาชีพ ก็เตรียมงานฝีมือไว้ รอที่จะถวายแด่พระองค์

พันเอก วิวรรธ ปฐมภาคย์ เลขานุการโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง หรือ หมู่บ้าน แม่ม่าย รอตันบาตู อ.เมือง จ.นราธิวาส เล่าว่า ขณะนี้ การก่อสร้างบ้าน จะทำให้ได้ครบจำนวน 100 หลัง เนื่องจาก สมเด็จพระราชินีฯ จะทรงเสด็จเยี่ยม หมู่บ้าน และบรรดาภริยาผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ ที่เวลานี้ เข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน แล้วประมาณ 56 ครอบครัว ขณะที่ กองทัพภาค 4 ได้มีคำสั่งให้ หน่วยเฉพาะกิจ ต่างๆ ที่ดูแลพื้นที่ 3 จังหวัด ได้นำ ราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน(อรบ.) ที่ฝึกอาวุธเพื่อป้องกันตัวเอง ตามพระราชเสาวนีย์ จำนวนกว่า 1 หมื่นคน มาทบทวนการฝึกอาวุธ การป้องกันตนเอง และเตรียมการสวนสนาม หน้าพระที่นั่ง ที่คาดว่าจะให้สวนสนาม ในวันที่ 19 กันยายน2548

โดยมีรายงานว่า พลเอก ณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ ได้รับพระราชกระแสรับสั่ง ให้ จัดทำเหรียญ "พระนเรศวรมหาราช" ที่มีตัวย่อ "สก." พระนามาภิไธย ของพระราชินีฯ และคำว่า "สู้" เพื่อให้ พระองค์ แจกจ่าย แก่ทหาร ตำรวจ และราษฎร ใน 3จังหวัดภาคใต้ ในช่วงที่เสด็จแปรพระราชฐาน ที่ยังไม่มีกำหนดว่า พระองค์ จะประทับ อยู่นานเพียงใด แต่ไม่น้อยกว่า 1 เดือน โดยการแปรพระราชฐาน ปีที่แล้ว ทรงอยู่ในพื้นที่นานถึง 58 วัน

สุไหงปาดีปิดหมู่บ้านห้ามจนท.รัฐคนแปลกหน้าเข้าพื้นที่
ชาวบ้านละหาร ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส กว่า 400 คน เก็บตัวอยู่ภายในหมู่บ้าน และไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งบุคคลภายนอกเข้าไปภายในหมู่บ้าน เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย หลังจาก นายสะตอปา ยูโซ๊ะ โต๊ะอิหม่ามมัสยิดบ้านละหาร ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตที่หน้าบ้านพักในมัสยิดบ้านละหาร เมื่อคืนวันที่ 30 สิงหาคม 2548ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ในคืนเกิดเหตุ ชาวบ้านเหล่านี้ทั้งเด็กและผู้หญิง ได้รวมตัวกันตัดต้นไม้และรวมกลุ่มกันปิดกั้นขวางถนนทางเข้าหมู่บ้าน ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าไปชันสูตรพลิกศพ และสืบสวนสอบสวนหาตัวคนร้าย เนื่องจากปักใจเชื่อว่านายสะตอปาเสียชีวิตจากฝีมือเจ้าหน้าที่ ขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่ก็ปักหลังตรึงพื้นที่ทางเข้าหมู่บ้าน และกำลังเจรจากับแกนนำชาวบ้านเพื่อขอเข้าไปตรวจค้นในหมู่บ้านแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

จากการเข้าสำรวจพื้นที่ เมื่อวันที่ 1 กันยายน2548 พบว่าตลอดเส้นทางถนนสายระแงะ-สุไหงปาดี ซึ่งเป็นเส้นทางเข้าหมู่บ้านละหาร มีรถหุ้มเกราะ และรถลาดตระเวนของทหาร วิ่งตรวจตราตลอดเส้นทางอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มชาวบ้านละหารยังคงปิดกั้นทางเข้าหมู่บ้าน ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ ผู้สื่อข่าว ตลอดจนคนแปลกหน้าอื่นๆ เข้าไปภายในหมู่บ้านเนื่องจากยังไม่วางใจในสถานการณ์
ผู้สื่อข่าว ซึ่งเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าวได้ติดต่อกับชาวบ้านคนหนึ่งขออนุญาตเข้าไปภายในหมู่บ้าน เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และสาเหตุปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ชาวบ้านคนดังกล่าวบอกว่าสถานการณ์ในขณะนี้กดดันมาก ทำให้กลุ่มชาวบ้านไม่ไว้วางใจ ผู้สื่อข่าวได้เดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านปะฮงกือปะ ต.ปะลุรู ซึ่งอยู่ใกล้กัน เพื่อพบกันญาติของนายสะตอปา ยูโซ๊ะ ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ในคืนเกิดเหตุให้ฟังว่า หลังจากนายสะตอปา ที่กำลังขี่รถจักรยานยนต์ถูกคนร้ายยิงล้มลง เพื่อนบ้านได้เข้าไปช่วย นายสะตอปาได้สั่งเสียก่อนเสียชีวิตว่า อย่าให้เจ้าหน้าที่ เข้ามาดูศพ เพราะมั่นใจว่าคนร้ายที่ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

"มีการประกาศไปทั่วหมู่บ้าน ชาวบ้านที่ได้ทราบข่าวก็วิ่งกันออกมาตัดต้นไม้ขวางถนนทางเข้าหมู่บ้าน ทุกๆ คน รวมทั้งเด็กเล็กๆ ผู้หญิง ออกมายืนเป็นกำแพงมนุษย์ขวางถนนทางเข้าหมู่บ้านทั้งสามเส้นทาง ไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามา ในวันนั้นฝ่ายเจ้าหน้าที่ระดมกำลังกันมากว่า 40 คันรถ กระจายทั่วพื้นที่ไปหมด จะบุกเข้ามาตรวจค้นในหมู่บ้านให้ได้ เพราะคิดว่าคนในหมู่บ้านคือแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ แต่เมื่อเห็นชาวบ้านขวางอยู่และไม่ยอมให้เข้าก็วางกำลังรักษาการณ์อยู่บริเวณทางเข้าหมู่บ้านเช่นกัน"

พ.อ.สิทธิ จันทร์สมบูรณ์ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจที่ 34 (ผบ.ฉก.34) มีความเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความเข้าใจผิด ที่ชาวบ้านเชื่อว่าคนร้ายที่ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อมีการชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบแล้ว เรื่องก็ยุติลงด้วยดี ทราบจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าวว่า ชาวบ้านยอมให้ทหารเข้าไปภายในหมู่บ้านได้แล้ว

"หลังเกิดเหตุก็มีผู้เสียประโยชน์ ไปกระพือข่าวว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ นอกจากชาวบ้านละหารแล้ว ก็ไปบอกต่อไปยังหมู่บ้านอื่นๆ นัดกันให้มารวมตัว แต่ก็ไม่มีเพราะชาวบ้านรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร เรื่องนี้เมื่อเกิดขึ้นมาทุกฝ่ายก็เกรงว่าจะซ้ำรอยเหตุการณ์ที่ อ.ตากใบ แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี ลูกน้องผมรายงานมาว่า ชาวบ้านให้ทหารเข้าไปดูแลความสงบในหมู่บ้านได้แล้ว แต่ยังอยู่ในช่วงไว้ทุกข์แก่ผู้ตาย 7 วันตามประเพณี จึงอาจจะไม่ยอมพูดคุยหรือให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่นัก ผมไม่อยากให้สื่อไปเล่นข่าวนี้เพราะจะเข้าทางของผู้ที่ยุยงปลุกปั่น"

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าว ได้โทรศัพท์สอบถามไปยังแกนนำชาวบ้านละหารรายหนึ่ง ซึ่งได้ตอบกลับมาว่า ชาวบ้านยืนยันว่ายังไม่เปิดหมู่บ้านให้ใครเข้าไปภายในหมู่บ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

สำหรับกรณีที่ชาวบ้านในพื้นที่อ.สุไหงปาดี อ.จะแนะ และอ.ตากใบ เดินทางข้ามแดนไปยังรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เพื่อขอลี้ภัยสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นนั้น หนังสือพิมพ์อุตุซาน มาเลเซีย(Uhusan Malasia) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศมาเลเซีย ฉบับวันที่ 1 กันยายน2548 ได้เสนอเรื่องนี้เป็นหัวข้อข่าวหน้า 1 ว่า ประชาชนไทยจำนวน 131 คน ข้ามชายแดนเข้าสู่รัฐกลันตันเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม2548 ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มั่นใจความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย ซึ่งผลจากเหตุการณ์นี้เป็นที่เกรงว่าจะนำมาซึ่งปัญหาความปลอดภัยที่ใหญ่โตกว่าเดิม

หนังสือพิมพ์ดังกล่าวระบุว่า จำนวนประชาชนไทยที่อาจจะอพยพเข้าสู่รัฐกลันตันอาจจะสูงขึ้นอีก เนื่องจากมีข้อมูลว่า มีประชาชนไทยมุสลิมอีกกว่า 1,000 คน คอยเวลาที่จะหนีเข้ามาเลเซียเมื่อไหร่ก็ได้ หากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย ยังใช้วิธีการรุนแรงอยู่ โดยชาวบ้านเหล่านี้อ้างว่าก่อนนี้เกิดเหตุยิงชาวไทยมุสลิมเสียชีวิตไปแล้ว17คนรวมทั้งอิหม่ามที่ถูกยิงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

หนังสือพิมพ์อูตุซาน มาเลเซีย ระบุอีกว่า การข้ามชายแดนดำเนินไปเป็นระยะๆ เริ่มจากเช้าวันที่ 31 สิงหาคม2548 มีชาวบ้านจากสุไหงปาดี ข้ามไปทางท่าเรือข้ามฝากที่ไม่เปิดเป็นทางการที่ ลันตูปันยัง อำเภอปาเซร์มัส จำนวน 62 คน เป็นชาย 20 คน หญิง 15 คน และเด็ก 27 คน รวมกันอยู่ที่มัสยิด GUAL TINGGI ลันตูปันยัง หากจากด้านตรวจคนเข้าเมืองสุไหงโกลก ประมาณ 40 กิโลเมตร และผ่านทางปังกาลันรูโบร์ อำเภอตุมปัต อีก 69 คน เป็นชาย 44 คน เป็นผู้ใหญ่ 9 คน ผู้หญิงและเด็ก 16 คน ซึ่งรวมตัวกันอยู่ที่สุเหร่า IPD ปาเซมัส คนเหล่านี้ประกอบด้วยโต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม และผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีอาการอ่อนล้า กระเป๋าเสื้อผ้าที่พวกเขานำมานั้นบ่งบอกว่า พวกเขาจะอยู่ที่ กลันตันเป็นเวลานาน

ชายคนหนึ่งอายุ 39 ปี ที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อเป็นหัวหน้ากลุ่ม แจ้งว่ารัฐบาลมาเลเซียจะให้สถานะผู้ลี้ภัยแต่พวกเขา เพราะพวกเขาหวั่นเกรงในความปลอดภัยของพวกเขาหากถูกส่งตัวกลับไป"จะถือว่า พวกเราเป็นพวกหนีเข้าเมือง โดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ได้ แม้จะเข้ามาโดยไม่มีหนังสืออนุญาตอย่างถูกต้องก็ตาม เพราะการหนีกระทำขึ้นอย่าฉุกละหุก เพราะปฏิบัติการทางทหารที่เกี่ยวข้อง"

ด้านนายรอสลี อะลามี อิหม่ามมัสยิด GUAL TINGGI กล่าวว่า ประหลาดใจกับการเดินทางมาของชาวบ้านดังกล่าว ซึ่งโดยสารรถเช่ามาตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.2548 ที่ผ่านมา เขาจึงขอให้ทั้งหมดไปรายงานตัวกับตำรวจ "เราคิดว่าพวกเขาจะมาร่วมงานแต่งงาน แต่เมื่อยังอยู่ที่มัสยิดนี้กระทั้งเวลา 19.00 น. จึงต้องรายงานให้เจ้าหน้าที่ทราบ ต่อมาประชาชนที่มาพัก ถูกตำรวจมาเลเซียนำขึ้นรถเดินทางไปยัง สถานีตำรวจอำเภอปาเซร์มัส โดยมีเจ้าหน้าที่พิเศษคอยดูอยู่"

นายซุลกิฟลี อัปดุลเลาะ หัวหน้าตำรวจรัฐกลันตันยอมรับว่า มีคนไทยหลบหนีข้ามแดนมาจริง สอบสวนเบื้องต้นพบว่า ทั้งหมดไม่มีหนังสือเดินทางและบัตรประจำตัวประชาชน "พวกเขาเข้ามายังมาเลเซียเนื่องจากเกรงกลัวความปลอดภัย พวกเขาทั้งหมดจะถูกส่งตัวไปยังฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองต่อไป"

บทสรุป
การปลุกระดมของฝ่ายตรงข้ามยังมีอย่างต่อเนื่องแม้แต่เรื่อง การสร้างอนุสาวรีย์นกสันติภาพ ที่มีการระบุว่าผิดหลักศาสนา แต่ในที่สุดทางการก็ยืนยันว่า ทำเพื่อเป็นอนุสรณ์เท่านั้นไม่ต้องการให้ใครมากราบไหว้ ส่วนการหลบหนีเข้าเมืองของคนไทย 131 คน พบว่า เป็นเรื่องที่มีการสร้างสถานการณ์ ให้มีความเข้าใจผิดต่อรัฐบาลไทยว่าจะไม่การใช้ พรก.ฉุกเฉิน เข้าจับกุม คนไทยเหล่านี้หลงเชื่อจึงหลบหนีไปอยู่มาเลเซีย โดยมีความเชื่อว่า มีแกนนำระดับหัวหน้าอยู่ที่เมืองตาเนาะแมเราะ


* * * * * * * * * * * * * * *


คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com