www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 60 คน
 สถิติเมื่อวาน 59 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
4169 คน
4169 คน
1749437 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

 

21 พ.ย.49
วิเคราะห์ข่าว ต้มยำกุ้ง
โดยณรงค์ ชื่นนิรันดร์ ผู้สื่อข่าว 8 ว.


บทนำ
ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ยังคงดำเนินการรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แล้วขบวนการเหล่านี้เอาเงินทุนมาจากไหนกัน มาเคลื่อนไหวก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ เข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์รายวัน มีการวิเคราะห์ว่า เงินที่ได้มาอาจจะมาจากการบริจาคของประเทศมุสลิมที่ให้ผ่านทางสถาบันปอเนาะ หรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ก็เป็นได้ และอีกเส้นทางหนึ่งของเงินที่นำมาก่อกวนคือขบวนการค้ายาเสพติด ที่มีอยู่ในพื้นที่ แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ข่าวที่ได้ยินมา ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน พูดอย่างชัดถ้อยชัดคำ และมั่นใจในข้อมูลว่าเงินที่นำมาใช้ป่วนใต้ของผู้ก่อเหตุนำมาจากเครือข่ายร้านอาหารที่ชื่อว่าร้านต้มยำกุ้ง ที่มีการเปิดดำเนินการอยู่จำนวนมากในประเทศมาเลเซีย แต่การให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี ไม่ได้พูดในรายละเอียดจึงทำให้หลายฝ่ายเกิดความสงสัย และคลางแคลงใจ ต่อคำสัมภาษณ์ แน่นอนมาเลเซียต้องอยู่ไม่ถูกแน่

นายก ฯ จุดประเด็น ต้มยำกุ้ง เครือข่ายสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังประชุม ครม.ว่า ขณะนี้เหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ เกิดขึ้นเพราะมีคนที่เขาคิดไม่ดี คิดแบ่งแยกดินแดนโดยใช้ความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติและความเชื่อทางประวัติศาสตร์ แต่ไม่มีแรงหนุนจากต่างประเทศ ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านและประเทศมุสลิมทั่วโลกก็เริ่มเข้าใจถึงวิธีการ แก้ไขปัญหา ส่วนเงินทุนเท่าที่ทราบมีเครือข่ายร้าน อาหารไทยที่เรียกว่า "ต้มยำกุ้ง" ในประเทศมาเลเซียได้บริจาคเงินทุนสนับสนุนกลุ่มก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ในระยะนี้ เพื่อก่อเหตุร้ายและ เรียกค่าคุ้มครองจากนักธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อสาย จีน คนไทยพุทธ คนไทยมุสลิม ก็ถูกเรียกค่าคุ้มครองซึ่งการแก้ไขปัญหาต้องค่อยๆทำ

เมื่อถามว่าจะทำสงครามแย่งชิงประชาชนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องการแย่งชิงมวลชน แต่ต้องพูดถึงความร่วมมือ ร่วมใจ เราไม่ได้ทำสงครามแม้ตนจะเป็นทหารแต่ไม่ชอบทำสงคราม และจะไม่ทำสงครามแย่งมวลชน เพียงแต่ขอความเห็นใจ เข้าใจ และเข้ามาร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง สำหรับการกดดันให้เจ้าหน้าที่ถอนกำลังออกจากพื้นที่ เราก็จะใช้การเจรจา จะไม่ใช้ความรุนแรง

ต่อข้อถามว่า ดูเหมือนว่ากลุ่มก่อความไม่สงบไม่ต้องการให้ชาวไทยพุทธอยู่ในพื้นที่ และไม่ต้องการให้ชาวมุสลิมติดต่อกับทางราชการได้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สื่อมวลชนต้องเข้ามาช่วยสร้างความเข้าใจ ทั้งชาวไทยพุทธ และชาวไทยมุสลิม ว่ามีคนที่คิดไม่ดีพยายามที่จะทำตรงนี้ ทำอย่างไรจึงจะหันมาให้ความช่วยเหลือ

กระทรงการต่างประเทศไทยไม่ขอวิจารณ์ ต้มยำกุ้ง
วันที่ 21 พ.ย. 49 จากกรณีที่พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ออกระบุว่า ร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย ชื่อต้มยำกุ้ง เรียกค่าคุ้มครองจากนักธุรกิจในพื้นที่ เพื่อเป็นเงินสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เพื่อก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายกิตติ วะสีนนท์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับมาเลเซียโดยตลอด และมีการประสานข้อมูลกับประเทศมาเลเซีย รวมถึงข้อมูลการข่าวเกี่ยวกับด้านความมั่นคง ก็ได้ประสานด้วยเช่นกัน ซึ่งกรณีร้านต้มยำกุ้งเห็นว่า เป็นการข่าวด้านความมั่นคงจึงอยากให้เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงออกมาเปิดเผยจะดีกว่า

อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวว่า ในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ เอเปค พล.อ.สุรยุทธ์ ไม่ได้มีโอกาสการหารือทวิภาคีกับดาโต๊ะ ซรี อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เนื่องจากมีเวลาจำกัด

ทางการมาเลเซียไม่เชื่อข้อมูล
วันที่ 22 พ.ย.49 หนังสือพิมพ์ นิวส์ สเตรท ไทมส์ ในมาเลเซีย รายงานอ้างคำกล่าวของนายกูอาเคียว รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงของมาเลเซีย ปฏิเสธข้อกล่าวหาของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ระบุวานนี้ (21 พ.ย.49) ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ได้รับเงินสนับสนุนจากร้านอาหารไทยที่สังกัดกลุ่มร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซีย โดยใช้วิธีการรับบริจาค และเรียกค่าคุ้มครองจากนักธุรกิจในพื้นที่ ทั้งจากคนเชื้อสายจีน ไทยพุทธ และไทยมุสลิม พร้อมระบุว่า เป็นข้อมูลที่ไร้หลักฐาน เลื่อนลอย และคิดไปเอง
ด้านนายโจฮารี บาฮารม เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงของมาเลเซีย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยออกมาแสดงหลักฐานในเรื่องนี้ และหากเป็นเช่นที่รัฐบาลไทยกล่าวอ้างจริงทางการมาเลย์พร้อมดำเนินการสอบสวน
ส่วนนายฮูซัม มูซา ประธานคณะกรรมการฝ่ายบริหารภาครัฐและการวางแผนด้านการเงินและเศรษฐกิจของรัฐกลันตัน ระบุว่า บรรดาผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยมุสลิม มีความสามารถ เพียงพอที่จะส่งเงินกลับไปสนับสนุนครอบครัวของพวกเขาเท่านั้น ไม่ใช่ตามคำกล่าวอ้างของ พล.อ.สุรยุทธ์แต่อย่างใด ขณะเดียวกันหนึ่งในเจ้าของร้านอาหารไทย กล่าววิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีของไทยเช่นกัน โดยบอกว่า พวกเราทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพด้วยความซื่อสัตย์ไม่ใช่หาเงินไปเพื่อคร่าชีวิตผู้อื่น

เบอร์ซาตูเชื่อว่ากลุ่มหนุ่มไม่ยอม
วันที่ 22 พ.ย.49 สำนักข่าวเอพีรายงานด้วยว่า นายวัน คาเดร์ เจ๊ะ วาน หัวหน้ากลุ่มเบอร์ซาตู ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์อัล-จาซีรา จากสถานที่ปกปิดแห่งหนึ่งนอกประเทศไทยว่า เหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ของไทยจะยังไม่ยุติลงได้ ตราบเท่าที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบซึ่งเป็นคนหนุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน เชื่อว่าพวกเขามีสิทธิในดินแดน และพวกเขามีสายลับอยู่ในรัฐบาลไทยด้วย ผู้ก่อความไม่สงบเหล่านี้ได้สะสมอาวุธรวมทั้งเงินเพื่อเตรียมการเรื่องนี้มาไว้นานแล้ว ซึ่งที่พวกเขาได้เปรียบอยู่ขณะนี้ก็คือ มีสายของพวกเขาอยู่ในรัฐบาลไทยด้วย จึงทำให้รู้ความเคลื่อนไหวหลายอย่าง สำหรับกลุ่มเบอร์ซาตูของตนนั้นอยากที่จะเจรจากับรัฐบาลไทย แต่พวกคนหนุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนไม่ต้องการ คนเหล่านี้ถือเป็นคนรุ่นใหม่ อายุยังน้อย และมีอุดมการณ์แน่วแน่ ส่วนคนรุ่นเก่าอยากเจรจาด้วย แต่คนรุ่นใหม่ดูเหมือนว่ายังต้องการดินแดนเพื่อเป็นอิสระ ประกอบกับได้รับการช่วยเหลือจากหลายกลุ่มเช่นเจไอของขบวนการก่อการร้ายอัล-เคดา

นักวิเคราะห์ห่วงสู่ระดับโลก
วันที่ 22 พ.ย.49 สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้เผยแพร่รายงานเขียนโดย นายโจนาธาน ลีอองส์ ผู้สื่อข่าวด้านความมั่นคงประจำเอเชีย ที่กล่าวว่า เท่าที่ผ่านมาจนถึงบัดนี้ การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่าจะเป็นภัยคุกคามสำคัญอะไรต่อทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้ แต่พวกผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงก็หวั่นเกรงว่า ความขัดแย้งที่ยังอยู่ในลักษณะท้องถิ่นนี้ วันหนึ่งอาจจะ"ก้าวขึ้นสู่ระดับโลก"

นายไบรอัน โดเฮอร์ตี แห่งบริษัทที่ปรึกษา ฮิลล์ริสก์คอนซัลติ้ง ชี้ว่า ยุทธวิธีเช่นนี้ดูจะกำลังได้รับผลตามที่ผู้ก่อความไม่สงบต้องการ ซึ่งมันเป็นลัทธิแบ่งแยกดินแดน บริสุทธิ์ และง่ายๆ เป็นลัทธิแบ่งแยกดินแดนที่อาศัยแค่มีดพร้า ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลา และเวลาก็อยู่ข้างพวกเขา

นายไบรอัน บอกอีกว่า การที่ผู้ความไม่สงบดูไม่มีการต่อเชื่อมประสานกันเช่นนี้ นอกเหนือจากอาจเป็นการหว่านสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในวงกว้างแล้วยังสร้างความยุ่งยากให้แก่ความพยายามที่จะแก้ไขความคับข้องใจของผู้คนในท้องที่แถบนี้ ซึ่งย้อนหลังไปในกาลเวลาได้ไกลเป็นร้อยปี

การที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จะประสบความสำเร็จในการผลักดันสันติภาพได้ ก่อนอื่นเขาต้องสามารถระบุตัวผู้นำซึ่งมีอำนาจที่จะทำข้อตกลงกับรัฐส่วนกลาง และอำนาจในการบังคับบัญชาพวกหัวรุนแรงติดอาวุธ"

ผบ.สส.ยืนยันว่ามาเลเซียพร้อมให้การแก้ไขปัญหา
วันที่ 22 พ.ย.49 พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะ สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าว ถึงกรณี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการได้รับการสนับสนุนเงินจากเครือข่ายร้านต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย ให้แก่กลุ่มผู้ก่อเหตุร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวานนี้ (21 พ.ย.49)ว่า ว่า ในส่วนของตนไม่ได้หารือในเชิงลึกประเด็นดังกล่าวระหว่างการเดินทางไปเยือนประเทศมาเลเซียก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หน่วยงานด้านความมั่นคง ได้ติดตามด้านการข่าวอย่างใกล้ชิด และประเทศมาเลเซีย พร้อมให้การช่วยเหลือประเทศไทยในการแก้ไขปัญหานี้

นายกปฏิเสธที่จะให้ข่าวเพิ่มเติ
เมื่อวันที่ 22 พ.ย.49 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานปิดการประชุม เรื่อง "แนวทางการเสริมสร้างสมานฉันท์ในสังคมไทย"และก่อนนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามกรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุกลุ่มร้านอาหารที่มีเครือข่าย "ต้มยำกุ้ง" พล.อ.สุรยุทธ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "ไว้พรุ่งนี้ดีกว่า วันนี้พูดเยอะแล้ว"

รมว.มหาดไทย
วันที่ 22 พ.ย. 49 นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์เรื่องดังกล่าวว่า เป็นข้อมูลที่นายกรัฐมนตรีรับทราบมา แต่คงไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย เพราะไม่เกี่ยวกัน เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนต้องเข้าใจว่า แต่ละรัฐของมาเลเซียเป็นเอกเทศ และระบบการเมืองของประเทศมาเลเซีย ก็เป็นระบบที่ไม่เหมือนประเทศไทย ซึ่งการจะมีองค์กรอื่นเข้ามาสนับสนุนก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง จึงต้องมีมาตรการควบคุมเรื่องการเงินเชื่อว่านายกรัฐมนตรีคงมีมาตรการไว้อยู่แล้ว เมื่อถามว่า ร้านต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซียจะเกี่ยวข้องทั้งหมดหรือไม่ นายอารีย์ กล่าวว่า ไม่ได้หมายความว่าทุกร้านจะทำอย่างนี้ อย่าไปเหมารวม ซึ่งก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปพบพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียแล้ว ดังนั้นที่พูดออกมาหมายความว่า อาจมีข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในบางจุด อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีว่าจะชี้แจงต่อรัฐบาลมาเลเซียหรือไม่

อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เพิ่งทราบข่าว

วันที่ 22 พ.ย.49 พล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า วิธีการก่อกวนในพื้นที่ภาคใต้เมื่อ 20-30 ปีก่อน จะใช้วิธีเรียกค่าคุ้มครองกับนักธุรกิจในพื้นที่ ซึ่งตนเพิ่งทราบข่าวว่ามีเครือข่ายเรียกเก็บค่าคุ้มครองคนไทยที่ทำงานในประเทศมาเลเซียด้วย อย่างไรก็ตามคิดว่าเป็นเรื่องที่ตรวจสอบยากเพราะเป็นลักษณะของการสมยอมกันด้วยการบริจาค

หมอแวไม่อยากพูดเหวี่ยงแห
วันที่ 22 พ.ย.49 ขณะที่ นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ โฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ไม่อยากจะพูดแบบเหวี่ยงแหว่าเครือข่ายร้านอาหารไทยเป็น ผู้บริจาคเงินให้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เพราะเป็นการพูดที่อยู่บนพื้นฐานของความไม่ชัดเจนอาจจะกระทบต่อปัญหาทั้งระบบ เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารได้รับความนิยมจากคนมาเลเซีย และสร้างรายได้กลับประเทศ แต่พอมีข่าวออกมาก็กระทบต่อรายได้และครอบครัวอีกขณะนี้ทางการมาเลเซียไม่สบายใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น

เครือข่ายต้มยำกุ้ง
สำหรับเครือข่าย "ต้มยำกุ้ง" เป็นการก่อตั้งและรวมตัวกันขึ้นของกลุ่มขบวนการพูโลเก่าและใหม่ที่หลบหนีหมายจับไปอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีนายสุเบ ดอฆอ ชาว อ.รามัน จ.ยะลา เป็นประธานชมรม และมีสมาชิกอยู่ประมาณ 50,000 คน ซึ่งสมาชิกทุกคนต้อง เสียเงินค่าบำรุงชมรมเดือนละ 100 ริงกิต เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับกลุ่มผู้มีอิทธิพลในประเทศมาเลเซีย รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐในการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับเรื่องค้าขาย รวมทั้งการหางานทำ ซึ่งหลังจากที่นายกรัฐมนตรีออกมาให้สัมภาษณ์ทำให้ผู้ที่เปิดร้านอาหารอยู่ได้พยายามตรวจสอบข่าวกับญาติพี่น้องเพราะเกรงว่าจะถูกขึ้นบัญชีดำ

อดีตแม่ทัพภาค4 พบข้อมูลมีมานาแล้ว
วันที่ 23 พ.ย.49 พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึง กรณีที่นายกฯออกมาเปิดเผยเรื่องร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซีย ซึ่งเกี่ยวข้องกับความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ว่า มีการลงทุนทำร้านอาหารในมาเลเซียเยอะ ซึ่งประกอบการโดยคนสองสัญชาติ และมีการข่มขู่เรียกเก็บค่าคุ้มครองจากขบวนการพูโล และนำเงินที่ได้มาสนับสนุนการก่อการร้ายในภาคใต้ เพียงแต่ที่ผ่านมาทางการไทยไม่ได้สนใจ แต่เมื่อนายกฯพูดก็กลายเป็นข่าวใหญ่ ส่วนเส้นทางเงินของร้านอาหารไทยนั้น ไม่มาก แต่มีการเชื่อมโยงเป็นขบวนการโจรก่อการร้ายในไทยเพื่อแบ่งแยกดินแดน เพียงแต่ไทยไม่ยอมรับความจริงจึงแก้ไขปัญหาไม่ได้ ทั้งนี้หลังจากมหาธีร์ ออกจากตำแหน่งแล้วก็ไปประชุมครั้งสองครั้ง และช่วยเป็นตัวกลางจึงสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้ และมีข้อมูลด้านข่าวสารในพื้นที่รู้กัน "เรื่องปรากฏในแฟ้มข่าว ซึ่งผมก็พูดเรื่องนี้ไปตั้งนานแล้ว และนายกฯก็มีสายตรงอยู่แล้ว แต่ไม่มีมีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเชื่อ ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร หากเรามีหลักฐานอย่างนี้ ก็ให้เจ้าหน้าที่มาแปลภาษา
และนำไปให้ทางการมาเลย์"

ผบ.ทบ.ระบุการส่งเงินกลับเป็นไปตามหลักศาสนา
วันที่ 23 พ.ย.49 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่ากลุ่มโจรที่ก่อเหตุร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากเครือข่ายร้านอาหาร "ต้มยำกุ้ง"
ของชาวไทยมุสลิมในมาเลเซีย โดย พล.อ.สนธิ เชื่อว่าคนไทยในมาเลเซียมีการส่งเงินมาให้กับญาติพี่น้องในประเทศไทยจริง ซึ่งเป็นไปตามหลักศาสนาของอิสลามที่ต้องแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งไปทำบุญ แต่การส่งเงินดังกล่าวเข้ามาในไทยนั้น จะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความ
ไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ เรื่องนี้จะต้องมีการหารือกับทางการมาเลเซียอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการจับตาและตรวจ
สอบอย่างใกล้ชิด

พล.อ.สนธิ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมายังไม่ได้หารือเรื่องร้านต้มยำกุ้งกับนายกรัฐมนตรี แต่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะเรียกเข้าไปหารือในเร็วๆ นี้ หลังกลับจากเยือนพม่า
ดีเอสไอจะตรวจสอบเส้นทางการเงินต้มยำกุ้ง วันที่ 23 พ.ย.49 ที่กรมราชทัณฑ์ นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อมูลเครือข่ายร้านอาหารไทย "ต้มยำกุ้ง" ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเก็บค่าคุ้มครองและส่งเงินมาสนับสนุนการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า เรื่องนี้เมื่อบุคคลระดับผู้นำรัฐบาล อย่างนายกรัฐมนตรีออกมาให้ข้อมูลการสนับสนุนการเงินให้กับกลุ่มก่อความไม่สงบ แสดงว่า จะต้องมีฐานข้อมูลที่แน่นหนาเพียงพอ เพราะการที่ข้อมูลเหล่านี้จะรายงานมาถึงระดับผู้นำได้ จะต้องมีการกลั่นกรองมาพอสมควร

ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ในส่วนข้อมูลของกระทรวงยุติธรรม เรื่องคดีเกี่ยวกับความมั่นคงที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับผิดชอบดูแลขณะนี้ยังไม่มีรายงานในเรื่อง "ร้านต้มยำกุ้ง" แต่ยังคงมีการรายงานความคืบหน้าการทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง

"สำหรับเรื่องการตรวจสอบเส้นทางธุรกรรมการเงินของร้านต้มยำกุ้งนั้น ขณะนี้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กำลังเข้าไปดำเนินการว่า พบหลักฐานความผิดในคดีอาญา ซึ่งเข้าข่ายฐานความผิดตามกฎหมายฟอกเงินหรือไม่"

ต้มยำกุ้งรู้มา10ปีแล้ว
วันที่ 23 พ.ย.49 พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวในฐานะอดีตเลขาธิการสภาความมั่นแห่งชาติ (สมช.) ถึงกรณี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า มีเครือข่ายร้านอาหารไทย "ต้มยำกุ้ง" ในมาเลเซีย ให้การสนับสนุนเงินกับผู้ก่อการร้ายในประเทศไทย ว่า ในสมัย 10 ปีที่ตนรับราชการ พบว่า เคยมีการเสนองานข่าวเหล่านี้ แต่งานข่าวนั้นมีหลายระดับที่ต้องนำมากรองและตรวจสอบ ซึ่งไทยกับประเทศเพื่อนบ้านก็มีความสนิทสนมกัน และเชื่อว่า นอกจากระดับผู้บริหารประเทศ และนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็มีระดับอื่นที่สามารถตรวจสอบกันได้ ทั้งนี้ เชื่อว่า การออกมาให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สุรยุทธ์จะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียเพราะยังเป็นเรื่องความเข้าใจที่ดีต่อกัน

"ผมมองว่า คนไทยในต่างแดน เมื่ออยู่ร่วมกันก็ต้องมีการตั้งสมาคมเป็นเรื่องธรรมดา และอาจมีการติดต่อกลับมาประเทศก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับว่าการติดต่อจะคิดดีหรือไม่ดี เราไม่สามารถควบคุมได้"

สส.ประชาธิปัตย์เชื่อนายกมีข้อมูลต้มยำกุ้ง
วันที่ 23 พ.ย.49 เวลา 10.30 น. นายฮอชาลี ม่าเหริม อดีต ส.ส.สตูล นายธานินทร์ ใจสมุทร อดีต ส.ส.สตูล พรรคประชาธิปัตย์ นายสุริยา ปันจอร์ อดีต ส.ว.สตูลได้เข้าพบ นายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ โดย นายสุริยา กล่าวถึงเรื่อง "ต้มยำกุ้ง" ว่า ส่วนตัวเชื่อว่านายกรัฐมนตรีน่าจะมีข้อมูล แต่ควรจะสอบถามรายละเอียดและดำเนินการปฏิบัติไปเลยไม่ควรมาให้ข่าว เพราะเมื่อข่าวแพร่ออกไปก็จะทำให้คนอยากรู้ว่ามีมูลมากน้อยแค่ไหน

นายฮอชาลี กล่าวว่า ได้หารือกับ รมว. มหาดไทย ที่เป็นชาวมุสลิม และสามารถพูดคุยกับเครือข่ายมุสลิม ผู้นำศาสนา องค์กรมุสลิมเพื่อประสานความร่วมมือในการเจรจากับแกนนำผู้ก่อความไม่สงบได้ เนื่องจากเป็นมุสลิมด้วยกันและก็รู้ดีว่าใครเป็นแกนนำ จึงควรใช้ช่องทางนี้ในการพูดคุย ซึ่งอาจจะไม่ต้องใช้วิธีการตั้งโต๊ะแต่สามารถเข้าไปคุยได้ทันที

ผบ.ทบ.การบริจาคเงินเป็นไปตามหลักศาสนา
วันที่ 23 พ.ย. 49 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางเยือนประเทศปากีสถานว่า ได้พบกับผู้นำปากีสถาน ซึ่งได้สอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และหลังจากที่ได้ฟังการอธิบายแล้วก็เข้าใจว่าปัญหาเกิดขึ้นจากอะไร เพราะปัญหามีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งเขาใช้วิธีแก้ปัญหาโดยการให้การศึกษาแก่ประชาชน รวมทั้งให้ประชาชนมีอาชีพซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้ และประเทศไทยจะใช้แนวทางเดียวกันในการแก้ปัญหา ส่วนเรื่องเงินบริจาค ตามหลักศาสนาข้อหนึ่งบัญญัติไว้ว่าเมื่อมีรายได้จะต้องนำมาทำบุญ ซึ่งเงินเหล่านี้สามารถเอาไปทำอะไรก็ได้ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ เราคงตอบไม่ได้ว่าคนเหล่านี้ให้เงินไปที่ไหนบ้าง อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ ยังไม่ได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรี

นายกไม่ขอพูดเรื่องต้มยำกุ้งอีกเพราะจะผิดข้อตกลงกับมาเลเซีย
วันที่ 23 พ.ย.49 เวลา 18.30 น. ที่บ้านพิษณุโลก พล.อ.สุรยุทธ์ ได้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี นัดพิเศษ โดยจะมีการหารือแนวทางการแก้ ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในภาพรวมทั้งระบบ ทั้งเรื่องการบูรณาการการทำงานของ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความเป็นเอกภาพ มีความคล่องตัว และทันสถานการณ์ โดยเฉพาะข้าราชการจะต้องรู้ระเบียบและขั้นตอนของกฎหมายพิเศษ เพื่อนำไปใช้ได้จริง

ต่อมาเวลา 20.30 น. พล.อ.สุรยุทธ์ แถลงหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือการทำงานในพื้นที่ภาคใต้ในภาพรวมทั้งหมด รวมทั้งการดำเนินงานของ ศอ.บต. กอ.รมน. งบประมาณ กำลังคนภายในองค์กรที่จะตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้การทำงานมีเอกภาพและมีการบูรณาการทุกส่วนราชการ ส่วนเรื่องของเครือข่ายต้มยำกุ้งนั้นเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 49 ที่ผ่านมาได้โทรศัพท์ไปหานายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งได้ยืนยันแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีและทางมาเลเซียก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา และยังได้ตกลงกันว่าจะไม่พูดเรื่องนี้อีกถ้าตนพูดก็เท่ากับทำผิดข้อตกลง

สันติบาลสอบต้มยำกุ้ง
วันที่ 24 พ.ย.49 พล.ต.ท.ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง ผบช.ส.กล่าวว่า ร้านต้มยำกุ้ง มีมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นลักษณะข้อมูลข่าวสารเข้ามา ขณะนี้ทางตำรวจสันติบาลไม่ได้ติดตามเรื่องนี้เนื่องจากเป็นเรื่องของทางรัฐบาล เรื่องนี้เป็นสองแง่ คือแง่ของคนที่ทำมาหากินบริสุทธิ์ จะเป็นการไม่สบายใจ ส่วนในแง่ที่แอบแฝงคงจะมีอยู่บ้าง ซึ่งทางสันติบาลจะเข้าไปดูอย่างใกล้ชิด ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าทางอธิบดีตำรวจมาเลเซียได้มีการพูดถึงร้านต้มยำกุ้งบ้างหรือไม่ ผบช.ส.กล่าวว่า ไม่ได้พูดถึงร้านต้มยำกุ้ง แต่ได้พูดคุยในเรื่องของความสัมพันธ์ตามปกติของการทำงาน การพูดคุยเป็นไปด้วยบรรยากาศที่ดีต่อกัน และในวันที่ 2 ธ.ค.49 นี้ หัวหน้าตำรวจสันติบาลมาเลเซียจะเดินทางมาพบ ซึ่งอาจจะมีการพูดคุยถึงเรื่องนี้นิดหน่อย โดยจะให้คนไทยที่ไปทำงานที่มาเลเซียถ่ายรูปร้านมาให้ดูด้วย
สมาคมต้มยำกุ้งไม่สบายใจ วันที่ 26 พ.ย.49 นายฮายี อาซมี เบญยูโซ๊บ นายกสมาคมต้มยำกุ้งของประเทศมาเลเซีย หรือที่เรียกว่า PERTUM กล่าวว่า การตั้งสมาคมต้มยำกุ้ง เป็นการตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะคนเชื้อสายมลายู สัญชาติมาเลเซียเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ไม่สามารถเป็นสมาชิกได้ แม้ว่าเป็นชาวมาเลเซียเองแต่เชื้อสายอื่นก็เป็นสมาชิกไม่ได้ การตั้งสมาคมก็เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เปิดร้านอาหาร ที่มีเมนูต้มยำกุ้ง สมาชิกทุกคนต้องจ่ายค่าสมาชิก เพื่อช่วยเหลือสมาชิกเมื่อเวลาเดือดร้อน ทั้งนี้สมาคมจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องการเมืองทั้งในและต่างประเทศ หรือเรื่อง อื่น ๆ ส่วนที่บอกว่า เครือข่ายต้มยำกุ้งได้นำเงินไปบริจาคให้กับผู้ที่ก่อเหตุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนขอปฏิเสธเรื่องนี้ เพราะสมาคมของตน ไม่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารคนไทยที่จำหน่ายต้มยำกุ้งในมาเลเซีย คนละส่วนกัน และประเทศอื่นก็ไม่สมควรมายุ่งกับสมาคมของมาเลเซีย

นายกสมาคม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสมาคมตนได้ให้ความร่วมมือ รวมทั้งข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคนไทยที่ขายอาหารต้มยำกุ้ง ให้กับตัวแทนรัฐบาลไทยตั้งแต่ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และให้ความร่วมมือชี้แจงทำความเข้าใจไม่รู้กี่คณะ เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับสมาคม และเห็นใจคนชายแดนใต้ที่ทำมาหากิน ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของตน แต่เพราะความเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกัน และเพื่อความสัมพันธ์ที่ดี แต่มายุคนี้ตนต้องชี้แจงอีก รัฐบาลไทยน่าจะเห็นใจคนไทยเหล่านี้ และเข้ามาดูแลช่วยเหลือกัน ขณะนี้กลุ่มคนดังกล่าวเขากลัว หวาดระแวง และไม่สบายใจกับที่ถูกระบุว่านำเงินบริจาคให้กับผู้ก่อเหตุ.

บทสรุป 
การที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาพูดถึงเส้นทางของเงินที่ใช้ปั่นป่วนสร้างความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างมีเสียงร้องคัดค้านเกือบจะทุกฝ่ายเพราะหมายถึงการเปิดศึกกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่มีตำแหน่งเป็นถึงประธานOIC หรือองค์การประชุมมุสลิม ที่มีสมาชิกที่เป็นชาติมุสลิมอยู่เกือบทั่วทุกมุมโลก แน่นอนทางการมาเลเซียจึงต้องออกมาตอบโต้ในทันที เรียกร้องหาหลักฐานจากนายกรัฐมนตรีของไทยหารมีหลักฐานจริงก็ขอให้ส่งมาอย่ากล่าวหาลอย ๆ ส่วนนักวิชาการ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว นักการเมือง ผู้นำศาสนาต่างเรียงหน้าออกมาค้านว่าไม่น่าจะเป็นจริงที่เงินจะมาจากร้านต้มยำกุ้ง และแม้นแต่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ก็ออกมาบอกว่า ตามหลักศาสนาอิสลามระบุว่าหากผู้นั้นมีรายได้จะต้องนำเงินไปทำบุญ ก็เท่ากับส่งสัญญาณบอกนายกรัฐมนตรีกลาย ๆ ว่าไม่ควรจะพูดเรื่องนี้เพราะจะเป็นการเปิดศึกหลายด้าน ในขณะที่นักการเมืองระบุว่านายกน่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจนถึงได้ออกมาพูด ขณะที่นักข่าวมีความพยายามที่จะเล่นข่าวในประเด็นนี้ต่อว่า นายกได้ข้อมูลมาจากที่ใดถึงได้ออกมาพูดอย่างชัดเจน แต่หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเดินทางกลับจากการเยือนประเทศพม่าคงจะคิดได้ว่าขืนพูดต่อไปคงจะไม่ดีแน่ จึงมีการพูดสายตรงกับนายรัฐมนตรีมาเลเซีย เพื่อขอยุติเรื่องต้มยำกุ้ง ก่อนที่เรื่องจะบานปลายไปกว่านี้ และพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาสัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ ว่าจะไม่ขอพูดเรื่องต้มยำกุ้งนี้อีกเพราะได้มีการโทรศัพท์พูดคุยกับนายกมาเลเซียแล้วหากพูดไปจะเป็นการผิดข้อตกลง จึงทำให้ประเด็นข่าวต้มยำกุ้งจึงหยุดไป

*******************


          1
คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com