10 ส.ค.2549 วิเคราะห์ ข่าว BBC กรณีพูโล โดย ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ ผู้สื่อข่าว 8 ว
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับที่ 10378 วันที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 พาดหัวข่าว ได้ค่อนข้างน่าตกใจ ว่า พูโลอวดศักดาขู่ผ่าน"บีบีซี" ถล่มกทม.-ภูเก็ต และเป็นหนังสือพิมพ์เพียงฉบับเดียว ที่หยิบเอาข่าวนี้มาเล่น โดย แปลข่าวบางตอนของ สำนักข่าว BBC NEWS ที่ลงข่าวเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2549 ลงตีพิมพ์ โดยมีเนื้อหาว่า สำนักข่าวบีบีซีนิวส์ เผยแพร่รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ทางภาคใต้ของไทย โดยเคท แมคกีโอว์น ซึ่งตอนหนึ่งมีคำให้สัมภาษณ์ของผู้ที่อ้างว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทางภาคใต้ของไทย โดยอ้างว่าเป็นสมาชิกอาวุโสขององค์การกู้อิสรภาพสหรัฐปัตตานี (พูโล) ระบุว่า รู้สึกเสียใจต่อครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของพวกตน แต่เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากยังคงเงียบอยู่ต่อไป รัฐบาลไทยก็ไม่มีวันรับรู้ว่าพวกตนต้องการอะไร
"เป็นความจำเป็นที่เราต้องโจมตีเจ้าหน้าที่ เพราะการโจมตีจะทำให้รัฐบาลตระหนักและรับรู้ว่าเราต้องการอิสระ" สมาชิกระดับสูงของพูโลรายนี้กล่าว พร้อมกับยืนยันว่า ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มก่อการร้ายระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นอัลเคด้า หรือขบวนการเจไอ (เจมาห์อิสลามิยาห์) โดยอาวุธของพวกตนส่วนใหญ่เป็นอาวุธที่มาจากเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง มีทั้งที่ยึดเอามาได้ หรือไม่ก็เป็นการทำความตกลงซื้อจากเจ้าหน้าที่เหล่านั้น
สมาชิกระดับระดับสูงของพูโลกล่าวกับบีบีซีด้วยว่า "การโจมตีของกลุ่มตนอาจไม่จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในพื้นที่ 3 จังหวัดเท่านั้น หากแต่อาจมีการกำหนดเป้าหมายในพื้นที่อื่นๆ อย่างเช่นกรุงเทพฯหรือภูเก็ตด้วยก็เป็นไปได้ไม่สามารถรับประกันได้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้น"
สมาชิกพูโลรายนี้ยอมรับว่านอกจากพูโลแล้วยังมีกลุ่มต่างๆ อีกหลายกลุ่มร่วมอยู่ในขบวนการเพื่อก่อความไม่สงบทางภาคใต้ของไทย แต่ปฏิเสธที่จะระบุชื่อกลุ่มเหล่านั้นออกมา
แต่เมื่อวิเคราะห์ตามเนื้อข่าว กลับปรากฏว่า ข่าวที่ได้มา ไม่ปรากฏชื่อผู้ให้ข่าว แต่อ้างว่าเป็น สมาชิกอาวุโสของขบวนการพูโล ว่าเป็นผู้ให้ข่าว และเมื่อเข้าไปตรวจสอบข่าวในเว็บไซต์ ของสำนักข่าว BBC NEWS ก็ปรากฏว่า ไม่มีชื่อแหล่งข่าวเช่นกัน โดยใช้ข้อความว่า "The man claimed to be a senior member of the Pattani United Liberation Organisation (Pulo), one of the main insurgent groups in southern Thailand. The incidents he was referring to are the almost daily bombings and shooting attacks targeting representatives of the Thai authorities - police, soldiers, officials and local informants. "
ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว BBC NEWS ที่เขียนข่าวนี้ชื่อ Kate McGeown โดยเขา ได้พาดหัวข่าวว่า Lifting the lid on Thai insurgents ซึ่งอาจมีความหมายว่า ฝุ่นผงในเปลือกตา ที่เป็นกบฎของคนไทย การเขียนข่าวของ Kate McGeown ไม่มีชื่อแหล่งข่าว บอกแต่เพียงว่าเป็น สมาชิกระดับอาวุโส ของขบวนการพูโล ซึ่งการเขียนข่าวในลักษณะนี้ ย่อมขาดความน่าเชื่อถือ ของการได้มาของข่าว และผิดหลักของการเขียนข่าวอย่างสิ้นเชิง เพราะขาดชื่อแหล่งข่าว หรือชื่อบุคคลให้ข่าว (WHO) ซึ่งสำนักข่าว BBC NEWS ไม่น่าจะเขียนข่าวในลักษณะนี้ แต่เนื้อหาของข่าวก็มีข้อเท็จจริงอยู่บ้าง เพราะเรื่องการมีขบวนการในภาคใต้มีอยู่จริง เช่น ขบวนการบีอาร์เอ็น ขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี ขบวนการเบอร์ซาตู ฯลฯ ในขณะเดียวกัน Kate McGeown หลีกเลี่ยงการอ้างแหล่งข่าวเกินความจำเป็น เขาจึงหาแหล่งข่าวในพื้นที่เพื่อเป็นการป้องกันการได้มาของข่าวที่ขาดความน่าเชื่อถือโดยเลี่ยงไปสัมภาษณ์ ร้อยโทณรงค์ สวนแก้ว ซึ่งเป็นผู้บังคับหมวด ที่มีฐานปฏิบัติการในจังหวัดนราธิวาส โดยแหล่งข่าวได้อธิบายถึงขบวนการ RKK ว่าเป็นขบวนการใหม่ที่กำลังปฏิบัติการในพื้นที่ โดยคำสัมภาษณ์มีข้อความว่า "Lieutenant Narong Suankaew, an army commander based in Narathiwat province, has drawn up charts to study this mysterious new group. "The RKK is responsible for most of the violence now. The main task for me is to destroy this organization," he said". คำสัมภาษณ์ของร้อยโทณรงค์ ครั้งนี้ ย่อมเป็นที่ไม่พอใจของกองทัพบกอย่างแน่นอน เพราะตามหลักการให้ข่าวจากกองทัพบกไทยจะต้องได้รับมอบหมายอย่างเป็นทางการ ในการให้ข่าวเท่านั้น ยิ่งเป็นการให้ข่าวกับนักข่าวต่างประเทศ ยิ่งต้องระมัดระวัง
นอกจากนี้ Kate McGeown ยังได้สัมภาษณ์ ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี อาจารย์ มหาวิทยาสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (Dr Srisompob Jitpiromsri, a lecturer of political science at the Prince of Songkhla University in Pattani ) โดย ระบุคำให้สำภาษณ์ ว่า "School students can make these plastic bombs if they want to," he said. But he added that this simplicity could well belie the insurgents' capabilities, as they appear to have learnt to plan attacks simultaneously across a large area - a feat which takes substantial organization.
"I believe they can make bigger bombs if they wanted to," he said. "They almost certainly have a deliberate policy to keep the bombings small, as the aim is not to kill but to make a political impact."
ซึ่งข่าวตอนนี้ แปลได้ว่า การประกอบระเบิด เด็ก ๆ ในโรงเรียนก็สามารถทำได้ และมีความเชื่อว่า สามารถทำได้รุนแรงกว่านี้ถ้าพวกเขามีความต้องการ และนี่อาจจะเป็นที่มาของข่าวที่ Kate McGeown ได้สรุปว่า ขวบนการพูโล สามารถที่จะระเบิดเมืองใหญ่ ๆ ได้ เช่นกรุงเทพ และภูเก็ต ถ้าเขาอยากจะทำ
อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้ เป็นข้อมูลที่มีอยู่ทั่วไป ที่ทุกคนสามาถหาอ่านได้จากเว็บไซต์ และหนังสือ ที่มีขายตามท้องตลาด ที่ระบุถึงสาเหตุของความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทันทีที่ข่าวนี้เผยแพร่ออกไป ทำให้เกิดประเด็นข่าวขึ้นมาทันที ซึ่งสื่อมวลชนไทยชอบที่จะทำข่าวตามกระแส เพื่อเป็นการขยายผลของข่าว โดยไม่คำนึงว่าข่าวนี้จะได้รับผลกระทบหรือไม่ และไม่วิเคราะห์ถึงที่มาของข่าว เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2549 ผู้สื่อข่าวที่ติดตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ตรวจราชการจ.ร้อยเอ็ด โดยผู้สื่อข่าวถามว่า สมาชิกอาวุโสขององค์การกู้อิสรภาพสหรัฐปัตตานี (พูโล) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีระบุว่า อาจก่อเหตุโจมตีกรุงเทพฯและภูเก็ตด้วย นายกรัฐมนตรี กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า พวกนี้เป็นนักโฆษณา
ขณะที่ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตอบคำถามของผู้สื่อข่าว ที่ทำเนียบรัฐบาลเพียงสั้น ๆ ว่า ไม่ขอวิจารณ์กรณีพูโลขู่จะโจมตีกรุงเทพฯและภูเก็ต
สื่อมวลชนไทยยังไม่ลดละที่ตามข่าวนี้โดยไปสัมภาษณ์ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)และให้สัมภาษณ์ที่กรุงเทพว่า กรณีพูโลขู่จะขยายพื้นที่ก่อเหตุ เข้ามายังกรุงเทพฯเป็นเพียงข่าวที่ถูกปล่อยออกมา เชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไร ตำรวจมีหน้าที่ดูแลความสงบอย่างเต็มที่อยู่แล้วประชาชนไม่ต้องกังวล
ด้าน พล.ต.ท.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช ผู้ช่วย ผบ.ตร. พูดในเรื่องเดียวกันว่า กระแสข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้มีมานานแล้ว ได้รับการประสานทั้งกองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักข่าวกรองแห่งชาติมาตลอด ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติและฝ่ายข่าวไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ข่าวที่ออกมาทางบีบีซีนิวส์นั้นมีกระแสมานานแล้ว ตรวจสอบฐานข้อมูลข่าวพบว่าไม่มีมูลซึ่งโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ให้ข้อเท็จจริงว่า ไม่มีมูล แต่ก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนความประมาท โดยทางตำรวจคงจะรู้ที่มาของข่าวแล้วว่า ผู้ให้ข่าวนี้ อาจจะไม่มีตัวตนอยู่ก็ได้
สื่อมวลชนไทยเองก็ยังตามข่าวนี้เป็นวันที่สอง โดยสัมภาษณ์นายสรายุทธ มัลลัม อุปนายกฝ่ายบริหาร สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต ที่มีความใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์ และได้พูดถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พูดว่าพวกพูโลเป็นนักโฆษณา ว่า คำพูดเหล่านี้ไม่น่าจะออกมาจากปากของผู้ที่เป็นผู้นำประเทศ เพราะเหมือนกับเป็นการยั่วยุ เหมือนกรณีที่พูดเรื่องของโจรกระจอกในพื้นที่ภาคใต้ก่อนหน้านี้ แค่มีข่าวทางบีบีซีก็กระทบต่อท่องเที่ยวไทยอยู่แล้ว แต่นายกฯยังมาพูดยั่วยุ เป็นการทำลายการท่องเที่ยวอย่างร้ายแรง
การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไทย เมื่อตรวจสอบจากข่าวนี้ ชี้ให้เห็นว่า ทำให้เกิดความขัดแย้ง ทางความคิด แบ่งฝักแบ่งฝ่ายขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด เกิดเป็นความวุ่นวายในสังคม แม้นว่าสื่อจะบอกว่า เป็นการนำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริงก็ตาม และผู้ให้ข่าวเอง ก็ยังไม่มีเวลาที่จะตรวจสอบที่มาของข่าวปี 2548 พูโล ออกข่าวป่วน ลักษณะเดียวกันกับปี 2549
สำนักข่าวรอยเตอร์ได้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม2548 ระบุว่า นายเอ็ด ครอปเลย์ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์จากโฆษกของขบวนการพูโล โดยไม่เปิดเผยชื่อรายนี้ให้สัมภาษณ์ว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการพูโลในครั้งนี้ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ อาทิ อัลเคด้า หรือเจไอ (เจมาห์ อิสลามิยาห์) แต่เป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมเพราะปัตตานีเป็นของชาวมาเลย์ เช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังคงดื้อดึง ขบวนการพูโล กำลังเตรียมการที่จะขยายพื้นที่ต่อสู้ ขึ้นมายังกรุงเทพฯหรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างภูเก็ตหรือพัทยา แต่การออกข่าวในครั้งนั้น ก็ยังไม่เหตุร้ายตามที่ พูโล ให้ข่าว และในคราวนั้น ผู้บริหารระดับสูง ต่างออกมาพูดถึงขบวนการพูโล ในแง่มุมต่าง ๆ ว่า ไม่น่าจะขยายพื้นที่การก่อการร้าย ซึ่งก็เป็นจริง
ต่อมาเมื่อ วันที่ 7 สิงหาคม 2549 กับสำนักข่าวBBC NEWS ได้สัมภาษณ์สมาชิกอาวุโสขบวนการพูโล โดยไม่มีการเปิดเผยชื่อจริง โดยออกมาบอกว่าอาจจะมีการขยายการก่อการร้ายไปยังกรุงเทพและภูเก็ต โดยประเด็นการออกข่าวมีประเด็นที่คล้ายคลึงกัน แต่แหล่งข่าวก็ไม่กล้าที่จะเปิดเผยชื่อ จริง
ที่มาของขบวนการ พูโล (ข้อมูลจาก เว็บไซต์พูโล) ขบวนการพูโล เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่ทำหน้าที่ด้านการประชาสัมพันธ์ โดยผ่านทางเว็บไซต์ ชื่อ http://www.pulo.org และชื่ออื่น ๆ แต่ก็ถูกทางการไทย ปิดเว็บไซต์ ไม่สามารถเข้าไปดูได้ แต่พูโล กลับใช้วิธีการโดย นำข้อความลงในเว็บบอร์ด ของเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงของไทย เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ ซึ่งทางการก็รู้เรื่องนี้ดี และล่าสุด ขบวนการพูโลได้มีการรวมกันระหว่างพูโลเก่ากับพูโลใหม่ เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีเอกภาพ
ขบวนการ PULO เป็นตัวอักษรย่อของ Patani United Liberation Organisation แปลเป็นไทยว่าองค์การกู้เอกราชสหปาตานี เป็นองค์การที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อแบ่งแยกดินแดน ก่อตั้งโดย ตนกูวีรา อับดุลเราะฮ์มาน โกตานีลา ในสมัยที่เป็นนักศึกษานั้น รู้จักกันในนาม หม่อมราชวงศ์ วีระ ณ ราชวังคราม เป็นเชื้อพระวงศ์กษัตริย์ปาตานี สายราชวังคราม ยี่งอ นราธิวาส จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในอินเดีย และปริญญาโทในสวีเดน ได้ก่อตั้งองค์การพูโลเพื่อกอบกู้เอกราชปาตานีรายา ในวันที่ 22 มกราคม 2511 ที่ประเทศซาอุดิอารเบีย
โดยได้มีการแยกตัวจากกลุ่มบีอาร์เอ็น มาตั้งกลุ่มใหม่คือ ขบวนการ พูโล PULO (Pattani United Liberation Organization) ขบวนการพูโล ได้รับการช่วยเหลือ จาก ขบวนการ พีแอลโอ ของ นายยัดเซอร์อาราฟัด ผู้นำปาเลสไตน์ และไออาร์เอ กลุ่มก่อการร้ายไอริชในอังกฤษ ได้ให้เงินสนับสนุนและฝึกการวางระเบิด แกนนำคนสำคัญของ พูโล คือ นายสะมะแอ ท่าน้ำ,นายดาโอ๊ะ ท่าน้ำ,นายบูโด เบตง ปัจจุบันศาลไทยตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ในข้อหากบฏ เมื่อปี พ.ศ. 2530 กลุ่มบีอาร์เอ็น และ กลุ่มพูโล บางส่วน แยกตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มใหม่อีกเรียกว่า ขบวนการมูจาฮีดีน มีนายเจ๊ะกูแม กูเต๊ะ เป็นประธาน มูจาฮีดีน เป็นกลุ่มโจร ที่ใช้ความเชื่อทางศาสนา ตายเพื่อพระเจ้า โดยใช้วิธี จีฮัจญ์ เป็นความรุนแรงที่นำเอาศาสนามาเกี่ยวข้อง โดยขบวนการพูโล อ้างว่า แผ่นดินปาตานีรายาคือรัฐมลายูในอดีตอันได้แก่เซอตูล (สตูล) สิงขรนคร (สงขลา) ญาลา (ยะลา) บังนารา (นราธิวาส) และปาตานี (ปัตตานี) ขบวนการพูโลได้มีการ ต่อสู้ในทุกรูป โดยไม่จำกัดวิธี ไม่ว่าในด้านการเมือง การทหาร การศึกษา มีการจัดทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนมาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 70 เพื่อไปศึกษาต่อที่กรุงเทพ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซาอุดิอารเบีย และยุโรป และขบวนการพูโลมีหน่วยจรยุทธ์ในเขตฮาลาบาลา บูโด สันกาลาคีรี และที่อื่น ๆ ทั้งพูโล บีอาร์เอ็น บีเอ็นพีพี มูญาฮิดีนปาตานี และขบวนการอื่น ๆ มีเป้าหมายเดียวกันคือ การกู้เอกราชปาตานีรายา โดยต่างก็มีวิธีที่แตกต่างกันเล็กน้อย ในขณะที่พูโลเน้นด้านประชาสัมพันธ์และเทคโนโลยี บีอาร์เอ็น เน้นเรื่องมาตรฐานการศึกษาของประชาชนชาวมลายูปาตานี และมุญาฮิดีนเน้นด้านกองกำลังและศาสตราวุธ
ปัจจุบันขบวนการแบ่งแยกดินแดนพูโล มีนายลุกมาน บินลีมา เป็นผู้บัญชาการสูงสุด จบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์จากประเทศอังกฤษ และวิทยาการสงครามจากประเทศโปแลนด์และพำนักอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์
ขบวนการพูโลยังมีกลุ่มเยาวชนที่เรียกว่า PANYOM (Patani National Youth Movement )เป็นองค์กรของเยาวชนนักต่อสู้ เพื่อเอกราชของปาตานี และยังมีหน่วยอินตันฮีตัม(เพชรสีดำ) ซึ่งหมายถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่ปฏิบัติการในประเทศสยาม (ประเทศไทย) เพื่อลดความอันตรายของทหาร ตำรวจ และสายลับ และพิทักษ์ปกป้องประชาชนชาวมลายูปาตานี
ขบวนการพูโลยังอ้างว่า กลุ่ม JASA ที่ก่อความรุนแรงไม่ได้อยู่ในขบวนการพูโล ซึ่งกลุ่ม JASA (ญาซา) คือขบวนการกู้เอกราชเชิงจรยุทธ์ที่ปฏิบัติการในปาตานีรายา นำโดยนาย ญุนดี อัชบาล ซึ่งจบการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารในตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก เป็นขบวนการที่มีความสามารถพิเศษในการเคลื่อนไหวและปฏิบัติการ JASA มีเป้าหมายใช้ความรุนแรงเป็นหลัก เป็นขบวนการที่นำเทคนิคการต่อสู้เชิงพลีชีพมาใช้ ขบวนการพูโล ยังปฏิเสธว่ากลุ่มดังกล่าวมีนโยบายขัดแย้งกัน
|