ม.อ. มอบปริญญา Grand Sheikh of Al Azhar (แกรนด์ ชีค ออฟ อัล อัซฮัร) นักปราชญ์และผู้นำศาสนาอิสลามที่ได้รับการยอมรับระดับสากล 20มิ.ย.2550 ที่มา:ปชส.มอ.หาดใหญ่
สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในคราวประชุมครั้งที่ 296(3/2550) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2550 ได้มีมติอนุมัติปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาอิสลามศึกษา แก่ ดร. โมฮาหมัด ซาอิด ตันตาวีH.E. Prof. Dr. Muhammad Sayid Tantawy ผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลาม หรือ Grand Sheikh of Al Azharและ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร ประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ในฐานะนักปราชญ์และผู้นำศาสนาอิสลามที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ในสังคมพหุวัฒนธรรมของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ และมีส่วนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภูมิภาคและนานาชาติ โดยจะจัดพิธีมอบปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในวันที่ 26 มิถุนายน 2550 ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและหอสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดย ศาสตราจารย์เกษม สุวรรณกุล นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธาน
ดร. โมฮาหมัด ซาอิด ตันตาวี H.E. Prof. Dr. Muhammad Sayid Tantawy สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการศึกษา และปริญญาเอกเกียรตินิยมสาขาตัฟซีรและหะดีษ จากมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร เคยดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีในคณะอุศูลุดดีน และคณบดีคณะอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร และเคยเป็นอาจารย์รับเชิญจากมหาวิทยาลัยในหลายประเทศ เป็นนักวิชาการที่มีผลงานทางวิชาการที่โดดเด่นหลายชิ้น ท่านเป็นผู้ที่ได้อุทิศตนเพื่อวงการการศึกษาอิสลามอย่างอุตสาหะและยาวนานจนทำให้มีลูกศิษย์มากมายอยู่ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Grand Sheikh of Al Azhar ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน
ดร. โมฮาหมัด ซาอิด ตันตาวี H.E. Prof. Dr. Muhammad Sayid Tantawy เป็นปราชญ์ที่สมถะ เรียบง่าย สุภาพนุ่มนวลและเพียบพร้อมด้วยคุณธรรม ใฝ่สันติ เป็นผู้สนับสนุนแนวคิดอิสลามสายกลาง ส่งเสริมการปรองดอง และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมที่หลากหลาย ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏเด่นชัดในงานเขียนและคำเทศนาของท่านในโอกาสต่างๆ เช่นคำกล่าวผ่านสื่อมวลชนถึงพี่น้องมุสลิมในประเทศไทย เมื่อครั้งการเดินทางเยือนอียิปต์ ของ นายสวนิต คงสิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2550 แสดงความสนับสนุนนโยบายสมานฉันท์ของรัฐบาลไทย และแสดงความปรารถนาจะเห็นศาสนิกชนทั้งหลายอยู่ด้วยกันโดยสันติ ดังใจความตอนหนึ่งว่า
"สิ่งที่เราสั่งสอนให้แก่ลูกหลานของเราในอัล-อัซฮัร และอยากจะกล่าวในสิ่งเดียวกันแก่มนุษย์ทั้งมวล คือ ความเป็นภราดรภาพระหว่างมนุษยชาติ และความแตกต่างทางความคิดและความเชื่อทางศาสนาไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางความร่วมมือระหว่างกัน ความเชื่อทางศาสนาไม่อาจบังคับได้ หากแต่มนุษย์ทุกคนมีอิสระในทางความคิดและความเชื่อทางศาสนาของตน และเราควรให้ความเคารพแก่กันและกัน ควรต้องจงรักภักดีต่อแผ่นดินเกิดของเรา ดังนั้น ข้าพเจ้าขอฝากลูกหลานทุกคนในประเทศไทยว่า ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด จงเป็นพี่น้องที่มีความรักให้กันและกัน ไม่มีความแตกต่างระหว่างมุสลิมหรือมิใช่มุสลิม แต่คนควรจะมุ่งปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ในการนำพาประเทศไทยสู่ความเจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้า ทุกคนต้องทำงานด้วยใจอันสัตย์ซื่อ ตั้งใจแน่วแน่ ใช้ความสามารถที่ตนมี ประชาชาติใดที่มีความร่วมมือในสังคม บนความหลากหลายของศาสนา ประชาชาตินั้นจะเปี่ยมไปด้วยความสุข ความเจริญก้าวหน้า มั่งคั่ง และความสงบสุข"
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร เป็นสถาบันการศึกษาที่มีอายุเก่าแก่กว่า 1,000 ปี และมีชื่อเสียงมากที่สุดในอียิปต์ ได้รับการยอมรับและจัดอันดับในระดับนานาชาติว่าเป็นสถาบันอิสลามศึกษาที่ได้มาตรฐานที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จึงเป็นสถาบันที่ชาวมุสลิมทั่วโลกนิยมส่งบุตรหลานไปเล่าเรียน รวมทั้งจากประเทศไทยด้วย โดยพบว่ามีนักศึกษาไทยในอียิปต์ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร มากที่สุดในบรรดามหาวิทยาลัยในประเทศอียิปต์ถึง 1,500 คน
* * * * * * * * * * * * * * * * |