Dr. Muhammad Sayid Tantawy อิสลามยืนยันที่จะไม่สนับสนุนการใช้ความรู้ที่ไม่สร้างสรรค์ 26 มิถุนายน 2550 ที่มา:ปชส.มอ.วิทยาเขตหาดใหญ่
"อิสลามยืนยันที่จะไม่สนับสนุนการใช้ความรู้ที่ไม่สร้างสรรค์ การบ่อนทำลาย จึงเรียกร้องให้มีการทำความเข้าใจกัน เพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง มีการแสวงหาสันติภาพ"
Dr. Muhammad Sayid Tantawy ผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ หรือ Grand Sheikh of Al- Azhar และผู้บริหารมหาวิทยาลัย Al -Azhar กล่าวในการปาฐกถาหลังจากการรับมอบปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาอิสลามศึกษาจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2550 ว่า
"การเสวนา เป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการสร้างความเข้าใจ ... ประชาชาติหนึ่งซึ่งสมาชิกอาศัยอยู่ในแผ่นดินเดียวกัน มีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องกัน ประชาชาตินั้นต้องมีความรักและสานความผูกพันกันให้แข็งแรงเหมือนอิฐที่ก่อ ขึ้นเพื่อยึดตัวอาคาร"
Dr. Muhammad Sayid Tantawy ได้ยกตัวอย่างประเทศอียิปต์ของท่านที่มีประชากร 73 ล้านคน เป็นชาวมุสลิมร้อยละ 90 ส่วนที่เหลือร้อยละ 10 เป็นชาวคริสต์ แต่ทุกศาสนิกล้วนมีสิทธิและหน้าที่เหมือนกัน ต้องจ่ายภาษีเท่ากัน ชายอายุครบ 18 ปีต้องเป็นทหารเหมือนกัน ทุกคนมีสิทธิในการนับถือศาสนา ไม่มีการบีบบังคับเพราะการบังคับสะท้อนถึงการไร้ซึ่งความศรัทธา ท่านจะพบปรึกษาหารือกับผู้นำศาสนิกอื่น เพื่อวางแผน พัฒนา แก้ปัญหาร่วมกัน เพราะทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศอียิปต์ จะส่งผลกับทุกศาสนิกด้วย
ปัจจุบันเราอยู่ในยุคของวิทยาการ ประชาชาติใดที่มีการเผยแพร่ด้านวิชาความรู้ ก็จะมีความเจริญก้าวหน้า แต่ความรู้ที่ว่าต้องหมายถึงความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ซึ่งผู้ที่เข้าถึงความรู้เหล่านี้จะได้พบ ความสุขภายใต้ร่มเงาของพระเจ้า ทั้งนี้ ความรู้ที่ท่านต้องการเห็นจะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ความรู้ที่จะก่อ ให้เกิดความสามัคคี ความรัก ความร่วมมือกัน และกล่าวว่า "ความรู้ที่ตั้งอยู่บนหลักการแห่งความแตกแยก ความโง่เขลายังประเสริฐกว่า"
"อิสลามจึงยืนยันหลายครั้งที่จะไม่สนับสนุนการใช้ความรู้ที่ไม่สร้างสรรค์ การบ่อนทำลาย การสร้างอคติ ดังนั้น จึงเรียกร้องให้มีการทำความเข้าใจกัน เปิดใจรับฟังเรื่องราวซึ่งกันและกัน มีการรอมชอมเมื่อเกิดความแตกต่างด้านความคิด เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ มีการแสวงหาสันติภาพด้วยมารยาทที่ดีงาม
ความแตกต่างไม่ใช่เงื่อนไขของความขัดแย้ง ทุกศาสนาล้วนเห็นพ้องกันว่าแท้จริงแล้ว มารยาท การประนีประนอม การปรึกษาหารือ เป็นแนวทางที่สมบูรณ์ที่จะสร้างความสงบสุข ความมั่นคง แนวทางอื่นอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ความเข้าใจผิด อคติ และสู่หายนะ"
"ข้าพเจ้าขอนำความปรารถนาดีจากมหาวิทยาลัย Al-Azhar ประชาชน และรัฐบาลอียิปต์ สู่ท่านทั้งหลาย มหาวิทยาลัย Al-Azhar มีความผูกพันทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาในประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 90 ปี มีนักศึกษาจากประเทศไทยศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย Al-Azhar จำนวนมาก"
Dr. Muhammad Sayid Tantawy กล่าวถึงมหาวิทยาลัย Al-Azhar ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่อายุกว่า 1,000 ปี ว่า มีพันธกิจในการดำเนินการศึกษาบนพื้นฐานของการสร้างวิถีชีวิตสายกลางแก่มุสลิมและประชาชาติ ไม่เห็นด้วย กับลัทธินิยมความรุนแรง การรบ การเหยียดผิว และการขับไล่ผู้อื่นจากถิ่นฐาน นอกจากการสอนในสาขาต่างๆ มากมายจนนับได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยหนึ่งเดียวในโลกที่มีการสอนศาสตร์ต่างครบถ้วนแล้ว มหาวิทยาลัย Al-Azhar ยังได้สอนนักศึกษาให้ยึดถือในสัจธรรมตามหลักพระคำภีร์อัลกุรอานที่ว่ามนุษย์ถูกสร้างมาจากพ่อ-แม่เดียวกัน และกระจายเผ่าพันธุ์เพื่อจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน และสอนว่า แท้จริงแล้ว ความแตกต่างและแตกแยกเรื่องอุดมการณ์และความศรัทธานั้น เป็นเรื่องที่ศาสนาไม่เห็นด้วย ไม่มีการบังคับใดๆ ในวิถีศรัทธาของศาสนิกต่างๆ
"วันนี้เหตุการณ์ความขัดแย้งเป็นเช่นนี้ ความรู้ที่ ม.อ. มี เราจะสามารถช่วยพื้นที่ได้อย่างไร"..รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีนโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันท่าม กลางความแตกต่าง อย่างเสมอภาคและเคารพซึ่งกันและกัน เข้าใจซึ่งกันและกัน นโยบายนี้ได้ถูกถ่ายทอดให ้กับองค์การนักศึกษา สภานักศึกษา และผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แล้ว วันนี้เราเห็นการปฏิบัติของนักศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เราคงต้องทำต่อไป เพื่อให้ มอ.เป็นต้นแบบของ
สังคมพหุวัฒนธรรมให้ได้ เราหวังว่าวิธีการที่เราใช้ในมหาวิทยาลัย จะนำไปสู่การประยุกต์ใช้กับสังคมภายนอกได้
นักวิชาการของเราที่ทำวิจัยด้านนี้ ได้รับการยอมรับจากสังคมระดับประเทศและต่างประเทศมาก ได้รับเชิญไปบรรยายในแวดวงต่างๆตลอดเวลา โดยเฉพาะนักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ เพื่อให้ผู้คนได้เข้าใจพื้นที่อย่างแท้จริง ข้อมูลและผลการศึกษาจากวิทยาเขตปัตตานี ใช้เป็นที่อ้างอิงระดับชาติ
โรงพยาบาลของเรา ด้วยความสามารถของคณะแพทย์ วันนี้เป็นสถานที่ดูแลคนเจ็บจากความไม่สงบ ทุกคนทราบดีถึงความสามารถและการทุ่มเทของทีมงาน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ช่วงที่มีเหตุการณ์หนัก ทีมงานของโรงพยาบาลทำงานตลอด 24 ชั่วโมง
มอ.เปิดสอนในหลายหลักสูตรที่รองรับความต้องการของชุมชนในพื้นที่ เช่นสาขาอิสลามศึกษา สาขากฏหมาย อิสลาม สาขาครุอิสลาม สาขาเศรษฐศาสตร์อิสลาม สาขาการจัดการอิสลาม สาขามาลายูศึกษา สาขาภาษามาลายู สาขาภาษาอาหรับ สาขารัฐศาสตร์ที่เปิดสอนที่ปัตตานี ก็จะเน้นการปกครองสังคมพหุวัฒนธรรม รัฐศาสตร์ข้ามแดน เป็นต้น
มอ. กำลังจะพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับสามจังหวัดเป็น Center of Excellence ด้านการพัฒนาพื้นที่สาม จังหวัดอย่ายั่งยืน มอ. มีสถาบันสันติศึกษาที่จะสร้างบุคคลกรทางด้านการจัดการความขัดแย้ง มอ. มีสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา เพื่อศึกษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมอันจะนำไปปรับใช้ใน การอยู่ร่วมกัน
"เรารับแพทย์ที่จบจากตะวันออกกลางมาอบรมเพื่อสอบใบประกอบวิชาชีพ เรานำอุสตาซที่จบจากตะวันออกกลางมาอบรมในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู เราจัดหลักสูตรอบรมครูตาดีกา อบรมผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เราจัดอบรมผู้บริหารมัสยิด นักศึกษาของเราทำกิจกรรม โดยนำเยาวชนจากพื้นที่มาติวเข้มเพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย และเข้าค่ายดนตรีและศิลปะ เป็นต้น"
* * * * * * * * * * * * * * * * * |