www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 61 คน
 สถิติเมื่อวาน 59 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
4170 คน
4170 คน
1749438 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

 

เยาวชนกว่า 5 พัน ยึดมัสยิดกลางปัตตานี
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
ผู้สื่อข่าว 8 ว.
31 พฤษภาคม 2550

บทนำ
ไม่วี่แววว่าจะมีการชุมนุมใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ จังหวัดปัตตานี โดยเฉพาะการเข้ายึดมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ทางการแทบจะไม่มีข่าวการเคลื่อนย้ายคน ที่จะมาชุมนุม การข่าวจะต้องรีบแก้ไขเป็นการด่วน เพราะมีการรวมตัวของผู้ชุมนุมที่กระทำได้รวดเร็วมา คนเหล่านั้นมาจากไหนทำไม มากันมากขนาดนี้ และไม่มีใครรู้ล่วง หน้ามาก่อน

การชุมนุมที่อำพรางได้อย่างแนบเนียน
วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม 2550 คือวันวิสาขะบูชา เป็นวันที่มีความสำคัญในศาสนาพุทธ หลายหน่วยงานที่เป็นราชการจึงหยุดพัก โดยไม่ระแคะระคายเลยว่า จะมีการชุมนุมของเยาวชนที่ปิดหน้า เวลาประมาณ 11.00 น. เยาวชนที่คาดว่าจะเป็นนักศึกษาทั้งชายและหญิง จากหลายพื้นที่ ทั้งจังหวัดยะลา และปัตตานี ได้ทยอยมารวมตัวกันที่บริเวณมัสยิดกลางปัตตานี ตั้งอยู่บนถนนสายยะรัง เขตเทศบาลเมืองปัตตานี ต.จะบังตีกอ อ.เมืองปัตตานีและสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีซึ่งตั้งอยู่ใกล้กันโดยที่ไม่ทราบวัตถุประสงค์ของการชุมนุม

ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่จะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว และรวมตัวกันมาเป็นหมู่คณะ ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนวัยรุ่นชายซึ่งอำพรางตัวว่ามาซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าก่อนจะเคลื่อนย้ายไปรวมตัวยังจุดดังกล่าว

ขณะที่เจ้าหน้าที่มัสยิด ก็ไม่รู้มาก่อนว่าจะมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีจึงได้ปิดทำการก่อนที่จะถึงเวลาเที่ยงวัน เนื่องจากหวั่นว่าจะเกิดเหตุความวุ่นวายขึ้น และไม่อาจรับมือต่อสถานการณ์ได้ส่วนมัสยิดนั้นก็ได้ปิดล็อกประตูไม่ให้ประชาชนผู้ชุมนุมเข้าไปข้างใน

ผู้ว่าปัตตานีออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1
บ่ายวันที่ 31 พ.ค.2550 นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีได้ออกประกาศฉบับที่ 1 แจ้งว่า กลุ่มก่อความไม่สงบได้ชักชวน หลอกลวงประชาชนโดยเฉพาะสตรีมุสลิมให้มาร่วมงานแต่งงานหรือให้มาเที่ยวในตัวเมืองปัตตานี ขอแจ้งว่าเป็นการหลอกลวงเพื่อไปร่วมรวมตัวชุมนุมประท้วงที่บริเวณหน้ามัสยิดกลาง จ.ปัตตานี ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำการชี้แจงทำความเข้าใจจนเป็นที่เข้าใจและได้เดินทางกลับบ้านไปบ้างแล้วแต่ยังมีบางส่วนที่ยังตกเป็นเครื่องมือของผู้ก่อความไม่สงบอยู่อีก ดังนั้นจังหวัดปัตตานีจึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนรีบเดินทางกลับบ้านเรือนของตน มิฉะนั้นอาจจะตกเป็นเครื่องมือของผู้กระทำผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ภายหลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ออกแถลงการณ์ ในช่วงเย็นยังคงมีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 300-400 คนปักหลักอยู่ ภายในบริเวณ รั้วมัสยิดกลาง จ.ปัตตานี โดยผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสตรี และมีเยาวชนที่เป็นผู้ชาย ดูแลจุดเข้าออกและรอบบริเวณขณะที่เจ้าหน้าที่จำนวนมากก็ยังคงรักษา
ความปลอดภัยรอบพื้นที่อย่างเต็มที่

มีรายงานออกมาว่า แกนนำผู้ชุมนุมบอกว่าจะไม่มีการสลายการชุมนุมภายในวันนี้ (31 พ.ค.50) พร้อมกับยืนยันที่จะพักค้างคืนในมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีโดยยังไม่มีกำหนดกลับและจะมีการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนในวันพรุ่งนี้เวลา 09.00 น. ในส่วนของบรรยากาศทั่วไปทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปิดถนนหน้ามัสยิดกลางและหน้าสำนักงานคณะกรรมการอิสลามปัตตานี รวมทั้งร้านค้าในบริเวณต้องปิดร้านโดยปริยาย

ผู้ว่าปัตตานี ยืนยันว่าผู้ชุมนุมแอบอ้างสถานศึกษา
วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน 2550 นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี บอกว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่มัสยิดกลางได้มีการแอบอ้างชื่อและมีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(มอ.ปัตตานี) เข้าร่วมการชุมนุม ในวันนี้ได้ร่วมหารือข้อเท็จจริงกับทางผู้บริหาร มอ.ปัตตานี ซึ่งได้สอบถามไปยังองค์การนักศึกษา พบว่า การที่นักศึกษา มอ.ปัตตานี ส่วนหนึ่งเข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้ดำเนินการในนามสถาบันแต่เป็นการดำเนินการโดยส่วนตัวเท่านั้น

มอ.ปัตตานี ออกแถลงการณ์
ในช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน 2550 ผู้บริหาร มอ.ปัตตานี ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีผู้แอบอ้างชื่อองค์กรนักศึกษา ในการชุมนุมประท้วง โดยระบุว่า ตามที่ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.2550 โดยอ้างชื่อองค์กรนักศึกษาหลายสถาบัน ว่า เป็นผู้สนับสนุนการชุมนุมนั้นมอ.ปัตตานี ขอชี้แจงว่า องค์กรนักศึกษา มอ.ปัตตานี ไม่ว่าสโมสรคณะต่างๆ สภานักศึกษา หรือองค์การบริหารองค์การนักศึกษาไม่ได้มีส่วนร่วมในการชุมนุมตามข้อกล่าวอ้างดังกล่าวแต่อย่างใด มอ.ปัตตานี ขอให้ประชาชน บุคลากรและนักศึกษา อย่าได้หลงเชื่อคำกล่าวอ้างของกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมขอชี้แจงต่อสาธารณชนและสื่อมวลชนว่า มอ.ปัตตานี ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการชุมนุมใดๆ

ชาวบ้านที่รู้ข่าว ร่วมปิดถนนเข้าปัตตานี
วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน 2550 เวลา 09.00 น. กลุ่มชาวบ้านได้ชุมนุมปิดถนนในพื้นที่ จ.ปัตตานี โดยชาวบ้านได้ชุมนุมกลุ่มย่อยปิดถนนเพื่อกดดันเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ยังไม่มีการเจรจาแต่อย่างใด รวมถึงไม่มีแกนนำออกมาแสดงตัว โดยปิดถนนเข้าจังหวัดปัตตานี 3 แห่ง ประกอบด้วย
1.ถนน สาย 42 ปัตตานี-นราธิวาส บ้านเจาะกือแย ต.ตะปิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี มีผู้ชุมนุมประมาณ300คน
2. ถนนสาย 410 ปัตตานี - ยะลาบ้านต้นมะขาม ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี มีผู้ชุมนุมประมาณ200คน
3.มัสยิดบ้านดอนยาง ต.บางขาว อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีผู้ชุมนุมประมาณ 300 คน

ในพื้นที่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และจ.นราธิวาส ประชาชนที่ใช้โทรศัทพ์เคลื่อนที่ไม่สามารถรับสายและโทรออกได้เป็นเวลา 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. 2550 เนื่องจากถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์ เพื่อง่ายต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการดูแลสถานการณ์ความไม่สงบ ยกเว้นระบบข้อความที่ยังสามารถรับ-ส่งได้ตามปกติ

นายก ฯ มอ.ปัตตานี ออกแถลงการณ์ ไม่มีส่วนรู้เห็น
วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน 2550 เวลา 10.30 น. นายอับดุลเราะหมาน มูเก็ม นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี อ่านแถลงการณ์ในนาม องค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีใจความว่า เนื่องจากเหตุการณ์การชุมนุม บริเวณมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีที่ผ่านมาแล้วเป็นเวลา 3 วัน จากเหตุการณ์การชุมนุมได้สร้างผลกระทบในวงกว้างและไม่สามารถทราบได้ว่าจะจบลงในรูปแบบใด ด้วยความรู้สึกเป็นห่วงและกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทางองค์การบริหาร องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษา องค์การนักศึกษาจึงขอแถลงการณ์ดังต่อไปนี้


1.การชุมนุมเรียกร้องอย่างสันติวิธี เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ของประชาชนที่สามารถกระทำได้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม

2. เราในนามนักศึกษาขอเรียกร้องให้ภาครัฐและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตรวจสอบในประเด็นที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

3. ขอเรียกร้องให้ภาครัฐนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในหลายๆ กรณีที่สร้างความสับสนและบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างแท้จริงในพื้นที่

4.ขอให้ทางภาครัฐและกลุ่มผู้ชุมนุมใช้สันติวิธีในการเคลื่อนไหวและแสดงความจริงใจในการคลี่คลายสถานการณ์ของผู้ชุมนุมบริเวณมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี รวมไปถึงการทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

5. ทางองค์การบริหารองค์การนักศึกษาและสภานักศึกษา องค์การนักศึกษา ขอประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจะสังเกตการณ์และตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อลดความรุนแรงและนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสังคม

นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวภายหลังอ่านแถลงการณ์ว่า สิ่งที่กังวลที่สุดคือความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐหรือจากฝ่ายผู้ชุมนุม ในนามองค์การบริหารองค์การนักศึกษา เห็นด้วยกับการต่อสู้ตามสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นประชาชน และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของนักศึกษา มอ.ปัตตานีบางคนที่เข้าร่วมการชุมนุมเนื่องจากเป็นปัจเจกชน

ทั้งยังเคารพความคิดเห็นของทุกฝ่าย แต่เห็นว่าควรหาทางออกที่ไม่เป็นการเพิ่มเหตุความรุนแรงให้เกิดขึ้นในพื้นจังหวัดชายแดนใต้ "องค์การนักศึกษาจะทำหน้าที่สื่อและเป็นศูนย์เฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ด้วย"

ชาวบ้านใกล้มัสยิดกลัวบานปรายรีบปิดร้าน
กรณีการชุมนุมที่มัสยิดกลาง จ.ปัตตานี ซึ่งยืดเยื้อมาเป็นวันที่ 3 แล้วนั้น แม้จะเป็นการชุมนุมอย่างสงบแต่ก็ได้สร้างความเดือดร้อนแก่กิจการร้านค้าที่มีเป็นจำนวนมากในพื้นที่รอบมัสยิดกลาง เช่นร้านจำหน่ายสินค้า ร้านอาหาร ร้านน้ำชา อู่ซ่อมรถยนต์ ร้านอะไหล่เครื่องยนต์ต่าง ร้านสะดวกซื้อๆหรือแม้แต่ธนาคารก็ต้องปิดบริการ

เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ได้ปิดเส้นทางสัญจรถนนรอบมัสยิดกลางเพื่อความสะดวกในการรักษาความปลอดภัยแก่กลุ่มผู้ชุมนุม ป้องกันมือที่สามเข้าก่อกวน ขณะเดียวกันก็ยังคงตัดสัญญาณการสื่อสารโทรศัพท์มือถือในวันนี้ต่อไป

เจ้าของร้านค้า ระบุว่า ต้องขาดรายได้ตลอด 3 วันที่ผ่านมา เพราะส่วนใหญ่ได้ปิดกิจการเพื่อความปลอดภัย ขณะที่ลูกค้าก็ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ จึงอยากเรียกร้องให้ทางกลุ่มผู้ชุมนุมยุติหรือย้ายไปชุมนุมในพื้นที่อื่นที่อยู่นอกเมืองซึ่งไม่มีร้านค้าเหมือนในตัวเมือง และเรียกร้องให้ทางภาครัฐชดเชยเยียวยาจากการขาดรายได้แก่ร้านค้าที่ตั้งอยู่รอบมัสยิดกลางเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชุมนุมครั้งนี้ เพราะร้านค้าจำเป็นต้องปิดกิจการเนื่องจากรัฐไม่สามารถสลายการชุมนุมได้ แต่ใช้วิธีปิดกั้นป้องกันถนนรอบพื้นที่ ซึ่งส่งผลต่อผู้อาศัยร้านค้าไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้

ขณะเดียวกันในวันเสาร์ซึ่งโดยปกติ ที่มัสยิดกลาง จ.ปัตตานีจะมีการสอนศาสนาให้แก่สตรีมุสลิมจำนวนนับพันคนซึ่งเป็นชาวบ้านที่เดินทางมาจากพื้นที่รอบนอกเมืองปัตตานี และจะมีการจัดตลาดนัดด้านข้างมัสยิดนำสินค้าพื้นบ้าน,อาหาร,เสื้อผ้า,หนังสือศาสนา มาจำหน่าย แต่ในวันนี้ได้มีการยกเลิกการสอนศาสนาและการจัดตลาดนัดเพราะมีการชุดนุมอยู่ภายในมัสยิดกลาง

แกนนำผู้ชุมนุม ระบุยึดหลักสันติ
นายตูแวดานียา ตูแวมือแง ประธานเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน บอกว่า ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้มีเป็นกิจกรรมของนักศึกษามุสลิมที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ 4 - 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันประกอบด้วย ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล และสงขลา และกระจายตัวไปศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งในพื้นที่และที่ส่วนกลาง ที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่มาตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และต่างให้ความสนใจและเป็นกังวลต่อสถานการณ์ที่นับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ"เรายึดหลักสันติประชาธรรมในการชุมนุม จะไม่มีการยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรงใดๆ" ตูแวดานียา ระบุว่า แม้นักศึกษาจะติดตามสถานการณ์มาโดยตลอดแต่ก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรมาก เพราะต่างก็ถูกจับตามองจากฝ่ายทางการมาโดยตลอดว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งที่จริงแล้วขอชี้แจงว่าตนในฐานะประธานเครือข่ายฯ ไม่ได้มีการติดต่อหรือประสานงานใดๆจากกลุ่มดังกล่าว "ผมไม่รู้จักหรอกว่าพวกเขาเป็นใคร และไม่อยากรู้จักด้วย"


นายตูแวดานียา ตูแวมือแง ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ในระยะหลังมานี้เริ่มมีการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในลักษณะการชุมนุมเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ที่ผ่านมาประชาชนไม่มีพลังเพียงพอให้ที่จะเรียกร้องความยุติธรรมจากรัฐได้ ประกอบกับสังคมต่างก็เรียกร้องให้พลังนักศึกษาแสดงออก จึงนำมาสู่การพูดคุยกันระหว่างนักศึกษากลุ่มต่างๆ ในแต่ละสถาบันเพื่อหาหนทางในการช่วยเหลือชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นองค์การนักศึกษา ม.รามคำแหง เครือข่ายนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิมและตกลงกันว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่นักศึกษาน่าจะแสดงบทบาทรับใช้สังคม

ก่อนหน้านี้ตัวแทนจากเครือข่ายนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิมได้เคยลงพื้นที่เพื่อสอบข้อเท็จจริงกรณีการกราดยิงปอเนาะควนหรันที่ อ.สะบ้าย้อย โดยได้สัมภาษณ์ทั้งชาวบ้าน เด็กปอเนาะ และเจ้าของปอเนาะและได้รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวจุดเริ่มต้นของการทำกิจกรรมจึงอยู่ที่สิ่งที่ไปรับรู้

ตูแวดานียา เล่าอีกว่าต้นเหตุของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เริ่มต้นจากข้อมูลที่เขาและเพื่อนนักศึกษารับรู้คือมีการสังหารชาวบ้านที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม4คน "เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนการจุดประกาย หรือจุดชนวนให้เพื่อนๆ นักศึกษา มีความรู้สึกว่าอยากจะช่วยชาวบ้าน เรียกร้องความเป็นธรรมจึงคิดที่จะทำกิจกรรมพาเพื่อนนักศึกษาลงพื้นที่"

เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นในค่ำวันที่ 22 พ.ค.2550 ยังไม่มีการตรวจสอบชัดเจนว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวจริงหรือไม่มีเพียงการรายงานข่าวว่าพบศพผู้เสียชีวิต4ราย

ตูแวดานียา ระบุว่า เดิมทีกิจกรรมในครั้งนี้วางโครงการไว้ว่าจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. จนถึงวันที่ 5 มิ.ย.2550โดยจะมีกิจกรรมเสวนาที่เชิญนักสิทธิมนุษยชน ทนายความ และนักวิชาการมาให้ความรู้กับนักศึกษาและชาวบ้านที่เข้าร่วม หลังจากนั้นจะลงพื้นที่อย่างเช่น บันนังสตา สะบ้าย้อย และยะหา เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านและกลับมาสรุปข้อมูลร่วมกัน พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอเพื่อยื่นต่อผู้ใหญ่ที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาต่อไป ทั้งนี้ ตูแวดานียา ระบุว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมจะเป็นนักศึกษาในสถาบันต่างๆในกรุงเทพฯและในพื้นที่

แม้ว่าในขณะนี้ จะมีการปฏิเสธจากองค์กรนักศึกษาหลายแห่งว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมครั้งนี้ตูแวดานียา ชี้แจงว่า จริงๆ แล้วกลุ่มของเขาได้ประสานงานติดต่อเพื่อนนักศึกษาแล้วและได้รับการตอบรับอย่างดี โดยเฉพาะองค์การนักศึกษา ม.รามคำแหง (อศ.มร.) ก็ได้รับการตอบรับจากนายกองค์
การฯ ด้วยว่าจะเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรม แต่สาเหตุที่บอกปัดในตอนหลัง น่าจะเป็นเหตุมาจากมีการเมืองภายในผลักดัน

ตูแวดานียา ประธานเครือข่ายฯ ระบุว่า พวกเขาเลือกใช้มัสยิดกลางปัตตานีดำเนินกิจกรรม เนื่องจากเห็นว่าสถานที่ดังกล่าวถือเป็นศูนย์กลางในเมืองปัตตานี นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่เคยมีการชุมนุมใหญ่เมื่อปี 2518 จากกรณีประท้วงการสังหารชาวบ้านที่สะพานกอตอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีพยานผู้รอดเหตุการณ์เหมือนในกรณีที่เกิดขึ้นที่ปะแตในครั้งนี้

ตูแวดานียา ซึ่งเคยเป็นรองนายกองค์การบริหารนักศึกษา ม.รามคำแหง (อศ.มร.) ปี 2549 ระบุว่า หลังจากเริ่มกิจกรรมได้เพียงวันเดียวก็มีชาวบ้านจากหลายพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยวิเคราะห์ว่าน่าจะมาจากการบอกเล่าปากต่อปากว่ามีนักศึกษามาจัดกิจกรรม ประกอบกับความอึดอัดใจที่ชาวบ้านบางแห่งถูกกระทำต่างๆนานาจนกลายเป็นการชุมนุมในที่สุด

ตูแวดานียา ย้ำด้วยว่า พวกเขายังคงต้องการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีที่ชาวบ้านถูกกระทำเพื่อให้ความยุติธรรมต่อชาวบ้าน "เราสนับสนุนที่ทหารจะอยู่ในพื้นที่ไหนก็ได้ทั้งประเทศ แต่ทหารจะต้องไม่ทำร้ายประชาชน รัฐบาลจะต้องให้ความเป็นธรรม"


การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน มีขึ้นใต้ร่มไม้ในเขตรั้วของมัสยิดกลางปัตตานีก่อนที่จะมีการเจรจาในช่วง 16.00 น.ของวันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน 2550 ระหว่างตัวแทนภาครัฐกับตัวแทนนักศึกษากลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งมีเขาเป็นประธานเพียงไม่กี่ชั่วโมง นอกจากจะมีแถลงการณ์ในวันแรกๆ แล้ว พวกเขาและชาวบ้านที่เข้าร่วมชุมนุมแทบจะปิดตัวเองจากการให้สัมภาษณ์ โดยปล่อยให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้ถูกอธิบายผ่านเจ้าหน้าที่รัฐเสียเป็นส่วนใหญ่

หน่วยข่าวเตือนBRN เตรียมป่วน
หน่วยข่าวความมั่นคงได้แจ้งเตือนให้เร่งสลายการชุมนุมที่มัสยิดกลางโดยเร็ว เนื่องจากพบว่าขบวนการบีอาร์เอ็นมีแผนที่จะใช้มวลชนจำนวนมากประท้วงปิดล้อมที่มัสยิดกลางปัตตานี เพื่อล่อให้เจ้าหน้าที่ตรึงกำลังเอาไว้ ก่อนที่จะเริ่มแผนปฏิบัติการ"แผ่นดินมืด"โดยส่งกำลังเข้าก่อวินาศกรรมโรงงานไฟฟ้า และเสาไฟฟ้าแรงสูงเพื่อโจมตีสถานที่ราชการ ใน 3 จังหวัด 4 อำเภอของ จ.สงขลาพร้อมๆกันเพื่อให้สถานการณ์เลวร้ายลงหน่วยข่าวจากสันติบาล ยังแจ้งว่า การเคลื่อนไหวของมวลชนในครั้งนี้มีนักการเมือง บางกลุ่มอยู่เบื้องหลัง เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในประเทศพร้อมๆ กัน

ปชส.กอ.รมน.ชี้แจงปิดสัญญาณมือถือ
วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน 2550 พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ พตท.และ กอ.รมน.ส่วนหน้า ออกแถลงการณ์ชี้แจงการตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ด้วยขณะนี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการชุมนุมประท้วง และมีการก่อเหตุจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ เพื่อเป็นการป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ และทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ปลอดภัย ง่ายต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกหน่วย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงขอแจ้งให้ทราบว่า การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกระบบ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ อาจจะไม่สะดวกต่อผู้ใช้บริการ ขอให้ประชาชนในพื้นที่กรุณาใช้การติดต่อสื่อสารในระบบอื่นชั่วคราว

คัดสัญญาณมือป้องกันการจุดระเบิด
เหตุที่มีการตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือในพื้นที่นั้น เป็นผลมาจากแหล่งข่าวด้านความมั่นคงได้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง และพบว่า มีการนำวัตถุระเบิดจากนอกประเทศเข้ามาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาใช้ก่อเหตุร้าย ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งที่ใช้ก่อเหตุไปแล้วและยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกเก็บไว้ตามที่ต่างๆ รวมทั้งการเตรียมการในการวางวัตถุระเบิดเพื่อก่อเหตุร้าย ทำให้ต้องมีการตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เพื่อป้องกันการจุดชนวนระเบิดด้วยสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะมีการยกเลิกการตัดสัญญาณเมื่อใด

วันที่ 4 ของการชุมนุม
วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน 2550 กลุ่มม็อบและแกนนำนักศึกษายังคงปักหลักชุมนุมมัสยิดกลาง จ.ปัตตานี ยืดเยื้อเป็นวันที่ 4 โดยตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมได้จัดกิจกรรมปราศรัยทั้งเป็นภาษาไทย ภาษามลายู สลับกิจกรรมร้องเพลงและพูดคุยภายในกลุ่ม และเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.ทางกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งได้จัดขบวนออกเดินมาภายนอกมัสยิดกล่าวปราศรัยโดยสงบ แต่ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆว่าจะมีการสลายการชุมนุมหรือไม่

ชาวบ้านกังวลอาจเกิดเหตุร้ายเชื่อว่าไม่บริสุทธิ์ใจ
จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ถึงเหตุการณ์ชุมนุมที่มัสยิดกลางปัตตานี ที่ยืดเยื้อมาเป็นวันที่ 4 แล้วนี้ ชาวบ้านเริ่มรู้สึกกังวลต่อการชุมนุมที่ยืดเยื้อเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพบข้อสงสัยหลายอย่างของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เริ่มเห็นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะจากการที่แกนนำได้ออกมาให้ข้อมูลผ่านสื่อ เช่น การที่แกนนำกล่าวอ้างถึงสถาบันการศึกษา หรือองค์กรต่างๆ ว่าเป็นการร่วมมือในนามสถาบันการศึกษา แต่ต่อมาทางฝ่ายสถาบันการศึกษาต่างๆก็ได้ออกแถลงปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม

หรือในกรณีที่แกนนำที่เป็นนักศึกษา บอกว่า มาชุมนุมเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากความไม่สงบ ซึ่งมีการจัดนิทรรศการต่างๆ ด้วย (ในมัสยิดกลาง) จึงเท่ากับมีการเตรียมการมาก่อนล่วงหน้า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทางกลุ่มนักศึกษากับไม่ได้มีการประสานขอใช้สถานที่ใดในการจัดกิจกรรมในจ.ปัตตานี

แต่กลับมาชุมนุมและยึดมัสยิดกลาง เพื่อปักหลักโดยไม่มีการขออนุญาตอะไร ทั้งที่เป็นศาสนสถานสำคัญ และเป็นที่ตั้งของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นสถานที่อันทรงคุณค่าของคนในพื้นที่ เท่ากับเป็นการไม่ให้เกียรติต่อคนพื้นที่ ทั้งที่นักศึกษาอ้างว่าจะมาช่วยเหลือคนพื้นที่ และประเด็นสำคัญที่ทางแกนนำนักศึกษาบอกว่าไม่ได้ตั้งใจก่อม็อบแต่ชาวบ้านรู้ข่าวว่านักศึกษาจะมาจัดกิจกรรมจึงเดินทางมาร่วมชุมนุมอย่างมากกันเอง

ประเด็นนี้ชาวบ้านวิเคราะห์ว่า พบความผิดปกติหลายอย่าง กล่าวคือ ช่วงเวลาการเดินทางมาถึงของชาวบ้าน ซึ่งมาจากหลายพื้นที่ทั้งใน จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มาถึงมัสยิดกลางโดยพร้อมเพรียงกัน โดยไม่ได้นัดหมายได้อย่างไรในวันแรก เพราะทางแกนนำไม่ได้มีการประสานขอใช้สถานที่มัสยิดกลางล่วงหน้า แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ทางมัสยิดจะอนุญาตให้จัดกิจกรรม ประชาชนจำนวนมากรู้ล่วงหน้าได้อย่างไรว่านักศึกษาจะมาจัดกิจกรรมที่มัสยิดกลางทั้งที่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ และไม่มีการขอใช้สถานที่มัสยิดกลาง ดังนั้น เหตุใดกลุ่มผู้ชุมนุมจึงเดินทางมายังมัสยิดกลางปัตตานีทั้งที่ไม่มีใครทราบข่าวการจัดกิจกรรมของแกนนำนักศึกษาได้

ที่สำคัญ ตั้งแต่วันแรกของการชุมนุม (31 พ.ค.2550) จากการสังเกตชาวบ้านที่ทยอยเดินทางมาร่วมชุมนุม พบว่า จำนวนมากมีการนำถุงใส่ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่มติดตัวมาร่วมชุมนุมด้วย และก็มีการนำอุปกรณ์ประกอบอาหารมาเพิ่มเติมในช่วงบ่ายและปรุงอาหารกันในช่วงเย็นวันนั้นและต่อเนื่อง

หากนักศึกษาอ้างว่า ลงพื้นที่มาเพื่อจัดกิจกรรมช่วยเหลือประชาชนจากความไม่สงบ ทำไมชาวบ้านถึงต้องเตรียมข้าวสาร อาหารแห้งมาด้วย ถ้าต้องการเพียงการชุมนุมธรรมดาและที่สำคัญประชาชนใน จ.ปัตตานี เริ่มวิตกมากขึ้นจากการชุมนุมที่ยืดเยื้อหาข้อสรุปเจรจากันไม่ได้ เพราะข้อเรียกร้องที่ทยอยออกมา ชาวบ้านและทุกคนรู้ดีว่าทางรัฐบาลไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องได้ ไม่ว่าการเรียกร้องให้ถอนกำลังทหาร การยกเลิกเคอร์ฟิว ยกเลิก พ.ร.ก.
ฉุกเฉิน การควบคุมสื่อ เป็นต้นซึ่งชาวบ้านมองว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ใครก็รู้อยู่แล้วว่ารัฐบาลไม่สามารถทำตามได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกล่าวอ้างเรียกร้องความเป็นธรรมจากกรณีคนร้ายลอบยิงชาวบ้าน 4 รายใน ต.ปะแต อ.ยะหาจ.ยะลา แต่มีชาวบ้านรอดชีวิต 1 ราย และกลุ่มผู้ชุมนุมเชื่อว่าเป็นฝีมือของทหารพราน โดยที่ยังไม่มีใครรู้ความจริงเป็นแต่เพียงการบอกเล่า แต่กลับจุดประกายให้กลุ่มนักศึกษาแกนนำผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้อง และเลือกใช้มัสยิดกลาง จ.ปัตตานี ซึ่งสอดรับกับเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่เมื่อ พ.ศ.2518 ซึ่งถือว่าเป็นเจตนาตั้งใจให้ซ้ำรอยประวัติศาสตร์

ขณะที่เรื่องทหารพรานเกิดที่ อ.ยะหา จ.ยะลา และ จ.ยะลา ก็มีมัสยิดกลางประจำจังหวัด เหตุใดกลุ่มนักศึกษาจึงไม่ไปจัดกิจกรรมที่ จ.ยะลา

หน.ปชส.กอ.รมน.ชี้ข้อเท็จจริง
พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ พตท.และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.นูรฮายาดี เจ๊ะเล๊าะ ราษฎรบ้านบาซาลาแป ม.3 ต.ปะแตอ.ยะหา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2550 จากกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี แจกใบปลิวกล่าวหา ว่า เจ้าหน้าที่ทหารพรานก่อเหตุยิงราษฎรเสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 1 คน และพยายามสร้างสถานการณ์ให้เห็นว่า น.ส.นูรฮายาดี เจ๊ะเล๊าะ 1 ใน 4 คนที่เสียชีวิต ถูกทหารพรานข่มขืนแล้วบีบคอจนเสียชีวิต

ร.ต.อ.ดุนอนิตช์ ชูเชื้อ พนักงานสืบสวนสถานีตำรวจอำเภอยะหา จังหวัดยะลา นพ.สุรัตน์ ปราณีนรารัตน์ นายแพทย์จากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา ร่วมกันชันสูตรพลิกศพ พบว่า น.ส.นูรฮายาดี เสียชีวิตจากการถูกยิงด้วยอาวุธปืน ไม่พบร่องรอยการถูกข่มขืนกระทำชำเราแต่อย่างใด จากกรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่ได้แอบอ้างใช้นามว่า "ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาและประชาชน" พยายามที่จะหาเหตุผลมาบิดเบือนความจริง เพื่อสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน จึงใคร่ขอให้ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อการบิดเบือนข้อเท็จจริงดังกล่าว

ม็อบออกเดินในตัวเมืองปัตตานี
วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน 2550 เวลา 10.00 น.แกนนำม็อบนักศึกษาได้นำขบวนจำนวน 500 คน ออกเดินตามถนนสายยะรัง บริเวณด้านหน้ามัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี เพื่อเดินขบวนรอบตัวเมืองปัตตานี แต่เมื่อมาถึงบริเวณบริเวณปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ ขบวนผู้ชุมนุมก็ต้องหยุดเพราะติดราวเหล็กกั้นของเจ้าหน้าที่ทหารอาวุธครบมือ ที่ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยจึงมีปากเสียงในการเจรจากัน หลังจากที่ต่างฝ่ายไม่ยอมกัน เจ้าหน้าที่จึงต้องมีความพยายาม
ที่จะให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินกลับไปอยู่ในบริเวณมัสยิดกลางเหมือนเดิม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอม ทางเจ้าหน้าที่จึงต้องประสานตัวแทนของคณะกรรมการอิสลามมาเป็นตัวกลางในการพุดคุย แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่ยอมที่จะนำขบวนกลับจนกว่าผู้เกี่ยวข้องจะรับข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ นำไปพิจารณา แต่ข้อเสนอดังกล่าวนั้นเกินกว่าอำนาจในระดับจังหวัด และเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในจังหวัดยะลา นราธิวาส และสงขลา จังหวัดจึงไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ทันที่

จนกระทั่งเมื่อเวลา 12.00 น.กลุ่มผู้ชุมนุมยอมที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ จำนวน 21 คน เพื่อให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมดตามที่ผู้ชุมนุมอ้างถึง และเพื่อให้มีการร่วมกันผลักดันข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อของผู้ชุมนุมนำสู่การปฏิบัติจริง

หลังจากนั้น แกนนำม็อบยังได้ขออนุญาตนำม็อบเดินขบวนอย่างสงบ ตามถนนสายยะรัง รวมระยะทางประมาณ500 เมตร เพื่อเป็นการผ่อนคลายสถานการณ์ที่กำลังตึงเครียด เจ้าหน้าที่จึงยอมปล่อยขบวนภายใต้เงื่อนไขต้องเดินขบวนอย่างสันติไม่ไปรบกวนผู้อื่น และใช้เครื่องขยายเสียงระหว่างที่มีการเดินขบวน หลังจากที่กลุ่มผู้ชุมต้องติดที่แผงเหล็กนานเกือบ 2 ชั่วโมงเต็ม

ส่วนคณะกรรมการ แบ่งเป็นตัวแทนภาคประชาชน ได้แก่ ตัวแทนนักศึกษา 2 คน ได้แก่ นายมูฮำหมัดอาลี เด็งนิ (แกนนำ) นักศึกษารามฯเอกนิติศาสตร์ นายต่วน ตูแวแมแง นักศึกษารามฯเอกเคมีวิทยา นายดือราแม มะมิงจินายอับดุลเลาะ อับรู นายอับดุลอาซิ ตาเดอินทร์ นายแพทย์อนันตชัย ไทยประทาน นายอาดีลัน อาลีอิสเฮาะ นายนิรมาน สุไลมาน นางโซรยา จามจุรี นางสาวบุษบา ฉิมพลิกานนท์ นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม นายวสันต์ พานิช นายสุรสีร์ โกศลนาวิน นายโสภณ สุภาพงษ์ และประธานคณะกรรมการอิสลามทั้ง 4 จังหวัดภาคใต้หรือตัวแทน

ส่วนตัวแทนภาครัฐ ประกอบด้วย ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ตัวแทนอัยการทั้ง 4 จังหวัด ตัวแทนผู้บังคับการตำรวจภูธรทั้ง 4 จังหวัด และตัวแทนของทหารในพื้นที่4จังหวัด

ด้านแกนนำนักศึกษา เผยว่า ส่วนการชุมนุมของบรรดานักศึกษานั้นจะยุติเมื่อไรขึ้นอยู่กับความชัดเจนในข้อเรียกร้องที่ผู้ชุมนุมได้เสนอมาแล้ว ได้แก่ ข้อเรียกร้องด้านนโยบาย โดยให้มีการถอนทหารและอาสาสมัครทหารพรานออกจากพื้นที่ให้หมด ประกาศยกเลิกกฎหมายเคอร์ฟิว ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลานราธิวาสและสงขลาบางอำเภอ

รัฐบาลต้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดอย่างเด็ดขาดและเที่ยงธรรม รัฐบาลต้องชี้แจงข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องและเที่ยงตรง รัฐบาลต้องไม่ครอบงำสื่อทุกชนิด สื่อทุกชนิดต้องรายงานความเป็นจริงที่ปรากฏอย่างตรงไปตรงมา รัฐบาลต้องปล่อยผู้บริสุทธิ์โดยเร็วและไม่มีเงื่อนไขใดๆ รัฐบาลต้องไม่จับผู้บริสุทธิ์อีก และรัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย

ส่วนบรรยากาศของการชุมนุมในครั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการแจกใบปลิวที่บอกถึงวัตถุประสงค์ของการออกมาชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา หลังจากที่ได้มีสื่อบางฉบับได้กล่าวหาว่าเป็นการแอบอ้าง และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ถึงข้อเรียกร้องต่างๆ ของกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้ประชาชนเริ่มที่จะสนใจเข้าวิ่งมารับใบปลิวไปอย่างคึกคัก

นายวินัย ครุวรรณพัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวในระหว่างควบคุมดูแลความปลอดภัยขบวนของนักศึกษา ว่า ตนเห็นน้องเหมือนลูกศิษย์ของตนคนหนึ่ง เพราะเคยเป็นครูมา ก่อนที่จะมารับตำแหน่งจึงเป็นห่วงน้องๆ และน้องๆ ก็ได้มาเพื่อแสดงความคิดเห็นแนวทางการแก่ไขปัญหาในพื้นที่ ก็ต้องยอมรับว่า น้องเขามีจิตสำนึกเป็นห่วงบ้านเมือง เหมือนพวกเราหลายคนที่นี่ ส่วนข้อเรียกของน้องๆ ที่ได้เสนอมานั้น คงต้องรอคำตอบจาก ระดับว่าเขาจะว่ากันอย่างไร

ชาวพุทธและชาวมุสลิมที่ได้รับผลกระทบออกเดินประท้วง
เมื่อช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน 2550 ได้มีประชาชนและผู้ประกอบการในเขตตัวเมืองปัตตานีทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมหลายร้อยคนได้รวมตัวชุมนุมกันบริเวณตลาดสดเทศบาลเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นจุดที่ห่างจากมัสยิดกลางปัตตานีเพียงประมาณ 300 เมตร จากนั้นได้มีการเดินขบวนเรียกร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่มัสยิดกลางปัตตานียุติการชุมนุมโดยเร็ว เพราะได้สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน ร้านค้า โดยต้องปิดกิจการค้าขายสูญเสียรายได้มาเป็นวันที่ 4 แล้ว

ในส่วนของชาวไทยมุสลิมก็ระบุว่า การชุมนุมที่มัสยิดกลางยังส่งผลให้ประชาชนที่ไม่กล้าเข้าไปประกอบกิจศาสนา ทั้งการชุมนุมยังส่งผลเสียต่อมัสยิดกลางปัตตานี ซึ่งมีความสวยงามสง่า เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมกินอยู่หลับนอน และมีการปรุงอาหารภายในบริเวณมัสยิดกลางด้วย

การชุมนุมของกลุ่มประชาชนและเจ้าของร้านค้าชาวปัตตานี เพื่อต่อต้านม็อบที่บุกยึดมัสยิดกลางปัตตานีดังกล่าวได้จัดขบวนเดินเท้าถือธง และป้ายผ้าเรียกร้องให้ยุติการชุมนุมที่มัสยิดกลางโดยเร็ว และพยายามเดินขบวนเข้ามายังถนนเส้นทางมัสยิดกลาง เพื่อต้องการแสดงพลังให้กลุ่มม็อบมัสยิดกลางได้รับทราบถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารได้ขอร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมเลี่ยงการเดินขบวนตามเส้นทางใกล้มัสยิดกลางเพราะอาจจะเกิดเหตุปะทะต่อกันได้

สุดท้ายทางกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านม็อบมัสยิดกลางได้เดินขบวนเลี่ยงเส้นทางมัสยิดกลาง โดยไปรวมตัวกันที่บริเวณลานศิลปวัฒนธรรมฝั่งตรงข้ามศาลากลาง จ.ปัตตานี เพื่อประกาศแถลงการณ์และมอบแก่ นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เพื่อให้รับทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชนในเขตเมืองปัตตานีจากการชุมนุมยืดเยื้อที่มัสยิดกลาง

สถานการณ์ม็อบต้านม็อบได้ผ่านพ้นไปด้วยดี โดยไม่มีเหตุรุนแรงอะไร ขณะที่ความเคลื่อนไหวกลุ่มผู้ชุมนุมที่มัสยิดกลางในช่วงเย็นก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสลายการชุมนุม แม้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการส่งตัวแทนเจรจากับผู้แทนภาครัฐและผู้แทนองค์กรอิสระ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งเบื้องต้นมีการเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานรัฐ เอกชน ภาคประชาชน องค์กรอิสระและสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นกรรมการ แต่ภายหลังการหารือทางกลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะยุติการชุมนุมเมื่อใด

ประธานคมช.ไม่ตามใจม็อบ
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคมช. ได้กล่าวในรายการ "ตัวจริง ชัดเจน" ถึงการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า เคยบอกไปแล้วว่า เหมือนตาบอดคลำช้าง ขณะนี้เรารู้ว่าแนวร่วมกับกองกำลังคือใคร แต่ตัวองค์กรเรายังไม่รู้เพราะยังไม่สามารถหาหัวขององค์กรได้ จึงใช้ตัวแทนสั่งการเหมือนระบบขายตรง เมื่อจับตัวได้แต่ลูกน้องแต่จับตัวหัวหน้ากลุ่มไม่ได้ ก็เลยไม่รู้ว่าตัวหัวองค์กรจริงๆ คือใคร ตรงนี้ถ้าเราไม่รู้มันก็สาวไปไม่ถึง การแก้ปัญหาก็ยังทำไม่ได้

ส่วนการร่วมตัวของกลุ่มนักศึกษาที่หน้ามัสยิดกลาง จ.ปัตตานี นั้น พล.อ.สนธิ บอกว่า ได้สั่งการให้ใช้มาตรการจะอ่อนไปแข็ง อย่าให้เกิดเงื่อนไขขึ้นมา เพราะปัญหามันซับซ้อน ตนเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในพื้นที่มีความเข้าใจ ส่วนข้อเสนอให้ถอนกำลังทหารพรานออกจากพื้นที่ และยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ต้องดูตามข้อเท็จจริง เงื่อนไขอะไรยอมได้เราก็ยอม ยอมไม่ได้ก็ไม่ยอม ทุกคนต้องอยู่ในกรอบเดียวกันเชื่อมั่นว่าประชาชนร้อยละ 99 ยังเป็นของเราอยู่แต่เขาพยายามจะดึงส่วนนี้ไปเป็นพวก ส่วนการปลุกม็อบผู้หญิงและเด็กประท้วง เราใช้เหตุผลและความจริงเข้าไปชี้แจง ถึงตอนนี้เขาก็ค่อนข้างเข้าใจเรามากขึ้น อย่างไรก็ตามตนต้องการให้มีการเพิ่มทหารพราน ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ลงไปเพื่อให้อยู่กับชาวบ้านและร่วมกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่เขาเอง


แกนนำ"P.N.Y.S"ไม่สบายใจที่ถูกอ้าง

นายสุกรี มะสง แกนนำกลุ่ม P.N.Y.S (พีเอ็นวายเอส) ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษารามคำแหงที่มีสมาชิกเป็นนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผยถึงกรณีที่มีกลุ่มนักศึกษา P.N.Y.Sถูกระบุว่า เป็นแกนนำหลักม็อบชาวมุสลิมและนักศึกษาชุมนุมยึดมัสยิดกลาง จ.ปัตตานี เพื่อบีบให้เจ้าหน้าที่ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พร้อมทั้งยกเลิกเคอร์ฟิว และพ.ร.บ.ฉุกเฉิน ว่าหากมองถึงความสมานฉันท์ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้แล้ว การเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวคงไม่ถูกต้อง ยิ่งเมื่อกลุ่ม P.N.Y.S. ถูกระบุว่า เป็นแกนนำการเคลื่อนไหวนั้นยิ่งไม่สบายใจ

นายสุกรี บอกอีกว่า ตนยอมรับว่ามีนักศึกษาของกลุ่ม P.N.Y.S ลงไปร่วมเคลื่อนไหวอยู่ด้วยจริง แต่เป็นการเคลื่อนไหวส่วนตัว และในนามเครือข่ายนักศึกษาพิทักษ์ประชาชน P.N.Y.S ไม่มีมติให้สมาชิกเข้าไปร่วม เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าว ขณะเดียวยังตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวในนี้พบว่า กลุ่ม BRN Co-ordinate (บี.อาร์.เอ็น. โค-ออดิเนต) ได้แทรกซึมเข้าไปในกลุ่มที่ปิดล้อมมัสยิดกลางจ.ปัตตานีด้วย

นายสุกรี ยังเปิดเผยถึงแนวความคิดสมานฉันท์ในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยเห็นว่า แนวความคิดดังกล่าวดี เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ได้จริงเชื่อว่าสถานการณ์ในภาคใต้จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นม.รามคำแหงถูกอ้างนายสิกขนันท์ หนูเล็ก นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (อศ.มร.) กล่าวถึงเหตุการณ์การชุมนุมที่มัสยิดกลางปัตตานี โดยมีชื่อของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยว่า ยอมรับว่ามีนักศึกษารามลงไปในพื้นที่ จ.ปัตตานีจริง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งตนได้สอบถามเหตุผลของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ด้วยได้รับการชี้แจงว่า สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจึงควรเข้าไปร่วมกันแก้ไขสถานการณ์

"หลังจากพูดคุยกัน ผมก็ถามว่ามีหลักฐานหรือเปล่า เพราะเรื่องนี้ควรจะจัดการเป็นรายบุคคล และผมไม่เห็นด้วยที่จะให้ถอนกำลังทหารพรานออก เพราะสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ จึงปฏิเสธที่จะเดินทางไปร่วมเคลื่อนไหวด้วย ส่วนการที่มีชื่อว่าองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น คงเป็นการสื่อสารที่เข้าใจผิด เพราะผมไม่ได้เข้าร่วมด้วย และการเดินทางไปของนักศึกษาไม่ได้ไปในนามของมหาวิทยาลัยรามฯ"

ม็อบสลายตัว
เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.วันจันทร์ที่4 มิถุนายน 2550 กลุ่มชาวบ้านและนักศึกษาที่เรียกตัวเอง ว่าศูนย์ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาและประชาชน ที่ปักหลักชุมนุมยึดมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยื่นข้อเสนอ 10 ข้อเช่น ให้ถอนกำลังทหารพรานออกนอกพื้นที่, ยกเลิก พ.ร.บ.ฉุกเฉิน และยกเลิกการประกาศเคอร์ฟิว ฯลฯ มาตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา ได้สลายการชุมนุมแล้ว

พร้อมออกแถลงการณ์ ระบุว่า มีความพึงพอใจกับการดำเนินการของทางการ ในการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการลงนามของนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงออกถึงความจริงใจในการแก้ปัญหา กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้สลายการชุมนุมในเช้าวานนี้ และจะติดตามการดำเนินการของคณะกรรมการอิสระ และการลงนามของนายกรัฐมนตรีในการเซ็นคำสั่งดังกล่าว ซึ่งหากไม่ดำเนินการทางกลุ่มจะมีการนัดหมายเพื่อชุมนุมใหญ่ต่อไป

กลุ่มผู้ชุมนุม ยังระบุว่า เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนในพื้นที่ออกมาต่อต้านการชุมนุม ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ต้องการเผชิญหน้า จึงเห็นควรสลายการชุมนุม ซึ่งทั้งหมดได้แยกย้ายเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยได้ทยอยเดินออกจากมัสยิดกลางปัตตานี มุ่งไปยังถนนสายยะรัง เพื่อไปขึ้นรถยนต์กระบะที่จอดรอรับอยู่กว่า 70 คัน ตรงบริเวณถนนสาย 42 ปัตตานี-นราธิวาส ต.ตะลุโบะ อ.เมืองปัตตานี ขณะที่ตัวแทนนักศึกษาได้เตรียมเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร

นักศึกษาพบนายก
กรุงเทพ บ้านพิษณุโลก วันที่ 22 มิ.ย.2550 เวลา 11.00 น. ตัวแทนนักศึกษาจากเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชนซึ่งเป็นองค์กรแกนหลักในการจัดชุมนุมที่มัสยิดกลางปัตตานีเมื่อตอนต้นเดือนที่ผ่านมาจำนวน 7 คน ได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีที่บ้านพิษณุโลก เพื่อหารือในประเด็นบทบาทนักศึกษาและข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ประธานเครือข่ายฯ เปิดเผยภายหลังการเข้าพบว่า นายกฯได้มีการสอบถามถึงที่มาที่ไปของการชุมนุมครั้งดังกล่าวซึ่งพวกตนได้ชี้แจงว่าการเคลื่อนไหวครั้งนั้นมีเป้าหมายหลักเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวบ้านเพื่อที่จะนำข้อเท็จจริงของชาวบ้านออกสู่สังคมเนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่าพวกเขาถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ให้ความเป็นธรรมโดยอาศัยความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามากระทำการต่างๆ นานาแต่ปัญหาคือชาวบ้านไม่สามารถนำข้อเท็จจริงเหล่านี้มาเปิดเผยได้

นายตูแวดานียา ตูแวแมแง บอกอีกว่า พล.อ.สุรยุทธ์ยังได้สนับสนุนและให้กำลังใจต่อบทบาทของนักศึกษาที่เข้ามาร่วมแก้ปัญหาและมองว่าการชุมนุมเรียกร้องของนักศึกษาซึ่งเป็นปัญญาชนจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและจะทำให้สถานการณ์สามารถคลี่คลายไปได้และย้ำว่าให้นักศึกษานำความรู้ความสามารถที่ได้ศึกษาเล่าเรียนนำไปช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ด้วยแนวทางสันติวิธีอย่าได้ท้อแท้ต่อความเข้าใจที่มองนักศึกษาไม่ตรงกับความเป็นจริง

การเข้าพบครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสู่การแก้ปัญหาที่ถูกทาง ทั้งนี้ตัวแทนของพวกตนได้นำเสนอว่าปัญหาที่แท้จริงของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการที่ชาวบ้านไม่มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมอันเนื่องมาจากบทเรียนที่พวกเขาได้รับเมื่อมีการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ คุกคามหรือแม้แต่การทำร้ายตามมาพวกตนจึงได้เสนอต่อนายกฯ ว่ารัฐบาลควรเปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างจริงจังโดยมีหลักประกันในความปลอดภัย

ในขณะเดียวกัน เขายังได้เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภาค 4 ภายหลังการชุมนุมให้เกิดรูปธรรมมากที่สุดรวมถึงการนำเสนอผลการตรวจสอบดังกล่าวออกสู่สาธารณะ

เขายังยืนยันว่า เครือข่ายนักศึกษาฯจะยังทำกิจกรรม อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้าใจต่อประชาชนและเพื่อนนักศึกษาต่างศาสนิกต่อรากฐานของปัญหาที่มีมาจากการที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน

"หากเราขจัดความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ได้ ผมเชื่อว่าปัญหาน่าจะคลี่คลายและประชาชนก็จะใช้พื้นที่ในการต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธี"



คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com