www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 60 คน
 สถิติเมื่อวาน 59 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
4169 คน
4169 คน
1749437 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

      วิเคราะห์เรื่อง การใช้ภาษามลายูท้องถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดย ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ ผู้สื่อข่าว 8 ว
27 มิ.ย.49

บทนำ
มีการเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องจากประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ให้ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นเป็นภาษาราชการ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เขียนไว้ในหนังสือยำใหญ่ ไฟใต้ หน้า 37 ระบุว่า เมื่อวันที่ 13 เม.ย.2490 หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ร่วมกับผู้นำศาสนา ประมาณ 100 คน ได้เสนอข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 7 ข้อ ในข้อที่ 5 ระบุว่า ภาษาราชการต้องมีทั้ง 2 ภาษา คือ ภาษาไทย และ ภาษามลายู ต่อมา เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2491 จอมพล ป.พิบูลสงคราม สั่งให้จับกุมนายหะยีสุหลง กับพวก พร้อมเอกสารแบ่งแยกดินแดนจำนวนมาก รวมทั้งคำร้องเรียนที่เตรียมไว้เสนอองค์การสหประชาชาติ โทษฐานก่อการกบฏ ต่อมา วันที่ 25 เมษายน 2491 เกิดเหตุความไม่สงบ เรียกว่า จลาจล 2491 หรือ กบฏดุซงญอ

และจากผลการรายงานของ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เรื่องมาตรการสมานฉันท์ยั่งยืน ซึ่งมีทั้งหมด 12 ข้อ และข้อที่ 10 ในรายงานเสนอว่า "ประกาศให้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงาน (working Language)เพิ่มเติมอีกภาษาหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพือลดอุปสรรค ในการติดต่อ ระหว่างประชาชนกับทางราชการ"

ปธ.องคมนตรีไม่เห็นด้วยที่ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการ
ในเรื่อง นี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้พูดที่ จ.ปัตตานี (25มิ.ย.49 10.00น.โรงแรมซีเอส ปัตตานี) หลังจากพบปะกับกลุ่มเยาวชนและครอบครัวอุปถัมภ์ ตามโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ ว่า "คิดว่าเป็นการเสนอที่ยอมรับไม่ได้ เราเป็นคนไทยชาติบ้านเมืองคือชาติไทย ภาษาก็ต้องเป็นภาษาไทย อย่างไรก็ตามขอให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันสร้างความสงบสุขใน 3 จว.ชายแดนภาคใต้ ส่วนผู้ที่ไม่อยากเห็นความสงบเขาก็มีเหตุผลของเขา แต่เราคงไปยอมรับไม่ได้ สิ่งที่เรายอมรับได้ คือ ความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ ความสงบสุขในบ้านเมืองเท่านั้น จึงอยากขอร้องให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้นำศาสนา ซึ่งรู้ปัญหาดี เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายช่วยกันคิดดูแล และหาแนวทางแก้ปัญหา โดยนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา มาใช้แก้ปัญหา"
วันรุ่งขึ้น (26 มิ.ย.49 09.00 น.) ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ จอมเทียน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน กรณีที่มีการเสนอให้ใช้ภาษามาลายูเป็นภาษาราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ภาษาราชการต้องเป็นภาษาไทย ส่วนการใช้ภาษาอื่นเป็นเรื่องควรสนับสนุนเท่านั้น ภาษาทางราชการต้องเป็นภาษาไทยอย่างเดียว

ในวันเดียวกัน (26มิ.ย.49) ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.สิริชัย ธัญญสิริ ปลัดกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน กรณี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ปฏิเสธที่จะให้คนในพื้นที่ภาคใต้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการ โดย พล.อ.สิริชัย กล่าวว่า ภาษาราชการการที่จะตัด สินอย่างใดอย่างหนึ่ง เราต้องดูก่อนว่าภาพรวมของประเทศเป็นอย่างไร มีความเหมาะสมหรือไม่ บางพื้นที่อาจมีความพิเศษบางอย่าง แต่ขณะเดียวกันต้องรักษาความเป็นเอกภาพ เมื่อถามว่า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ภาษามลายูในพื้นที่ใช่หรือไม่ พล.อ.สิริชัยกล่าวว่า ก็ควรใช้ภาษาเดียว และในขณะเดียวกันก็ให้เพิ่มความสำคัญของภาษามลายูให้สามารถที่จะเป็นตัวช่วยให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น แต่ไม่จำเป็นต้องให้เป็นภาษาราชการ ก็คงเป็นลักษณะของการให้เป็นภาษาที่ 2

ที่สโมสรตำรวจ (26มิ.ย.49) พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ความเห็นของ พล.อ.เปรมเป็นความเห็นของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ต้องรับฟังและนำไปพิจารณา ต้องขอบคุณ พล.อ.เปรมที่พูดแบบชัดเจน และเชื่อว่าความเห็น พล.อ.เปรมเป็นความเห็นที่ตรงกับใจของคนไทยหลายคน

ปธ.ที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ฯ และนักวิชาการ ให้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงาน
นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ในฐานะคณะกรรมการ "กอส." ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.เปรมแสดงความไม่เห็นด้วยให้ภาษามาลายูเป็นภาษาราชการในพื้นที่ 3 จว.ใต้ (นสพ.มติชน 28มิ.ย.49) ว่า อาจเป็นการเข้าใจผิด และไม่อยากให้ความเข้าใจผิดต่อไป ยืนยันว่า กอส.ไม่ได้เสนอให้ใช้ภาษามาลายูเป็นภาษาราชการในพื้นที่ เพราะ กอส. เสนอให้เป็นภาษาทำงาน (Working Language) ไม่ได้เสนอให้เป็นภาษาราชการ (Official Language) ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ราชการมีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งกว่า 80% พูดภาษามาลายู เรียกได้ว่าเกิดมาก็พูดกันเป็นภาษาแรกแล้ว

นายโคทม อารียา กล่าวว่า เจตนารมณ์ของ กอส. ที่เสนอให้ใช้ภาษามาลายูเป็นภาษาทำงาน เพราะเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่พูดภาษามาลายู ก็น่าจะใช้ภาษาดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการสื่อสารได้อย่างเข้าใจ เข้าถึง นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงออกถึงความเข้าใจ ให้เกียรติ เอาใจ และยอมรับในความแตกต่างด้วย ตัวอย่างภาษาในการทำงานหมายถึง เช่น สัญลักษณ์และป้ายบอกต่างๆ เห็นกันว่ามีภาษาไทยคู่กับภาษาอังกฤษได้ ขณะที่คนในพื้นที่เข้าใจภาษามาลายูมากกว่า เหตุใดจึงเพิ่มเข้าไปไม่ได้ การพูดติดต่อราชการ นอกจากนี้ เอกสารหนังสือราชการ นอกจากจะเป็นภาษาไทยแล้ว การทำเป็นมลายูควบคู่กันไป จะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น สิ่งที่เราเสนอทั้งหมดก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเท่านั้น ยังคงภาษาราชการที่เป็นภาษาไทยอยู่ เพียงแต่ทำคู่กันไป เป็นความกังวลและวิตกเรื่องความเป็นชาติมากเกินไป

(นสพ.มติชน 28มิ.ย.49) ทางด้าน อาจารย์ชิดชนก ราฮิมมูลา รักษาการรองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ระบุว่า ภาษามลายูเป็นภาษาทำงาน ควรจะเป็นการรณรงค์มากกว่าการประกาศ คำว่าประกาศเป็นการสร้างความเข้าใจผิดได้ว่าเป็นการบังคับ เพราะภาษาเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เป็นการปรับตัว คนไทยในพื้นที่ก็น่าจะหาโอกาสเรียนภาษามลายู รณรงค์ให้คนมุสลิมที่พูดภาษามลายูเรียนรู้ภาษาไทย เพื่อสะดวกต่อการติดต่อ และโอกาสในการออกสู่ความเจริญก้าวหน้าในเขต 3 จังหวัด แทนการบังคับใช้เป็นกฎหมาย เด็กที่เข้าสู่อุดมศึกษาจะมองเห็นโอกาสจ้างงานในอนาคต

"มีโครงการรณรงค์ระหว่างกันเพื่อทำความเข้าใจ จริงๆ แล้วเป็นความเข้าใจผิดในการที่จะพยายามเข้าใจเขาโดยการเปลี่ยนตัวเอง คนมุสลิมต้องการความเข้าใจด้วยความเคารพ การยอมรับ ศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ควรเป็นไปตามธรรมชาติ แต่ไม่เคยเรียกร้องว่าให้คนอื่นมาเปลี่ยนตนเองเพื่อเขา นักศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่ได้ติดเหมือนเด็กในปอเนาะ เด็กไทยพุทธและมุสลิมไม่ได้มีปัญหาในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นตัวแทนภาคความสมานฉันท์ได้"

อาจารย์ชิดชนก กล่าวว่า ในการประกาศให้ภาษามาลายูปัตตานีเป็นภาษาทำงาน (working language) ต้องมีการอธิบายให้ชัดเจนว่าภาษาทำงานกับภาษาราชการ (official language) ต่างกันอย่างไร ความหมายจะต่างกันโดยสิ้นเชิง คนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นภาษาราชการ แต่ กอส.พูดถึงภาษาทำงาน ภาษาถิ่นเป็นภาษาพูด ภาษาเขียนก็เป็นภาษายาวี ภาษาทำงานเช่น ป้ายชื่อถนน สถานที่จะทำเป็นสองภาษา ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นอักษรยาวีมาก่อน และก็ถูกยกเลิกไป เอกสารราชการจะทำเป็นสองภาษา หรือใช้ระบบล่าม เช่นในชุมชนจีน เยาวราชจะมีภาษาจีน เป็นการดึงดูดในกลุ่มภาษาเดียวกัน ถ้ามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนจีน จะไม่กระทบกระเทือนกับความมั่นคง(หมายเหตุ อาจารย์ชิดชนก ราฮิมมูลา เป็นภรรยาของ อาจารย์พีรยศ ราฮิมมูลา ซึ่งเป็นอาจารย์ในคณะเดียวกัน ตำแหน่งสุดท้ายลาออกมาเป็น สส.บัญชีรายชื่อสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงปี 2548-2549 ในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี )

รองนายกให้ ช่อง 11 ยะลา ผลิตข่าวภาคภาษามลาย
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2547 ที่สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมผู้บริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง11 และประชาสัมพันธ์จังหวัด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างในสังกัดสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา มาหารือร่วมกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ให้ผลิตรายการโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 ส่วนแยกยะลา โดยแยกออกไปจาก สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 หาดใหญ่ เพื่อเผยแพร่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกอากาศวันละ 17 ชั่วโมง แบ่งเป็นรายการที่ผลิตเองที่ จ.ยะลา ซึ่งเป็นรายการท้องถิ่น วันละ 8 ชั่วโมง รายการที่รับจากช่อง 11 ส่วนกลางวันละ 6 ชั่วโมง และรับรายการจาก ช่อง 11 หาดใหญ่ วันละ 3 ชั่วโมง

นายวิษณุ ระบุว่า รายการที่ช่อง 11 ยะลา ผลิตขึ้นมาเองจะเป็นรายการข่าวภาคภาษามลายูท้องถิ่น ส่วนรายการศาสนา รายการบันเทิง จะเป็นภาษาไทย ภาษาปักษ์ใต้ ภาษามลายูท้องถิ่นหรือภาษายาวี โดยต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในรายการ เช่น สามารถโทรศัพท์ Phone in เข้าร่วมในรายการ เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้มากขึ้น

ส่วนรายการโทรทัศน์ในส่วนกลาง ที่ออกรายการประจำ ควรจะต้องถ่ายทอดให้เห็นถึงความรู้สึก ความรู้ที่ถูกต้อง เช่น การนำเที่ยว จ.ปัตตานี หรือเป็นลู่ทางการลงทุนใน จ.ยะลา และให้เห็นข่าวที่เกิดขึ้นว่าความจริงมันรุนแรงหรือไม่อย่างไร รวมทั้งความรู้สึกของชาวไทยมุสลิม ที่ส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้รับแจ้งว่า ชาวไทยมุสลิมมีความจงรักภักดีในองค์พระประมุข และต้องการที่จะแสดงออกถึงความ จงรักภักดี อย่างเช่นในโอกาสสำคัญ ซึ่งทางกรมประชาสัมพันธ์ก็จะให้การสนับสนุน ถ่ายทอด ให้คนทั้งประเทศได้รับทราบความรู้สึก ขอให้ผู้นำมุสลิมในจังหวัดแนะนำด้วยว่าจะดำเนินการ อย่างไร

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกอีกว่า "ต้องการให้ทางการเข้าไปช่วยเหลือ ให้สิ่งเหล่านี้เผยแพร่ออกไปให้ประชาชนใน 70 กว่าจังหวัด ได้รับทราบ จึงต้องเปิดรายการใหม่ เพราะฉะนั้น แนวทางประชาสัมพันธ์ต้องใช้ความจริงใจ การเข้าใจวัฒนธรรม การทำทุกอย่างต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมา โดยจะให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 ส่วนแยกยะลา เป็นแกนนำ ในการขับเคลื่อนการประชาสัมพันธ์"

วันที่ 6 มิ.ย.2549 นายดุษฎี สินเจิมสิริ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ สั่งให้มีการสำรวจข้าราชการและลูกจ้างที่ทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่ามีจำนวนเท่าใดที่สามารถพูดเขียน และไม่สามารถพูดเขียนภาษามลายูท้องถิ่น ผลปรากฏว่ามี ข้าราชการ 42 คน พูดได้ 15 คน พูดไม่ได้ 27 คน เขียนได้11 คน เขียนไม่ได้ 31 คน ลูกจ้างประจำ 6 คน พูดได้ 6 คน เขียนได้ 1 คนเขียนไม่ได้ 5 คน ลูกจ้างชั่วคราว 32 พูดได้ 18 คน พูดไม่ได้ 14 คน เขียนได้ 17 คน เขียนไม่ได้ 15 คน

ผลสรุปคือ มีข้าราชการ พูดได้น้อยกว่าลูกจ้าง เพราะลูกจ้างส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่ จึงทำให้สามารถพูดและเขียนภาษามลายูท้องถิ่นได้

ศธ. ให้โรงเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เปิดสอน 2 ภาษา เริ่มปี 49
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ได้พูดถึงความคืบหน้าการจัดการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เรื่องการศึกษามีความชัดเจนแล้ว เรื่องสำคัญที่สุดคือการจัดการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของประชาชน โดยคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของคนในพื้นที่ และ จะมีการเพิ่มการสอนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ โดยได้ให้งบประมาณรุ่นสุดท้าย ในการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารโรงเรียนปอเนาะไปแล้ว จะเหลือเพียงในโรงเรียนตาฎีกา ซึ่งจะรวบรวมต่อไป ในส่วนการพัฒนาหลักสูตรตาฎีกาคงไม่ได้ทำอะไรมาก เพราะเป็นสถานที่สอนศาสนาที่อยู่กับมัสยิด และสุเหร่าซึ่งสอนเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามโดยมีคณะกรรมการดูแลเนื้อหา และไม่เอาวิชาสามัญเข้าไปในตาฎีกา

"ทั้งนี้จะเรียนในวันเสาร์ และอาทิตย์ วันธรรมดาก็มาเรียนโรงเรียนสามัญ ดังนั้นความคิดที่ว่าเด็กที่เรียนตาฎีกาไม่มาเรียนโรงเรียนสามัญนั้น เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เวลานี้เกิดปัญหากับโรงเรียนจำนวนไม่น้อยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ว่าเด็กไม่ยอมไปเรียน แต่มีปัญหาว่าก่อนหน้านี้เราให้ครูย้ายออกโดยเสรี ครูก็เลยย้ายออกเกือบ 2,000คน พอรับสมัครครูใหม่ ซึ่งมาจากโรงเรียนเอกชน ก็มาสมัครเป็นครูอัตราจ้าง ทำให้โรงเรียนของรัฐ และโรงเรียนเอกชนขาดแคลนครู และบางโรงเรียนไม่มีครูสอนวิทยาศาสตร์เลย แล้วเด็กจะเข้ามหาวิทยาลัยได้อย่างไร ตรงนี้เรากำลังหาทางแก้ หรือถ้าเข้ามหาวิทยาลัยแล้วจะจัดโครงการติวพิเศษให้ แต่การแก้ปัญหาต้องรีบทำอีกมากเรารู้ว่าจะแก้อย่างไรแต่ปัญหาที่สะสมมาไม่ใช่น้อยก็ต้องเร่งแก้กันต่อไป

เมื่อถามถึงกรณีที่ประเทศมาเลเซียเสนอที่จะส่งครูสอนศาสนามาสอนในสิ่งที่ถูกต้องในประเทศไทยนั้น นายจาตุรนต์ บอกว่า ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของประเทศมาเลเซียแล้ว ซึ่งไม่มีโครงการดังกล่าว แต่อาจมีการศึกษาดูงาน เพราะหลักศาสนาที่ถูกต้องนั้นผู้นำใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เขาเข้าใจดีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเอามาคุยกันบนโต๊ะ โดยทำหลักสูตรก็ทำร่วมกัน ซึ่งมันจะไม่เพี้ยนไปไหน จึงไม่ต้องอาศัยมาเลเซีย แต่ถ้าจะสอนภาษามลายูกลางอาจจะขอความร่วมมือจากมาเลเซีย

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนการสอนสองภาษา (ภาษาไทยและมาลายูถิ่น) ในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ว่า (ผู้จัดการออนไลน์ 26 กันยายน 2548 14:47 น.)ว่า "สมัยก่อนมีการกำหนดไม่ให้พูดภาษาท้องถิ่นในห้องเรียน ต่อจากนี้ไปจะให้มีการยกเลิกและสนับสนุน ให้ครูสามารถนำภาษาถิ่นมาเสริมในห้องเรียนได้ ทั้งนี้จะเป็นลักษณะแลกเปลี่ยนภาษาซึ่งกันและกัน อย่างครูที่ไม่มีความรู้ภาษามาลายูถิ่นจะเรียนรู้จากเด็ก แล้วสอนภาษาไทยให้เด็กซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้เข้าใจกันมากขึ้น

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า "สำหรับการเรียนการสอนไทย-มาลายูถิ่นจะเริ่มในปีการศึกษา 2549 เริ่มจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ก่อน เพราะการที่เด็กจะใช้ภาษาไทยได้ดีจะต้องใช้ภาษาแม่ตัวเองเชื่อมเข้าไป ถ้ามาโรงเรียนโดยขาดการเตรียมความพร้อมและให้พูดภาษาไทยเลย เด็กไม่เข้าใจแล้วจะมีความรู้สึกแปลกแยก ดังนั้น ในขั้นต้นอาจจะมีภาษามาลายูถิ่นอยู่ในสัดส่วนที่สูงแต่จะต้องเฉลี่ยน้อยลงมาจนมีภาษาไทยที่อยู่ในสัดส่วนที่สูงกว่าและสอนควบคู่กันไป"

วันที่ 21 มีนาคม 2549 เวลา 13.30-16.30 น ณ ห้องประชุมคุรุ 1 สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ 12 จ.ยะลา นายประเสริฐ แก้วเพ็ชร ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เปิด การประชุมเชิงปฏิบัติการโรงเรียนที่เปิดสอนภาษาต่างประเทศ ที่นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในส่วนของภาษาต่างประเทศ

โดยการสอนภาษาต่างประเทศที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ของสถานศึกษา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นรูปแบบที่เกิดจากความต้องการของท้องถิ่นและผู้เรียน รวมถึงความพร้อมของสถานศึกษา ภาษาที่เปิดสอนคือ ภาษามลายูกลาง มลายูท้องถิ่น จีน และภาษาฝรั่งเศส โดยมุ่งเน้นการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร และภาษาที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ ภาษามลายูท้องถิ่น วิธีการสอนจะต้องสอดแทรกคำศัพท์เชิงเปรียบเทียบภาษามลายูท้องถิ่นและภาษามลายูกลางที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

และขณะนี้ โรงเรียนสตรียะลา จ.ยะลา ได้เปิดสอนวิชาภาษามลายูท้องถิ่นกับชุมชนสัมพันธ์ ในกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นวิชาเพิ่มเติมใหม่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่ให้เรียนทุกคน ผลที่เกิดขึ้นคือนักเรียนใช้ภาษามลายูท้องถิ่นในการสื่อสารและทำกิจกรรมได้ดีพอๆ กับการใช้ภาษาอังกฤษ (สังเกตจากการจัดงานมหกรรมวิชาการของโรงเรียน)

ทางด้านโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จ.ยะลา เปิดสอนภาษามลายูและอาหรับในกลุ่มสาระภาษา โดยภาษามลายูเปิดสอนเชิงบังคับสำหรับนักเรียนทุกคน ส่วนโรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์ จ.นราธิวาส ได้เปิดสอนภาษามลายูกลางในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ยังไม่มีผู้สนใจ ถึงแม้นจะไม่มีผู้สนใจเรียน ที่ประชุมได้มีมติให้โรงเรียนสอนภาษาอาหรับ เพิ่มเติมอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า ในสถานศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายแห่งเริ่มสอนภาษามลายูท้องถิ่น เพื่อใช้ในการสื่อสาร โดยมุ่งเน้นการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร และภาษาที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ ภาษามลายูท้องถิ่น วิธีการสอนจะเป็นการสอดแทรก คำศัพท์เชิงเปรียบเทียบภาษามลายูท้องถิ่นและภาษามลายูกลางที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

ส่วนการปฏิบัติงาน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีช่องว่างระหว่างตำรวจกับประชาชน คือ อุปสรรคด้านการใช้ภาษามลายูท้องถิ่น ที่ชาวบ้านใช้พูดจากันในพื้นที่ ซึ่งตำรวจมีความรู้เกี่ยวกับภาษานี้น้อยมาก (นสพ.ข่าวสด วันที่ 24 สิงหาคม 2545 คอลัมน์ สดจากสนามข่าว)

ฝ่ายตำรวจจึงหาทางแก้ด้วยการขอความร่วมมือ จากกรมการศึกษานอกโรงเรียน เพื่อเปิดการฝึกอบรมหลักสูตรภาษา "มลายูท้องถิ่น" ให้กับข้าราชการตำรวจในพื้นที่เป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อเป็นการเพิ่มทักษะและความรู้พื้นฐาน เพื่อที่จะนำไปใช้ในการติดต่อสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น

รุ่นแรกเป็นการฝึกอบรมให้กับตำรวจในสังกัด สภ.อ.ต่างๆ ของจ.นราธิวาส จำนวน 50 นาย ระหว่าง 16-25 สิงหาคม 2545 โดยมีพล.ต.ท.พงศพัศ พงศ์เจริญ โฆษก ตร.เป็นประธานเปิดการฝึกอบรม นอกจากนี้ยังมีนายอารีเฟน อับดุลกาเดร์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียนประจำภาคใต้ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ผอ.ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จ.นราธิวาส และ พล.ต.ต.เจตนากร นภีตะภัฎ ผบก.ภ.จว.นราธิวาส เข้าร่วมในพิธีด้วย

ลักษณะสำคัญของภาษามลายู
ภาษามลายูท้องถิ่น หมายถึง ภาษามลายูสำเนียงใด สำเนียงหนึ่งที่พูดกันในแต่ละท้องถิ่น เป็นภาษาย่อยของภาษามลายูมาตรฐานซึ่งเป็นภาษาราชการและภาษาแห่งชาติของประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซียและบรูไน ในปัจจุบัน ( ภาษาแห่งชาติของประเทศมาเลเซีย เรียกว่า บาฮาสา มาเลเซีย ภาษาชาติของประเทศอินโดนีเซีย เรียกว่า บาฮาสา อินโดนีเซีย และภาษาชาติของบรูไน เรียกว่า บาฮาสา บรูไน )
ภาษามลายูท้องถิ่นภาคใต้ของประเทศไทย ภาษามลายูท้องถิ่นของภาคใต้ หมายถึง ภาษามลายูที่พูดกันในท้องถิ่นต่างๆ ในบริเวณจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย ไม่จำกัดว่าเป็นจังหวัดใด โดยจะพูดกันมากในท้องที่บริเวณ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ( บางอำเภอของจังหวัดสงขลา ) ส่วนที่พูดกันมากที่สุด ได้แก่บริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี
การเรียกชื่อภาษา จะเรียกตามชื่อจังหวัดที่ใช้ภาษานั้นๆ เช่น จังหวัดสตูล เรียก ภาษามลายูท้องถิ่นสตูล ถ้าเป็นภาษาพูดที่ใช้พูดในท้องถิ่นจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ก็จะเรียก ภาษามลายูท้องถิ่นปัตตานี ภาษามลายูท้องถิ่นยะลา และภาษามลายูท้องถิ่นนราธิวาส
ภาษามลายูท้องถิ่น สามารถแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ ภาษามลายูท้องถิ่นสตูล หมายถึง ภาษามลายูที่พูดกันในท้องถิ่นจังหวัดสตูลปัจจุบัน ผู้คนใช้ไม่มากนัก เพราะชาวสตูลในปัจจุบันส่วนมาก นิยมใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันมากกว่าในอดีต มีเพียงในท้องที่เท่านั้นที่ใช้ภาษามลายูท้องถิ่น เช่น บ้านเจ๊ะบิลัง บ้านควน บ้านฉลุง บ้านกุบังจามัง บ้านกุบังปะโหลด
ภาษามลายูท้องถิ่นปัตตานี หมายถึง ภาษามลายูที่พูดกันในบริเวณ ๓ จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมไปถึงภาษามลายู ที่ใช้กันในบริเวณบางตำบลในอำเภอจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี จังหวัดสงขลา เป็นภาษามลายูท้องถิ่นที่นิยมพูดกันมากที่สุดในภาคใต้ของประเทศไทย ภาษามลายูสำเนียงนี้ มีลักษณะคล้ายภาษามลายูท้องถิ่นกลันตัน

ภาษามาเลย์ (Bahasa Melayu, ???? ?????: บาฮาซา มลายู)
ภาษามาเลย์ พูดใน: ประเทศมาเลเซีย ประเทศบรูไน ประเทศสิงคโปร์ ทางใต้ของประเทศไทย ทางใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ พื้นที่ต่อเนื่องของประเทศอินโดนีเซีย จำนวนคนพูดทั้งหมด: 20-30 ล้าน
ภาษามาเลย์ เรียกในภาษาท้องถิ่นว่า Bahasa Melayu เป็นภาษากลุ่มออสโตรนีเชียน ที่พูดโดยชนชาติมลายูซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของคาบสมุทรมลายู ทางใต้ของประเทศไทย ประเทศสิงคโปร์ และบางส่วนของเกาะสุมาตรา เป็นภาษาราชการของประเทศมาเลเซียและประเทศบรูไน และเป็น 1 ใน 4 ภาษาราชการของประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่แพร่หลายในประเทศติมอร์ตะวันออก
ในการใช้ภาษาโดยทั่วไป ถือว่าเหมือนกัน หรือสื่อสารเข้าใจกันได้กับภาษาอินโดนีเซีย (บาฮาซาอินโดนีเซีย) อันเป็นภาษาราชการของประเทศอินโดนีเซีย แต่ใช้ชื่อแยกต่างกันด้วยเหตุผลทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่ออยู่ในพื้นที่ต่างกัน การใช้ภาษา รสนิยมทางภาษา จึงแตกต่างกันไป แต่ไม่มากนัก
มาตรฐานอย่างเป็นทางการของภาษามลายูนั้น มีการตกลงร่วมกัน ระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ว่าใช้บาฮาซารีเยา (Bahasa Riau) เป็นมาตรฐาน อันเป็นภาษาของหมู่เกาะรีเยา ซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิดของภาษามลายูมาช้านาน
ดึงข้อมูลจาก "http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%
B2%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%8C".

ความแตกต่างระหว่างมลายูท้องถิ่น กับยาวี
อักษรยาวี เป็นอักษร ที่ใช้เขียน ภาษามลายูท้องถิ่น โดยได้ดัดแปลงจาก อักษรอาหรับ (อารบิก) นักปราชญ์คนหนึ่งของปัตตานี ชื่อ ชัยคฺ อะหมัด อัล-ฟะฏอนี ได้วางกฎเกณฑ์การใช้อักษร
ยาวี เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการเขียนภาษามลายูท้องถิ่น
ปัจจุบันชาวมุสลิม ในประเทศไทยที่พูดภาษามลายู นิยมใช้อักษรยาวี บันทึกเรื่องราวในศาสนา และการสื่อสารต่าง ๆ ส่วนนักเรียนในปอเนาะ หรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จะเริ่มเรียนอักษรยาวี สำหรับอ่านเขียนภาษาอาหรับ (ภาษาในคัมภีร์อัลกุรอาน) ตั้งแต่ยังเยาว์
คำว่า ยาวี นั้นมาจากคำว่า jawa หมายถึง ชวา นั่นเอง ทั้งนี้ก็เพราะชาวชวา ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในมะละกาและปัตตานี ได้นำอักษรอาหรับดัดแปลงมาเผยแพร่ และในที่สุดได้รับมาใช้ในชุมชนที่พูดภาษามลายูในปัตตานี
เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังมีความสับสนในการเรียกชื่ออักษรยาวี และภาษามลายู ว่า "ภาษายาวี" แม้กระทั่งในหมู่ผู้พูดภาษามลายู ทว่าความจริงแล้ว ไม่มีภาษายาวี มีแต่อักษรยาวี และภาษามลายู

ดึงข้อมูลมาจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%A3%
E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B5


พระยาอนุมานราชทน เขียนไว้ในหนังสือ เชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม จัดพิมพ์โดยกองวัฒนธรรม กรมการศาสนา เมื่อ 28 ก.พ.2498 หน้า 14 ให้ความหมาย เรื่องภาษาว่า ภาษาหนังสือคือการแสดงออกซึ่งความในใจ แทนเสียงที่เปล่งออกมา โดยวิธีเขียนเป็นตัวหนังสือ อันเป็นเครื่องหมายที่ตกลงกันโดยปริยายในสังคม

คำพูดจะเกิดเป็นภาษาพูดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีคนเปล่งเป็นเสียงออกมาทางลำคอ ต่อเนื่องได้ระเบียบเป็นประโยคประธาน และมีความหมายและต้องมีผูได้ยินรับรู้เป็นที่เข้าใจ ตรงกับความหมายที่ผู้พูดตั้งใจไว้ ทั้งผู้ได้ยินและรับรู้ ถ้าจะต้องพูดตอบ ก็สามารถพูดได้ในทำนองเดียวกัน

ภาษาพูดและภาษาหนังสือแม้นต่างกันโดยวิธี คืออย่างหนึ่งใช้พูดและหูฟัง และอีกอย่างหนึ่งใช้เขียนและตาดู แต่ทั้งคู่ได้ผลตามที่ต้องการอย่างเดียวกัน

และเมื่อเปรียบเทียบกับ ข้อเขียนของ พระยาอนุมานราชทน จึงเทียบได้ว่า ภาษามลายูจึงเป็นภาษาพูด ที่มีการรับรู้โดยการได้ยินหรือการฟัง และ ยาวี คือ ภาษาหนังสือที่เป็นตัวอักษรเขียน ที่ใช้แทนคำพูด ที่ใช้ตาดูแล้วเกิดความเข้าใจ
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เขียนถึงภาษามลายูกับภาษายาวี ในมติชนสุดสัปดาห์ ว่า "ยาวี นั้นเป็นชื่อของอักษรไม่ใช่ภาษา เป็นอักษรอาหรับที่ปรับมาใช้เพื่อเขียนภาษามลายู แต่เนื่องจากชื่อชะวาหรือยาวาเป็นชื่อที่ชาวอาหรับใช้เรียกดินแดนอุษาคเนย์ โดยเฉพาะภาคพื้นสมุทรของภูมิภาคนี้ จึงเรียกคนที่มาจากดินแดนแถบนี้รวมทั้งอะไรที่เป็นของคนแถบนี้ว่า ยาวี หรือแปลตามตัว ก็คือเป็นของชาวชะวานั่นเอง" และว่า หนึ่งในสิ่งที่น่าจะทำได้ทันทีก็คือ เปิดสอนภาษามลายูปัตตานีในสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะในท้องที่ซึ่งมีประชาชนทั้งสองภาษาอยู่ปะปนกัน มหาวิทยาลัยน่าจะเข้าไปศึกษาด้วยแขนงต่างๆ ของภาษาศาสตร์ และสืบค้นวัฒนธรรมมลายูปัตตานี ที่มีอยู่ในจารีตมุขปาฐะ จนกระทั่งเมืองไทยเป็นศูนย์กลางทางวิชาการของภาษา และวัฒนธรรมมลายูปัตตานี
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ยังวิเคราะห์อีกว่า ภาษามลายูเคยเป็น lingua franca หรือภาษากลางสำหรับการค้าของภูมิภาคนี้ คงเป็นมาแต่โบราณนับตั้งแต่สมัยศรีวิชัยแล้ว อย่างน้อยก็พบจารึกภาษามลายูในสุมาตรามาตั้งแต่ตอนต้นๆ ของยุคนั้น และมลายูก็ยังเป็นภาษากลางของการค้าสืบมาถึงสมัยหลังอีกนาน จนถึงรัชกาลที่ 2 เมื่อ จอห์น ครอเฟิร์ด เข้ามาเจรจาทางการค้า ก็ยังต้องใช้ภาษามลายูเป็นภาษากลางสำหรับสื่อกับราชสำนักไทยอยู่
ฉะนั้น จึงไม่แปลกประหลาดอะไรที่ เมื่ออิสลามเริ่มขยายตัวในอุษาคเนย์ ภาษามลายูจึงถูกใช้เป็นภาษากลางสำหรับการเผยแผ่ศาสนาใหม่นี้ด้วย งานด้านศาสนาของนักปราชญ์มุสลิมในราชสำนักอะแจ (ซึ่งมีภาษาต่างหากของตัว) ยุคแรกๆ ก็เขียนด้วยภาษามลายู
แม้ว่าภาษามลายูเคยถูกเขียนด้วยอักษรอื่นมาก่อน แต่เมื่ออิสลามตั้งมั่นขึ้นแล้ว อักษรอาหรับก็เข้าครอบครองภาษามลายูอย่างสิ้นเชิง หมายความว่าเอกสารภาษามลายู ไม่ว่าจะเขียนขึ้นที่ไหน ก็ล้วนใช้อักษรยาวีทั้งสิ้น
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ให้เห็นว่า ภาษามลายูมีความผูกพันกับ ศาสนาอิสลาม ชนิดที่แยกกันไม่ออก เมื่อการเผยแผ่ศาสนาอิสลามใช้อักษรอาหรับ ที่มีความคล้ายคลึงกับอักษรยาวี

บทสรุป
ภาษาพูดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกว่า ภาษามลายูท้องถิ่น ส่วนตัวอักษรที่ใช้เขียน เรียกว่า อักษรยาวี ที่มีลักษณะที่เขียนคล้ายกันกับภาษาอาหรับ มีเพียงบางตัวที่เขียนต่างกัน และมีความเชื่อว่า ก่อนหน้านี้ อักษรยาวีไม่ได้เขียน ในลักษณะนี้ แต่ได้รับอิทธิพลจากอักษรอาหรับที่ ใช้บันทึกคัมภีร์ อัลกุระอ่าน ในศาสนาอิสลาม เมื่อศาสนาเข้ามาเผยแผ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาษามลายูท้องถิ่นจึงนำเอาอักษรอาหรับมาใช้

คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในชนบท ส่วนใหญ่มีการสื่อสารด้วยภาษามลายูท้องถิ่น และมีการเรียกร้องให้มีการนำภาษามลายูท้องถิ่นมาใช้ในราชการ ซึ่งเป็นการเรียกร้องมานาน จนในที่สุดทางการก็ยอมรับที่จะมีการสอนภาษามลายูท้องถิ่นในโรงเรียน และทาง กอส.ได้สรุปผลการรายงานว่า ให้ภาษามลายูท้องถิ่นเป็นภาษาใช้งาน ซึ่งพลเอกเปรม ตินสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษอาวุโส ไม่เห็นด้วยที่จะให้ภาษามลายูท้องถิ่นเป็นภาษาราชการ


คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com