www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 60 คน
 สถิติเมื่อวาน 59 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
4169 คน
4169 คน
1749437 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

 
วิเคราะห์ รายงานการประชุม ผู้นำศาสนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสื่อมวลชน
โดย ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ ผู้สื่อข่าว 8 ว.
28 ก.ย. 2549

บทนำ
ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ที่มีการรัฐประหาร โดยคณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้มีการเชิญผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา สื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังนโยบาย และเปิดเวทีรับฟังปัญหา เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ ที่มีปัญหาความแตกแยก ด้านแนวความคิด ให้เกิดสมานฉันท์ ในสังคมไทยให้เกิดขึ้นมาเหมือนดังเดิม โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

กอ.สสส.จชต.เชิญผู้นำศาสนา และสื่อมวลชนในท้องถิ่น เข้าพบ
ที่ สำนักงาน กอ.สสส.จชต.ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 พล.ท.องค์กร ทองประสม แม่ทัพภาคที่ 4 มีหนังสือด่วนมาก ที่ นร 5200 /988 ลงวันที่ 24 กันยายน 2549 ถึง ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น อธิการบดีมหาวิทยาในพื้นที่ สื่อมวลชน ในจำนวนนี้มีสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง ร่วมรับฟังด้วย

พล.ท.องค์กร ทองประสม แม่ทัพภาคที่ 4 ได้พูดในที่ประชุมว่า ในพื้นที่ขณะนี้มีการบังคับใช้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ กฎอัยการศึก และ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก. โดย พ.ร.ก.มีการประกาศใช้คราวละ 3 เดือน และจะครบกำหนดเลิกใช้ในวันที่ 18 ตุลาคม 2549 แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุว่า ปัญหาในการใช้ พ.ร.ก.คือการเชิญตัว บุคคลต่าง ๆ ทำให้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน คือการเชิญตัวผู้ที่มีฐานะทางสังคม หรือการเชิญที่ไม่ถูกตัว การกลั่นแกล้งโดยเจ้าหน้าที่ ที่ใช้อำนาจที่ไม่ถูกไม่ควร ในเรื่องนี้ได้มีการสั่งการให้มีการพิจารณากลั่นกรองให้ความเป็นธรรม และขณะนี้กำลังจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการกลั่นกรอง แต่ก็ต้องรอเพราะจะมีการปรับย้ายตัวบุคคล ต่อไปนี้จะมีการเลือกใช้กฎหมายที่มีผลกระทบน้อยที่สุดเพียงฉบับเดียว หรืออาจจะใช้กฎอัยการศึกเพียงฉบับเดียว

แม่ทัพภาคที่ 4 แสดงทัศนะ อีกว่า "นโยบายของ ผบ.ทบ. มีแนวความคิดในการทำงาน คือ การใช้มวลชนนำการทหาร จะใช้ทหารเมื่อจำเป็น เฉพาะความไม่สงบสุขในพื้นที่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายเรื่องมาจาก ทางราชการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม ผบ.ทบ. จะขจัดเงื่อนไขตรงนี้ และขอความร่วมมือกับผู้นำศาสนาได้ชี้แจง กระจายข่าวสาร ต่อประชาชน "

ขณะนี้แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ออกคำสั่งให้มีการกวดขันผู้ใต้บังคับบัญชา ปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใสเป็นธรรม หากใครไม่ปฏิบัติตามจะได้รับการลงโทษ และหากพบเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทางทหารจะลงไปดำเนินการ ทหารจะสร้างความเป็นธรรมที่มาจากข้าราชการ เมื่อก่อนทหารไม่มีอำนาจตรงนี้ ต่อไป การเชิญตัวผู้ก่อความไม่สงบจะให้ผู้นำศาสนาได้มีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเป็นธรรม

ส่วนวาระการดำรงตำแหน่งของกำนัน ที่กำลังจะหมดวาระ และจะมีการเลือกตั้งใหม่ ก็ให้ขยายเวลาการดำรงตำแหน่งออกไปอีก การทำงานในปีงบประมาณ 2550 จะมีการบูรณาการ มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนในทุกระดับที่อยู่ในโรงเรียน คือ เด็กเล็ก ปอเนาะ มัธยม และอุดมศึกษา

แม่ทัพภาคที่ 4 ยังได้พูดในตอนท้ายว่า กลุ่มผู้หลงผิด จะทำอย่างไรที่จะเปิดโอกาสให้เข้ามาร่วมสร้างสรรค์ประเทศ และเยาวชนควรจะได้รับการดูแล

ต่อจากนั้น พล.ท.องค์กร ทองประสม แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เปิดโอกาสให้ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน อธิการบดีมหาวิทยาลัย ร่วมแสดงความคิดเห็น

ผู้ทรงคุณวุฒิ ระบุ ประชาชน ยังฝังใจกรณีกรือเซะ และตากใบ
นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิ แสดงความเห็นว่า ขอให้ทางการทบทวนเรื่องการชุมนุมของประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะ เดือนรอมฎอน ที่ประชาชนมุสลิมถือว่าเป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์ และถือศีลอด เพราะในแต่ละวัน จะมีพิธีการชุมนุมของชาวมุสลิม เช่นการรวมกลุ่มซาโฮร์ ที่เป็นการรวมกลุ่มเพื่อทานข้าวในตอนก่อนรุ่งสาง ที่บ้านญาติพี่น้อง โดยการกระทำอาจจะเป็นการผิดต่อกฎหมายในเรื่องการห้ามชุมนุมของ คปค. แต่การกระทำได้เป็นไปตามหลักศาสนา ที่ทุกคนต้องทำ ซึ่งมีความหมิ่นเหม่ต่อการที่จะถูกมองว่าเป็นการซ่องสุม นอกจากนี้ก่อนที่จะหมดเทศกาลรอมฎอนประมาณ 10 วัน บางตำบลมีชาวบ้านจุดประทัด ซึ่งผู้นำศาสนาเห็นว่า เป็นพิธีการที่ไม่พึงประสงค์

"ในเดือนรอมฎอน ควรใช้โอกาสนี้เชิญชวนผู้หลงผิด ให้กลับใจ ทางรัฐควรทำอย่างจริงจัง จริงใจ และป้องกันปัญหาข่าวลือ ที่ทำให้เสื่อมศรัทธาต่อภาครัฐ รัฐควรจัดการศึกษาในพื้นที่ เรื่องสุขภาพอนามัยชองประชาชนในพื้นที่ ยังแย่ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ และประการสุดท้ายประชาชนยังฝังใจต่อเหตุการณ์กรือเซะ และเหตุการณ์ตากใบ และเรียกร้องว่า อย่าให้ผู้รับผิดชอบในอดีตกลับมา"

เรียกร้องให้ใช้กฎอัยการศึกเท่าที่จะเป็น
นายอับดุลรอซัก อาลี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ให้ความเห็นว่า ขอให้รัฐ คัดเลือกเจ้าหน้าที่ ที่จะลงมาปฏิบัติงานในพื้นที่ ขอให้เป็นคนดี มีความสามารถที่จะแก้ปัญหา

นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ระบุว่าหลังจาก คปค.ได้ปกครองประเทศยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ และเรียกร้องให้ใช้กฎอัยการศึก เท่าที่จำเป็น เพราะที่ผ่านมา มีการเชิญตัวชาวบ้าน ผู้นำศาสนาที่อยู่ในพื้นที่ไม่ทราบ ทำให้ประชาชนไม่พอใจ ต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่

ครูในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ยังไม่รับเงินเดือน ต้องไปกรีดยางแทน
นายอับดุลรอแม เจะแซ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา พูดว่า ขณะนี้ครูที่สอนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดยะลา ไม่ได้รับเงิน มาเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว บางครั้งถ้าได้รับก็จะได้เพียง 80% ทำให้ครูต้องออกไปกรีดยาง ส่งผลให้มาสอนช้าไปประมาณ 1 ชั่วโมง เพราะยังไม่ได้รับเงิน ทำไมครูที่เป็นข้าราชการ ได้รับเงินตรงเวลา

นายอับดุลรอแม เจะแซ ยังบอกว่า ตนยังเป็นเจ้าของโรงเรียน มีครูสอนสายสามัญ 55 คน และมีครูสอนทางด้านศาสนา 50 คน การเรียกร้องครั้งนี้ก็เพื่อไม่อยากให้เป็นเหมือนเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา

ปธ.อิสลาม สงขลา ไม่ต้องการ พ.ร.ก.ในพื้นที่หาดใหญ่
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา แสดงความเห็นว่า การเกิดเหตุการณ์ระเบิดในพื้นที่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 16 ก.ย.49 ทำให้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคธุรกิจในอำเภอหาดใหญ่ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้เรียกประชุมผู้นำศาสนา ประธานหอการค้า ผู้นำทางธุรกิจ บริษัทนำเที่ยว มีความกังวลว่า ทางทหารจะนำ พ.ร.ก. มาใช้ เพราะจะเป็นการสร้างผลกระทบซ้ำเติมสถานการณ์อีก ทางจังหวัดจึงมีแนวคิดที่ จะจัดโซนนิ่งจอดรถจักรยานยนต์ และมีการตั้งเครือข่ายประชาชน ตาสับประรด
เรื่องความไม่เป็นธรรมเป็นเรื่องหลัก เพราะเกิดอยู่ทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความล่อแหลมทางด้านความคิด มีความเห็นว่า ให้ สทท.11 ยะลา ควรดำเนินการด้านการประชาสัมพันธ์ โดยให้เปิดเวทีต่อสู้ทางความคิด ในการแก้ไขปัญหาทางภาคใต้ ขอให้ดูแนวทางการดำเนินการของประเทศมาเลเซีย ที่มีการสื่อสารด้านศาสนา และการดำเนินงานควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการด้านศาสนามาช่วยคิด

ในเรื่องนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 ตอบว่า ไม่มีแนวคิดที่จะนำ พ.ร.ก.มาใช้บังคับในพื้นที่ อำเภอหาดใหญ่ ทหารเป็นเพียงหน่วยสนับสนุน จะไม่ใช้กำลังที่ทำให้เห็นว่ามีความรุนแรง ที่ผ่านมาประมาณ 2 วันที่แล้ว ทหารได้จับวัตถุระเบิดในพื้นที่ จังหวัดระนอง จำนวนมาก ซึ่งกำลังขยายผล

ขอให้ประชาสัมพันธ์เรื่องกฎอัยการกับ พ.ร.ก.
นายประทีป เหมาะสกุล ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยนราธิวาส มีความเห็นว่า ประชาชนเกิดความสับสน ในเรื่องพ.ร.ก.กับกฏอัยการศึก เห็นควรให้มีการประชาสัมพันธ์ อย่างเข้มข้น

มอ.ปัตตานี ระบุมีแต่นักศึกษาในภาคใต้มาเรียน
ผู้แทนจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้ความเห็นว่า จากการเกิดปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ทำให้มีการโอนย้ายบุคลากรระดับสูง ไปอยู่ที่อื่นเป็นจำนวนมาก ในขณะที่นักศึกษาจากภาคอื่นมาเรียนน้อยลง ส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเรียนถึง ร้อยละ 80 และนักศึกษากลุ่มนี้ เมื่อจบออกมาก็ต้องมาทำงานในพื้นที่ ซึ่งต้องมีตำแหน่งงานให้ทำ นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยจากสถาบัน องค์กร ได้มาศึกษาการเกิดปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางการควรเอาผลงานการวิจัย มาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

เมื่อทหารทนไม่ได้ต่อระบอบ พวกเราก็ทนไม่ไหวเหมือนกัน
ดร.อีสมาอีลลุตฟี จะปากียา อธิการวิทยาลัยอิสลาม มีความเห็นว่า รู้สึกดีใจต่อการปฏิวัติ แต่ก็รู้สึกเสียใจ ต่อเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ตนเป็นคนที่พูดและเรียบเรียงภาษาไม่ค่อยถูก แต่ก็อยากจะพูดว่า เมื่อทหารมีความเบื่อหน่ายต่อการปกครอง จนลุกขึ้นมาปฏิวัติ ขณะเดียวกันเมื่อคนในพื้นที่หมดความอดทน และเกิดความเบื่อหน่าย อย่างรุนแรง จะเกิดอะไรขึ้น อาจจะเกิดความไม่พอใจและลุกขึ้นมาแสดงออกเหมือนกับทหารที่ทำปฏิวัติ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น " ทหารทนไม่ไหวต่อระบอบ พวกเราก็ทนไม่ไหวเหมือนกัน เมื่อมีการปฏิรูปก็อย่าให้เกิดความอึดอัด เมื่อเกิดความไม่พอใจ ก็มีการแสดงออก ทำให้พวกเราเคยชินต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น "

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์มาตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีแต่การสนับสนุนทางทหาร ผมเป็นคนที่พูดไม่เป็น และลำดับไม่ถูก แต่ผมขอเสนอว่าควรแก้ปัญหาในเชิงรากเง้า มาสร้างวัฒนธรรมอย่างสันติวิธี ให้มากที่สุด ที่วิทยาลัยอิสลาม มีวิชาสันติศึกษา แรก ๆ คิดว่าไม่มีความจำเป็น แต่ก็คิดว่าควร มีการนำไปสอนทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องการสร้างสันติวิธี

นักกฎหมายต้องการให้แก้กฎหมายอิสลาม
นายอิสมาแอ เจ๊ะ ดาโต๊ะยุติธรรมจังหวัดปัตตานี แสดงความเห็นว่า เห็นด้วยที่จะให้มีการประชาสัมพันธ์เรื่องกฎหมายอิสลาม ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ เพราะกฎหมายอิสลามมีการนำมาใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2489 เป็นเวลา 60 ปี ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ทราบ เมื่อเกิดปัญหาประชาชนมักจะไปปรึกษากับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด นอกจากนี้อยากให้รัฐมีการชำระกฎหมายอิสลามที่มีการนำมาใช้นานแล้วไม่ทันสมัย และต้องการ ให้ตั้งศาลซาริอะห์ เพื่อดูแลเรื่องกฎหมายครอบครัว และมรดก

นายอิสมาแอ เจ๊ะ ดาโต๊ะยุติธรรมจังหวัดปัตตานี แสดงความเห็นอีกว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ในช่วงแรก ๆ ได้มีการจดทะเบียน ปอเนาะ จริงอยู่ว่า ปอเนาะได้รับเงินสนับสนุนที่ให้ปอเนาะ ทำป้าย ทำเสาธง และอาคารเรียน นิดหน่อย ซึ่งเป็นการให้เงินอุดหนุนทางกายภาพ แต่ไม่ให้เงินอุดหนุนกับผู้สอน เปรียบเหมือน แพะที่มีเชือกผูกคอ แล้วนำไปล่าม เดี๋ยวก็ตาย จริง ๆ แล้ว โต๊ะครูเหล่านั้นทำเพื่อศาสนาก็จริง แต่รัฐก็ควรให้การสนับสนุนด้วย

ในเรื่องคดีตากใบ จะมีการไกล่เกลี่ยในศาลจังหวัดปัตตานี อีกครั้งหนึ่ง ที่เกี่ยวกับคดีแพ่งในเรื่องค่าสินไหมทดแทน ซึ่งกำลังจะเสร็จแล้วเหลือเพียง การต่อรองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

การแก้ไขปัญหาไม่สำเร็จ เพราะไม่มีการแก้ปัญหาระยะยาว ควรมีการแก้ปัญหาทางด้านความคิด หากแก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดไม่ได้ ก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ การแก้ไขปัญหาขอให้มีการแก้ในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่มี 2 ฝ่าย ก็มีการคิดไปคนละทาง

ควรมีการจัดโซนนิ่งแหล่งที่เป็นอบายมุข การแก้ปัญหาไม่เป็นรูปธรรมไม่โปร่งใส เป็นการใช้งบประมาณให้หมดไป

ความไม่เป็นธรรมถือว่าเป็นรากฐานของปัญหา จึงเกิดปัญหาความไม่สงบสุขตามมา ความเป็นธรรมไม่ได้อยู่ที่ว่ามีการมอบเงินทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนทุกคน แต่ต้องมองว่าเงินทุนที่มอบให้มาจากอบายมุขหรือไม่ เช่นเงินจากหวยบนดิน เมื่อนำไปมอบให้กับนักเรียนที่เป็นมุสลิม ก็ถือว่าไม่เป็นธรรมเหมือนกัน เพราะความเป็นธรรมไม่ได้จำกัดว่ามีความเท่าเทียมกัน หรือได้เท่ากัน เสมอไป เงินที่ให้ควรเป็นเงินที่ได้จากงบประมาณ ซึ่งต้องดูด้วยว่าผู้คนเหล่านั้นมีวัฒนธรรม และขัดต่อหลักศาสนาหรือไม่ เช่น เดือนถือศีลอด เวลากลางวันชาวมุสลิมจะอดอาหาร เมื่อนำอาหารมาให้รับประทานก็จะไม่มีประโยชน์ อย่างนี้ก็ถือว่าไม่เป็นธรรมเพราะรับประทานไม่ได้

กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขอให้อยู่ในวาระเกิน 5 ปี
นายเสนีย์ นิยะมุ ประธานชมรมผู้ใหญ่บ้าน ให้ความเห็นว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาด้านความมั่นคง กำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่อยู่ในพื้นที่ ควรจะอยู่ในตำแหน่งเกิน 5 ปี เพื่อช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบ เพราะการอยู่หลายปี จะทำให้รู้ปัญหาของชุมชน

การ ประชาสัมพันธ์ ไม่ถึงพื้นที่
นายอายุป ปาทาน แทนสื่อมวลชน แสดงความเห็น เป็นคนสุดท้ายว่า การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เป็นปัญหาด้านการประชาสัมพันธ์ ที่ไม่ลงถึงพื้นที่ ที่จะสร้างมวลชน รัฐควรมีนโยบายเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในทุกระดับ เท่าที่เห็น 2 ปีที่ผ่านไป การบริหารสถานการณ์ของผู้มีอำนาจมีความขัดแย้งกัน และจะตำหนิใครไม่ได้ การแก้ไขปัญหาเราขาดนักคิดใหม่ ๆ มาแก้ปัญหา ส่วนการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 ต้องนำมาคิดใหม่ สทท.11 ยะลา ในพื้นที่ต้องจัดการใหม่และควรพลิกวิกฤต ให้เป็นโอกาส

บทสรุป
การเชิญตัวผู้ต้องสงสัย ฝ่ายทหารจะให้ ผู้นำศาสนาร่วมดำเนินการด้วย ทางกองทัพกำลังวิเคราะห์ว่าจะใช้ พ.ร.ก ต่อไปหรือไม่ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบรายละเอียดของกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฝ่ายดาโต๊ะยุติธรรม เรียกร้องให้มีการชำระกฎหมายอิสลาม การแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม


คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com