ดูงานด้านความมั่นคง ที่สิงคโปร์ โดยณรงค์ ชื่นนิรันดร์ 16 กันยายน 2548
ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2548 สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา ได้นำสื่อมวลชนที่เป็นนักจัดรายการ ใต้สันติสุข และรายการประเภทความมั่นคง จำนวน 30 คน เดินทางไปดูงานด้านความมั่นคง ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยส่วนตัวผม ไปสิงคโปร์ อย่างน้อย 3 ครั้ง ทุกครั้งผมไปดูงาน ก็จะได้ดูอะไรที่ดี ๆ ที่เป็นแบบอย่างในการจัดการบริหารอย่างเป็นระบบ เช่น โรงเผาขยะและโรงคัดแยกขยะ ในที่สุด ไทยได้นำเอาเทคโนโลยี มาใช้ที่จังหวัดภูเก็ต เป็นโรงเผาขยะ ที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต และดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2539 เป็นต้นมา แรก ๆ ก็มีนักอนุรักษ์คัดค้านรวมทั้งสื่อมวลชน ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ที่ตั้งของโรงเผาขยะ ที่ตั้งอยู่สะพานหิน กลางเมืองภูเก็ต เพราะวิตกว่า จะเกิดมลพิษ และคิดไกลไปจนถึงโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลีย เชอโนบิล ประเทศรัสเซีย ที่เกิดระเบิดขึ้นจนทำให้มีผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมาก แต่จนถึงบัดนี้ โรงเผาขยะที่ภูเก็ตก็ไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้น แต่หากไม่มีโรงเผาขยะปานนี้ภูเก็ต จะเป็นเมืองที่มีแต่ขยะ ยากที่จะแก้ไขเพราะภูเก็ต ไม่มีพื้นที่ ที่ผมยกตัวอย่าง โรงเผาขยะ เพราะเห็นว่า สิงคโปร์มีอะไรที่ดีดี หลายอย่างโดยเฉพาะ ด้านการจัดการ
ล่าสุดผมเป็นคนหนึ่งในทีมงาน สปข.6 สงขลา ที่เดินทางไปด้วย และเราคิดแล้วว่า สิงคโปร์เป็นแบบอย่าง ที่ประสบความสำเร็จหลายอย่าง และด้านความมั่นคงก็เช่นกัน โดยเราเลือกที่จะไปดูงานที่ กระทรวงข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร และศิลปะวัฒนธรรม(Ministry of Information Commuications and the Arts) กระทรวงการพัฒนาชุมชน เยาวชน และกีฬา (Ministry of Community Development Youth and spot ) สำนักนายกรัฐมนตรี (Prime Minister's Office) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถานทูตไทยประจำสิงคโปร์ การไปครั้งนี้ผมจึง ไปดูงานถึง 4 กระทรวง 1 สถานทูต กับเวลา 3 วัน 2 คืน เรื่องช้อบปิ้งไม่ต้องพูดถึงไม่มีเวลา อีกอย่างสิ่งของที่สิงคโปร์แพงมาก จนซื้อไม่ลง ไปดูงานแล้วได้อะไรกับมา เกิดประโยชน์อะไร ไปแค่ได้เที่ยวหรืออย่างไร
วันแรกที่ไป เราไปดูงาน แหล่งผลิตน้ำดีจากน้ำเสีย หรือ Newater (การสะกดอักษรดูเหมือนจะเขียนผิดสำหรับคำ ๆ นี้ เพราะตกตัว S) สถานีที่แห่งนี้ เป็นโรงงานที่นำเอาน้ำเสียทุกชนิด มาผ่านกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ จนทำให้น้ำเสีย นำมาดื่นกินได้ การที่สิงคโปร์ ทำเช่นนี้ เพราะประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศเล็ก ๆ ไม่มีแหล่งน้ำดิบที่เพียงพอกับความต้องการ สิงคโปร์ ต้องซื้อน้ำจากมาเลเซีย เมื่อไหร่มาเลเซียไม่พอใจขึ้นมา ปิดก๊อกน้ำ สิงคโปร์ก็ต้องอดน้ำตาย และก่อนที่คณะของเราเดินทางไป ประเทศสิงคโปร์ก็เพิ่งประสบความสำเร็จในการนำน้ำทะเลที่มีรสเค็ม ทำให้เป็นน้ำจืด โดยไม่ใช้การกลั่นที่ต้องใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูง แต่ใช้กรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ ที่เข้าไปเปลี่ยนโมเลกุลของน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด
สิ่งแรกที่เห็นคือความตั้งใจจริงของ รัฐบาลสิงคโปร์ ที่จะทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด นำมาใช้ใหม่ และเห็นคุณค่าของทรัพยากร ไม่มีการใช้อย่างฟุ่มเฟือย โดยเขาสอนให้เด็กได้เรียนรู้ การใช้ทรัพยากร จึงไม่แปลกที่น้ำดื่มของสิงคโปร์ จะมีราคาขวดละ 100 บาท ซึ่งแพงมาก และแพงกว่าน้ำมัน ดังนั้นน้ำทุกหยดจึงมีค่ามหาศาล และการใช้ต้องคุ้มค่า หากเมื่อเทียบกับบ้านเรา ก็แทบจะไม่เห็นคุณค่า ของน้ำ ที่ใช้อย่างทิ้งขว้าง และไม่เคยคิดว่าน้ำจะหมดไปจากแผ่นดินไทย
นั่นคือการเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ที่สิงคโปร์มีอยู่อย่างจำกัด ในส่วนของทรัพยากรมนุษย์ สิงคโปร์ ให้ความสำคัญมาก เพราะสิงคโปร์ เป็นประเทศที่เกิดขึ้นจากหลายชนชาติ โดยมีชาติพันธุ์หลักอยู่ 3 ชาติพันธุ์ คือ จีน มลายู อินเดีย 3 ชาติพันธุ์ รวมกันเป็น ประเทศสิงคโปร์ ที่มีภาษา วัฒนธรรม วิถีชีวิต ประเพณีที่แตกต่างกัน แต่เขาก็อยู่ร่วมกันได้ ไม่มีข้อขัดแย้งกัน อะไรคือกาวที่ทำให้ คนรักกัน อยู่ร่วมกันได้ไม่ทะเลาะกันและอยู่อย่างสงบ
สิ่งแรกที่เรารับรู้ก็คือ ความเห็นอกเห็นใจกัน ความหมายที่เราเข้าใจก็คือ ความเกรงใจกัน และนึกถึงคนอื่นที่จะได้รับผลกระทบ เช่น เมื่อคนสิงคโปร์เป็นหวัด ก็จะหยุดเรียน หรือไม่ไปทำงาน เพราเกรงว่าหวัดจะไปติดเพื่อน
ประการที่สอง คือ การยอมรับขนบธรรมเนียมประเพณี ของคนต่างเชื้อชาติ การไม่มองเพื่อนร่วมชาติ แตกต่างไปจากตัวเอง เมื่อมีงานต่างคนก็เข้าไปช่วยเหลือกันและกัน เป็นการผสมผสาน ทางวัฒนธรรม
ประการที่สาม คือ เรื่องภาษา สิงคโปร์ ให้ความสำคัญกับภาษา เป็นอย่างมาก ซึ่งมีถึง 4 ภาษาหลัก คือ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาทมิฬ และภาษามลายู ทางการสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับภาษาค่อนข้างมาก วันที่ผมเดินทางไปสิงคโปร์ผมได้เอาเครื่องรับวิทยุติดไปด้วย ปรากฏว่ารายการต่าง ๆ บนหน้าปัดเครื่องรับวิทยุ มีทั้งภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาทมิฬ(อินเดีย) และภาษามลายู (มาเลเซีย)
เมื่อเดินทางไปสิงคโปร์ ทุกครั้งผมก็จะเดินทางไปเกาะเซนโตซ่า การเดินทางไปเกาะ ก็จะเดินทางไปโดยกระเช้า เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาครั้งนี้ก็เช่นกันเมื่อถึงเกาะเซนโตซ่า ก็ต้องเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง ทางการสิงคโปร์ พึ่งเปลี่ยนโฉมสถานที่ใหม่ สิ่งที่ยังคงมีอยู่เดิมก็คงอยู่ เช่น การแสดงวิถีชีวิตของเชื้อชาติต่าง ๆ ที่ทำมาหากินบนเกาะสิงคโปร์ แต่การนำเสนอแนวใหม่ ก็คือ Presentation ที่สร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติสิงคโปร์ ห้องแสดงเป็นห้องเล็ก ๆ มีอัฒจันทร์ ให้นั่งประมาณ 20 คน เมื่อทุกคนนั่งประจำที่ เราสังเกตเห็นว่า บนเวทีมีจอภาพอยู่ทางด้านซ้ายและด้านขวาของเวที ตรงกลางเวที จัดฉากเป็นเรือใบเดินทะเล สื่อให้เห็นว่า ชาวสิงคโปร์ มาจากทั่วทุกสารทิศ และบนผนังด้านหน้ามีรูปภาพคน 4 คน คือมลายู จีน อังกฤษ และอินเดีย ผมคิดอยู่ในใจว่า เขาให้เรานั่งดูอะไร สักพัก การนำเสนอก็เริ่มขึ้น โดยตรงหน้าผู้ชม มีม่านละอองน้ำ พวยพุ่งขึ้นมา เป็นม่านหมอก จากนั้นก็มีรูปคนเคลื่อนไหว อยู่ในม่านหมอกนั้น แล้วอธิบาย ความเป็นมาของสิงคโปร์ สักพัก รูปคนที่อยู่ด้านหลัง ก็เริ่มเคลื่อนไหว มีการพูดตอบโต้กัน เป็นการนำเสนอที่แปลกเร้าใจมาก ที่รูปภาพที่เราเห็นว่าเป็นภาพนิ่งจะเคลื่อนไหวไม่ได้ กลับพูดได้เป็นเรื่องเป็นราว ในขณะที่ จอภาพด้านซ้ายขวา มีการฉายภาพ ความเป็นมาของสิงคโปร์ สาระที่สำคัญคือ ชาวสิงคโปร์ทุกชาติทุกภาษา สร้างชาติสิงคโปร์ขึ้นมา ประกอบด้วยทุกชาติทุกภาษา จึงเป็นประเทศสิงคโปร์ ที่มีแต่ความรักความสามัคคี อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข
กลับมามองบ้านเรา โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ตอนนี้หลายคนตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะมีการฆ่ากันตายรายวัน เราจะเอาตัวอย่างที่ดีของสิงคโปร์มาใช้อย่างไรให้เกิดสันติสุข
|