www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 7 คน
 สถิติเมื่อวาน 28 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
3385 คน
49199 คน
1741643 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

 

ยุทธการยึดเมือง : การต่อสู้ด้วยอาวุธในภาคใต้

สุรชาติ บำรุงสุข
20 ก.ย.48


"ถ้าข้าศึกที่รุกเข้ามานั้นเหนือกว่ากองทัพของเรามากมายทั้งในด้านปริมาณและความเข้มแข็ง และเราต้องการให้การเปรียบเทียบทางความแข็งอ่อนเกิดการเปลี่ยนแปลง ก็มีแต่รอจนกว่าข้าศึกจะถลำลึกเข้ามาในฐานที่มั่น และได้ลิ้มรสความขมขื่นอย่างเต็มที่จากฐานที่มั่น ในเวลาเช่นนี้ แม้กองทัพข้าศึกจะเข้มแข็ง แต่ก็ถูกบั่นทอนลงไปมากมาย ทหารอ่อนเพลีย ขวัญเสื่อมทรุด จุดอ่อนมากมายก็จะเผยออกมาหมด"

ประธานเหมา เจ๋อ ตุง
พฤษภาคม 1936

เมื่อพิจารณาถึงปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะเห็นได้ถึงการดำเนินสงครามต่อต้านรัฐของผู้ก่อการในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถ้ามองถึงวิธีการของการก่อความไม่สงบก็พอจะสรุปได้ถึงลักษณะหลักๆ ดังต่อไปนี้

1) ยุทธการ "จุดไฟในนาคร"
สงครามต่อต้านรัฐไทยในภาคใต้ เริ่มเปิดฉากด้วยเหตุการณ์ปล้นปืนในวันที่ 4 มกราคม 2547 การเปิดยุทธการเช่นนี้ เป็นเสมือนการสาดน้ำมันเข้าใส่ "ไฟสุมขอน" ที่ในทางลึกแล้วปัญหาความ
มั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้สิ้นสุดไปพร้อมกับการยุติของ สงครามเย็นหรือสงครามคอมมิวนิสต์ภายในของไทยแต่อย่างใด

ปัญหาความมั่นคงของจังหวัดชายแดนในภาคใต้ของไทย กลับมีสภาพเหมือนกับ "ไฟสุมขอน" ที่พร้อมจะกลับมาลุกโชนได้ทุกเมื่อ หากมีเชื้อเพลิงดีๆ ใส่เข้ามา เพราะปัญหาพื้นฐานระหว่างอำนาจรัฐส่วนกลางกับชุมชนในท้องถิ่นในยุคหลังสงครามเย็น ยังไม่ได้รับการแก้ไขปรับสภาพได้เท่าที่ควร รากเหง้าของความขัดแย้งในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการกับประชาชน ตลอดรวมถึงปัญหาอิทธิพลมืดในพื้นที่ ยังคงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง

ผู้ก่อความไม่สงบเข้าใจจิตวิทยาของรัฐเป็นอย่างดีว่า การเปิดฉากปล้นค่ายทหาร จะเป็นการเปิดฉากให้เกิดการ "ยั่วยุ" รัฐไทยที่จะต้องดำเนินการด้วยมาตรการที่เข้มแข็ง เพื่อตอบโต้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำพารัฐเข้าสู่อาการ "ติดหล่ม" สงครามเช่นที่รัฐมหาอำนาจเองก็เคยตกอยู่ในสภาพเช่นนี้มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเวียดนามหรือในอัฟกานิสถานก็ตาม

ในขณะเดียวกันการตอบโต้ของรัฐไทย ก็จะนำไปสู่ความชอบธรรมที่พวกเขาจะเริ่มยุทธการ
"จุดไฟในนาคร" ด้วยปฏิบัติการของสงครามกองโจรในเมือง ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเป็นแบบแผนหลักของความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ของโลก ดังเช่น ตัวอย่างจากอัฟกานิสถาน เชชเนีย หรือในกรณีของปัญหาในพื้นที่ของยูโกสลาเวียเดิม เช่นในบอสเนีย และในเฮอร์เซอโกวินา ก็เป็นเช่นเดียวกัน

สงครามกองโจรในเมือง เป็นรูปแบบของการใช้ความรุนแรงที่กองกำลังรัฐของไทย ไม่มีความคุ้นเคยเท่าใด เพราะปัญหาสงครามแต่เดิมเกิดในชนบทและพื้นที่ป่าเขาเป็นหลัก ซึ่งก็จะยิ่งทำให้พื้นที่เขตเมืองเป็น "หล่มสงคราม" แก่รัฐไทยที่ถอนตัวขึ้นได้ยาก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมืองได้ถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่การต่อสู้กับกองกำลังของฝ่ายรัฐแทนชนบท

2) ยุทธการ "อาณาจักรแห่งความกลัว"
การเปิดยุทธการ "จุดไฟในนาคร" ที่ใช้สงครามกองโจรในเมืองเป็นลักษณะพื้นฐานของการต่อสู้นั้น ก็จะไม่แตกต่างจากทฤษฎีของสงครามกองโจรโดยทั่วไป ที่จะต้องมุ่งใช้ความรุนแรงเพื่อให้เกิด "อาณาจักรแห่งความกลัว" ขึ้นในพื้นที่ การกระทำเช่นนี้มุ่งสู่การทำลายขวัญกำลังใจในการสู้รบของกองกำลังฝ่ายรัฐ และขณะเดียวกันก็ใช้เพื่อการโฆษณาทางการเมืองถึงความสำเร็จของพวกเขาในการทำลายฝ่ายรัฐ

แต่ที่สำคัญก็คือ ความรุนแรงเช่นนี้ยังถูกใช้เพื่อทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความกลัวอย่างมาก
จนแม้ว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องเป็นแนวร่วมกับผู้ก่อความไม่สงบ แต่พวกเขาก็ไม่กล้าที่จะให้ความร่วมมือกับฝ่ายรัฐ เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีผลอย่างมากในทางจิตวิทยาต่อประชาชนในพื้นที่ กล่าวคือ ผู้ก่อความไม่สงบได้ใช้ความรุนแรงเป็นทั้งเครื่องมือในการต่อสู้กับรัฐ และขณะเดียวกัน
ก็ใช้เป็นการสื่อสารถึงประชาชนว่า พวกเขาจะต้องทำตามคำสั่งของผู้ก่อความไม่สงบเท่านั้น และจะต้องไม่เชื่อฟังรัฐ ดังจะเห็นได้จากคำประกาศที่ให้ประชาชนในนั้นหยุดกิจกรรมต่างๆ ในวันศุกร์ และก็มีประชาชนเป็นจำนวนมากจำเป็นต้องหยุดเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตน

ดังนั้น หากพิจารณาในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าผู้ก่อความไม่สงบประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการสร้าง "อาณาจักรแห่งความกลัว" ให้เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเห็นได้ว่า กิจกรรมในชีวิตปกติได้หายไปจากชีวิตประจำวันของประชาชนหลายๆ คนแล้ว เป็นต้น


3) ยุทธการ "อาณาจักรแห่งความหวาดระแวง"
เมื่อการก่อความไม่สงบประสบความสำเร็จด้วยการสร้าง "อาณาจักรแห่งความกลัว" ให้เกิดขึ้นในจิตใจของประชาชนในสามจังหวัดแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือความแตกแยกในหมู่ประชาชนอันเป็นผลมาจากความหวาดระแวงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนระหว่างพี่น้องชาวไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้พี่น้องต่างศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ จนพื้นที่ภาคใต้ของไทยถูกใช้เป็นตัวแบบของการแสดงให้เห็นถึง การอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนิกต่างความเชื่อ

แต่ "อาณาจักรแห่งความกลัว" ที่เกิดขึ้น ทำลายอดีตของการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้คนต่างศาสนาลงโดยสิ้นเชิง และสิ่งที่เข้ามาทดแทนก็คือสภาวะของความหวาดระแวง ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับประชาชนที่มีความเชื่อทางศาสนาต่างกัน และระหว่างข้าราชการกับประชาชน เพราะข้าราชการตกเป็นเป้าหมายของการทำร้าย เพื่อสร้างความกลัวดังกล่าว และขณะเดียวกัน ประชาชนบางส่วนก็หวาดระแวงจะตกเป็นเป้าหมายของการจับกุมจากเจ้าหน้าที่รัฐ ผลก็คือไม่มีใครไว้ใจใคร

ฉะนั้นวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานกับ "อาณาจักรแห่งความกลัว" ก็คือ "อาณาจักรแห่งความหวาดระแวง" ซึ่งกำลังกลายเป็นสภาพที่กินลึกลงไปสู่ชีวิตของผู้คนในสามจังหวัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

4) ยุทธการ "วัยรุ่น-วัยลุย"
ความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นในภาคใต้ เป็นเครื่องมืออย่างสำคัญที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้ต่อสู้กับรัฐ และถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นผู้ใช้เครื่องมือนี้ก็คือวัยรุ่น ว่าที่จริงในทุกยุคทุกสมัย ถือกันว่าวัยรุ่นเป็นวัยของความเร่าร้อนทางการเมือง ที่พร้อมที่จะดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ของความเชื่อทางการเมืองอย่างสุดจิตสุดใจ แม้จะต้องเสียสละอย่างมากก็ตาม

บทบาทของวัยรุ่นในการเมืองไม่ใช่เรื่องที่สังคมไทยไม่เคยมีประสบการณ์ เพราะเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของคนหนุ่มคนสาวในการเมืองไทยที่ชัดเจน ก็เห็นได้ในช่วงเวลา
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 จนกระทั่งคนเหล่านี้หลังเหตุการณ์ในปี 2519
ก็ได้เข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบท และกลับออกมาสู่ชีวิตการเมืองปกติในเวลาต่อมา เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลง

เหตุการณ์ในสามจังหวัดสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการเปิดบทบาทของกลุ่มวัยรุ่นมุสลิมที่ถูกจัดตั้ง และทำการฝึกอาวุธเพื่อให้ก่อเหตุความรุนแรง ซึ่งทำให้การคิดถึงการแก้ปัญหานี้ในอนาคต จะต้องคิดถึงการแก้ปัญหาเรื่องของวัยรุ่นในพื้นที่คู่ขนานกันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องคิดหาหนทางในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทบาทอย่างสร้างสรรค์ของหนุ่มสาวมุสลิมในภาคใต้ให้ได้

5) ยุทธการ "สงครามข่าวสาร"
กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบดูจะเข้าใจเป็นอย่างดีว่า พวกเขาไม่สามารถจะเปิดสงครามกับรัฐไทยด้วย "แนวรบการทหาร" เท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่พวกเขากระทำก็คือการเปิด "แนวรบทางการเมือง" คู่ขนานอีกด้วย ซึ่งความมุ่งประสงค์ก็คือการทำให้รัฐไทยต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทางการเมือง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้ในทางการทหารก็ได้ และเครื่องมือที่ดีที่สุดในกรณีนี้ก็คือ การทำสงครามข่าวสาร ที่ปรากฏในรูปของปฏิบัติการข่าวสาร/ปฏิบัติการสารสนเทศ (Information Operations) กับรัฐไทย

ปฏิบัติการนี้อาจจะอยู่ในรูปแบบง่ายๆ เช่น การปล่อยข่าวลือ ไปจนถึงการสร้างข่าวปลอม หรือการใช้เครื่องมือสารสนเทศสมัยใหม่เพื่อโจมตีรัฐ ตลอดจนถึงการฉวยประโยชน์จากความอ่อนด้อยของเจ้าหน้าที่ที่กระทำการผิดพลาดด้วยการโฆษณา เพื่อก่อให้เกิดความเกลียดชังอันจะนำไปสู่การต่อต้านรัฐ

รัฐไทยเองก็ดูจะมีข้ออ่อนในเรื่องเช่นนี้ เพราะสิ่งที่รัฐจะต้องคิดให้ได้ก็คือ ปฏิบัติการตอบโต้สารสนเทศ (Counter-Information Operations) ที่ไม่ใช่เรื่องเก่าในรูปแบบของปฏิบัติการจิตวิทยา หรือการประชาสัมพันธ์อย่างหยาบๆ เท่านั้น เพราะปฏิบัติการนี้จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อ ประชาชนเชื่อมั่นและไว้วางใจว่าข่าวสารจากรัฐเป็นความจริง และเปิดโอกาสให้รัฐปฏิบัติการเชิงรุกด้านข่าวสารตอบโต้ได้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็คือ ผู้ก่อความไม่สงบเปิดปฏิบัติการเชิงรุกด้านข่าวสารต่อรัฐไทยอย่างต่อเนื่อง จนสามารถขยายวงออกไปสู่กลุ่มบางกลุ่มในสังคมไทย และแม้กระทั่งกลุ่มในเวทีต่างประเทศด้วย ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐไทยถูกทำลายลงอย่างง่ายดาย อันจะทำให้พวกเราสามารถสร้างแรงกดดันต่อรัฐได้จากทั้งกลุ่มภายในและภายนอกประเทศ เพราะรัฐไทยกำลังถูกทำให้มีภาพลักษณ์เป็น "ตัวโกง" มากขึ้นทุกวัน

6) ยุทธการ "สงครามตัวแทน"
ในการต่อสู้เช่นนี้ พวกเขาดำเนินการไม่ต่างกับขบวนการทางการเมืองอื่นๆ ที่จะต้องมีการจัดตั้งแนวร่วม และแนวร่วมนี้ก็มิได้มีความหมายเฉพาะประชาชนในพื้นที่เท่านั้น หากแต่ยังหมายรวมอย่างสำคัญก็คือ กลุ่ม/องค์กรที่มีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาลในปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะหากพวกเขาสามารถสร้างอิทธิพลเหนือกลุ่มเหล่านี้ได้โดยวิธีการใดก็แล้วแต่
รัฐเองก็ถูกบีบให้ต้องเดินไปในแนวทางที่ฝ่ายเขาเป็นผู้กุมความริเริ่ม และที่สำคัญก็คือ พวกเขาสามารถใช้กลุ่มดังกล่าวให้ทำ "สงครามตัวแทน" กับรัฐ โดยพวกเขาไม่จำเป็นต้องออกมาอยู่ในแนวหน้าเลยก็ได้

หากพิจารณาให้ดี จะเห็นได้ว่า "ลัทธิสันติวิธียอมจำนน" เป็นแนวร่วมที่ดีของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เพราะลัทธินี้ เสนอให้รัฐไม่ต่อสู้และยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องทุกอย่างของผู้ก่อความไม่สงบ และบางครั้งก็ยังสุดโต่งถึงขนาดให้เจ้าหน้าที่กระทำเสมือนปลดอาวุธ เช่นควรจะยุติการใช้งานยุทธการตอบโต้กับการก่อเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะเกรงว่าจะนำไปสู่การละเมิดในรูปแบบต่างๆ สิ่งที่คนกลุ่มนี้ดำเนินการอยู่ จึงไม่ต่างอะไรกับการ "เตรียมส่งมอบแผ่นดิน" สามจังหวัดให้แก่ผู้ก่อความไม่สงบอย่างสันติวิธีเท่านั้นเอง

7) ยุทธการ "แยกกันเดิน รวมกันตี"
การดำเนินการทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพนั้น ไม่ควรจะต้องใช้แนวทาง "รวมกันเดิน รวมกันตี" เพราะกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบย่อมจะตกเป็นเป้าหมายของการตอบโต้จากฝ่ายรัฐได้ง่าย ดังนั้น การดำเนินการในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ย่อมจะเป็นหนทางปฏิบัติที่ดีกว่า

แนวทางเช่นนี้ก็คือ "แยกกันเดิน รวมกันตี" โดยให้แต่ละส่วนยึดกุมเป้าหมายที่ชัดเจนและไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงการปฏิบัติที่แตกต่างกัน เพื่อให้ในท้ายที่สุดแล้วก็จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์หลักได้ด้วยการปฏิบัติการของทุกส่วน เช่น ใช้กองกำลังในพื้นที่กดดันรัฐด้วยมาตรการทหาร ใช้กลุ่มลัทธิยอมจำนนกดดันการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้กลุ่มการเมืองเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของตนอย่างสมัครใจ เป็นต้น

การเดินในแนวทางเช่นนี้ ยังหมายถึงการขยายแนวรบออกไปสู่ต่างประเทศ โดยใช้การเปิดเวทีเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศกดดันรัฐไทยให้หนักหน่วงภายใต้ข้อหาของการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อให้รัฐไทยต้องตกเป็น "จำเลย" ที่รอการพิพากษาให้เป็น "ผู้แพ้" ในเวทีสากล

ผลก็คือ รัฐไทยตกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่แม้จะมีรูปแบบแตกต่างกัน แต่ก็ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งก็คือการทำให้รัฐเป็นฝ่ายแพ้ทั้งในสนามรบการเมือง-การทหารในภาคใต้นั่นเอง !

          1
คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com