www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 61 คน
 สถิติเมื่อวาน 59 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
4170 คน
4170 คน
1749438 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

 

ประวัติ 3 จังหวัดใต้
22 กันยายน 2548


บรรดาผู้ที่ศึกษาปัญหาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างยอมรับตรงกันว่า มีความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนเป็นอย่างมาก แต่หากได้ยึดเอาเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นตัวตั้ง และ ณ จุดนี้ จึงใช้เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นหลักยึดเพื่อค้นคว้าหาความจริง ไม่ว่าจะย้อนถอยหลังไปในอดีตหรือก้าวออกไปข้างหน้า ผู้ที่ค้นคว้าหาความจริงก็จะสามารถวิเคราะห์ เจาะลึก เข้าไปศึกษาถึงต้นเหตุแห่งปัญหาต่าง ๆ และผลลัพธ์ที่เกิดจากเหตุนั้น ๆ พร้อมข้อเท็จจริงต่าง ๆ ของมัน

ด้วยวิธีการเช่นนี้เองที่เราจะใช้เพื่อการวิเคราะห์ เจาะลึกเข้าไปดูให้รู้แท้ว่า สาเหตุหรือต้นตอแห่งปัญหาจริง ๆ นั้นคืออะไร และจากบทสรุปอันเป็นผลพวงที่เกิดจากการค้นคว้า วิเคราะห์วิจัยของเรานี้ จะนำไปใช้เพื่อเป็นแนวทางไปสู่สันติภาพ และความสงบสุขของพี่น้องชาวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างไร

ชาวมุสลิมสองในสี่คนที่มีบทบาทอย่างสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีรัฐธรรมนูญซึ่งมีคณะราษฎรเป็นผู้ก่อการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ท่านทั้งสองนี้คือ นายแช่ม พรหมยงค์ และ นายบรรจง ศรีจรูญ ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ท่านแรกผู้เขียนนับถือเป็นคุณลุง ท่านที่สองเป็นคุณลุงแท้ ๆ ของผู้เขียนเอง ตลอดชีวิตของผู้เขียนได้คลุกคลีกอยู่กลับคุณลุงทั้งสอง จวบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน สิ่งหนึ่งที่ท่านฝากผู้เขียนไว้ก่อนการเสียชีวิตของทั้งสองท่านไม่นานก็คือขอให้เขียนบันทึกต่าง ๆ ที่ท่านเคยเล่าให้ฟัง

มีมุสลิมชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระดับหัวหน้าหลายคนที่ท่านทั้งสองกล่าวถึงเป็นประจำที่สำคัญ ๆ คือ ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ นายเจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะ นายอดุลย์ บินสะอาด นายอดุลย์ ณ สายบุรี ( ตนกู อับดุล ยะลา นาแซร์ ) และตนกูมุฮ์ยิด ดิน บินตนกูอับ ดุลกอเดร์ หรือกูดิน เป็นต้น

ฮัจยีสุหลง บิดาของนายอามีน และนายเด่น โต๊ะมีนา เป็นนักการศาสนาหรืออุลามาอ์ ศึกษามาจากนครมักกะฮ์ ซาอุดิอารเบียปัจจุบันนับตั้งแต่ปฐมวัย และเดินทางกลับคืนสู่ปัตตานี ในปี พ.ศ. 2470 ท่านมีบทบาทอันสำคัญยิ่ง ในการปรับปรุงระบบการเรียนการสอนศาสนาในสี่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า มณฑลปัตตานีให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น และต่อมาโรงเรียนปอเนาะแบบเดิม ได้พัฒนามาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม หรือโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามในปัจจุบัน ซึ่งโรงเรียนของท่านถือเป็นแห่งแรกที่เปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2478 และนายปรีดี พนมยงค์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนแห่งแรก นี้ด้วย

การใช้วิธีการเรียนการสอนศาสนาแบบใหม่ แทนวิธีเก่าที่เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2470 นั้น ใช่ว่าจะดำเนินไปด้วยความสะดวกก็หาไม่เพราะโต๊ะครูหัวเก่าตามโรงเรียนปอเนาะต่าง ๆ เริ่มมีปฏิกิริยาตอบโต้ ฮัจยีสุหลง โดยรายงานต่อพระยาอุดม พงษ์เพ็ญสวัสดิ์ว่า ฮัจยีสุหลง จะเป็นผู้ก่อความไม่สงบ และจะทำให้ราษฎรก่อตัวขึ้นเป็นภัยต่อแผ่นดิน แต่เมื่อทางราชการได้สอบสวนและรับฟังคำชี้แจงจากฮัจยีสุหลง และอนุญาตให้ท่านสอนศาสนาตามวิธีใหม่ต่อไปได้ ถึงแม้จะมีผู้ไม่ปรารถนาดีบางคนจับตามองด้วยความหวาดระแวงก็ตาม แต่ฮัจยีสุหลงก็ ไม่ได้ใส่ใจ เพราะท่านยืนยันว่า ไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย นับเป็นเวลา 8 ปีที่ท่านยืนหยัดทำงานในด้านการเรียน การสอน และการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม จนสามารถสร้างโรงเรียนขนาดใหญ่ขึ้นได้หนึ่งแห่งซึ่งถือเป็นของราษฎรเพราะได้มาจากเงินบริจาค และผู้บริจาคคนสำคัญก็คือพันเอกพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของงบประมาณค่าก่อสร้างทั้งหมดและ ฯพณฯได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนด้วยตัวเองอีกด้วย

ต้นไม้แห่งเสรีภาพและสันติภาพ ในสี่จังหวัดภาคใต้ทำท่าจะไปได้สวย ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2475 แต่ต้องมามีอันเป็นไป เมื่อเกิดพายุ ร้ายโหมกระหน่ำใน ทันทีที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 พายุร้ายลูกนี้ก็คือลัทธิชาตินิยม ที่ จอมพล ป. พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีใช้เป็นธงนำในนโยบายของรัฐบาล เพราะเข้าใจว่าอุดมการณ์นี้จะนำประเทศไทยเข้าสู่ระดับของนานาอารยะประเทศทั่วโลก และให้ความสนใจกับเชื้อชาติไทย ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในฐานะเจ้าของประเทศซึ่งเห็นได้จากการประกาศใช้รัฐนิยม ฉบับแรก ที่ว่าด้วย "ชื่อประเทศประชาชนและสัญชาติ" เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2482 และกำหนดให้เปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย กำหนดให้เรียกคนสยามว่าคนไทย เพื่อเน้นความถูกต้องตามเชื้อชาติ และความนิยมของประชาชนชาวไทย แต่ผลปรากฏว่ารัฐนิยมฉบับแรกเป็นจุดเน้นความรู้สึกคนละพวก สำหรับชนต่างเชื่อชาติ และเผ่าพันธุ์ให้เด่นชั้นขึ้น โดยเฉพาะพี่น้องทางสี่จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาว มลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม จึงเริ่มรู้สึกแตกแยกทางจิตใจขึ้นมา เพราะถือว่าตนเองมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และศาสนาที่แตกต่างกันด้วย

การประกาศใช้รัฐนิยมของรัฐบาลชาตินิยม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้เวลานับจากเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2482 ถึง เดือนมกราคม พ.ศ. 2485 รวม 12 ฉบับ จะเห็นได้ว่าในฉบับที่ 9 และฉบับที่ 10 นั้นมีการบังคับใช้ในเรื่องการใช้ภาษาและหนังสือภาษาไทยกับหน้าที่พลเมืองดี และการแต่งกายของประชาชนชาวไทย ที่มีผลกระทบทางจิตใจ ของประชาชนในสี่จังหวัดภาคใต้อย่างรุนแรง เพราะมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง เมื่อรัฐบาลได้จัดตั้งสภาวัฒนาธรรมแห่งชาติขึ้น ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485 โทษฝ่าฝืน "พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ ( ฉบับที่ 2 ) พุทธศักราช 2485" ปรับไม่เกิน 100 บาท จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำ ทั้งปรับ อัตราค่าปรับ 100 บาทหากเทียบกับสมัยนี้ก็ตกราว 1,500 บาท ซึ่งมากโขอยู่สำหรับชาวบ้านธรรมดา

เมื่อมีการบีบบังคับ ก็มีการลองของ ตนกูปัตตารอ พี่ชายของนายอดุลย์ ณ สายบุรี หรือตนกูอับดุล ยะลา นาแซร์ นุ่งโสร่งออกมานอกบ้าน จึงถูกตำรวจจับกุมและไม่ยอมเสียค่าปรับ ตำรวจจึงกักตัวที่สถานีตำรวจ จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต กลายเป็นเรื่องบาดหมางกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับชาวมุสลิมสี่จังหวัดภาคใต้ สตรีมุสลิมชาวปัตตานีถูกกระชากผ้าคลุมผมออกจากศีรษะของนางให้ผู้อื่นได้เห็นเพราะไม่ยอมนุ่งกระโปรง ใส่เสื้อแขนสั้น และสวมหมวกปีก ตามแบบรัฐนิยมที่ทางราชการกำหนด ส่วนโต๊ะครูบางคนที่จังหวัดนราธิวาสนั้นถูกตำรวจจับถอดผ้าโพกศีรษะออกจากหัวมาทำเป็นลูกตะกร้อเตะเลยก็มี

นับเป็นที่น่าสังเกตว่า ในระหว่างที่ประเทศไทยใช้นโยบายวัฒนธรรม ซึ่งเป็นระยะที่กำลังเริ่มสงครามมหาเอเชียบูรพาอยู่นั้นอังกฤษเองก็มีความโกรธเคืองที่ไทยเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่นเต็มตัวเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. ประกาศ สงครามต่ออังกฤษ และสหรัฐอเมริกาเมื่อตอนเที่ยงวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2485 ญี่ปุ่นตอบแทนไทยด้วยการมอบสี่รัฐ มลายู (ไทรบุรี ปะลิศ กลันตัน ตรังกานู ) และรัฐฉาน( เชียงตุง เมืองพาน ) ที่ตีได้จากอังกฤษ โดยลงนามรับมอบเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2486 สังเกตได้จากเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม รัฐบาลไทยรีบประกาศคืนดินแดนที่ได้มาแก่อังกฤษทันที มิใช่เฉพาะไทยเท่านั้นที่ประกาศให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา บรรดาสุลต่านของสหพันธรัฐมลายูต่างก็
ให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นทั้งหมดเช่นกัน ด้วยเหตุนี้อังกฤษจึงจำต้องถอยร่นไปตั้งหลักอยู่ที่อินเดีย เพราะถูกกองทัพญี่ปุ่นโจมตีจากยะลา เข้าถล่มภาคเหนือของดินแดนมลายู อันเป็นอาณานิคมของตน

ด้วยเหตุแห่งปัจจัยนี้ จึงได้เกิดขบวนการเสรีไทยและเสรีมลายูขึ้น ฝ่ายเสรีไทยนั้นเราทราบกันดีอยู่แล้ว ส่วนเสรีมลายูอังกฤษได้เลือกเอาตนกูมุไฮยิดดิน หรือ "กูดิน" ลูกชายคนเล็กของรายาอับดุล กอเดร์ อดีตเจ้าเมืองปัตตานี และให้สัญญาว่าจะหาทางเอาเมืองปัตตานีคืนจากไทยเป็นการตอบแทน ตนกูมุไฮยิดดินผู้นี้เป็นใคร? เขาเคยได้รับการอุปถัมภ์จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ศึกษาในโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ในฐานะมหาดเล็กหลวง ก่อนที่จะเดินทาง ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ในที่สุดต้องกลับมาอาศัยอยู่ในรัฐกลันตัน เนื่องจากรายาวิชิตภักดี อับดุลกอเดร์ ผู้เป็นบิดา ได้ก่อการเป็นกบฏ ในปี พ.ศ. 2466 และหลบหนีการจับกุมไป อยู่ในรัฐกลันตันจนถึงแก่ ชีวิต เมื่อปี พ.ศ. 2476

ตนกูมุฮ์ยิดดิน เคยเดินทางกลับเข้ามาอาศัย อยู่ในประเทศไทย ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยแจ้งต่อรัฐบาลไทยในสมัยนั้นว่า ขอเป็นพลเมืองอาศัยอยู่ในสยามต่อไป เพราะเห็นว่า สยามมีระบบรัฐธรรมนูญเป็นที่พอใจแล้ว จากนั้นจึงเดินทางออกนอกประเทศในช่วงเริ่มต้นของสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยร่วมมือกับอังกฤษ เข้าเป็นสมาชิกกองกำลังอาสาสมัคร ของกลันตัน ประจำอยู่ ณ กรุงเดลฮี ประเทศอินเดีย ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่าย ประชาสัมพันธ์ของวิทยุกระจายเสียงใต้ดินของอังกฤษ โดยเรียกร้อง ให้คนมลายูต่อต้านญี่ปุ่น และก่อตั้งสหพันธรัฐมลายู

ในตอนปลายสงครามมหาเอเซียบูรพา นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในฐานะหัวหน้าเสรีไทยในประเทศไทย ได้รับข่าวจากเสรีไทยคนหนึ่ง ในอินเดียว่า มีนายทหารอังกฤษกลุ่มหนึ่งในอินเดีย จัดงานเลี้ยงฉลอง ให้กับตนกูมุฮ์ยิดดินว่า "ขอให้กษัตริย์แห่งปัตตานี จงทรงพระเจริญ" การกระทำเช่นนี้ของอังกฤษ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะเพียงต้องการประท้วงจากกระทำของรัฐบาลไทยที่ไปสนับสนุนญี่ปุ่น เรื่องนี้นายแช่ม พรหมยงค์ เคยกล่าวไว้ว่า "ตนกูมุฮ์ยิดดิน ได้วางแผนแบ่งแยกดินแดนครั้งสำคัญเมื่อปี 2488 - 2489 ในครั้งนั้น เขากำหนดไว้ว่า ถ้าไทยต้องคืนดินแดนสี่จังหวัดในอินโดจีนให้แก่ฝรั่งเศส เขาก็จะดำเนินการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ทันที"

ในเรื่องนี้นายอดุลย์ บินสะอาด ตาโต๊ะยุติธรรม จังหวัดสตูล เมื่อ พ.ศ. 2490 ได้เคยแจ้งให้นายเจ๊ะอับดุลลาฮ์ หลังปูเต๊ะ ประธานกรรมการประจำจังหวัดสตูล และสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล ทราบเรื่องที่ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์มีการติดต่อกับอังกฤษ และในขณะเดียวกันก็น่าจะได้มีการติดต่อกับตนกูมุฮ์ยิดดินไปด้วย โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489

ส่วนนายอดุลย์ ณ สายบุรี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส และตนกูปัตตารอพี่ชาย ซึ่งทั้งสองเป็นบุตรชายของพระยาเมืองสายบุรี ได้เดินทางไปยังรัฐกลันตัน และยังทำคำร้องถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมของอังกฤษ ผ่านแม่ทัพอังกฤษ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 โดยเล่าถึงความทุกข์ยากของชาวมลายูมุสลิมจากเงื้อมมือของประเทศไทย

ประเด็นอันสำคัญยิ่งที่ว่าอังกฤษฉวยโอกาสในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพาแก้แค้นไทยที่ไปเข้ากับญี่ปุ่น ทำให้อังกฤษต้องเสียหายพ่ายแพ้อย่างหนัก ทิ้งอาณานิคมมลายูของตนไปตั้งหลักทำศึกกับญี่ปุ่นอินเดีย และยุยงปลุกปั่นบรรดาผู้นำชาวมุสลิมสี่จังหวัดภาคใต้ พร้อมเสนอให้อามิสสินจ้าง และสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยให้ไม่ได้ เช่น จะมอบเอกราชให้กับรัฐมลายูทั้งหมดเป็นต้น เหตุการณ์นี้เกิด ขึ้นที่จังหวัดยะลาในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน พ.ศ. 2489 ขณะที่ทหารอังกฤษเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลไทยของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ยินยอมลงนามใน "ความตกลงสมบูรณ์แบบ" เพื่อยกเลิกสถานะสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษและอินเดียในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2489 ซึ่งหมายถึงไทยประกาศยอมแพ้ต่ออังกฤษอย่างเป็นทางการนั่นเอง แต่เป็นเรื่องแปลกที่ว่าเหตุการณ์นี้ มักไม่ค่อยมีผู้ใดกล่าวถึง

คำโบราณของไทยที่ว่า ช้างสารชนกันหญ้าแพรก แหลกลาญ ประชาชนคนไทย จึงเปรียบดั่งหญ้าแพรกที่มีไว้รองรับ รองเท้าท็อปบูต ของทหารญี่ปุ่นกับทหารอังกฤษ หากรัฐบาลไทยบางสมัยจะเอาผิดกับบรรดาผู้นำมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้ที่แปรพักตร์ไปร่วมมือกับอังกฤษเพื่อก่อตั้งสหพันธรัฐมลายูแล้ว อังกฤษก็ยังคงมีสิทธิ์ที่จะฝากรอยแค้นไว้กับไทยที่ไปร่วมมือกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเหตุให้ทหารอังกฤษและพันธมิตร ต้องบาดเจ็บล้มตายในประเทศไทยนับจำนวนหมื่นคน เฉพาะหลุมศพที่สุสานจังหวัดกาญจนบุรีก็มีนับพัน ๆ คนแล้ว เมื่อคนไทยมีเสรีไทยได้ชาวมลายูมุสลิมก็มีเสรีมลายูได้เช่นกัน ใครเล่าอยากจะถูกฉีกเป็นชิ้น ในฐานะผู้แพ้ ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงหญ้าแพรก

หลังสิ้นสงครามมหาเอเชียบูรพา ในสมัยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ กับบรรดาผู้นำมุสลิมสี่จังหวัดภาคใต้ที่ร่วมมือกับ ตนกูฮ์ยิดดิน คิดก่อตั้งสหพันธรัฐมลายูตามนโยบายปกครองอาณานิคมของอังกฤษ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลไทยในขณะนั้นไม่ต้องการทำอะไรให้อังกฤษมีความขุ่นข้องหมองใจเพิ่มขึ้นและผู้นำศาสนาอิสลามเหล่านั้นก็ไม่ได้แสดงท่าทีเป็นภัยต่อประเทศชาติขึ้นมา นายแช่ม พรหมยงค์ ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลได้ดำเนินการ เพื่อให้มีการบริหารกิจการศาสนาอิสลามในรูปใหม่ที่วางอยู่บนระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ความพยายามจึงสัมฤทธิผล ด้วยการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2488 จากนั้นจึงมีการแต่งตั้งตัวแทนในทุกระดับชั้นจากระดับมัสยิด ระดับจังหวัด ระดับประเทศ และตำแหน่งจุฬาราชมนตรี มีหน้าที่ปฏิบัติราชการส่วนพระองค์ เกี่ยวกับที่จะทรงอุปถัมภ์ฝ่ายศาสนาอิสลาม ( มาตรา 3 ) ซึ่งนายแช่ม พรหมยงค์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้ดังกล่าวแล้ว นโยบายของรัฐบาลเช่นนี้ถือเป็นการดึงบรรดาผู้นำศาสนาอิสลามเหล่านั้น ที่ถูกรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตัดออกจากความสนใจเมื่อ พ.ศ. 2486 ให้กลับมาช่วยกันพัฒนาชาติบ้านเมืองอีกครั้งหนึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลในสมัยนั้น กับบรรดาผู้นำศาสนาอิสลาม ถึงขั้นที่รัฐบาลจัดให้ คณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดเดินทางมายังกรุงเทพฯ และเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ด้วยเหตุผลทางการเมืองและเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อประมุขของประเทศชาติจากผู้นำศาสนาอิสลาม ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงพระราชทานเงินจำนวน 20,000 บาท เพื่ออุดหนุนกิจการศาสนาอิสลามด้วย

สำหรับนายบรรจง ศรีจรูญ ในฐานะวุฒิสมาชิก ได้เคยเสนอความเห็นต่อรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ว่ารัฐบาลควรจะมอบของขวัญในอันที่จะคืนสิทธิเสรีภาพทั้งหลายที่อิสลามิกชนชาวไทย เคยมีเคยได้มาก่อนให้จนครบ เช่น การกำหนดให้วันศุกร์เป็นวันหยุดราชการ และวันหยุดโรงเรียนแทนวันอาทิตย์ เฉพาะใน 4 จังหวัดภาคใต้ให้ทันก่อนที่ผู้นำศาสนาอิสลามเหล่านั้นจะกลับภูมิลำเนา แต่ก่อนที่จะตราเป็นพระราชบัญญัติ รัฐบาลนายควงได้ลาออกไปเสียก่อน

รัฐบาลชุดต่อมาเป็นรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ จึงคืนสิทธิอันแรกแก่อิสลามมิกชนชาวไทย ในการอนุญาต ให้โต๊ะครูสอนภาษามลายูภาษาอาหรับและศาสนาอิสลามได้โดยไม่ถือว่า เป็นลักษณะการสอนที่อยู่ในระเบียบของพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2486 ความสัมพันธ์อันดี ระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้นำมุสลิมสี่จังหวัดภาคใต้ กำลังดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อรัฐบาลไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมาย อิสลามในเขตสี่จังหวัดภาคใต้ ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2489 ความขัดแย้งที่ถือว่าตกลงกันไม่ได้เลยจริง ๆ ก็คือเรื่องที่ฮัจยีสุหลง ประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี คัดค้านโดยขอให้แยกศาลอิสลามออกจากศาลจังหวัด โดยเอกเทศแล้วจึงจะจัดการเลือกดาโต๊ะยุติธรรมจังหวัดปัตตานีให้ ซึ่งเหลืออยู่เพียงจังหวัดเดียวที่ยังทำไม่สำเร็จ จากจุดนี้จึงทำให้การเคลื่อนไหวของฮัจยีสุหลงที่ผิดหวังจากคำขอ 7 ข้อที่มีต่อรัฐบาล จึงบานปลายกลายเป็นภาวการณ์ทางการเมือง ซึ่งทางฮัจยีสุหลงได้ใช้สื่อของทางมลายู ระบายออกถึงความคับข้องใจของเขาและชาวไทย มุสลิมเชื้อสายมลายู ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทางการไทยกดขี่ข่มเหง

เมื่อรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ไม่อาจสนองตอบข้อเรียกร้องทั้งหมด 7 ข้อ ของฮัจยีสุหลงได้ ฮัจยีสุหลง จึงหันไปใช้วิธีทางการเมือง ทั้งในและต่างประเทศอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น เพื่อกดดันให้รัฐบาลยอมรับข้อเรียกร้องของตน เรื่องทั้งหมดจึงกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ที่ยังหาข้อสรุปอะไรไม่ได้ กอร์ปกับการเจรจาระหว่างรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ กับฮัจยีสุหลงต้องยุติลง เพราะถูกทำรัฐประหารโดย "คณะทหารของชาติ" นำโดยพลโทผิณ ชุณหวัณ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490


ต่อมาฮัจยีสุหลงถูกจับกุมดำเนินคดี เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2491 ในความผิดฐาน "ตระเตรียมและสมคบคิดก่อการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองและเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป และเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก" ซึ่งมีโทษถึงจำคุกตลอดชีวิตหลังจากต่อสู้มาถึงสามศาล จึงถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 4 ปี 8 เดือนตามศาลอุทธรณ์ แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำบางขวางในวันที่ 15 มิถุนายน 2495 ก่อนกำหนดเพียง 2 เดือนกับ 25วัน

ต่อมา ฮัจยีสุหลงถูกหน่วยสันติบาลภาค 9 เรียกตัวไปพบกับผู้บังคับการในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 จึงเดินทางไปปัตตานีไป พร้อมบุตรชายคนโต ชื่ออะห์มัดและสหายอีก 2 คนที่สงขลา และหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ( ขอพระเจ้าทรงเมตตาแก่ท่านด้วย )

ส่วนรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกรัฐประหารถูกเพ่งเล็งว่ามีส่วนรู้เห็นในการลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ต้องหลบหนีไปสิงคโปร์ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตในเวลาต่อมา นายแช่ม พรหมยงค์ จุฬาราชมนตรี ซึ่งถูกเพ่งเล็งว่า เป็นพรรคพวกของนายปรีดี พนมยงค์ ได้หลบหนีติดตามไปในภายหลังโดยพำนักอยู่ในรัฐกลันตัน และเดินทางกลับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2500

ที่จำเป็นต้องบรรยายมาอย่างยืดยาวเช่นนี้ ก็เพื่อที่จะชี้ให้คนไทยได้เห็นบทเรียนหนึ่งว่า ความขัดแย้งต่าง ๆ ในการปกครองหรือในทางการเมือง ที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกับประชาชน นับเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่คนไทยด้วยกันเอง จะต้องแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งหมดของชาติด้วยตัวเอง โดยอาศัยทั้งตัวบทกฎหมายทั้งศาสตร์และเมตตาธรรม ตามหลักคำสอนของศาสนา หากไม่เช่นนั้นแล้ว ถ้าผู้มีอำนาจทั้งทางการเมืองหรือหัวหน้ากลุ่มพลังต่าง ๆ ที่เป็นคนไทยหันไปดึงเอากำลังต่างชาติเข้ามาแทรกแซง โดยหวังที่จะให้ตาอยู่มาแบ่งปลาแล้ว คนไทยก็เอาหัวกับหางไปก็แล้วกัน เป็นเพราะคนไทยเพิกเฉยละเลยและดูถูกคำโบราณ อันแฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาอันสูงส่งหรือเปล่า จึงทำให้เราต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ และสังคมอยู่ในขณะนี้

เป็นเพราะรัฐบาลของ นายควง อภัยวงศ์ หรือเปล่า ที่ดำริให้เชิญ ตนกูมุไฮยิดดิน จากกลันตันขึ้นมากรุงเทพ เมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2490 เพื่อมาปรึกษาหารือกับรัฐบาลไทย หาทางแก้ปัญหาสี่จังหวัดภาคใต้ อันทำให้ปัญหาบานปลายยากแก่การแก้ไขในเวลาต่อมา เป็นเพราะรัฐบาลไทยกลัวอังกฤษหรือเปล่า ที่มีความผิดฐานไปสนับสนุนญี่ปุ่นทำสงครามมหาเอเชียบูรพา ทำให้อังกฤษยุยงบรรดาผู้นำมุสลิมเชื้อสายมลายูแข็งข้อต่อรัฐบาลไทยดังที่ได้กล่าวแล้ว เป็นเพราะรัฐบาลอังกฤษหรือเปล่า ที่หยุดให้การสนับสนุนบรรดาผู้นำมุสลิมสี่จังหวัดภาคใต้ ที่จะไปร่วมกับสหพันธรัฐมลายูพวกเขาจึงฝากรอยแค้นอังกฤษ ด้วยการก่อตั้งขบวนการอะไรต่อมิอะไรขึ้นมาอย่างมากมายในเขตสี่จังหวัดภาคใต้ โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์สายต่าง ๆ เป็นแปลงเพาะปลูก

เพราะไทยทำให้อังกฤษหายโกรธหรือเปล่า ที่ดิ้นรนหาข้าวจำนวนนับล้านตันให้ไปเลี้ยงดูผู้คนในสหพันธรัฐมลายู อาณานิคมของอังกฤษในขณะนั้น ในขณะที่คนไทยต้องอดอยากปากแห้ง เพราะขาดข้าวบริโภคหลังสงคราม และอังกฤษยังมอบหมายภารกิจ ให้ชาวไทยทั้งพุทธ อิสลาม คริสต์ ผู้ยึดหลักอหิงสาไล่ล่าอาสัญพวกคอมมิวนิสต์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อความสงบสุขของชาวมลายูในสหพันธรัฐมลายู จนบรรลุสู่การตั้งประเทศมาเลเซียในปี พ.ศ. 2506

นักการเมืองบางคนในอดีตที่ผ่านมา ทรยศต่อพี่น้องชาวไทยโดยคว้าพุงปลาไปให้ตาอยู่กิน โดยปล่อยให้พี่น้องของตนกินหัวกับหาง แล้วตัวเองยังหลบไปกินพุงปลากับตาอยู่ด้วยนั้น ท่านยังเป็นคนไทยที่มีศาสนาประจำใจอยู่หรือ ขออย่าให้ผู้มีอำนาจคนใดเอาเยี่ยงอย่างกับการกระทำอันชั่วร้ายนี้ การกระทำของพวกท่านดังกล่าว นับว่าเลวร้ายกว่าการแบ่งแยกดินแดน

ปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองต่าง ๆ ในทุกระดับของไทยได้ถูกสรุปไว้ในปี 2523 โดย เรืองยศ จันทรคีรี ในหนังสือสถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีความบางตอนจากคำนำเสนอของเรื่องนี้ที่มีความชัดแจ้ง โดยไม่ต้องการคำอธิบายใด ๆ เพิ่มเติม นั่นคือ "แท้จริงรูปแบบการเมืองในปัจจุบันที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระดับท้องถิ่นย่อมจะพาดเกี่ยวถึงการเมือง ความเคลื่อนไหวในระดับประเทศด้วย และก็เกี่ยวไปถึงอิทธิพลในระดับสากลด้วยเช่นกันจึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด ถ้าจะกล่าวว่า สถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้แท้จริงแล้ว ได้รับการผลักดันมาจากผลประโยชน์ที่โยงเข้าหาอิทธิพลของทุนนิยมโลกและขบวนการไซออนิสต์"

          1
คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com