www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 4 คน
 สถิติเมื่อวาน 45 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2530 คน
52317 คน
1744761 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

OIC เยือนไทย
ที่มา : กระทรวงการต่างประเทศ

สรุปสาระสำคัญการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพุธที่ 2 พฤษภาคม 2550
02 พฤษภาคม 2550 19:33:01


นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวประจำสัปดาห์ ณ ห้องประชุมกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว หนังสือพิมพ์ และสถานีโทรทัศน์ เข้าร่วมรับฟังและซักถามในประเด็นต่างๆ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1.ผลการเยือนไทยของเลขาธิการOIC
นาย Ekmeleddin Ihsanoglu เลขาธิการองค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Conference : OIC) เยือนไทยเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2550 โดยระหว่างการเยือนนาย Ekmeleddin Ihsanoglu ได้พบกับบุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารบก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตลอดจนการพบหารือกับผู้นำชุมชนไทยมุสลิม อาทิ ประธานกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา กรรมการมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ผู้แทนชมรม นักกฎหมายมุสลิม ผู้แทนสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย ผู้แทนองค์กรเอกชนมุสลิม และ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล เป็นต้น

นาย Ekmeleddin Ihsanoglu ได้สนับสนุนและให้กำลังใจรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงโดยสันติวิธี โดยเห็นว่า แนวทางที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินมานั้นมีความเหมาะสมแล้ว และ OIC พร้อมจะให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนั้น ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับนายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2550 ณ กระทรวงการต่างประเทศ นาย Ekmeleddin Ihsanoglu ได้มีสารภาษาอารบิคถึงพี่น้องมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องให้ประชาชนมุสลิมร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและยุติความรุนแรง

ภายหลังการแถลงข่าวร่วม นาย Ekmeleddin Ihsanoglu ได้ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ Al Jazeera ว่า การเยือนครั้งนี้ทำให้ตนมีความเชื่อมั่นในนโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาลไทย เนื่องจากมีโอกาสได้พบปะกับผู้กำหนดนโยบายของภาครัฐ ตัวแทนองค์กรมุสลิม รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ ทำให้ได้ทราบและเข้าใจสถานการณ์รวมไปถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ สารจากเลขาธิการ OIC ถึงชาวไทยมุสลิมไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
02 พฤษภาคม 2550 01:31:22
ด้วยพระนามของอัลลอฮผู้ทรงกรุณาปราณีผู้ทรงเมตตาเสมอ
สารจาก โอ ไอ ซี


สารจากข้าพเจ้าถึงชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมในภาคใต้ของไทยที่กำลังประสบกับความเศร้าโศกใจ ซึ่งเป็นสารแห่งสันติภาพ และสารแห่งภารดรภาพของอิสลาม อันที่จริง ข้าพเจ้าได้มาอยู่ตรงนี้ พร้อมกับความรู้สึกแห่งความเป็นพี่น้องอิสลาม มนุษยธรรมและเต็มไปด้วยความห่วงใยเกี่ยวกับสถานการณ์อันเศร้าโศก ที่พี่น้องมุสลิมกำลังประสบอยู่ในประเทศอันเป็นที่รักของท่าน ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญจากรัฐบาลใหม่ของไทยเพื่อรับทราบถึงสถานการณ์จากแหล่งของปัญหา หลังจากที่ข้าพเจ้าได้รับทราบถึงแนวทางสร้างสรรค์ที่ทางรัฐบาลใหม่กำลังดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่รากเหง้า ไม่ใช่แค่เพียงแต่แก้ไขปัญหาที่ภายนอก ซึ่งรัฐบาลไทยได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาในทุกๆ ด้าน (holistic) รวมถึงการให้โอกาสแก่ประชาชนในภาคใต้ได้มีส่วนในการบริหารกิจการภายในท้องถิ่นด้วยตัวเอง ซึ่งจะสามารถดำเนินชีวิตในกรอบวัฒนธรรมและภาษาของตนเอง รวมทั้งบริหารทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนเศรษฐกิจ และเดินหน้าพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ มีการนำพาความสงบสุข ความมั่นคง ความรักใคร่และสันติภาพระหว่างพี่น้องร่วมชาติ ไม่คำนึงถึงความเชื่อทางศาสนาดังที่ท่านทั้งหลายทราบดีว่า สารแห่งอิสลามได้ส่งเสริมสันติภาพ ความรักใคร่และปฏิบัติตนที่ดีต่อคนรอบข้าง เอกองค์อัลลอฮได้ตรัสในพระมหาคัมภีร์กุรอาน ความว่า "แท้จริงแล้วเราได้สร้างประชาชาติและเผ่าพันธุ์ทั้งหลายเพื่อทำความรู้จักซึ่งกันและกัน" และอัลกุรอานได้ห้ามการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่างเด็ดขาด พระองค์ทรงกล่าวความว่า "ใครฆ่าบุคคลคนหนึ่ง และสร้างความเสียหายบนพื้นโลก เปรียบเสมือนการฆ่ามนุษย์ทั้งมวล" โดยการฆ่าบุคคลหนึ่งคนเปรียบเสมือนการล้างเผ่าพันธุ์ ในความหมายปัจจุบัน" นั่นเอง
ชาวมุสลิมได้อยู่อาศัยในสังคมที่มีความหลากหลาย อย่างสันติและสามัคคี และให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันมาเป็นเวลายาวนาน มีชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในโลกนี้นับเป็น จำนวนหนึ่งในสาม และเป็นชุมชนมุสลิมที่ทำคุณประโยชน์แก่สังคมของตนเอง ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วทุกหนแห่ง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก ที่ได้เข้ามาแทรกแซงความคิดของอิสลาม และกระทบต่อขนบธรรมเนียมที่ดีของชาวมุสลิม
ข้าพเจ้าขอให้ท่านสบายใจ และขอสัญญาว่า เราจะให้ความสนับสนุน และจะร่วมมือกับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องตามที่ได้ตกลงกันไว้ในวันนี้ เพื่อบรรลุถึงความหวังของท่านทั้งหลายในอันที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีเกียรติ ท่ามกลางความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรือง และสันติภาพ
ข้าพเจ้าขอพรจากเอกองค์อัลลอฮเพื่อทรงดลบันดาลให้ทุกย่างก้าวของเราประสบผลสำเร็จ

แถลงข่าวร่วมระหว่างศาสตราจารย์ Ekmeleddin Ihsanoglu เลขาธิการองค์การการประชุมอิสลาม (OIC) และนายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของเลขาธิการ OIC วันที่ 1 พฤษภาคม 2550
01 พฤษภาคม 2550 21:05:27

1. ศาสตราจารย์ Ekmeleddin Ihsanoglu เลขาธิการ OIC พร้อมด้วยคณะผู้แทนระดับสูง ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของรัฐบาลไทย ระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2550 ทั้งนี้ ภายหลังการเยือนประเทศไทยของเลขาธิการ OIC รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเดินทางไปร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของ OIC ครั้งที่ 34 (Islamic Conference of Foreign Ministers- ICFM 34) ณ กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน ระหว่างวันที่ 15-17 พฤษภาคม 2550

2. คณะผู้แทน OIC ได้เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นอกจากนั้น คณะผู้แทน OIC ยังได้พบและหารือกับนายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส) และ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

3. คณะผู้แทน OIC ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย และได้ประชุมหารือกับผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนไทยมุสลิม และผู้แทนองค์กรเอกชน

4. ในระหว่างการเยือนนี้ คณะผู้แทน OIC ได้หารือกับบุคคลสำคัญของไทย ผู้แทนหน่วยงานรัฐบาลและองค์กรต่างๆอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์

5. การเยือนครั้งนี้ แสดงถึงความสนใจและความพยายามอย่างจริงใจของ OIC ในการติดตามพัฒนาการและสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดอื่นๆ ทั่วทั้งประเทศไทย ทั้งนี้ ในระหว่างการหารืออย่างเป็นทางการ ฝ่ายไทยได้ให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจแก่คณะผู้แทน OIC เกี่ยวกับความพยายามของไทยในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแนวทางสมานฉันท์และสันติวิธี

6. คณะผู้แทน OIC แสดงความห่วงกังวลถึงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังคงมีความรุนแรง และกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริสุทธิ์ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจและความไว้ใจของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งลดความกังวลเกี่ยวกับการไม่ลงโทษผู้กระทำผิดและการได้รับความไม่ยุติธรรม ควรมีการเร่งรัดกระบวนการของความรับผิดชอบ พร้อมกับการดำเนินการสอบสวนโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในข้อหาที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมการใช้กฎหมายในด้านต่างๆ นอกจากนั้น คณะผู้แทน OIC ยังเชื่อว่า การแก้ปัญหาในระยะยาว ควรจะรวมถึงการให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนรับผิดชอบมากขึ้นในการบริหารกิจการในท้องถิ่น ภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

7. คณะผู้แทน OIC ยินดีที่รัฐบาลไทยให้ความมั่นใจว่า การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเป็นวาระแห่งชาติ และรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างสูง คณะผู้แทน OIC ได้แสดงความยินดีที่รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยแนวทางแบบบูรณาการบนพื้นฐานของความสมานฉันท์และความปรองดอง ฝ่ายไทยได้ย้ำความสำคัญในการใช้แนวทางดังกล่าวเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนไทยมุสลิมทุกด้าน ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรม การส่งเสริมการมีส่วนรวมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น และการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา โดยเคารพในอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศาสนา คณะผู้แทน OIC ได้แสดงความยินดีในมาตรการความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในการดำเนินการด้านนี้ด้วย

8. ฝ่ายไทยแจ้งให้คณะผู้แทน OIC ทราบเกี่ยวกับโครงการนำร่องของรัฐบาลในด้านการศึกษา โดยปัจจุบัน โรงเรียนสาธิตจำนวน 12 แห่ง ได้เริ่มทำการเรียนการสอนทั้งโดยภาษาไทยและภาษาท้องถิ่น นอกจากนั้น คณะรัฐมนตรียังได้อนุมัติแผนการศึกษาสำหรับโรงเรียนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกำหนดให้บรรจุวิชาด้านอิสลามไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนรัฐบาลในท้องถิ่นด้วย

9. ฝ่ายไทยแจ้งให้คณะผู้แทน OIC ทราบว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อเพิ่มการนำกฎหมายอิสลาม มาใช้ในคดีเกี่ยวกับครอบครัวในจังหวัดชายแดนภาคใต้

10. คณะผู้แทน OIC ย้ำการสนับสนุนแนวทางสมานฉันท์ของนายกรัฐมนตรีต่อชุมชนไทยมุสลิม ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำความสำคัญของการเพิ่มมาตรการสร้างความเชื่อมั่น และแสดงความหวังว่า ความพยายามดังกล่าวจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนโดยสันติวิธี นอกจากนั้น คณะผู้แทน OIC ได้ยืนยันความพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้กระบวนการแก้ไขปัญหาบรรลุผลสำเร็จ ซึ่งฝ่ายไทยมีความยินดีที่ OIC ได้เสนอให้การสนับสนุน

11. คณะผู้แทน OIC แสดงความพอใจที่ชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศ รวมทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสิทธิและเสรีภาพโดยสมบูรณ์ในการนับถือศาสนา เช่นเดียวกับคนไทยที่นับถือศาสนาอื่น คณะผู้แทน OIC ย้ำว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนา แต่เป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวกับสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง และสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม

12. ทั้งสองฝ่ายแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการสูญเสียชีวิตของประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งชาวพุทธ ชาวมุสลิม และผู้ที่นับถือศาสนาอื่น พร้อมทั้ง ได้ประณามการใช้ความรุนแรงโดยไม่ละเว้นต่อผู้บริสุทธิ์ เพราะการกระทำรุนแรงต่อประชาชนไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม ได้ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และไม่ควรให้เกิดขึ้นต่อไป

13. ฝ่ายไทยได้ให้ความมั่นใจกับคณะผู้แทน OIC ว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการสืบสวน และการดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมในคดีนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานสมาคมทนายความมุสลิม นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้ดำเนินการตามมาตรการเยียวยา เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน การให้ทุนการศึกษาและค่าเลี้ยงดูบุตร และความช่วยเหลือในทางสังคมอื่นๆ

14. คณะผู้แทน OIC ยินดีที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการถอนฟ้องผู้ชุมนุมประท้วงซึ่งถูกจับกุมในเหตุการณ์ตากใบจำนวน 58 คน ในทันทีที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ และทั้งสองฝ่ายได้ย้ำว่า กระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม พยานหลักฐาน และความโปร่งใส เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างบรรยากาศของความเชื่อมั่น ความยุติธรรม สันติภาพ และความมั่นคง ซึ่งจะช่วยประกันไม่ให้มีการกระทำผิดโดยไม่ได้รับการลงโทษ

15. คณะผู้แทน OIC ชื่นชมความร่วมมืออันดีระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก OIC ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือในสาขาต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข อาหารฮาลาล และการท่องเที่ยว พร้อมทั้ง แสดงความหวังว่า ความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไป นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้แสดงความพร้อมที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนและการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายสนใจร่วมกัน โดยผ่านโครงการริเริ่มต่างๆ อาทิ การอบรมเชิงปฏิบัติว่าด้วยการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก (Workshop on Avian Influenza Prevention and Control) ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงไคโร ในเดือนมิถุนายนนี้ และการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ของกลุ่มประเทศอิสลาม ครั้งที่ 2 (2nd International Islamic Economic Culture and Tourism Conference) ณ กรุงเทพมหานคร

16. ไทยและ OIC ได้ย้ำถึงความพร้อมที่จะขยายความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างกัน ที่จะช่วยให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีส่วนรับผิดชอบกิจการในท้องถิ่นตามกระบวนการกระจายอำนาจ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตตามลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมและภาษา และสามารถการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยยึดมั่นในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทย

17. ไทยและ OIC ได้แสดงความเสียใจที่กลุ่มผู้มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ ไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม ได้พยายามเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนและเป็นเท็จ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งสร้างความเกลียดชัง และบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวและความไร้เสถียรภาพ ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายเน้นความจำเป็นที่จะต้องอาศัยหาแนวทาง การแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมทั่วทุกด้าน เพื่อนำไปสู่ความสมานฉันท์และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พร้อมกับการส่งเสริมการยอมรับต่อกันในทางวัฒนธรรมและศาสนา

18. คณะผู้แทน OIC ได้แสดงความขอบคุณฝ่ายไทยที่ได้เตรียมการอย่างดียิ่ง และให้การต้อนรับคณะด้วยไมตรีจิตและการเคารพซึ่งกันและกัน เป็นผลให้การเยือนครั้งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

สรุปประเด็นการให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Al Jazeera ของเลขาธิการ OIC เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2550
02 พฤษภาคม 2550 02:03:34


- เลขาธิการ OIC เคยได้รับเชิญเยือนประเทศไทยแล้ว 2 ครั้ง แต่ครั้งที่ผ่านมา ช่วงเวลาไม่เหมาะสม ในครั้งนี้ ได้ตัดสินใจมาเยือนไทย เพราะมีความชื่นชมในนโยบาย แนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะการที่รัฐบาลได้กล่าวขอโทษและยอมรับว่า มีความผิดพลาดในนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน

- ในการพบปะกับนายกรัฐมนตรีและกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการ OIC รู้สึกได้ถึงความตั้งใจจริงและความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

- OIC สนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลไทย และถึงแม้ว่าประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะยังคงมีความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมและการไม่นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ก็เชื่อว่า จะสามารถคลี่คลายปัญหาไปได้

-การนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการแสดงออกถึงความจริงใจของรัฐบาล

- OIC เห็นว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เป็นแนวทาง (blueprint) ในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ และ OIC สนับสนุนการพูดคุยระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง

-OIC เห็นว่า อธิปไตยและบูรณภาพของไทยต้องได้รับการเคารพ ควบคู่ไปกับกระบวนการกระจายอำนาจและการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่นและจัดการทรัพยากรในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่า รัฐบาลไทยกำลังดำเนินนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

- OIC ได้แจ้งให้รัฐบาลไทยทราบถึงความเห็นและความรู้สึกของ OIC ต่อสถานการณ์แล้ว ซึ่ง OIC เห็นว่า การใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นเรื่องใหม่ แต่ไม่ใช่เรื่องของศาสนา ศาสนาอิสลามเพียงถูกนำมาสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำและก่อการต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอิสลามเป็นต้นเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้น และคำสอนและหลักการของศาสนาอิสลามไม่เคยสนับสนุนการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา

นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
01 พฤษภาคม 2550 21:19:10

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงข่าว ร่วมกับ Professor Dr. Ekmeleddin Ihsanoglu เลขาธิการองค์การการประชุมอิสลามเรื่องการนิรโทษกรรมว่า
o ตามที่มีข่าวว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะส่งเสริมความสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศที่เกื้อกูลต่อการลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว
o ขอแถลงว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ดำเนินการเรื่องการนิรโทษกรรมที่กล่าวถึงนี้แล้ว
o รัฐบาลจะเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความไม่สงบในภาคใต้ ที่ไม่ได้กระทำความผิดทางอาญา
o รัฐบาลไทยได้ใช้โอกาสการเยือนของเลขาธิการองค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ในการแจ้งให้ทราบถึงพัฒนาการล่าสุดนี้ และเลขาธิการ OIC ได้แสดงความขอบคุณและสนับสนุน

* * * * * * * * * *

         

1


คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com