เมื่อนักข่าวไปบรรยาย การจัดรายการวิทยุ ให้อปม.ฟัง
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
12 กรกฎาคม 2555
ผมมักจะได้รับคำเชิญให้เป็นวิทยากร ด้านประชาสัมพันธ์ การสื่อข่าว และการจัดรายการวิทยุกระจายเสียง อยู่บ่อยครั้ง วันนี้ผมได้รับเชิญจาก พี่เสา เสาวลักษณ์ แหล่ะบัง ประชาสัมพันธ์จังหวัดปัตตานี ให้เป็นวิทยากรบรรยาย เรื่องเทคนิคการจัดรายการวิทยุกระจายเสียง ให้ อาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้าน ได้ฟัง ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า อปม.
ก่อนที่ผมจะเริ่มบรรยาย ต้องบอกท่านผู้อ่านว่า ผมบรรยายช่วงบ่าย ซึ่งเป็นเวลาที่วิทยากรจะต้องอยู่ขั้นเทพ คือพูดแล้วผู้ฟังต้องตาใส สนุก ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเรื่องเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะช่วงบ่าย จะเป็นเวลาที่ผู้เข้ารับการอบรมจะง่วงเหงาหาวนอน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าหนักใจ แต่สำหรับผม ผมไม่ซีเรียส ครับ ผมจะบอกก่อนบรรยายว่า นี่ก็ช่วงบ่ายแล้ว ใครจะหลับ หรือใครจะงีบ ก็เชิญนะคร๊าบ แต่ขออย่างเดียวอย่ากรนเสียงดังนะคร๊าบ ..แฮ่ เมื่อถึงตอนนี้ก็เรียกเสียงหัวเราะ จาก อปม.หลายคนทำท่าจะงีบ กลับตาใสขึ้นมาทันที ซึ่งก็เป็นแม่บ้าน ชาวไทยมุสลิม ซะส่วนใหญ่ ใส่ฮิญาบ หลากสี สดใส ยิ่งกว่าดอกไม้บานยามเช้า พลันก็ทำให้ผมสบายใจ ที่จะได้พูดเรื่องการจัดรายการให้ฟัง
ผมเริ่มต้นพูดถึงเรื่องแนวคิด ซึ่งก็บอกว่า มีหลายแนวคิด ทั้ง แนวคิดเชิงวิเคราะห์ แนวคิดเชิงสังเคราะห์ แนวคิดเชิงบูรณาการ แนวคิดเชิงวิภาค และแนวคิดเชิงกลยุทธ์ ซึ่งนักคิดเชิงกลยุทธ์ จะต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่างคือ สังเกต สงสัย สอบถาม
การสังเกต จะต้องทำให้เป็นกิจวัตร เฝ้าติดตามสิ่งที่ผิดปกติ มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง ปกติแล้ววันนี้วันจันทร์จะต้องมีผู้มาใช้บริการธนาคารมาก แต่วันนี้ทำไม จึงเงียบผิดปกติ มีคนมาใช้ 2 3 คน ถ้าเป็น 3 จังหวัด ก็อาจจะมีการระเบิดเกิดขึ้นก็ได้ เอ้า...ก็จริงอย่าผมว่า วันนั้นมันระเบิดธนาคารในจังหวัดยะลา ถึง 22 แห่ง แต่ธนาคารไอแบ็งค์ ระเบิดเหมือนกันแต่ไม่ค่อยมีคนไปใช้บริการ จึงบาดเจ็บ และล้มตายน้อย
เมื่อสังเกตแล้วก็ต้องสงสัย ทำไม จึงเงียบผิดปกติ หรืออาจจะเห็นกระเป๋าวางอยู่ไม่มีเจ้าของมาเอา สงสัยก็ต้องถาม ถ้าถามใครไม่ได้ก็ต้องถามตัวเอง จะตอบเองในใจก็ไม่มีใครเขาว่า แต่ถ้ามีคนอยู่ข้าง ๆ ก็หันไปถามเขาหน่อย เผื่อจะได้คำตอบ ไม่ได้คำตอบก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ก็ต้องหาคำตอบให้ได้ แล้วเราก็จะได้คำตอบ เออ ..นั่นก็คือคำตอบ นะคร๊าบ นี่ได้ตั้งหลายคำตอบ
ซึ่ง การรู้จักสังเกต สงสัย และสอบถาม อาชีพอื่นก็นำไปใช้ได้เหมือนกันนะครับ ไม่สงวนไว้เฉพาะนักข่าวหรือนักจัดรายการ นะครับ
ทีนี้นักคิดเชิงกลยุทธ์ ต้องรู้กรอบความคิด ว่าเขาคิดอย่างไร นักคิดเชิงกลยุทธ์ จะต้องแก้ปัญหาได้เมื่อเจอตัณหา เฮ้ยปัญหา ต้องรู้จักถอยเป็น เดินหน้าชนได้ ไปซ้าย ไปขวาได้ บางทีต้องกลืนเลือดได้ ถ้าจำเป็น เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพนะครับ มิใช่ต้องไปซื้อเลือดสด ๆ จากตลาดมาดื่มกิน เพราะเราไม่ใช่ซีอุย กลับชาติมาเกิด เอ้า..ทั้งหลายทั้งปวง นั่นแหล่ะคือแนวคิดเชิงกลยุทธ์
มีเรื่องเล่าว่า มีรถยนต์คันหนึ่ง บรรทุกของมาเต็มคัน แต่ความสูงดั้น ไปชนคานสะพานลอยพอดี รถไปไม่ได้ ผมถามผู้ที่เข้ารับการอบรมว่าจะทำอย่างไร มีชายหนุ่มน้อยคนหนึ่งหน้ามนคนนั่งแถวที่ 2 บอกทันทีมิต้องคิดมาว่า ง่ายนิดเดียวครับ ผมถามว่า แล้วทำยังไงครับ ก็ปล่อยลมล้อซิครับ เอ้าตบมือหน่อย แหม๋เก่งจริง ๆ ถูกต้องแล้วคร๊าบ ปล่อยลมยาง ครับ เมื่อปล่อยลมออก ยางลมอ่อนน้ำหนักก็จะกดลง ประมาณคืบ แค่นี้ก็ขับผ่านสะพานลอยไปได้ เห็นไหมครับ ชาวบ้านเริ่มคิดเป็นแล้วครับ ที่สำคัญผมบอกว่า คนที่คิดมากส่วนใหญ่ผมจะหงอก เหมือนผมไง ตอนนี้ผมหงอก ไปหลายเส้น แต่คนที่ไม่คิดมาก มีปืนก็ยิงตายเลย เอ้า เอ้า ... อย่านอกเรื่อง ทีนี้การคิดเชิงกลยุทธ์ อีกตัวอย่างหนึ่งคือการขนสัตว์ข้ามแม่น้ำ 3 ตัว คือ แมว หมา ปลา โดยให้ขนไปทีละตัว เกมนี้ก็น่าสนใจครับ ซึ่งเป็นวิธีการคิดเชิง กลยุทธ์
แนวคิดเชิงกลยุทธ์ จะทำอย่างไรให้ขนสัตว์ทั้งสามตัวไปได้ โดยไม่ให้เสียหาย ถ้าปล่อยหมากับแมว ให้อยู่ด้วยกัน มันก็จะกัดกัน แบบนี้ไม่ได้ ถ้าให้แมวอยู่กับปลา เดี๋ยวแมวก็จะกินปลา แบบนี้ก็ทิ้งไว้ไม่ได้ เพื่อไม่ให้เสียเวลา ผมขอเฉลยให้รู้แจ้งแดงแจ๋เลยนะครับ
ขั้นแรกให้เอาแมวใส่เรือข้ามฟากไปก่อน เมื่อไปถึงอีกฟากหนึ่ง ตีเรือเปล่ามารับหมา ข้ามฟาก เมื่อหมากับแมวอยู่ด้วยกันมันก็จะกัดกัน แล้วจะทำอย่าไรหล่ะ ก็ให้เอาแมวใส่เรือกลับมาฝั่งเดิม แล้วจึงเอาปลาใส่เรือข้ามฟากไปฝั่งตรงข้าม แล้วจึงตีเรือเปล่ากลับมารับแมว แล้วเราก็ขนแมวข้ามฟาก แบบนี้ เราสามารถขนได้ที่ละตัวโดยหมา แมว และปลา ไม่กัดกันตาย ผมว่าเกมนี้ ก็เป็นเกมที่คิดมากขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง แต่ทุกอย่างถ้าคิดให้ดี ก็จะแก้ปัญหาได้ครับ
แล้วการคิดเชิงกลยุทธ์มันเกี่ยวอะไร กับ การจัดรายการว่ะ เอ้าพูดไม่สุภาพอีกแล่ว ครับผมขออธิบายขยายความ ว่า การจัดรายการ ก็จะมีการพลิกแพลง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่บ่อยครั้ง การหาประเด็น คือเรื่องที่ จะนำมาพูดมันโดนใจผู้ฟังหรือไม่ ไม่ใช่จะนำเรื่องอะไรมาเล่าให้ฟังก็ได้
เอาหล่ะ... การทำงานอย่างมืออาชีพ หรือการจัดรายการอย่างมืออาชีพ เขาทำกันอย่างไร ที่นี้เพื่อต้องการให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เห็นภาพของคำว่ามืออาชีพ ที่เป็นของจริงมันมีหน้าตาอย่างไร ผมนำเอากล้วยอบน้ำผึ้ง ห่อแรกเป็นกล้วยอบที่เป็นหลายชิ้นรวมกัน ใส่ในกล่องพลาสติก บนกล่องติดสติคเกอร์ สีสันไม่สวยงาม ไม่มีการบอกรายละเอียดของคุณค่าทางอาหาร ถ้าแกะกล่องต้องทานให้หมดไม่เช่นนั้นบูด อีกชิ้นหนึ่งที่ผมโชว์ เป็นกล่องสวยงามสีเหลือง ข้างกล่องมีรูปกล้วยการ์ตูน ใส่แว่นตา มีข้อมูลระบุวันเดือนปีผลิต เมื่อแกะกล่องออกดู กล้วยแต่ละลูก จะถูกบรรจุอยู่ในถุงฟอร์ย ลูกละถุง ไม่ปะปนกัน ทำให้กล้วยลูกอื่น ถ้าเราไม่กิน ก็ไม่เสีย นี่คือข้อดี
ที่นี้ เมื่อผมเอา กล่องบรรจุกล้วยอบน้ำผึ้ง มาเปรียบเทียบกัน ก็จะเห็นความแตกต่าง ทำให้ผมสามารถอธิบายคำว่ามืออาชีพ ให้ อปม.ได้อย่างเข้าใจ เพราะเห็นภาพ แค่ของ 2 สิ่ง ผมก็ทำให้เห็นภาพแล้ว วิธีนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์นะครับ ที่ท่านจะนำไปประกอบการสอน หรือการเป็นวิทยากร ให้ความรู้กับผู้เข้ารับการอบรม
เอาหล่ะ ที่นี้มา ดูเรื่องการจัดรายการอย่างมืออาชีพ ว่าเขาทำกันอย่างไร อย่างแรกที่ผมบอกนั่นแหล่ะ แค่กล่องที่บรรจุกล้วยอบน้ำผึ้งก็แตกต่างกันแล้ว การจัดรายการที่มีคุณภาพ ก็ต้องคำนึงถึงความละเอียด รอบคอบ ในรายการก็ต้องเชิญท่านผู้รู้ในเรื่องนั้น ๆ มาพูดคุยด้วย เพราะนักจัดรายการไม่ได้รอบรู้ซะทุกเรื่องและไม่ใช่พหูสูต การนำเรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมมาเล่า ก็จะทำให้เราได้รับความรู้และผู้ฟังก็จะได้รับความรู้ด้วย แต่เราก็ต้องเตรียมการจัดรายการนะครับ ไม่ใช่ไปเอาข้อมูลจากถุงกล้วยแขกมาเป็นข้อมูลอย่างนี้ไม่ได้นะครับ เราต้องอ่าน ต้องค้นคว้า ต้องศึกษา ไม่รู้ก็ต้องอ่าน เหมือนกับการเตรียมการสอนนี่แหล่ะครับ และจะต้องนำมาถ่ายทอด อย่างเป็นกันเอง ให้ผู้ฟังได้ฟัง ไม่ใช่เป็นการอ่านให้คนฟังแค่เพียงได้ยิน โดยผมมีคาถา ว่า อ่านให้เหมือน พูด พูด ให้เหมือนคุย
การเข้ามาจัดรายการต้องตรงเวลา รายการเริ่ม 8 โมงเช้า ไม่ใช่มาจัดรายการ 8 โมงครึ่ง อย่างก็แย่ซินาย ถ้าให้ดีต้องไปก่อนเวลา จะเตรียมไมค์ เตรียมหูฟัง เตรียมเพลง เตรียมสปอต ที่สำคัญคือเตรียมใจ เพราะการพูดออกวิทยุ จะต้องยิ้มกับไมค์ ไม่ต้องหัวเราะเอิ๊กอ๊าก กับไมค์นะครับ เดี๋ยวผู้ฟังจะว่าเราไอ้นี่มันบ้า ที่นี่เรื่องเพลงเวลาเปิดก็ให้มันเข้ากับเนื้อหาที่เราพูดบ้าง ไม่ใช้พูดเรื่องอินโดนีเซีย ดันไปเปิดเพลงเกาหลี แบบนี้ ไม่ได้นะคร๊าบ เพราะมันคนละเรื่อง นักจัดรายการที่เขาจบนอกประเทศ มาโดยตรงว่าผิด ตรีม (Theme)
ที่นี้ เรามาดูเรื่องการพูดผ่านวิทยุกระจายเสียงต้องทำอะไรบ้าง เท่าที่ผมรวบรวมได้ จากประสบการณ์การทำงานมา สรุปได้ 28 หัวข้อ และผมไม่ขออธิบายนะครับ เพราะมันจะยาวมาก
1.ต้องระวังการพูดเสียดสี
2.ต้องทำการบ้านที่จะนำมาพูด
3.ต้องเคารพผู้ฟัง
4.ต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์
5.ต้องอย่าหลงตัวเอง
6.ต้องเป็นกลาง
7.ต้องฟังเสียงประชาชน
8.ต้องไม่นำความคิดเห็นส่วนตัวใส่ในรายการ
9.ต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์
10.ต้องใส่หูฟังเมื่อจัดรายการ
11.ไม่พูดทับเพลง
12.ตรงเวลาให้ความเคารพกับเวลา
13.ใช้ภาษาถิ่น จะได้ใกล้ชิดกับผู้ฟัง
14.ไม่พูดลามก
15.ต้องเป็นกลาง
16.ปากห่างไมค์
17.หาผู้มีความรู้มาร่วมรายการ
18.ตอบปัญหาทางวิทยุ
19.สื่อสาร 2 ทาง
20.การใช้เสียง อ่านเรื่องเศร้าต้องเศร้า
21.เสียงแหล่งข่าว
22.การพูดแบบปราศรัยกับพูดผ่านทางวิทยุ
23.ธรรมะเพื่อชีวิต คติธรรม
24.การเชื่อมด้วยคำพูด ด้วยเพลง
25.นำสารคดีมาผสม มาจากยูทูบ
26.ลีลา สไตล์
27.คิดประเด็น
29.ยิ้มกับไมค์ ให้คิดว่าผู้ฟังอยู่ตรงหน้า
ผมคงไม่ต้องอธิบายนะครับ เพราะตอนบรรยาย ผมใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง แบบไม่หยุดนะครับ เอ้าเอาแค่ก่อน ท่านใดสนใจ ก็โทรมากหาผมก็ได้ที่หมายเลข 089-7279827 ครับ ถ้าไม่รับผมก็จะโทรกลับ สวัสดี คร๊าบ....
888888888888
|