www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 2 คน
 สถิติเมื่อวาน 45 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2528 คน
52315 คน
1744759 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

   
       
เมื่อนักข่าวไปบรรยาย การจัดรายการวิทยุ ให้อปม
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์             
12 กรกฎาคม 2555
ผมมักจะได้รับคำเชิญให้เป็นวิทยากร ด้านประชาสัมพันธ์ การสื่อข่าว และการจัดรายการวิทยุกระจายเสียง อยู่บ่อยครั้ง วันนี้ผมได้รับเชิญจาก พี่เสา เสาวลักษณ์ แหล่ะบัง ประชาสัมพันธ์จังหวัดปัตตานี ให้เป็นวิทยากรบรรยาย เรื่องเทคนิคการจัดรายการวิทยุกระจายเสียง ให้ อาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้าน ได้ฟัง ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า อปม.
          ก่อนที่ผมจะเริ่มบรรยาย ต้องบอกท่านผู้อ่านว่า ผมบรรยายช่วงบ่าย ซึ่งเป็นเวลาที่วิทยากรจะต้องอยู่ขั้นเทพ คือพูดแล้วผู้ฟังต้องตาใส สนุก ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเรื่องเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะช่วงบ่าย จะเป็นเวลาที่ผู้เข้ารับการอบรมจะง่วงเหงาหาวนอน  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าหนักใจ แต่สำหรับผม ผมไม่ซีเรียส ครับ ผมจะบอกก่อนบรรยายว่า “นี่ก็ช่วงบ่ายแล้ว ใครจะหลับ หรือใครจะงีบ ก็เชิญนะคร๊าบ แต่ขออย่างเดียวอย่ากรนเสียงดังนะคร๊าบ ..แฮ่” เมื่อถึงตอนนี้ก็เรียกเสียงหัวเราะ จาก   อปม.หลายคนทำท่าจะงีบ กลับตาใสขึ้นมาทันที ซึ่งก็เป็นแม่บ้าน   ชาวไทยมุสลิม   ซะส่วนใหญ่ ใส่ฮิญาบ หลากสี สดใส ยิ่งกว่าดอกไม้บานยามเช้า พลันก็ทำให้ผมสบายใจ ที่จะได้พูดเรื่องการจัดรายการให้ฟัง 
          ผมเริ่มต้นพูดถึงเรื่องแนวคิด ซึ่งก็บอกว่า มีหลายแนวคิด ทั้ง แนวคิดเชิงวิเคราะห์ แนวคิดเชิงสังเคราะห์ แนวคิดเชิงบูรณาการ แนวคิดเชิงวิภาค   และแนวคิดเชิงกลยุทธ์  ซึ่งนักคิดเชิงกลยุทธ์   จะต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่างคือ สังเกต สงสัย สอบถาม 
          การสังเกต จะต้องทำให้เป็นกิจวัตร เฝ้าติดตามสิ่งที่ผิดปกติ   มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง ปกติแล้ววันนี้วันจันทร์จะต้องมีผู้มาใช้บริการธนาคารมาก แต่วันนี้ทำไม จึงเงียบผิดปกติ มีคนมาใช้ 2 – 3 คน ถ้าเป็น 3 จังหวัด ก็อาจจะมีการระเบิดเกิดขึ้นก็ได้ เอ้า...ก็จริงอย่าผมว่า วันนั้นมันระเบิดธนาคารในจังหวัดยะลา ถึง 22 แห่ง แต่ธนาคารไอแบ็งค์ ระเบิดเหมือนกันแต่ไม่ค่อยมีคนไปใช้บริการ จึงบาดเจ็บ และล้มตายน้อย  
          เมื่อสังเกตแล้วก็ต้องสงสัย ทำไม จึงเงียบผิดปกติ หรืออาจจะเห็นกระเป๋าวางอยู่ไม่มีเจ้าของมาเอา สงสัยก็ต้องถาม   ถ้าถามใครไม่ได้ก็ต้องถามตัวเอง จะตอบเองในใจก็ไม่มีใครเขาว่า แต่ถ้ามีคนอยู่ข้าง ๆ ก็หันไปถามเขาหน่อย เผื่อจะได้คำตอบ ไม่ได้คำตอบก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ก็ต้องหาคำตอบให้ได้ แล้วเราก็จะได้คำตอบ  เออ ..นั่นก็คือคำตอบ นะคร๊าบ นี่ได้ตั้งหลายคำตอบ
          ซึ่ง การรู้จักสังเกต สงสัย และสอบถาม อาชีพอื่นก็นำไปใช้ได้เหมือนกันนะครับ ไม่สงวนไว้เฉพาะนักข่าวหรือนักจัดรายการ นะครับ
          ทีนี้นักคิดเชิงกลยุทธ์   ต้องรู้กรอบความคิด ว่าเขาคิดอย่างไร   นักคิดเชิงกลยุทธ์ จะต้องแก้ปัญหาได้เมื่อเจอตัณหา เฮ้ยปัญหา ต้องรู้จักถอยเป็น เดินหน้าชนได้ ไปซ้าย ไปขวาได้ บางทีต้องกลืนเลือดได้ ถ้าจำเป็น เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพนะครับ มิใช่ต้องไปซื้อเลือดสด ๆ จากตลาดมาดื่มกิน เพราะเราไม่ใช่ซีอุย กลับชาติมาเกิด   เอ้า..ทั้งหลายทั้งปวง นั่นแหล่ะคือแนวคิดเชิงกลยุทธ์ 
          มีเรื่องเล่าว่า มีรถยนต์คันหนึ่ง บรรทุกของมาเต็มคัน แต่ความสูงดั้น ไปชนคานสะพานลอยพอดี รถไปไม่ได้ ผมถามผู้ที่เข้ารับการอบรมว่าจะทำอย่างไร มีชายหนุ่มน้อยคนหนึ่งหน้ามนคนนั่งแถวที่ 2 บอกทันทีมิต้องคิดมาว่า “ง่ายนิดเดียวครับ ” ผมถามว่า แล้วทำยังไงครับ “ก็ปล่อยลมล้อซิครับ”  เอ้าตบมือหน่อย แหม๋เก่งจริง ๆ ถูกต้องแล้วคร๊าบ ปล่อยลมยาง ครับ เมื่อปล่อยลมออก ยางลมอ่อนน้ำหนักก็จะกดลง ประมาณคืบ แค่นี้ก็ขับผ่านสะพานลอยไปได้ เห็นไหมครับ ชาวบ้านเริ่มคิดเป็นแล้วครับ ที่สำคัญผมบอกว่า คนที่คิดมากส่วนใหญ่ผมจะหงอก เหมือนผมไง ตอนนี้ผมหงอก ไปหลายเส้น แต่คนที่ไม่คิดมาก มีปืนก็ยิงตายเลย เอ้า เอ้า . อย่านอกเรื่อง ทีนี้การคิดเชิงกลยุทธ์ อีกตัวอย่างหนึ่งคือการขนสัตว์ข้ามแม่น้ำ 3 ตัว คือ แมว หมา ปลา โดยให้ขนไปทีละตัว เกมนี้ก็น่าสนใจครับ ซึ่งเป็นวิธีการคิดเชิง กลยุทธ์ 
          แนวคิดเชิงกลยุทธ์ จะทำอย่างไรให้ขนสัตว์ทั้งสามตัวไปได้ โดยไม่ให้เสียหาย ถ้าปล่อยหมากับแมว ให้อยู่ด้วยกัน มันก็จะกัดกัน แบบนี้ไม่ได้ ถ้าให้แมวอยู่กับปลา เดี๋ยวแมวก็จะกินปลา แบบนี้ก็ทิ้งไว้ไม่ได้ เพื่อไม่ให้เสียเวลา ผมขอเฉลยให้รู้แจ้งแดงแจ๋เลยนะครับ 
          ขั้นแรกให้เอาแมวใส่เรือข้ามฟากไปก่อน   เมื่อไปถึงอีกฟากหนึ่ง ตีเรือเปล่ามารับหมา ข้ามฟาก เมื่อหมากับแมวอยู่ด้วยกันมันก็จะกัดกัน แล้วจะทำอย่าไรหล่ะ    ก็ให้เอาแมวใส่เรือกลับมาฝั่งเดิม แล้วจึงเอาปลาใส่เรือข้ามฟากไปฝั่งตรงข้าม แล้วจึงตีเรือเปล่ากลับมารับแมว แล้วเราก็ขนแมวข้ามฟาก แบบนี้ เราสามารถขนได้ที่ละตัวโดยหมา แมว และปลา ไม่กัดกันตาย ผมว่าเกมนี้ ก็เป็นเกมที่คิดมากขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง แต่ทุกอย่างถ้าคิดให้ดี ก็จะแก้ปัญหาได้ครับ 
          แล้วการคิดเชิงกลยุทธ์มันเกี่ยวอะไร กับ การจัดรายการว่ะ เอ้าพูดไม่สุภาพอีกแล่ว   ครับผมขออธิบายขยายความ ว่า การจัดรายการ ก็จะมีการพลิกแพลง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่บ่อยครั้ง  การหาประเด็น คือเรื่องที่ จะนำมาพูดมันโดนใจผู้ฟังหรือไม่ ไม่ใช่จะนำเรื่องอะไรมาเล่าให้ฟังก็ได้  
          เอาหล่ะ... การทำงานอย่างมืออาชีพ หรือการจัดรายการอย่างมืออาชีพ เขาทำกันอย่างไร ที่นี้เพื่อต้องการให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เห็นภาพของคำว่ามืออาชีพ ที่เป็นของจริงมันมีหน้าตาอย่างไร ผมนำเอากล้วยอบน้ำผึ้ง   ห่อแรกเป็นกล้วยอบที่เป็นหลายชิ้นรวมกัน   ใส่ในกล่องพลาสติก บนกล่องติดสติคเกอร์   สีสันไม่สวยงาม ไม่มีการบอกรายละเอียดของคุณค่าทางอาหาร ถ้าแกะกล่องต้องทานให้หมดไม่เช่นนั้นบูด   อีกชิ้นหนึ่งที่ผมโชว์ เป็นกล่องสวยงามสีเหลือง ข้างกล่องมีรูปกล้วยการ์ตูน ใส่แว่นตา มีข้อมูลระบุวันเดือนปีผลิต เมื่อแกะกล่องออกดู กล้วยแต่ละลูก จะถูกบรรจุอยู่ในถุงฟอร์ย ลูกละถุง ไม่ปะปนกัน ทำให้กล้วยลูกอื่น ถ้าเราไม่กิน ก็ไม่เสีย นี่คือข้อดี  
          ที่นี้ เมื่อผมเอา กล่องบรรจุกล้วยอบน้ำผึ้ง มาเปรียบเทียบกัน ก็จะเห็นความแตกต่าง ทำให้ผมสามารถอธิบายคำว่ามืออาชีพ ให้ อปม.ได้อย่างเข้าใจ เพราะเห็นภาพ แค่ของ 2 สิ่ง ผมก็ทำให้เห็นภาพแล้ว วิธีนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์นะครับ ที่ท่านจะนำไปประกอบการสอน หรือการเป็นวิทยากร ให้ความรู้กับผู้เข้ารับการอบรม 
          เอาหล่ะ ที่นี้มา ดูเรื่องการจัดรายการอย่างมืออาชีพ ว่าเขาทำกันอย่างไร อย่างแรกที่ผมบอกนั่นแหล่ะ แค่กล่องที่บรรจุกล้วยอบน้ำผึ้งก็แตกต่างกันแล้ว การจัดรายการที่มีคุณภาพ ก็ต้องคำนึงถึงความละเอียด รอบคอบ ในรายการก็ต้องเชิญท่านผู้รู้ในเรื่องนั้น ๆ มาพูดคุยด้วย เพราะนักจัดรายการไม่ได้รอบรู้ซะทุกเรื่องและไม่ใช่พหูสูต การนำเรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมมาเล่า ก็จะทำให้เราได้รับความรู้และผู้ฟังก็จะได้รับความรู้ด้วย แต่เราก็ต้องเตรียมการจัดรายการนะครับ ไม่ใช่ไปเอาข้อมูลจากถุงกล้วยแขกมาเป็นข้อมูลอย่างนี้ไม่ได้นะครับ เราต้องอ่าน ต้องค้นคว้า ต้องศึกษา ไม่รู้ก็ต้องอ่าน เหมือนกับการเตรียมการสอนนี่แหล่ะครับ   และจะต้องนำมาถ่ายทอด อย่างเป็นกันเอง ให้ผู้ฟังได้ฟัง ไม่ใช่เป็นการอ่านให้คนฟังแค่เพียงได้ยิน โดยผมมีคาถา ว่า “อ่านให้เหมือน พูด พูด ให้เหมือนคุย”
การเข้ามาจัดรายการต้องตรงเวลา รายการเริ่ม 8 โมงเช้า  ไม่ใช่มาจัดรายการ 8 โมงครึ่ง อย่างก็แย่ซินาย ถ้าให้ดีต้องไปก่อนเวลา จะเตรียมไมค์ เตรียมหูฟัง เตรียมเพลง เตรียมสปอต ที่สำคัญคือเตรียมใจ เพราะการพูดออกวิทยุ จะต้องยิ้มกับไมค์   ไม่ต้องหัวเราะเอิ๊กอ๊าก กับไมค์นะครับ เดี๋ยวผู้ฟังจะว่าเราไอ้นี่มันบ้า   ที่นี่เรื่องเพลงเวลาเปิดก็ให้มันเข้ากับเนื้อหาที่เราพูดบ้าง ไม่ใช้พูดเรื่องอินโดนีเซีย ดันไปเปิดเพลงเกาหลี แบบนี้ ไม่ได้นะคร๊าบ เพราะมันคนละเรื่อง นักจัดรายการที่เขาจบนอกประเทศ มาโดยตรงว่าผิด ตรีม (Theme)  
          ที่นี้ เรามาดูเรื่องการพูดผ่านวิทยุกระจายเสียงต้องทำอะไรบ้าง เท่าที่ผมรวบรวมได้ จากประสบการณ์การทำงานมา สรุปได้ 28 หัวข้อ และผมไม่ขออธิบายนะครับ เพราะมันจะยาวมาก
1.ต้องระวังการพูดเสียดสี
          นักจัดรายการต้องไม่พูดเสียดสี   อาทิ คำว่า วอก แปลว่าลิง   Walk แปลว่าเดิน ถ้านำสองคำมาต่อกัน ไม่ใช่วิธีสมาส หรือ ผสม นะครับ ก็จะได้คำว่า ลิงเดิน ถ้า ส.ส.เดินออกจากสภา ก็จะมีศัพท์คำหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษ คือคำว่า Walk Out แปลว่าเดินออกนอกห้อง ไม่ได้มีความหมายว่า ลิงเดินออกนอกสภา ซึ่งผู้พูดได้พูดเสียดสี ว่าลิงคือ ส.ส. ที่เดินออกจากสภา เห็นไหมครับ เล่นของสูง เลยนะเนี่ย เดี๋ยว ผอ.สวท.ก็จะได้รับเกียรติให้เป็นจำเลยที่ 1
2.ต้องทำการบ้านที่จะนำมาพูด
          นักจัดรายการต้องทำการบ้านมาพูด มิใช่มาถึงห้องส่งแล้ว ถึงมานั่งงงอยู่ว่าวันนี้ตู จะพูดไอไร้ (พูดอะไร เป็นคำใต้ เขาแหลงกัน ) หรือว่าบางที เห็นถุงกล้วยแขกที่เขาทำจากหนังสือ เห็นมีข้อความก็เอามาอ่าน แบบนี้ก็ไม่ไหวนะคะร้าบ บางที่ไม่รู้จะพูดอะไร ก็จะบอกว่า ขอให้ท่านที่เดินทางขอให้ขับขี่รถด้วยความปลอดภัย อันนี้บอกได้เลยว่า ไอ้นักจัดรายการคนนี้มันไม่เตรียม ไอไร้ มาเลย
3.ต้องเคารพผู้ฟัง
          นักจัดรายการต้องเคารพผู้ฟัง   อย่างน้อยเมื่อท่านไม่รู้จะพูดอะไร ก็อาจจะบอกว่า ท่านผู้ฟังที่เคารพ ขณะนี้ท่านกำลังรับฟัง สวท.สงขลา ความถี่ 102.25 เมกกะเฮร์ต
4.ต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์
          เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากนะครับ วันหนึ่งผมเดินทางไปอีสาน ขึ้นไปบนภูเขา ก็ได้พบพระรูปหนึ่ง ท่านถามผมว่า “โยมเป็นนักข่าวใช่ไหม ” ผมตอบว่า “ใช่ครับ ”ในใจผมก็คิดว่า เอ..ทำไมพระท่านรู้ แล้วท่านก็ถามผมว่า “ เป็นนักข่าวอยู่ที่ไหนหล่ะโยม” ผมตอบว่า “อยู่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ครับ” “อาตมา ขอฝากโยมหน่อยนะว่า เวลาทำข่าวขอให้นำข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ นำเสนอต่อประชาชน ได้รับทราบ ” พอท่านพูดแบบนี้ ก็ทำให้ผมคิดได้ รู้แจ้งเห็นจริง ว่า ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ คำนี้ ช่างมีความหมายซะจริง ๆ ไม่ต้องแปล ไม่ต้องขยายความ ถ้าถามว่าอันไหนที่เป็น ข้อเท็จจริง ที่ไม่เป็นประโยชน์ พอจะมีตัวอย่างไหม เอ้า ผมขอยกตัวอย่างก็แล้วกัน   อาทิ มีดาราคนหนึ่ง ไปมีลูกกับดาราสาว แล้วไม่แน่ใจว่า เป็นลูกตัวเองหรือไม่ แล้วก็มีข่าวออกมาต่าง ๆ นาน ข่าวนี้ผมถือว่าเป็นข้อเท็จจริง ที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่สมควรนำมาเผยแพร่ แม้นว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม แล้วถามว่าทำไม จึงมีข่าวลง ก็ขอตอบว่า เป็นข่าวตามกระแส เมื่อนำเสนอแล้วก็มีคนดูมาก ไอ้ที่ดูนี่ก็คือว่า บางคนก็ดูด้วยความชื่นชม บางคน ก็สมน้ำหน้า พูดง่าย ๆ ก็คือ ธรรมชาติของคนชอบดูความฉิบหายของชาวบ้าน อย่างเช่นผัวเมียทะเลาะกัน โอ้ย...เป็นข่าวใหญ่เลยหล่ะ ต้องเอามาเม้าท์กัน ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษ ว่า Goosip   
5.ต้องอย่าหลงตัวเอง
          การหลงตัวเอง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่อทำงานไปนาน ๆ นักจัดรายการ และนักข่าวเมื่อเข้าวงการใหม่ ๆ ก็เจียมเนื้อเจียมตัว ทำตัวอ่อนน้อมถ่อมตน พอทำงานไปนาน ๆ สีเริ่มเปลี่ยน ยิ่งกว่าจิ้งจกหล่ะครับ แล้วความก้าวร้าวก็จะตามมา เริ่มมองต่ำไม่เป็น เริ่มมองไม่เห็นคนอื่น จากที่เคยอยู่กินอย่าง ๆ ชักจะไม่ได้ นี่คืออาการที่หลงตัวเองครับ
6.ต้องเป็นกลาง
          การเป็นนักสื่อสารต้องไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ต้องวางตัวอย่างเคร่งครัด และต้องใช้วิจารณญาณ ซึ่งเป็นเรื่องยาก 
7.ต้องฟังเสียงประชาชน
          นักจัดรายการต้องฟังเสียงสะท้อนจากผู้ฟัง ถ้าประเมินออกมาแล้วไม่ดีก็ต้องปรับปรุงการจัดรายการให้ไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่เอาแต่ใจตัวเอง
8.ต้องไม่นำความคิดเห็นส่วนตัวใส่ในรายการ
          การจัดรายการจะต้องไม่นำความคิดเห็นส่วนตัวใส่อารมณ์ ในรายการ เพราะความเห็นส่วนตัวจะทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง และจะเกิดความขัดแย้งในสังคมได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความล่มสลายของสังคม ยกตัวอย่าง ประเทศระวันดา ที่อยู่ในทวีปแอฟริกา เขาใช้สื่อวิทยุกล่าวหาและโจมตีกัน จนเกิดความขัดแย้งชิงชัง ส่งผลให้เกิดเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ระหว่างเผ่าฮูตู กับเผ่าตูชซี่ ซึ่งเมื่อก่อนคนทั้งสองเผ่ารักกัน ไม่ชิงชัง โกรธเคืองกัน แต่เมื่อการนำความเห็นส่วนตัวใส่ในรายการทำให้เกิดความเข้าผิดฆ่ากันตาย ประมาณ หนึ่งล้านคน เยอะไหม๋ครับ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่นำความคิดเห็นส่วนตัวใส่ในรายการ พวกเราอย่าได้ทำนะครับ เดี๋ยวเราจะตายเป็นล้านอย่างประเทศระวันดา ....เออ
9.ต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์
          เมื่อนักจัดรายการทำงานได้สักระยะ ก็เริ่มออกลาย นำไปแอบอ้างหาผลประโยชน์ เข้าตัวเองอันนี้เฉพาะคนไม่ดีนะครับ 
10.ต้องใส่หูฟังเมื่อจัดรายการ
          การจัดรายการต้องใส่หูฟัง เพราจะทำให้ผู้จัดรายการรู้จักเสียงตัวเองว่าอยู่ในระดับไหน จะทำให้เสียงของผู้จัดออกมาไพเราะ น่าฟัง   
11.ไม่พูดทับเพลง
          นักจัดรายการต้องไม่พูดทับเพลง เพราะจะเป็นการไม่ให้เกียรติกับคนแต่งเพลง และทำให้เพลงขาดอรรถรส 
12.ตรงเวลาให้ความเคารพกับเวลา
          นักจัดรายการต้องเป็นคนที่ตรงต่อเวลา ไม่ใช่จัดรายการเริ่ม แปดโมงเช้า แต่นักจัดรายการมาถึงสถานี แปดโมงครึ่ง นักจัดรายการต้องมาก่อนเวลาเอาซัก เจ็ดโมงครึ่งก็จะเป็นสิ่งที่ดี แบบนี้ใช้ได้ครับ
13.ใช้ภาษาถิ่น จะได้ใกล้ชิดกับผู้ฟัง
          นักจัดรายการถ้าพูดภาษาถิ่นได้ ขอให้พูดนะครับ แต่ถ้าถนัดภาษากลาง ก็ให้ใช้นะครับ ที่ผมต้องให้ความสนใจให้ท่านจัดภาษาถิ่น เพราะจะเป็นความใกล้ชิดกับผู้ฟัง สื่อให้ถึงผู้ฟังได้ง่ายเพราะเป็นภาษาเดียวกัน และเป็นพวกเดียวกัน แบบนี้ง่ายต่อการสื่อสารครับ 
14.ไม่พูดลามก
          นักจัดรายการต้องไม่พูดลามก เรื่องนี้มีจริงนะครับ อาทิคำพูดที่ว่า “เมื่อคืน น้องต้อยโทรมาก็ต้องไปนอนกับน้องต้อย อ้อ..ก่อนที่ผมจะมาจัดรายการผมไปเล่นคอนเสิร์ตที่โกลก แล้วก็ขับรถไปเล่นคอนเสิร์ตที่แม่ฮ่องสอน แล้วก็มาเล่นที่ภูเก็ต” เห็นไหมครับ คำพูดของนักจัดรายการคนนี้เชื่อได้ไหมครับ ต้องบอกว่าเชื่อถือไม่ได้ เพราะเพียงข้ามคืน ท่านไม่สามารถจะไปโกลก และรุ่งขึ้นคุณไปอยู่ที่แม่ฮ่องสอน แล้วเหาะมาอยู่ภูเก็ตมานอนกับน้องต้อย อันนี้สำคัญนะครับ
15.ต้องเป็นกลาง
          นักจัดรายการต้องเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด นักจัดรายการต้องฟังทุกฝ่าย เรื่องความเป็นกลาง นับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะความเชื่อส่วนตัวอันนี้ห้ามไม่ได้  แต่เมื่อห้ามไม่ได้ทางที่ดีก็อย่าเอามาพูด 
16.ปากห่างไมค์โครโฟน
          การพูดในห้องส่งวิทยุ นักจัดรายการจะต้องพูดห่างไมค์ประมาณ หนึ่งฟุต เพื่อไม่ให้ลมที่ออกจากปากไปกระทบไมค์ เสียงที่พูดจะดังปรึบพลึบ ไม่ไพเราะเสนาะหู 
17.หาผู้มีความรู้มาร่วมรายการ
          ผู้จัดรายการจะต้องมีการเชิญผู้มีความรู้มาร่วมรายการ เช่น นักประวัติศาสตร์ นักวัฒนธรรม นักกฎหมาย นักการทหาร นักปราชญ์ชาวบ้าน นักข่าวชาวบ้าน นักศิลปะ เป็นต้น
18.ตอบปัญหาทางวิทยุ
          นักจัดรายการ หากจัดรายการเกี่ยวกับกฎหมาย ก็จะต้องนำผู้รู้กฎหมาย มาตอบ หรือเกี่ยวกับด้านการแพทย์ ก็หาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาตอบปัญหาทางสุขภาพ ก็จะทำให้เราดึงผู้ฟังได้
19.สื่อสาร 2 ทาง
          การจัดรายการ เมื่อเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้แสดงความคิดเห็น ผ่านทางโทรศัพท์ (Phone In )ก็จะทำให้เราได้ข้อมูลมากขึ้น และผู้ฟังจะเป็นผู้ที่มีส่วนร่วม ในการจัดรายการ และจะเป็นการวัดผลการรับฟังด้วย 
20.การใช้เสียง อ่านเรื่องเศร้าต้องเศร้า    
          การจัดรายการ เมื่อมีบทเศร้า ก็จะต้องพูดแบบเศร้า ๆ ไม่ใช่ข่าวมีผู้เสียชีวิตจำนวนแต่พูดสนุกสนาน แบบนี้ไม่ได้ มันจะขัดอารมณ์ผู้ฟังและเป็นการไม่ให้เกียรติญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต
21.เสียงแหล่งข่าว
          เมื่อมีการนำข่าวของบุคคลมาอ่านให้ฟัง เพื่อเป็นการยืนยัน และหนักแน่นในเนื้อข่าวควรมีเสียงแหล่งข่าวอ้างอิงด้วย จะเป็นการยืนยันข้อมูลได้อย่างชัดเจน ยิ่งขึ้น
22.การพูดแบบปราศรัยกับพูดผ่านทางวิทยุ
          การพูดปราศรัย กับ การพูดออกวิทยุกระจายเสียง มีวิธีการพูดที่แตกต่างกัน   การพูดปราศัยจะต้องใช้คำที่รุนแรงหนักแน่น ปลุกเร้า ให้เกิดความรู้สึก รัก หรือ ชิงชัง แต่การพูดผ่านวิทยุ จะกระทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะมีผู้ฟังผ่านสื่อเป็นจำนวนมาก อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกแตกแยก แตกความสามัคคีของคนในชาติได้
23.ธรรมะเพื่อชีวิต คติธรรม
          ก่อนจบรายการควรจะมีรายการธรรมะ เพื่อชีวิต เพื่อเป็นสติเตือนใจ แก่ผู้ฟัง ที่อาจจะนำเอาเป็นข้องคิดและข้อปฏิบัติ ในชีวิตประจำวัน
24.การเชื่อมด้วยคำพูด ด้วยเพลง
          การจัดรายการเมื่อพูดถึงเรื่องราวของประเทศอินโดนีเซีย ในรายการก็ควรเปิดเพลงอินโดนีเซีย หรือผู้จัดรายการจะต้องพูดเนื้อหาที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศอินโดนีเซีย แบบนี้ก็ได้ครับ
25.นำสารคดีมาผสม มาจากยูทูบ
          แหล่งข้อมูลที่สามารถนำมาอ้างอิงได้คือ ยูทูบ เพราะในยูทูบมีเนื้อหา หรือ เพลง ที่น่าสนใจ สามารถนำเปิดเพื่อให้เข้ากับเนื้อหาได้เป็นอย่างดี
26.ลีลา สไตล์
          คำว่า ลีลา หรือ สไตล์ ในการจัดรายการวิทยุ ผู้จัดแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน บางคนจัดรายการที่เป็นภาษาใต้ มีลูกเล่น ที่หลากหลายอาทิ คน ๆ เดียวอาจจะทำได้หลายเสียง เป็นเรื่องที่น่าสนใจ 
27.คิดประเด็น
          ผู้จัดรายการจะต้องคิดประเด็น และต้องเตรียมเนื้อหาที่จะไปพูดในรายการ ในมีความน่าสนใจ 
29.ยิ้มกับไมค์ ให้คิดว่าผู้ฟังอยู่ตรงหน้า   
          การพูดกับไมค์ จะต้องยิ้มกับไมค์ หมายความว่าคุณจะเครียดมาจากไหน เมื่อคุณพูดออกรายการ คุณจะต้องทำใจให้เบิกบาน จะทำให้เวลาพูดไม่เครียด ทำให้คำพูดของเราน่าฟัง 
ผมคงไม่ต้องอธิบายนะครับ เพราะตอนบรรยาย ผมใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง แบบไม่หยุดนะครับ เอ้าเอาแค่นี้ก่อน ท่านใดสนใจ ก็โทรมากหาผมก็ได้ที่หมายเลข 089-7279827  ครับ ถ้าไม่รับผมก็จะโทรกลับ สวัสดี คร๊าบ....
 

 
 

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com