ชีวิตนักข่าว...อุโมงค์ คอมมิวนิสต์ ที่สงขลา
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
4 กุมภาพันธ์ 2553
ผมได้ยินคำลำลือ ต่าง ๆ นานา ว่า มีอุโมงค์หลบภัยสงครามขนาดใหญ่ ที่ตั้งเรียงรายอยู่ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่ขุดโดย สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา และยังได้ยินว่าภายในอุโมงค์มีทั้งโรงพยาบาล ห้องครัว ห้องประชุม ห้องนั่งพัก ห้องผู้นำ และภายในยังมีสนามยิงปืนด้วย ผมเก็บเรื่องราวเหล่านี้ใว้ในใจนานหลายสิบปี ในที่สุดวันที่ผมมีโอกาสไปดูก็มาถึง เพราะผมมีความคิดว่าวันนี้จะเขียนวิเคราะห์ข่าวเรื่อง โจรจีนคอมมิวนิสต์ หรือ จคม. เพราะเมื่อเดือนธันวาคม 2553 นายจีนเป็ง อายุ 85 ปี ผู้นำสูงสุด ได้มาพบกับสมาชิกที่ โรงแรมลีการ์เดนท์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ว่าต้องการอยากจะกลับไปใช้ชีวิต ในบั้นปลายที่ประเทศมาเลเซีย แต่ผมคิดว่ามาเลเซียคงไม่ให้กลับไปอย่างแน่นอน ซึ่งก็เป็นไปตามที่ผมคิด เพราะมาเลเซียกลัวว่า จีนเป็ง จะไปสร้างอิทธิพล และในที่สุดอาจจะเกิดกระแสความรุนแรงขึ้นมาอีก มาเลเซียจึงตัดไฟแต่ต้นลม
บ่ายวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 ผมได้เดินทางไปอุโมงค์ เขาน้ำค้าง แต่กว่าจะไปถึงก็หลงทาง ขับรถไปถึงด่านประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา ซึ่งเป็นด่านพรมแดนไทยมาเลเซีย ที่กำลังก่อสร้างอาคารที่ทำการ ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ แต่ก็ได้เปิดให้ประชาชนของทั้งสองประเทศเดินทางไปมาหาสู่กันได้แล้ว เอ้า..เรากลับมาที่การเดินทางไปอุโมงค์ดีกว่า ว่าทำไมผมจึงหลงทาง ก็เพราะป้ายบอกทางไม่ค่อยชัดเจน นั่นเอง ความจริงแล้วการเดินทางที่ใกล้ที่สุด คือ เส้นทางจากหาดใหญ่ไปสะเดา เมื่อเราขับรถถึงหน้าที่ว่าการอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ให้ท่านเลี้ยวซ้าย ซึ่งเป็นซอยเล็ก ๆ ประมาณ 300 เมตร ก็จะถึงถนนใหญ่ ขับรถตรงไปอย่างเดียว ท่านก็จะถึง อุโมงค์เขาน้ำค้าง ที่ท่านจะต้องตื่นตลึงในความพยายามของมนุษย์ ที่เรียกร้องสิทธิในการมีส่วนร่วมต่อการปกครองประเทศมาเลเซีย
อุโมงค์ ที่อยู่บริเวณนี้มีนับสิบ ๆ แห่ง แต่เปิดให้เข้าไปชมได้เพียง แห่งเดียวคือ อุโมงค์ 3 ชั้น เขาน้ำค้าง ก่อนที่จะเข้าไปชมอุโมงค์ จะมีร้านขายของที่ระลึก อยู่หนึ่งร้านที่บริหารงานโดยผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ที่เป็นอดีตสมาชิกพรรคอมมิวนิสต์มลายา ในร้านก็จะมีหนังสือที่เกี่ยวกับพรรคอมมิวนิสต์มลายา โปสการ์ดรูปทหารพรรคคอมมิวนิสต์ ยาดอง ขนม และเครื่องดื่ม ซึ่งสิ่งของที่นำมาวางขายก็ไม่ได้มากมายอะไร การเข้าชมจะต้องซื้อบัตรผ่านประตู 20 บาท เพื่อเป็นค่าบำรุง
ใจผมตื่นเต้าอย่างบอกไม่ถูก เพราะผมเก็บความรู้สึกนี้มานานมาก เมื่อครั้งที่พรรคคอมมิวนิสต์ มลายามีการเจรจากับมาเลเซียและไทย ที่ภูเก็ต ประมาณปี 2532 ผมได้ไปทำข่าวนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นผมจึงอยู่ในเหตุการณ์ด้วย แม้นว่าจะไม่ใช่คณะทำงานก็ตาม
เมื่อผมเดินเข้าไปจุดแรกก็จะเป็นอาคารห้องโถง เพื่อใช้เป็นที่ประชุม ภายในก็จะมีรูปภาพ ต่างๆ มากมาย และมีคำอธิบายถึงความเป็นมาของอุโมงค์ ความเป็นมาของการก่อตั้งพรรคฯ นิทรรศการ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจทั้งสิ้น ห้องถัดมาก็จะเป็นห้องแสดงให้เห็นถึงอาวุธ (อาวุธจำลอง) ที่ใช้ในการต่อสู้กับทหารมาเลเซีย ถังใส่เกลือ ข้าว น้ำตาล รูปภาพกิจกรรมของพรรค รูปผู้นำ อาทิรูป นายจีนเป็ง นายจางจงหมิง นายอี้เจียง และสมาชิกพรรค นอกจากนี้ยังมีรูปภาพสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มาร่วมต่อสู้ด้วยหลายคน ถัดไปจะเป็นที่เก็บอัฐินักรบ (กระดูกนักรบพรรคคอมมิวนิสต์มลายา) มีป้ายชื่อตั้งเรียงราย อยู่หลายสิบชื่อ ด้านหน้าจะมีอนุสาวรีย์ เดินไปอีกนิดก็จะมีบ่อเลี้ยงปลาคราฟ ด้านหลังบ่อจะเป็นภูเขาสูงและมีการต่อท่อน้ำลงมาโดยใช้ไม้ไผ่ผ่าซีก เพื่อใช้เป็นท่อลำเลียงน้ำจากน้ำตกที่อยู่ไม่ไกลนัก ด้านข้างบ่อจะมีหลุมหลบภัย
ห่างไปไม่ไกลนัก ก็จะเป็นทางเข้าอุโมงค์ 3 ชั้น วันนั้น มีผมเพียงคนเดียวที่จะต้องเดินเข้าไปในอุโมงค์ ถามว่าผมกลัวไหม ต้องบอกกันตรง ๆว่า ผมไม่กลัวครับ แม้นดูจะเปลี่ยวแต่ผมคิดว่า ผมมีเพื่อน ๆ ที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ที่เคยพักอาศัยอยู่ที่นี่ และผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ผมจึงไม่กลัว แม้นว่าจะไม่มีพวกเขาเหล่านั้นอยู่อยู่ตรงนี้ แต่ในอดีต คงจะคึกคักมาก ผมจึงตัดสินใจ เดินเข้าไปอุโมงค์เพียงลำพังโดยไม่มีใครติดตามผมเข้าไปแม้นแต่คนเดียว
ผมเดินเข้าไปด้วยความมั่นใจ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ว่าข้างในอุโมงค์มีอะไรบ้างสมคำเล่าลือ หรือไม่
ผมเดินขึ้นบันได สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ตลอดทางเดินจะมีไฟฟ้า ให้แสงสว่าง สามารถมองเห็นข้างในอุโมงค์ได้ตลอดทางเดิน ความจริงไฟให้แสงสว่างในอดีต จะใช้ตะเกียงน้ำมัน ตั้งไว้ ที่ผนังอุโมงค์โดยวางไว้เป็นระยะ เมื่อเดินขึ้นไปสักพักก็มีจุดนั่งพักเหนื่อย ที่เรียกว่า Rest Area บริเวณนี้ก็จะมีทางแยกมากมายจนผมจำไม่ได้ และคิดว่าคงจะหลงทาง แต่ไม่เป็นไร ถ้าจะหลงก็ให้มันหลงอยู่ในนี้แหล่ะ เพราะข้างในแทนที่จะร้อนอึดอัด แต่กลับมีลมพัดเย็นสบาย ถ้าผมหลงทางคงไม่ตายแน่ครับ ผมจึงเดินต่อไปเรื่อย ๆ อย่างเพลิดเพลิน
ผมเห็นห้องนอนของท่านผู้นำ ใกล้ ๆ ก็จะมีห้องส้วม เอาไว้ขับถ่าย ซึ่งภายในอุโมงค์ผมเห็นมีอยู่ที่เดียว ส่วนนักรบคนอื่นคงจะใช้ป่าดงเป็นที่ปล่อยทุกข์เป็นแน่ ต่อจากนั้นก็จะมี ห้องประชุม ห้องส่งโทรเลข ห้องธุรการ ห้องซ้อมยิงปืน ห้องซ้อมขี่มอเตอร์ไซต์ ผมเดินทะลุปรุโปร่งไปทุกห้อง บางครั้งเดินทะลุออกอีกทาง ซึ่งอุโมงค์ 3 ชั้นนี้ สามารถเดินเข้าไปได้หลายทาง และก็มีทางออกหลายทางเช่นกัน ดังนั้น ถ้าเรามองลงมาจากเครื่องบิน จะไม่สามารถมองเห็น ที่หลบซ่อนของทหารพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ได้เลย เพราะต้นไม้บัง แถมยังอยู่ในอุโมงค์ ที่สลับซับซ้อนอีกด้วย และอุโมงค์ คนที่มีความสูง 170 เซนติเมตร อย่างผม เดินแบบไม่ต้องก้ม ได้อย่างสบายครับ รับรองว่าเพดานอุโมงค์ไม่ชนศีรษะเราแน่ ผมเดินไปเดินมาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ในใจก็คิดว่า มนุษย์เราสามารถทำได้ขนาดนี้ไม่ธรรมดาแน่ ยิ่งใหญ่จริง ๆ เพราะอุโมงค์ที่ว่า ใหญ่กว่าอุโมงค์ที่เวียดกง ขุด นะครับ แต่ผมก็ไม่ได้ไปดูกับตา แต่ก็จะหาเวลาไปดูอุโมงค์ของเวียดกง ว่าเล็กใหญ่กันแค่ไหนแน่
ในที่สุดผมก็เดินลงมายังทางออก และผมได้เห็นชายวัยกลางคน รูปร่างแข็งแรง บึกบึน กำลังยืนดูบ่อปลาคราฟ ผมพยายามที่เข้าไปถามและชวนคุย ในที่สุดผมจึงได้ทราบว่า ชายคนนี้คือ นายปังหมิงเซิน อดีตทหาร พรรคคอมมิวนิสต์มลายา ที่เคยอยู่ค่ายกรม 8 แห่งนี้ ผมเริ่มชวนคุย เพื่อต้องการรู้ประวัติความเป็นมาของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา
นาย ปังหมิงเซิน เล่าย้อนอดีตที่เคยรุ่งเรืองในอาชีพทหาร ของเขาด้วยสำเนียงจีนที่พูดไทยไม่ชัดว่า เมื่อปี ค.ศ.1969 หรือ พ.ศ.2512 รัฐบาลประเทศมาเลเซีย มีการเข่นฆ่าชาวจีนที่อยู่ในมาเลเซียอย่างหนัก มีคนล้มตาย ถึง 3,000 คน จึงตัดสินใจที่จะเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา จำได้ว่าเรียนอยู่ชั้น ม. 3 ก็อายุราว ๆ 15-16 ปี เท่านั้น และหนีเข้ามาอยู่ที่กรม 8 ที่เขาน้ำค้าง แห่งนี้ เป็นเวลา 40 ปีของการต่อสู้ ที่ยาวนาน ในที่สุด ก็มีการเจรจาสงบศึก ตามข้อตกลง สามฝ่าย คือ รัฐบาลไทย รับบาลมาเลเซีย กับ พรรคคอมมิวนิสต์มลายา จึงยุติลง และทุกคนที่เป็นสมาชิกพรรค จึงได้เข้าร่วมกันเพื่อพัฒนาชาติไทย ตามนโยบาย 66/23
ผมถามว่า ไม่กลับไปอยู่มาเลเซีย เหรอ ไม่กลับแล้ว พ่อแม่ก็ไม่มี ตายหมดแล้ว เห็นวันก่อน จีนเป็ง หัวหน้าพรรค อยากจะกลับไปอยู่มาเลเซีย เป็นหัวหน้าต้องเข้มแข็ง ในเมื่อเขาไม่ให้ไปก็ไม่ต้องไป เราไม่ใช่เด็กแล้ว ปังหมิงเซิน พูดด้วยความเชื่อมั่นว่าการอยู่ที่เมืองไทยมีความสุขมากกว่า ลูกก็ได้เรียนหนังสือ และตอนนี้เขาและครอบครัวทุกคนก็ได้บัตรประชาชน หลังจากที่รอคอยมา 10 กว่าปี
ผมดูสีหน้าและท่าทางของ ปังหมิงเซิน ดูเขามีความสุข กับการที่ได้เป็นคนไทย และก็ควักกระเป๋าออกมา พร้อมยื่นบัตรประชาชนให้ผมดู ในบัตรระบุว่า ชื่อ นายหมิงเซิน แซ่พัง เกิดปี 2499 ตอนนี้เขาอายุ 54 ปี แล้ว(ปี 2553) ผมเป็นคนไทยแล้ว และได้สัญชาติเมื่อปี 2550 นี่เอง ซึ่งเขาและสมาชิก ได้ขอสัญชาติไทยมาตั้งแต่ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2545 ทำให้เดินทางไปไหนได้สะดวก สามารถไปทำพาสปอต เพื่อเดินทางไปมาเลเซียได้ ลูกก็มีบัตรประชาชน ปังหมิงเซิน เล่าให้ฟัง อีกว่า เมื่อก่อนได้ใบต่างด้าว ไม่สามารถเดินทางไกลได้ ต้องอยู่ในขอบเขตที่รัฐไทยกำหนด และไม่ได้รับสิทธิพิเศษอะไร การมีบัตรประชาชนจึงดีกว่าใบต่างด้าว แต่ยังไม่สามารถรับราชการได้ ลูกก็เช่นกัน แต่พอรุ่นหลาน จึงจะมีสิทธิเป็นข้าราชการได้ ซึ่งผมก็เพิ่งเข้าใจนี่แหล่ะ ปังหมิงเซิน ยังชี้ให้ดูอีกว่าบัตรประชาชน ของพวกเขา ไม่เหมือนคนไทยทั่วไป เพราะของเขาจะมีเลข 8 นำหน้า เสมอ ซึ่งก็ไม่รู้ความหมายเหมือนกันว่าแปลว่าอะไร อาจจะหมายถึง กรม 8 ก็ได้ และยังมีอักษร จ. หน้าที่อยู่ ไม่รู้เป็นรหัสอะไร แต่ปังหมิงเซิน ก็อดภาคภูมิใจไม่ได้ ที่ได้บัตรประชาชนคนไทย แม้นว่าจะไม่เหมือนบัตรประชาชนของคนไทยทั่วไปก็ตาม เพราะทุกคนต่างเฝ้ารอคอยการได้สัญชาติไทย มานาน มีสมาชิกพรรคคนหนึ่งชื่อ นายเหลียง เฉิน อายุ 83 ปี (อายุเมื่อปี 2553) ก็มีความรู้สึกดีใจที่ ได้เป็นคนไทยเต็มตัว และก็ได้มีบัตรประชาชนเมื่ออายุ 80 ปี ( ได้บัตรประชน ปี 2550 )
ผมสนทนากับหมิงเซิน ด้วยความสนใจ และรู้สึกรับรู้ได้ว่า เขาดีใจที่ได้เป็นคนไทย แต่ไม่วายที่ผมจะถาม เรื่องราวการต่อสู้ของพรรค ฯ หมิงเซิน เล่าว่า การต่อสู้ของพรรค ตอนนั้น มีอยู่ 3 พรรค คือ พรรคคอมมิวนิตส์ปฏิวัติมาเลเซีย นำโดย นายอี้เจียง มีเขตอิทธิพลอยู่ในพื้นที่อำเภอนาทวี อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา พรรคมาร์คเลนิน นำโดย นายจางจงหมิง เป็นพรรคที่มีกองกำลังทหารมาก มีเขตอิทธิพลอยู่ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และพรรคคอมมิวนิสต์มลายา นำโดย จีนเป็ง
ในที่สุดเพื่อให้การต่อสู้กับรัฐบาลมาเลเซีย มีประสิทธิภาพ และเพื้อที่จะนำชัยชนะมาสู่พรรค จึงมีการรวมพรรคกันขึ้น เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 1983 (พ.ศ.2526 ) ระหว่างพรรคพรรคคอมมิวนิตส์ปฏิวัติมาเลเซีย กับ พรรคมาร์คเลนิน นายหมิงเซิน ให้เหตุผลว่า พึ่งรู้ว่า มีการรวมพรรคในวันที่ 5 ธันวาคม ก็เพราะว่า ทหาร ตำรวจ และข้าราชการส่วนใหญ่จะไปทำพิธีในวันเฉลิม การรวมพรรคจึงใช้โอกาสนี้ ซึ่งปลอดจากทหาร นายหมิงเซิน เมื่อพูดถึงตรงนี้ ก็ได้แต่ยิ้ม ๆ ที่ตอนนั้นมีการรวมพรรคสำเร็จ และเขาก็ได้ชี้ให้ผมดูรูปถ่าย พิธีการรวมพรรค ดูใหญ่โตไม่แพ้งานพิธีอื่น ๆ ครับ ที่เห็นในรูป จะมีเวที ด้านหลังมีป้ายผ้าค่อนข้างใหญ่ มีข้อความ รวมทั้งวันที่ระบุบนแผ่นผ้าไว้อย่างชัดเจน ซึ่งการจัดงานเกิดขึ้นในผืนป่าแห่งหนึ่งในประเทศไทย
หมิงเซิน เล่าให้ฟังถึงการดำรงชีพอยู่ในป่า ว่า การอยู่ในป่า ตั้ง 40 ปี เป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน อาหารการกิน ก็ต้องรู้วิธีการเก็บรักษา เช่นการเก็บรักษาเนื้อช้าง ให้สามารถกินได้นานถึง 5 ปี ผมอุทารออกมาแบบไม่เชื่อว่า โอ้ โฮ ...ทำยังไงครับ ถึงได้เก็บได้ขนาดนานขนาดนั้น หมิงเซิน จึงพาผมเดินไปดู ถังสี่เหลี่ยม ที่สมาชิกพรรคทำขึ้นมาเอง โดยถัง มีหลายขนาด มีทั้งขนาดใหญ่ กลาง และใบเล็ก เป็นถังที่ทำจากสังกะสี ที่สามารถทนต่อการกัดกร่อนของสนิมเหล็กได้
หมิงเซิน บอกว่า วิธีเก็บรักษาเนื้อช้าง ให้เอาเนื้อช้างใส่เข้าไปถังใบนี้ จากนั้นก็ให้เอาน้ำมัน พืช หรือน้ำมันสัตว์ ใส่จนทั่วเนื้อ ปิดฝาถังให้แน่ แล้วให้เอายางไม้ หรือยางมะตอย ปิดทับฝาถัง ให้แน่นหนา ไม่ให้น้ำเข้า แล้วเอาถังไปฝังไว้ ในน้ำตก ซึ่งน้ำตกจะมีความเย็น เนื้อก็จะไม่เน่าเปื่อย นี่แหล่ะตู้เย็น ธรรมชาติ นี่รู้ไหม ช้างตัวหนึ่งกินได้ตั้ง 5 ปี
หมิงเซินได้เดินไปที่ถัง แล้วก็ใช้มือตักน้ำตาลขึ้นมาให้ผมชิม ลองชิมดู น้ำตาล ยังหวานอยู่ไหม ผมจึงใช้มือหยิบน้ำตาล ขึ้นมาชิม อือ ... หวาน ครับ หมิงเซิน บอกว่า น้ำตาลเป็นอาหารที่จำเป็นมาก กินแล้วทำให้มีกำลัง ทำงานหนักได้
ผมเดินไปรอบ ๆ ก็เห็น ขวดโหลใส่เกลือ เขียนไว้ข้างขวดว่า เกลือ ปี พ.ศ. 2511 ในใจผมก็สงสัยเหมือนกันว่า ทำไม เวลาเกิดสงคราม เกลือ จึงมีความจำเป็น และยังห้ามมีการซื้อขายเกลือ ถ้าจับได้ จะได้รับโทษหนัก ด้วยความสงสัย ผมจึงถาม หมิงเซิน ว่า เกลือ มีความจำเป็น ยังไง ครับ หมิงเซิน เล่าให้ฟังว่า เวลาเราขาดเกลือ จะยกหัวไม่ขึ้น ไม่มีแรง นี่ก็แสดงว่า เกลือ มีประโยชน์ต่อร่างกาย และนี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับนักรบพรรคคอมมิวนิสต์ ฯ
* * * * * * * * * * * * * |