www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 60 คน
 สถิติเมื่อวาน 59 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
4169 คน
4169 คน
1749437 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13


หนังสือ วิจารณ์เรื่องนิทานปันหยีหรืออิเหนา
พระนิพนธ์
ของ
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ
นางประโมทย์จรรยาวิภาช (ทรวงหรือทัสนีย์ จันทวิมล)
ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริย์ยาราม
 วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2515
  
ชีวิตนักข่าว...ประวัติชะวา
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
7 มีนาคม 2553
ผมมีโอกาสได้ไปเดินย่านสะพานควาย กรุงเทพ เพื่อหาหนังสือเก่ามาอ่านหาความรู้ ผมได้เห็นหนังสือเล่มหนึ่ง ปกสีขาว ตัวอักษรสีดำ หน้าปกเขียนว่า “วิจารณ์เรื่องนิทานปันหยีหรืออิเหนา พระนิพนธ์ของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร” เป็นหนังสือที่พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางประโมทย์ จรรยาวิภาช (ทรวง หรือ ทัสนีย์ จันทวิมล) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2515 ภาษาที่ใช้เขียนสำนวน อาจจะทำให้ท่านอ่านเข้าใจยากสักนิด ค่อย ๆ แกะนะครับ แล้วท่านจะได้รับความรู้
ซึ่งผมขอนำมาเผยแพร่ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจประวัติชะวา ซึ่งในปัจจุบัน เรียกว่า อินโดนีเซีย ดังต่อไปนี้
 
ประวัติชะวา
พระนิพนธ์ของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
          เกาะชวาเป็นศูนย์กลาง และเป็นที่สำคัญที่สุดของประเทศ ซึ่งสมมุติตนเองขึ้น ในปัจจุบันนี้ว่า อินโดนีเซีย เกาะชะวา เจริญเติบโตด้วยโภคทรัพย์ มีพลเมืองล้นหลาม และเป็นแหล่งที่เคยมีวัฒนธรรมสูงมาแต่โบราณกาลซึ่งได้เคยเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งของราชอาณาจักรศรีวิชัย ราชอาณาจักรศรีวิชัย เป็นแดนนาวิกานุภาพใหญ่อันหนึ่งในอาเซียอาคเนย์ ระหว่างกลางพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 แต่ชะวานั้นแม้จะได้เป็นส่วนสำคัญของราชอาณาจักรศรีวิชัย ก็จริง แต่ก็ต่างจากชาติที่ยิ่งใหญ่อยู่ในราชอาณาจักรนั้น ซึ่งเป็นมลายู อยู่ทางสุมาตรา คราวใดที่พวกมลายูกลุ่มนี้ซึ่งเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองอ่อนแอลงพวกชะวาก็แข็งข้อ 
          จำเนียรกาล มาถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 กษัตริย์ชะวาตะวันออก มีอานุภาพ ทรงพระนามว่า พระเจ้าสิณฑุก (ทรงครองราชย์ ระหว่างพ.ศ. 1472-1490 ) เป็นผู้ฟื้นฟูวัฒนธรรมแบบชะวาแท้ และสลัดระบอบศรีวิชัย ประดิษฐานลัทธิพระอิศวรขึ้นแทนลัทธิมหายานพุทธของศรีวิชัย ถึงขนาดที่ศรีวิชัยต้องเกรงพระทัยไม่มาปราบปราม ถึงสมัยพระเจ้าธรรมวงศ์ในราชวงศ์เดียวกัน (ทรงครองราชย์ พ.ศ.1528-1549 ) ได้มีพระนามอุโฆษว่าเป็นผู้เข้มแข็ง ได้โปรดให้ริเริ่มการเขียนประมวลกฎหมายชะวา และให้แปลคัมภีร์มหาภารตจากภาษาสันสกฤต ออกเป็นภาษากวีของชะวา เพื่อส่งเสริมความนิยมทางชาติภูมิของพลเมืองของพระองค์ ครั้งแล้วได้ออกบุกรุกโจมตีอำนาจยิ่งใหญ่ถึงเกาะสุมาตราเกือบสำเร็จ หากทางศรีวิชัยกัดฟันต่อสู้จนในที่สุดประมาณ พ.ศ. 1549 มีชัยชนะ รุกโต้มาจนถึงราชธานีของพระเจ้าธรรมวงศ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของชะวา ได้เข้าทะลายราชธานี นั้นตลอดจนรั้ววังพินาศลงสิ้น พระเจ้าธรรมวงศ์เสียชีวิตในที่รบ
          ในขณะนั้น ราชธิดาของพระเจ้าธรรมวงศ์ เป็นชายาของท้าวบาหลี ผู้ทรงนามว่าธรรโมทัยน หรือท้าวอุทัยน์ มีโอรสปรากฏพระนามในเวลาต่อมาว่า ไอรลังค์ ซึ่งพระเจ้าธรรมวงศ์เคยตั้งพระทัยไว้ว่าจะมอบราชสมบัติชะวาให้ ครั้งเมื่อเกิดศึกใหญ่กับศรีวิชัย พอราชธานีของชะวาแตกฉานเจ้าไอรลังค์หนีไปซ่อนพระองค์อยู่บนเขาวนคีรี พอเหตุการณ์ค่อยสงบลงพระบิดาทางบาหลีสิ้นพระชนม์ ไอรลังค์ จึงเสด็จไปครองกรุงบาหลี ต่อมาถึงพ.ศ. 1565 ทางศรีวิชัย ถูกประเทศโจฬ ซึ่งอยู่ทางใต้ของอินเดีย มารบกวนทำให้ศรีวิชัยอ่อนเพลียลง พระเจ้าไอรลังค์ เห็นเป็นโอกาสดี จึงเริ่มรวบรวมบ้านเมืองใหญ่น้อยในชะวาประเทศ โดยมิต้องเกรงอำนาจทางศรีวิชัย กลับเป็นผลตรงกันข้าม คือ ทางศรีวิชัยกลับยกพระธิดาให้เป็นพระมเหสี เป็นอันว่าชะวาได้ปรองดองกันกับศรีวิชัย พระเจ้าไอรลังค์ พระองค์นี้ ทางชะวาโบราณยกย่องนับถือนับว่าบุญมี มีเดชานุภาพยิ่ง จนในเรื่องอิเหนา ที่มาถึงเมืองไทยกล่าวถึงพระองค์ว่า เป็นต้นสกุลของวงศ์เทวาที่ครองชะวา และเรียกพระองค์ว่า ปะตาระกาหลา (ภัตตารกาละ) อันเป็นนามที่เรียกกำกวมกันไปกับทรงเป็นเจ้า (ภัตตารคุรุ) ซึ่งเป็นที่นับถือยิ่งของคนชะวาในสมัยนั้น
          พระเจ้าไอรลังค์ไม่มีโอรสด้วยมเหสี มีแต่พระธิดา ซึ่งทรงปลีกพระองค์ออกจากการบ้านเมืองไปผนวชเป็นรูปชี ฉะนั้นเมื่อพระเจ้าไอรลังค์ใกล้สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 1592 จึงทรงแบ่งอาณาเขตของพระองค์ออกเป็นสองส่วน คือ กุเรปันและดาหา ประทานให้พระโอรสอันเกิดแก่พระสนม พระองค์ละส่วน พระราชโอรสพระองค์หนึ่งมีโอรสด้วยประไหมสุหรี เช่นกัน พระภิคินี ที่เป็นรูปชีจึงทรงแนะนำให้เจ้านายสองพระองค์นี้ สมรสซึ่งกันและกัน เพื่อพระราชมฤดกดินแดน ทั้งสองจะได้กลับมารวมกันใหม่ เรื่องนี้เองเป็นเงื่อนเค้าทางประวัติศาสตร์แห่งนิทานอิเหนา
          พระนัดดาของพระเจ้าไอรลังค์ที่ได้เป็นผู้กลับรวมดินแดน 2 ภาค เข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ ผู้รู้ค้นพบพระนามในศิลาจารึกว่า กาเมศวร  และได้ความว่าทรงราชย์ตั้งแต่ พ.ศ.1685-1673 เรื่องราวที่มาเล่ากันว่าเป็นเกียรติคุณของอิเหนานั้น ทางประวัติศาสตร์ปรากฏว่า เป็นเรื่องของพระอัยกาธิราช เสียหลายเรื่อง เช่นเป็นผู้รวบรวมบ้านเมืองเล็กน้อยในชะวาให้กลับเป็นปึกแผ่นใหญ่ (พ.ศ.1571) ปราบนครวังกร ซึ่งในเรื่องดาหลังนี้ก็กล่าวถึง แต่เรียกชื่อว่า วังกัน (พ.ศ.1573) ตีเมืองรากษสี ซึ่งออกจะเป็นเมืองแม่หม้าย ของเรื่องดาหลัง แต่ ดาหลัง ไม่ได้เล่าว่าไปตี (พ.ศ.1575) ได้ “เหยียบเศียรศัตรูขึ้นสู่ราชสิงหาสน์”ซึ่งมีความคล้าย ๆ ที่เล่าในเรื่อง ดาหลัง และอิเหนา ว่าอิเหนามีเดชานุภาพมาก
          ลำดับนี้ ผู้มีบุญเกิดใหม่ ปรากฏนามในเวลาต่อมาว่า อังรก ตั้งราชธานีขึ้นที่ กรุงสิงหสาหรี มีอานุภาพมาก แล้วมีอีกพระองค์หนึ่งซึ่งครองกรุงสิงหสาหรีนี้เหมือนกัน ทรงพระนามว่า กฤตนคร ได้ส่งทัพข้ามไปโจมตีอำนาจศรีวิชัยถึงฝั่งสุมาตราเมื่อ พ.ศ. 1817 และพระเจ้ากรุงสิงหสาหรีพระองค์นี้เอง ที่พระเจ้ากุไบลข่านส่งทูตจากปักกิ่งไปทวงก้อง พระองค์จับราชทูตจีนตัดหูแล้วส่งตัวกลับคืนไป เป็นเหตุให้ทัพเรือใหญ่จากจีนมาติดแดนชะวาในพ.ศ. 1836 แต่หาทำอะไรได้ไม่
          กษัตริย์สิงหสาหรีย้ายราชธานีในเวลาต่อมา ไปตั้งทางเหนือเกาะชะวาที่กรุงมัชปาหิต กรุงมัชปาหิตนี้มีชื่ออยู่ใน ดาหลัง ว่าหมันหยาปาเอ็ด และใน อิเหนา ว่า หมันหยา ทั้งสองเรื่องไม่นับกษัตริย์หมันหยาเข้าในราชวงศ์เทวดา อย่างไรก็ดี ไม่มีปัญหาเลยว่าจะไม่เป็นชื่อของเมืองเดียวกันทั้งสามชื่อ ที่แปลกอยู่ก็คือ ในเรื่องนิทานที่ไทยเราได้มานั้น สิงหสาหรี ก็ดี หมันหยา ก็ดี เป็นเมืองสมัยเดียวกันกับ กุเรปัน และดาหา ของกษัตริย์วงศ์เทวดาทั้งนั้น แต่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เมืองทั้งสองนี้มีชื่อเสียงขึ้นต่อภายหลังนานทีเดียว แสดงให้เห็นว่านิทานเหล่านี้ลงรูปเช่นที่ไทยเราได้มาภายหลังสมัยพระเจ้ากาเมศวรหลายร้อยปี ผู้เล่าจึงปนกันหมดอย่างเลอะเลือนดั่งนี้ อย่างไรก็ดี กษัตริย์หมันหยาปาเอ็ด เป็นจำพวกที่รักชาติแก่กล้า และคงจะเกี่ยวกับแข่งขันอำนาจศรีวิชัยทางสุมาตราด้วย จึงได้สลัดแบบศิลปะมัธยมประเทศที่ได้มาจากศรีวิชัยแต่โบราณนั้น ในจังหวัดบลิตาร์ ทางมุมใต้ของเกาะชะวา
          ในระหว่างนี้ พวกมัชปาหิต รบกวนศรีวิชัย ยิ่งขึ้นทุกที อำนาจของศรีวิชัย แม้ในเกาะสุมาตราเอง ก็อ่อนลง ทางทิศเหนือบนคาบสมุทร ก็ถูกไทยพวกสุโขทัยรบกวนลงมา จนพ่อขุนรามคำแหงยังได้ทรงจารึกไว้ในศิลาว่า อาณาเขตของพระองค์กินตลอดลงไปทางใต้ถึงนครศรีธรรมราช ซึ่งเคยเป็นส่วนเหนือของราชอาณาจักรศรีวิชัย ในเวลาเดียวกันนี้ มัชปาหิต ระดมโจมตีศรีวิชัยอย่างหนักอีก ราชอาณาจักรศรีวิชัยก็สลาย เพราะถูกรบกวนจากทิศใต้และทิศเหนือในเวลาใกล้ ๆ กัน ประกอบด้วยพวกอิสลามจากอินเดียพากันข้ามมาตั้งเมืองขึ้นใหม่ ในทิศเหนือของสุมาตราด้วย
          พวกอิสลามนี้เอง ขยายอำนาจตลอดเกาะสุมาตราข้ามมาถึงชะวาแย่งบ้านเมืองพวกมัชปาหิต ตั้งราชอาณาจักรมะตารัม ขึ้นในราว พ.ศ. 2000 เศษ แต่มะตารัมอยู่ไม่นาน ก็ถูกฝรั่งโปรตุเกส มาครอบครองอยู่พักหนึ่งแล้วฝรั่งชาติอื่นก็แย่งชะวาสุมาตราโดยลำดับ จนถึงฝรั่ง เนเดรลันด์ หรือวิลันดา ซึ่งครองเมืองอยู่ได้นาน จนถูกญี่ปุ่นแย่งเอาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ เมื่อเสร็จสงครามโลก ผู้ชนะศึก มีสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ได้จัดการให้ประเทศเป็นอิสระโดยถือเกาะชะวาเป็นศูนย์กลาง มาตราบเท่าทุกวันนี้
          ผู้สนใจ ในเรื่องราวของราชอาณาจักรศรีวิชัยจะเว้นจากฉงนไม่ได้ว่า ราชอาณาจักรนี้มีอายุยืนยาว และรักษานาวิกานุภาพไว้ได้นานอย่างนี้ด้วยเหตุไร ปัญหาอันนี้ ดร.เซเดส ได้ตอบในเรื่องที่แต่งลงในวารสารสยามสมาคม เรียกว่า The Empire of the South Seas (JSS XXXV,I , PP. 1-16) เป็นใจความว่า ศรีวิชัยนั้นกำลังอยู่ที่การได้ครอบครองดินแดนทั้งสองฝั่ง แห่งช่องทะเลระหว่างสุมาตรากับคาบสมุตรมลายู เพราะเมื่อเป็นเจ้าของอยู่ทั้งสองฝั่งดังนั้นแล้ว ย่อมมีอำนาจควบคุมบรรดาเรือสินค้าพาณิชย์ ตลอดจนเรือรบของใคร ๆ ที่แล่นผ่านไปมาระหว่างน่านน้ำทะเลจีน อันเป็นแหล่งสินค้าใหญ่ทางตะวันออก กับดินแดนเบื้องตะวันตกตั้งแต่อินเดีย อาหรับไปจนถึงยุโรป สามารถจะเรียกค่าธรรมเนียมเก็บภาษีใด ๆ จากเรือที่ผ่านและคงได้รวยเพราะเหตุนี้   นอกจากนี้ยังถือโอกาสออกปล้นสะดมเรือต่าง ๆ อีกด้วยเป็นครั้งคราวเหตุที่อยู่ ๆ ก็หมดอำนาจไปนั้น ก็เพราะในราวพุทธศตวรรษที่ 19 นั้น ทางชะวาพวกมัชปาหิตบุกรุกคุกคาม เข้ามาจนถึงชายเขตเกาะสุมาตราเอง ทางเหนือเกาะนั้นพวกอิสลามก็มาตั้งเมืองเป็นอิสระอยู่ ส่วนฟากข้างคาบสมุทรนั้น พวกอิสลามนี้บ้าง ชาวคาบสมุทรบ้างได้แข็งข้อขึ้น พอราชอาณาจักรสุโขทัย ของพ่อขุนรามคำแหง ตีกระหนาบลงไปเลยนครศรีธรรมราชศรีวิชัยจึงล่ม
๙๙๙๙๙๙๙๙๙
 

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com