ชีวิตนักข่าว ทำข่าวเครื่องบินตก ที่ภูเก็ต โดย...ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ 17 กันยายน 2550
พยาบาลแจ้งข่าว ผมมีอาชีพเป็นนักข่าวมาตั้งแต่ปี 2528 มาบรรจุรับราชการครั้งแรกที่ ภูเก็ต และทำงานด้านการสื่อข่าวมาโดยตลอด ที่สำคัญเหมือนเป็นกำไรชีวิต ผมมีโอกาสได้ทำข่าวที่วิกฤตหลายครั้ง กรณีเครื่องบินตกที่อ่าวปอ ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ผมได้สื่อข่าว
ผมจำได้ว่าวันนั้น ช่วงบ่ายเวลา ประมาณ 15.00 น. วันที่ 31 สิงหาคม 2530 ผมกำลังพูดโทรศัพท์ กับน้องแหม่ ซึ่งเธอมีอาชีพเป็นพยาบาล ที่โรงพยาบาลถลาง การสนทนาก็เป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป ตามประสาคนหนุ่มสาว หลังจากที่ผมวางสายไปประมาณ 5 นาที น้องแหม่ก็โทรศัพท์กลับมาอีกด้วยเสียงละล่ำละลัก และเธอก็บอกว่า "พี่เครื่องบินตก ที่ภูเก็ต ไม่รู้ที่ไหน อาจจะเป็นอ่าวหรืออ่าวฉลองนี่แหล่ะ " ผมรับฟังข่าวด้วยความตื่นตกใจ ตรงไหนหว่า พักหนึ่งผมก็เช็คข่าวกับ 191 ปรากฏว่า เครื่องบินตกที่อ่าวปอ ผมตะโกนบอก พี่ปรีชา ทันที พร้อมกับฉวยเอากล้องถ่ายวีดีโอ ระบบ วีเอชเอฟ ขณะที่พี่ปรีชา ก็เตรียมรถมารอที่หน้าสถานีช่อง 9 (ตอนนี้คือช่อง 11 ภูเก็ต) พี่ปรีชา รีบบึ่งรถ ไปที่อ่าวปอทันที ซึ่งเป็นจุดที่เครื่องบินตก อ่าวปอ เป็นอ่าว เล็ก ๆ อยู่ในพื้นที่ ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต รถข่าวของผมบึ่งมาถึงทางเข้า ซึ่งเป็นทางลูกรัง พลันรถข่าวของโก้หาย หรือคุณวิทยา ช่างภาพผู้สื่อข่าวพิเศษของ ช่อง 7 ขับแซงรถยนต์ของผมอย่างรวดเร็ว เพราะรีบไปทำข่าว ส่วนรถของเราเป็นรถยนต์กระบะตอนเดียว นั่งหน้าได้เพียง 2 คน ผมหันไปบอกพี่ปรีชา ว่า พี่ไม่ต้องรีบ เดี๋ยวก็ถึง เอาให้ปลอดภัยที่สุด ในที่สุด พวกเราก็มาถึง ริมอ่าวปอ ผมเห็นโก้หาย แบกกล้องยูเมติค รอขึ้นเรืออยู่ก่อนแล้ว เพราะยังหาเรือไปไม่ได้ทั้ง ที่มีเรือหางยาวจอดอยู่เต็ม
ผมคงรอไม่ได้ ที่จะรอ เพราะเวลาตอนนั้นก็ประมาณ 4 โมงเย็นแล้ว ใกล้เวลาออกข่าว ผมเลยร้องบอกว่า " เรือใครครับ ช่วยพาพวกเราไปอ่าวปอหน่อย " ทันใดนั้น ก็มีเจ้าของเรือวัยหนุ่มออกมาแสดงตัว และพร้อมที่จะพาไปในอ่าว พวกเรารีบลงเรือหางยาวทันที พร้อมโก้หายที่มาถึงก่อนเรา และตำรวจเชิงทะเล คนขับเรือหางยาว รีบพาพวกเราไปยังจุดเกิดเหตุทัน ผมกวาดสายตา ไปรอบ ๆ ทะเล พร้อมกับอุทานว่าถามคนในเรือว่า "ไหน เครื่องบินที่ตก ไม่เห็นมีเครื่องบินเลย " คนขับเรือ บอกว่า "เครื่องบินระเบิด จะเห็นแต่เพียง เศษซากชิ้นส่วนเครื่องบิน และศพเท่านั้นครับ " คนขับเรือพูดออกสำเนียงชาวภูเก็ต พอเรือแล่นไปในอ่าวสักพัก ก็เห็นเศษขยะเกาะกลุ่มกันลอยไปตามกระแสน้ำ สิ่งที่เห็นเป็นชิ้นใหญ่ที่สุดคือ ประตูเครื่องบิน ลอยอยู่เหนือน้ำ ตามด้วยศพ ผู้โดยสารปะปนมากับเศษชิ้นส่วนเครื่องบิน ผมรีบหยิบกล้องวีดีโอขึ้นมาถ่าย พอละสายตาจากวิวฟายด์เดอร์ ผมก็เห็นกระเป๋าเงิน ผมหยิบขึ้นมาพบเงินใบละ 500 บาท นับได้ประมาณ หมื่นบาท และพบบัตรพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานหาดใหญ่ เจ้าของเงิน ผมมอบให้กับตำรวจยศร้อยเอก เก็บรักษาไว้
จากนั้นผมก็ให้ พี่ปรีชา ที่เดินทางไปด้วย ถ่ายวีดีโอ จากนั้นผมก็รายงานข่าวบนเรือหางยาว เพื่อให้ผู้ชมได้เห็น บรรยากาศ ในบริเวณที่เครื่องบินตก ลักษณะเป็นการรายงานสดนอกสถานที่ ในการบรรยายในครั้งนั้นจำได้ว่า เครื่องบินได้เกิดระเบิด ขึ้น จนเหลือแต่เศษชิ้นส่วนเล็ก ๆ โดยไม่เห็นชิ้นส่วนขนาดใหญ่ โดยความเข้าใจของผม คิดว่า เครื่องน่าจะปักหัว อยู่ใน ทะเล แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
เมื่อผมได้ภาพพอสมควรแล้ว ก็บอกให้เรือหางยาวพากลับฝั่ง ที่บ้านป่าคลอก เพื่อจะเดินทางกลับสถานี ที่ตั้งอยู่บนเขารัง ภายในตัวเมืองภูเก็ตที่อยู่ห่างออกไป ประมาณ 30 กิโลกเมตร เพื่อนำไปออกอากาศ ประสบการณ์ในวันนั้น ทำให้ผมมีความสุขมากที่สามารถนำข่าวออกมาเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็ว ตกเย็น ผมได้พาพี่ปรีชา ไปกินข้าวที่พิงค์เลดี้คาเฟ่ หน้าโรงแรมเพิร์ล ภูเก็ต ได้มีการพูดคุยกับพี่ปรีชา ถึงความสำเร็จของการทำงาน ที่สามารถนำเสนอได้อย่างรวดเร็ว เพราะตอนนั้นมีผมเป็นผู้สื่อข่าว อยู่เพียงคนเดียว ที่ต้องทำหน้าที่สื่อข่าว ถ่ายภาพ ตัดต่อ ลงเสียง และได้พี่ปรีชา ที่เป็นพนักงานขับรถ คอยช่วยถ่ายภาพในบางครั้งที่ผมต้องมีการรายงานข่าว ซึ่งการทำงานมีผลออกมาดีมาก การสนทนาในคืนนั้น ก็จะเป็นเรื่องทำงานสื่อข่าวเป็นส่วนใหญ่ แต่ในส่วนลึกของผมก็มีความรู้สึกเสียใจต่อครอบครัวของผู้ประสบอุบัติเหตุครั้งนี้ และก็ไม่อยากจะให้เกิดขึ้นอีกเลย เพราะมีชาวภูเก็ตเสียชีวิตไปหลายคน
นักข่าวมากกว่า ทีมค้นหา เครื่องบินตกที่อ่าว ถูกเผยแพร่ผ่านสื่ออย่างรวดเร็ว รุ่งขึ้นคือวันที่ 1 กันยายน 2530 สื่อมวลชน เกือบทุกสื่อก็ว่าได้ ทั้งสื่อที่เป็นของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเอพี เอเอฟพี รอยเตอร์ เอ็นเอชเค มาที่อ่าวปอเต็มไปหมด ส่วนสื่อไทย คือ ทีวีช่อง 3 ข่อง5 ช่อง7 ช่อง 9 ไทยรัฐ เดลินิวส์ ฯลฯ เดินทางมาจากส่วงกลาง เพื่อมาทำข่าว แต่ละฉบับ แต่ละช่อง มากันหลายทีม ส่วนสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ต้องบอกว่า มีผมคนเดียวจริง ๆ ที่เป็นผู้สื่อข่าว นอกนั้น ก็คือ นายนิคม หนูเอียด ช่างภาพ (ตอนนี้ลาออก ไปนานแล้ว) และพี่ปรีชา พิทยาขจร พนักงานขับรถ ที่ต้องลงมาช่วยผมถ่ายภาพ เวลาผมจะสัมภาษณ์ กล้องสมัยนั้น เป็นกล้องระบบ วีเอชเอฟ แยกชิ้นยี่ห้อ พานาโซนิค หลอดเดียว ใช้ถ่ายเพื่อนำภาพไปออกที่ ทีวีช่อง 9 ภูเก็ต ตอนนี้คือ ช่อง 11 ภูเก็ต และผมต้องทำข่าวส่งสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ เป็นข่าวประกอบเสียง เพื่อออกอากาศในวิทยุประเทศไทย ในภาคข่าวบังคับ เพื่อออกอากาศในเวลา 07.00น.ตอนนั้น ทีวีช่อง 11 ที่กรุงเทพ กำลังเริ่มดำเนินการออกอากาศ ผมก็เลยไม่ต้องเหนื่อย
นักข่าวที่มาวันนั้น มีคนแนะนำให้ผมได้รู้จักกับ คุณวิโรจน์ เอ็ม 16 ช่างภาพไทยรัฐ ช่างภาพคนนี้โด่งดังมาก เพราะเป็นช่างภาพที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการถ่ายภาพ หลายรางวัล วันนั้นจำได้ว่า คุณวิโรจน์ ใส่เสื่อเชิตแขนยาวสีขาว สูงประมาณ 160 ซม. ผมรู้สึกยินดี ที่ได้พบกับช่างภาพมืออาชีพหลายรางวัล ตอนนี้ ทราบว่า คุณวิโรจน์ได้ลาออกจากไทยรัฐนานแล้ว
ด้วยความที่มีนักข่าวมาทำข่าวจำนวนมาก และแต่ละคนก็ไม่รู้จักกัน จนมีการทักกันผิด เพราะเข้าใจว่า นักข่าวบางคนแต่งกายเหมือนเจ้าหน้าที่ นักข่าวที่ถูกถามก็รู้สึกงง ๆ เหมือนกัน จนต้องตอบว่า ผมก็เป็นนักข่าวเหมือนกับคุณนั่นแหล่ะ
รายงานข่าว ถึงสำนักข่าว การรายงานข่าวไปกรุงเทพ สมัยก่อน การรายงานด้วยโทรศัพท์มือถือ แบบสมัยนี้ แทบไม่มีเลย ถ้าจะรายงานต้องรายงานโดยโทรศัพท์พื้นฐาน ซึ่งอยู่ไกลจากสถานที่เกิดเหตุ ตอนนั้น การจะโทรศัพท์เคลื่อนที่ เห็นจะมีอยู่ที่เดียวคือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่อยู่ในรถยนต์ประจำตำแหน่งของผู้ว่าราชกาารจังหวัดภูเก็ต ท่านผู้ว่าตอนนั้นคือ นายเฉลิม พรมหเลิศ ที่มีเรื่องอื้อฉาว โด่งดัง เมื่อ3ปี ก่อน การที่ผมมีความสนิทสนมกับผู้ว่า จึงได้ขออนุญาตท่านใช้โทรศัพท์ โทรรายงานข่าว เมื่อถึงเวลา ผมก็จะมาที่รถผู้ว่า แล้วก็รายงานข่าว โอ้โห สุดยอดเลยครับ ผมจะลงท้ายว่า ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ รายงานจากอ่าวปอ จังหวัดภูเก็ต ฟังแล้วสดจริง ๆ นี่คือกลยุทธ์หนึ่งที่ผมทำงานด้านข่าว ครับ ผมทำงานอยู่อย่างนี้ประมาณ 7 วัน ทุกอย่างก็จบครับ เพราะสามารถกู้ซากเครื่องบิน และเก็บศพผู้โดยสาร พร้อมลูกเรือ ได้ทั้งหมด จำนวน 82 ศพ
รอบ23ปีเครื่องบินตกที่ภูเก็ต 3 ครั้ง อุบัติเหตุเครื่องบินตกที่ภูเก็ต ในรอบ 23 ปี เกิดขึ้น 3 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้น เมื่อเดือน15 มีนาคม 2528 เป็นเครื่องบินของ บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด (บดท.) เส้นทางบินสนามบินดอนเมือง-สนามบินภูเก็ต ชนภูเขาตกที่ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา สาเหตุที่ตกมาจากทัศนวิสัยเลวร้าย ทำให้ ผู้โดยสาร กัปตัน พร้อมลูกเรือ เสียชีวิตทั้งหมด
3 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2530 เวลา ประมาณ 15.30 น. เครื่องบิน ของ บดท. มีเส้นทางการบินระหว่าง สนามบินหาดใหญ่-สนามบินภูเก็ต เกิดอุบัติเหตุตกที่ บริเวณอ่าวปอ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ตกก่อนที่จะถึงสนามบินภูเก็ต ประมาณ 7 กิโลเมตร มีผู้โดยสารพร้อมกัปตัน และลูกเรือ เสียชีวิต ทั้งหมด 83 ราย
ผลการสอบสวนปรากฏว่า เครื่องบินของ บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด (บดท.) บินอยู่ใกล้สนามบินภูเก็ต และพร้อมที่จะลง ขณะเดียวกัน เครื่องบินของสายการบิน ดาร์กอนแอร์ มุ่งหน้าออกจากประเทศฮ่องกง ในสมัยนั้น บินอยู่ห่างสนามบินภูเก็ต ประมาณ 15 ไมล์ และก็พร้อมที่จะลงจอดที่สนามบินภูเก็ต เช่นกัน แต่เครื่องบินของ บดท ได้รับการแจ้งจาก หอวิทยุควบคุมการบิน ให้ลงจอดเป็นลำที่สอง ส่งผลให้นักบิน ต้องเร่งเครื่องเพื่อที่จะบินวน และรอที่จะลงจอดต่อจาก เครื่องบินสายการบินดาร์กอนแอร์ ของฮ่องกง
ขณะที่นักบินเร่งเครื่องเพื่อที่จะนำเครื่องบินวนอีก 1 รอบ ปรากฏว่า เครื่องบินไม่สามารถที่จะเชิดหัวเพื่อบินวนได้ อาจจะเป็นเพราะว่า เครื่องบินได้มีการลดระดับเพื่อเตรียมพร้อมที่จะลงแล้ว และเครื่องบินก็มีน้ำหนักมาก ทำให้ไม่สามารถบินวนต่อไปได้ เครื่องบินจึงดิ่งลงสู่ก้นทะเล อ่าวปอ กระแทกน้ำทะเล อย่างแรง ส่งผลให้เครื่องบินระเบิดจากแรงอัดของน้ำทะเล จนเครื่องบินขนาดใหญ่ เหลือเพียงเศษซากชิ้นเล็กชิ้นน้อย ศพของผู้โดยสาร ต่างลอยฟ่องอยู่ในทะเล ล่องลอยเกาะกลุ่มไปตามกระแสน้ำ
ก่อนเครื่องตกประมาณ 3 ชั่วโมง เหมือนมีลางสังหรณ์ใจผมได้เดินทางไปสนามินภูเก็ต และผมมีโอกาสได้สอบถาม เจ้าหน้าที่การบิน ว่า ถ้าหากเครื่องตกบนบก กับตกในทะเล ความสูญเสีย อันไหนจะเกิดมากกว่ากัน ก็ได้รับคำตอบว่า ถ้าเครื่องตกในทะเลจะเกิดความสูญเสียมากว่าบนบก เพราะเครื่องบินจะเข้าทดแทนน้ำทะเล เมื่อน้ำแหวกออก ก็จะเกิดแรงต้านมหาศาลกระทบที่เครื่องบิน ถึงขั้นที่บดเครื่องบินให้แตกละเอียดได้ ส่วนการตกบนบก จะเกิดเพียงการกระแทกกับพื้นดิน และจะทำให้เครื่องบินไถลออกไปตามทิศทางที่เครื่องบินบินไป หากเครื่องบินไม่ชนกับอะไร เครื่องก็จะไม่ได้รับความสูญเสียมากนัก เหมือนดังกรณีที่เครื่องบิน ONE TO GO ตกที่ภูเก็ตเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน 2550 ที่ยังมีผู้รอดชีวิต ยกเว้นเครื่องบินพุ่งชนภูเขาอย่างจัง กรณีนี้ก็จะได้รับความสูญเสียจำนวนมาก เหมือนกับกรณีที่เครื่องบินตกที่กัมพูชา เมื่อเดือนก่อน
จากการเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกทุกครั้ง จะเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ ทั้งนั้น อย่างกรณีที่เกิดเครื่องบินตกที่ภูเก็ตเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2550 ก็เกิดจากฝีมือมนุษย์ ถ้าหากนักบินไม่นำเครื่องลงจอด เครื่องก็คงจะไม่ตก เพราะสภาพความเป็นจริง ที่บริเวณสนามบินมีสภาพฝนตกหนัก และทัศนวิสัยต่ำ กรณีเครื่องบินของการบินไทยตกที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2541 ก็เพราะนักบินพยายามที่จะนำเครื่องลง ทั้ง ๆ ที่บริเวณสนามบินก็มีฝนตกหนัก หากนักบินนำเครื่องบินกลับไปดอนเมืองหรือไปลงที่อื่น ก็จะมีความปลอดภัยมากกว่านี้
* * * * * * * * * * * * *
|