www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 2 คน
 สถิติเมื่อวาน 45 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2528 คน
52315 คน
1744759 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

             

ชีวิตนักข่าว ตอน...เหตุการณ์กรือเซะ ปัตตานี
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
28 เมษายน 2547

กรือเซะ เป็นชื่อมัสยิดที่เก่าแก่ และขึ้นเป็นโบราณสถาน ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมืองปัตตานี เช้าตรู่ วันพุธที่ 28 เมษายน 2547 เวลา 05.00 น.เป็นวันที่พวกเราต้องจดจำไว้ตลอดชีวิต ของการทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ เพราะมีการปะทะกันระหว่าง เจ้าหน้าที่ กับ คนร้าย ที่มีอยู่อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 200 คน มีอาวุธครบมือ ทั้งมีดและปืนบุกเข้าจู่โจม ป้อม จุดตรวจ โรงพักและที่ว่าการอำเภอพร้อมกัน 12 จุด และมีคนร้ายเสียชีวิต 106 ศพ เจ้าหน้าที่ เสียชีวิต 5 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และสงขลา แล้วพวกเราชาวกรมประชาสัมพันธ์เข้าไปเกี่ยวข้องได้อย่างไร กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

คงจำได้ว่า เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น.วันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม 2547 ขณะที่หลายคนยังอ่อนล้าจากวันขึ้นปีใหม่ ได้มีคนร้าย ไม่ต่ำกว่า 100 คน ได้เข้าปล้นปืนที่กองพันทหารพัฒนาที่ 4 หรือค่ายปีเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ได้ปืนไปกว่า 320 กระบอก

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2547 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ได้เรียกประชุม ทหาร ตำรวจ และพลเรือน ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าค่ายบ่อทอง และได้พูดในที่ประชุม ว่า สถานีวิทยุกระจายเสียง ที่อยู่ในภาคใต้ควรจะมีการจัดรายการเพื่อความมั่นคง ที่จะทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่มีแต่โฆษณาขาย ยาแป๊ะฮั่วอิ้ว ซึ่งการประชุมวันนั้น มี คุณพิพัฒน์ รัฐกาญจน์ ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา เข้าร่วมประชุม รวมทั้ง ผม และคุณทัศนีย์ ผลชานิโก นักประชาสัมพันธ์ 8 ว ก็อยู่ในที่ประชุม และร่วมรับฟังตลอด

ในที่ประชุม คุณพิพัฒน์ รัฐกาญจน์ ได้เสนอว่า ให้มีการจัดตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์ ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เพื่อสร้างความเข้าใจต่อประชาชน โดยให้ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย 5 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล ร่วมกันหมุนเวียนเป็นแม่ข่าย ถ่ายทอดไปทุกสถานีวิทยุ ในสองช่วงเวลา คือ เวลา 14.30-15.00 น. และเวลา 19.30-20.00 น. โดยใช้ชื่อรายการว่า ใต้สันติสุข และเริ่มจัดรายการครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 หลังจากที่มีการปล้นปืนได้หนึ่งเดือน การจัดรายการจะมี นักจัดรายการจากสถานีวิทยุจากที่อื่น หมุนเวียนมาจัด จึงเป็นจุดเริ่มที่ทำให้กรมประชาสัมพันธ์ โดยสื่อจากหน่วยงานอื่นได้เข้ามาร่วมวางแผน และได้ทำงานร่วมกันกับทหาร ภายใต้กฎอัยการศึก

พวกเราอดภูมิใจ อยู่ลึก ๆ ที่ได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาภาคใต้ ในด้านการประชาสัมพันธ์ อย่างเต็มรูปแบบ เพราะทุกวันจะมีข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ มาร่วมประชุมกับนายทหารระดับเสนาธิการ ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เพื่อวางแผนและร่วมผลิตข่าวประชาสัมพันธ์ ส่งไปออกอากาศที่สถานีวิทยุ แม่ข่าย หลังจากที่ รายการใต้สันติสุข ดำเนินการมาได้ 3 เดือน ก็มีการประเมินผล เพื่อกำหนดแนวทางการจัดรายการ ให้ตรงกับ วัตถุประสงค์ ที่ได้กำหนดไว้ โดยจัดให้มีการประชุมนักจัดรายการ ในวันพุธที่ 28 เมษายน 2547 ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี ซึ่งเป็นโรงแรม ชั้น 1 ของปัตตานี

ก่อนการจัดการสัมมนาเพียงหนึ่งวัน คือวันอังคารที่ 27 เมษายน 2547 ผมพร้อมด้วย คุณประเสริฐ ศรีระสันต์ ผู้อำนวยการส่วนแผนงานและพัฒนางานประชาสัมพันธ์ คุณสุพัตรา บุญชีพ รักษาการผู้อำนวยการส่วนข่าวและรายการ คุณทัศนีย์ ผลชานิโก นักประชาสัมพันธ์ 8 ว และคุณจิระวรรณ ตันกุรานันท์ ผู้ดำเนินรายการ บันทึกสถานการณ์ จาก สวท.กรุงเทพ ได้ร่วมเดินทางมาด้วย โดยมี คุณพิชัย วัชรดิลก พขร. คู่ใจ นำสู่เป้าหมาย ความจริงก็เดินทางไปที่ ค่ายอิงคยุทธบริหาร เกือบทุกวันอยู่แล้ว

ก่อนที่จะเดินทางเข้าค่าย ฯ ไปพบกับ นายทหาร พวกเราได้เดินทาง ไปที่วัดช้างให้ ซึ่งอยู่ห่างจากค่ายไปประมาณ 15 กิโลเมตร เพื่อนมัสการขอพร ดูเหมือนว่า คุณจิระวรรณ จะเดินทางมาเป็นครั้งแรก จากนั้น เวลาประมาณ 15.15 น. ได้เดินทางย้อนกลับมาที่ค่าย ฯ เพื่อพบกับผู้ที่จะมาร่วมรายการบันทึกสถานการณ์ ที่จะจัดย้อนสัญญาณจาก สวท.ปัตตานี เพื่อออกอากาศไปทั่วประเทศ พวกเราได้ร่วมพูดคุยเพื่อเตรียมการกับ พล.ต.ต.ธานี ทวิชศรี รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และอีกตำแหน่งหนึ่ง ท่านยังได้รับแต่งตั้งให้เป็น รองแม่ทัพภาคที่ 4 อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย วงสนทนา เป็นการเตรียมประเด็นที่จะพูดคุยในวันรุ่งขึ้น สาระที่พูดน่าสนใจมากทั้งที่เปิดเผยได้ และเปิดเผยในรายการไม่ได้ หลังจากที่เตรียมประเด็นที่จะพูดในวันรุ่งขึ้นเสร็จแล้ว ก็ได้เดินทางไปยัง สวท.ปัตตานี เพื่อดูความพร้อมในการออกอากาศ ซึ่ง สวท.ปัตตานีได้จัดเตรียมไว้สมบูรณ์มาก ทำให้สบายใจมาก ที่ คุณอนุกูล สนิทพันธ์ ผ.สวท.ปัตตานี ได้มีการเตรียมการไว้พร้อมแล้ว

ตกเย็นวันนั้น พวกเราได้แวะไปรับประทานอาหาร ที่ร้านอาหารไทปัน ในตัวเมืองปัตตานีบรรยากาศดีมาก ถึงแม้นจะเป็นร้านอาหารที่ตั้งอยู่ริมถนน แต่ก็มีต้นไม้รายล้อม ร่มรื่น แถมร้านนี้ ยังได้ประกาศรับรองความอร่อยจาก หมึกแดง คละเคล้าด้วยเสียงเพลงสากล ในยุค ซิกตี้ อาหารบนโต๊ะแน่นอนต้องเป็นอาหารทะเล ประกอบด้วย หอยพ่นน้ำผัดน้ำพริกเผา (ลักษณะเหมือนหอยหวาน) ปลาสำลีเผา หอยครางเผา ที่เราเรียกหอยคราง ก็เพราะว่า มันตัวใหญ่กว่าหอยแครง ครับ ... และแกงเลียง หม้อใหญ่ คุณจิระวรรณ ชมว่าชอบมาก นอกจากอาหารอร่อยแล้ว ยังชมว่าเด็กที่นี่ สวย ๆ ทั้งนั้นเลย ผมก็ว่าเหมือนกัน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงนะครับ ที่พูดถึงนี่ ไม่ได้คิดอะไร แต่คิดว่า เมืองปัตตานี อยู่ปักษ์ใต้ ไม่น่าจะมีสาวสวย ๆ แต่ความคิดนั้นผิดครับ เพราะ ผมกับคุณจิระวรรณ คิดตรงกันครับว่า สาว ๆ ที่ปัตตานี สวย ๆ ทั้งนั้น รวมทั้ง สาวที่อยู่ที่โรงแรมซีเอส ด้วย ที่คิดเช่นนี้ไม่ได้คิดเป็นอย่างอื่นดอก ครับ แต่คิดว่า ภาพที่เราเคยคิดว่า คนใต้ไม่ค่อยสวย มีแต่ยิงกันนั้นคงจะไม่จริงครับ

แน่นอนเราเข้าพักที่ โรงแรมซีเอส โดยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2547 พึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุม คณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ภาพยังติดตาผมอยู่เลย เพราะเป็นเขตหวงห้าม ถ้าตำแหน่งไม่ใหญ่จริงวันนั้น นอนไม่ได้ ครับ ต้องไปนอนที่อื่น

หลังจากที่เข้าห้องพักและอาบน้ำแล้ว ด้วยความที่เป็นผู้สื่อข่าว มาตั้งแต่รับราชการ ก็อยากจะสัมผัส บรรยากาศตอนกลางคืน ของเมืองปัตตานี ผมได้ย่องเงียบ ออกมากะว่าจะลงมาดื่มชาชัก ของโรงแรม ที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง แก้วหนึ่งไม่แพงดอกครับ แก้วละ 40 บาท ดื่มแก้วเดียวก็อิ่มครับ พอลงมาที่ล๊อบบี้หน้าโรงแรม ก็ปรากฏว่า มีสองสาว คือ คุณสุพัตรา และคุณทัศนีย์ พร้อมด้วยคุณหมอ เป็นหมอฟันครับ บ้าน อยู่ที่อำเภอเมืองปัตตานี เป็นเพื่อนคุณทัศนีย์ นั่งตากลมดื่มชาชัก (ชาชัก เป็นการชงน้ำชาอีกแบบหนึ่ง วิธีทำก็คือ รินน้ำชาจากที่สูงลงมาที่ต่ำโดยมีภาชนะรองรับ ทำให้มีการผสมของน้ำ น้ำตาล และชา เข้ากันดี จนชาแตกเป็นฟอง ทำให้ รสชาด หอมอร่อย ) และโรตีอยู่ ผมก็เลย ร่วมวงสมทบพูดคุย เรื่องราวต่าง ๆ สักพัก คุณประเสริฐก็ตามลงมา โดยไม่ได้นัดหมาย เข้าใจว่า คงนอนไม่หลับ มาร่วมสนทนาด้วย ส่วนคุณจิระวรรณ เธอเข้านอนแล้ว เพราะเธอเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทาง มาจากกรุงเทพ เพื่อจะมาจัดรายการบันทึกสถานการณ์ คืนนั้น เรารู้สึกผิดสังเกต คือ มีเครื่องบินปีกนิ่ง บินวนอยู่หลายรอบ คล้าย ๆ กับว่า ลาดตระเวน หาข่าวความเคลื่อนไหว ราว 4 ทุ่ม พวกเราก็เข้านอน เพราะต้องตื่นแต่เช้า

เราตื่นมาประมาณ 06.00 น. ก็เปิดทีวี ดูข่าว ช่อง 11 ผู้สื่อข่าวของสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดยะลา คือนายอับดุล การิม สะตะวา ตำแหน่งเจ้าหน้าที่โสตทัศนศึกษา 5 กรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า เมื่อเวลา 05.00 น. มีคนร้ายไม่ทราบจำนวน ได้เข้าโจมตี ป้อมตำรวจ และจุดตรวจหลายแห่ง ในพื้นที่ ปัตตานี ยะลา และสงขลา ผมฟังข่าวก็มีความรู้สึกเฉย ๆ ครับ เพราะผมรู้สึกชินกับข่าวแบบนี้ ว่าเป็นข่าวร้ายรายวัน เช้าวันนี้ก็คงจะเป็นเช่นทุกวัน ที่มีการเผาโรงเรียน ยิงทหาร ฆ่าตำรวจ ไล่ฟันพระ แต่ในหัวใจคิดอยู่เสมอว่า จะทำประชาสัมพันธ์อย่างไร ให้เป็นการสร้างความเข้าใจให้ได้ โต๊ะอาหารยามเช้า ผมได้เล่าให้คุณสุพัตรา ได้รับทราบ ซึ่งเธอก็มีความรู้สึกเฉย ๆ เพราะ มีเหตุการณ์อย่างนี้อยู่ทุกวัน ต่อมาเวลา 07.00 น. ผมได้เปิดวิทยุกรมประชาสัมพันธ์เพื่อเปิดฟังข่าวภาคเช้า ก็ได้ยินเสียงคุณสุนิสา รามแก้ว ผู้สื่อข่าว สวท.ยะลา รายงานข่าว ทำให้ผมรู้ในทันทีว่า ไม่ใช่เรื่องธรรมดา ที่เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นรายวัน

พวกเราออกเดินทางจากโรงแรม 07.00 น. ไปยัง สวท.ปัตตานี เพื่อพบผู้ร่วมรายการที่ได้นัดแนะไว้ พอถึงเวลา 07.30 น.ตามเวลานัด ปรากฏว่าไม่มีผู้ร่วมรายการ แม้นแต่คนเดียว คุณสุพัตรา โทรศัพท์ พูดคุย กับ พ.ท.อาคม พงศ์พรหม เสนาธิการประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 4 ก็ได้รับคำยืนยันว่า ไม่มีใครสามารถที่จะมาร่วมรายการได้ ทำให้คุณสุพัตรา หงุดหงิดพอสมควร เพราะพวกเราเองก็ไม่รู้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมง รุนแรงมากแค่ไหน ส่วนนายมูฮัมมัดอามีน ซารีคาน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ก็มาร่วมรายการบันทึกสถานการณ์ไม่ได้ เพราะติดอยู่ที่ มัสยิดกรือเซะ ต้องนอนหลบลูกกระสุน ที่กำลังปะทะกันอย่างดุเดือด เพราะตอนโทรศัพท์พูดคุยกัน ได้ยินเสียงปืนดังออกมาตลอด แสดงว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาแล้ว แต่พวกเราก็เป็นห่วงผู้ใหญ่บ้าน เพราะแกอ้วนมาก น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม กลัวจะเป็นเป้ากระสุน ครับ

พวกเรารีบปรึกษากันกับคุณจิระวรรณ ตกลงตอนนี้รองแม่ทัพ ไม่มาแน่ ผู้ใหญ่บ้านที่จะมาร่วมรายการ ก็ต้องนอนหลบกระสุน ที่มัสยิดกรือเซะ ที่ประชุม 3 คน มีผม คุณสุพัตรา และคุณจิระวรรณ เปลี่ยนแผน เอาเป็นว่า ให้ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ รายงานเข้ามาแทน ผมรีบติดต่อ คุณสุนิสา รามแก้ว ผู้สื่อข่าว สวท.ยะลา คุณสุนิสา ตกลงทันที เพราะเธออยู่ในที่เกิดเหตุ ที่กิ่งอำเภอกรงปีนัง จังหวัดยะลา ขณะเดียวกัน คุณสุพัตรา ประสานไปยัง ผู้ใหญ่บ้าน ที่ติดอยู่ในเหตุการณ์ ที่กรือเซะ ให้รายงานบรรยากาศการปะทะกัน โดยใช้โทรศัพท์ ซึ่งเราตกลงกันว่า ทางเราจะโทรกลับไปหา เวลา 08.00 น.หลังเคารพธงชาติ คุณจิราวรรณ ก็พูดเข้ารายการ บันทึกสถานการณ์ ได้ประมาณ 5 นาที ผมก็รีบโทรศัพท์ ติดต่อไปยังคุณสุนิสา ทันที จากนั้น คุณสุนิสา และคุณณรงค์พร ณ พัทลุง หัวหน้ากิ่งอำเภอกรงปีนัง รายงานว่า

"เมื่อเวลา ประมาณ 05.00 น. คนร้ายไม่ทราบจำนวน ได้เข้าบุกปล้นคลังอาวุธปืน ในที่ทำการกิ่งอำเภอกรงปีนัง ในที่เกิดเวลานั้น มีคนร้ายเสียชีวิตคาที่ในที่เกิดเหตุ จำนวน 12 ศพ โจรที่เหลือได้ปล้นรถยนต์ของอาสาสมัครไปได้ 1 คัน จุดที่ สองที่ สี่แยกบ้านเนียง ตำบลเปาะเส็ง อ.เมืองยะลา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 1 นาย กลุ่มโจรตายในที่เกิดเหตุ 12 ศพ จุดที่ สาม ที่ฐานปฏิบัติการตำรวจตระเวนชายแดน ต.บาเจาะ อ.บันนังสะตา จ.ยะลา ตำรวจบาดเจ็บ 3 นาย โจรตาย 5 ศพ จุดที่สี่ ที่ฐานปฏิบัติการ บ้านบางโมย หมู่ที่ 2 ต.รามัญ จ.ยะลา ทั้งตำรวจและกลุ่มโจร ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ''

ขณะที่ คุณสุนิสา รายงานข่าว ก็ยังมีเสียงปืน ดังเป็นระยะ เป็นรายการที่สดมาก เพราะได้รับทราบบรรยากาศที่มีเสียงปืนและเสียงระเบิดดังเป็นระยะ ๆ เหมือนกับการถ่ายทอดสดในสนามรบ แต่การรายงานก็เป็นเพียงช่วงแรก ๆ ของการต่อสู้กัน ยังไม่มีการสรุปความเสียหายอีกจุดหนึ่งที่มีการปะทะกันอย่างดุเดือดคือ ที่บริเวณมัสยิดกรือเซะ ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง ปัตตานี มัสยิดแห่งนี้ ตั้งอยู่ห่างจาก สวท.ปัตตานี ที่พวกเรากำลังออกอากาศอยู่ประมาณ 7 กิโลเมตร เราได้ติดต่อไปยัง ผู้ใหญ่ซารีคาน ที่อยู่บริเวณ มัสยิดกรือเซะ ผู้ใหญ่รายงาน ว่า

" คนร้ายที่ก่อเหตุประมาณ 32 คน ได้หลบเข้าไปอยู่ ในมัสยิดกรือเซะ มีการยิงตอบโต้ออกมาเป็นระยะ แต่ก่อนที่คนร้ายจะหลบเข้าไปในมัสยิด ได้มีการยิงตำรวจที่ป้อมใกล้กับมัสยิดตายไป 1 นาย ขณะที่ คนร้ายก็ถูกเจ้าหน้าที่ยิงตายไป 1 ศพ และเจ้าหน้าที่ก็ได้กันชาวบ้านนอกจากบริเวณ ปะทะกัน" ผู้ใหญ่รายงานไปก็ได้ยินเสียงปืนยิงต่อสู้กันออกมาเป็นระยะ

แต่สิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นก็คือ สัญญาณโทรศัพท์ ที่ใช้ติดต่อกับกรุงเทพเกิดเสียงขึ้นมาเอาดื้อ ๆ เสียที่ส่งไปออกอากาศที่ สวท.กรุงเทพ จึงไม่ดีเอาเสียเลย เสียงเหมือนกับไฟฟ้าช็อต ทางกรุงเทพก็แก้ไขอยู่นาน ได้ความว่า ในขณะที่ออกอากาศที่กรุงเทพ ได้เกิดเหตุฝนตกหนัก และฟ้าผ่าทำให้ไฮบิท เสีย ส่งผลให้โทรศัพท์ใช้การไม่ได้ รายการบันทึกสถานการณ์ จึงต้องยุติลง แต่ก่อนที่จะหมดเวลา เพียง 5 นาที โทรศัพท์ที่ สวท.กรุงเทพ จึงใช้ได้ตามปกติ รายการวันนั้นทำให้เรารู้สึกเครียดมาก แต่จะโทษใครก็ไม่ได้นอกจากฟ้าดิน ที่ดันมีฟ้าผ่าเอาในวันนั้น ทำให้โทรศัพท์เสีย วันนั้นนอกจากจะจัดรายการบันทึกสถานการณ์ ทำได้ไม่ดีนัก ทางกองทัพภาคที่ 4 ก็ให้สั่งงดการอบรม ดีเจ ที่จัดรายการใต้สันติสุข ที่จะจัดขึ้นในวันนั้นด้วย

และจากการที่รายการบันทึกสถานการณ์ ทางสวท.กรุงเทพ จะออกอากาศได้ไม่ดีนัก ผมจึงตัดสินใจ โทรศัพท์ไปหาคุณทินรัตน์ สัจจาพิทักษ์ หัวหน้ากลุ่มข่าวโทรทัศน์ ช่อง 11 ที่กรุงเทพ เพื่อติดต่อให้ ผู้ใหญ่ซารีคาน ได้รายงานข่าวเหตุการณ์ ซึ่งคุณทินรัตน์ ก็ได้ประสานให้ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณเจริญศรี หงส์ประสงค์ บก.ข่าวทีวี 11 เพื่อที่จะประสานให้ผู้ใหญ่ซารีคาน รายงานสดเข้าช่อง 11 โดยผมได้บอกเบอร์โทรศัพท์ ให้คุณเจริญศรี ติดต่อ ในที่สุด เวลาประมาณ 09.10 น. เสียงผู้ใหญ่ซารีคาน ก็รายงานสดออกช่อง 11 ได้ทั้งบรรยากาศ ที่ยังมีการต่อสู้อยู่ระหว่างคนร้ายกับเจ้าหน้าที่ ที่รายล้อมมัสยิด ซึ่งทำให้ช่อง 11 ได้แหล่งข่าวที่ไม่ใช่ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวเข้าไป ทำให้ข่าวเกิดความหลากหลายเพราะ เป็นเสียงของผู้ที่ติดอยู่ในเหตุการณ์ จากนั้น ผมก็ได้รับการติดต่อจากคุณชูชาติ เทศสีแดง บก.ข่าวช่อง 11 ติดต่อเข้ามา เพื่อขอเบอร์โทรศัพท์ พลโทพิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งผมก็ประสานให้

สำหรับการปฏิบัติงาน ของผู้สื่อข่าวและผู้จัดรายการ ในสถานการณ์ วันที่ 28 เมษายน 2547 ในพื้นที่ และส่วนกลาง ต่างได้รับคำชมจากทั่วสาระทิศ ว่าเป็นการปฏิบัติงานข่าวและรายการ ได้อย่างรวดเร็ว ดั่งคอลัมน์ แจ๋วริมจอ หน้า 38 ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2547 ระบุว่า

" ผิดคาดก็ช่อง 11 กลับเสนอข่าวชิ้นนี้ได้ทันเกมไม่น้อยหน้าช่อง 3 โดยเฉพาะภาพเหตุการณ์สด ๆ ร้อน ๆ ระหว่างการปะทะกันด้วยเสียงปืนอันดุเดือด เลือดพล่าน ช่อง 11 ยิงสดเข้าสถานีแม่หลังเกิดเหตุการณ์เพียงไม่กี่นาที ทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยทั่งประเทศได้รับรู้ข่าวสารชิ้นสำคัญ เสียดายก็ช่อง 9 กับไอทีวี พลาดท่า สงครามข่าว งานนี้จนเสียหน้าไปไม่น้อย "

คอลัมน์แจ๋วริมจอยังได้บอกอีกว่า " ทีวีอาจจะไม่ใช่สื่อที่รวดเร็วที่สุด แต่ข่าวทีวีก็มีเสน่ห์ และเป็นที่ยอมรับของประชาชน เมื่อมีเหตุการณ์ใหญ่ ๆ และเป็นที่สนใจของประชาชน ก็จะเป็นการวัดฝีมือทีมข่าวของแต่ละช่องได้ดีที่สุด เช่นเดียวกับการรับรู้ข่าวสารของประชาชนเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญชนิดเป็นตาย ผู้คนก็หวังพึ่งทีวีเป็นอันดับแรก ผู้บริหารข่าวจึงเป็นมันสมองที่ขาดไม่ได้ ต้องกล้าตัดสินใจฉับพลัน กล้าที่จะตัดทิ้งรายการปกติออกชั่วคราว เพื่อนำเสนอข่าวสำคัญได้ทันท่วงที ข่าวนี้จึงชี้ชัดได้ดีถึงความเป็นเอกภาพระหว่างฝ่ายข่าวกับผู้บริหารสถานี "

" ช่องไหน กล้าตัดสินใจเพื่อผู้ชมที่แท้จริงและช่องไหน ขาดอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจ ประเด็นหลักคือ คนดูต้องการความสดของข่าว และต้องการเห็นสถานีทุกช่องยอมสละรายการไร้สาระ เพื่อประโยชน์ของประชาชนสูงสุด "

เบื้องหลังความสำเร็จของการรายงานข่าว เหตุการณ์ 28 เมษา นายอับดุลการิม สะตะวา เจ้าหน้าที่ โสตทัศนศึกษา 5 สำนักงานประชาสัมพันธ์ยะลา เล่าให้ฟังว่า

" หัวรุ่งวันพุธที่ 28 เมษายน 2547 เวลาประมาณ 05.00 น. ตอนนั้นตื่นแล้ว ด้วยความที่ต้องเป็นผู้ที่ติดตามสถานการณ์ จึงต้องฟังวิทยุสื่อสารตลอดเวลา เสียงวิทยุค่อนข้างสับสนวุ่นวายมาก แต่ก็จับใจความได้ว่า มีคนร้ายเป็นจำนวนมาก ได้เข้าโจมตี ที่ทำการกิ่งอำเภอกรงปีนัง และสถานีตำรวจกรงปีนัง ที่ตั้งอยู่ตรงข้าม เชื่อว่าเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายมาก จึงโทรศัพท์แจ้งไปที่คุณสุนิสา รามแก้ว ผู้สื่อข่าว สวท.ยะลา เพื่อเดินทางไปที่เกิดเหตุ จากนั้น คุณรอมือลี ดีสะเอะ พนักงานขับรถ สวท.ยะลา ได้รีบบึ่งรถ ไปที่กิ่งอำเภอกรงปีนัง ที่อยู่ห่างจากอำเภอเมืองยะลา ประมาณ 20 กิโลเมตร ใช้เวลาไม่ถึง 20 นาที "

เมื่อถึงที่เกิดเหตุ คุณอับดุลการีม สะตะวา รีบลงมือเก็บภาพทันที ในขณะที่คนร้ายกับเจ้าหน้าที่กำลังปะทะกันอย่างดุเดือด ส่วนใหญ่คนร้ายจะล้มตายอยู่หน้ากิ่งอำเภอหลายศพ บางศพมือยังกำมีด บางศพมือยังกำลูกปะคำ และปืน ในขณะที่ คุณสุนิสา เริ่มเก็บข้อมูล รอบ ๆ ที่เกิดเหตุ และรีบรายงานข่าว ไปยัง สวท.กรุงเทพ เป็นข่าวภาคบังคับ 07.00 ที่ทุกสถานีต้องถ่ายทอด ทำให้ผู้ฟังที่ฟังวิทยุกระจายเสียงได้รับทราบข่าว ได้อย่างทันเหตุการณ์ ส่วนการเผยแพร่ข่าวผ่าน โทรทัศน์ ช่อง 11 คุณอับดุลการีม ได้รายงานข่าว ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นการช่วงชิง การเสนอข่าว ได้ก่อนช่องอื่น ๆ

หลังจากที่เหตุการณ์ผ่านไปไม่นาน คุณสรรพิชย์ โปตระนันท์ ผู้รายงานข่าว สทท. 11 ส่วนแยก ก็ตามมาทันที่ ในที่เกิดเหตุ ทันทีที่ถึง คุณอับดุลการิม จึงได้มอบเทปข่าว ให้คุณสรรพิชย์ เพื่อนำไปส่งภาพที่ สทท.ส่วนแยก ยะลา ทำให้ผู้ชมที่อยู่ทั่วประเทศได้รับชมภาพข่าวที่รวดเร็วทันใจ ชนิดที่เรียกว่าเหนือความคาดหมายของหลายคน ที่ทีมข่าวชุดนี้ ได้ดำเนินการอย่างทันท่วงที่

จากประสบการณ์ของผม ที่เคยทำข่าวมาหลายปี ขอชื่นชมการปฏิบัติงานของทีมข่าว สทท.ส่วนแยกยะลา สวท.ยะลา และประชาสัมพันธ์จังหวัดยะลา เพราะหากทีมไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและไม่มีวิญญาณในการทำข่าว และไม่มีการทำงานอย่างบูรณาการ เชื่อว่าภาพข่าว จะไม่ปรากฏบนจอ และการรายงานข่าวที่รวดเร็วจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

หลังเสร็จสิ้นภารกิจในช่วงเช้า คณะของพวกเราได้เดินทางจาก สวท.ปัตตานี ไป ที่ค่ายอิงยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่ค่ายดูสับสน เพราะวันนั้น จะมีคณะสื่อมวลชน ที่เป็นระดับบรรณาธิการ ประมาณ 100 คน เข้าพบแม่ทัพภาคที่ 4 ขณะที่มีทหารจำนวนหนึ่ง ได้นำผู้ต้องสงสัยที่คาดว่าจะมีส่วนร่วม ก่อการ มาที่ค่ายด้วย เฮลิคอปเตอร์ บินขึ้นลงอยู่หลายเที่ยว เพราะในช่วงบ่าย พลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผู้บัญชาการทหารบก จะเดินทางมารับทราบสถานการณ์ ที่ค่าย และพวกเราก็ทราบว่า ในช่วงบ่าย ทางกองทัพภาคที่ 4 จะมีการแถลงข่าว ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้า

ทันทีที่ทราบว่าจะมีการแถลงข่าวด้วยความที่เป็นผู้มีวิญญาณ คุณสุพัตรา บุญชีพ รักษาการผู้อำนวยการส่วนข่าวและรายการ และคุณจิระวรรณ ตันกุรานันท์ ก็ได้ประสานงานกับกรุงเทพ เพื่อขอเวลาถ่ายทอดสด การแถลงข่าว ขณะที่คุณอวชัย บุญชีพ หัวหน้าฝ่ายเทคนิค สทท.11 สงขลา นำรถดาวเทียม มาจอดรอพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที ส่วนการถ่ายทอดสดทางวิทยุกระจายเสียง คุณอนุกูล สนิทพันธ์ ผ.สวท.ปัตตานี ได้ให้ทีมรายการและเทคนิค นำเครื่องมือมาถ่ายทอด ทุกอย่างพร้อม

เวลาล่วงเลยมาจนถึง บ่าย 2 โมง พวกเราต้องรีบกลับ หาดใหญ่เพื่อมาส่งคุณจิระวรรณ ขึ้นเครื่องที่หาดใหญ่เพื่อกลับกรุงเทพ แต่ก่อนที่จะกลับ ทั้งคุณจิระวรรณ และคุณสุพัตรา ได้แนะนำ คุณผกามาส แซ่ตั้ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายรายการ ให้รู้คิวของการเข้ารายการถ่ายทอดสดทางวิทยุกระจายเสียง ส่วนการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 คุณสุดารัตน์ จันทน์เสนะ ผู้สื่อข่าว เป็นผู้เข้ารายการ จนถึงเวลา 15.00 น. การถ่ายทอดสดการแถลงข่าวก็เริ่มขึ้น ทำให้ โทรทัศน์ช่อง 11 และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เป็นสื่อเดียวที่ ที่ได้ถ่ายทอดสดทำให้ผู้ชมและผู้ฟังได้รับทราบข้อมูลข่าวสารรวดเร็ว และถูกต้องจากปากของผู้บัญชาการทหารบกโดยตรง อย่างทันท่วงที จากผลของการทำงาน ในการถ่ายทอดสดทั้งสื่อวิทยุและสื่อโทรทัศน์ ส่งผลให้ผู้อำนวยการข่าวของสถานีโทรทัศน์ ช่อง 5 ต้องถูกย้าย ด้วยเหตุผลว่า การทำข่าวไม่รวดเร็ว แม้กระทั่งการถ่ายทอดสดการแถลงข่าวก็ไม่มี ทีวีช่อง 5 มาถ่ายทอดซึ่งเป็นช่องที่ทหารดูแล มีแต่ โทรทัศน์ และวิทยุ ของกรมประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอดสด

การทำงานของพวกเราชาวกรมประชาสัมพันธ์ ในหลายพื้นที่ ได้ทำงานกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ บางครั้งการทำงานนั้น ไม่ปรากฏเป็นที่รู้จัก เพราะขาดการประชาสัมพันธ์ ตัวเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ครั้งนี้ คนอื่นชื่นชม ผ่านสื่อ และส่งผลกระทบต่อการทำงานของหน่วยงานอื่น ก็เท่ากับเป็นการประชาสัมพันธ์ ที่ดีที่สุดแล้ว ดีกว่าที่พวกเราจะชมกันเอง ครับ

วันนี้ (24มิ.ย.56) ผมขอเพิ่มเติมข้อมูล จากคุณสรรพิญย์  ที่ได้มาใหม่ ในการปฏิบัติงานด้านข่าว ซึ่งเรื่องนี้ได้ผ่านมาเกือบ 10 ปี แต่ก็อยู่ในความทรงจำของคุณสรรพิญย์  ถึงแม้นว่าวันนั้นผมจะอยู่ที่ปัตตานี   แต่โดยข้อเท็จจริง การปฏิบัติงาน  ในพื้นที่ จ.ยะลา คุณสรรพิญย์  ได้ดูแลอยู่ จึงขอเพิ่มเติม ดังนี้

 

เรียน พี่ณรงค์ ที่นับถือ ด้วยความเคารพครับพี่ บังเอิญผมเจอเวปไชด์ของพี่ ที่ได้บันทึกเหตุการณ์ความไม่สงบ กรณีมัสยิดกรือเซะ 28 เมษายน 2547 ซึ่งในวันนั้นมีเหตุการณ์เกิดชึ้นในหลายจุดพร้อมๆกัน นับได้ว่าเป็นวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการของผู้ก่อความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่แสดงสักดาเขย่าขวัญอย่างต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้
ในเนื้อความที่พี่ได้บันทึกไว้ เป็นการประมวลเหตุการณ์และการทำงานที่สอดประสานกันเป็นอย่างดีของเจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ ที่ประจำอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์มักจะถูกมองว่าทำงานล่าช้าไม่ทันเหตุการณ์ ช่องอื่นๆเขารวดเร็วกว่า ซึ่งในวันนั้นเป็นวันหนึ่งที่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ทีมข่าวในพื้นที่ของกรมประชาสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย สงขลา และส่วนแยกยะลา สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา และสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ จนเป็นสื่อมวลชนสำนักแรกที่ได้นำเสนอข่าวเหตุการณ์ ซึ่งส่วนตัวผมเรียกข่าวนี้ว่า”ข่าวปลุกประเทศไทย”


เหตุที่ผมเข้ามาทักทายพี่ เพราะต้องการจะเสริมในรายละเอียดบางประการณ์ที่มันยังอาจไม่ชัดเจนหรือคลาดเคลื่อนไปบ้างเพื่อความถูกต้องในข้อมูลที่พี่ได้รวบรวมไว้ คือว่า

กรณีภาพข่าวที่ออกอากาศเป็นครั้งแรกในวันนั้นข่าว 9.00น. วันที่ 28 เมษายน 2547 สทท.กทม และข่าวช่อง 3 อสมท. เป็นภาพข่าวที่ผมในฐานะ ผสข.สทท.ส่วนแยกยะลาและนายเอกรักษ์ ศรีรุ่ง ผสข.ช่อง 3 ประจำจังหวัดยะลา เป็นคนถ่ายภาพข่าว ในวันที่เกิดเหตุ วันนั้นผมได้รับโทรศัพท์ประมาณ 05.00 น.ว่าเกิดเหตุการณ์มีผู้ก่อความไม่สงบจำนวนมากเข้าตีฐานปฏิบัติการและที่ว่าการกิ่งอำเภอกรงปีนัง จ.ยะลา และป้อมรักษาการณ์ ต.บ้านเนียง ผมจึงได้ประสานงานกับ นายเอกรักษ์ ศรีรุ่ง (น้องต่าย) ตกลงกันว่าผมเข้ากรงปีนัง เนื่องจาก สทท.ส่วนแยกยะลา มีรถยนต์ ส่วนน้องต่ายมีจักรยานยนต์ไปที่สามแยกบ้านเนียงซึ่งใกล้กว่า ผมได้ขับรถยนต์ตรา สทท.11 ไปถึงพื้นที่ เป็นสื่อมวลชนคนแรกที่เข้าไป ชาวบ้านละแวกนั้นที่ชุมนุมกันอยู่ประมาณเกือบ 100 คนก็เปิดทางให้รถของผมเข้า และผมได้จับกล้องยกขึ้นบันทึกภาพตั้งแต่วินาทีนั้น(มือหนึ่งขับอีกมือถ่าย) จนเข้าไปถึง ณ จุดที่ทหาร อส.ปิดกั้นถนน ไม่ให้รถของช่อง 11 เข้า โดยบอกว่าเหตุยังไม่สงบ

ขณะนั้นก็มีรถยนต์กระบะของตำรวจ ขับออกมา เพื่อนำตัวเจ้าหน้าที่บาดเจ็บส่ง รพ.ผมจึงค่อยๆเดินจากจุดที่เจ้าหน้าที่ปิดถนน ซึ่งห่างจากฐานทหารที่ถูกโจมตีประมาณ 200-300 เมตร ซึ่งก็มีเสียงปืนดังอยู่เป็นระยะๆ แต่เสียงมันไกลพอสมควร จนไปถึงหน้าฐานทหาร ทางเข้าฐาน มีศพผู้ก่อการร้าย 5-6 ศพ ติดกันเป็นที่ว่าการกิ่ง อ.กรงปีนัง มี 2 ศพ กลางสนาม ตรงกันข้ามที่ว่าการกิ่ง เป็นสถานีตำรวจภูธรกรงปีนัง มี 1 ศพ ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ได้จัดชุดติดตามไล่ล่าขึ้นไปบนเขาแล้วและได้ยินเสียงปืนเป็นระยะ ผมเก็บภาพที่เกิดเหตุได้มากพอสมควร

จนเวลาประมาณ 08.00 น.ทีมของคุณอับดุลการิม สะตาวา สนง.ปชส.ยะลา และน้องผึ้ง สุนิสา รามแก้ว สวท.ยะลา ได้มาถึง จึงได้ตกลงกันว่า คุณอับดุลการิมฯ กับน้องผึ้งจะรับช่วงต่อ ส่วนผมถอนจากพื้นที่เพื่อนำภาพข่าวส่งสัญญาณภาพผ่านดาวเทียมให้ทันออกอากาศข่าวเช้า 9 นาฬิกา ระหว่างเดินทางกลับก็ได้โทรประสานงานกับ พี่ชูชาติ บก.ข่าว สทท.กทม ประสานงานกับน้องต่าย ช่อง 3 เพื่อขอภาพข่าว สามแยกบ้านเนียง และประสานงานกับพี่วิเชียร ฉ่ำสูงเนิน หัวหน้าข่าว สทท.สงขลา เพื่อทำความตกลงว่า ฝากภาพข่าวที่จุดบ้านเนียงของช่อง 3 ด้วย

เมื่อเดินทางถึงสถานี สทท.ส่วนแยกยะลา เจ้าหน้าที่ประจำสถานีก็ได้เปิดเครื่องส่งสัญญาณภาพผ่านดาวเทียมพร้อมแล้ว แต่เวลากระชั้นชิดไม่สามารถทำการตัดต่อได้ทัน พี่ชูชาติ บก.ข่าว สทท.กทม ก็สั่งให้ออกออกกาศสดโดยนำภาพดิบทั้งดุ้นออกอากาศ และผมเป็นผู้รายงานข่าว ซึ่งภาพข่าวความยาวเกือบ 10 นาที ได้ออกอากาศทั้งหมด สทท.11 ออกอากาศข่าวนี้ทั่วเป็นช่องแรก ตามติดด้วยช่อง 3 ซึ่งเป็นที่ภาคภูมิใจในแง่การทำงานของตัวกระผมมาก ผมจึงเรียกข่าวชิ้นนี้ว่า” ข่าวปลุกประเทศไทย”

 พี่ณรงค์ครับ ในวันนั้นน้องพี่คนนี้แหละ ลูกหม้อ สทท.11 สงขลา ไปเองถ่ายเองตัดสินใจถอนจากพื้นที่เองส่งออกอากาศเองและรายงานเองครบทุกกระบวนความครับ และเทปภาพวันนั้นยังอยู่ที่ผมครับ นี้ก็ใกล้ครบ 10 ปี แล้วสินะสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นเลย ด้วยความนับถือและห่วงใยพี่ๆน้องๆที่เคยร่วมงานกันมาครับ ... สรรพิชย์ โปตระนันทน์

ขอบคุณ  ในข้อมูล จาก ผม ณรงค์  ชื่นนิรันดร์

 

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com