www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 2 คน
 สถิติเมื่อวาน 45 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2528 คน
52315 คน
1744759 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

เกาะคอเขา เมืองโบราณ
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ 
5 มกราคม 2548


ธรณีพิบัติ ซัดถล่ม แนวชายฝั่งอันดามัน ใน 6 จังหวัดของไทย เมื่อเวลา 10.15 น. ของวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547 สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล ทั้งอาคารบ้านเรือน โรงแรม รถยนต์ เรือประมง และชีวิต หลายพันคน จุดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดเริ่มตั้งแต่ เกาะพีพี       จ.กระบี่ หาดป่าตอง หาดกะรน หาดกมลา หาดไม้ขาว จ.ภูเก็ต หาดเขาหลัก หาดแหลมปะการัง บ้านบางเนียง บ้านบางสัก บ้านน้ำเค็ม          อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา แต่ความสูญเสียอีกจุดที่หนักนั่นคือ เกาะคอเขา

การเดินทางไปเกาะคอเขา ถ้าเริ่มต้น ณ ที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ขับรถไปตามถนนเพชรเกษม ที่เป็นทางเดียวจะไปภูเก็ต ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงบ้านบางม่วง จากนั้นเลี้ยวขวาตามทางแยกไปบ้านน้ำเค็ม ประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงท่าเรือบ้านน้ำเค็ม จากนั้นลงเรือหางยาว ใช้เวลาข้ามประมาณ 10 นาทีก็ถึงเกาะคอเขา เพื่อความสะดวกควรเอารถจักรยานยนต์ ใส่เรือไปด้วย เพราะบนเกาะคอเขา มีถนนลาดยางดีมาก แต่ไม่มีรถประจำทาง

เกาะคอเขา ในขณะนี้มีการก่อสร้างรีสอร์ทขึ้นจำนวนมาก แต่ก็ถูกคลื่นยักษ์ซัดทำลายหมด แต่เกาะคอเขามีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจมากครับ ตามประวัติศาสตร์ ระบุว่า เมื่อปี พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ตั้งเมืองขึ้นที่เกาะคอเขา โดยย้ายศาลากลางเมืองตะกั่วป่าเดิม มาตั้งที่เกาะคอเขา โดยเรียกว่า เมืองใหม่ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครอง เมืองใหม่ตั้งเป็นเมือง อีก 8 ปี ต่อมา คือในปี พ.ศ.2456 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยุบเมืองใหม่ และให้ย้ายมาตั้งที่บ้านย่านยาว ซึ่งเป็นที่ตั้งอำเภอตะกั่วป่าในปัจจุบัน เมืองใหม่ จึงถูกลดฐานเป็น อำเภอ เรียกว่า อำเภอเกาะคอเขา อีก 25 ปีต่อมาคือ ปี พ.ศ.2481 อำเภอเกาะคอเขาถูกลดฐานอีกครั้งหนึ่งเป็นกิ่ง เรียกว่า กิ่งอำเภอเกาะคอเขา ตัวกิ่งอำเภอเกาะคอเขา ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลเกาะคอเขา ซึ่งก็อยู่บนเกาะนั่นเอง

กิ่งเกาะคอเขา ในสมัยนั้น มีเนื้อที่ประมาณ 932.302 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 4 ตำบล 20 หมู่บ้าน คือ

1.ตำบลเกาะคอเขา มี 5 หมู่บ้าน คือ หมู่ 1 บ้านเมืองใหม่ มีนายเหลื่อม สุขไกรรัตน์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2บ้านนอกนา นายจ๋วน บุญชู เป็นผู้ใหญ่บ้าน และเป็นกำนันด้วย หมู่ 3 บ้านปากหาญ นายโสภณ นาเวศ เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 บ้านทุ่งตึก นายทนง ข้อหลิว เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 บ้านบางเนียง (ตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ริมทะเลอันดามัน หมู่บ้านนี้ถูคลื่นซัดเสียหาย เกือบหมดทั้งหมู่บ้าน) มีนายเลี่ยม เดชอุดม เป็นผู้ใหญ่บ้าน

2.ตำบลเกาะพระทอง มี 5 หมู่บ้าน คือ หมู่ 1 บ้านทุ่งดาบ (ตั้งอยู่บนเกาะพระทอง) มีนายด้วน ศรีสว่าง เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 บ้านเกาะชาด (เป็นเกาะอยู่ใกล้เกาะพระทอง) มีนายเกียรติ บุญผลิต เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 บ้านเกาะหระ(เป็นเกาะอยู่ใกล้กับเกาะพระทอง) นายวิจิตร มีเพียร เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 บ้านปากจก (ตั้งบนเกาะพระทอง) นายบุตร สุคันธรส เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 บ้านเกาะสุรินทร์(คือหมู่เกาะสุรินทร์ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย ) หลักฐานระบุว่าอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ขณะนี้ยังไม่มีคนเข้าไปอยู่อาศัย จึงไม่มีผู้ใหญ่บ้าน

3.ตำบลบางวัน (ตั้งอยู่บนฝั่งแผ่นดินใหญ่) มี 5 หมู่บ้าน คือ หมู่ 1 บ้านบางวัน นายวัน ประพรม เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 บ้านตำหนัง นายเข้ม ต่างจิต เป็นผู้ใหญ่บ้าน

ส่วนอีก 1 ตำบล กับอีก 8 หมู่บ้าน ไม่มีข้อมูลปรากฏว่าเป็นที่ใด แต่ผู้ที่เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอเกาะคอเขาในสมัยนั้น คือ นายปลื้ม วุฒิศักดิ์ ปลัดอำเภอโท ผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอเกาะคอเขา จากรูปถ่ายของนายปลื้ม อายุราว 35-40 ปี (ข้อมูล จากรายงานกิจการของกิ่งอำเภอเกาะคอเขา ประจำปี 2509 )

และอีก 24 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2508 กระทรวงมหาดไทยประกาศให้ย้ายกิ่งอำเภอเกาะคอเขา มาตั้งใหม่ที่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 เพชรเกษม ช่วงระหว่างระนอง-ตะกั่วป่า ณ หมู่ที่ 2 ตำบลคุระ และตั้งชื่อใหม่ว่า อำเภอคุระบุรี ขึ้นกับจังหวัดพังงา ซึ่งอำเภอนี้เป็นอำเภอที่อยู่เหนือสุด ห่างจากตัวจังหวัดพังงา ประมาณ 150 กิโลเมตร ในที่สุดกิ่งอำเภอเกาะคอเขา ก็ลดฐานเป็นเพียงตำบลเกาะคอเขา และปัจจุบันมีการปกครองในรูปแบบ องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ผู้คนที่เคยอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น ก็ทยอยอพยพขึ้นไปทำมาหากิน บนแผ่นดินใหญ่ ที่มีความสะดวก มีงานทำ และความเจริญ ซึ่งเกาะคอเขาก็มีวัฏจักรหมุนเวียน ทั้งตกต่ำ และรุ่งเรือง

เหตุที่เกาะคอเขา ลดความสำคัญลง เพราะมีปัญหามาจาก ลมมรสุมที่พัดอย่างรุนแรงในระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง ตุลาคม ของทุกปี ทำให้การเดินทางโดยทางเรือ เป็นไปด้วยความยากลำบาก อีกทั้งยังมีโจรสลัด ที่คอยเข้ามา ปล้นสดมภ์ อยู่ตลอดเวลา และการคมนาคมทางบกเริ่มสะดวกขึ้น

แต่ก่อนหน้านั้น หลายร้อยปี เกาะคอเขา เป็นเมืองท่าอันสำคัญ ที่มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศโดยเฉพาะอินเดีย จีน กรีซ โรมัน จนมีการเรียกเกาะคอเขาในยุคนั้น ว่า ทุ่งตึก หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า เหมืองทอง เหมืองทองที่ว่านี้ เป็นคำเปรียบเทียบว่า ดินแดนแห่งนี้ เป็นเมืองธุรกิจการค้า ที่รุ่งเรืองเป็นเมืองพักสินค้า ที่จะรอขนถ่ายสินค้า จากฝั่งอันดามันไปขายทางฝั่งอ่าวไทย โดยใช้เส้นทางแม่น้ำตะกั่วป่า ที่สามารถล่องเรือไปตามลำน้ำ เข้าไปในแผ่นดิน จากนั้น ก็ขนถ่ายสินค้าทางบก โดยใช้ช้างเป็นพาหนะ เพื่อที่จะนำสินค้าลงเรืออีกครั้งหนึ่ง แล้วล่องเรือตามลำน้ำตาปี หรือ ตามลำน้ำพุมดวง เพื่อนำสินค้าไปขายยังเมืองไชยา จากหลักฐานที่ปรากฏ มีให้เห็นหลายอย่างอาทิ เทวรูปพระนารายณ์ ศิวลึงค์ และวัตถุโบราณอีกหลายอย่าง ที่เป็นหลักฐานระบุว่า เป็นอารยธรรมของอินเดียโบราณ ส่วนบริเวณเกาะคอเขา ยังปรากฏว่ามีลูกปัด ที่นิยมใช้เป็นเครื่องประดับ ตกกราดเกลื่อนเต็มไปหมด จนมีการบุกรุกของชาวบ้านเข้าทำการ
ขุดค้นครั้งใหญ่ เมื่อปี 2525 นี่เอง จนทำให้โบราณสถาน เสียหายเป็นจำนวนมาก ล่าสุดกรมศิลปากรได้เข้ามาขุดแต่ง เพื่อเก็บรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และเก็บไว้เพื่อการศึกษา สืบค้นความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้

เกาะคอเขา กำลังจะฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่ง ในรูปแบบของการท่องเที่ยว มีนักลงทุนเข้าบุกเบิกทำที่พักตากอากาศ นักลงทุนรายต้น ๆ คือ ที่รู้จักกันในนาม เจินเจิน ซึ่งเป็นนักลงทุนที่มาจากผู้ประกอบการธุรกิจประมง ที่จังหวัดสมุทรปราการ จากนั้นก็เริ่มมีนักธุรกิจจากสวีเดน เยอรมัน และไทยเริ่มเข้ามาซื้อที่ดินริมทะเล เพื่อที่จะทำที่พักตากอากาศ โดยคงความเป็นธรรมชาติเอาไว้ ว่ากันว่า ในยุคที่แร่ดีบุกรุ่งเรือง เกาะคอเขาก็มีนายหัว มาทำการขุดแร่ดีบุก จนหมดเกาะ ดังนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะจึงเป็น ดินทราย และการทำเหมืองแร่ดีบุกนี่เองที่ทำลาย โบราณวัตถุ ไปอย่างมหาศาล แต่รัฐบาลใน สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ อดีตนายกรัฐมนตรีมีแผนการว่า จะให้เกาะคอเขา เป็นเหมือนกับเกาะภูเก็ต และจะส่งเสริมให้เหมือนกับประเทศสิงคโปร์ โดยมีการสร้างสนามบิน ที่มีความยาวประมาณ 2,000 เมตร ขึ้นบนเกาะคอเขา ซึ่งสนามบินแห่งนี้ยังคงใช้การได้เพียงแต่ทางวิ่งมีหญ้าปกคลุมแบบเรียบ ๆ เท่านั้น เครื่องบินเล็ก ขนาด 2 ที่นั่งหรือเครื่องบินพ่นยา ก็สามารถที่จะร่อนลงจอดได้ โดยทางวิ่งของสนามบินจะอยู่ในแนวตะวันออก-ตะวันตก ของเกาะ (สนามบินยังมีอยู่อีกที่หนึ่งคือ บ้านบางม่วง ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ขณะนี้ถูกชาวบ้านบุกรุก เกือบเต็มพื้นที่)

เกาะคอเขา มีรุ่งเรืองและร่วงโรย หมุนเวียนเปลี่ยนกันไป แต่พอจะรุ่งเรือง ก็ต้องกลับถูกคลื่นยักษ์ซัดทำลาย จนหมดสภาพของความรุ่งเรืองอีกครั้ง และนี่คือ วัฏสงสาร ที่เวียนว่ายตายเกิด อย่างไม่จบสิ้น

 

                   

1


คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com