www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 2 คน
 สถิติเมื่อวาน 45 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2528 คน
52315 คน
1744759 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

 

พังงา...ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
5มกราคม 2548

ทุ่งตึกเมืองโบราณ อารยธรรมที่เคยรุ่งเรืองฝั่งอันดามัน
เมืองท่าสำคัญที่มีการติดต่อค้าขาย ริมฝั่งทะเลอันดามัน ที่มีชื่อเสียงมากในอดีต คือ ทุ่งตึก เป็นเกาะเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่เพียง 1,500 เมตร เท่านั้น ปัจจุบันเรียกว่าเกาะคอเขา อยู่ในพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีรูปแบบการปกครองเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เกาะคอเขา มีความยาวจากเหนือเกาะถึงท้ายเกาะประมาณ 30 กิโลเมตร และมีความกว้างของเกาะประมาณ 3 กิโลเมตร

การเดินทางด้วยรถจักรยานเสือภูเขา จากตัวเมืองตะกั่วป่า ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ด้วยระยะทาง 15 กิโลเมตร พวกเราก็เดินทางมาถึงท่าเทียบเรือบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า ซึ่งเป็นสถานที่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิถล่ม ที่เสียหายรุนแรงที่สุด จากนั้นคณะของเราประมาณ 15 คน ที่มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่มีอาชีพทั้งแพทย์ จนกระทั่งคนขายขนมเต้าซ้อ นำจักรยานเสือภูเขาลงเรือหางยาว วันนั้นเราใช้เรือหางยาว 2 ลำ ก็บรรทุกจักรยานหมด โดยคนขับเรือหางยาวผู้ใจดีคิดค่าโดยสารคนละ 20 บาท ซึ่งรวมทั้งค่าขนรถจักรยานด้วย นับว่าถูกมาก

ไม่ถึง 10 นาที เรือหางยาวพาพวกเรา ขึ้นฝั่งซึ่งในอดีตเคยมีความรุ่งเรือง ที่เมื่อครั้งหนึ่งเรียกว่า เหมืองทอง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งตามคำบอกเล่าของประวัติศาสตร์ว่า เมืองโบราณบ้านทุ่งตึก ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งตึก ตำบลเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พวกเราปั่นจักรยานเสือภูเขา ไปเรื่อย ๆ บนถนนลาดยางอย่างดี ที่ตัดผ่านกลางเกาะคอเขา ไปประมาณ 3 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาพวกเราก็พบ แหล่งโบราณสถานที่เก่าแก่และมีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่ง ที่อาจจะหมายถึงชุมชนโบราณ ตะโกลา TAKOLA ที่เป็นเมืองท่าสำคัญตามที่ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุภูมิศาสตร์ปโตเลมี Patolemy และคัมภีร์มหา นิทเทศ ในราวพุทธศตวรรษที่ 7 นอกจากนี้ยังมีชื่อ กาลาห์ KALAH ในจดหมายเหตุอาหรับ พุทธศตวรรษที่ 14 ชื่อ "ตะไลต์ตักโกลัม"(Talaittkolam ) ในศิลาจารึกเมืองตันซอร์ของพระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ 1 ในพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งการกล่าวถึงชื่อเมืองในดินแดนแถบแหลมมลายูฝั่งตะวันตก บ้านทุ่งตึกน่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีหลักฐานทั้งจากโบราณสถาน และโบราณวัตถุมารองรับหรือสนับสนุนมากที่สุด

คุณปัญญา พูลศิริ หัวหน้าฝ่ายโบราณสถาน สำนักงานศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต เล่าว่าก่อนที่สำนักงานศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต จะเข้ามาดำเนินการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดี แหล่งโบราณแห่งนี้ถูกรื้อทำลายจากการขุดหาลูกปัดขนานใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงพ.ศ.2524-2525 ทำให้พบเศษอิฐ เศษหิน เศษภาชนะดินเผา กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปเป็นบริเวณกว้าง ในจำนวนนี้พบแผ่นหินรองฐานเสาที่มีการเจาะสกัดเป็นช่องสี่เหลี่ยม สำหรับเข้าเดือยเสาไม้ ถูกขุดรื้อออกมาจากตำแหน่งที่ตั้งเดิมทำให้คิดว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้อาจจะไม่เหลือรูปทรงโบราณสถานใด ให้เห็น สำหรับโบราณวัตถุสำคัญอื่น ๆ ที่พบจากแหล่งโบราณแห่งนี้ ได้แก่ พระพิฆเณศว์ เทพีอุ้มเด็ก เหรียญสำริดของอินเดีย เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง-สมัยห้าราชวงศ์ พุทธศตวรรษที่ 12-16 เครื่องถ้วยอาหรับ พุทธศตวรรษที่ 13 และพบลูกปัดชนิดและรูปแบบต่าง ๆ อีกจำนวนมาก เช่น ลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยน ลูกปัดมีตา ลูกปัดแก้วมีริ้ว ลูกปัดแก้วใสเครือบทับทอง อยู่ด้านใน และยังพบหลักฐานว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ อาจเป็นแหล่งผลิตลูกปัดเพราะพบสิ่งเหลือทิ้งจากการหลอมแก้วอยู่ด้วย

แหล่งโบราณคดีบ้านทุ่งตึกมีความสำคัญต่อการอธิบายภาพรวมของชุมชนโบราณในแถบภาคใต้เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีหลายแห่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกล่าวไว้เมื่อครั้งเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.128 ว่า บ้านทุ่งตึก เขาพระเสนอ เป็นเขาลูกเล็ก ๆ ตั้งอยู่ปากน้ำตะกั่วป่า บนยอดเขาเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร แหล่งโบราณคดีบ้านทุ่งตึกเป็นเมืองท่าสำคัญที่อยู่ในเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรจากฝั่งตะวันตกไปฝั่งตะวันออก เนื่องจากมีตำแหน่งตั้งอยู่ตรงปากแม่น้ำตะกั่วป่า พอดี โดยเส้นทางการค้าจะเริ่มที่เกาะคอเขาหรือทุ่งตึกไปตามเส้นทางตามแม่น้ำตะกั่วป่า โดยปากน้ำแม่น้ำตะกั่วป่าจะอยู่ตรงเขาพระเสนอ จากนั้นก็ร่องเรือไปตามลำแม่น้ำตะกั่วป่าผ่านเขาพระนารายณ์ ข้ามเขาสกโดยการเดิน ตามทางราบข้ามช่องเขา แล้วร่องเรือตามแม่น้ำพุมดวง ที่เป็นแม่น้ำที่เชื่อมกับแม่น้ำตาปี และลำน้ำอื่นอีกหลายสาย ออกสู่ฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออกที่อ่าวบ้านดอน ซึ่งจะมีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการพบโบราณวัตถุเหมือนกับแหล่งโบราณทุ่งตึก ดังนั้นแหลมโพธิ์จึงเป็นเมืองท่าที่สำคัญด้านฝั่งทะเลตะวันออกของเส้นทางการค้า

เกาะคอเขา เมื่อมองย้อนไปหลายร้อยปี จึงเป็นชุมชนที่มีแต่ความมั่งคั่ง ผู้คนจับจ่ายสินค้าขวักไขว่ มีหลายชนชาติที่แวะเวียนมาแลกเปลี่ยนสินค้า ราวกับเป็นศูนย์กลางของการค้าระหว่างประเทศ แต่เมื่อมองภาพรอบ ๆ ตัวเราในปัจจุบัน มีแต่ป่ารกชัด ที่มีการขุดแต่งพื้นที่เป็นหย่อม ๆ เพื่อการศึกษาขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขความกระจ่าง โดยเฉพาะการเริ่มกำเนิดบ้านเมืองดินแดนแถบชายฝั่งทะเลอันดามันและแหล่งโบราณคดี แหล่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับเมืองตะโกลา ตามที่ปรากฏชื่อในหลักฐานเอกสารต่าง ๆ ได้อย่างไร

คุณปัญญา พูลศิริ หัวหน้าฝ่ายโบราณสถาน สำนักงานศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต เล่าอีกว่า ทางสำนักงานได้เริ่มเข้ามาดำเนินงานขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านทุ่งตึก ระหว่างเดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม 2546 เพื่อขุดหาโบราณสถานในพื้นที่ที่พบการกระจายตัวของโบราณวัตถุในอาณาบริเวณไม่น้อยกว่า 100 ไร่ โดยหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบที่สำคัญคือ

พบโบราณสถานจำนวน 8 แห่ง โดยอาคารที่พบน่าจะเป็นศาสนาสถานที่ประดิษฐานรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์และพุทธ จำนวน 7 หลัง และเป็นบ่อน้ำรูปกลมจำนวน 1 แห่ง โดยโบราณสถานหมายเลข 1 เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ จากการขุดหลุมยาว (Trench) ผ่ากลางเนินเป็นรูปกากบาทในแนวเหนือใต้ และออก-ตก ไม่สามารถตรวจหาแนวโบราณสถานที่ชัดเจนได้จึงยุติไว้ก่อน แต่ก็ยังพบโบราณสถานอีกถึง 7 แห่ง โดยอาคารที่พบทั้งหมดจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก

อาคารที่ขุดพบส่วนใหญ่ใช้หินเรียงทำเป็นฐานรากรองรับน้ำหนัก แล้วจึงใช้อิฐก่อทับด้านบน มีเพียงอาคารหมายเลขที่ 6 เท่านั้นที่ไม่พบมีการนำหินมาเรียงทำฐานราก เพราะเป็นอาคารขนาดเล็ก และโบราณสถานหมายเลข 5 ซึ่งเป็นบ่อน้ำรูปกลมไม่พบว่านำหินมาทำรากฐานเช่นกัน สำหรับโบราณสถานหมายเลข 1 และ 2 นั้นพบหินฐานเสาอาคารที่มีการสลักหินเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ สำหรับเสียบเดือยเสาไม้ นอกจากนี้โบราณสถานหมายเลข 1,2,6 ได้ขุดพบเศษกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาเป็นจำนวนมาก แสดงว่าเป็นอาคารมุงด้วยกระเบื้องดินเผาที่นับว่าเป็นอาคารเก่าแก่ยุคแรก ๆ ของโบราณสถานที่พบในประเทศไทย

แหล่งโบราณสถานที่ทุ่งตึก ยืนยันได้ว่า ในอดีตมีความรุ่งเรืองทางด้านการค้าและอารยธรรม แต่ก็ต้องเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา ตามความสำคัญของการคมนาคม ที่เปลี่ยนจากการเดินเรือไปเป็น ทางบกและทางอากาศ มากขึ้น แต่ถึงแม้ว่าความเจริญของทุ่งตึกหรือเกาะคอเขา จะซบเซาไปหลายร้อยปี และคงจะซบเซาต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งอย่างน้อยจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีก 2-3 ปี เพราะเกาะคอเขา บริเวณหน้าชายหาดด้านตะวันตก ได้ถูกคลื่นยักษ์สึนามิซัดกระหน่ำ สร้างความเสียหาย ต่อสถานที่พักตากอากาศ จนย่อยยับ
////////////////////////////

         

1


คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com