ชีวิตนักข่าว...ตอนเกือบหมิ่นศาล
ชีวิตนักข่าว บางครั้งก็ต้องทำงานอย่างฉับพลันทันที ชนิดที่ต้องเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง เพราะต้องการให้ได้ข่าวและภาพข่าวนำมาเสนอต่อผู้ชม ให้เสมือนว่าอยู่ในเหตุการณ์จริง แต่ก็นั่นแหล่ะนักข่าวใช่ว่าจะมีอิสระอย่างเต็มที่ หรือจะไปละเมิดคนอื่นนั้นทำไม่ได้ เพราะทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน
เมื่อครั้งที่ผมทำงานเป็นผู้สื่อข่าวที่ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ภูเก็ต ปัจจุบันคือช่อง 11 นั่นแหละ ตอนนั้นที่เขาเรียกว่าช่อง 9 ภูเก็ต ก็เพราะออกอากาศความถี่ที่ ช่อง 9 แต่มาตอนหลัง มีการปรับโครงสร้างให้เรียกว่าช่อง 11 ทั่วประเทศ เพื่อให้คนดูเขาเข้าใจง่าย นั่นเอง แต่การออกอากาศยังเป็นความถี่ช่อง 9 เหมือนเดิมครับ เพราะกฎหมายเขา บัญญัติให้ออกตามนั้น ส่วนจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่องค์กร หรือ หน่วยงาน
เอาหล่ะเข้าเรื่องซะที ผมนอกจากจะเป็นผู้สื่อข่าวแล้ว ยังต้องทำหน้าที่ถ่ายภาพ อีกหน้าที่หนึ่งครับ เพราะช่างภาพของผมแกจะดื่มกินทุกคืน โน่นแหละตี 2 ตี 3 จึงจะเข้านอน เพราะราตียังเยาว์ การที่จะลุกขึ้นมาทำงาน ไม่ทันแน่ เพราะ Hang หรือบ้านเราเรียกว่าเมาค้างนั่นแหละ ผมต้องทำหน้าที่ ถ่ายภาพ ซึ่งเป็นงานที่ผมชอบมากอยู่เหมือนกัน ถึงแม้นว่างานข่าวก็ต้องทำ มันเหนื่อยอย่าบอกใครเชียว แต่มันสนุกนี่ครับ ก็เลยต้องทำงาน
วันนั้นมีข่าว ที่น่าตื่นเต้นตกใจ คือเกิดการ ฆาตกรรม ที่บ้านพักโรงเรียนอนุบาลภูเก็ต โดยผู้เสียชีวิต คือ ครูผู้หญิง ที่เพิ่งมาบรรจุใหม่ และครูสาวคนนี้ เป็นถึงดาราตัวประกอบในภาพยนตร์เรื่องอยู่กับก๋ง ที่โด่งดังมาก และเธอมีความสามารถในการเล่นยูโด อยู่ในระดับสายดำเลยทีเดียว เธอรูปร่างค่อนข้างท้วมและแข็งแรง เธอมีเชื้อจีน อยู่ด้วย สถานที่เกิดเหตุ อยู่ใกล้กับศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ศาลจังหวัดภูเก็ต ที่ดินจังหวัดภูเก็ต ส่วนด้านหน้า ก็เป็นที่ตั้งเทศบาลภูเก็ต ที่เกิดเหตุไม่เปลี่ยวเลย เพราะแวดล้อมไปด้วยหน่วยงานราชการต่าง ๆ
ผมถือกล้องวีดีโอเข้าไปถ่ายสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นห้องนอนอยู่บนชั้น 2 ของบ้านพักครู เป็นเรือนไม้ ที่เพิ่งสร้างเสร็จ ใหม่ ๆ หน้าต่าง จึงไม่มีลูกกรงเพราะในแบบไม่มี มีแต่มุ่งลวด กันยุงและแมลงเท่านั้น แนวการสอบสวน ค่อนข้างง่ายเข้ามาเมื่อพนักงานสอบสวนบอกว่า สงสัยคนงานก่อสร้างที่อยู่รอบ ๆ บ้านพัก เข้ามาทำร้าย หมายจะทำการข่มขืนแต่ก็ถูกขัดขืน แต่เธอก็สู้แรงผู้ชายไม่ได้ จึงถูกคนร้ายแทงตาย
เย็นวันนั้น คนร้ายก็ถูกจับกุมและตำรวจก็นำมาแถลงข่าว ปรากฏว่าเป็นคนงานก่อสร้าง ที่มาจากทางภาคอีสาน เห็นผู้ตายทุกวันในใจก็นึกชอบ อยากร่วมหลับนอนด้วย จึงได้วางแผน ปีนเข้าไปในเวลากลางคืน โดยเข้าทางหน้าต่างที่มีเพียงมุ้งลวดกั้นเท่านั้น ตอนแรกตั้งใจว่าจะข่มขืนเธอเท่านั้น แต่ผู้ตายขัดขืน ต่อสู้ จึงต้องทำร้ายเพราะกลัวว่า ผู้ตายจะจำหน้าได้ และยอมรับสารภาพในชั้นสอบสวน ว่าเป็นคนลงมือฆ่าผู้ตายจริง
การทำงานของตำรวจถือว่ารวดเร็วมาก เพราะยังไม่ทันข้ามคืน ก็สามารถจับกุมคนร้ายได้แล้ว ในที่สุดก็ส่งฝากขังที่เรือนจำภูเก็ต เพื่อที่จะนำขึ้นศาลตัดสินคดี ซึ่งศาลท่านก็ทำงานได้อย่างรวดเร็ว ประมาณ 2-3 วัน ฆาตกรรายนี้ก็ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นภูเก็ต
ผมอีกนั่นแหละที่จะต้องขึ้นศาลกับเขาด้วย เพราะต้องติดตามทำข่าว การทำข่าวในศาล ไม่ง่ายเหมือนกับหน่วยราชการอื่น ๆ ครับ ที่แบกกล้องแล้วต้องถ่ายภาพได้เลย ถ้าจะทำข่าวหรือถ่ายภาพ จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลทุกครั้งไป โดยการขออนุญาต จะต้องขอกับธุรการศาล ซึ่งจะมีแบบฟอร์มให้ผู้สื่อข่าวได้กรอกข้อความประวัติผู้สื่อข่าวว่า มาจากหน่วยงานไหน ชื่ออะไร ทำข่าวเกี่ยวกับคดีอะไร และการขอสำนวนก็เช่นกัน จะต้องมีการขออนุญาต เหมือนกับการขอถ่ายภาพ วันนั้นก็เช่นกัน ผมได้ขออนุญาต จากธุรการศาลเพื่อเข้าไปทำข่าวในห้องพิจารณาคดี ที่เกี่ยวกับคดี นี้ โดยเจ้าหน้าที่ธุรการศาล กำชับว่า
"น้อง ห้ามถ่ายภาพ ตอนที่ศาลพิจารณาคดีนะ ศาลท่านห้าม " ผมตอบว่า "ครับพี่" ซึ่งผมก็เข้าใจดีครับว่า การถ่ายภาพในห้อง พิจารณาคดี ศาลห้ามถ่ายภาพ เพราะมันเกี่ยวด้วยความปลอดภัยของผู้พิพากษา ซึ่งในต่างประเทศ เขาจะใช้วิธีการสเกตภาพ แทนการถ่ายภาพครับ ซึ่งเราจะเห็นข่าวต่างประเทศ ออกข่าว เขาจะไม่เข้าไปถ่ายภาพในห้องพิจารณาคดี ยกเว้นการพิพากษาคดีของนายซัดดัม ฮุสเซน อดีตประธานาธิบดี ของประเทศอิรัก ที่ถูกศาลสูงของอิรัก โดยมีอเมริกาอยู่เบื้องหลัง เป็นผู้ตัดสิน
แต่ด้วยวิญาณนักข่าวของผม มันสิงสถิตแล้ว คงไม่เป็นหรอกที่จะถ่ายภาพ และคงไม่มีใครรู้ หรอกว่าเราถ่าย จริง ๆ แล้ววันนั้น ผมว่าจะทำตามระเบียบของศาลอยู่แล้ว แต่ภาพและประเด็นมันดีมากครับ เพราะมุมภาพสวยมาก ถ้าถ่ายออกทีวี ต้องเป็นภาพที่ดีมาก โดยตำแหน่งของภาพช่างเป็นใจ เพราะ ผู้ต้องหายืน อยู่ในคอกจำเลยตรงหน้าผม ห่างกันเพียง 1 เมตร ถัดไปบน บันลังก์ มีผู้พิพากษานั่งอยู่ ดังนั้นภาพจึงเป็นเส้นตรง ถ้าถ่ายภาพนี้ ก็จะเห็นทั้งผู้พิพากษา และ ผู้ต้องหา อยู่ในเฟรมเดียวกัน หากนำเสนอ ก็จะทำให้คนดูเห็นการทำงานของศาลว่ามีการทำหน้าที่กันอย่างไร ผมจึงใช้กล้องวีดีโอ วางบนตัก วางมุมกล้องให้ดี จากนั้นก็กดชัดเตอร์ กล้องวีดีโดบันทึกภาพทันที ด้วยเสียงที่เงียบกริบ ผมทำไม่รู้ไม่ชี้ ตั้งใจฟังคำพิพากษาอย่างเดียว ขณะที่กล้องวีดีโอ ก็เดินไป จนกระทั่งจบ การพิพากษา ผมจึงหยุดการบันทึกภาพ ผมลิงโลดใจ ว่า ผมได้ภาพที่สวยงามเพียงช่องเดียว ช่องอื่นไม่ได้แบบผมอย่างแน่นอนเพราะตอนนั้นก็มีอยู่ช่องเดียวเท่านั้นแหล่ะครับ นักข่าวหนังสือพิมพ์ก็คงไม่ได้ภาพแบบผมอย่างแน่นอน เพราะศาลห้ามถ่ายภาพ เพราะถ้าถ่ายภาพก็ต้องเห็นอย่างแน่นอน ครับ
เมื่อถึงสถานี ผมซึ่งสวมหมวกอยู่หลายใบซึ่งเป็นทั้งบรรณาธิการ หัวหน้าข่าว ช่างตัดต่อ ผู้สื่อข่าว และช่างภาพ จึงตัดต่อภาพที่ถ่ายในห้องพิจารณาด้วย โดยไม่คิดว่าศาลท่านจะดู เพราะเราเป็นเพียงทีวีท้องถิ่นเท่านั้น คิดแต่เพียงว่าคนที่ดูทีวี จะได้เห็นเหมือนกับที่เราเห็น แต่ลืมนึกไปว่าเราได้ตกลงกับธุรการศาลว่า ห้ามถ่ายภาพในห้องพิจารณาคดี ตอนนั้นคิดอย่างเดียวคือต้องนำเสนอภาพข่าวนี้ให้ได้เพราะคิดว่า มันเป็นการสื่อให้คนเห็นว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงานอย่างรวดเร็ว และมีการส่งฟ้องศาล และศาลท่านก็ตัดสินได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน เมื่อมองในมุมของสื่อสารมวลชนถือว่าผ่านครับ แต่ศาลท่านไม่ผ่านครับ หลังออกข่าวไปเพียงข้ามคืน เจ้าหน้าที่ศาลเดือดร้อนครับ อยู่กันแทบไม่ติดเก้าอี้ เพราะผู้พิพากษาหัวหน้าศาลท่านดูข่าวพอดีครับ ตายหล่ะทีนี้
เจ้าหน้าที่ ธุรการศาล โดยเฉพาะ จ่าศาล โดนก่อนเพื่อนครับ ว่าปล่อยให้นักข่าวถ่ายภาพออกไปได้อย่างไร อย่างนี้ศาลก็แย่ นายสถานีผมก็ถูกตำหนิจากศาลเหมือนกันว่า ทำไมถึงเอาภาพข่าวไปออกทั้ง ๆ ที่ห้ามแล้ว แต่ผู้ที่เดือนร้อนที่สุดเห็นจะเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการศาลที่เป็นผู้ชาย ผมยังจำหน้าแกได้จนถึงทุกวันนี้ คือหน้าคมเข้ม ไว้หนวด อายุตอนนั้น ๆ ก็ ราว 35 ปี แต่ผมจำชื่อไม่ได้แล้วเพราะมันนานมากแล้ว ประมาณปี พ.ศ.2530 แกขึ้นมาหาผมยังที่ทำงานที่ตั้งอยู่บนเขารัง มาต่อว่าผมนิดหน่อย ว่าตัวเขาเดือดร้อน มาก เพราะต้องถูกให้ชี้แจง และก็ขอร้องให้ผมอย่าทำอย่างนี้อีก ถ้ายังทำอีกถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล มีสิทธิติดคุกครับ ผมเองก็คาดไม่ถึงว่าผลกระทบมันจะมากมายขนาดนั้นคิดแต่เพียง จะสื่อภาพข่าวไปให้คนดูได้ชมกันเท่านั้น ซึ่งผมก็ขอโทษพี่เขาไป และในที่สุดเรื่องนี้ก็ลืมเลือนไป เหลือแต่ความทรงจำของผมเท่านั้น และจะไม่ทำอีกแล้วครับ เพราะการทำงานเรามองเพียงมุมเดียวไม่ได้ ต้องดูรอบด้านว่า ข่าวที่ออกมันมีผลกระทบต่อใครบ้าง จะเอาแต่ความมันอย่างเดียวไม่ได้ นี่ก็เกือบติดคุกแล้วนะเนี่ย เพราะทำอยู่คนเดียว ทั้งช่างภาพ ผู้สื่อข่าว บรรณาธิการข่าว ถ้าติดคุกแล้วใครจะส่งโอเลี้ยง กับ ข้าวผัด ซึ่งเป็นเมนูหลักให้ผมละคราบ แฮ๋..เกือบไป
* * * * * * * * * * * * *
|