ชีวิตนักข่าว...ตอน จุดธูปใหม่ 5 มีนาคม 2551
การทำข่าวของผม เมื่อครั้งทำงานอยู่ที่ สถานีโทรทัศน์ช่อง9 ภูเก็ต ตอนนี้เป็นช่อง 11 ภูเก็ต อุปกรณ์การทำข่าว ประเภทกล้องวีดีโอก็ไม่พอ รถยนต์ที่ทันสมัยติดแอร์เหมือนกับสมัยนี้ แทบไม่มี นอกจากจะเป็นรถของนายสถานี ที่ติดแอร์อยู่คันเดียว รถยนต์มีอยู่เพียง 2 คัน เป็นกะบะตอนเดียว ยี่ห้อโตโยต้า สีครีม เวลาไปทำข่าวก็ต้องเบียดกัน เพราะทีมข่าว โทรทัศน์ประกอบด้วย ช่างภาพ ผู้สื่อข่าว และที่ขาดไม่ได้ก็คือ พนักงานขับรถ ถ้าผู้สื่อข่าว ช่างภาพ คนขับรถ ไม่ถูกกันก็ต้องจำใจ นั่งหน้าอัดไป 3 คน ผู้สื่อข่าว จะนั่งอยู่ตรงกลางถ้าเป็นผู้สื่อข่าวผู้หญิงก็จะนั่งหุบขา ส่วนผู้สื่อข่าวผู้ชายก็จะนั่งคร่อมคันเกียร์ บางทีก็เสียวคนขับรถจะจับเกียร์ผิดเหมือนกัน ส่วนช่างภาพจะนั่งอยู่ริมหน้าต่าง แน่นอนในเมื่อไม่ถูกกัน ช่างภาพก็จะหันหน้าออกไปทางหน้าต่าง เพราะถ้าหันหน้ามองผ่านกระจก ก็กลัวว่าจะทะเลาะกัน มันช่างอึดอัดจริง ผับผ่า แต่หากวันไหนผมไปกับคนขับรถเพียง 2 คน ช่างพอดีไม่ต้องนั่งเบียดเสียด แต่การออกไปทำข่าว สมัยนี้ไม่เป็นอย่างนี้แล้ว เพราะมีรถเก๋งใหม่เอี่ยม นั่งสบาย แถมติดแอร์เย็นสบาย ไม่ต้องร้อน และไม่ต้องเหม็นขี้เต่าด้วย
วันนั้นจำได้ว่า มีงานเปิดการประชุมสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ผมจำไม่ได้ว่าเป็นงานอะไร แต่ก็มีพิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการแม้นว่าจะเป็นการประชุมเล็ก ๆ ที่ใช้ห้องประชุมชั้น 2 ของสำนักงานเป็นที่ประชุม วันนั้น ผมได้นัดหมายช่างภาพของผม ว่าเวลา 9 โมงเช้าจะมีข่าว เพราะมีหนังสือเชิญมาจากสาธารณสุข ผมรอช่างภาพเกือบจะถึง 9 โมง ช่างภาพของผมพึงจะเดินมาทำงาน หน้าตาก็ยังไม่หายจากซ่างเมา เพราะทุกคืนพี่นิคม แต่จะเป็นประเภทสุราพาเพลิน เวลาไม่ไล่ ก็จะไม่เลิก เพราะแกเล่นดื่มกินตอนกลางคืน หมายถึงกลางวันนอน ตอนเย็นก้งเหล้า เคล้าบุหรี่ ประกอบกับเพื่อน ๆ ที่ ชอบการพนันก็จะคอยเป็นเพื่อน ซึ่งบรรยากาศมันเป็นใจ เพราะที่ทำงานและบ้านพักตั้งอยู่บนเขารัง เดินไม่กี่ก้าวก็ถึงที่ทำงาน
ผมรอช่างภาพด้วยความกระวนกระวาย เพราะ 9 โมงเช้าพอดี กว่ารถจะไปถึงที่ทำการของสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ก็เลย เวลาพิธีเปิดแล้ว พี่คมแกเพิ่งจะเดินมา หน้าตายังสะลืมสะลือ แต่ใบหน้าเขาพยายามกลบด้วยแป้ง เพื่อให้เห็นว่าฉันพร้อมที่จะทำงานนะ แต่มันไม่ใช่ครับ ตายังปรืออยู่เลย นี่ถ้าเราไม่ใช่เด็กกว่า จะด่าแรง ๆ อย่างไม่เกรงใจ
พวกเราเดินทางมาถึงชั้น 2 ของที่ทำการสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ก็เลยเวลา 9 โมงเช้าไปแล้ว ประธานได้จุดธูปเทียน เสร็จพอดี พอประธานหันมาเจอพวกเรา ท่านดีใจสุด ๆ ผมจำได้ว่าท่านชื่อ นายแพทย์สนอง กาญจนาลัย เป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ท่านพูดด้วยเสียงอ่อนโยนปะปนด้วยความยินดี ว่า "เอ้าช่อง 11 มาแล้ว พวกเราขอให้เริ่มพิธีกันใหม่ เอาธูปเทียน มาจุดใหม่ เอ้าเร็ว ๆหน่อย " พลันพูดเสร็จ เจ้าหน้าที่ ก็เอาธูปเทียน มาให้ใหม่ แน่นอน เราต้องเริ่มต้นถ่ายภาพ ผมเองแทบแทรกแผ่นดินหนี เพราะมาไม่ทันงาน ช่างภาพก็ดูเหมือนไม่เต็มใจ แต่ก็ต้องถ่าย ตามความต้องการของประธานที่ต้องการให้ได้ภาพตั้งแต่เริ่มพิธี คือจุดธูปเทียน ประธานกล่าว ให้โอวาท และเปิดการประชุม เพราะแสดงว่าเขาเห็นความสำคัญ ของการประชาสัมพันธ์ ยิ่งมีช่างภาพมาถ่ายก็ยิ่ง ดีใจ ที่สื่อเห็นความสำคัญของงาน ช่างภาพจะบอกซ้ายหันขวาหัน ก็ยอมทั้งนั้น ขอแต่เพียงให้ได้ออกโทรทัศน์ ตั้งแต่วันนั้น ถ้ามีข่าวตอนเช้า ผมจะไม่ตามช่างภาพอีกเลย ขอไปถ่ายเอง จะดีกว่าและคงไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีก แต่ก็มีจนได้
จำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่ง นายสนอง รอดโพธิ์ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต จะปล่อยขบวนรถบรรทุก รถขนสับประรด พันธุ์ภูเก็ต ไปขายที่กรุงเทพ ซึ่งเป็นการเปิดตลาดสินค้าเกษตรเป็นครั้งแรก ที่เป็นสับประรดพันธุ์ภูเก็ต ที่มีรดชาด ไม่เหมือนสับประรดพันธุ์อื่น ๆ ที่ มีรดชาดกรอบหวาน จนมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน จุดปล่อยขบวนรถอยู่ที่อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวเทพสุนทร เวลานัดหมายการปล่อยตัวคือ บ่าย 3 โมงเย็น ช่อง 11 ยังไม่ไปครับ แต่ผู้ว่าไปรออยู่ก่อนแล้ว เพื่อเป็นประธานปล่อยตัว นักข่าว หนังสือพิมพ์ หลายสำนักก็ไปรออยู่แล้วเช่นกัน เมื่อถึงเวลาผู้ว่าก็ไม่ปล่อยขบวนรถ นักข่าวก็ถามผู้ว่า ว่า "ทำไมท่านผู้ว่า ยังไม่ปล่อย ขบวนรถหล่ะครับ ไม่ทราบท่านรออไรอยู่ครับ" "ผมรอช่อง 11 อยู่ เอ้าพวกเรารอหน่อยนะจะได้ข่าว พร้อม ๆ กัน" การสนทนาระหว่างนักข่าวกับผู้ว่าในวันนั้น ก็มีคนมาเล่าให้ผมฟัง ผมจึงทราบว่าผู้ใหญ่ในจังหวัดระดับผู้ว่าท่านได้ให้ความสำคัญกับสื่อ โทรทัศน์มาก ถึงขนาดต้องรอเลยที่เดียว วันนั้นผมส่งแต่ช่างของผมไป ไม่รู้ไปช้าอยู่ตรงไหน ที่ปล่อยให้ผู้ว่ารอ ความจริงวันนั้นผมไปไม่ได้ เพราะต้องปิดข่าว ในช่วงเวลา บ่าย 3 โมงเย็น เพราะข่าวจะออกประมาณ 5 โมง เย็น จึงส่งแต่ช่างภาพไป แต่ก็นั่นแหละ ไม่ค่อยรับผิดชอบเท่าไหร่
การทำประชาสัมพันธ์ ก็ต้องมีการอดทน รอสื่อ ที่จะมาทำข่าว แม้นว่า สื่ออื่นจะด่าว่า หรือแม้นแต่จะจุดธูปเทียนใหม่ นักประชาสัมพันธ์ที่ดีก็จะต้องยอม เพื่อให้ข่าวสารออกมาดีที่สุด และไม่ด่าว่าสื่อ ไม่เยาะเย้ยถากถางสื่อ ไม่กระแหนะกระแหน แสดงความไม่พอใจ ออกมา อย่างเด็ดขาด การประชาสัมพันธ์จึงบรรลุความสำเร็จ
* * * * * * * * * * * * * * * * * *
|