กินข้าวกลางป่า...เขาบรรทัด ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ 9 พฤษภาคม 2552 |
เรื่องกิน ใครบอกว่าไม่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องใหญ่ครับ การกินหรือการรับประทาน ถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติได้อย่างหนึ่ง เมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร เราก็ต้องขนขวาย หาข้าวปลาอาหารมากินกัน แม้นว่าที่นั่นจะแห้งแล้งกันดาร หรือไม่มีจะกิน
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2552 วันนั้นเป็นวันเสาร์ ครับ ผมพร้อมด้วย คุณอำพล บุญจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 เดินทาง เข้าป่าลึก บริเวณเทือกเขาบรรทัด อยู่ในเขตพื้นที่บ้านทับเขือ หมู่ 1 อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง โดยมีภารกิจ ติดตาม นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ตอนนี้ได้รับโปรดเกล้า ฯ ขึ้นเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องเข้าไปในป่าลึก ก็เพราะมีชาวบ้านที่อยู่บนเทือกเขาบรรทัด ถูกเจ้าหน้าที่อุทยาน ไปจับกุมในข้อหาบุกรุกอุทยาน ซึ่งชาวบ้านอ้างว่าอยู่มาก่อนที่จะมีอุทยาน ซะอีก ดังนั้น พวกเราจึงต้องเดินไปดูเพื่อให้เห็นกับตาว่า ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไร เดียวรายละเอียด ผมจะนำมาเล่าให้ฟังในคราวต่อไป เพราะมีเรื่องมีประเด็นทางวิชาการและทางการเมือง จำนวนมาก ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง ครับ เราไปดูเรื่องอาหารการกิน กันดีกว่า ครับ
พวกเรา ใช้เวลาเดินเท้าจากถนนเพชรเกษม ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงบริเวณเขาพับผ้า เข้าไปในป่าลึก ใช้เวลาเดินประมาณ 30 นาที ก็ถึงหมู่บ้านกลางป่า ที่มาตั้งครอบครัวทำสวนยาง และปลูกพืชไร่ ประเภทไม้ยืนต้น เช่นขนุน ต้นเหมียง รวมทั้งมะพร้าว รัฐมนตรี และคณะ ตั้งหน้าตั้งตารับฟังปัญหาจากชาวบ้าน ด้วยความตั้งอกตั้งใจ จนล่วงเลยเวลาการรับประทานอาหาร
จนกระทั่งเวลา 12.30 น. พวกเราจึงได้รับประทานอาหาร ชาวบ้านมีการจัดโต๊ะอาหาร เพื่อให้รัฐมนตรี และคณะได้ทาน แต่ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า รัฐมนตรีทานข้าวกับอะไร แต่คิดว่า คงไม่ต่างจากพวกเรา ผมและท่านเขต (ผอ.สปข.6 อำพล) เป็นคนติดดิน จึงต้องมาตักอาหารกินกันแบบบุฟเฟต์ คนที่มากินอาหารกันในวันนั้น ประมาณ 200 คน เห็นจะได้ แล้วชาวบ้านเขาทำอะไรให้กินกัน ผมเริ่มอยากรู้ขึ้นมาหละซิ กลางป่ากลางเขาลำเนาไพรแบบนี้ จะมีแกงมัสมั่น แกงเขียวหวาน หรือ ว่า สลัดผัก มีน้ำลาด แต่ผมก็ไม่ได้คิดไปไกลว่าจะมี สเต็กเนื้อสัน อย่างดี อะไรประมาณนั้น ให้เราทานกัน
ผมเริ่มสำรวจ โดยเดินไปที่โรงอาหารที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างง่าย ๆ จริง ๆ ต้องเรียกว่า เพิงอาหาร จึงจะถูก เพราะใช้เสาไม้เล็ก ๆ สี่ต้น มุงด้วยผ้ายาง เพียงเพื่อกันแดนกันฝนเท่านั้น ครับ ชาวบ้านทำชั้นวางหม้ออาหาร แบบชั่วคราว ข้างบนมีหม้ออาหารตั้งเรียงรายอยู่ประมาณ 5-6 หม้อ ส่วนข้าวที่หุงไว้ ชาวบ้านเอาใส่ไว้ในถังสีดำขนาดใหญ่
ผมชักหิวละซิครับ จึงเดินไปหยิบจานกับช้อน เข้าแถวเหมือนกับชาวบ้านทั่วไป คนตักข้าว ตักข้าวให้ผม เกือบเต็มจาน ผมต้องร้องบอกเขาไปว่า "พอแล้วครับ เดียวมันจะล้นจาน " เพราะว่าจานใบเล็ก ผมเดินถัดไป ชาวบ้านตักแกงให้ผม แกงที่ว่านี้ ชาวบ้านที่นี่เขาชอบทานกัน เรียกว่า แกงหยวกกล้วยใส่ไก่ ส่วนผสมของอาหารก็คือ ไก่บ้าน เครื่องแกง และที่สำคัญคือ หยวกกล้วย ซึ่งหาได้ไม่ยากครับ เพราะมีอยู่ทั่วไปในป่าเขา โดยเฉพาะเทือกเขาบรรทัด มีอยู่อย่างดาษดื่น แต่ผมไม่รู้ว่า ต้นกล้วยที่เอามาทำอาหาร ใช้ไปกี่ต้น ใช้ไก่ไปกี่ตัว ขืนไปถามชาวบ้านมาก เดียวก็อดกิน เอ้า...เอาเป็นว่าเราไปชิมอาหารก่อนก็แล้วกัน อาหารอีกอย่างหนึ่งที่ ชาวบ้านตักให้คือ ผัดเปรี้ยวหวาน ซึ่งถือว่าเป็นผลผลิตของป่าเขาลำเนาไพร ที่มีอยู่มากมายในพื้นที่ ผัดเปรี้ยวหวานจึงประกอบด้วย สับประรด พริกหยวก หอมหัวใหญ่ และแตงกวา ซึ่งถือว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ เพราะพืชผักที่นำมาทำอาหารก็ได้จากป่า และการปลูกขึ้นมา อาหารทั้งสองชนิดที่ลาดลงบนจานข้าว จึงเปรียบเหมือนน้ำใจของชาวบ้านป่าที่ราดรดบนดวงใจของผม ที่อุตส่าห์ ดั้นด้นมาทานอาหารกลางป่า ณ เทือกเขาบรรทัด ซึ่งผมทานจนเกลี้ยงจาน ด้วยความอร่อย ว่าจะตักเพิ่มอีกก็รู้สึกเกรงใจชาวบ้าน ที่ยังมีแขกจากต่างถิ่นยืนรอถือจานข้าวเพื่อจะทานกันอยู่อีกหลายคน พวกเราบางคนก็เดินทางกลับก่อน อาจจะมองว่า อาหารที่ชาวบ้านทำให้ทานไม่อร่อย แต่ในความรู้สึกของผม มีความเสียดายแทนคนที่ไม่ได้ทานกับพวกเรา เขาเหล่านั้น จึงไม่รู้ว่า รสชาติของอาหารป่าอย่าง แกงหยวกกล้วยใส่ไก่ กับ ผัดเปรี้ยวหวาน มีรสชาติเป็นเช่นไร เสียดายแทนจริง ๆ ครับ เพราะกินข้าวกลางป่าเขาบรรทัด ไม่ได้หากินกันได้ง่าย ๆ เหมือนกับ KFC หรือ สุกี้ MK
* * * * * * *
|