ชีวิตนักข่าวตอน...พี่ครับกลับเถอะ ผมรับผิดชอบเอง
10 มีนาคม 2551
อาชีพนักข่าว เป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมีเวลาเป็นของตนเอง เสาร์อาทิตย์ ก็ไม่ค่อยได้พักผ่อน เสื้อผ้าแทบไม่ต้องซัก การที่จะจ้างร้านหรือคนรู้จักซักให้ ก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะรับราชการครั้งแรกของผมเมื่อปี 2528 เงินเดือนตอนนั้นเพียง 2,765 บาท เป็นอัตราเงินเดือนสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรี ก็จะได้เงินเพียงเท่านี้ ในขณะที่ผมเรียนหนังสืออยู่ที่ ม.รามคำแหง พ่อส่งเงินมาให้ใช้ก็เดือนละ 3,500 บาท ถ้าจะเจียดเงินมาซักผ้าก็ไม่พอหล่ะครับ แต่ผมก็จำได้แม่นเพราะเรื่องเงินเดือนปริญญาตรี มีการถามในข้อสอบด้วย เอาเป็นว่า เสื้อผ้าก็ไม่ค่อยได้ซัก แม้นบางครั้งซักตากไว้ใต้ถุนบ้านก็ไม่ค่อยจะแห้งเพราะฝนที่ภูเก็ตตกทุกวัน เครื่องซักผ้าสมัยก่อน ถือว่าเป็นสิ่งที่หายาก และแพง จึงไม่มีปัญญาที่จะซื้อ การใส่เสื้อผ้า ที่ไม่แห้ง เป็นสิ่งไม่ดีนะครับ เพราะขี้กรากมันจะมาเยี่ยมท่าน ผมก็เช่นกันกว่าจะหาย ก็ต้องเข้าออกโรงพยาบาลผิวหนัง ที่โรงพยาบาลราชเทวี กรุงเทพหลายครั้งแน่ะ
การทำงานเป็นผู้สื่อข่าวที่ สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ภูเก็ต เมื่อก่อนที่อยู่ที่อาศัย ก็ลำบาก ที่ทำงานจะอยู่บนเขารัง ซึ่งเป็นภูเก็ตเตี้ย ๆ ตั้งอยู่ใกล้เมืองภูเก็ต ส่วนบ้านพักจะอยู่ที่ วค. ซึ่งหมายถึง วิทยาลัยครูภูเก็ต บ้านหลังหนึ่งก็ต้องอยู่ 2 คน เฉพาะคนโสด นะครับ มีครอบครัวก็อยู่ไม่ได้หรอกครับ บ้านก็เก้า...เก่า ต้นเสาเท่าต้นขา ใครจะโยกใครจะขย่มอะไร บ้านสั่นสะเทือน มันนอนไม่หลับครับเจ้านาย เพราะต้องนอนวาดภาพตาม การขึ้นไปทำงานมีอยู่หลายวิธี ถ้ามีรถยนต์ หรือ มอเตอร์ไซด์ ก็บิดขึ้นไป ระยะทางก็ประมาณ 4 กิโลเมตร เศษ ถ้าบิดเร็ว ๆ ก็ประมาณ 10 นาที ก็ถึง ที่ทำงาน ซึ่งสามารถขับรถขึ้นได้ 2 ทาง คือ ด้านข้าง โรงพยาบาลวชิรภูเก็ต และด้านวัดคุณชี ซึ่งเป็นวัดที่มีแต่แม่ชีล้วน ๆ ผมอยู่ที่นั่น 14 ปี ผมเข้าวัดนี้เพียง 2 ครั้ง ที่เข้าไปก็เพียงเข้าไปกลับรถยนต์เท่านั้น จะเข้าไปสนทนาธรรม ก็ดูจะไม่เข้าท่า ก็เลยไม่ต้องไปดีกว่า
วันหนึ่งผมจำได้ว่า เป็นวันอาทิตย์ และวันนั้น บนกระดานข่าวมีอยู่ข่าวเดียว คือ ข่าวการประชุมสหกรณ์อำเภอถลาง ซึ่งประชุมในเวลา 14.30 น. ที่อาคารศาลาประชาคมอำเภอถลาง และผมรอที่จะทำข่าวนี้เพียงข่าวเดียว เมื่อถึงเวลาผมพร้อมด้วย พขร. ก็ออกเดินทาง กะว่าจะออกจากสถานีซัก บ่าย 2 โมง เดินทางไปอำเภอถลาง เพียง 30 นาทีก็ถึง ระหว่างทาง ผมก็เห็นรถประจำตำแหน่งของ นายเกียรติพันธุ์ น้อยมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต วิ่งสวนทางมาจากทางอำเภอถลาง ผมก็คิดในใจแล้วว่า พิธีเปิด ต้องเสร็จแล้วอย่างแน่นอน ซึ่งก็เป็นจริงอย่างว่า
พลันที่ผมถึงศาลาประชาคมอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ยังไม่ทันที่รถจะจอดสนิท เจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าของสหกรณ์ ก็ตรงมาที่ผม แล้ว พูดด้วยความไม่สบอารมณ์ว่า ทำไมไม่มาพรุ่งนี้ หล่ะ ผมหันไปสบตา พขร. แล้วก็งงอยู่พักหนึ่ง และคำพูดนี้ พขร.ก็ได้ยิน ผมนิ่งอยู่ไม่ถึงนาที และผมก็พิจารณาคำพูดของเธอแล้ว ผมก็คิดว่า การพูดเช่นนี้ มันเป็นการไม่ให้เกียรติกัน ผมเองก็ไม่ใช่ลูกน้องเขา และที่สำคัญผมตั้งใจที่จะทำข่าวนี้ เพราะทั้งวันผมรอข่าวนี้เพียงข่าวเดียว คำพูดเช่นนี้ จึงไม่น่าจะเหมาะกับการเป็นนักประชาสัมพันธ์ และผมขอบอกนักประชาสัมพันธ์นะครับว่า ถ้านักข่าวไปถึงงานแล้วแม้นว่า เขาจะไปงานไม่ทันตอนพิธีเปิด ก็อย่าไปว่าเขา หน้าที่ของเราตอนนั้นก็ต้องต้อนรับขับสู้ตามอัตภาพ หาน้ำหาท่ามาให้กิน ให้ข้อมูลข่าว เช่น คำกล่าวรายงาน ข้อมูลข่าวต่าง ๆ เป็นต้น ไม่ต้องไปต่อว่าต่อขานนักข่าว เขาหรอก เมื่อเขาไม่ได้ภาพตอนพิธีเปิด แต่ก็ยังมีกิจกรรมอื่น ที่ยังไม่ทำ สิ่งเหล่านี้ ก็สามารถที่จะเก็บเป็นภาพข่าวได้
รุ่งขึ้น เพื่อนร่วมงานที่ไม่ชอบขี้หน้าผม ก็พูดกระทบกระเทียบว่า เราเป็นสื่อของรัฐก็ต้องทำ ไม่ใช่ไม่พอใจก็กลับ ซึ่งผมก็รู้สึกเหมือนกัน เพราะพวกนี้เขาไม่รู้ความรู้สึกเรา พูดไปก็เท่านั้น แต่นายสถานีก็เรียกผมเข้าไปชี้แจง ซึ่งผมก็ได้เล่าตามที่ผมเล่าให้ท่านฟังนี้แหล่ะครับ ซึ่งก็เข้าใจ ความรู้สึกของผม เพราะเราก็ไปแล้ว แต่พอเจอคำพูด อย่างนี้ ผมก็ไม่มีใจและความคิดที่จะทำงานให้ ก็ขอฝากนักประชาสัมพันธ์ทุกท่านก็แล้วกัน ...อาเมน
* * * * * * * * * * * * * |