ชีวิตนักข่าว...ตอน..หมอแก้มแดง โดยณรงค์ ชื่นนิรันดร์ ผู้สื่อข่าว 8 ว.
เมืองตะกั่วป่า เป็นเมืองที่มีความสำคัญมาแต่ในอดีต เพราะถือว่าเป็นเมืองท่าการค้าขายทางเรือกับต่างประเทศมาแต่โบราณ ตามประวัติศาสตร์ความเป็นมา เมืองตะกั่วป่ามีการโยกย้าย ที่ตั้งเมืองหลายครั้ง แรก ๆ มีความเชื่อว่า บริเวณเกาะคอเขา เคยเป็นที่ตั้งเมืองตะกั่วป่าในยุคเริ่มแรก โดย ปโตเรมี นักเดินเรือผู้มีชื่อเสียง เรียกบริเวณนี้ว่า เมืองท่าตะโกลา ปัจจุบันยังมีหลักฐานอยู่ เช่น ฐานที่ตั้งเมือง ถ้วยชาม ลูกปัด พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ สร้อยหินสี เป็นต้น
จากคำล่ำลือของความมหัศจรรย์ เกาะคอเขา เมืองตะโกลา เมืองท่าโบราณ ประมาณกลางปี 2545 ผมได้ชักชวนเพื่อน ๆ ที่เป็นก๊วนจักรยานเสือภูเขา ประมาณ 20 คน ในจำนวนนี้มี ดาบพันธ์ คุณถาวร หมอผมแดง และที่พิเศษมีหมอผู้หญิง ที่พวกเราเรียกเธอว่า หมอแก้มแดง ก็เดินทางไปด้วย ที่เราเรียกว่าหมอแก้มแดง เพราะเธอเป็นถึงแพทย์หญิงที่มาฝึกงานก่อนจบที่โรงพยาบาลตะกั่วป่า เป็นคนรูปร่างดีผิวขาว หน้าตาสดใส ปากแดง โดยไม่ต้องทาลิป ที่สำคัญเธอแก้มแดง ด้วยเลือดฝาดของสาวแรกรุ่น ดูอย่างไรก็น่ารัก ไปหมด แต่เราก็ได้แค่มองเธอ คิดไปมากกว่านั้นก็คงไม่ได้ ความสวยของเธอ จนได้รับเลือกเป็นนางนพมาศชนะเลิศในระดับอำเภอเลยทีเดียว เอาหล่ะพูดถึงหมอแก้มแดงมากไปแล้ว ยังมีหมอผมแดงไปด้วย เธอเป็นแพทย์ผู้หญิง อายุราว 39 ปี เธอย้อมผมออกสีแดง พวกเราจึงเรียกเธอว่าหมอผมแดง ตกลงวันนั้นเรามีหมอเดินทางไปด้วย 2 คน เอ้า...พูดถึงหมอเสียยืดยาว เราไปเริ่มต้นการเดินทางไปเมืองตะโกลา กันดีกว่า
เช้าวันนั้นพวกเรามารวมตัวกันที่ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยตะกั่วป่า เมื่อพร้อมแล้วพวกเราก็ออกเดินทางไปสมทบกับหมอแก้มแดง ที่โรงพยาบาลตะกั่วป่า พวกเราปั่นจักรยานตามถนนเพชรเกษมซึ่งเป็นทางหลวงหมายเลข 4 ระยะทาง ประมาณ 13 กิโลเมตร มุ่งหน้าไปที่บ้านน้ำเค็ม ที่ถูกสึนามิ ถล่มเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2547 นั่นแหล่ะ พอไปถึงท่าเรือ พวกเราแยกย้ายกันยกจักรยานเสือภูเขา ลงเรือหางยาวโดยใช้เรือ 2 ลำ เพราะรถจักรยานหลายคัน เสียค่าโดยสารคนละ 20 บาท เป็นราคาที่รวมจักรยานด้วย ก็นับว่าไม่แพง เรือข้ามฟากใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที ก็พาพวกเรามาถึง เกาะคอเขา หรือเมืองตะโกลา เมืองท่าโบราณ พวกเราเริ่มปั่นไปตามถนนลาดยางอย่างดี ที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ๆ รถยนต์และรถมอเตอร์ไซด์ จะวิ่งสวนทางสักคันก็หายากเต็มที่ พวกเราจึงปั่นแบบอธิบดีกรมทางหลวง เพราะถนนนี้เป็นของเรา เราใช้เวลาปั่นประมาณ 1 ชั่วโมงก็มาถึงสนามบิน
หมอแก้มแดง เห็น สนามบิน ดูเธอตื่นเต้นไม่เชื่อสายตาว่า นี่คือสนามบิน "โอ้โฮ สวยจังเลย ต้นไม้ ไม่มีเลย เห็นแต่ต้นหญ้า " เธออุทาน ด้วยแววตาไร้เดียงสา เพราะไม่เคยเห็น สภาพสนามบินที่มีรันเวย์ เป็นสนามหญ้าสุดลูกหูลูกตา
ผมถือโอกาสนี้อธิบายให้หมอฟังว่า "สนามบิน แห่งนี้เป็นสนามบินที่ จอมพลสฤทธิ์ ธนะรัตน์ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้สร้างขึ้น มีเป้าหมายว่า จะให้เกาะคอเขาเป็นแบบสิงคโปร์ สนามบินมีความยาวประมาณ 2 กม. ตามแนวออก-ตก สภาพเป็นทุ่งหญ้า สามารถรองรับ เครื่องบินขนาดเล็ก " หมอแก้มแดงฟังอย่างตั้งใจ
เกาะคอเขา เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการค้ามาแต่โบราณ เราจึงพบเห็น หลักฐานทางโบราณคดี หลายอย่าง แต่เมืองที่มาตั้งอยู่บริเวณนี้ก็ตั้งอยู่ได้ไม่นาน เพราะเกาะคอเขามักจะถูกถล่มด้วยลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ปีละ 6 เดือน ในช่วงนี้การเดินเรือต้องหยุดนิ่ง การค้าต้องหยุดชะงัก ทำให้การค้าขายต้องพลอยหยุดไปด้วย การตั้งบ้านเรือนจึงอยู่ได้ไม่นานก็ต้องล่มสลายไป ยิ่งการเดินทางโดยทางบกเจริญขึ้น ยิ่งทำให้การเดินเรือด้อยความสำคัญลง จนมีการทำสนามบินขึ้นมาเพื่อจะทำให้เกาะคอเขา กลับมาเจริญมั่งคั่งอีก แต่ก็ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศไม่ได้ และล่มสลายไปในที่สุด ความเจริญ ครั้งล่าสุด ถูกตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเกาะคอเขา แต่ก็ถูกยุบเมื่อปี พ.ศ.2511และย้ายไปตั้งเป็นอำเภอคุระบุรี ที่เดิมชาวบ้านเรียกว่า บ้านนางย่อน ขึ้นตรงกับจังหวัดพังงา
จากนั้นพวกเราก็ปั่นจักรยานต่อไปที่บริเวณชายหาดที่อยู่ใกล้กัน เมื่อไปถึงก็เป็นเวลา ประมาณ 11.30 น.ใกล้เที่ยงพอดี ก็ถึงเวลากินข้าว พวกเราก็เอาอาหารที่เตรียมมา แกะออกจากถุง หาใบไม้มารอง วันนั้นผมซื้อไก่หมุน ไปด้วยตัวนึ่ง พวกเราก็แบ่งกันกินอย่างง่าย ๆ เป็นธรรมชาติมากที่สุด
ดูไปก็อดอิจฉา ดาบพันธุ์ไม่ได้ เพราะคอยเทคแคร์หมอแก้มแดงไม่ยอมห่าง คอยแกะถุงอาหารให้ คอยหาช้อนหาจานให้ ดาบพันธุ์มีความสุขก็ตอนนี้ แหละ แหม...ความจริงดาบพันธุ์ก็อายุประมาณ 55-56 ปี คงไม่คิดอะไร แต่ก็ไม่แน่นะ ดูรูปก็แล้วกัน สนิทกันแค่ไหน เอ้ากินข้าวกันก่อน
บรรยากาศชายทะเล ภายใต้ต้นสน เรียงรายตามแนวชายหาด ลมทะเลอ่อน ๆ ใบสนร่วงโรย ไปตามสายลม แสดงแดดยามบ่าย เริ่มสาดล่องลอดใบสน ลงบนพื้นหญ้า น้ำทะเลกระทบกับแสงอาทิตย์ ส่องแสงระยิบระยับ สลับกับเสียงคลื่น ที่ซัดกระทบฝั่ง ไร้ผู้คน จะได้ยินเฉพาะเสียงจักจั่น ที่เกาะอยู่ตามใบสน
หลังจากที่พวกเรา กินข้าวปลาอาหารอิ่มแล้ว ผมก็เลยถือโอกาส ปั่นเสือภูเขาคู่ชีพ ออกไปเพียงคนเดียว โดยขี่เลียบตามชายหาดมุ่งขึ้นไปทางเหนือไปประมาณ 300 เมตร ห่างจากที่พวกเราทานข้าว จนถึงหัวเกาะ ผมพบกับความตื่นตาตื่นใจ เพราะตรงที่ผมยืนอยู่ สามารถมองเห็นหมู่เกาะสุรินทร์ที่อยู่เหนือขึ้นไป และหมู่เกาะสิมิลัน ที่อยู่ตรงหน้า หัวเกาะคอเขาที่ผมยืนอยู่ เป็นอ่าวเว้าเข้ามา เหมาะที่จะเป็นที่จอดเรือหลบคลื่นลม และน้ำทะเลบริเวณนี้นิ่งมาก ผมเห็นเกาะพระทองอยู่ใกล้ ๆ กับจุดที่ผมยืนห่างออกไปประมาณ 400 เมตร ซึ่งอยู่ใกล้กันมาก แค่เอื้อม ธรรมชาติดูบริสุทธิ์ อากาศสดใส ทรายละเอียด ผมอดใจไม่ได้ที่จะเก็บภาพแห่งความทรงจำนี้ได้ ผมตั้งจักรยานเสือภูเขาไว้ แล้วก็หามุมถ่ายภาพ มันเป็นความทรงจำที่ยากจะลืม แน่นอนคนอื่นไม่มีความรู้สึกเหมือนผมเพราะผมไปที่นั่นคนเดียว ผมปั่นจักรยานกลับมายังจุดที่พวกเรากินข้าว ส่วนหนึ่งล่วงหน้าไปแล้ว แต่ก็มีพรรคพวกอีกส่วนหนึ่ง รอผมอยู่ เพราะกลัวว่าผมจะหลงทาง ตามชายหาดมีต้นสนขึ้นเต็มหาด ทำให้เราไม่รู้ว่าอยู่จุดไหน เพราะเหมือนกันหมด
เมื่อเราพบพรรคพวกที่รออยู่ พวกเราก็ออกเดินทางย้อนกลับทางเดิม มุ่งหน้าไปยังโรงเรียนเกาะคอเขา เพื่อที่จะเดินทางต่อไปยัง หัวเกาะที่เป็นหมู่บ้านชาวประมง พวกเราขี่จักรยานลัดเลาะไปตามทางเดินขึ้นเขาลงห้วย บางแห่งก็ต้องปั่นลุยน้ำ บางช่วงก็ขึ้นเนินเขา ทางค่อนข้างกันดาล ไม่นานพวกเราก็ไปถึงหมู่บ้านชาวประมง อยู่ตรงหัวเกาะคอเขา แน่นอนในสมัยที่เป็นเกาะตะโกลา น่าจะเป็นที่หลบคลื่นลม และท่าเรือในการติดต่อค้าขาย กับต่างประเทศเพราะหัวเกาะถูกขนาบข้างด้วยเกาะพระทองที่อยู่ทางเหนือขึ้นไป ที่นั่นชาวประมงปลูกบ้านเล็ก ๆ แบบชั่วคราว ไม่ค่อยมั่นคงนัก บางหลังก็มีการนำของประเภทโชวห่วยมาขายเล็ก ๆ น้อย เช่น ข้าวเกรียบกุ้ง น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น
พวกเรานั่งสนทนากับชาวประมงถามถึงความเป็นอยู่ ส่วนใหญ่จะทำแต่การประมง นักท่องเที่ยวยังน้อยอยู่เพราะการเดินทางเข้าไปลำบาก และอยู่ไกลจากแหล่งความเจริญ แต่ก็ดูปลอดภัย ชาวประมงส่วนใหญ่ มีความเป็นมิตรและเข้าใจในความเป็นคนไทยที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยว การสื่อสารชาวประมงฟังข่าวสารจาก วิทยุของ สวท.ตะกั่วป่า เพราะฟังได้อยู่สถานีเดียว ส่วนทีวีดูช่อง3 ช่อง 7 ช่อง 11 และช่องไอทีวี ได้เพราะมีสถานีเครื่องส่งอยู่ที่ตะกั่วป่า จากนั้นพวกเราออกเดินทางกลับมาตามเส้นทางเดิม และแวะพักที่ร้านขายของหน้าโรงเรียน เพื่อเตรียมตัวปั่นจักรยานกลับ ตะกั่วป่า
พอแสงแดดยามบ่ายเริ่มอ่อนลง พวกเราเริ่มออกเดินทางกลับ แวะพักเป็นจุด ๆ เพราะเริ่มอ่อนแรง จากแสงแดดที่แผดเผา ก่อนถึงท่าเรือ เราแวะดูสถานีอนามัยเกาะคอเขา วันนั้นเป็นวันเสาร์ ไม่มีคนมาทำงาน จึงดูเงียบเหงา จากนั้นเราแวะพักที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งที่เป็นของเพื่อนนักปั่นคนหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ริมหาด บรรยากาศดีมาก เงียบสงบ ลมทะเลพัดเย็น ๆ ข้างหน้าเป็นเกาะเล็ก ๆ เกาะหนึ่งชื่อเกาะผักกาด เกาะแห่งนี้เป็นเกาะที่มีพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ หาดทรายขาวสะอาดฝรั่งชอบไปเที่ยวและอาบแดด เพราะไร้สิ่งรบกวน พอเกิดสึนามิถล่ม ทำให้พื้นที่เกาะหายไปเกือบครึ่งค่อนเกาะ อากาศเริ่มเย็นลง พวกเราจึงต้องกลับ ลงเรือ ที่ท่าเรือที่อยู่ไม่ไกลนัก
การไปเกาะคอเขา เมืองตะโกลา ครั้งนี้เสียดายที่พวกเราไม่ได้แวะเข้าไปดูเมืองเก่า เพราะเวลาไม่ค่อยจะอำนวย เราจึงต้องรีบกลับ เพราะดูแต่ละคนอ่อนล้า ไร้เรี่ยวแรง
เรือหางยาวพาพวกเราถึงฝั่งบ้านน้ำเค็ม จากนั้นพวกเราก็ใช้สองขาปั่นกลับบ้าน ดูหมอแก้มแดงท่าจะไม่ไหวเพราะรถจักรยานของเธอ ดูออกจะหนักเพราะใช้ยี่ห้อ แอลเอ สีแดง โครงเหล็กโคโมลี่ จึงทำให้การปั่นออกตัวช้าและหนัก ก่อนจะถึงที่หมาย คือโรงพยาบาลตะกั่วป่าประมาณ 500 เมตร ฝนตกลงมาอย่างหนัก ฟ้าแลบแปลบปลาบ พวกเราต้องหลบฝนที่ร้านซ่อมไดนาโมแห่งหนึ่ง ที่อยู่ข้างทาง เพราะถ้าปั่นไปอาจจะถูกฟ้าผ่าตาย ห่า ...ได้ ฝนตกประมาณ 30 นาที ฝนก็หยุดตก พวกเราก็พากันปั่นกลับบ้าน ก่อนที่ผม จะแยกย้าย หมอแก้มแดง เธอหันมาทางผมแล้ว บอกว่า แล้วค่อยพบกันนะพี่ โอ้ย..ใจชื้นขึ้นมา มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก ยิ่งกว่าได้สูดดมกลิ่นดอกลีลาวดี มาเชยชม โอ้ย...ถ้าเรายังหนุ่มแน่น คิดไปไกลแน่ โชคดีนะหมอ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ผมไม่ได้เจอเธออีกเลย โอ้อนิจจา ไอ้แก้ว
* * * * * * * * * * * * |