www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 26 คน
 สถิติเมื่อวาน 100 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
996 คน
38223 คน
1730667 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

เหมืองโชน...เหมืองดีบุก ตำนานที่ต้องกล่าวถึง

                       

   

 
                            เหมืองโชน เหมืองแร่ดีบุก ที่ตำนานต้องกล่าวถึง
27 กันยายน 2544
คำสัมภาษณ์ คำต่อคำ
นายสนชัย  ราชโรจน์  นักวิชาการป่าไม้ 7 ว.
ปฏิบัติหัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีพังงา อ.คุระบุรี จ.พังงา
 
สัมภาษณ์โดย
นายณรงค์ ชื่นนิรันดร์ ผู้สื่อข่าว 7
สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา
 
* * * * * * *
                        
 
-    คำถาม     ในเรื่องของเหมืองโชน เป็นเหมืองอันเก่าแก่ของจังหวัดพังงาบ้านเรานี้นะครับ หลายคนก็ไม่มีโอกาสได้เข้าไป ท่านได้เดินทางเข้าไปมีสภาพเป็นอย่างไร และห่างไกลในที่ตั้งอุทยานแห่งชาติมากน้อยแค่ไหน
-    คุณสนชัย ก่อนที่จะพูดเล่าให้ฟังว่ามันอยู่ที่ไหน อยากจะเรียนว่าก่อนที่ผมจะเดินทางไปที่นั่น เมื่อคราวที่ผมมารับงานเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีพังงาที่นี่ ผมได้รับฟังเรื่องน้ำตกพันเมตรโดยบังเอิญจากชาวบ้าน พูดถึงน้ำตกพันเมตรเอาไว้ ซึ่งต่อมาผมพยายามที่จะสอบถามว่าน้ำตกพันเมตรมันมีจริงหรือไม่ และมันอยู่ที่ใด หลายคนพูดว่ามันมีจริง แต่เมื่อถามว่าเส้นทางที่จะไปมันอยู่ที่ไหน กลับไม่มีคนทราบ ก็มันก็ฝังอยู่ในใจผมอยู่ตลอดมา ต่อมาผมก็ได้ยินคนพูดถึงเหมืองโชน ผมก็สนใจ พอจะทราบข่าวว่าเหมืองโชน ได้มีการทำเหมืองอยู่บนภูเขาสูง เป็นเหมืองร้างเก่า แต่พยายามหาคนที่จะนำไปเหมืองโชน หาไม่ได้ ต่อมามีเหตุบังเอิญผมได้ไปประสานงานหน่วยพิทักษ์ หน่วยอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ในความรับผิดชอบของเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าคลองนาคา ก็ได้บังเอิญรู้จักกับเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ที่นั่นเขาอาสาที่จะพาไป บอกว่าเหมืองโชนมีจริง น้ำตกพันเมตรมีจริง ซึ่งอยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จังหวัดระนอง ผมก็เลยกำหนดวางแผนการเดินทางไปสำรวจ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2544 ในการเดินทางไปครั้งนั้นเราได้วางแผนเดินทางไปโดยไม่ทราบว่าเส้นทางจะเป็นอย่างไร เพราะเราไม่เคยเดิน ก็ประมาณว่าจะเดินทาง 1 วัน จากการสืบถามข้อมูลบอกว่าจะต้องใช้เวลาในการเดินทาง 1 วัน เพราะระยะทางที่เดินทางนั้นประมาณ 20 กิโลเมตร เดินทางในป่านะครับ โดยให้เจ้าหน้าที่ของเขตอนุรักษ์พันธุ์นำไป เราออกจากอุทยานแห่งชาติศรีพังงาเช้าไปถึงหน่วยอนุรักษ์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่บ้านกำพวน เวลาประมาณ 9 โมงเช้า หลังจากนั้นเตรียมตัวประมาณ 20 นาที ปรากฎว่าต้องเดินลัดเลาะไปตามเส้นทางซึ่งทราบว่าเป็นเส้นทางซึ่งท่านจอมพลสฤษดิ์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี) เคยก่อสร้าง นำรถตีนตะขาบขึ้นไปเพื่อที่จะทำแร่ (แร่ดีบุก) ที่เหมืองโชน แต่ว่าเส้นทางนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์มานานจึงรกร้างว่างเปล่าและรกมาก เราเดินทางไปในเส้นทางนี้ได้เป็นบางส่วน เพราะเราต้องลงเดินในคลอง ในห้วย เพราะว่าเส้นทางมันรกมาก และก็เส้นทางมันพังทะลาย ก็เดินไปตามลำห้วยแล้วก็ไปไต่ขึ้นยอดเขา ลัดเลาะสลับกันไปตลอดเวลาจนกระทั่งถึงยอดเขา และเดินถึงเหมืองโชนเวลา 1 ทุ่ม ก็คิดว่าใช้เวลาในการเดินทางนานมาก เป็นระยะทางที่ไกล แล้วก็เส้นทางรก มีทากเยอะ เป็นป่าที่รกมาก เมื่อไปถึงที่เหมืองโชนก็หายเหนื่อย เพราะว่าเห็นสภาพพื้นที่แล้ว เป็นพื้นที่ราบบนเขา แล้วมีที่เรียกว่าเหมืองโชน เพิ่งจะเข้าใจก็คือมีเฟิร์นโชนอยู่มาก จึงได้ชื่อว่าเหมืองโชน
         
เหมืองโชนเมื่อตรวจพิกัดแล้วปรากฎว่าอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา รอยต่อระหว่างเทือกเขาแดนและเทือกเขาพระหมีด้าน จ.สุราษฎร์ธานี และก็เป็นพื้นที่ 3 เส้า รอยต่อกับจังหวัดพังงาด้วย ตรงเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างสุราษฎร์ธานีด้วย ก็นอนพักที่บริเวณริมคลองที่เหมืองโชน คืนหนึ่ง หลังจากนั้นก็ได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ได้ทราบว่าเป็นเขตแดน เห็นว่ามีภูมิทัศน์ที่สวยงาม เมื่อมองจากยอดเขาแดน เมื่อไปตรวจสอบเขาแดนในวันรุ่งขึ้นนั้นปรากฏว่าเขาแดนเป็นเทือกเขา สันเขาแบ่งเขตแดนระหว่างจังหวัดพังงากับจังหวัดระนอง สามารถมองเห็นภูมิทัศน์ทางด้านทะเลฝั่งตะวันตกอันดามันได้อย่างดี และก็ความสูงของภูเขาสูงพันสามร้อยกว่าเมตร เป็นจุดที่สูงที่สุดในย่านนี้ ก็สามารถมองเห็นภูมิทัศน์รอบพื้นที่ได้สวยงามมาก 
         
ในวันที่สอง หลังจากนั้นเราก็กลับมานอนที่บนเขาแดน ผมอยากจะพูดถึงอันหนึ่งที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ มีประโยชน์ทางด้านป่าไม้จึงมีร่องรอยสัตว์ป่าชุกชุม ร่องรอยของช้าง ร่องรอยของสมเสร็จ กระทิง ที่เราพบร่องรอยเห็นมีขี้ มีอะไรให้เห็นชัดเจน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงมากนะครับ จากนั้นเราก็กลับมานอน รุ่งเช้าคณะสำรวจไปสำรวจพื้นที่เขาเรียกว่าน้ำตกพันเมตร น้ำตกพันเมตรนี่ เดินออกจากบริเวณที่พักไปอีกเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร เดินไปตามลำคลอง ลำห้วยที่ไหลมาจากเทือกเขาแดน แล้วก็เดินไปจนถึงจุดที่เป็นยอดของน้ำตก วัดพิกัดได้ 1,200 เมตรเศษ จากระดับน้ำทะเล น้ำตกขณะที่ไปเป็นหน้าแล้ง แต่มีน้ำตกไหลพอประมาณ เยอะพอสมควร สิ่งที่อัศจรรย์ใจที่สุดของน้ำตกพันเมตรก็คือ หินผาที่เป็นน้ำตกมันเป็นหินสีขาวหมดเลย ไม่ใช่หินสีดำ มันเป็นหินสีขาวทั้งหมด ที่หน้าผาแล้วก็น้ำตก ตกรวดจนถึงพื้นล่าง ทำมุมเป็นแนวดิ่งประมาณ 15 องศา ตกยาวลงไปเลย ไม่มีชั้น หมายความว่าตกยาวไปเลยนะ ทำมุมกับแนวดิ่งประมาณ 15 องศา และก็ไปตามลาดเขา ผมได้ไต่ลงไปข้างล่างไปวัดระดับที่ข้างล่าง ถ้าผมจำไม่ผิดตอนนั้นไม่มีการบันทึกไว้ แต่ว่ามีการสูญหายของข้อมูล จะกลับไปสำรวจใหม่ แต่ว่า ถ้าผมจำไม่ผิดตอนนั้นความสูงที่ใต้น้ำตกวัดได้ประมาณ 300 กว่าเมตร   ความจริงน้ำตกสูงประมาณ 900 เมตรเท่านั้นเอง แต่อยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 1,200 กว่าเมตร ก็เลยถึงว่าเป็นน้ำตกที่สูงมาก สวยงาม น้ำที่ไหลจากน้ำตกจะไหลลงคลองแสง เมื่อนั่งอยู่บนยอดน้ำตกก็จะมองเห็นคลองแสง เพราะฉะนั้นตรงจุดน้ำตกเป็นจุดรอยต่อระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านาคากับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง แต่น้ำเมื่อตกแล้วจะเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ไม่ได้อยู่ในจังหวัดพังงา
         
สิ่งทีประทับใจมากจากการไปสำรวจน้ำตกก็คือ เพราะว่าน้ำตกเป็นหินสีขาวสะอาด เป็นน้ำตกสูงมาก และเห็นภูมิทัศน์รอบข้างสวยงาม อุดมสมบูรณ์ เห็นแล้วชื่นใจ วันที่ 3 เราไปสำรวจร่องรอยการทำเหมือง ซึ่งเคยมีการทำเหมืองอยู่บนบริเวณนั้น สำรวจพบถ้ำที่มีการขุดเจาะทำเหมืองและก็พบร่องรอยการใช้แรงคน แต่ว่าเป็นเหมืองร้างหมดแล้ว และก็พบรถยนต์สมัยเก่า ซึ่งทราบว่าท่านจอมพลสฤษดิ์ เคยเอาขึ้นไป ร่องรอยของตีนตะขาบจอดทิ้งไว้ ก็ผุเสียหายแล้ว แต่ก็ทำให้เราทราบว่าพื้นที่นั้นเคยมาใช้ประโยชน์การทำเหมืองแร่ แต่เมื่อสอบถามว่าทำไมไม่มีการทำเหมืองแร่อีก ก็ทราบว่าแร่มีไม่มากอย่างที่คิด ไม่คุ้มกับการลงทุนก็เลยเลิกไป
        
ธรรมชาติที่นั่นที่เราพบความสวยงาม ที่เราไม่เคยพบที่อื่นก็คือ ต้นเต่าล้างที่โน่น คนสามคนยืนบังไม่มิด ใหญ่มาก เฟิร์น ผมไม่แน่ใจว่าเขาเรียกเฟิร์นอะไร ซึ่งปกติที่เราเห็นข้างล่างนี่มันสูงเพียง 1 ฟุตเศษ ๆ แต่ที่เหมืองโชนมันสูงถึงไล่คน มันมีความอุดมสมบูรณ์ สูงมาก แสดงให้เห็นว่าไม่มีคนรบกวนและก็มีพืชพวกรองเท้านารีให้เราพบ แต่บนเหมืองโชนก็คือว่า มันเป็นพืชที่อ่อนไหลง่าย การกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก เพราะว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าชุกชุม สองพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่สำคัญ การที่จะเปิดให้คนไปเที่ยวไปชมจะเป็นอันตรายต่อธรรมชาติอย่างมาก เรื่องนั้นผมกำลังกังวลจึงไม่นำไปเผยแพร่ออกไป จะนำเสนอกรมป่าไม้ก่อน แล้วจะวางแผนการจัดการพื้นที่ตรงนั้นเสียก่อน เพราะถ้าหากว่าคนเข้าไปกระทบกระเทือนสิ่งแวดล้อมมากเหมือนอย่างที่ปรากฏที่แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทำให้ธรรมชาติเสื่อมโทรมและจะกระทบกระเทือนกับสัตว์ป่า กระทบกับธรรมชาติ เรื่องนี้จะต้องวางแผนการอย่างรัดกุม
 
- คำถาม  อย่างที่เหมืองโชนนี่ ร่องรอยของรถยนต์ ยังมีซากอยู่ไหมครับ
- คุณสนชัย    ยังมีร่องรอยอยู่ครับ และยังพบเครื่องมือขุดแร่ที่ใช้แรงงานคนที่เป็นเสียม และที่เป็นเครื่องจักร เราพบซากรถยนต์ รถตีนตะขาบ มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ มีกระท่อมร้างบ้านพักคนงาน มีท่อส่งน้ำที่ใช้ฉีดแร่ มีฝายเก่าซึ่งพังแล้ว แต่ร่องรอยของฝาย ที่เป็นฝายกั้นน้ำ พบถ้ำ มีถ้ำหนึ่งยังระเบิดที่เขาเรียกทีเอ็นที สอดอยู่ ซึ่งเราก็ไม่ได้ดึงออก เราก็เข้าไปในถ้ำนั้น ถ้ำนั้นขณะนี้เป็นที่อยู่อาศัยของพวกค้างคาว เราเข้าไปมีถ้ำใหญ่ ๆ อยู่ 2 ถ้ำ แต่เรายังว่ามีถ้ำอีก อีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไป คิดว่าจะไปสำรวจในคราวหน้า
 
- คำถาม  แสดงว่าในสมัยก่อนเท่าที่ผมทราบจากคนแก่ ๆ เขาบอกว่าก็ทำมาหลายชั่วอายคนแล้วนี่คงมีหลักฐานอื่นมากไหมครับ
- คุณสนชัย ที่พบมีอีกก็คือซากของ ที่เคารพบูชาศาลของเขานะฮะ และหลุมแร่ต่าง ๆ ที่เราพบ นอกจากนั้น ไม่มีอะไร อีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะพูดก็คือ ในตอนขากลับ เราพบท่านคงจำได้ว่าครั้งหนึ่งเครื่องบินไปตกเราไปพบเครื่องบินตัวนี้ด้วยในตอนขากลับ เห็นว่าเป็นเครื่องบินของนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ แล้วก็มาขับชนกับภูเขา และก็ได้มีการกู้เอาศพไป พบซากเครื่องบินนั้นตรงยอดเขาแดง ยังมีซากปรักหักพังของเคาองบินอยู่ มีให้เห็นเป็นหลักฐานอยู่ (ข้อเท็จจริงของเครื่องบินเป็นเครื่องบินฝึกบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ชนิด 2 ที่นั่ง ฝึกบินจากสิงคโปร์ แวะพักภูเก็ต จากนั้นเครื่องบินบินขึ้นจะไประนอง ทัศนวิสัยไม่ดี พุ่งชนภูเขา ทำให้ครูและลูกศิษย์นักบินเสียชีวิตทั้งสองคน เหตุเกิด พ.ศ. 2540)
 
- คำถาม ซึ่งก็ตื่นเต้นนะครับ ท่านที่เข้าไปดูก็ต้องรักษาตรงนั้นไว้ก่อน ก่อนที่จะเดินเข้าไปหรือให้คนเข้าไปนะครับ แต่ว่าฟังไว้ว่า คือส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ยังอยู่และก็ยังคงอยู่ต่อไป ท่านจะฝากไปถึงท่านที่ฟังอยู่ที่บ้านอย่างไรบ้างไหมครับ เราควรจะเข้าไปไหม หรือว่าควรทำอย่างไรในสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นความดีใจที่เราได้พบตรงนี้
- คุณสนชัย ครับในความเห็นของผมนะครับประการที่ 1 พื้นที่ที่ผมได้เข้าไปพบเป็นพื้นที่ที่นักอนุรักษ์ควรจะภูมิใจนะครับ เพราะเป็นพื้นที่ต้นน้ำแล้วก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์สูงมาก จริงอยู่พื้นที่ตรงนี้มีสิ่งที่น่าสนใจที่จะศึกษาและท่องเที่ยว แต่ว่าพื้นที่ตรงนี้มีความล่อแหลมต่อการกระทบกระทั่งต่อสิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่ามาก ดังนั้นสิ่งที่ผมคิดถึง ประการที่ 2 ก็คือว่า พื้นที่ตรงนี้หากเปิดให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวก็จะเป็นอันตรายกับพื้นที่มาก เว้นเสียแต่ผู้จะนิยมเข้าศึกษาจริง ๆ ไม่ใช่เข้าไปพักผ่อนหย่อนใจ เพราะความสะดวกที่จะเกิดจากที่นั่นก็ไม่มีห้องน้ำห้องส้วม เราไม่สามารถที่จะไปสร้างแถบนี้กับนักท่องเที่ยว และให้มีห้องน้ำห้องส้วมอยู่ซึ่งจะเป็นการทำลายธรรมชาตินะครับ ฉะนั้นสิ่งที่เป็นห่วงเมื่อท่านได้ทราบข่าวนี้ ผมคิดว่า ขอให้ท่านเก็บความรู้สึกภูมิใจนี้ไว้ในใจก่อนทางอุทยานแห่งชาติศรีพังงาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา หรือคลองแสงได้วางแผนในภายหลัง และจากที่ได้วางแผนได้จัดการอย่างมีระบบ แล้วที่รัดกุม และสามารถที่จะให้ท่านเข้าไปเยี่ยมชม เราก็คงไม่ขัดข้องครับ ที่จะให้ท่านเข้าไป ขอให้ท่านอดใจสักนิด และสิ่งที่อยากจะเรียนก็คือ เดินทางไกลมาก สภาพของร่างกายต้องพร้อม และก็มีทาก มีสัตว์ป่า ที่อุดมสมบูรณ์ มีความชุกชุมของสัตว์มาก เพราะฉะนั้นอาจเกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยวได้ ยิ่งน้ำตกพันเมตร ท่านพลาดท่านก็หมายถึงชีวิตทันทีนะครับ ไม่ใช่แต่ความสวยงาม มันเป็นอันตรายด้วย ก็ขอฝากขอเรียนว่า สิ่งที่ผมไปพบเห็นมานี้มันเป็นคุณค่าของสามจังหวัดเขานะครับ เป็นความภูมิใจ เพราะฉะนั้นขอให้ช่วยกันรักษาตรงนี้ด้วยนะครับ.
 
 
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
 
 
 
เหมืองโชน เหมืองแร่ดีบุก ที่ตำนานต้องกล่าวถึง
สัมภาษณ์คำต่อคำแป๊ะปุ่นจ้อง หรือนายปุ่นจ้อง แซ่หลี อายุ 88 ปี
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2543
สัมภาษณ์โดยนายณรงค์ ชื่นนิรันดร์ ผู้สื่อข่าว 7
สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
 
* * * * * * * * * *
 
- คำถาม เรียนถามถึงที่มาที่ไปของเหมืองโชน เป็นอย่างไรบ้างครับ
-แป๊ะปุ่นจ้อง เวลานี้มันลำบากเสียแล้ว แล้วไม่มีใครขึ้นใครลงเลย คนเคยเดิน เดินถึงถ้าไม่เคยเดินเดินไม่ถึง ทางมันกันดาร
- คำถาม แป๊ะครับแป๊ะ ได้ทำงานกับเหมืองโชน เมื่ออายุเท่าไหร่ครับ
-แป๊ะบุ่นจ้อง ผมเข้าไปทำงาน พ.ศ. 2472 ผมเป็นเสมียนอยู่ที่ทางใต้ ที่นางย่อนหรือที่ท่าข้าม ตำบลคุระบุรี  มาทีหลังผมก็ไปอยู่บนเหมือง แล้วก็จนกระทั่งว่า เขาใช้ระเบิดหินกัน และก็พอมาเผา มาตำ มาล้าง เป็นแร่ แล้วก็จ้างคนหาบลงมา มาภายหลังพระอร่ามก็ตั้งกั้นทำนบ ทำเป็นท่อนี้เป็นหัวฉีด เป็นเหมืองฉีดดิน ฉีดไปฉีดไปมันก็ไม่ค่อยคุ้ม แต่ก็พอทำได้ ภายหลังพระอร่ามก็ไปสั่งซื้อเครื่องมา เครื่องบดบดหิน แล้วก็มาตั้ง ก็ตั้งเครื่องบั่นไฟฟ้า มอเตอร์ไดนาโมต่อสายปรับที่ทำ ทำโดยใช้ระเบิดแบบที่ว่าเจาะด้วยมือ ใช้ค้อนทุบเหล็กเจาะลงไปใช้ระเบิดจนกระทั่งว่ามาภายหลัง เมื่อพระอร่ามหมดอายุไปแล้ว (ตาย) กองมรดกไปทำเหมืองก็แบบเดียวกัน ได้หินมาก็มาบดอย่างว่า ไม่ได้เผาอย่างเมื่อก่อน ที่นี่มาทีหลังก็ทำไปขายไปเสียเลย (ขายกิจการเพราะขาดทุน) ขายให้คุณเจียร วานิช (ปู่คุณอัญชลี วานิช สส ภูเก็ต) จ.ภูเก็ต คุณเจียรทำอยู่สัก 2-3 ปีมั้ง ให้คนนี้มาทำบ้าง ให้คนโน้นมาทำบ้าง ก็สู้ไม่ไหว (คือหมายถึงขาดทุน) เพราะว่าทุนไม่คุ้มกัน ก็เลยขายไปให้บูรพา บูรพามาทำก็ทำเครื่องเจาะ ใช้เครื่องใหญ่มาเจาะมาทำจนกระทั่งว่า ทำไปทำมาก็มาเปลี่ยนผู้จัดการ พอเปลี่ยนผู้จัดการเหมืองก็ตกทันทีเลย (ขาดทุนทันที) มันไม่เหมือนอย่างที่ทำอย่างครั้งก่อน ๆ เพราะว่าผู้จัดการความรู้อย่างไรก็ไม่ทราบ แล้วก็องค์การเหมืองแร่ให้เช่า (หมายถึงองค์การเหมืองแร่ในทะเลที่ภูเก็ตไปเช่า ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว) องค์การไปเช่าแล้วก็เบิกทางขึ้นไปทางกำพวน แล้วก็เอาเครื่องใหญ่ไปตั้งเลย ไปตั้งเจาะ ต่อมาบูรพาเอากลับมาอีก (บริษัทบูรพา จำกัดของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) พอทำทำก็เลิกกันไปอย่างนั้นแหละ
- คำถาม ช่วงไหนที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้าไป
-แป๊ะบุ่นจ้อง จอมพลสฤษดิ์ไม่ได้ขึ้นไป ว่าจะขึ้นไป ไปไม่ถูก ทำที่ทำทางไว้เสร็จแล้ว ฮ.จะลงไปไม่ถูก คนนำไม่ถูก เลยไม่ได้ลงไปดู
- คำถาม ขายให้จอมพลสฤษดิ์ทำปีไหน ตกลงจอมพลสฤษดิ์ เข้าไปทำเหมืองแร่ไหม
- แป๊ะบุ่นจ้อง ทำฮะ ทำเหมืองแร่ฮะ
- คำถาม ช่วงไหนฮะแป๊ะ
- แป๊ะบุ่นจ้อง ช่วง พ.ศ. 2501-2502 แล้วทำมา ทำมา แล้วเปลี่ยนผู้จัดการก็เลยทำไม่ได้
- คำถาม แล้วทำไม่ได้ แล้วทำอย่างไรล่ะ
-แป๊ะบุ่นจ้อง ก็เลยหยุดกันไป ผมลาออกแล้วเวลานั้น เพราะไปไม่ไหวแล้ว ก็เลยออก จากนั้นก็หยุดกันไปเลย
- คำถาม แล้วทราบไหมว่าญี่ปุ่นเข้าไปซื้อเหมืองโชนต่อจากนั้นใช่ไหมครับ
- แป๊ะบุ่นจ้อง พวกญี่ปุ่นไปดูเหมือนกัน ไปดูแล้วก็ไม่ขายให้คนต่างชาตินี่ ไม่ขายให้คนต่างชาติก็เลยเขาก็เอาไม่ได้
-คำถาม   แต่เข้าไปสำรวจใช่ไหมครับ
- แป็ะบุ่นจ้อง เขาไปดูหน้าเหมืองหิน เรียกว่าเขาโชน ที่มีแร่ เป็นภูเขาลูกหนึ่ง พื้นทราย     เล็ก ๆน้อย ๆ ก็มีแร่เหมือนกันไม่ใช่ไม่มี ที่นี่เขาบอกว่าตามโครงการจะเอา ฮ.ลงไป ที่นี่ทางรัฐบาลก็ไม่ยอมให้  ก็กลัวว่าจะมีอะไรสักอย่าง ก็เลยไม่ยอมให้ ก็เลยคุณเจียรขายไปให้บูรพา
- คำถาม อยากจะเรียนถามแป๊ะอีกนิดหนึ่งว่าที่พระอร่าม สาครเขต เข้าไปเหมืองโชนปีไหนครับ
- แป๊ะบุ่นจ้อง   พระอร่ามทำก่อนหน้านั้น 30-40 ปีมาแล้ว แต่ทำแบบโบราณ มาเมื่อตัดทางขึ้นไป พระอร่ามก็ขึ้นไปทุกปีนะครับ ไปทุกปี ไปดูทุกปี
- คำถาม แล้วแป๊ะเข้าไปทำงานกับพระอร่าม แป๊ะอายุเท่าไหร่นะครับตอนนั้น
- แป๊ะบุ่นจ้อง อายุของผมก็อายุ 27-28 ปีแล้ว
- คำถาม แล้วตอนนั้นพระอร่ามอายุเท่าไหร่
- แป๊ะบุ่นจ้อง   พระอร่ามอายุเวลานั้นก็ 50 กว่าปี พออายุ 60 ปี ก็สิ้นอายุไปเลย
- คำถาม พระอร่ามเป็นคนจีนที่อยู่ภูเก็ตใช่ไหมครับ
- แป๊ะบุ่นจ้อง   จีนภูเก็ต มาจากจีนปีนังมาอยู่ภูเก็ต
- คำถาม เป็นคนมั่งคั่งมาอยู่ภูเก็ตใช่ไหมครับ
- แป๊ะบุ่นจ้อง ครับ เป็นคนที่ใจดีโอบอ้อมอารีกับราษฎรทุกคน ไม่ถือตัวว่าเป็นคนต่ำช้าอย่างไรมาคุยด้วยแกก็คุยด้วย ไม่เหมือนเถ้าแก่อื่น ๆ เขา คนอื่นเขาถ้าแต่งตัวไม่สุภาพ ไม่มีอะไร คนจนละก็ เขาไม่คุยด้วย เขาจะไล่ไปเลย แต่พระอร่ามเอาทั้งนั้น
- คำถาม พระอร่ามนี้เป็นคนจีนมาจากเมืองจีนปีนัง  แล้วก็มาอยู่ภูเก็ตตั้งแต่เด็ก มีอัธยาศัยดีมากเลยใช่ไหมครับ ความลำบากของการเดินทางเข้าไปเมืองโชนสมัยก่อนเป็นยังไงบ้าง
- แป๊ะบุ่นจ้อง   สมัยก่อนเดินทางลำบากมาก เดินวันหนึ่ง เดินจากท่าข้ามไปที่กงสีใหญ่เขาเอาเสบียงไปไว้ เอาเสบียงขึ้นไปคนเดินก็วันหนึ่ง
- คำถาม ตอนที่ทำสะพาน ทำสะพานเข้าไปเป็นอย่างไร
- แป๊ะบุ่นจ้อง สะพานนี้ผมไม่ได้ไปดูหลายปีแล้ว รู้ข่าวว่าพื้นบนไม่มี ปูไม้หน้าสาม หน้าห้า แล้วก็น้ำลอยเอาอะไรไปนี่แหละ แล้วก็ทีหลังทำโรงเลื่อย ที่นางย่อนเขาทำโรงเลื่อย โค่นไม้ กิ่งไม้ อะไรมาปะทะที่เสาก็ไปหมดเลย ตั้งแต่นั้นมาผมก็ไม่ได้ขึ้นไปดูเลย
- คำถาม ก็ไม่ได้ขึ้นไปดูเลย
- แป๊ะบุ่นจ้อง    ก็ไม่ได้ขึ้นไปที่สะพานนั้นเลย
- คำถาม ตอนนี้แป๊ะอายุเท่าไหร่แล้ว
- แป๊ะบุ่นจ้อง   ตอนนี้ 88 ปีแล้ว
- คำถาม อยากจะถามแป๊ะอีกนิดหนึ่ง ลักษณะของเหมืองโชนมันเป็นอย่างไรเมื่อเขาไปดู แล้วอยากจะให้แป๊ะช่วยบรรยายให้ฟัง เป็นภูเขา หรือเป็นหน้าผา เป็นยังไง
- แป๊ะบุ่นจ้อง เวลานั้นเขาทำเป็นอุโมงเข้าไป ไม่ได้เจาะหน้าผา ก่อนหน้านี้พระอร่ามเจาะหน้าผา ท่านคุณเจียรก็เจาะหน้าผา ท่านบูรพาเจาะอุโมงเข้าไปเอาแร่ แต่ตามนึกคิดของพระอร่ามบอกว่าแร่นี้อยู่ใต้ลงไปอีก ไม่ได้อยู่ชั้นนั้น   แกขุดอุโมงดินที่ตั้งเครื่องขุดให้ทะลุไป แล้วเอาน้ำไปฉีดล้างภูเขาให้หมด แล้วจะตั้งเครื่องตรงนั้น ที่นี้แกมาเสียชีวิตเสียก่อน
- คำถาม แล้วตอนนี้อุโมงก็ยังมีอยู่ใช่ไหม
- แป๊ะบุ่นจ้อง ยังมีอยู่ ถึงมีก็พังไปบ้างแล้ว อุโมงน้ำ จะพ่นน้ำเข้าไปได้สักครึ่งได้
- คำถาม ประมาณกี่เมตรได้ถ้าเข้าไป ความลึกของอุโมงตัวนี้
- แป๊ะบุ่นจ้องความลึกที่ยาวไปก็ 50-60 เมตรได้ เพราะเมื่อพระอร่ามเสียชีวิตก็ไม่ได้ทำต่อ
- คำถาม อยากจะถามว่าเหมืองโชนที่เข้าไปทำ แปลว่ามีแร่ดีบุกมากใช่ไหมครับ
- แป๊ะบุ่นจ้อง   มากครับ
- คำถาม มากแค่ไหน
- แป๊ะบุ่นจ้อง       แล้วแต่เครื่องมือที่จะทำออกมา อย่างนี้เขาทำนั้นที่ระเบิดออกมาที่มีแร่ เขาเอามาโม่ ถ้าไม่มีแร่ก็โกยไปลงเหว เป็นหินทั้งนั้น แต่ที่พระอร่ามคิดจะล้างภูเขาล้างดินให้หมด แต่ที่นั่นก็มีแร่เหมือนกัน กะว่าจะไปเอาแร่ที่ในคลองข้างล่าง แต่ทำไมถึง พระอร่ามมาเสียชีวิตเสียก่อน
- คำถาม แปลว่าเขาลูกนั้นใหญ่มากใช่ไหม
- แป๊ะบุ่นจ้อง       ใช่ครับใหญ่
- คำถาม ตอนนั้นความอุดมสมบูรณ์ของแร่ถ้าพูดถึงกี่เปอร์เซ็นต์ของที่ออกมา
- แป๊ะบุ่นจ้อง       เปอร์เซ็นต์ของแร่ดีมาก
- คำถาม เป็นแร่ที่ดีที่สุดบอกอย่างนั้นได้ไหมครับ
- แป๊ะบุ่นจ้อง       แร่ดีบุก 72 % กรณีแร่ที่แยก ถ้าแยกดีก็ 74% 
- คำถาม แล้วทราบว่าตอนนั้น ในนั้นบุคคลเข้าไปค่อนข้างยาก ถามว่ามีน้ำตกที่สวยงามอยู่ในนั้น เป็นอย่างไรครับ
- แป๊ะบุ่นจ้อง       มีน้ำตกในนั้น แต่ต้องบุกป่า บุกคลองเข้าไป ต้องไปตามคลองหาง่ายกว่า ถ้าบุกป่าเข้าไปมันไม่ไหว มันมีอยู่ 2 น้ำตก น้ำตกใหญ่เขาเรียกว่า “โตนสูง” เมื่อก่อนนี้ มาทีหลังเขาเรียกว่าโตนพันวา แต่พันวาหรือไม่ ผมก็ไม่ทราบ
- คำถาม มีอยู่ 2 แห่ง
- แป๊ะบุ่นจ้อง       ข้างใต้ลงไปมีโตนอีก แต่ไม่ได้ติดประทานบัตร ก็ใหญ่เหมือนกัน
- คำถาม แล้วน้ำตกตรงไหนที่ใหญ่ที่สุด คือสูงที่สุดประมาณกี่เมตร จากหน้าผา
- แป๊ะบุ่นจ้อง       ก็ผมว่าไม่อย่างที่เขาว่าหรอก คือผมเคยเดินขึ้นไปเที่ยวบ้านปลายแสงเมื่อก่อน และเดินขึ้นมาทางลำคลองแล้วก็มาขึ้นทำนบตรงนั้น ต้องปีนป่ายขึ้นมาที่มีรากไม้ ผมก็ว่าไม่กี่เมตร
- คำถาม พอ ๆ กับน้ำตกตำหนังไหม
- แป๊ะบุ่นจ้อง       ตำหนังผมก็ไม่เคยไปเที่ยว ผ่านไปผ่านมาก็แค่นั้นเอง
- คำถาม แต่ก็พูดถึงความสวยงามทางธรรมชาติของน้ำตกยังมีอยู่ใช่ไหม
- แป๊ะบุ่นจ้อง       มีครับ มีน้ำตกอยู่ 3 แห่ง แห่งหนึ่งพระอร่ามก็ไปปิดกั้นทำนบเสีย แต่น้ำตื้น น้ำไม่สูง น้ำนี่ไปใช้เครื่องไฟฟ้า ทำบดหิน ใช้เป็นความสว่างของกงสีที่คนงานอยู่ แล้วก็ระหว่างทางเดินอะไรนี่
- คำถาม ในการขนเครื่องมือเข้าไปนี้ ขนเข้าไปกี่ปีแล้ว
- แป๊ะบุ่นจ้อง       ขนเครื่องมือ 3 ปี เครื่องโม่ เครื่องจักร คือต้องเป็นทางให้กว้างออกไป แล้วต่อรางรถ แล้วก็ใช้วินตามขึ้นไป ลากขึ้นไป ถ้าที่เสมอก็ใช้คนเข็นมันช้าก็ตอนนี้แหละ เพราะเครื่องมือมาเป็น 2 คราว คราวแรกมาถึงก็ไปได้สัก 3-4 กิโล เครื่องมาอีกก็ต้องหยุด รื้ออุปกรณ์แล้วลงมาตั้งต้นใหม่แล้วก็เอาขึ้นไปอีก
- คำถาม หลังจากที่ทำเหมืองแร่แล้ว  ต้องขนเครื่องมือลงมาไหม หรือว่าปล่อยคาราคาซังเอาไว้
- แป๊ะบุ่นจ้อง       ไม่ได้ขน น่ากลัวจะเอาไปขายแล้ว ผู้จัดการไปก็ไม่ได้เอาอะไรไป ทางยังดี รถก็ขึ้นไปได้ ของที่เอามาได้เขาก็บรรทุกเอามาหมด
- คำถาม แต่พวกเศษเหล็กคงยังมีใช่ไหม
- แป๊ะบุ่นจ้อง       ก็ยังเหลือซากอยู่บางส่วน จะเป็นรางรถก็ยังมี
- คำถาม แป๊ะเกิดที่ไหน
- แป๊ะบุ่นจ้อง       ภูเก็ต
- คำถาม มีเชื้อสายจีนไหม
- แป๊ะบุ่นจ้อง       เดิมพ่อแม่เป็นผู้จัดการอยู่เหมืองโชนทีแรก แล้วผมก็ตามเตี่ยมา
- คำถาม แล้วก่อนหน้าที่แป๊ะจะมา เตี่ยมาอยู่ก่อนแล้วใช่ไหม
- แป๊ะบุ่นจ้อง       ครับอยู่ก่อน แต่มาอยู่ไม่ถึงปีผมก็มา ก่อนนี้ผมขุดของพระอร่ามที่ปากถัก แล้วออกจากโน่นมาอยู่เหมืองโชน
 
* * * * * * * * * * * * * * * * *
 
 
         
สัมภาษณ์คำต่อคำ แป๊ะหยกหลาย
 
ถาม แป๊ะครับ อำเภอคุระบุรี ตั้งเมื่อไหร่ครับ
ตอบ    คุระบุรีเพิ่งมาเปลี่ยนชื่อตอนหลัง เมื่อก่อนเรียกนางย่อน ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นกิ่งอำเภอ เป็นอำเภอยัง ที่มาเปลี่ยนชื่อเป็นคุระบุรีก็มาจากที่นี่เป็นตำบลคุระ เห็นไหมฮะ ตำบลคุระแต่บ้านแถวนี้นะฮะ เมื่อก่อนเป็นบ้านทุ่งนา แต่เดี๋ยวนี้คนเขา นางย่อนที่จริงมันต้องขึ้นไปทางข้างบนนี้พ้นนี่ไปราว 4 กิโล บ้านนางย่อนเป็นหมู่บ้านตรงนี้เป็นบ้านทุ่งนา แล้วที่หลังกิ่งอำเภอเกาะคอเขาเขาย้ายมาจากเกาะขึ้นมาอยู่บนแผ่นดินใหญ่นี้ ก็เลยเป็นกิ่งเกาะคอเขา เมื่อก่อนตอนแรกแล้วมาเปลี่ยนชื่อ จากเกาะคอเขามาเป็นคุระบุรี ก็ก่อนที่จะเปลี่ยนก็ประชุมกันว่าเราจะเปลี่ยนชื่อเป็นอะไรดี ทีนี้
ถาม     แป๊ะเป็นข้าราชการด้วย
ตอบ    ใช่ ตอนนั้นผมเป็น สจ.อยู่
ถาม    ประมาณปีไหน
ตอบ    ปีนี้น่ากลัว ผมจำไม่ได้ 2523 มาเปลี่ยนเป็น ที่นี่เมื่อก่อนที่เราเรียกคุระมันเป็นตำบลขึ้นกับอำเภอกิ่งเกาะคอเขา แล้วย้ายมานี้แล้วประชุมกันว่าเราไม่ได้อยู่เกาะแล้วก็ต้องเปลี่ยนชื่ออะไรดี ก็มีคำว่านางย่อนคำหนึ่งแล้วก็คุระคำหนึ่ง ที่นี่นางย่อนตามประวัติเขาบอกว่า เมื่อก่อนคนโบราณเขาว่าอันนี้เป็นคล้ายนิทานเรื่องหนึ่งยังไงไม่ทราบว่าข้างเหนือคลองนางย่อนนี้ไปจะมีผู้หญิงนางร่อนแร่ นางร่อน แต่ที่นี่มาเปลี่ยนเป็นนางย่อน แต่ทีหลังก็บอกว่ามันไม่เพราะ เพราะตำบลคุระอยู่แล้วก็เป็นกิ่งอำเภอคุระบุรี ตกลงก็เอาเป็นคุระบุรีเสีย
ถาม    เมื่อปี 2523 นี่เอง
ตอบ    ฮะ 2523 แถวนี้แหละ ที่นี่ก็เป็นกิ่ง ตอนหลังก็ยกฐานะเป็นอำเภอก็ราว 2528 ได้ย้ายอำเภอมาเป็นอำเภอที่นี้ก็นี้แหละคำที่ใช้เป็นอำเภอคุระบุรี มันมาจากนี้แหละเป็นนิทานมันไม่ได้ประวัติ คนที่เล่าคนโบราณเขาก็เล่าว่าเป็นเจ้าของช้างที่อยู่ที่ถนนใหม่พังงา ที่เขาช้างพังงาอันนี้ช้างมันโดนขโมยมาที่นี่เจ้าของช้างที่อยู่เขาเรียกว่าพ่อตาเขางุ้มที่ถนนใหม่พังงา ภูเขาลูกหนึ่งนั่นแหละเจ้าของช้าง เขาเล่านิทานมาเขาบอกนี้แหละเขามากับโค ตามช้างที่ถูกขโมยมานี้ จะแล้วมาถึงที่นี่ก็เลยอาเจียนเลยเรียกว่าโคระ แล้วมาเปลี่ยนเป็นคุระ ที่นี้พอไปถึงบ้านคุรอดโคมันรอดอาการมันดีขึ้น เขาเลยเรียกโครอด แล้วมาเป็นคุรอด แล้วไปอีกถึงบ้านตำหนังที่นั่นเป็นตำบลตากหนัง ที่หลังต้องลงเรือต้องไปทางเรือเพราะโคตายแล้ว ต้องลงเรือไปที่นั่นเราเรียกเกาะใส่ยา คือไปเจอนางจันทร์ ชื่อนะ ถึงไปขึ้นทางโน้นขึ้นบก ที่นี่ก็ไปนี่แหละไปหุงข้าวเขาโม่เหล็กอะไรนี้แหละ ทางไปพังงานี่แหละเขาเล่าต่อไปจนถึงโน่นถึงพังงานั่นแหละ เขาหม้อเหล็กก็ไปหุงข้าวที่นั่นแต่พอพ้นจากนั่นตรงเขาช้างหลังศาลากลางพังงานั่นแหละ ช้างตัวนั้นแหละประวัตินิทาน
ถาม    แล้วเมื่อก่อนคุระบุรีความเป็นอยู่การค้าขาย การอยู่กิน ทำอะไร อาชีพ
ตอบ    อาชีพส่วนมากทำไร่ ชาวบ้านก็ตัดหวายขาย หาของป่า ทำแร่อะไร พวกที่ทำแร่ก็ทำ พวกถนัดทำไร่ก็ทำ แต่ไร่นี่หมายความว่าทำเกือบทุกครอบครัว เพราะต้องซื้อข้าว ไม้ต้องซื้อข้าว มันทำไร่แล้วปลูกข้าว เมื่อก่อนการคมนาคมมันไม่ดี
ถาม    เมื่อก่อนใช้เรือเดินทาง
ตอบ     สมัยก่อนใช้เรือแจว แจวข้างหัว 1 ดอก ท้าย 1 ดอก แจว 2 ดอก หัวดอกเรือแจว มีประทุน มีหม้อข้าว มีเตาไฟ อันอาจจะถึงตะกั่วป่าอย่างน้อย 6-7 คืน สมัยก่อนนะมันกันดาร ที่หลังนี้คุณเจียร วานิช เมื่อก่อนเหมืองโชนมันเป็นของพระอร่าม พ่อของนายดิลก ตันไทย เศรษฐีเมืองภูเก็ต เหมืองนี้นะคนที่มาเจอครั้งแรกก็เป็นคนจีน สมัยก่อนคนอื่นเข้ามาเยอะ ประวัติแซ่ล้อ เจ็กล้อ คนจีนก็ให้พระอร่ามเป็นนายทุน เถ้าแก่โลซุ่ยลูกน้องเจ็กล้อ ลูกน้องของเถ้าแก่นี้เป็นเพื่อนของพระอร่าม ตกลงเหมืองนี้ก็เป็นของพระอร่ามก็พรอร่ามมาทำมันต้องใช้เป็นระเบิด เป็นหน้าหินเป็นสายแร่มองเห็นต้องระเบิดหินแล้วเอามาโม่ แบบเครื่องโม่หินโม่ลูกที่หนึ่ง, ลูกที่ 2, ลูกที่ 3 ก็เป็นทรายกับแร่ ก็เอาแต่แร่ ที่ผมจึงอยากให้คนเดี๋ยวนี้ไปดู ว่าคนโบราณเขามีความสามารถขนาดไหน ที่จะเอาเครื่องมือพวกนี้ไปใช้บนเขาที่สูงตั้ง 4,500 ฟุต เหมืองโชนที่ครั้งจอมพลสฤษดิ์ ที่ใช้เครื่องมาวัด
ถาม    แล้วเขาไปประสบความสำเร็จหรือเปล่า
ตอบ    พระอร่ามไม่สำเร็จ ก็ขายให้คุณเจียร วานิช ภูเก็ต ที่นี่ตอนนี้ก็ผมก็รับเหมาไม้ฟืนของบริษัท ไซมิทติน เหมืองแร่มันใช้สตรีมมาขุด ผมเหมาไม้ฟืน แล้วบริษัทเขาเลิกลงกับเรา ผมก็มาวิ่งนี่พวกนี้ พวกรูปเก่า ๆ รับซื้อปลา ให้ลงทุนให้พวกแขกทำปลา หาปลาไปขาย พอดีนายหัวเจียร เขาซื้อเหมืองโชน ให้นายหัวเจียรก็เลยคล้าย ๆ กับว่าเรือผมเดินอยู่แถวปากอ่าว แล้วมันย้อนเข้ามานี้ราว ๆ ชั่วโมงหนึ่ง ก็ตกลงให้ผมช่วยพวกอาหารการกินอะไรต่าง ๆ ทางเหมืองต้องการจะใช้อะไรให้ผมช่วยจัดหาส่งไปให้ เมื่อก่อนต้องใช้คนหาบไป กิโลละบาท จากท่าเรือพวกนี้ขึ้นไปถึงตีนเขา 9 กิโล โดยประมาณตรงตีนเขาตรงข้ามเหมืองโชนต้องข้ามเขาไปอีกตั้งลูกหนึ่ง ต้องข้ามพ่อตาหลวงแก้วไปอีกลูก
ถาม    ตอนนี้ทางเข้าไปได้ไหม
ตอบ    ทางเดินน่ากลัวไม่ได้แล้ว คงรกหมดแล้ว หลายสิบปีแล้ว
ถาม    ก็ยังเป็นหน้าผาอยู่หรือเปล่า
ตอบ    เหมืองนั้นคงยังอยู่ไม่ไปไหน เป็นภูเขาแต่ทางที่จะไปมันกันดาร ทีนี้จอมพลสฤษดิ์ ตอนหลังเดี๋ยวผมจะเล่า คุณเจียรมาทำให้คุณดำ เปรมจิต มาเป็นผู้จัดการแล้วก็ ผมก็ส่งสินค้าอะไรพวกนี้ให้สรุปแล้วขาดทุนสู้ไม่ได้ ก็ต้องลง นายหัวเจียรก็ติดต่อทางคุณปรีชา เศรษฐบุตร อธิบดีกรมทรัพยากรเมื่อก่อน ติดต่อจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม พลโทละม้าย และบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจนี้เป็นบริษัทของนายทหารทั้งนั้น ซื้อจากนายหัวเจียร นายหัวเจียรขาย 75 % นายหัวเจียรหุ้น 25% ก็ตกลงผมก็เข้าต่อบริษัทบูรพา นายหัวเจียรให้ทำต่อ ผมก็ทำต่อมาจนเขาเลิก หมายถึงอาหาร ส่งแร่ ไปภูเก็ต ผมก็ไปจัดการให้ทั้งหมด แร่ส่งไปภูเก็ต ระยะหลังทางเหมืองเขาต้องการข้าวสารอะไร เราก็จัดการส่งไปให้ แล้วเดือนหนึ่งก็คิดเงินครั้งหนึ่ง
ถาม    แล้วสิ้นสุดการทำเหมืองแร่เมื่อไร
ตอบ    หลายปีแล้วครับ ตั้งแต่บูรพาก็เดี๋ยว ครั้งจอมพลสฤษดิ์  หมดอำนาจ ตอนนั้นก็ 2500 จอมพลสฤษดิ์หมดอำนาจ   ทางนี้ก็หมดอำนาจเหมือนกัน จอมพลสฤษดิ์ ก็ส่งอาจารย์เป้า นายเป้า ขำอุไร เป็นผู้จัดการตกลงก็ทำไม่ได้เหมือนกัน
ถาม    ที่เข้าไปทำเหมืองโชน บุกป่าฝ่าดงไปเป็นเพราะอะไร เหมืองแร่ตรงนี้ถึงมีคนอยากเข้าไปมากทั้ง ๆ ทางที่เข้าไปก็ลำบาก
ตอบ     แร่มันดี แต่มันอยู่ในหิน มันต้องใช้ระเบิด เจาะแล้วระเบิด แต่แร่มันดี มันกันดารเฉพาะการเดินทาง การขนส่งเท่านั้น แล้วทีหลังบริษัทแอนด์ดิพลไมนิ่ง ฮิตาชิ ทำสัญญาเขาขายกับบริษัทสินสยามก่อน สิบล้าน หรือ ห้าสิบห้านี่แหละที่ทำสัญญาสมัยนั้น  แล้วก็นายหัวเจียรยังมีหุ้น 25% เหมือนเดิม ตกลงพวกญี่ปุ่นส่งพวกโปรเฟสเซอร์เข้ามาสำรวจ ในที่สุดติการขนส่งทำไม่ได้  จะขอขนส่งทางเฮลิคอปเตอร์ ทางรัฐบาลไทยไม่ยอมตกลงก็เลิก คือไม่ได้ซื้อมันติดการขนส่งอย่างเดียวที่นี่เหมืองโชนถ้าตามที่เราดูมันไม่ใช่มีเฉพาะแร่ดีบุก เพราะญี่ปุ่นที่มาสำรวจกลางวันมันจะไม่ทำงานเลย พวกที่ทำงานกลางคืน ใช้ไฟส่องหน้าหิน ที่นี่ไอ้เราก็ไม่รู้ว่ามันส่องทำไม หน้าหินมันมีสีต่าง ๆ มันไม่เหมือนหินธรรมดา
ถาม    เป็นเพชรได้ไหม  เพราะเขาบอกว่าแร่ดีบุกมันจะมีเพชรด้วย
ตอบ    ไม่ทราบเหมือน ในที่สุดญี่ปุ่นมันก็ต้องหินนั้น ต่อย ๆ แล้วให้คนหาบเอากลับไปเมืองของมัน  คนหาบเกือบตายหาบแต่หิน ไม่มีใครรู้ว่าอะไร มันสกัดเอาหน้าหินที่ส่อง  ไม่ระเบิดนั่นแหละตกลงก็ไม่ได้ซื้อบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจก็ยังคงเป็นเจ้าของ เพราะจอมพลสฤษดิ์หมดอำนาจก็อย่างว่า สัมปทานบัตรก็ขาดอายุไป ไอนี่มันขาดอายุแล้ว
ถาม    จากนั้นก็เลิกทำเลยหรือ
ตอบ    ครับเลิกเลย ญี่ปุ่นก็ไม่เอาแล้ว
ถาม    เกิดทันพระอร่ามไหม
ตอบ    จำความไม่ค่อยได้ พระอร่ามตอนมาเหมืองโชนนั้นต้องหามขึ้นไปนะฮะ ขึ้นคานหามไม่ใช่เดิน สะพานตอนนี้ทำ ยังเหลือแต่ตอผมว่าตามที่จริงควรจะอนุรักษ์ไว้ไม่ได้ใช้เหล็กเลย  เก็บหินก้อนโต ๆ มาโบกปูนเป็นเสาที่ยังเหลือตออยู่ที่เขื่อนเขามาทำลายมันก็น่าเสียดาย ที่จริงน่าจะอนุรักษ์ไว้ของโบราณเมื่อก่อนใช้เสานั้นมันสูง 10 เมตรได้ ไม่ขาดหรอกจากพื้นน้ำขึ้นไป ที่จัดหินโบกปูนไว้
ถาม    แล้วเป็นไปได้ไหมว่าแร่ที่ตรงนั้นมันจะมีเพชรมีอะไรผสมอยู่ด้วย
ตอบ    อันที่เราไม่ทราบ ไม่รู้ได้
ถาม    ผมเคยได้ยินข่าวว่าการทำเหมืองแร่ดีบุกมักจะมีแร่ดีบุกปะปนอยู่ด้วยแป๊ะเคยได้ยินข่าวไหม
ตอบ    ในทะเลมี คนที่ผมพาไปคืนนั้น เมื่อก่อนเขาล้างแร่เขาได้เพชรเยอะนะ เซาเทอร์นกันตัง อะไรนี่แหละที่เขาคนล้างแร่ เขาได้เพชรมาเยอะเหมือนกันแต่เขาปิดเขาไม่กล้าเปิดเผย จากระนองถึงภูเก็ตนี้มีเหมืองเพชร ไอ้เราก็ไม่รู้ว่ามีเหมืองเพชรที่ไหน  เพียงแต่รู้ว่ามีบริษัทฝรั่งมันขอสัมปทานไปแล้ว กาเมอร์สัมปทานไปแล้วที่ผมรู้ อ่านข่าวเอา ตอนนี้แหละที่คุณไปสืบดูนะว่ากาเมอร์ เป็นผู้ขอสัมปทานแล้ว ที่ไหนไม่รู้ แต่ว่าจังหวัดพังงานี่แหละ  สัมปทานแล้วแต่ยังไม่ลงมือทำแค่นั้นแหละ แต่เราไม่รู้ว่าที่ไหนเพียงแต่เขาบอกว่าที่จังหวัดพังงา.
 
* * * * * * * * * * * * * * * * *
 
 

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com