เหมืองโชน เหมืองแร่ดีบุก น้ำตกพันเมตร
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
7 มิถุนาย 2547
เรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ และเป็นตำนาน ที่ลึกลับ และมีอยู่จริง นั่นคือน้ำตกที่มีความสูงถึง 1,000 เมตร เชื่อว่าจะมีอยู่เพียงแห่งเดียวในเมืองไทย ที่มีความสูงมากขนาดนี้ และบริเวณใกล้เคียง ยังมีการทำเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งในตำนานระบุว่าเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่สมบูรณ์ที่สุดในภาคใต้ และการขนอุปกรณ์เข้าไปทำเหมือง ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี เพราะความยากลำบากในเส้นทางที่เป็นป่าเขาที่สูงชัน อีกทั้งยังมีโรคร้ายต่าง ๆ มากมาย
วันที่ 27 กันยายน 2544 ผมได้มีโอกาสพบ คุณสนชัย ราชโรจน์ นักวิชาการ 7 ว.ปฏิบัติงานหัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีพังงา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เพราะผมได้ข่าวมาว่า คุณสนชัย พร้อมคณะหลายคน ได้ขึ้นไปเหมืองโชน และได้พบเห็นน้ำตกพันเมตร ซึ่งก่อนหน้านี้ผมเองก็ได้ยินตำนานของเหมืองโชนจากคนเฒ่าคนแก่ ในอำเภอคุระบุรี ว่าเป็นเหมืองแร่ดีบุก ที่อุดมสมบูรณ์
คุณสนชัย เล่าให้ผมฟังว่า ก่อนที่จะพูดเล่าให้ฟังว่ามันอยู่ที่ไหน อยากจะเรียนว่าก่อนที่ผมจะเดินทางไปที่นั่น เมื่อคราวที่ผมมารับงานเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีพังงาที่นี่ ผมได้รับฟังเรื่องน้ำตกพันเมตรโดยบังเอิญจากชาวบ้าน พูดถึงน้ำตกพันเมตรเอาไว้ ซึ่งต่อมาผมพยายามที่จะสอบถามว่าน้ำตกพันเมตรมันมีจริงหรือไม่ และมันอยู่ที่ใด หลายคนพูดว่ามันมีจริง แต่เมื่อถามว่าเส้นทางที่จะไปมันอยู่ที่ไหน กลับไม่มีคนทราบ มันก็ฝังอยู่ในใจผมอยู่ตลอดมา ต่อมาผมก็ได้ยินคนพูดถึงเหมืองโชน ผมก็สนใจ พอจะทราบข่าวว่าเหมืองโชน ได้มีการทำเหมืองอยู่บนภูเขาสูง เป็นเหมืองร้างเก่า แต่พยายามหาคนที่จะนำไปเหมืองโชน หาไม่ได้ ต่อมามีเหตุบังเอิญผมได้ไปประสานงานหน่วยพิทักษ์ หน่วยอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ในความรับผิดชอบของเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าคลองนาคา ก็ได้บังเอิญรู้จักกับเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ที่นั่นเขาอาสาที่จะพาไป บอกว่าเหมืองโชนมีจริง น้ำตกพันเมตรมีจริง ซึ่งอยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จังหวัดระนอง ผมก็เลยกำหนดวางแผนการเดินทางไปสำรวจ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2544 ในการเดินทางไปครั้งนั้นเราได้วางแผนเดินทางไปโดยไม่ทราบว่าเส้นทางจะเป็นอย่างไร เพราะเราไม่เคยเดิน ก็ประมาณว่าจะเดินทาง 1 วัน จากการสืบถามข้อมูลบอกว่าจะต้องใช้เวลาในการเดินทาง 1 วัน เพราะระยะทางที่เดินทางนั้นประมาณ 20 กิโลเมตร เดินทางในป่านะครับ โดยให้เจ้าหน้าที่ของเขตอนุรักษ์พันธุ์นำไป เราออกจากอุทยานแห่งชาติศรีพังงาเช้าไปถึงหน่วยอนุรักษ์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่บ้านกำพวน เวลาประมาณ 9 โมงเช้า หลังจากนั้นเตรียมตัวประมาณ 20 นาที ปรากฎว่าต้องเดินลัดเลาะไปตามเส้นทางซึ่งทราบว่าเป็นเส้นทางซึ่งท่านจอมพลสฤษดิ์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ อดีตนายกรัฐมนตรี) เคยก่อสร้าง นำรถตีนตะขาบขึ้นไปเพื่อที่จะทำแร่ (แร่ดีบุก) ที่เหมืองโชน แต่ว่าเส้นทางนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์มานานจึงรกร้างว่างเปล่าและรกมาก เราเดินทางไปในเส้นทางนี้ได้เป็นบางส่วน เพราะเราต้องลงเดินในคลอง ในห้วย เพราะว่าเส้นทางมันรกมาก และก็เส้นทางมันพังทะลาย ก็เดินไปตามลำห้วยแล้วก็ไปไต่ขึ้นยอดเขา ลัดเลาะสลับกันไปตลอดเวลาจนกระทั่งถึงยอดเขา และเดินถึงเหมืองโชนเวลา 1 ทุ่ม ก็คิดว่าใช้เวลาในการเดินทางนานมาก เป็นระยะทางที่ไกล แล้วก็เส้นทางรก มีทากเยอะ เป็นป่าที่รกมาก เมื่อไปถึงที่เหมืองโชนก็หายเหนื่อย เพราะว่าเห็นสภาพพื้นที่แล้ว เป็นพื้นที่ราบบนเขา แล้วมีที่เรียกว่าเหมืองโชน เพิ่งจะเข้าใจก็คือมีเฟิร์นโชนอยู่มาก จึงได้ชื่อว่าเหมืองโชน
เหมืองโชนเมื่อตรวจพิกัดแล้วปรากฎว่าอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา รอยต่อระหว่างเทือกเขาแดนและเทือกเขาพระหมีด้าน จ.สุราษฎร์ธานี และก็เป็นพื้นที่ 3 เส้า รอยต่อกับจังหวัดพังงา ตรงเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างสุราษฎร์ธานี ก็นอนพักที่บริเวณริมคลองที่เหมืองโชน คืนหนึ่ง หลังจากนั้นก็ได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ได้ทราบว่าเป็นเขตแดน เห็นว่ามีภูมิทัศน์ที่สวยงาม เมื่อมองจากยอดเขาแดน เมื่อไปตรวจสอบเขาแดนในวันรุ่งขึ้นนั้นปรากฏว่าเขาแดนเป็นเทือกเขา สันเขาแบ่งเขตแดนระหว่างจังหวัดพังงากับจังหวัดระนอง สามารถมองเห็นภูมิทัศน์ทางด้านทะเลฝั่งตะวันตกอันดามันได้อย่างดี และก็ความสูงของภูเขาสูงพันสามร้อยกว่าเมตร เป็นจุดที่สูงที่สุดในย่านนี้ ก็สามารถมองเห็นภูมิทัศน์รอบพื้นที่ได้สวยงามมาก
ในวันที่สอง หลังจากนั้นเราก็กลับมานอนที่บนเขาแดน ผมอยากจะพูดถึงอันหนึ่งที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ มีประโยชน์ทางด้านป่าไม้จึงมีร่องรอยสัตว์ป่าชุกชุม ร่องรอยของช้าง ร่องรอยของสมเสร็จ กระทิง ที่เราพบร่องรอยเห็นมีขี้ มีอะไรให้เห็นชัดเจน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงมากนะครับ จากนั้นเราก็กลับมานอน รุ่งเช้าคณะสำรวจไปสำรวจพื้นที่เขา ที่เรียกว่าน้ำตกพันเมตร น้ำตกพันเมตรนี่ เดินออกจากบริเวณที่พักไปอีกเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร เดินไปตามลำคลอง ลำห้วยที่ไหลมาจากเทือกเขาแดน แล้วก็เดินไปจนถึงจุดที่เป็นยอดของน้ำตก วัดพิกัดได้ 1,200 เมตรเศษ จากระดับน้ำทะเล น้ำตกขณะที่ไปเป็นหน้าแล้ง แต่มีน้ำตกไหลพอประมาณ เยอะพอสมควร สิ่งที่อัศจรรย์ใจที่สุดของน้ำตกพันเมตรก็คือ หินผาที่เป็นน้ำตกมันเป็นหินสีขาวหมดเลย ไม่ใช่หินสีดำ มันเป็นหินสีขาวทั้งหมด ที่หน้าผาแล้วก็น้ำตก ตกรวดจนถึงพื้นล่าง ทำมุมเป็นแนวดิ่งประมาณ 15 องศา ตกยาวลงไปเลย ไม่มีชั้น หมายความว่าตกยาวไปเลยนะ ทำมุมกับแนวดิ่งประมาณ 15 องศา และก็ไปตามลาดเขา ผมได้ไต่ลงไปข้างล่างไปวัดระดับที่ข้างล่าง ถ้าผมจำไม่ผิดตอนนั้นไม่มีการบันทึกไว้ แต่ว่ามีการสูญหายของข้อมูล จะกลับไปสำรวจใหม่ แต่ว่า ถ้าผมจำไม่ผิดตอนนั้นความสูงที่ใต้น้ำตกวัดได้ประมาณ 300 กว่าเมตร ความจริงน้ำตกสูงประมาณ 900 เมตรเท่านั้นเอง แต่อยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 1,200 กว่าเมตร ก็เลยถึงว่าเป็นน้ำตกที่สูงมาก สวยงาม น้ำที่ไหลจากน้ำตกจะไหลลงคลองแสง เมื่อนั่งอยู่บนยอดน้ำตกก็จะมองเห็นคลองแสง เพราะฉะนั้นตรงจุดน้ำตกเป็นจุดรอยต่อระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านาคากับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง แต่น้ำเมื่อตกแล้วจะเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ไม่ได้อยู่ในจังหวัดพังงา
สิ่งที่ประทับใจมากจากการไปสำรวจน้ำตกก็คือ เพราะว่าน้ำตกเป็นหินสีขาวสะอาด เป็นน้ำตกสูงมาก และเห็นภูมิทัศน์รอบข้างสวยงาม อุดมสมบูรณ์ เห็นแล้วชื่นใจ วันที่ 3 เราไปสำรวจร่องรอยการทำเหมือง ซึ่งเคยมีการทำเหมืองอยู่บนบริเวณนั้น สำรวจพบถ้ำที่มีการขุดเจาะทำเหมืองและก็พบร่องรอยการใช้แรงคน แต่ว่าเป็นเหมืองร้างหมดแล้ว และก็พบรถยนต์สมัยเก่า ซึ่งทราบว่าท่านจอมพลสฤษดิ์ เคยเอาขึ้นไป ร่องรอยของตีนตะขาบจอดทิ้งไว้ ก็ผุเสียหายแล้ว แต่ก็ทำให้เราทราบว่าพื้นที่นั้นเคยมาใช้ประโยชน์การทำเหมืองแร่ แต่เมื่อสอบถามว่าทำไมไม่มีการทำเหมืองแร่อีก ก็ทราบว่าแร่มีไม่มากอย่างที่คิด ไม่คุ้มกับการลงทุนก็เลยเลิกไป
ธรรมชาติที่นั่นที่เราพบความสวยงาม ที่เราไม่เคยพบที่อื่นก็คือ ต้นเต่าล้างที่โน่น คนสามคนยืนบังไม่มิด ใหญ่มาก เฟิร์น ผมไม่แน่ใจว่าเขาเรียกเฟิร์นอะไร ซึ่งปกติที่เราเห็นข้างล่างนี่มันสูงเพียง 1 ฟุตเศษ ๆ แต่ที่เหมืองโชนมันสูงถึงไหล่คน มันมีความอุดมสมบูรณ์ สูงมาก แสดงให้เห็นว่าไม่มีคนรบกวนและก็มีพืชพวกรองเท้านารีให้เราพบ แต่บนเหมืองโชนก็คือว่า มันเป็นพืชที่อ่อนไหวง่าย การกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก เพราะว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าชุกชุม สองพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่สำคัญ การที่จะเปิดให้คนไปเที่ยวไปชมจะเป็นอันตรายต่อธรรมชาติอย่างมาก เรื่องนั้นผมกำลังกังวลจึงไม่นำไปเผยแพร่ออกไป จะนำเสนอกรมป่าไม้ก่อน
แล้วจะวางแผนการจัดการพื้นที่ตรงนั้นเสียก่อน เพราะถ้าหากว่าคนเข้าไปกระทบกระเทือนสิ่งแวดล้อมมากเหมือนอย่างที่ปรากฏที่แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทำให้ธรรมชาติเสื่อมโทรมและจะกระทบกระเทือนกับสัตว์ป่า กระทบกับธรรมชาติ เรื่องนี้จะต้องวางแผนการอย่างรัดกุม
ผมถามคุณสนชัยว่า แล้วที่เหมืองโชน ยังมีร่องรอยของรถยนต์ และอุปกรณ์การทำเหมืองยังมีไหมครับ คุณสนชัย บอกว่ายังมีร่องรอยอยู่ครับ และยังพบเครื่องมือขุดแร่ที่ใช้แรงงานคนที่เป็นเสียม และที่เป็นเครื่องจักร เราพบซากรถยนต์ รถตีนตะขาบ มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ มีกระท่อมร้างบ้านพักคนงาน มีท่อส่งน้ำที่ใช้ฉีดแร่ มีฝายเก่าซึ่งพังแล้ว แต่ร่องรอยของฝาย ที่เป็นฝายกั้นน้ำ พบถ้ำ มีถ้ำหนึ่งยังมีระเบิดที่เขาเรียกทีเอ็นที สอดอยู่ ซึ่งเราก็ไม่ได้ดึงออก เราก็เข้าไปในถ้ำนั้น ถ้ำนั้นขณะนี้เป็นที่อยู่อาศัยของพวกค้างคาว เราเข้าไปมีถ้ำใหญ่ ๆ อยู่ 2 ถ้ำ แต่เรายังว่ามีถ้ำอีก อีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไป คิดว่าจะไปสำรวจในคราวหน้า
ผมถามต่อไปว่า แสดงว่าในสมัยก่อนเท่าที่ผมทราบจากคนแก่ ๆ เขาบอกว่าก็ทำมาหลายชั่วอายคนแล้วนี่คงมีหลักฐานอื่นมากไหมครับ คุณสนชัย บอกว่า ที่พบมีอีกก็คือซากของ ที่เคารพบูชาศาลของเขานะฮะ และหลุมแร่ต่าง ๆ ที่เราพบ นอกจากนั้น ไม่มีอะไร อีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะพูดก็คือ ในตอนขากลับ คงจำได้ว่าครั้งหนึ่งเครื่องบินตก เราก็ไปพบเครื่องบินตัวนี้ด้วยในตอนขากลับ เห็นว่าเป็นเครื่องบินของนักบินฝึกหัดของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ แล้วก็มาขับชนกับภูเขา และก็ได้มีการกู้เอาศพไป พบซากเครื่องบินนั้นตรงยอดเขาแดง ยังมีซากปรักหักพังของ
เครื่องบินอยู่ มีให้เห็นเป็นหลักฐานอยู่ (ข้อเท็จจริงของเครื่องบินเป็นเครื่องบินฝึกบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ลายน์ ชนิด 2 ที่นั่ง ฝึกบินจากสิงคโปร์ แวะพักภูเก็ต จากนั้นเครื่องบินบินขึ้นจะไประนอง ทัศนวิสัยไม่ดี พุ่งชนภูเขา ทำให้ครูและลูกศิษย์นักบินเสียชีวิตทั้งสองคน เหตุเกิด พ.ศ. 2540)
ในช่วงสุดท้ายของการสนทนาระหว่างผมกับ คุณสนชัย ได้ฝากความเห็นว่า ประการที่ 1 พื้นที่ที่ผมได้เข้าไปพบเป็นพื้นที่ที่นักอนุรักษ์ควรจะภูมิใจนะครับ เพราะเป็นพื้นที่ต้นน้ำแล้วก็ยัง
คงความอุดมสมบูรณ์สูงมาก จริงอยู่พื้นที่ตรงนี้มีสิ่งที่น่าสนใจที่จะศึกษาและท่องเที่ยว แต่ว่าพื้นที่ตรงนี้มีความล่อแหลมต่อการกระทบกระทั่งต่อสิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่ามาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดถึง ประการที่ 2 ก็คือว่า พื้นที่ตรงนี้หากเปิดให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวก็จะเป็นอันตรายกับพื้นที่มาก เว้นเสียแต่ผู้จะนิยมเข้าศึกษาจริง ๆ ไม่ใช่เข้าไปพักผ่อนหย่อนใจ เพราะความสะดวกที่จะเกิดจากที่นั่นก็ไม่มีห้องน้ำห้องส้วม เราไม่สามารถที่จะไปสร้างสิ่งเหล่านี้เพื่อบริการกับนักท่องเที่ยว และให้มีห้องน้ำห้องส้วมอยู่ซึ่งจะเป็นการทำลายธรรมชาตินะครับ ฉะนั้นสิ่งที่เป็นห่วงเมื่อท่านได้ทราบข่าวนี้ ผมคิดว่า ขอให้ท่านเก็บความรู้สึกภูมิใจนี้ไว้ในใจก่อนทางอุทยานแห่งชาติศรีพังงาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา หรือคลองแสงได้วางแผนในภายหลัง และจากที่ได้วางแผนได้จัดการอย่างมีระบบ แล้วที่รัดกุม และสามารถที่จะให้ท่านเข้าไปเยี่ยมชม เราก็คงไม่ขัดข้องครับ ที่จะให้ท่านเข้าไป ขอให้ท่านอดใจสักนิด และสิ่งที่อยากจะเรียนก็คือ เดินทางไกลมาก สภาพของร่างกายต้องพร้อม และก็มีทาก มีสัตว์ป่า ที่อุดมสมบูรณ์ มีความชุกชุมของสัตว์มาก เพราะฉะนั้นอาจเกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยวได้ ยิ่งน้ำตกพันเมตร ท่านพลาดท่านก็หมายถึงชีวิตทันทีนะครับ ไม่ใช่แต่ความสวยงาม มันเป็นอันตรายด้วย ก็ขอฝากขอเรียนว่า สิ่งที่ผมไปพบเห็นมานี้มันเป็นคุณค่าของสามจังหวัดเขานะครับ เป็นความภูมิใจ เพราะฉะนั้นขอให้ช่วยกันรักษาตรงนี้ด้วยนะครับ.
การสนทนา ระหว่างผมกับคุณสนชัย มีขึ้นเมื่อ ปี 2544 และยังไม่มีการเผยแพร่ในสื่อใดเลย เพราะผมเกรงว่า หากมีใครทราบเรื่องนี้ ก็อาจจะทำให้มีผู้คนที่คิดจะแสวงหาผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว จะเข้าไปบุกทำลายจนทำให้ธรรมชาติสูญเสีย ความงดงามไปในที่สุด แต่ก็ยังมีความพยายามของ ททท.ที่จะนำสื่อมวลชนเข้าไปชมความงดงามของน้ำตกพันเมตร และเหมืองโชน อันเป็นตำนานที่ลี้ลับตามโครงการอันซีน ไทยแลนด์ แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงความลี้ลับอันนี้ได้
เมื่อผมคิดและพิเคราะห์ เป็นเวลานานถึง 3 ปี ที่ผมมีข้อมูลนี้อยู่ในมือ และผมคิดอย่างรอบคอบแล้ว เห็นว่า น่าจะเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชนให้รับรู้ แม้นว่า คุณสนชัย จะห่วง ต่อผลกระทบที่อาจจะตามมาต่อนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไป เหยียบย่ำ และทำลายธรรมชาติ ที่เกิดแล้วในแหล่งท่องเที่ยวในหลาย ๆ แห่ง แต่หากนักท่องเที่ยวเข้าไป ก็ขอให้รักษ์ สิ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ ไว้ อย่าได้ทำลายอีกเลย ทั้งความงดงามของน้ำตกพันเมตร เหมืองโชน และธรรมชาติในป่าเขาที่สมบูรณ์
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *