www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 7 คน
 สถิติเมื่อวาน 28 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
3385 คน
49199 คน
1741643 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

     
อุตสาหกรรมดีบุกไทย...ทางรอดจากความลำบาก
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
หมายเหตุ: เป็นบทความ เรื่องจาก THAILAND’S TIN INDUSTRY: A WAY OUT  OF THE DOLDRUMS เป็นเอกสารขนาด เอ 4 ที่ผมได้รับเป็นข้อมูล เมื่อ พ.ศ.2532   
 
บทความฉบับนี้ เขียนเมื่อปี 2532 โดยไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน  ที่เป็นการอภินันทนาการ จาก ไทยซาโก้ภูเก็ต เป็นการคาดการ  ของสถานการณ์อุตสาหกรรมดีบุก ถือว่าเป็นข้อมูลที่ดี  ที่มีการคาดการณ์ว่า ปี 2543 หรืออีก 10 ปี ต่อมา   สถานการณ์ดีบุกยังดี    ต่อไปนี้ คือบทความ  ที่ผม  คัดมาลงให้ท่านได้อ่านเป็นข้อมูลครับ
     * * * * * * * * * * * *
 
 
อุตสาหกรรมดีบุกของไทยกำลังอยู่ในภาวะตกต่ำ และโอกาสในการส่งออกเลือนรางเนื่องจากการขาดแคลนอุปทาน แต่ มร.เดวิด เอส . เรทคลิฟฟ์   กรรมการผู้จัดการ และคุณปัญญา โตเจริญ ผู้จัดการด้านการตลาด และวางแผนแห่ง บริษัท ไทยแลนด์ สเมลติ้งแอนด์แอนด์รีไฟนิ่ง จำกัด (ไทยซาโก้) เชื่อว่าทางออกยังพอมีอุปสงค์ในประเทศกำลังเพิ่มมากขึ้นจากอุตสาหกรรมและนั่นคือโอกาสที่อุตสาหกรรมดีบุกจะฟื้นฟูสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้
 
อุตสากรรมเหมืองแร่ดีบุกมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ ของไทยมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว และเป็นหนึ่งในบรรดาภาคอุตสาหกรรมสำคัญซึ่งมีผลต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้น ๆ ที่ประเทศไทยกำลังเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมนี้ได้คงความสำคัญเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดภาวะตกต่ำของตลาดดีบุกทั่วโลกในปี 2528
 
วิกฤติการณ์ดีบุกในยุคทศวรรษ 1980 และการรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่ดีบุกในประเทศไทย แต่ออกจะเร็วเกินไปหากจะกล่าวว่าอุตสาหกรรมนี้หมดอนาคตแล้ว ทั้งนี้เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจได้กระตุ้นให้ปริมาณความต้องการดีบุกในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้นว่าปริมาณการผลิตและการส่งออกค่อนข้างจะผันผวนก็ตาม โดยข้อเท็จจริงแนวโน้มชี้ว่าการส่งออกโลหะดีบุกของไทยจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อบริโภคและอุตสาหกรรมอย่างสิ้นเชิงในปี 2543 โดยมีปัจจัยหลายอย่าง ที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
 
เศรษฐกิจไทย
เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเจริญเติบโต ในระดับร้อยละ 7 ถึง 8 ต่อปี ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกัน แม้นว่า อาจจะต่ำกว่าอัตราการเติบโตในช่วงทศวรรษก่อน ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ อยู่ในระดับร้อยละ 8 ถึง 10 ต่อปี 
 
ปริมาณ GDP ในปี 2536 เท่ากับ 106,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ โดยที่รายได้ประชากรต่อคนเท่ากับ 2,000เหรียญสหรัฐ ฯ ต่อปี ส่วนอัตราเงินเฟ้อนั้นสามารถรักษาให้อยู่ในระดับต่ำ กว่าร้อยละ 5 ต่อปี สำหรับงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในปีนี้เท่ากับ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เทียบกับ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในปี 2532 ส่วนปริมาณการส่งออกมีมูลค่าเพิ่มจาก 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  ฯ ในปี 2532 เป็น 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในปี 2536 และอัตราการชำระหนี้ต่างประเทศต่อมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 1:10 ในปัจจุบัน 
 
การทำเหมืองแร่ดีบุกและอุปทาน
ประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่ดีบุกในประเทศไทยยาวนานกว่า 300ปี นับย้อนไปถึงสมัยอยุธยา เมื่อครั้งที่ไทยมอบสิทธิ์ขาดในการรับซื้อแร่ดีบุกในจังหวัดภูเก็ตแก่ชาวฝรั่งเศส ข้อตกลงดังกล่าวทำขึ้นในปี พ.ศ.2228   ซึ่งถือได้ว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติในการให้สิทธิพิเศษในการค้าขายแก่คนต่างชาติ เป็นเวลาร่วม 100 ปี ที่ภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงซึ่งรู้จักในชื่อแหล่งแร่ดีบุกตะวันตก ( Western Tin Belt)  เป็นแหล่งผลิตแร่ดีบุกที่สำคัญที่สุดของประเทศ ต่อมาเทคโนโลยีการทำเหมืองได้พัฒนาจากเหมืองเปิดและขุดมาเป็นการขุดเจาะทั้งบนบกและในทะเลทำให้ปริมาณการผลิตดีบุกขึ้นถึงระดับสูงสุดคือ 34,700 ตันแร่ในปี 2523 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นแร่จากการทำเหมืองในทะเลถึงร้อยละ 50  
 
วิกฤติการณ์ดีบุกในทศวรรษ 1980 และการกำหนดโควตาการส่งออกของประเทศสมาชิกโดยสภาดีบุกนานาชาติ (International Tin Council) ทำให้ความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมดีบุกในประเทศไทยชะงักงันเป็นครั้งแรก ปริมาณการผลิตสินแร่ดีบุก ในปี 2526 ตกต่ำอย่างน่าใจหายจนเหลือเพียง 20,000 ตันแร่ หลังจากนั้นการพังทลายของตลาดดีบุกโลกในปี 2528 ก็สร้างความยากลำบากแก่อุตสาหกรรมดีบุกจนดูเหมือนว่าอนาคตของอุตสาหกรรมนี้ได้ตกต่ำถึงขีดสุด ผลที่ตามมาคือปริมาณการผลิตแร่ดีบุกลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 20,000 ตันในปี 2532 เหลือไม่ถึง7,000 ตันในปี 2536 ซึ่งในช่วงปลายปีที่แล้ว ระดับราคาดีบุกในโลกก็ตกถึงจุดต่ำที่สุดในประวัติสาสตร์ของอุตสาหกรรมนี้
 
ปัจจัยลบที่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกของไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้แก่
*เหมืองแร่ดีบุกหลายแห่งต้องปิดตัวลง เพราะราคาแร่ดีบุกตกต่ำจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
*แหล่งแร่ดีบุกที่อุดมสมบูรณ์หมดไปมากแล้ว
*ภาคเหมืองแร่สูญเสียความสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย โดยที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถหารายได้เข้าประเทศได้เป็นจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
*การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมกลายเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ก็เพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผลที่ตามมาคือ ปัจจุบันเป็นเรื่องยากมากในการจะได้รับประทานบัตรใหม่ในการทำเหมืองแร่ เมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน นอกจากนั้นรัฐบาลก็ได้ขยายพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น และแหล่งแร่ดีบุกที่อุดมสมบูรณ์หลายแห่งก็ถูกครอบคลุมอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนเหล่านั้น
 
หากพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ก็มองไม่เห็นว่า อุตสาหกรรมดีบุกของไทยจะมี
อนาคตสดใสคนมาได้อย่างไร อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรมองข้ามปัจจัยบวกหลายอย่างซึ่งอาจจะสามารถทำให้อุตสาหกรรมนี้รอดสืบไปได้ อาทิ
          *อุตสาหกรรมกระป๋องของไทยกำลังโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งจะทำให้ปริมาณความต้องการแผ่นเหล็กวิลาศ (Tinplate) เพิ่มขึ้น
          *การขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้เพิ่มปริมาณการใช้โลหะบัดกรีเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อ ปี
          *ยังมีเหมืองอยู่เป็นจำนวนมากที่ยังคงสามารถดำเนินกิจการไปได้อีกนาน
          *มีการค้นพบแหล่งแร่ซึ่งยังไม่มีการขุดเจาะอีกหลายแห่ง และการพัฒนาแหล่งแร่เหล่านี้ จะดำเนินการทันทีหากราคาดีบุกดีขึ้น
          *ปัจจุบันเทคโนโลยีการโยธาในทะเลก้าวหน้าไปมาก จนทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลงอยู่ในระดับสมเหตุสมผล ซึ่งจะช่วยให้การทำเหมืองแร่ดีบุกในทะเลขุดเจาะได้ลึกขึ้น
          *รัฐบาลตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องประคองอุตสาหกรรมดีบุกไว้เพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมอื่น ๆ
 
เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยทั้งสองด้านแล้ว จะเห็นได้ว่า อุปทานของดีบุกในประเทศไทยกำลังลดลง อนาคตของอุตสาหกรรมนี้ อาจจะไม่ค่อยสดใสนัก แต่การผลิตจะยังคงดำเนินการต่อไปอีกหลาย ๆ ปี แม้นว่าปริมาณการผลิตจะน้อยก็ตาม อุตสาหกรรมนี้อาจจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างทันทีทันใด แต่ก็มีสัญญาณว่า อุตสาหกรรมซึ่งเคยตกต่ำถึงขีดสุดนี้กำลังเริ่มจะฟื้นตัว แม้อุตสาหกรรมนี้อาจจะไม่เหลือศักยภาพที่จะส่งออกสู่ตลาดโลก แต่ยังคงมี ปริมาณเพียงพอที่จะสนองความต้องการภายในประเทศ การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาด โครงสร้างองค์กร การจัดการตลอดจนวิธีและกระบวนการทำเหมือง จะสามารถทำให้เกิดจุดหักเหภายใต้เงื่อนไขว่าราคาดีบุกไม่ต่ำจนเกินเหตุ
 
การหลอมและถลุงแร่ดีบุก
เมื่อครั้งที่ประบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ฯ เยี่ยมเยียนชาวเหมืองในภาคใต้ของประเทศในปี 2502 นั้น พระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งคลังแร่ในประเทศเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับแร่ดีบุกและนั่นเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการถลุงแร่ดีบุกในประเทศไทยมีการระดมแนวความคิดและทบทวนเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งปี 2505 ประเทศไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โครงการถลุงแร่ จึงได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังขึ้น โดยให้มีการส่งเสริมการลงทุนการถลุงแร่และในที่สุดในวันที่ 6 กันยายน 2506 ก็มีการออกระเบียบกฎเกณฑ์ สำหรับการคุ้มครองผลิตแร่ดีบุกในประเทศรัฐบาลประกาศการห้ามส่งออกสินแร่ดีบุกเพื่อรับประกันว่า บริษัท ไทยซาโก้ ซึ่งเป็นโรงงานถลุงแร่ จะมีวัตถุดิบเพียงพอในการดำเนินกิจการ บริษัทไทยซาโก้เริ่มดำเนินกิจการในวันที่ 29 กรกฎาคม 2508 และกำลังการผลิตก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนถึง 38,00 ตันแร่
 
ปัจจุบันเกือบ 30 ปีให้หลัง ไทยซาโก้เป็นโรงถลุงแร่ดีบุกเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและเนื่องจากยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่บ่งชี้ว่าราคาและการผลิตดีบุกจะเพิ่มขึ้นคืนสู่ระดับสูงอย่างที่เคยเป็น บริษัท ไทยซาโก้ จึงได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างครั้งใหญ่และก็ประสบความสำเร็จในการปรับปริมาณการผลิตโดยการนำเข้าสินแร่จากต่างประเทศ
 
อุปสงค์ดีบุก
ฐานลูกทั่วโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน เป็นสิ่งยืนยันถึงประมาณความต้องการแร่ดีบุกส่งออกจากประเทศไทยอย่างไรก็ตาม จากการที่ปริมาณความต้องการในประเทศเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่อุทานมีจำกัด ทำให้มีแนวโน้มว่าประเทศไทยจะไม่สามารถส่งออกดีบุกในอนาคตอันใกล้นี้ 
 
ปริมาณความต้องการดีบุกในประเทศขึ้นอยู่กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ อุตสากรรมที่เป็นตัวกำหนดปริมาณความต้องการดีบุกในประเทศได้แก่
 
1)อุตสาหกรรมแผ่นเหล็กวิลาศ (Tin Plate) อุตสาหกรรมอาหารกระป๋องในประเทศกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้ปริมาณความต้องการ แผ่นเหล็กวิลาศ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสับปะรดกระป๋องรายใหญ่ประเทศหนึ่ง ปริมาณผลิตแผ่นเหล็กวิลาศได้เพิ่มจาก 150,000 ตันโลหะในปี 2532 เป็นมากกว่า 220,000 ตันในปี 2536 คาดกันว่าอุตสาหกรรมแผ่นเหล็กวิลาศจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปีจนถึงปี 2543
 
2.)อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ : จากการที่อุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ได้ขยายฐานผลิตมายังประเทศไทย ทำให้อุตสาหกรรมนี้ขยายตัวในระดับร้อยละ 10 ต่อปี การขยายตัวของผลิภัณฑ์โลหะบัดกรีและอัลลอย(โลหะผสมระหว่างตะกั่วและดีบุก) ซึ่งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ต้องใช้นั้นก็เพิ่มขึ้นในระดับเดียวกัน ยอดการส่งออกของอุตสาหกรรมการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มจากจำนวน 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในปี 2532 มาเป็นมากกว่า 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เมื่อปีที่แล้ว
 
3.)อุตสาหกรรมรถยนต์ ; อุตสาหกรรมนี้ต้องใช้โลหะผสมระหว่าตะกั่วและดีบุกเป็นจำนวนมากเช่นกัน ในการผลิตระบบทำความเย็นเครื่องยนต์ปริมาณการผลิตรถยนต์และรถบรรทุกในประเทศไทยในปี 2532 เท่ากับ 200,000 คัน และตัวเลขการผลิตก็จะกระโดดไปเป็นมากว่า 400,000 คันในปีที่แล้ว
 
4.)พิวเตอร์ (Pewter) เมื่อสองสามาปีก่อน เป็นยุคทองของธุรกิจพิวเตอร์ เพราะส่งเสริมการท่องเที่ยวประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และอุตสาหกรรมนี้ก็ช่วยเพิ่มปริมาณความต้องการดีบุกไม่น้อยกว่าปีละ 500 ตัน
 
5.)ปริมาณความต้องการใช้ดีบุกในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง ดังจะเห็นได้จากการขยายตัวจาก 3,400 ตันในประ 2532 เป็นเกือบจะ 5,000 ตันในปี 2536 อัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยนี้อยู่ในระดับเดียวกันกับการขยายตัวโดยเฉลี่ยนี้อยู่ในระดับเดียวกันกับการขยายตัวของ GDP ในปี 2543 ปริมาณการใช้ดีบุกในประเทศจะสูงถึง 8,000 ตันต่อปี
 
อนาคตของดีบุกในปี 2543
ประเทศไทยมีความเหมาะสมที่จะเป็นฐานสำหรับการพัฒนาของประเทศในอินโดจีน อีกไม่นานความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสของการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้มากขึ้นเช่นกัน และนั่นก็จะช่วยเพิ่มปริมาณความต้องการดีบุกในประเทศไทยให้มากขึ้น ความร่วมมือกันในภูมิภาคอาจจะทำให้มีแหล่งอุปทานมากขึ้นในการสนองความต้องการของการถลุงแร่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งก็จะช่วยให้สามารถสนองความต้องการใช้ในภูมิภาคได้ด้วย
 
แม้นว่าการส่งออกดีบุกของไทยจะเลือนราง และอุตสาหกรรมเหมืองดีบุกกำลังตกต่ำ แต่ความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นก็ช่วยให้อุตสาหกรรมดีบุกของไทยมีโอกาสฟื้นตัว และหวนคืนสู่ความรุ่งเรืองในอนาคตอันใกล้นี้ การพัฒนาในด้านต่าง ๆจะมีส่วนสำคัญในการทำให้อุตสาหกรรมดีบุกของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ “เล็กแต่ไปได้สวย” ได้ในที่สุด
 
* * * * * * * * *
 
 
 
 
         
 
 
 
 
 
 
 

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com