สตูล...ผู้นำศาสนาอิสลาม 36 จังหวัดร่วมแก้ปัญหาใต้
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
26 มีนาคม 50
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2550 ผมได้มีโอกาสได้เดินทางไปร่วมประชุมและสังเกตการณ์ การสัมมนาคณะผู้รู้ศาสนาอิสลามในประเทศไทย เรื่องอิสลามกับแนวทาง ในการสร้างความสามัคคีและสันติสุข โดยมีผู้นำศาสนาอิสลาม จาก 36 จังหวัด ทั่วประเทศไทย เข้าร่วมประชุมหาทางแก้ไขปัญหาภาคใต้ เพื่อให้เกิดสันติสุขอย่างรวดเร็ว
เหตุการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ 4 มกราคม 2547 และไม่มีทีท่าว่าจะลดความรุนแรงลง การแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ได้ดำเนินการเกือบจะทุกมิติ แต่ดูเหมือนว่าการแก้ไขจะไปไม่ถูกทาง หรือแก้ตรงจุด เพราะผู้ก่อการร้ายมีการโฆษณาชวนเชื่อในเรื่องการต่อสู้เรื่องชาติพันธุ์ ภาษา และการบิดเบือนคำสอนศาสนาอิสลาม ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง
เมื่อวันที่ 25 26 มีนาคม 2550 ที่โรงแรมพินนาเคิลวังใหม่ อ.เมือง จ.สตูล คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักจุฬาราชมนตรี ศูนย์อำนายการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดสัมมนา สัมมนาคณะผู้รู้ศาสนาอิสลามในประเทศไทย เรื่องอิสลามกับแนวทาง ในการสร้างความสามัคคีและสันติสุข
การสัมมนาครั้งนี้ เป็นการระดมผู้นำศาสนาอิสลาม ในระดับชั้นนำของประเทศไทย โดยสำนักจุฬาราชมนตรี เป็นเจ้าภาพในการเชิญ และมีหน่วยงานในระดับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4 (กอ.รมน.ภาค4) และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ร่วมดำเนินการจัดการประชุม
ศาสตราจารย์ ดร.อิมรอม มะลูลีม ผู้แทนจุฬาราชมนตรี แสดงความคิดเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จ.ชายแดนใต้ เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ในเรื่องการบิดเบือนคำสอนในศาสนาอิสลาม การต่อสู้เรื่องชาติพันธุ์ ซึ่งสามารถชักจูงให้หลงผิด และเข้าใจผิด สันติภาพเป็นต้นทุนทางสังคมที่มีค่ายิ่ง แต่วันนี้กำลังจะหายไปเพราะมีการสร้างสถานการณ์ความรุนแรง จากกลุ่มคนบางกลุ่ม โดยไม่คำนึงถึงเพื่อนร่วมโลก หลายเหตุการณ์ส่อให้เกิดความบาดหมาง ที่มีการหยิบยกเรื่องความแตกต่าง ทำให้ศาสนา วัฒนธรรม ตกเป็นแพะรับบาป เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม และนักการศาสนาได้รับการถูกกล่าวหา มีการสร้างความหวาดระแวง ระหว่างพุทธมุสลิม ดูเหมือนว่าจะบรรลุถึงความสำเร็จในระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกัน สื่อตะวันตกสร้างภาพให้อิสลาม เป็นสิ่งน่าหวาดกลัว ในลักษณะ อิสลาม โมโฟเบีย ซึ่งหมายถึงโรคกลัวอิสลาม
ศาสตราจารย์ ดร.อิมรอม มะลูลีม ผู้แทนจุฬาราชมนตรี บอกอีกว่า นักการศาสนาจะต้องมีความรู้เรื่องระเบียบโลก (news world order) ที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวมเร็ว กว่าที่คาดการไว้ ต้องศึกษาวัฒนธรรม รู้จักคนกลุ่มน้อยในที่ต่าง ๆของโลก แล้วเรียนรู้โดยนำสิ่งที่ดี ๆ มาแก้ไข เช่น กรณีเชชเนีย ในรัสเซีย การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของขบวนการโมโร ในฟิลิปปินส์ ที่ได้รับการแก้ไข ชาวมุสลิมจีนในมณฑลซินเกียง ชาวมุสลิมโรฮินญา ในพม่า สิ่งเหล่านี้นักการศาสนาต้องเรียนรู้ และต้องรู้จักการวิเคราะห์ โดยผู้นำศาสนาจะต้องเข้าใจอิสลามที่เป็นอยู่
ศาสตราจารย์ ดร.อิมรอม มะลูลีม ผู้แทนจุฬาราชมนตรี กล่าวโจมตีสหรัฐอเมริกา ในเรื่องสิทธิมนุษย์ชน ว่า สหรัฐอเมริกา มีการส่งเสริมสนับสนุนให้ประเทศอื่น ให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษย์ชน และมีการโหมโฆษณาว่าสหรัฐเป็นใส่ใจด้านสิทธิมนุษยชน แต่สหรัฐอเมริการกลับเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด มีการกักขังนักโทษ ในคุกมืด คนเหล่านั้นเป็นมุสลิม ในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 10 แห่ง การประกาศสงครามกับอิรัก โดยไม่มีการเห็นชอบจากองค์การสหประชาชาติ
พลเอกปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงความคิดเห็นว่า ที่เลือกจังหวัดสตูลเป็นสถานที่ประชุม เพราะว่า ประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นมุสลิม และไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นเลย ไม่มีการเผา ไม่มีการวางระเบิด จึงอยากให้สตูลเป็นตัวอย่าง เพราะในสตูล มีวัด มัสยิด โบสถ์ คริสต์ อยู่ใกล้กันไม่มีเรื่องบาดหมางกัน การสัมมนาวันนี้ในคณะกรรมาธิการ ฯ มีคนคัดค้าน ว่าทำไม่ได้หรอก เราจะกลัวอีกต่อไปไม่ได้แล้ว
พล.ต.จำลอง คุณสงค์ เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะนี้ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งมีปัจจัยมาจาก อิทธิพล ยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย โดยมีสาเหตุ4 ประการคือ 1.)ประชาชนในพื้นที่มีความคับแค้นทางจิตใจ โดยมีคนมาพูดว่าคน 3 จังหวัดไม่ใช่คนไทย 2.)ความยากจน ภาคใต้มีคนว่างงานประมาณ 1 แสนคน โดยเฉพาะเด็กที่จบมาแล้วไม่มีงานทำ เมื่อมีคนมาจ้างให้พับตะปูเรือใบก็รับจ้าง หรือมีคนมาจ้างต้มใบกระท่อมก็รับ เพื่อต้องการมีรายได้ 3.)มีผู้ชี้นำ และ 4.)อำนาจรัฐไม่เข้มแข็ง ในการดำเนินการต่อไป จะมีระบบการทำงาน 3 ประการคือ การรักษาความปลอดภัย , สร้างอำนาจรัฐ ,และการสร้างสันติสุขอย่างถาวร ,
ในการแก้ไขปัญหา ได้ให้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(มอ.ปน.) ทำวิจัยกรณี การลอบทำร้ายครูจุหลิง ที่โรงเรียนบ้านกูจิลือปะ ว่าใครเป็นคนทำ โดยให้นักศึกษา มอ.ลงไปเก็บข้อมูล ซึ่งก็ได้ข้อมูลที่ดีกลับมา นอกจากนี้ยังให้นักศึกษา มอ. ทำวิจัยที่อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เรื่อง ทำไมชาวบ้านจึงไม่ชอบทหาร ผลการวิจัยนอกจากจะได้ข้อมูลกลับมาแล้ว เราได้ความรู้สึกที่ดี ๆ จากนักศึกษาที่เข้าทำงานกับทหาร โดยการดำเนินการสร้างความสงบสุข จะมีการขยายพื้นที่สันติสุข โดยเริ่มจากจุดเล็ก ๆ เช่นที่ว่าการอำเภอ โรงพัก หมู่บ้าน ฯลฯ ออกไปเป็นวงเหมือนกับการโยนหินลงน้ำ ที่กระจายออกเป็นวง
การสัมมนาคณะผู้รู้ศาสนาอิสลามในประเทศไทย เรื่องอิสลามกับแนวทาง ในการสร้างความสามัคคีและสันติสุข ที่จังหวัดสตูล เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้รับความสนใจจากกงสุลไทย ในเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ได้เดินทางมาติดตามการประชุมอย่างใกล้ชิด
และเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2550 ที่ โรงแรมพินนาเคิล วังใหม่ อ.เมืองจ.สตูล ศาสตราจารย์ ดร.อิมรอม มะลูลีม ผู้แทนจุฬาราชมนตรี ได้สรุปผลการสัมมนา ว่า ดังนี้
1.)ในยามที่สังคมเกิดวิกฤต ผู้รู้และผู้นำศาสนาอิสลามต้องมีความกล้าหาญในทางจริยธรรมในการชี้นำสังคมไปในทางที่ถูกต้อง ทั้งนี้โดยรัฐให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้นำและผู้รู้ทางศาสนามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาของสังคมมุสลิมและประเทศชาติโดยรวม
2.)หลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ยอมรับในความแตกต่างและความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม ตลอดจนความหลากหลายทางชาติพันธุ์ การกระทำหรือคำกล่าวใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าศาสนาอิสลามมีความเกลียดชังรังเกียจศาสนิกในศาสนาและชาติพันธุ์อื่น ๆ ไม่ใช่หลักคำสอนของศาสนาอิสลาม
3.)อิสลามมีหลักคำสอน เรื่อง ญีฮาดชัดเจน และการญีฮาดมิได้หมายถึงการทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะนับถือศาสนาใด การอ้างคำสอนเรื่องญีฮาดเพื่อนำมาทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม
4.)การเรียกว่าญีฮาดใช่หรือไม่ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าถูกกดขี่และขับไล่อย่างอยุติธรรม ถูกลิดรอนด้านศาสนาและจะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางจริยธรรมในการทำสงครามญีฮาด เพราะฉะนั้นการก่อความรุนแรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ย่อมไม่ถือเป็นการญีฮาด อนึ่งรัฐจะต้องไม่สร้างเงื่อนไขใด ๆ อันจะนำไปสู่การอ้างความชอบธรรมของผู้ไม่หวังดีในการกระทำความรุนแรง
5.)การวินิจฉัยว่า บุคคลจะเป็นชะฮีดหรือไม่ จะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของการทำ ญีฮาด แต่หากการเสียชีวิตที่อยู่นอกเงื่อนไข และหลักเกณฑ์ดังกล่าวย่อมไม่ถือเป็นชะฮีด ตามบทบัญญัติอิสลาม
6.)การสาบาน (ซุมเปาะห์) จะสมบูรณ์ได้ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามบทบัญญัติของอิสลาม และมีเป้าหมายในสิ่งที่ไม่ขัดต่อหลักการของศาสนาอิสลามหากผู้กล่าวสาบานไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติของอิสลามหรือมีเป้าหมายที่ขัดแย้งกับหลักคำสอนของอิสลาม การสาบานนั้นให้ถือเป็นโมฆะ
7.)เงินที่ได้รับจัดสรรเยียวยาให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ถือว่าเป็นมรดก
8.)การประกาศวันสำคัญในศาสนาอิสลาม(อิดิลฟิตรีและอีดิลอัดฮา) ในประเทศไทย มีข้อเสนอให้จุฬาราชมนตรีประชุมร่วมกับประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกาศวันสำคัญของศาสนาอิสลามให้เป็นเจ้าภาพ
9.)การผ่าศพและการขุดศพเพื่อชันสูตรหาข้อเท็จจริงความเป็นบุคคลสาเหตุการตาย เพื่อหาความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมสามารถกระทำได้ ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้คำวินิจฉัยของผู้รู้ทางศาสนา และได้รับการอนุญาตจากญาติของผู้เสียชีวิต อนึ่ง ในกรณีศพนิรนาม การดำเนินการให้อยู่ในดุลยพินิจของสำนักจุฬาราชมนตรี
10.)คำวินิจฉัยของอดีตจุฬาราชมนตรี (นายประเสริฐ มะหะหมัด) เกี่ยวกับปัญหาการปฏิบัติตามหลักศาสนาของมุสลิมกับทางราชการ ยังไม่ได้รับการเผยแพร่สู่หน่วยงานราชการ สาธารณชนและสู่การปฏิบัติอย่างทั่วถึงรัฐจะต้องกำหนดเป็นนโยบายสำคัญ เร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
* * * * * * * * * * **