www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 175 คน
 สถิติเมื่อวาน 78 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
739 คน
46553 คน
1738997 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

บุคคลต้นแบบด้านจริยธรรม ได้มาอย่างไร
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
4 ตุลาคม 2556
เมื่อวันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2556 ณ อาคารสวนอัมพร กรุงเทพมหานคร ผมได้เข้ารับโล่รางวัลพร้อมเงินจำนวน 8,000 บาท ที่เป็นบุคคลต้นแบบด้านจริยธรรมในองค์ จาก นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มอบให้ โดยมี นายอภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นายประวิน พัฒนะพงษ์ รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นายไพฑูรย์ หิรัญประดิษฐ์ รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และนางสาวอัมพวัน เจริญกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เป็นสักขพยานในพิธีมอบรางวัลครั้งนี้
ความรู้สึกของผมในเวลานั้นรู้สึกตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก น้ำตาแห่งความปิติหลั่งรินด้วยความยินดี แล้วน้อง ๆ อีก 2 คน ที่ขึ้นมารับรางวัลพร้อมกัน จะมีความรู้สึกอย่างเราไหมหนอ ผมเดินขึ้นเวทีด้วยความภาคภูมิใจ กับการรับรางวัลในครั้งนี้ ต้องบอกว่า เมื่อปีที่แล้ว (ปี 2555) ผมเคยสมัครบุคคลต้นแบบมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก แต่ผมก็ไม่ได้ท้อถอย กลับมุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเทเสียสละมาโดยตลอด แต่หากจะหมุนเข็มนาฬิกากลับไปเมื่อปี 2540 ผมปฏิบัติราชการเป็นผู้สื่อข่าว 7 สวท.ตะกั่วป่า ก็เคยสมัครบุคคลตัวอย่าง ซึ่งก็คล้าย ๆ กับ บุคคลต้นแบบ เพียงแต่เรียกชื่อคนละอย่าง คราวนั้นไม่ได้รับการคัดเลือก แต่ผมก็ไม่ได้เสียใจ หรือหมดกำลังใจที่จะปฏิบัติงานราชการ กลับตรงกันข้ามยิ่งมุมานะทำงานหนักมากยิ่งขึ้น แต่สุดท้าย ความสำเร็จของผมก็มาถึง ได้รับการคัดเลือกเป็นบุคคลต้นแบบด้านจริยธรรมในองค์กร ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 หลังจากที่มี พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมประจำกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อกำหนดข้อบังคับกรมประชาสัมพันธ์ว่าด้วยจรรยาข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ พ.ศ.2552 เพื่อจัดทำจรรยาข้าราชการจากกรอบแนวคิดพื้นฐานของมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งวัฒนธรรมองค์ของกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์เป็นข้าราชการของประชาชน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ยึดมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรม มุ่งมั่นในการรักษามาตรฐานตามหลักวิชาการและวิชาชีพ โดยยึดถือประโยชน์ของสาธารณชนเป็นที่ตั้ง ทีนี้เรามาดูว่า ผมปฏิบัติงานอย่างไรให้ได้เป็นบุคคลต้นแบบด้านจริยธรรมในองค์กร ซึ่งท่านสามารถนำไปปฏิบัติงานราชการและงานอื่น ๆ ได้
คำว่า “บุคคลต้นแบบ” น่าจะมีที่มาจากคำว่า บุคคลตัวอย่าง หรือ บุคคลดีเด่น หรือ คนดีศรีสังคม หรืออริยบุคคล สรุปโดยความหมายก็คือ เป็นบุคคลที่เป็นตัวอย่าง ที่ดีเด่น เราสามารถที่จะนำไปเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติราชการ หรือทำงานไปในแนวทางที่ดีได้ ก่อให้เกิดความสันติ สงบสุข สังคมอยู่ดีกินดี ถ้าทุกคนดำเนินแนวทางแบบนี้ต้องเรียกยุคนี้ว่า “ยุคพระศรีอริยเมตไตร”
มีความหมาย คือ พระศรีอริยเมตไตรยจะมาเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งมาในอนาคต โลกนี้จะมีความสงบสุข และพระศาสนาจะมีความรุ่งเรืองกว่า พระศาสนาของพระพุทธเจ้าในองค์ปัจจุบันนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าจะมีพระอริยบุคคลมากกว่า และประชาชนจะมีความสุขอย่างยิ่ง คือจะไม่มีเรื่องร้อนใจเลย ทุกคนพอใจในความเป็นอยู่ ไม่มีการเบียดเบียน ตอนนอนไม่ต้องปิดประตูก็ได้ บ้านเลยไม่ต้องทำประตูก็ได้ เรื่องคนร้าย หรือขโมยก็ไม่ต้องกลัว แล้วก็คนจะเป็นคนดีเหมือนกันหมด ไม่มีคนพาล จนกระทั่งลงจากบ้าน ก็ไม่มีใครจำได้ว่าใครเป็นใคร เพราะมันดีเหมือนกันหมด มันสุภาพเหมือนกันหมด มันสวยเหมือนกันหมด จนเมื่อกลับเข้าบ้าน จึงจะจำได้ว่า นี่คือภรรยาของเรา นี่คือสามีของเรา นี่คือลูกของเรา และต้องการอะไรก็ได้ มันมีต้นไม้พิเศษที่เรียกว่า ต้นกัลปพฤกษ์ อยู่ทุกทิศ อยากได้อะไรก็ไปขอที่ต้นไม้ จะสะดวกสบาย แม้แต่การคมนาคม การไปการมา จนว่าน้ำในแม่น้ำนั้น จะไหลลงข้างหนึ่ง จะไหลขึ้นข้างหนึ่ง เพื่อจะสะดวกต่อการใช้เรือ อยู่กันเป็นผาสุก ไม่มีอันธพาล ทุกอย่างได้อย่างใจ(ที่มา:วิกิพีเดีย)
คำว่า จริยธรรม หมายถึง ธรรมที่ต้องปฏิบัติ คือ หิริโอตัปปะ แยกเป็น 2 คำคือ
หิริ หมายถึง ความละอายเมื่อตัวเรากำลังเดินไปสู่แนวทางที่ผิด เดินไปแนวทางเสื่อม หรือแม้กระทั่งความอายที่จิตใจของเราเองคิดหรือเขวไปในทางที่ผิด คิดไปในทางอกุศล
โอตัปปะ หมายถึง  ความเกรงกลัวต่อบาป ที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง กลัวเสียยิ่งกว่าเห็นสิ่งอันตรายใดๆ ความเกรงกลัวต่อบาปนี้เป็นความกลัวบาปที่เห็นด้วยใจ กลัวด้วยจิตใจภายในของตนเอง กลัวบาปนั้นๆจะกลับมาหลอกหลอนและทิ่มแทงใจตน ดังนั้นคนที่มีโอตัปปะจะไม่ยอมทำบาปใดๆเลย
ถามว่าธรรมข้อนี้มีบทลงโทษหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า มี ซึ่งผู้ไม่มีความละอายต่อบาป ก็จะมีใจที่จะทำชั่ว อาทิ มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับปลัดกระทรวง เก็บเงินเป็นพัน ๆ ล้านบาท ไว้ที่บ้าน เพื่อต้องการหลบหนีการตรวจสอบ แต่ก็ไม่พ้นสายตาของขโมย ที่เข้าไปลักทรัพย์ถึงในบ้าน ในที่สุด เงินเกือบทั้งหมดก็ตกมาเป็นของรัฐ แถมยังจะต้องโทษทางวินัยอีกด้วย ถ้าปลัดกระทรวง คนนี้มีหิริโอตัปปะ ตั้งแต่ต้น เรื่องแบบนี้ก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน 
และยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นข่าวคึกโครม คือ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขคนหนึ่ง มีการจัดซื้อเวชภัณฑ์ แล้วมีการหักเปอร์เซ็นต์ แม้นจะมีการหลบหนีคดีอยู่หลายปี ในที่สุดก็ถูกจับกุมได้ และต้องโทษติดคุก อยู่หลายปีในสุดก็ยุติบทบาททางการเมือง หันไปบวช แล้วก็ออกเทศนาสั่งสอนผู้คนว่า ถ้าอาตมามีหิริโอตัปปะ เรื่องแบบนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น นั่นเป็นเพียงตัวอย่าง ที่ยกมาให้เห็น ครับ
ธรรมะ 2 คำนี้ นำมาสู่การปฏิบัติ โดยผ่านหลักการบริหาร คือ 2ม. 4ท.
ม. ไม่ทุจริต หมายถึง: ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดในข้องอในกระดูก ไม่เห็นกรงจักรเป็นดอกบัว
ม. ไม่ทะเลาะ หมายถึง: ภายในองค์กร จะต้องมีความรักสามัคคีกัน อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดี   สำหรับภายนอกองค์กร ผู้บริหารจะต้องสร้างพันธมิตร รวมทั้งเครือข่าย ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และไม่สร้างศัตรูกับบุคคลภายนอก
ท. ทีม หมายถึง: ผู้บริหารจะต้องสร้างทีมงาน เริ่มตั้งแต่ สร้างความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน โดยการสวมเสื้อสีเดียวกัน ไปร่วมงานกับบุคคลภายนอกร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน
ท.ทุ่มเท หมายถึง : ผู้บริหารจะต้อง เป็นแบบอย่างในการทำงานที่ทุ่มเท มาทำงานแต่เช้า กลับบ้านหลังผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บริหารอยู่ที่ไหนสามารถติดต่องานได้ตลอดเวลา
ท.เที่ยงธรรม หมายถึง : ผู้บริหารจะต้อง มีการปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยความเป็นธรรม เท่าเทียมกัน ไม่มีความลำเอียงกัน  ไม่มีอคติ ไม่นำเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวข้องกับการทำงาน 
ท.เทคโนโลยี หมายถึง : ผู้บริหารจะต้อง มีความรู้ความเข้าใจต่อเทคโนโลยี ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกัน เพื่อนร่วมงานจะต้องมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
นั่นคือหลักบริหารที่ผมได้นำมาใช้ ซึ่งได้ผลดีครับ เพราะผลออกมาว่า ตั้งแต่ผมเข้ามาบริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา ตั้งแต่ ปี 2554 สถานีได้รับการคัดเลือกให้เป็นสถานีดีเด่นระดับเขต 2 ปี ติดต่อกัน คือ ปี 2554 และ 2555 ได้รับรางวัลสารคดีดีเด่น 2 ปีซ้อน คือปี 2554 และปี 2555 ได้รับประทานรางวัล เครือข่ายสื่อสารมวลชนด้านการควบคุมยาสูบบุหรี่ดีเด่น ปี 2556  จาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย หลายรางวัล
ทีนี้เรามาดู วิธีการปฏิบัติงาน ที่จะนำหลักบริหาร ที่เป็นแบบอย่างกันบ้างนะครับ และจะนำเราสู่การทำงานที่ดีมีประสิทธิภาพ เอาเฉพาะ ม. ไม่ทุจริต มาใช้ปฏิบัติในการทำงาน โดยผมแบ่งการทำงานเป็น 2 อย่าง คือ การทำงานตามโครงการยุทธศาสตร์ และการทำงานเชิงบริหารงาน 
การทำงานตามยุทธศาสตร์ หมายถึง การทำงานตามแผนงานโครงการยุทธศาสตร์ ที่ทางหน่วยงานได้รับงบประมาณจากหน่วยงานต้นสังกัด มาปฏิบัติงาน ซึ่งงานตามยุทธศาสตร์ของกรมประชาสัมพันธ์ (ปี 2556) ที่นำมาปฏิบัติ คือ โครงการเทิดทูนสถาบัน โครงการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย โครงการสมานฉันท์ ฯลฯ ซึ่งการทำงานตามโครงการยุทธศาสตร์ ก็ให้ดำเนินงานเป็นไปตามแผนงาน กิจกรรม ที่ได้รับมาจาก สำนักแผนฯ ที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเป้าหมาย แผนงาน กิจกรรม การเบิกจ่ายเป็นไปตามไตรมาส ถูกต้องตามตัวชี้วัด รวมทั้งสอดส่องไม่ให้มีช่องว่างที่จะก่อให้เกิดการทุจริต  
การทำงานเชิงการบริหาร หมายถึง การทำงานที่ไม่ใช่งานที่เกี่ยวกับโครงการยุทธศาสตร์  ซึ่ง ในหน่วยงานที่ผมบริหาร มีหลักการที่จะปฏิบัติ ดังนี้
1.ต้องเขียน โครงการ: อาทิ โครงการเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายและมาตรการประหยัดพลังงาน โดยผมได้มอบหมายให้ เจ้าหน้าที่พัสดุ เป็นผู้เขียนโครงการ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุ ฯ เป็นผู้เห็นชอบโครงการ และ ผู้อำนวยการสำนักเป็นผู้อนุมัติโครงการ ซึ่งการเขียนโครงการ จะเป็นการเริ่มต้นของการทำงานที่จะสามารถตรวจสอบได้ โดยอย่างน้อยจะมีรายชื่ออยู่ 3 คน คือ ผู้เขียนโครงการ ผู้เห็นชอบโครงการ ผู้อนุมัติโครงการ แต่เท่านี้ยังไม่พอครับ เราจะต้องออกคำสั่งแต่งตั้งให้มีคณะทำงาน
2.ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน : เมื่อเขียนโครงการเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว ผู้อำนวยการ จะต้องออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน โดยให้ ผู้อำนวยการ เป็นประธานคณะทำงาน ให้ผู้เขียนโครงการแต่งตั้ง เป็นเลขานุการคณะทำงาน ที่เหลือนอกจากนั้น แต่งตั้งให้เป็นคณะทำงาน การที่เรามีการแต่งตั้งคณะทำงานก็เพื่อต้องการให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกัน โดยไม่มีการเกี่ยงว่า ไม่ใช่งานของตัวเอง หรือเป็นงานของคนอื่น
3.ประชุม :  เมื่อมีการแต่งตั้งคณะทำงานเสร็จแล้ว เราจะต้องมีการประชุมคณะทำงาน เพื่อหามาตรการหรือวิธีการในการที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ งบประมาณ วิธีการ และการประเมินติดตามผล
4.การจัดซื้อ : เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ รวมทั้งกฎหมายที่ใช้บังคับด้วย หากไม่ทราบก็ให้สอบถาม กองกฎหมายและระเบียบ กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคน พร้อมที่จะให้คำปรึกษา ซึ่งผมก็ใช้บริการบ่อยครับ และผมก็ได้รับคำอธิบายเป็นอย่างดีครับ
5.การลงมือปฏิบัติ : ขั้นตอนนี้ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน อาทิ เรื่องการผลิตไฟฟ้าฟ้าจาก แผงโซล่าเซลล์ ต้องอาศัยวิชาความรู้ ให้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ แล้วจึงปฏิบัติ ให้เป็นไปตามหลักวิชา 
6.การเบิกจ่ายเงิน:  ขั้นตอนนี้ เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ที่จะต้องเบิกจ่ายให้เป็นไปตามหลักฐาน ที่ต้องปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์ ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่เสี่ยงต่อการทุจริตมากที่สุด หากไม่สุจริตอาจจะมีการสมคบกับร้านค้าปลอมแปลงใบเสร็จ เพื่อนำไปสู่การทุจริตได้ ต้องตรวจสอบให้ดี สำหรับการเบิกจ่าย จะต้องมีการแนบ โครงการ คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน ใบเสร็จรับเงิน และ เอกสารสำคัญ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
นี่เป็นเพียง 6 ขั้นตอน ที่ผมนำมาใช้ในการทำงานเชิงการบริหารงาน เมื่อเรามีระบบการทำงาน ที่เป็นแบบแผนแล้ว สิ่งที่ตามมาคือความไว้เนื้อเชื่อใจ ทุกอย่างตรวจสอบได้ โปร่งใส สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ คนในองค์กรก็จะเกิด ความร่วมใจทำงาน การทำงานเป็นทีมจะเริ่มเกิดขึ้น บุคลากรมีใจที่อยากจะปฏิบัติงานเพราะมีความเชื่อว่า ทำงานไปไม่เสียแรงเปล่า ผู้บริหาร หรือ ผู้ปฏิบัติคนอื่น ไม่ทุจริต เงินไม่เข้ากระเป๋าใครคนใดคนหนึ่ง งานก็จะเดินอย่างราบเรียบ เพราะทุกคนต่างมีส่วนร่วมในการทำงาน ทั้งร่วมคิด ร่วมทำ ตามคำสั่งที่รองรับ
การทำงานที่จะให้ได้เป็นบุคคลต้นแบบ แค่นี้ยังไม่พอครับ ผู้บริหาร จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร ให้มีส่วนร่วม ดังนี้
การสร้างการมีส่วนร่วมภายในองค์ (PMQA หมวด 3)
1.การร่วมรับประทานอาหาร : ทางสถานี ฯ จัดให้มีอาหารเที่ยง  ให้บุคลากรร่วมรับประทานร่วมกัน ทุกวันตั้งแต่วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ เพื่อให้บุคลากร ได้มีโอกาสได้พูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ
2.การร่วมงานสำคัญ: เมื่อมีงาน ราชพิธี หรือ งานเลี้ยงสังสรรค์ของหน่วยงานสำคัญในพื้นที่ จะต้องนำบุคลากรร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง โดยแต่งชุดที่เป็นรูปแบบเดียวกัน สีเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์องค์กร ทั้งนี้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในองค์กร และเป็นการมีส่วนร่วมภายนอกองค์กรด้วย
การสร้างความผาสุกในองค์กร (PMQA หมวด 5 )
1.การจัดชั่วโมงความสุข (Happy Hour) : ทุกเดือนจัดให้มีการพบปะสังสรรค์ ระหว่างบุคลากรในองค์กร เพื่อให้เกิดความรักในองค์กร ในงานจัดให้มีกิจกรรมร้องเพลง รับประทานอาหารร่วมกัน มีการจับรางวัลประจำเดือน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
2.มอบการ์ดวันเกิด (Happy Birthday ) : เดือนไหนที่มีวันเกิดของบุคลากร ผมจะให้เพื่อนบุคลากรเขียนการ์ดอวยพรวันเกิด ลงในการ์ดแผ่นเดียวกันเพื่อแสดงออกถึงการเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งจะทำให้กับทุก ๆ คน ที่เกิดในแต่ละเดือน
3.ทำบุญสถานี : ปีละครั้ง จะมีการทำบุญสถานี เพื่อความเป็นสิริมงคลของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานี ให้เกิดขวัญและกำลังใจ ในการปฏิบัติงานต่อไปอย่างมีความสุข
การปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพ (PMQA หมวด 7 )
1.การปฏิบัติงานต้องทำอย่างมืออาชีพ :  การปฏิบัติงานจะต้องทำอย่างมืออาชีพ นั่นคือ การทำงานอย่างเป็นระบบ  มีแบบแผน อาทิ การผลิตสารคดี จะต้องมีการปรึกษาหารือระหว่างผู้บริหารกับผู้ปฏิบัติ อย่างใกล้ชิด ซึ่งผู้บริหารจะต้องมีความสามารถให้คำปรึกษาได้ อย่างละเอียด ลึกซึ่ง ผู้ปฏิบัติสามารถนำไปปฏิบัติได้เป็นอย่างดี
2.ผู้บริหารสามารถให้ความรู้ในวิชาชีพได้ : ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้รอบรู้ในวิชาชีพ สามารถถ่ายทอดให้กับบุคคลอื่นได้เป็นอย่างดี  และสามารถเป็นวิทยากรบรรยายงานด้านวิชาการได้อย่างมืออาชีพ ที่เข้าใจงานอย่างถ่องแท้
3.เป็นผู้มีจิตบริการ (Service Mind) : เราจะต้องบอกบุคลากรทุกคนในองค์กร จะต้องเป็นผู้มีจิตใจบริการ เสียสละ จริงใจ เสมอต้นเสมอปลายไม่เลือกปฏิบัติ มุ่งปฏิบัติหน้าที่เพื่อสาธารณชนโดยไม่ยอมให้อิทธิพลทางการเมืองหรือผลประโยชน์อื่นใดมาครอบงำ และให้บริการด้วยความรวดเร็ว
ทั้งหมดเป็นวิธีการในการนำไปสู่ บุคคลต้นแบบด้านจริยธรรมในองค์กร ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้ผล แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด การทำงานทุกอย่างต้องมีการทำบันทึก การรายงาน และจะเป็นการดีที่สุดคือต้องถ่ายรูปกิจกรรมทุกอย่างที่ได้ทำไว้ เพื่อจะได้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ เมื่อมีการตรวจสอบ หรือมีการส่งหลักฐานเข้าประกวด ในภายหลัง และการถ่ายภาพนับว่าเป็นการจดไดอารี่ที่ดีที่สุด ครับ
เมื่อท่านอ่านแล้ว ไม่เข้าใจหรือข้อมูลไม่ครบถ้วนผมพร้อมที่จะอธิบายขยายความนะครับ ส่งอีเมล์ ไปที่ narongthai53@gmail.com ผมจะได้ตอบคำถามที่ท่านอยากจะถาม ขอขอบพระคุณอีกครั้งหนึ่งที่ท่านเข้ามาอ่าน ขอให้โชคดีกับอาชีพรับราชการนะครับ
 

 

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com