กำหนดการงานสมโภชเจ้าพ่อปู่ทวดหัวเขาแดง ประจำปี 2556
ระหว่างวันที่ 12-18 พฤษภาคม 2557
ณ บริเวณสระบัว แหลมสมิหลา จ.สงขลา
8888888888
วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 57 เวลา 07.00 น.อัญเชิญพระทั่วเมืองสงขลา
เวลา 07.30 น.พิธีอัญเชิญทวดเขาแดง
เวลา 19.00 น.สวดมนต์ทำวัดค่ำ
วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม 57 เวลา 08.00 น.พิธีสวดมนต์ทำวัตรเช้า
เวลา 16.30 น.พิธีเปิด โดยนายกฤษฎา บุญราช ผวจ.สงขลา
เวลา 18.00 น.พิธียกเสาเทวดา
เวลา 20.00 น.พิธีสะเดาะห์ ข้ามสะพานสวรรค์
วันพุธที่ 14 พฤษภาคม 57 เวลา 08.00 น. พิธีทำวัตรเช้า
เวลา 19.30 น. พิธีทำวัตรค่ำ
เวลา 20.00 น. แสดงสิงโต-มังกร
วันพฤหัสที่ 15 พฤษภาคม 57 เวลา 07.00 น.อัญเชิญทวดหัเขาแดงแห่รอบเมืองสงขลา
เวลา 19.30 น.พิธีทำวัตรค่ำ โดย อ.วัดถาวรวราราม
วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 57 เวลา 08.00 น.พิธีทำวัตรเช้า
เวลา 14.00 น.พิธีก่อกองไฟ
เวลา 18.00 น.พิธีทำวัตรค่ำ
เวลา 19.00 น.พิธีประมูลวัตถุมงคล
เวลา 21.00 น.พิธีลุยไฟ
วันเสาร์ที่ 17 พฤษาคม 57 เวลา 09.00 น.พิธีทำวัตรเช้า
เวลา 10.00 น.พิธีเทกระจาด
เวลา 19.00 น.พิธีสวดมนต์
วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม 57 เวลา 07.00 น.อัญเชิญพระกลับศาล
จบ
|
ชีวิตนักข่าว...ประวัติปู่ทวดหัวเขาแดง
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
16 กุมภาพันธ์ 2553
สงขลา เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน หลายชั่วอายุคน ที่เรื่องราวเล่าสู่ลูกหลาน อย่างไม่รู้จบ วันนี้ผมมีโอกาสได้แวะไปสักการะ ทวดเขาหัวแดง ซึ่งตั้งอยู่หลืบถ้ำปลายเขาหัวแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา การเดินทางไป สักการะมีหลายเส้นทาง แต่วันนั้นผมเลือกที่จะนำรถลงแพขนานยนต์ ลงที่ท่าเรือฝั่งเมืองสงขลา แล้วมาขึ้นที่ท่าเรือฝั่งเขาหัวแดง ใช้เวลาช่วงนี้ประมาณ 10 นาที เมื่อถึงฝั่ง และห่างไปไม่ไกลมากนักก็เป็นที่ตั้งของศาลทวดหัวเขาแดง ที่มีผู้เคารพนับถือแวะเวียนมาสักการะ อยู่ไม่ขาดสาย แม้นแต่ผู้ที่ขับรถยนต์ผ่าน ยังให้ความเคารพโดยการบีบแตร เพื่อแสดงความเคารพ ผมได้พบกับนางสาวเยาว์อารีย์ รวมแก้ว หรือชื่อที่ชาวบ้านเขาเรียกกันว่า แวม ได้ให้ข้อมูลเป็นหนังสือ ผมจึงขอนำมาถ่ายทอดเพื่อให้ท่านได้ศึกษา เป็นความรู้ ดังนี้ครับ
หัวเขาแดงตั้งอยู่ทางใต้ เกือบสุดปลายแหลมสันทรายสทิงพระ ทางทิศตะวันตกของปากน้ำเมืองสงขลา ทางด้านทิศเหนือบริเวณบ้านบนเมือง เคยเป็นที่ตั้งของเมืองสงขลาเก่าสมัยอยุธยาแต่เดิม จากลักษณะภูมิประเทศ เขาแดงจึงเป็นตำแหน่งที่หมายสำคัญหลาย ๆ ด้าน อาทิ บริเวณที่ตั้งเมืองสงขลาเก่า ภูเขาที่ตั้งอยู่ปากน้ำทะเลสาบสงขลา-พัทลุง รูปเขาคล้ายจระเข้ เป็นที่หมายสำหรับการเดินทาง
จากลักษณะของหินภูเขานี้ เป็นหินโคลน (MUD STONE) ที่มีสีแดง จึงได้เรียกว่า เขาแดง เขาแดงได้ปรากฏในแผนที่เก่าครั้งสมัยอยุธยา ในแผนที่นี้ทางส่วนหัวเขาแดงที่ยื่นลงสู่ปากน้ำปรากฏว่า ทางตอนบนเป็นป้อมปราการ ตอนล่างของ
ป้อมมีอาคารคล้ายศาลา 1 หลัง ซึ่งน่าจะเป็นศาลาทวดหัวเขาแดงมาก่อน
มนุษย์ชาติมีความเชื่อมาแต่สมัยโบราณ เชื่อว่าธรรมชาตินั้นจะมีทวยเทพหรือ ทวด สิงสถิตอยู่ เช่น ภูเขา ต้นไม้ใหญ่ ฯลฯ ปฏิบัติหน้าที่ด้านต่าง ๆ คอยประสิทธิประสาทคุ้มครองและลงโทษแก่ผู้กระทำสิ่งที่ไม่ดีงามและไม่ถูกใจด้วยฉะนี้
ทวดหัวเขาแดง เป็นเทพที่สถิตอยู่ที่หัวเขาแดงปากน้ำเมืองสงขลา และเป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั่ว ๆ ไป มาแต่สมัยโบราณว่า ทวดคอยอภิบาลคุ้มครองปัองกันรักษาความปลอดภัย ประสิทธิ์โชคลาภนานาประการแก่เมืองสงขลา ประชาชนชาวสงขลาและผู้ที่เดินทางผ่านไป-มา ทั้งทางบกและทางทะเล
ต่อมา ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตัวเมืองสงขลา ในขณะนั้น ตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านบ่อเตย ตำบลหัวเขา เจ้าเมืองสงขลา และประชาชนที่ศรัทธา ได้สร้างศาลาเป็นที่ประดิษฐาน สักการะทวดเขาแดงขึ้นโดยถาวร ลักษณะการสร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมจีน คล้ายศาลา หรือศาลเจ้า มีความสวยงามตามแบบสถาปัตยกรรมภายในประดิษฐานรูปจำลองของทวดเขาแดง และรูปจำลองมีแกะสลักศิลปะจีนของ เอ็งบ้วนต๊ะ ง้วนช้วย หรือ องค์ว่านต๊ะ เหยียนช้วย ซึ่งเป็นเทพที่สำคัญองค์หนึ่งทางฝ่ายบุ๋น เป็นแม่ทัพที่ชาวจีนที่นับถือมาก
สมัยญี่ปุ่นขึ้น พ.ศ.2484 มีระเบิดลงมา 6 ลูก ที่หน้าศาลของปู่ทวดหัวเขาแดง แต่ระเบิดไม่ปะทุ (ไม่ระเบิด) มีเรือญี่ปุ่นจอดอยู่ด้วย แต่ไม่ได้รับอันตรายและชาวสงขลาส่วนใหญ่จะหลบภัยอยู่ตามถ้ำ ซึ่งในปัจจุบันคือถ้ำแม่นาง
ก่อนสมัยสงคราม มีชาวไทยผู้หนึ่งได้เดินทางไปอยู่ที่ประเทศจีน เมื่อสงครามสงบลง ทางประเทศจีนก็ให้ชาวไทยผู้นี้เดินทางกลับสู่ประเทศไทย ชาวไทยผู้นี้ชื่อ นางเผ็ก ไม่ทราบนามสกุล ได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยในปี พ.ศ. 2488 ในการเดินทางกลับมาสู่ประเทศไทยนี้ นางเผ็กได้อัญเชิญพระเอ็งบ้วนต๊ะ องค์เล็กมาด้วย 1 องค์ เพื่อคุ้มครองให้เดินทางปลอดภัย เมื่อเดินทางมาถึงสงขลา ก็ได้อัญเชิญพระเอ็งบ้วนต๊ะ ประดิษฐานไว้ ณ ศาลของปู่ทวดหัวเขาแดง ต่อมาพระเอ็งบ้วนต๊ะ ได้อันตรธานไปโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นเวลานานเท่าไรไม่ปรากฏ
ด้วยกาลเวลาราว 175 ปี ศาลาทวดหัวเขาแดงชำรุดทรุดโทรมเป็นที่น่าสังเวช ดังนั้นในปี พ.ศ.2516 นางเปีย ฮวดอุปัต ได้ขออนุญาตบูรณะศาลเจ้าแป๊ะกง (ศาลาทวดหัวเขาแดง) ต่อกองโบราณคดี กรมศิลปากร ตามสำเนาหนังสือหน่วยศิลปากรที่ 1 รับที่ 174 ลว. วันที่ 17 สิงหาคม 2516 เวลา 10.00 น. พร้อมแบบแปลนตามสถาปัตยกรรมเดิม
เมื่อนางเปีย ได้เริ่มทำการบูรณะศาลเจ้า พระเอ็งบ้วนต๊ะ ได้ประทับทรง บอกให้ไปตามเอารูปปั้น หรือ กิมสิน กลับมา แล้วทางนางเปียได้ไปตามหาจนได้องค์พระกลับคืนมา โดยได้มาจากบ้านของชาวจีนผู้หนึ่ง ที่ถนนเพชรคีรี ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา ในขณะที่บูรณะศาลเจ้ายังไม่แล้วเสร็จ ได้มีชาวจีนปีนังเดินทางมาที่อำเภอหาดใหญ่ นำพระเอ็งบ้วนต๊ะ องค์ใหญ่ มาประดิษฐาน ณ ศาลเจ้า จนกระทั่งศาลเจ้าบูรณะเสร็จเรียบร้อยสวยงามแล้วมีพิธีสมโภชตามประเพณีทุกปี มาจนถึงปัจจุบัน
หลังจากที่ได้บูรณะศาลเจ้าของปู่ทวดหัวเขาแดงเสร็จแล้ว นางเปีย ก็ได้สร้างรูปปั้นของปู่ทวดหัวเขาแดง เป็นรูปปั้นปูนขึ้นเพื่อให้ประชาชนชาวสงขลา และประชาชนทั่วทุกจังหวัดที่เดินทางผ่านไปมา ได้สักการะ
ในปีพ.ศ.2517 ได้มีงานประจำปี มีพิธีลุยไฟ ณ ป่าสนแหลมทราย เป็นประจำทุกปี เป็นเวลาถึง 6 ปี นางเปียได้เห็นว่ายุ่งยากเรื่องการเงิน เนื่องจากไม่ได้นำรายได้ไปบูรณะศาลเจ้า นางเปียจึงได้สละสิทธิ์งานประจำปีทางป่าสน แล้วไปจัดงานประจำปีของทวดเขาแดงทางฝั่งหัวเขาแดงทุก ๆ ปี หลังจากเสร็จงานประจำปีของทวดหัวเขาแดง ทางฝั่งหัวเขาแดงแล้ว 2 วัน คณะผู้จัดงานทางป่าสนได้ไปยืมองค์ทวดและอัญเชิญองค์ทวดหัวเขาแดงมาเพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาในงานประจำปีของป่าสนเมื่อเสร็จงานแล้วจึงได้อัญเชิญองค์ปู่ทวดหัวเขาแดงกลับคืนสู่ศาล
ในปี พ.ศ.2522 นางเปีย ได้สร้างพระพิฆเนศวร เป็นรูปปูนปั้นขึ้น ประดิษฐานไว้ ณ ศาลของปู่ทวดหัวเขาแดง ในปี พ.ศ. 2525 นางเปีย ฮวดอุปัต ได้ชวนนายเม้ง แซ่โคว้ ร่วมกันสร้างถ้ำแม่นาง การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2527 และได้มีการแห่องค์ทวดและองค์พระรอบเมืองสงขลาทุก ๆ ปี มาจนถึงทุกวันนี้
ปู่ทวดหัวเขาแดง คอยอภิบาลคุ้มครองประชาชนชาวสงขลาให้แคล้วคลาดจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น เช่นในปี พ.ศ. 2505 ได้เกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช พายุไต้ฝุ่นได้พัดเข้ามาที่ปากอ่าวสงขลา ปู่ทวดหัวเขาแดงและศักดิ์สิทธิ์หลาย ๆ องค์ ได้ช่วยกันต้านทานไม่ให้ลมพายุไต้ฝุ่นพัดเข้าสู่เมืองสงขลา
๙๙๙๙๙๙๙๙ |