ชีวิตนักข่าว...อภินิหารปู่ทวดหัวเขาแดง
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
16 กุมภาพันธ์ 2553
เรื่องราวของทวดหัวเขาแดง ซึ่งตั้งอยู่ที่ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เลื่องลือ ขจรขจาย ถึงความมีอภินิหาร อย่างไม่ขายสาย เมื่อผมได้สัมผัส จึงทำให้รู้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ อย่างมิรู้เสื่อมคลาย ผมพูดคงไม่เชื่อ จึงไปฟังการเล่าของ คุณไสว การีรัตน์ ที่ได้ถ่ายทอด ผ่านหนังสือประวัติปู่ทวดเขาหัวแดง ที่ผมจะถ่ายทอดให้ฟังต่อไปนี้
อภินิหารปู่ทวดหัวเขาแดง
ไสว การีรัตน์ เขียน
เรื่องทรงเจ้า เข้าทรง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องที่พูดยากด้วยเป็นสิ่งลี้ลับ จะพิสูจน์ให้เห็นจริงเห็นจังไม่ได้ นอกจากประสบพบกับตนเองเท่านั้น แต่เมื่อพบกับตนเองแล้วบอกเล่าให้เพื่อนฝูงคนอื่นฟัง เขาจะเชื่อหรือไม่นั้นก็อยู่ที่ความศรัทธาเชื่อถือของผู้ได้ยินได้ฟังเท่านั้น เพราะไม่อาจจะทดลองให้เห็นจะแจ้งชัดเจนในทันทีทันใดได้จึงเป็นเรื่องลี้ลับเช่นเดียวกับเรื่องของ ปู่ทวดหัวเขาแดง ที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้
ผมเชื่อมั่นและศรัทธา นับถือปู่ทวดมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะได้พบเห็นมากับตนเองครั้งแรกสุดเมื่อผมไปเป็นวิทยากรอบรมลูกเสือชาวบ้านที่โรงเรียนสารพัดช่าง น้าเปีย ซึ่งเป็นคนทรง หรือ ร่างทรง ของปู่ทวดหัวเขาแดงเป็นผู้หนึ่งที่เข้าอบรมด้วย ตามปกติ น้าเปีย พูดภาษาถิ่นใต้ ไม่ได้ คืนหนึ่งในระหว่างอบรมเป็นเวลาพักผ่อน คณะวิทยากรและผู้ให้การอบรมลูกเสือชาวบ้าน ต่างก็มานั่งคุยสังสรรค์ น้าเปีย ก็เป็นผู้หนึ่งที่มาร่วมวงด้วย ตอนหนึ่งน้าเปีย พูดเป็นภาษาใต้ว่า ฝนอี้ตกแล่ว แต่พ่อขอไว้ว่าอย่าให้ลูกหลานที่อบรมลำบาก ให้อบรมเสร็จก่อนค่อยตก คนอื่น ๆ ที่นั่งอยู่จะคิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมนั้นหันไปมองรอบ ๆ เห็นเมฆฝนครื้มไปหมด และคิดว่าฝนคงต้องตกแน่ แต่ฝนก็ไม่ตก จนกระทั่งวันสุดท้ายของการอบรมเสร็จสิ้น ก็จัดกิจกรรมอำลากันในตอนเย็น พอเสร็จพิธีก็แยกย้ายกันกลับ ผมและเพื่อนวิทยากรสองสามคนไปนั่งรับประทานอาหารที่ร้านใกล้ ๆ กับโรงเรียนสารพัดช่าง นั่นแหล่ะพวกผมเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะกลับ ขณะนั้นเองฝนก็ตกหนักเรียกว่า ไม่ลืมหูลืมตา กันทีเดียว จนท่วมในสนามโรงเรียนสารพัดช่าง
ขณะนั้นผมก็พูดกับเพื่อน ๆ ที่เป็นวิทยากรว่า จริงอย่างปู่ทวดว่าแล้วนะ ทุกคนก็เห็นด้วย และต่างเชื่อว่า นั่นคง ความศักดิ์สิทธิ์ของปู่ทวดหัวเขาแดง โดยแท้
ครั้งต่อมา เมื่อผมย้ายไปอยู่โรงเรียนเทศบาล 2 (อ่อนอุทิศ) ปี พ.ศ. 2530 คณะครูก็ได้จัดให้มีกีฬาขึ้นในโรงเรียน ในวันกีฬาสีของโรงเรียนครั้งนั้นจัดขึ้น 2 วัน วันแรกพอเริ่มแข่งขันฝนก็ตั้งเค้าเมฆฝนทะมึนไปหมด เพื่อน ๆ ครู ก็วิตกถามกันว่า ฝนตกจะทำอย่างไรผมเลยตอบไปว่า ไม่ตกแล้วผมก็หันหน้าไปทางหัวเขาแดงแล้วระลึกถึง ปู่ทวดหัวเขาแดง ขอความเมตตาว่า ขออย่าให้ฝนตก ขอให้ลูกหลานได้เล่นกันอย่างสนุก ๆ แล้ววันนั้นทั้งวันฝนก็ไม่ตก อากาศครื้มสบาย พอรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 2 เมฆฝนตั้งเค้ามาอีกพอเริ่มแข่งขันฝนโปรยลงเล็กน้อย ผมก็ระลึกถึง ปู่ทวด พร้อมขอความเมตตาอีก ปรากฏว่าในบริเวณโรงเรียนฝนไม่ตก แต่ไปตกรอบนอกวัดสระเกษ โรงเรียนวรนารีเฉลิมโน่น ทำให้การแข่งขันกีฬาสีในโรงเรียนไม่มีอุปสรรคเกี่ยวกับฝนฟ้าอากาศ
ต่อมาเมื่อน้ำท่วมภาคใต้ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2531 นี่เอง ในวันนั้นเมื่อผมกลับจากทำงานไปนั่งคุยกับเพื่อน ๆ ที่ตลาดสดเทศบาลเมืองหาดใหญ่ เวลาประมาณ 17 นาฬิกา สังเกตเห็นน้ำเอ่อสูงขึ้นตามท่อข้างถนน แต่ผมคิดว่าคงไม่ท่วม เมื่อกลับถึงบ้านพอเที่ยงคืน ๆ นั้น ขณะที่ผมนอนหลับอยู่ก็เหมือนมีเสียงใครมาปลุกให้ตื่น ผมจึงตื่นขึ้นมาแล้วรีบลงมาดูน้ำปรากฏว่า น้ำปริ่มจะเข้าบ้านจึงรีบเก็บสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่อยู่ข้างล่าง พอขนของหมดพอดี น้ำก็ไหลเข้าบ้าน ทำให้ผมสงสัยว่า ใครมาเรียกบอกให้ตื่นให้รู้ว่าน้ำจะท่วม แต่ผมไม่ทราบ
จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนมกราคม 2532 ผมมีโอกาสได้ไปกราบ ปู่ทวดหัวเขาแดง เมื่อผมไปถึง ปู่ทวดก็ถามเรื่องน้ำท่วมทั้ง ๆ ที่ผมไม่ได้พูดอะไรเลย ปู่ทวดก็บอกได้ถูกต้องว่าในบ้านน้ำท่วมสูงระดับไหน ซึ่งถูกต้องตามความเป็นจริงทุกประการ และปู่ทวดก็บอกว่าคนที่มาเรียกให้ผมตื่น ก็คือปู่ทวดเอง เหตุการณ์ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ ผมจึงเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหารของ ปู่ทวดหัวเขาแดง
๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙ |