www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 60 คน
 สถิติเมื่อวาน 59 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
4169 คน
4169 คน
1749437 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

วารสารสมาคมเพื่อการรักษา
สมบัติวัฒนธรรม
ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2512
 ชีวิตนักข่าว...ในหลวงเสด็จส่วนพระองค์ที่ป่าตอง
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
6 มีนาคม 2553
ชีวิตนักข่าว ของผม สิ่งที่ฝังอยู่ในจิตใจก็คือความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องที่ น่าสนใจ และยากที่คนอื่นจะหาพบ วันนี้ผมมีโอกาสได้เข้ามากรุงเทพ ผมก็ได้ตระเวนไปที่ ย่านสะพานควาย ที่อยู่ไม่ไกลจากที่พักมากนัก เพื่อหาหนังสือเก่ามาอ่าน เพราะผมมีความเชื่อว่า หนังสือยิ่งเก่ายิ่งทรงคุณค่ามาก ถ้าท่านไปย่านสะพานควายช่วงวันเสาร์และวันอาทิตย์ ก็จะมีพ่อค้าแม่ค้า นำของเก่ามาวางขายเรียงรายริมถนนพหลโยธิน ตั้งเป็นโต๊ะเรื่อยไปจนถึง ตลาดนัดสวนจตุจักร และผมก็พบหนังสือเล่มหนึ่ง ค่อนข้างเก่า ชื่อหนังสือ วารสารสมาคมเพื่อการรักษาสมบัติวัฒนธรรม ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2512 ในหน้าที่ 43 คอลัมน์ ชื่อเรื่องของดีเมืองภูเก็ต เขียนโดย แสวง ศรีเพ็ญ ซึ่งเป็นหนังสือเก่าอายุ 41 ปี แต่เมื่อผมยืนอ่าน ปรากฏว่า เนื้อสาระ เป็นเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินส่วนพระองค์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ป่าตอง จ.ภูเก็ต เมื่อปี พ.ศ. 2502 และผมขอคัดลอกเพื่อนำมาเสนอท่านให้ทราบว่า เป็นประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของภูเก็ต
 
ของดีเมืองภูเก็ต
โดย...แสวง ศรีเพ็ญ
วารสารสมาคมเพื่อการรักษาสมบัติวัฒนธรรม ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2512
          สิ่งที่ประทับใจและน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ชาวตำบลป่าตองของจังหวัดภูเก็ต จะต้องจารึกและจดจำไว้ในดวงใจตราบชั่วชีวิตของชนรุ่นนี้ ตลอดจนถึงชนรุ่นหลังสืบต่อกันไปอีกชั่วลูกชั่วหลาน สิ่งนั้นก็คือเรื่องราวและความเป็นมาของราชปาทานุสรณ์ ที่กำลังจะเสนอทานดังต่อไปนี้
เมื่อวันนั้น ซึ่งหมายถึงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2502 ที่บันไดหน้าบ้านเลขที่ 16 หมู่ที่ 2 ที่ตั้งสงบเงียบอยู่ท่ามกลางดงมะพร้าวและสวนยางอันร่มครื้มตามสภาพบรรยากาศในชนบททางตอนใต้ของประเทศไทย และอยู่ตรงข้ามกับวัดสุวรรณคีรีวงศ์ ซึ่งเป็นบ้านของ นางลมุล ภิรมฤทธิ์ ขณะนั้นเวลาประมาณ 12.05 น. นางลมุน กำลังรับประทานอาหารอยู่ในบ้าน บังเอิญสายตาเหลือบไปเห็นบุรุษสองคนกำลังเดินตรงมาที่บ้าน ในตอนแรกก็ไม่ได้สนใจอะไรนัก คงก้มหน้ารับประทานอาหารต่อไปอีก ด้วยเข้าใจว่าคงเป็นเพื่อนบ้าน ธรรมดาสามัญชนที่เคยผ่านไปมา
แต่ก็คล้ายกับมีอะไรบางอย่างสะกิดใจให้นึกถึงพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ติดบูชาไว้บนหิ้งข้างฝาเหนือหัวนอน จึงหันกลับไปมองดูอย่างพิจารณาอีกครั้ง การหันกลับไปมองดูใหม่ในครั้งหลังนี้ทำให้นางลมุน ตกใจแทบหมดสติ จนเผลอตัวร้องออกมาด้วยความตกใจว่า “โอ้ยจ้าว” และพร้อม ๆ กันนั้นก็พรวดพราดลุกขึ้นทันทีในลักษณะของคนตกใจสุดขีด ด้วยไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเป็นไปได้ เพราะผู้ที่ยืนอยู่ตรงหน้าบันไดบ้านนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้มาเสด็จประทับยืนอยู่อย่างเงียบ ๆ มีหม่อมทวีวงศ์ถวัลย์ศักดิ์ เป็นผู้โดยเสด็จมาด้วยในขณะนั้น
นางลมุลแต่งกายธรรมดาชนิดอยู่กับบ้านและตามแบบฉบับที่นิยมกันทั่ว ๆ ไปของชาวบ้านเป็นส่วนมากในตำบลที่ห่างไกลออกไปของจังหวัดภูเก็ต คือการนุ่งผ้าโสร่งกระโจมอก ความตกใจยังไม่หมดไปแต่ก็ยังดีที่อุตส่าห์ครองสติอยู่ได้ นางลมุน รีบจัดแจงคว้าเสื้อมาสวมอย่างรุกรี้รุกรน พระองค์มีพระราชดำรัสว่า “ไม่เป็นไรตามสบายอย่างนั้นก็ได้” แล้วมีพระราชดำรัสถามถึงทุกข์สุขและความเป็นอยู่ การทำมาหากินของนางลมุน ว่าเป็นอย่างไร ตลอดทั้งเพื่อนบ้านข้างเคียงอีกด้วย และในโอกาสเดียวกันนั้นก็ทรงบันทึกภาพต่าง ๆ ไว้ ด้วยเสียงร้องอย่างตกอกตกใจ “โอ้ยจ้าว” ของนางลมุน ได้ยินไปถึงเพื่อนบ้านที่อยู่ข้างเคียงและเสียงรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ผู้ติดตามอีกหลายคันแล่นเป็นขบวนเข้ามาในหมู่บ้านป่าตองอย่างรีบเร่ง เนื่องด้วยเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ต่างก็ยังไม่ทราบว่าขณะนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะประทับอยู่ที่ใด เพราะพระองค์ท่านได้ทรงแยกขบวนออกมาโดยไม่มีใครทราบล่วงหน้ามาก่อน และด้วยการบอกเล่ากันต่อ ๆ ไปจากปากสู่ปากของชาวบ้าน ฉะนั้น เพียงชั่วไม่กี่นาที ข่าวการเสด็จมาเยี่ยมเยียนประชาราษฎรชาวป่าตองของล้นเกล้าล้นกระหม่อมก็แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว รอบ ๆ บริเวณที่พระองค์ประทับอยู่นั้นจึงเนื่องแน่นไปด้วยฝูงชนชาวป่าตอง รวมทั้งพระภิกษุสามเณรอีกมากมายที่พากันออกมาเพื่อเฝ้ารับเสด็จด้วยความจงรักภักดีและเพื่อชื่นชมบารมี เพราะทุกคนตั้งแต่เกิดมาพึ่งจะวันนี้ แหล่ะ ที่จะได้เห็นพระองค์ท่านด้วยสายตาอย่างชัดแจ้งและแท้จริง ไม่ใช่นึกฝันเหมือนสวรรค์บันดาลและไม่มีใครคิดมาก่อน ในขณะนั้นถนนหนทางที่เข้ามาสู่บ้านนั้นก็แสนจะลำบาก ต้องเลียบไปตามไหล่เขาที่บางแห่งก็สูงชันและคดเคี้ยวไปมา เพื่อหลบหลีกชะง่อนหินและต้นยางใหญ่ที่สูงละลิ่วเสียดยอดขึ้นไปชนิดแหงนดูคอตั้งบ่า จากถนนใหญ่เข้าสู่หมู่บ้านก็อยู่ห่างกันตั้งหลายกิโลนาน ๆ จะมีรถบรรทุกคันใหญ่ ๆ ขนสินค้าเข้าไปส่งบ้างเป็นครั้งคราว แล้วผู้ขับขี่ต้องมีความชำนาญและมือแน่จริง ๆ จึงจะกล้าขับเข้าไป ในวันนั้นชาวบ้านบอกว่าพระองค์ทรงขับรถจิ๊ปเข้าไปเอง ยิ่งทำให้เป็นสิ่งประทับใจของชาวบ้านแห่งนี้เพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ
เมื่อมีประชาชนออกมาเฝ้ารับเสด็จมากมายเช่นนั้น พระองค์จึงเสด็จออกไปประทับยืนที่ริมทางตรงกันข้ามกับประตูของวัดสุวรรณคีรีวงศ์ ภายใต้ร่มไม้ใหญ่ ซึ่งมีบริเวณกว้างขวางพอที่ราษฎรชาวบ้านนี้จะเฝ้ารับเสด็จได้สะดวก พระองค์ได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสอย่างเป็นกันเองกับชาวบ้าน เกี่ยวกับความทุกข์สุขการทำมาหากินและอื่น ๆ อีก ต่อจากนั้นยังเสด็จพระราชดำเนินร่วมกับชาวบ้านไปยัง “น้ำตกวังขี้อ้อน” เพื่อทอดพระเนตรความงามของธรรมชาติและทรงพักผ่อนอิริยาบถอยู่ที่นั้นเป็นเวลานานพอสมควร แล้วจึงเสด็จกลับเส้นทางเดิม ทิ้งความอาลัยอาวรณ์และความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้งในน้ำพระทัยของพระองค์ไว้กับชาวบ้านป่าตอง
ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงจากไปแล้ว แต่ยังมีบางสิ่งที่พระองค์ทรงทิ้งเอาไว้อย่างไม่ยอมจากไปง่าย ๆ สิ่งนั้นคือรอยพระบาทของพระองค์ ที่เหลือรอยทิ้งไว้ให้เป็นสักขีพยาน เป็นสิ่งประทับใจและเพื่อเป็นอนุสรณ์แทนพระองค์สืบไปอีกชั่วกาลนาน
ในขณะที่ทุกคนกำลังตกอยู่ในสภาพที่ตื่นเต้นและตื้นตันใจ รวมทั้งความดีใจและอะไร ๆ อีกร้อยแปดอย่าง บอกไม่ถูกต่อเหตุการณ์การเสด็จมาครั้งนี้ แต่มีอยู่คนเดียวเท่านั้นที่เฝ้าดูเหตุการณ์อยู่ด้วยความเต็มตื้นสงบนิ่งด้วยจิตมั่นคงแน่วแน่และกำลังใช้สมองอันเฉียบแหลม คิดจะดำเนินการอะไรสักอย่างให้เป็นอนุสรณ์เกี่ยวกับการเสด็จมาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนและต่อหมู่บ้านนี้สืบไป ท่านผู้นี้คือ พระครูพิสิษฐ์กรณีย์ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณคีรีวงศ์ ทันใดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเคลื่อนออกจากที่ประทับยืนอยู่เมื่อครู่นี้ เป็นระยะห่างพอสมควรแล้ว ท่านเจ้าอาวาสก็รีบคว้าไม้หลักที่หมายตาไว้ไปปักลงตรงรอยพระบาทที่ได้ประทับยืนอยู่อย่างแน่นหนา เพื่อเป็นเครื่องหมาย แล้วคิดกำหนดโครงการไว้ต่อไปอีกว่า เมื่อถึงเวลาและมีกำลังพอก็จะหาทางร่วมกับชาวบ้านชาวป่าตอง สร้างจำลองเป็นรอยพระบาทของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรงหลักที่ปักไว้เป็นเครื่องหมายอย่างถาวรเพื่อให้เป็นศักดิ์ศรีคู่บ้านคู่เมืองและเป็นสิ่งที่เคารพสักการะแทนพระองค์ และให้เป็นที่ประจักษ์สืบต่อไป อีกชั่วนิรันดร์
ครั้นแล้วต่อมาอีกไม่นานนักด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันมีต่อชาวบ้านป่าตองอย่างล้นเกล้า ทำให้ชาวบ้านป่าตองทุกคนเห็นความสำคัญ เห็นคุณค่ามหาศาล ในอนาคตและเห็นดีเห็นงาม ตามความคิดกับความตั้งใจ อย่างแน่วแน่ของ             พระครูพิสิษฐกรณีย์ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณคีรีวงศ์ ทุกคนจึงพร้อมใจกันเสียสละ ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ตามความสามารถ จัดสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นตามแบบแปลนแผนผังที่ช่วยกันคิดขึ้น คือทำเป็นรอยพระบาทจำลองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยคอนกรีต มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส สูงประมาณ 2 เมตร มีหลังคาสำหรับกันแดดกันฝนและเพื่อความสวยงาม สูงจากพื้นที่ประมาณ 3 เมตร เศษ ลักษณะคล้ายมณฑป และมีอักษรจารึกไว้ที่แผ่นคอนกรีตซึ่งทำขึ้นคล้ายกับหลักศิลาจารึกมีข้อความว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จเยี่ยมราษฎรในตำบลป่าตองโดยมิได้ทูลเชิญเสด็จ ฯ เสด็จลงจากรถยนต์พระที่นั่ง ทรงเหยียบสถานที่นี้เป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2502 เวลา 12.03 น. ตรงกับวัน 4 ฯ 4 ปีกุน”
เมื่อการก่อสร้างทุกอย่างเกี่ยวกับอนุสรณ์สำเร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูและชาวบ้านทั้งหลายต่างก็ปราบปลื้มชื่นชมโสมนัสกันเป็นที่สุด เจ้าอาวาสได้ตั้งชื่อให้ว่า “ราชปาทานุสรณ์” มีงานสมโภชกันทั้งวันทั้งคืน ประชาชนทั้งในตำบลนี้และใกล้เคียงตลอดทั้งจากจังหวัดภูเก็ต ก็มาร่มการสมโภชกันอย่างมากมายเป็นที่สนุกสนานและเป็นเกียรติประวัติ แล้วต่อจากนั้นมาคณะกรรมการจัดงานของตำบลนี้ยังจัดให้เป็นงานประจำปีตลอดมาทุก ๆ ปีอีกด้วย เจ้าอาวาสและชาวป่าตองพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะรักษาสมบัติอันล้ำค่านี้ไว้ ตลอดทั้งที่โครงการที่จะก่อสร้างเพิ่มเติมอนุสรณ์สถานให้สวยงามยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้สมกับพระเกียรติและศักดิ์ศรีของสิ่งคู่บ้านคู่เมือง
ได้พยายามอยู่ทุกวิถีทางที่จะดำเนินการต่อไปอีกจนถึงที่สุด และชาวป่าตองทุกคนก็ยังมั่นอยู่ในบุญญาบารมีอภินิหารจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสิ่งนี้คือ “ราชปาทานุสรณ์” ว่าคงจะช่วยดลบันดาลให้กุศลเจตนาอันดีมีประโยชน์ ทั้งในพลังทางใจและตลอดทั้งมีประโยชน์อย่างมหาศาล ในทางประวัติศาสตร์ของชาวป่าตองรวมทั้งท่านเจ้าอาวาสซึ่งเป็นผู้ริเริ่มมาด้วยดี ได้สำเร็จลงสมความปรารถนาทุกประการ พร้อมกันนี้ ก็ยังหวังในความกรุณาของท่านผู้มีเมตตาจิต คิดจะช่วยเหลือในกิจการนี้อีกด้วย
สิ่งที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะเป็นไปได้ในบ้านป่าเมืองดอน เช่นบ้านป่าตองนี้เสมือนฟ้ามาโปรดและประดุจเทพเจ้าแห่งความปรานี มาช่วยสร้างความร่มเย็นชุ่มฉ่ำให้ หรือจะเป็นด้วยดวงชะตาของหมู่บ้านแห่งนี้ อันกำลังรุ่งโรจน์ก็ไม่ทราบได้ หลังจากวันนั้นคือวันที่ล้นเกล้าล้นกระหม่อม อันเป็นที่เคารพรักสักการะยิ่งของชาวไทยได้เสด็จมาเยี่ยมและเสด็จกลับไปแล้ว ครั้งต่อมาอีกเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2510 เวลาประมาณ 14.40 น. พระราชชนนีก็ได้เสด็จมาที่บ้านป่าตองนี้อีก เพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรและชมราชปาทานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ชาวป่าตองได้ช่วยกันสร้างขึ้นด้วยพลังใจแห่งความศรัทธาอย่างสูงสุดขึ้นไว้ พระราชชนนีได้ทรงจารึกพระนาม “ศรีสังวาลย์” ไว้ที่ด้านหลังของหลักศิลาจารึกราชปาทานุสรณ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์คู่กันสืบต่อไปอีกด้วย ช่างเป็นมหาโชคอะไรเช่นนี้ ชาวป่าตองควรภูมิใจไว้เถิดว่านิมิตดีได้บังเกิดขึ้นแล้ว และกำลังทอแสงเรืองรองขึ้นด้วยดี ขอให้พวกเราชาวบ้านป่าเมืองดอนแห่งนี้จงช่วยกันรักษาสมบัติล้ำค่านี้ไว้เพียงชีวิต และช่วยกันบำรุงรักษาให้ภิญโญยิ่งขึ้นเถิด ผู้เขียนมั่นใจเหลือเกินว่าสักวันหนึ่งข้างหน้านี้ แสงที่กำลังทอเรืองรองอยู่นี้จะสว่างไสวรุ่งโรจน์ยิ่งขึ้น จงช่วยกันรักษาไว้เป็นพิเศษประดุจเพชรน้ำเอกที่มีคุณค่ามหาศาลและสุดจะหาสิ่งใดมาเปรียบปานได้
๙๙๙๙๙๙๙๙๙

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com