ชีวิตนักข่าว
คำเตือนพายุลินดา
10 มกราคม 2553
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
หลังจากที่ผมทำข่าวประชาสัมพันธ์การเข้าไปช่วยเหลือ ประชาชนกรณีพายุซีต้าถล่มชุมพร ระหว่างวันที่ 23-31 สิงหาคม 2540 อีก 2 เดือนต่อมา คือวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 กรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้ออกประกาศเตือนว่าจะเกิดพายุอีกลูกหนึ่งที่หนักหน่วงไม่แพ้พายุซีต้า และพายุเกย์ ที่จะสร้างความเสียหายกับพี่น้องชาวจังหวัดชุมพร
จังหวัดชุมพร ก็เตรียมรับมืออย่างเต็มที่ซึ่งมีการปรึกษาหารือ กันตลอด และผมก็ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมประชุมกับ คุณสุรพล กาญจนจิตรา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ที่ย้ายมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แทน คุณคงศักดิ์ ลิ่วมโนมนต์ ที่ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม
ที่ประชุมภายในจวนเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ว่าจะป้องกันอย่างไรดี เพราะพายุลินดา เมื่อวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียม และการพยากรณ์แล้ว จะมีความหนักหน่วงมากกว่าพายุซีต้า ซึ่งมีแต่น้ำฝน แต่พายุลินดา จะมีความรุนแรงเทียบได้กับพายุเกย์ ที่มีแต่ลมแรง ฝนน้อย
ในวงประชุม ต้องบอกว่าเกือบทุกคน ยกเว้นผมกับผู้ว่า ต่างมีประสบการณ์กับพายุเกย์ มาก่อน จึงได้ให้ความเห็นว่า คลื่นลมคงจะแรงมากเพราะพยากรณ์อากาศ ระบุว่าสภาพคลื่นจะสูงถึง 6-9 เมตร ก็ขอให้ท่านลองหลับตานึกเอาก็แล้วกันว่าคลื่นสูงแค่ไหน ถ้าจะเปรียบเทียบให้ท่านเห็นภาพ ก็จะประมาณได้ว่า ความสูงของสะพานลอย ก็ปาไปตั้ง 5 เมตร แล้วครับ ถ้า6 - 9 เมตร ก็กะเอาก็แล้วกันว่าสูงเท่าไหร่
เมื่อพยากรณ์บอกว่า ความเร็วลมที่ศูนย์กลางประมาณ 120 กิโลเมตร ก็เท่าความเร็วรถยนต์ที่วิ่งบนไฮเวย์ แล้วถ้าลมเร็วขนาดนี้ บ้านทั้งหลัง คงจะเอาไม่อยู่และก็จะปลิวเหมือนกระดาษ แน่ ดังนั้นในที่ประชุมจึงได้สั่งการให้ผมประสานไปยังสถานีวิทยุกระจายเสียงที่อยู่ในจังหวัดชุมพร ประกาศให้ประชาชน ที่อยู่ริมทะเล อพยพ ออกจากชายฝั่ง ให้มาอยู่รวมตัวในอาคารที่มีความแข็งแรง ส่วนอาคารใดที่มีหน้าต่างที่เป็นกระจกก็ขอให้เอากระดาษกาวปิดเพื่อเพิ่มความแข็งแรง และปิดประตูหน้าต่าง พร้อมทั้งอุดช่องลมทุกชนิดเพื่อไม่ให้ลมพายุพัดเข้าไปในบ้านได้
ผมต้องบอกท่านว่า เป็นความโชคดี ที่อากาศของประเทศจีนร้อนขึ้น จึงทำให้หย่อมความกดอากาศต่ำไม่ลอยลงมาทางใต้ อธิบายง่าย ๆ ให้เข้าใจก็คือ อากาศเย็น ไม่แผ่ลงมาทางใต้ จึงทำให้ทิศทางของพายุไม่ลงมาที่ชุมพร และยังคงอยู่แนวเดิมคือ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ และในที่สุด พายุก็เข้าที่ประจวบคีรีขันธ์ จึงทำให้รอดพ้นจากความสูญเสียในรอบที่สองของปี 2540
ที่ท่านเห็นประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ข้างนี้ ผมได้เก็บสำเนากระดาษแฟ็ก มาตั้งแต่วันที่ 3พ.ย.2540 และวันนี้ (10ม.ค.2553 ) นับเป็นเวลาที่กระดาษแผ่นนี้อยู่กับผมเป็นเวลา 12 ปี 2 เดือน ด้วยข้อความที่เลือนราง มองแทบไม่เห็นตัวอักษร ผมต้องเพ่งและพิมพ์ทีละตัว เพื่อเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ ให้น้อง ๆ ลูก ๆ ได้ชมกันนะครับ
* * * * * * * * * * *
ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา
ฉบับที่ 9 (30/2540)
เรื่องพายุไต้ฝุ่นลินดา บริเวณอ่าวไทย
พายุไต้ฝุ่น ลินดา ในอ่าวไทยตอนกลางเมื่อเวลา 22.00 น.วันนี้(3พ.ย.40)มีศูนย์กลางอยู่ทางตะวันออก อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ห่างประมาณ 100 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด11.0 องศาเหนือ ลองติจูด 100.2 องศาตะวันออก มีความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้เคลื่อนตัวไปทางตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทยในแนวระหว่างอำเภอบางสะพาน และอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในคืนวันนี้ (3พ.ย.40) เวลาประมาณ 03.00น. ลักษณะเช่นนี้จะมีลมกระโชกแรงในบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราดและคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรงมาก โดยมีคลื่นจัดถึงจัดมาก ความสูงของคลื่น 6-9 เมตร ขอให้ชาวเรืองดออกจากฝั่งในระยะนี้ สำหรับภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปมีฝนตกหนัก ถึงหนักมากกระจาย ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ระนองและ พังงา และจะมีคลื่นพายุซัดบริเวณชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จึงของให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระมัดระวัง และเตรียมป้องกันอันตรายจากภัยธรรมชาติดังกล่าวในระยะนี้ และติดตามข่าวอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดต่อไป
ประกาศ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2540
นายมนูญ เรืองกฤษ
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา
10.47 pm 03/11/1997 |