ชีวิตนักข่าว ตอน ตะกั่วป่า...เมืองกาแฟโบราณ ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ 7 เมษายน 2542
ชีวิตนักข่าว ก็ตะลอนไปเรื่อย ๆ ได้เห็นโน่น เห็นนี่และได้ดูของแปลก ๆ โดยเฉพาะเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ยังมีอะไรที่ซ่อนเร้นหลายอย่างที่น่าศึกษา และรวบรวม โดยเฉพาะย่านเมืองเก่า ผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษเป็นคนจีน ที่เข้ามาอยู่เมืองตะกั่วป่า สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้อน เพื่อเข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุก คนจีนจึงนำวัฒนธรรม หลายรูปแบบมาเผยแพร่ไว้มากมาย
เมืองตะกั่วป่าในอดีต เป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ดีบุก มีการทำเหมืองเกือบทั้งเมือง ตอนเช้า ๆ จึงมักจะมีนายเหมืองและคนงานออกมานั่งดื่มชา กาแฟ ตั้งแต่เช้าตรู่ ซึ่งเป็นกิจวัตร ของคนที่นี่ ร้านกาแฟจึงเปิดขึ้นหลายร้าน แต่ร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ในขณะนั้นคือ ร้านไถ้เชียง ร้านนี้ถ้าแปลเป็นไทยแปลว่า ร้านคนใหญ่ ไถ้ แปลว่าใหญ่ เชียงแปลว่า คน ร้านไถ้เชียงเดิมตั้งอยู่ริมปากตรอก ถนนศรีตะกั่วป่า มีแป๊ะซินแคระ อายุประมาณ 80 ปี เป็นเจ้าของ
จากกิตติศัพท์ ของความมีชื่อเสียง ของร้านกาแฟ เมืองตะกั่วป่า ลุงหมัก หรือ นายสมัคร สุขมา อายุ 57 ปี อดีต อบต.บางม่วง ได้พาผมไปสืบค้นตำนานกาแฟ ที่มีรสชาติอันเก่าแก่ที่ยังพอหลงเหลืออยู่บ้าง วันนั้นเรานัดพร้อมกันที่ทำงาน สถานีวิทยุกระจายแห่งประเทศไทยตะกั่วป่า เวลา 07.30 น. ลุงหมักมารับผมตรงเวลาเป๊ะ เราตรงไปที่ร้านกาแฟเก่า ๆ ร้านหนึ่ง เป็นร้านกาแฟที่ไม่มีชื่อร้าน ตั้งอยู่ตรงกันข้ามร้านนายแพทย์เสรี ถนนศรีตะกั่วป่า
ร้านกาแฟร้านนี้เป็นร้านที่เก่าแก่มาก โต๊ะที่ดื่มกาแฟ เป็นโต๊ะหินอ่อนทรงกลม สั่งมาจากเกาะปีนัง ประมาณว่าโต๊ะหินอ่อนจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 80 ปี แต่เก้าอี้ต่าง ๆ ไม่ปรากฏว่ามี คงจะสูญหายไปแล้ว เก้าอี้ที่เห็นจะเป็นโต๊ะไม้มีพนักพิงเก่า ๆ โยกเยก มาก
แป๊ะทมี ออกมาต้อนรับด้วยท่าทีที่อ่อนน้อม ดูสีหน้าแป๊ะทมี ออกจะแปลกใจที่ผมเข้ามาดื่มกาแฟ เพราะเป็นคนแปลกหน้า และเป็นครั้งแรกที่ผมนั่งดื่มกาแฟของร้านนี้
ลุงหมักรีบแนะนำผมให้รู้จักกับผู้ที่นั่งดื่มกาแฟอยู่ก่อนแล้ว ผมรีบยกมือไหว้ ซึ่งในร้านผมยังไม่รู้จักใคร ลุงหมัก สาธยายด้วยท่าทีขึงขังดุดันตามสไตล์ ของลุงหมักว่า "แป๊ะทมี จะจำคนมาดื่มกาแฟ ที่ร้านได้เกือบหมดทุกคน ว่าต้องการดื่มชา กาแฟ ประเภทใหนบ้าง " แป๊ะทมี เป็นคนผอมสูง ราว 165 เซนติเมตร ลักษณะแก้มตอบผิวขาวผมบางตามลักษณะของคนจีนสูงอายุทั่วไป แป๊ะทมีอยู่ในชุดง่าย ๆ ใส่เสื้อยืดคอกลมสีขาว นุ่งกางเกงขาสั้น ใส่รองเท้าแตะแบบสวม
ผมเริ่มสนใจในตัวของแป๊ะทมี จึงลองสั่งกาแฟให้ผมหนึ่งถ้วย และชงชาให้ลุงหมัก 1 ถ้วย ขณะที่ผมและลุงหมักนั่งชิมกาแฟ แป๊ะทมีได้เล่าให้ฟังด้วยความทรงจำ ในอดีตว่า" แป๊ะมีมีชื่อตามสำเนาทะเบียนบ้านคือ นายทมี ศรีดวงจันทร์ ตอนนี้อายุ 76 ปี แป๊ะเองยังเป็นโสด ไม่มีครอบครัว อยู่กับน้องสาว ที่เป็นโสดเหมือนกัน " แป๊ะทมี เล่าด้วยสีหน้าครุ่นคิด สำเนียงจีนปนใต้ และพยายามปะติดปะต่อความทรงจำ
"เมื่อตอนเป็นเด็กอายุประมาณ 10 ขวบ ได้ไปอยู่ร้านกาแฟ ชื่อร้านไถ้เชียง เจ้าของร้านชื่อ แป๊ะซินแคระ เป็นคนจีนที่อพยพมาจากมณฑลฮกเกี้ยน คนตะกั่วป่ามักจะเรียก แป๊ะซินแคระว่า เฒ่าชิว และเป็นที่รู้ว่า คือคนชงกาแฟนั่นเอง " แป๊ะทมี เล่าต่อไปว่า "ร้านไถ้เชียงเป็นร้านเก่าแก่และใหญ่ที่สุดในตะกั่วป่า เฒ่าชิ้ว เห็นหน้าลูกค้าก็จะจำได้ว่าใครต้องการ ชา หรือ กาแฟ รสชาติแบบไหน ลูกค้าไม่ต้องเสียเวลามาสั่ง ตอนเป็นเด็กสัก 10 ขวบจำได้ว่า มีพวก อั้งยี่ ยกพวกไปกินกาแฟ อั้งยี่ พวกนี้สังเกตง่าย คือที่หัวไหล่จะมีการสักลายเป็นสัญลักษณ์ สย มีหัวหน้าอั้งยี่ชื่อ โก้ยาว หรือ เต็กยาว อายุของเต็กยาวตอนนั้นประมาณ 70 ปี ถ้ามีอายุอยู่ถึงตอนนี้ก็ประมาณ 136 ปี ถึงแม้นจะมีอั้งยี่ในตอนนั้น ก็ไม่มีการชกต่อยกันในร้าน ทุกคนที่มาดื่มกาแฟ ส่วนใหญ่ก็จะคุยกันเรื่องอื่น ๆ และไม่ค่อยจะสนใจใคร"
แป๊ะทมี เล่าไปนึกไป สายตาทอดยาวออกไปไกล คล้ายกับนึกลำดับเหตุการณ์ ที่ผ่านมาเมื่อวาน ว่า "ร้านไถ้เชียง ในสมัยนั้นจะเปิดขายกาแฟตั้งแต่ตี 3 จะมีคนงานเหมืองแร่ดีบุกมากินกาแฟกับปาท่องโก๋ ตั้งแต่เช้า เก้าอี้ที่ใช้นั่งจะเป็นเก้าอี้แบบราวไม้นั่งได้ ประมาณ 20 คน กินกาแฟแล้วคนงานกับนายเหมืองก็จะแยกย้ายออกไปทำเหมืองดีบุก ชากาแฟและปาท่องโก๋หรือ คนจีนเรียกว่า เจี๊ยะโก้ย ขายดีมาก เพราะ รสชาติ ถูกปากคนกิน ใครที่เป็นขาประจำก็จะได้ชิมรสชาติกาแฟที่ตนถูกใจ " เสียงของแป๊ะทมีสั่นเครือ เมื่อเล่าย้อนถึงความหลัง ที่ตลอดชั่วชีวิต อยู่กับการขายกาแฟมาตลอด และยึดเป็นอาชีพมาจนถึงปัจจุบัน
"กาแฟที่ชงในอดีต จะนำกาแฟที่ได้มาจากไร่คั่วเอง กลิ่นคั่วกาแฟจะหอมหวนมาก เพราะกาแฟที่คั่วใหม่ ๆ จะส่งกลิ่นหอมแบบรสชาติดั้งเดิม จากนั้นก็จะนำมาบด ในรางบด เป็นรางลักษณะคล้ายกับเรือ ลูกกลิ้งจะเป็นเหล็กตรงกลางมีด้ามจับ ส่วนรางบดจะเป็นหิน เวลาบดกาแฟจะใช้มือจับด้ามตรงกลาง คลึงบดกาแฟบนราง ทุก ๆ เช้าก็จะทำแบบนี้ เพื่อจะได้กาแฟใหม่สดที่มีรสชาติหอม เป็นที่ติดใจของคอกาแฟ คนงานเหมือง เมื่อได้ดื่มก็จะได้รสชาดที่ถึงใจ " แป๊ะทมี ดูจะพูดน้อย และลุกไปชงกาแฟ เมื่อมีลูกค้าหน้าเก่าเข้ามาสั่งกาแฟ
ผมลุกตามแป๊ะทมี ไปที่เคาน์เตอร์ เก่า ๆ ที่ใช้เป็นที่ชงกาแฟ และผมเหลือบไปเห็นแกจดรายรับรายจ่าย ที่ขายได้ในวันนี้ คิดว่าไม่ต่ำว่า 200 บาท ผมกับแป๊ะทมี กลับมานั่งที่โต๊ะ กาแฟ แป๊ะทมีก็ได้เล่าอีกว่า "ขายกาแฟอยู่แบบนี้หลายสิบปี จนแป๊ะถั่วปุ๋ย ตาย เมื่ออายุได้ 80 ปี ก็เลยแยกตัวมา เปิดร้านขายกาแฟเอง ซึ่งเป็นร้านกาแฟในปัจจุบัน ตอนนี้อยู่ตรงกันข้าม ร้านหมอเสรีลูกหลานของ แป๊ะถั่วปุ๋ย เองก็แยกย้ายไปทำอาชีพอื่น บ้างก็ไปเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้า บางคนก็ไปเปิดร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ภูเก็ต แต่ก็มีลูกหลานของแป๊ะถั่วปุ๋ยคนหนึ่งยังอยู่ที่ตะกั่วป่า ใกล้ ๆ กับร้านเดิมที่ถนนกลั่นแก้ว ชื่อเจ้หลุยส์ เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยดี คนหนึ่ง"
คนตะกั่วป่าจะเรียกกาแฟว่า โกปี้ คำนี้ อาจจะแผลงมาจาก คอฟฟี่ (Coffee) และเรียกชาว่า เซลอง (Salong) ชาในอดีตที่มีรสชาติดี จะมาจาก จังซีลอน ซึ่งหมายถึงเกาะศรีลังกา จึงแผลงมาเป็นเซลอง ตามสำเนียงคนปักษ์ใต้ "ชาที่มีรสชาติดีจะต้องมาจากเกาะศรีลังกา ถูกส่งมาทางเรือ ประเทศศรีลังกาเป็นประเทศที่ปลูกชาเพื่อการส่งออกที่มีชื่อเสียง และรสชาติดีที่สุด"
ผมและลุงหมักนั่งฟังแป๊ะทมี เล่าด้วยความสนใจ เพราะเรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยถูกเปิดเผย ให้ใครทราบมาก่อน ผมยิ่งประหลาดใจมาก เมื่อได้เห็นความเก่าของอุปกรณ์การชงกาแฟ ผมหันไปถามแป๊ะทมี ด้วยความสนใจ "แป๊ะครับ ช้อนทองเหลืองใช้ชงกาแฟที่ คอดกิ่ว จนเกือบเป็นมีด ใช้มานานแล้วหรือยังครับ " "ช้อนทองเหลือง ที่ใช้ชงกาแฟ ที่คอดกิ่ว ใช้ชงหักไปหลายอันแล้ว "
จากการสังเกตของผม ประมาณว่า ช้อนทองเหลืองจะต้องใช้ชงกาแฟ นับหมื่นนับแสน ครั้ง จนด้ามที่จับ คมเหมือนมีด จากการจับชงนับแสนครั้ง แสดงว่า จะต้องมีผู้คนแวะเวียนมาดื่มกินกาแฟหลายหมื่นหลายแสนคน จุดนี้เป็นจุดที่น่าทึ่งมาก เพราะช้อนชงชา กาแฟ ใช้จับ ชงกาแฟ จนช้อนคม จะต้องผ่านการใช้มานานมาก มากจนด้ามที่จับคมกริบ ราวกับมีดโกน
แป๊ะทมี นั่ง ๆ อยู่นึกออกบอกอีกว่า "ยังมีช้อน ชงกาแฟ อีกหลายสิบอัน ที่ปลายช้อนกิ่วช้อนเหล่านี้จะใส่ใว้ในถ้วยกาแฟ ที่ลูกค้าสั่ง เพื่อให้ลูกค้าเป็นคงชงเอง เพราะกาแฟที่ใส่แก้วมาจะมีนมและน้ำตาล การขาดวิ่นของปลายช้อน แสดงว่ามีคนมากินก็จะใช้ช้อน คนชา กาแฟ จน ช้อนแหว่ง " ลุงหมักที่นั่งอยู่ข้างผม เล่าเสริม ว่า "คนตะกั่วป่า เวลาสั่งกาแฟกิน ก็จะบอกว่า โกปี้ อย่าง ที่เรียกว่า โกปี้ช้ำ คือกาแฟผสม ชา และน้ำตาล แต่ส่วนผสมจะหนักไปทางกาแฟ ส่วน เซลองช้ำ คือ ชาผสมกับกาแฟ และ น้ำตาล แต่หนักไปทางชา "
นอกจากโกปี้ช้ำและเซลองช้ำ ที่คนตะกั่วป่านิยมแล้ว แปะทมี ยังพูด แทรกขึ้นมาว่า "ยังมีกาแฟดำหรือโอยั้ว เป็นส่วนผสมของกาแฟกับน้ำตาล กินแล้วก็จะได้รสชาติดี อ้อ ...หากเอากาแฟผสมกับชา ใส่นมด้วย เรียกว่า ยกล้อ ใครสั่งยกล้อ ก็จะชงชาผสมกาแฟและใส่นมมาด้วย" แป๊ะทมี เล่า ด้วยสีหน้าครุ่นคิด
ผมยกแก้วดื่มกาแฟ ที่รสชาติ แปลกใหม่ และผมให้ความสนใจ ช้อนชงกาแฟเป็นพิเศษ จึงหยิบช้อนขึ้นมาดู เกือบทุกอัน กว่า 10 อันบนโต๊ะหินอ่อน ที่ปลายช้อนจะขาดวิ่น ตามรอยของการชงกาแฟ พลิกดูที่ด้ามเขียนเป็นอักษรภาษาอังกฤษ เขียนว่า L.Y.H.และยังมีภาษาอังกฤษ ถัดมาเขียนว่า MAGNOLIA ทีปลายด้ามช้อนก็เป็นรูปใบไม้ 3 ใบ พวกเราคุยกันหลายเรื่องล้วนแต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แป๊ะทมี นั่งลงข้าง ๆ ผม ก่อนที่จะเล่าว่า "การคั่วกาแฟในสมัยโบราณ จะใช้กะทะใบบัว ตั้งบนเตาอั้งโล่ ใช้ไฟอ่อน ๆ คั่ว แล้วก็ใส่กาแฟลงในกะทะใบบัว คั่วเม็ดกาแฟ ไปมา เมื่อเม็ดกาแฟเปลี่ยนสีออกแดง ๆ ดำ ๆ จึงใส่มันเนยและน้ำตาลแดง คั่วต่อไปจนเข้ากันได้ดี กลิ่นกาแฟจะหอมหวนมาก กลิ่นจะล่องลอยไปตลอดถนนศรีตะกั่วป่า เมื่อคั่วสุกได้ที่ก็จะนำมาผึ่งลม แล้วจึงนำไปบดก็จะได้กาแฟที่หอมรสชาติดีมาก "
ลุงหมักที่ไปกับผมบอกด้วยหน้าตาขึงขังเหมือนโกรธใครมาหลายปีว่า "แป๊ะทมีแกรักอาชีพชงโกปี้มาก มากจนยอมเป็นโสด เพราะไม่มีเวลาจะหาคู่ แม้นว่าจะมีลูกสาวนายหัว เหมืองแร่มาติดพันหลายคน แป๊ะแกยอมอยู่กับ กาแฟดีกว่า ที่จะตกขุมเหมืองแร่ .. อ๋อ...ตกถังข้าวสาร "
ลุงหมักกับผมยกซดโกปี้ จนหมดแก้ว ก่อนที่จะเดินออกจากร้านแป๊ะทมี ด้วยความอิ่มเอมใจ และยังคิดเตลิดเปิดเปิง ไปไกลไร้ขอบเขตว่าตอนนี้ แป๊ะ ก็อายุ 76 ปี ถุงกาแฟ ที่แกชงคงจะหย่อนยานไปตามวัย หากลูกแกขอกินนมแกคงตวัดถุงกาแฟให้ลูก ที่อยู่ด้านหลังกินได้ แหม๋ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง แป๊ะ คงจะแก่จนเหนียงหย่อนยาน โตงเตงเหมือนถุงกาแฟ เออ..ดีนะที่แก่เป็นผู้ชาย |