สอบเข้าโรงเรียนเสธ
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
3 ธันวาคม 2556
เป็นความฝันของผมมาตั้งแต่เด็ก ที่อยากจะเข้าเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก แต่ก็ได้แต่คิดและฝันว่าคงเป็นไม่ได้ เพราะคนที่จะมาเรียนจะต้องเป็นทหารเท่านั้น ก็ได้แต่ชื่นชมทหารที่ได้มาร่ำเรียน และผมก็ชื่นชอบ การเรียกทหารที่มีเสธนำหน้า
จนกระทั่งว่า ได้มาเป็นนักข่าวก็เริ่มที่จะชินหูต่อการเรียกทหารที่เป็นระดับเจ้าความคิด หรือที่พวกเราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทหารประเภทมันสมอง ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ คือ เสธหนั่น (พลตรีสนั่น ขจรประศาสตร์ ) เสธ.แหลม (พลตรีสมควร แสงภัทรเนตร) เสธ.ทิพ (พลตรีอัคร ทิพโรจน์) เสธ.หิ เสธไอซ์ เสธอ๊อด ฯลฯ
คนที่จะมาเป็นเสนาธิการ ตามความเข้าใจของผมคือ จะต้องเป็นผู้ที่รอบรู้ เจ้าความคิด หรือจะบอกว่าเป็นประเภทบุ๋น ก็คงไม่ผิดนักครับ คือใช้สมองในการแก้ปัญหา เป็นนักคิดเชิงกลยุทธ์ ชนิดที่เรียกว่ารู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง ไปซ้ายก็ได้ ไปขวาก็ได้ แม้นว่ากลืนเลือดของตัวเองก็ต้องยอม นี่แหล่ะจึงจะเป็นเสนาธิการได้
ในสมัยโบราณ ที่เห็นเด่นชัดเป็นเสนาธิการคือ ขงเบ้ง ในพงศาวดารสามก๊ก ขงเบ้ง เป็นนักวางกลยุทธ์ในการรบ ขงเบ้งเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ ทั้งสภาพดินฟ้าอากาศ สภาพของชุมชน แม้นกระทั่งเขาสามารถที่จะอ่านความคิดของคนได้ เพียงแต่ได้เห็นหน้า และบุคลิก ทำให้ขงเบ้งสามารถนำทัพชนะศึกได้ หลายครั้ง
การที่ผมได้รับคัดเลือกให้เข้าศึกษา ในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก จึงเป็นความภาคภูมิใจของผม เป็นอย่างยิ่ง ที่ทำให้ความฝันของผมเป็นจริง และที่สำคัญความรู้ที่ได้รับจากการศึกษา จะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เป็นอย่างดี นำมาสู่ความสงบสันติอีกครั้งหนึ่ง และต่อไปผมอาจจะมีชื่อ เสธนำหน้า เพื่อเพิ่มความภาคภูมิใจครับ
ประวัติ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก (ที่มา วิกิพีเดีย)
โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2452 โดย จอมพลสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เพื่อให้การศึกษาเกี่ยวกับยุทธวิธีทางการทหารให้กับทหารในระดับมันสมองของกองทัพ โดยต้องมีการสอบคัดเลือกเพื่อมาเข้ารับการศึกษา หลักสูตรการศึกษาในปัจจุบันได้ยึดตามโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก เน้นการให้การศึกษาภาคปฏิบัติยิ่งกว่าการบรรยายตามความต้องการของกองทัพบก และมีการรับนายทหารจากมิตรประเทศเข้ามารับการศึกษาด้วย
ตามที่กองทัพบกกำหนด ได้แก่
1. หลักสูตรหลักประจำ ชุดที่ 1 (พ.ศ. 2452) ระยะเวลาการศึกษา 46 สัปดาห์
2. หลักสูตรหลักไม่ประจำ (ยังไม่ได้เปิดการศึกษา)
3. หลักสูตรเร่งรัด เปิดการศึกษาจำนวน 7 ชุดเท่านั้น
4. หลักสูตรผสมเหล่า เปิดการศึกษาจำนวน 2 ชุด
5. หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (การทหาร) รุ่นที่ 1 (พ.ศ. 2529) ปัจจุบันรุ่นที่ 21
6. หลักสูตรนายทหารบกอาวุโส ชุดที่ 1 (พ. ศ.2533) ถึง ชุดที่ 24 ระยะเวลาการศึกษา 26 สัปดาห์
7. หลักสูตรอื่น ๆ ได้แก่
· หลักสูตรฝ่ายอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน จำนวน 14 ชุด
· หลักสูตรฝ่ายอำนวยการตำรวจ จำนวน 15 ชุด
· หลักสูตรฝ่ายอำนวยการตำรวจ (ตำรวจตระเวนชายแดน) จำนวน 8 ชุด
· หลักสูตรฝ่ายอำนวยการชั้นต้นในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ จำนวน 1 ชุด (พ.ศ. 2547)
|