www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 7 คน
 สถิติเมื่อวาน 28 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
3385 คน
49199 คน
1741643 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13


กินข้าวกล่องที่ซองกาเรีย

แม่ทัพภาคที่ 1 (ขวา)

รายงานสถานการณ์

ทารกชาวมอญผู้ไร้เดียงสา

ผู้หนีภัยสงคราม

ชีวิตนักข่าว...กินข้าวกล่องที่ซองกาเรีย
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
9 พ.ย.2553
 
ทำไม ผมถึงตั้งชื่อเรื่องว่า กินข้าวกล่องที่ซองกาเรีย หลายท่านต้องถามผมอยู่ในใจ ว่า ซองกาเรีย คืออะไร เรื่องนี้ผมจะบอกในตอนท้าย
 
เหตุที่ผมต้องไปกินข้าวกล่องที่ซองกาเรีย ก็เพราะว่า เวลาเที่ยงครึ่งของวันที่ 8 พ.ย.2553 กองกำลังทหารพม่ากับ กองกำลัง DKBA มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Democratic Karen Buddhist Armyแปลเป็นไทยให้เข้าใจง่าย ก็คือ กะเหรี่ยงพุทธ หรือ กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย ได้มีการสู้รบกัน ทำให้กระสุนปืนคอขนาด 30 และ 81 จำนวน 4 ลูกตกเข้ามายังฝั่งไทย บางลูกตกข้างพระเจดีย์สามองค์ บางลูกตกข้างศาลพระสยามเทวาธิราช  ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน 
 
พลันสิ้นเสียงปืน ก็มีทั้ง มอญ  กะเหรี่ยง พม่า ม้ง ต่างหอบลูกจูงหลาน เข้ามาหลบภัยการสู้รบ ที่โรงเรียนซองกาเรีย สาขาบ้านด่านพระเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
 
ผมขออธิบายว่า ด่านเจดีย์สามองค์ ตั้งอยู่ในดินแดนไทย ห่างจากตัวอำเภอสังขละบุรี ประมาณ 20 กิโลเมตร ห่างจากทางแยกประมาณ 18 กิโลเมตร  ด่านพระเจดีย์สามองค์ มีที่ตั้งอยู่ปลายสุดของแผ่นดินไทย เป็นเหมือนปลายติ่ง ที่มีแผ่นดินยื่นเข้าไปในแผ่นดินพม่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะลักษณะภูมิประเทศที่เป็นช่องแคบการสิ้นสุดของเทือกเขาตะนาวศรี ที่อยู่ทางเหนือ ต่อด้วยจุดเริ่มต้นของเทือกเขาถนนธงชัย ที่อยู่ทางใต้ ซึ่งพอมีที่ราบอยู่ โดยแผ่นดินตรงนี้มีความกว้างของแผ่นดินไทยประมาณ 400 เมตร ถ้านับจากจุดกึ่งกลางของถนน ให้นับไปประมาณข้างละประมาณ 200 เมตร   การข้ามแดนจึงเป็นการเข้าออกง่าย เพียงแต่ก้าวเท้าข้ามพรมแดน ก็เป็นแผ่นดินของแต่ละประเทศแล้ว จึงทำให้บริเวณนี้ มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ หากมีการยิงกันเมื่อไหร่ คนที่อยู่เมืองพญาโต่งสู่ (บางที่คนไทยก็จะออกเสียงเป็น พญาตองซู ซึ่งเมืองนี้มีฐานะเป็นอำเภอ ) ก็จะวิ่งข้ามมาฝั่งไทย
 
รุ่งขึ้นวันที่ 9 พ.ย.2553 ชาวพม่าที่หลบหนีเข้ามาฝั่งไทยคิดว่าสถานการณ์สงบ เช้าวันนั้นจึงมีบางส่วนกลับไปบ้านที่พญาโต่งสู่ เพื่อเก็บข้าวของ แต่พอเวลา 10.30 น. ก็มีการยิงปะทะกันอีก ทำให้ชาวพม่า ต่างหนีตายมาที่ด่านพระเจดีย์สามองค์อีก มาคราวนี้ ค่อนข้างมาก บางคนมีเสื้อผ้าชุดเดียว บางคนก็ผลัดหลงกับครอบครัว บ้างก็มีลูกน้อย ที่ไร้เดียงสา จนผมต้องเข้าไปนั่งพูดคุยด้วย กับมารดาของเด็กทารกอายุ 3 เดือน บอกว่า ตอนนี้อายุ 34 ปี จำความได้ว่า ครั้งสุดท้ายที่มีการสู้รบกันคือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่นานมากที่ไม่ได้เกิดเรื่องอย่างนี้ เธอพูดด้วยภาษาไทย สำเนียงออกไปทางพม่า ซึ่งผมพอจะฟังได้พอเข้าใจที่เราได้สื่อสารกัน ส่วนเด็กทารกวัย 3 เดือน ช่างน่ารักน่าชัง ผมยื่นมือไปให้หนูน้อยจับมือผม และหนูน้อยก็จับมือผมแน่น ไม่ยอมปล่อย ถ้าหนูน้อยพูดได้ เธอคงจะบอกว่า “ไม่รู้ว่าจะสู้ไปทำไม ตอนนี้แม่ก็ยังไม่กินข้าว ที่บ้านก็ลำบาก ” หนูน้อยคนนี้ แม้จะอายุเพียง 3 เดือน ขณะที่ผมคุยกับแม่ของเธอ หนูน้อย ก็ไม่ร้องไห้งอแง  กับสถานการณ์ที่ผู้ใหญ่สู้รบกัน และผมก็ถามแม่ของหนูน้อยว่า “ทานข้าวกันรึยัง ตอนนี้ก็เที่ยงวันแล้ว ” “ฉานยังไม่ได้กิน ลูกตอนนี้ก็เลี้ยงด้วยนมแม่” ผมถามด้วยความเป็นห่วง เพราะผมก็ยังไม่ได้กินข้าวเที่ยงเหมือนกัน แต่ก็ยังพอทนอยู่ 
 
ผมเดินตระเวนไปเรื่อย ๆ ก็ได้พบกับชาวมอญ ชื่อ นายนำ เล่าว่า เขาเป็นชาวเมืองพญาโต่งสู่ สาเหตุที่มีการสู้รบกัน ก็เพราะไม่พอใจผลการเลือกตั้งทั่วไป ที่พม่าจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน 2553 กลุ่ม DKBA จึงก่อการจลาจล เผาสถานที่ราชการด้านการสื่อสาร กับสำนักงานป่าไม้ ที่ตั้งอยู่ในเมืองพญาโต่งสู่ ประมาณ 6 แห่ง  ทหารพม่าตายไป 1 ตอนนี้ก็มีการเสริมกำลังทหารพม่า เข้ามาในพื้นที่ เพื่อรุกไล่ กลุ่ม DKBA จนมีการถอยร่น ไปที่วัดเจดีย์ทอง พม่าได้ยิงปืน ค.81 ทำให้ มีเด็กวัย 10 ขวบ ตาย 1 พระสงฆ์เจ็บ 2 ชาวบ้านเจ็บอีก 7 คน
 
การสนทนา หาข่าวของผม ยังต้องเดินหน้า พูดคุยกับผู้หนีภัยสงคราม ผมจะไม่ขอใช้คำว่าผู้อพยพนะครับ เพราะถ้าเป็นผู้อพยพ ในความหมาย ก็คือ ผู้ที่ละทิ้งถิ่นฐานอพยพไปยังดินแดนอื่นเพื่อจะอยู่อย่างถาวร และคิดจะไม่หวนกลับที่เดิม แต่ผู้หนีภัยสงคราม มีความหมายว่า เป็นการหลบหนีการสู้รบเป็นการชั่วคราว เมื่อเหตุการณ์สงบ ก็จะกลับไปอยู่ยังถิ่นเดิม 
 
ซึ่งก็หมายถึง กรณีของการสู้รบกันระหว่าง พม่า กับ กลุ่ม กะเหรี่ยงพุทธ ด้านตรงข้ามอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเหตุการณ์สงบแล้ว ประชาชนด้านประเทศพม่าก็จะเดินทางกลับประเทศ เพื่อเป็นข้อมูล ด้านอำเภอสังขละบุรี มีโรงงานอุตสาหกรรม หลายแห่ง ทั้งโรงงานทำรองเท้า เสื้อผ้า ดังนั้นแรงงานจึงเป็น คนที่อยู่ในพม่าเดินทางเข้ามาทำงาน ในโรงงาน ชนิดที่เรียกว่าไปเช้ากลับเย็น ครับ
 
ส่วนการเรียกขาน ชนเผ่าต่าง ๆ ที่อยู่ในประเทศพม่า ผมขอใช้คำว่า กลุ่มชาติพันธุ์ แทนคำว่าชนกลุ่มน้อย เพื่อให้ตรงกับความหมาย เพราะกลุ่มชาติพันธุ์มิใช่คนกลุ่มน้อยที่พวกเราเข้าใจกัน แต่เป็น เชื้อชาติ ที่มีความต้องการที่จะแยกตัวออกเป็นประเทศอิสระ และต้องการปกครองตนเอง และเมื่อย้อนรอยไปในอดีต ที่มีสัญญาปางโหลง ระบุว่า เมื่อผ่านพ้นหลังทำสัญญา 10 ปี นับจาก ปี พ.ศ.2490  ทุกฝ่ายที่ลงนามกัน จะให้มีการแยกตัวเป็นอิสระ ก่อตั้งขึ้นเป็นประเทศ แต่เมื่อถึงเวลา กลับไม่เป็นเช่นนั้น (เรื่องนี้หาอ่านได้ใน สัญญาปางโหลง )
 
แหม..พูด ไปพูดมาชักเริ่มหิวหล่ะซิ  ผมกับทีมงานจึงมาที่โรงเรียนซองกาเรีย เพราะจะมาหาข้าวกินกัน ผมได้ข้าวกล่อง มา 1 กล่อง เปิดออกก็พบว่าเป็นข้าวพริกกะเพรา ไม่รู้ว่าหมูหรือไก่ ปะปนมากับ ถั่วฝักยาว ราดมาข้าว พอเป็นพิธี ที่ผมพูดอย่างนี้ก็เพราะ มีราดมานิดเดียว เอ้ากินก็กิน ก็เพราะความหิวนี่แหละ แหมอร่อยอย่าบอกใครเชียว และเป็นมื้อที่อร่อยที่สุดในชีวิตที่ได้มา กินข้าวกล่องที่ซองกาเรีย 

88888888888
   
หมายเหตุ
พลโทอุดมเดช  สีตบุตร  แม่ทัพภาคที่ 1
พลตรีตะวัน  เรืองศรี  ผบ.พล.9 กาญจนบุรี

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com